ถาม : หากต้องการทำบุญขึ้นบ้านใหม่
ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการทำบุญ ๑๐๐ วันให้พี่สาวที่เสียชีวิตไปด้วยพร้อมกัน
อย่างนี้ถือว่าผิดอะไรไหมคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗
ดังตฤณ:
สิ่งที่คุณห่วงกังวลอาจแยกเป็น ๒ กรณี หนึ่งคือห่วงว่าจะผิดธรรมเนียม สองคือห่วงว่าจะไม่เป็นการตั้งจิตอุทิศได้โดยเฉพาะ อันนี้ก็ลบล้างความห่วงกังวลเสียด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องครับ การทำบุญคือการทำบุญครับ เหมือนเราเปิดไฟขึ้นดวงหนึ่งกลางเพดานห้อง อย่างไรหลอดไฟก็ให้ความสว่างอย่างทั่วถึง ไม่จำกัดว่าตั้งใจให้พ่อบ้านอ่านหนังสืออย่างเดียว แม้ลูกๆเข้ามาเล่นในห้องนั้นก็ได้รับแสงสว่างได้ คุณไม่ต้องคิดว่าการเหมารวมเช่นนั้นจะผิดหรือไม่ผิด
พูดให้ง่ายคือ
ขอให้คุณตั้งต้นทำบุญด้วยจิตที่บริสุทธิ์
ให้เป็นวันแห่งความสดชื่นรื่นเริงในบุญอย่างแท้จริง
เหมือนจุดประกายความสว่างขึ้นมาให้เต็มดวง จากนั้นให้ใช้ความสบายใจถึงที่สุดนั้น
กำหนดอธิษฐาน ว่าจะให้ผลบุญเกิดขึ้นกับอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น
ขอให้บุญอันเกิดด้วยจิตโสมนัสนี้ จงเป็นฤกษ์ชัยอันดีเป็นศรีแก่บ้าน
สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าทำดีเมื่อโอกาสใด โอกาสนั้นย่อมเป็นฤกษ์ดีในตัวเอง
นอกจากนั้น
เมื่อยังไม่หมดความปลื้ม ก็อธิษฐานต่อไป
ว่าถ้าพี่สาวยังอยู่ในสภาพที่สามารถรับรู้ภพเดิม ยังจำน้องสาวได้
และยังอนุโมทนาบุญได้ ก็ขอให้กองบุญอันสว่างนี้
จงเป็นความสว่างแก่พี่สาวเท่าเทียมกันด้วยเถิด
หากต้องการความสบายใจยิ่งขึ้น
ก็อาจปรึกษาพระท่านนะครับ
ว่าจะมีบทสวดที่แตกต่างกันระหว่างทำบุญบ้านกับอุทิศส่วนกุศลให้คนตายไหม
ผมคิดว่าทำบุญ ๑๐๐ วันไม่เชิงว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับพิธีศพ ไม่ต้องมีการนำกระดูกย้ายที่บรรจุ
ที่จริงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบๆกันมาอย่างหนึ่งเท่านั้น
ไม่ได้มีลักษณะจำเพาะเจาะจงทางธรรมชาติแต่อย่างใด
ส่วนในแง่ของหลักเคล็ดลาง
ถ้าถามคนที่คร่ำหวอดเรื่องทำนองนี้คุณอาจได้คำตอบไปอีกอย่างหนึ่ง
อันนี้ขอให้พิจารณาตามศรัทธาหรืออัธยาศัย สำคัญว่าทำแล้วสบายใจ
ไม่ปรุงแต่งให้กุศลเสียหายก็แล้วกันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น