ถาม : ดิฉันมักถูกด่าว่า
ทำให้เสียหน้าอยู่เรื่อย ทั้งที่มั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดคิดร้าย
แล้วก็ไม่ได้เป็นฝ่ายทำให้งานเสียหาย แต่คนอื่นทำเสียเองแล้วมักเอาโทษมาลงที่ดิฉัน
หลายครั้งนึกเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ไม่เห็นใครเขาเป็นกันอย่างนี้เลย
อยากทราบว่าเป็นผลจากกรรมแบบไหน และจะแก้อย่างไรคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘
ดังตฤณ:
การถูกด่าหรือถูกประจานบ่อยๆโดยไม่มีเหตุผลสมควร เป็นวิบากที่เกิดจากกรรม ๒ ประเภทหลักๆ ได้แก่
๑) การชอบข่มเหงน้ำใจผู้อื่น
สนุกกับการเห็นคนเจ็บใจ อาวุธอาจเป็นภาษากายหรือภาษาพูด
ทิ่มต่ำให้อีกฝ่ายรู้สึกต่ำต้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนด้อยกว่าหรือไม่มีทางสู้
๒) การประพฤติตนผิดศีลผิดธรรมอย่างไม่ละอาย
โดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม และการโป้ปดมดเท็จ
ขอเพียงสั่งสมกรรมเหล่านี้ไว้มากพอ
ก็อาจให้ผลในปัจจุบันชาติ ไม่ต้องรอเกิดใหม่ชาติหน้า และที่ไม่ต้องรอเกิดใหม่
ให้ผลทันตาเห็น ก็เพราะกรรมอันมีลักษณะเสียดแทงใจผู้อื่น เมื่อสั่งสมจนเข้มข้นแล้ว
ย่อมก่อกระแสให้ตัวเจ้าของกรรมมีลักษณะน่าเสียดแทง ใครเห็นแล้วอยากด่า
หรือเกิดเรื่องให้นึกอยากต่อว่าประจานอยู่เรื่อยๆ และหากชอบปั้นน้ำเป็นตัว
บิดเบือนความจริงเป็นประจำ ความจริงเกี่ยวกับตัวเองก็จะถูกบิดเบือนเช่นกัน โดยมาในรูปของการถูกใส่ไคล้
แม้เป็นฝ่ายถูกก็อาจโดนกระทำให้ใครต่อใครหลงเชื่อว่าเป็นฝ่ายผิดเอาง่ายๆ
หากพิจารณาตัวเองว่าไม่ใช่คนชอบข่มเหงใคร
กับทั้งไม่ได้ผิดศีลเป็นอาจิณ พูดง่ายๆว่าถ้าเหตุไม่น่าจะใช่ ‘กรรมหลังเกิด’
ก็คงต้องโยนโทษให้เป็น ‘กรรมก่อนเกิด’ คือคุณเคยชอบข่มเหงน้ำใจ
หรือผิดศีลมาในอดีตชาติ
อันนี้ยากจะยอมรับนิดหนึ่ง
แต่ผมเคยเห็นครับ บางคนมีตัวตนในปัจจุบันติ๋มๆ สงบเสงี่ยมเรียบร้อย
แต่ต้องกลายเป็นกระโถนท้องพระโรง รองรับอารมณ์ผู้ใหญ่อยู่เรื่อย
นั่นก็เพราะอดีตชาติประพฤติตนไว้หลายแบบ แรกๆอาจดี มีเมตตา ไม่อยากเอาเรื่องเอาราวกับใคร
แต่ตอนแก่ๆพอเป็นเจ้าคนนายคน ก็ชอบบ่น ชอบด่า ชอบจู้จี้จุกจิก อันนั้นแหละครับ
เลยให้ผลรวบยอดในชาติถัดมา เกิดใหม่เงียบๆติ๋มๆตามพื้นนิสัยดั้งเดิมที่แท้จริง
แต่ก็ต้องชดใช้กรรมในภาคที่เคยชอบอาละวาดกับชาวบ้านตามระเบียบ ดีหน่อยตรงที่เจอไม่หนัก
ไม่สม่ำเสมอนัก
หากเป็นพวกชอบข่มเหงน้ำใจผู้น้อยเป็นอาจิณ
ชาติถัดมาก็มักถูกบีบให้กลายเป็นผู้น้อยที่ถูกผู้ใหญ่ข่มเหงเป็นประจำ
แต่หากเป็นพวกชอบข่มเหงน้ำใจไม่เลือกหน้า
ชาติถัดมาก็จะถูกคนทั่วไปข่มเหงน้ำใจไม่จำกัดเช่นกัน
กรรมเก่าจะปฏิรูปตัวอยู่ในรูปสนามพลังดึงดูดคนให้นึกอยากด่าเสียๆหายๆร่ำไป
บางทีไม่ได้เป็นพวกชอบข่มเหงน้ำใจ
