วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

พุทธทำนายปลอม (ดังตฤณ)

ถาม : มีพุทธทำนายว่ากึ่งพุทธกาล (พ.ศ.๒๕๐๐) สัตว์โลกจะพบแต่ความยากลำบากทุกชาติทุกศาสนา ตามธรรมชาติอันหมุนเวียนของโลกที่หมุนไปใกล้ความแตกสลาย ยักษ์หินที่ถูกสาปเป็นเวลานานจะตื่นขึ้นมาอาละวาด พระธรรมจะเริ่มเปล่งแสงรัศมีฉายแสงส่องโลกอีกวาระหนึ่งก็ต่อเมื่อมีธรรมิกราชโพธิญาณบังเกิดขึ้น อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเถระผู้ทรงฤทธิ์ ทั้งสองพระองค์สถิต ณ เบื้องตะวันออกของมัชฌิมประเทศ จะเสด็จมาเสริมสร้างศาสนาของตถาคตให้รุ่งเรืองสืบไปถึงห้าพันปี คำทำนายนี้จะทำให้ผู้สดับได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ใดรู้แล้วไม่เชื่อนับว่าเป็นกรรมของสัตว์ที่ต้องสิ้นสุดไปตามกรรมชั่วของตน อยากทราบว่าคุณดังตฤณมีความเห็นอย่างไร พุทธทำนายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖

ดังตฤณ: 
เป็นเรื่องน่าช่วยจดจำกันครับ ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงทำนายสิ่งใดๆก็ตาม ท่านต้องมีเหตุผลกำกับไปด้วยทุกครั้ง เช่นหากใครสงสัยว่าเมื่อใดพระอรหันต์จะหมดจากโลก ท่านจะไม่ระบุเวลา แต่จะชี้ให้เห็นเป็นเงื่อนไขว่าตราบใดยังมีภิกษุปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์สอนสั่ง ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หรือถ้าสงสัยว่าเมืองใดจะล่มสลาย พระองค์ก็จะตรัสเป็นเงื่อนไขว่าเมื่อใดเหล่าเจ้าผู้ครองนครเสียความสมัครสมานสามัคคี เมื่อนั้นเมืองจะถึงกาลพินาศ

เช่นกัน ตามพระไตรปิฎกซึ่งถือเป็นสมุดบันทึกอันเชื่อถือได้ของชาวพุทธนั้น จะเห็นว่ามิใช่พุทธลีลาที่จะทำนายอนาคตของศาสนาแบบฝากความหวังไว้กับใครคนใดคนหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงชี้ว่าถ้าพระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป ศาสนาพุทธจะยังคงสืบทอดต่อได้อย่างมั่นคง เพราะพระองค์บัญญัติวินัยสงฆ์ไว้อย่างเป็นระเบียบดีแล้ว อีกทั้งพระองค์จัดตั้ง ‘บริษัทพุทธ’ ซึ่งมีผู้ร่วมดำเนินการอยู่ ๔ พวก ได้แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา (รวมกล่าวง่ายๆคือฝ่ายนักบวชและชาวบ้านหญิงชาย)

แม้ที่เลื่องลือกันมากว่าพระพุทธเจ้าเคยทำนายสุบินนิมิต (ความฝัน) ของพระราชาองค์หนึ่ง ก็ไม่ปรากฏหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก แต่จะอยู่ในหลักฐานชั้นรองๆลงมา สรุปว่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธทำนายอนาคตแบบไม่มีเหตุผลประกอบนั้น เป็นเรื่องสมควรฟังหูไว้หู จะกระเดียดไปทางไม่เชื่อไว้ก่อนก็ไม่ผิดบาปอะไร เพราะโดยพุทธลีลาแล้ว แม้พระองค์ท่านมีญาณหยั่งรู้อนาคตจริง ก็จะตรัสถึงอนาคตอย่างมีเหตุผล มีที่มาที่ไป ซึ่งคนฟังจะได้รับประโยชน์ และเมื่อจะเชื่อก็ได้ชื่อว่าเชื่ออย่างมีเหตุผล มิใช่เชื่ออย่างงมงายหาคำอธิบายยาก

