ถาม : กรรมอะไรทำให้บางคนประเมินตัวเองสูงเกินจริงและต่ำเกินจริงเป็นประจำครับ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖
ดังตฤณ:
ทุกคนมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือ ‘ความไม่รู้จริง’ ครับ เมื่อไม่รู้จริงย่อมคิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง ลังเลสงสัยว่าอะไรผิดอะไรถูกบ้าง ตั้งความปรารถนาไว้สูงเกินตัวบ้าง ตั้งเป้าไว้ต่ำกว่าระดับความสามารถของตนเองบ้าง
หากแต่ละคนทราบว่าตนเองทำอะไรได้แค่ไหน
ลงมือทำวันนี้แล้วจะประสบความสำเร็จเมื่อใด
แน่นอนว่าทุกคนจะประเมินตนเองตามจริงกันหมด
แต่ด้วยความไม่รู้ว่าสร้างเหตุหนึ่งๆแล้วจะบังเกิดผลอันใดตามมา
ทุกคนจึงคาดการณ์ผิดบ้าง ถูกบ้าง พูดง่ายๆคือ เส้นทางเจริญเติบโตของแต่ละคนจะเป็นไปแบบลองผิดลองถูก
ไม่มีใครประเมินตนเองถูกโดยยังไม่เคยทำอะไรเลย
ประสบการณ์ชีวิตหลายๆครั้งจะทำให้คนเรียนรู้ช้าที่สุดได้มองเห็นอย่างชัดเจนในบั้นปลายชีวิต
ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง ตนเองเป็นอะไรได้บ้าง
ทั้งชีวิตที่ผ่านมาล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จจากการทำเช่นนั้น หรือเป็นเช่นนั้น
ตอบอย่างง่ายที่สุด ใครจะประเมินตนเองได้ถูกต้องเพียงใด
ขึ้นอยู่กับความเร็วในการเรียนรู้ความสามารถของตนเองผ่านการทำงานจริง
คุณหนูที่ยังไม่เคยทำงานมาก่อนอาจนึกว่าตนเองเป็นนางพญาที่ทำได้ทุกสิ่ง
หนุ่มจบใหม่ที่เพิ่งทำงานชิ้นเล็กเสร็จอาจสำคัญว่าตนควรได้เป็นหัวหน้าแผนก
ทุกอย่างเป็นไปได้ในความคิด แต่โลกจะบอกพวกเขาเองว่าคุณสมบัติมีพอจะเป็นไปได้ในความจริงไหม
บุญเก่าบางอย่างจะทำให้ทุกคนมีดีเฉพาะตัว
แต่การเปรียบเทียบแข่งขันกันจะทำให้แต่ละคนเกิดความถือตัวว่าเก่งกว่าหรือด้อยกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ผลการแข่งขันแพ้ชนะมักก่อให้เกิดความสำคัญตัวไปต่างๆ
ถ้าชนะบ่อยก็สำคัญว่าตนต้องชนะไปทุกอย่าง ถ้าแพ้บ่อยก็สำคัญว่าตนต้องแพ้เขาทุกคน
โลกในโรงเรียนมัธยมอาจตีกรอบให้นึกว่าตนเองเป็นอย่างหนึ่ง
โลกในมหาวิทยาลัยอาจตีกรอบให้นึกว่าตนเองเป็นอีกอย่างหนึ่ง
แต่ที่แน่ๆคือโลกในบริษัทจะตีกรอบให้รู้ว่าตัวของแต่ละคนเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะทุกคนจะต้องใช้เวลาที่เหลือในชีวิตกับบริษัทหรืองานของตนเอง
ไม่มีทางที่ใครจะไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น