แต่อาจพลาดไปกล่าววาจาเสียดแทงอริยเจ้าหรือผู้ทรงคุณเอาไว้
อันนี้ก็มีสิทธิ์ถูกกรรมส่งมาเกิดในฤกษ์โดนด่าประจำเช่นกัน
เนื่องจากผู้ทรงคุณหรือผู้มีความสะอาดทางจิตนั้น เป็นสนามพลังขยายกรรมที่ส่งเข้ามากระทบได้มาก
จับพลัดจับผลูด่าท่านสองสามครั้ง
อาจต้องรับเคราะห์หนักเสียยิ่งกว่าด่าคนธรรมดาเป็นหมื่นๆคน
นอกจากนั้น
มนุษย์เราเป็นสัตว์ชอบแข่งขัน และเมื่อเป็นฝ่ายชนะก็มักฮึกเหิมลำพอง
หากนิยมการทำให้ผู้แพ้อับอาย รู้สึกแย่ หรือเห็นว่าตัวเองโง่มาก อันนี้ก็เป็นเหตุให้ถูกย่ำยีให้อาย
ให้รู้สึกแย่ หรือให้เห็นว่าตัวเองโง่ได้เช่นกัน
เรียกว่าแทบจะเป็นกระจกสะท้อนเงากรรมในอดีตตรงไปตรงมาเลยทีเดียว
การแก้เกมบาปข้อนี้มีสองข้อหลักๆ
คือให้อภัยทานเป็นการใช้หนี้หนึ่ง และถือศีลให้เกิดความสง่างามน่าเกรงใจหนึ่ง
การให้อภัยแต่ละครั้งก็คือการใช้หนี้เก่าโดยไม่ก่อหนี้ใหม่
เพียงคุณคิดว่าการถูกข่มเหงน้ำใจหรือโดนกระทำย่ำยีแต่ละครั้ง
หมายถึงการใช้หนี้ให้หมดๆไป ไม่ผูกใจเจ็บ ไม่แม้แต่เก็บมาคิดมากให้ช้ำใจ
ใจคุณจะเบา เหมือนผ่อนส่งค่างวดแต่ละครั้ง ใจก็สบายขึ้นทีละหน
จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งเมื่อหนี้หมดโดยไม่รู้ตัว ชีวิตจะปรากฏในอีกรูปหนึ่ง
คุณจะเกี่ยวข้องอย่างสำคัญเฉพาะกับบุคคลที่จะไม่ทำร้ายคุณด้วยวาจาอีกต่อไป
ส่วนการรักษาศีล ๕
ให้สะอาดหมดจดนั้น ย่อมมีอานุภาพเป็นความน่าเกรงใจ มีความสง่างาม
หรืออย่างน้อยก็ฉายรัศมีคุ้มตัว ใครเห็นแล้วอยากชมมากกว่าอยากติ ขอให้จำไว้ว่าผู้ตั้งใจรักษาศีล
ย่อมต้องมีสติมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป
โดยเฉพาะในแง่ของการไม่เผลอใจพูดจาเสียดแทงด่าว่าใครให้เจ็บใจ
แม้เขาจะเป็นฝ่ายทำให้คุณเจ็บใจก่อนก็ตาม ตัวสติรักษาวาจาให้นุ่มนวล
มีเหตุมีผล ทั้งที่ใจกำลังอยากด่าทอ อาจทำให้คุณรู้สึกฝืนในช่วงแรก
แต่เมื่อคล่องแคล่วดีแล้วก็จะไม่ฝืดฝืนอะไร ตรงที่ ‘ไม่ฝืนพูดนุ่มนวล’
ได้ทุกครั้งนั่นแหละ ที่ใครต่อใครจะเริ่มปฏิบัติกับคุณต่างไป
เพราะสนามดึงดูดให้อยากด่าถูกลดทอนกำลังลงมากแล้ว
นอกจากนั้น
คุณควรตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ใครขายหน้าอย่างเด็ดขาด ไม่แม้แต่จะคิด ตรงข้าม
ถ้าเห็นคนพลาด ถ้าเห็นคนล้ม
ก็มีแก่ใจช่วยประคับประคองให้เขาลุกขึ้นยืนใหม่อย่างภาคภูมิ
นี่ก็เป็นการให้ทานอย่างหนึ่ง
หากทำประจำก็กลายเป็นพลังเสริมให้ใครต่อใครเห็นคุณแล้วอยากยกย่องมากกว่าอยากย่ำยี
เมื่อทำทานและถือศีลดีแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่าประกอบบุญไว้ดี การแสดงตัวของบุญย่อมมาในรูปของการได้หน้า รักษาหน้า
เหมือนมีองครักษ์คอยพิทักษ์ไม่ให้เสียหน้าไปเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น