กล่าวถึงคำทำนายที่คุณยกมาเป็นคำถามนี้ เท่าที่ทราบปรากฏขึ้นมาลอยๆหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครับ เขาถึงได้ทำนายถูกไงว่าจะเกิดสงครามใหญ่ จะเข้ายุคข้าวยากหมากแพง สำหรับที่มาของคำทำนายก็อ้างว่าได้มาจากเสาหินขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกผู้มีพระชนม์ประมาณสองร้อยปีหลังพุทธกาล

โปรดไถ่ถามกันดูเองเถิด มีใครเคยเห็นจารึกพุทธพยากรณ์ที่ว่านี้ด้วยตาตนเองหรือถ่ายรูปมาบ้าง และมีผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณท่านใดเป็นผู้แปลหรือให้การรับรองว่าแปลออกมาแล้วได้ใจความต่อเนื่องราบรื่นสละสลวยอย่างนี้ สำหรับเสาพระเจ้าอโศกนั้น ถ้าใครเคยไปอินเดียจะเห็นนะครับว่าข้อความบนเสาเลอะเลือน ขาดหาย ไม่มีความต่อเนื่องนัก อย่างไรคงถอดความไม่ได้ชัดเจนเหมือนพุทธทำนายปลอมที่เขียนขึ้นใหม่นี้หรอก

อีกประการหนึ่ง น่าสงสัยว่าพระเจ้าอโศกท่านไปคัดข้อความยาวๆแบบนี้มาจากไหน? เพราะแม้ในชั้นอรรถกถาซึ่งเป็นภาคขยายความพระไตรปิฎกก็ไม่มี

อีกข้อสังเกตหนึ่ง พระเจ้าอโศกท่านเป็นคนในยุค ๒๐๐ ปีหลังพุทธกาล คงไม่ใช่ธุระของท่านหรือคนสมัยนั้นที่จะไปสนใจเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นในอีกสองพันปีต่อมา และหากกล่าวว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญ ก็ต้องกล่าวว่าเหตุการณ์สำคัญกว่านั้นมีอยู่ เช่นที่พุทธศาสนาถูกรุกรานจนสาบสูญไปจากประเทศต้นกำเนิด และกระจัดกระจายไปเจริญตามแหล่งอารยธรรมต่างๆทั่วโลก เป็นต้น

และที่จะลืมไม่ได้เป็นอันขาด คือองค์พระเจ้าอโศกเอง ท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธเจ้าใหญ่ที่สุด เพราะถ้าไม่มีท่านส่งคนไปเผยแผ่พระสัทธรรมนอกอินเดีย ป่านนี้พุทธศาสนาก็ล่มสลายหายสูญจากโลกนี้ไปแล้ว ฉะนั้นถ้าพระพุทธเจ้าจะทรงตรัสทำนายเพื่อเชิดชูบุคคลสำคัญของศาสนา ท่านก็น่าจะไม่ลืมตรัสถึงพระเจ้าอโศกเป็นแน่แท้ พระเจ้าอโศกอยู่ใกล้พุทธกาลเพียงสองร้อยปีเศษ แต่ ‘ธรรมิกราช’ ในพุทธทำนายปลอมอยู่ห่างมาถึงสองพันปี กลับได้รับการเชิดชูขึ้นมาเฉยๆ


สรุปคือเป็นพุทธทำนายปลอมร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ตัวคำทำนายจะจริงหรือไม่จริงขอให้ยกไว้ อย่างไรก็ไม่สมควรนำมาอ้างอิงกันอย่างเด็ดขาดว่านี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นธรรมดาที่มนุษย์ทั้งหลายจะแสวงหาและปั้นแต่งฮีโร่ขึ้นมารับผิดชอบโลก แต่ความจริงก็คือพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญ ไม่สนับสนุน และไม่ยกใครขึ้นมาเชิดชูแล้วอนุญาตให้พวกเราฝากพระพุทธศาสนาไว้ในมือคนๆนั้น มีแต่จะทรงให้ร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยกันสืบทอดและเผยแผ่ตามกำลังของแต่ละคน การเสาะหาฮีโร่เพียงคนเดียวมาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งนั้น นอกจากจะทำให้แนวคิดร่วมมือร่วมใจลดลงแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มนุษย์เจ้าเล่ห์ทั้งหลายกุเรื่องขึ้นมาตามใจชอบอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น