ถาม : เคยเข้าใจมาตลอดว่าทำกรรมอย่างไรก็ต้องย้อนกลับมาเกิดกับตัวเองแบบนั้นเป๊ะๆ
เช่น ถ้าไปตีหัวเขาก็ต้องถูกตีหัวคืน
หรือถ้าขโมยเงินล้านก็ต้องถูกขโมยหนึ่งล้านกลับเพิ่งทราบว่าตามหลักกรรมวิบากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ใช่เช่นนั้น
คือทำดีได้ดีหมายถึงได้ดีในทางที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำก็ได้
อยากทราบว่าผมเข้าใจเช่นนี้ถูกหรือไม่?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๐
ดังตฤณ:
ขออธิบายอย่างนี้นะครับ เมื่อคุณตีหัวใครสำเร็จ ก็กล่าวได้ว่ามีการก่ออกุศลกรรมคือการตีหัวด้วยเจตนาให้เขาเจ็บหรือให้หัวเขาแตก ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนเจ็บหัว หรือมีคนหัวแตก คุณตีวืดจนไม่มีใครหัวแตกจริง ก็เรียกว่าอกุศลกรรมครั้งนั้นล้มเหลว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะแปรเป็นพลังอีกรูปหนึ่ง
พ้นวิสัยตรวจจับด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์อันทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน
คุณสะสมพลังกรรมได้ไม่จำกัด เพราะสื่อที่ใช้เก็บบันทึกไม่ใช่สมุดบัญชี
ไม่ใช่ฮาร์ดดิสก์ในคอมพิวเตอร์เครื่องไหน พลังกรรมจะแฝงตัวอยู่ใน ‘ความจริง’
อันไร้ขอบเขตกว้างยาวสูง
หมายความว่าในความจริงของเมื่อวาน
คุณตีหัวคนไว้คนหนึ่ง เหตุการณ์ที่คุณตีหัวคนก็จะถูกบันทึกไว้ในความจริงตรงนั้นเอง
และไม่อาจกลับเปลี่ยนด้วยวิธีใดๆ ความจริงดังกล่าวจะเข้าคิวร่วมกับความจริงอื่นๆ
รอว่าเมื่อใดจึงสมควรกระโดดออกจากคิวไปให้ผล
คิวกรรมมีการจัดเรียงที่สลับซับซ้อน
และอาจจะไม่ตรงไปตรงมาเป็นเส้นตรงเหมือนคิวเข้าแถวรอชำระหนี้ที่เคาน์เตอร์
สมมุติว่าช่วงต้นชีวิตของคุณตีหัวคนด้วยความสนุกเป็นว่าเล่น
แค้นใครเมื่อไรเล่นงานด้วยวิธีนี้เมื่อนั้น หากตายไปขณะยังติดใจที่จะตีหัวคน
คุณก็อาจไปเกิดในอบายภูมิที่มีการทำร้ายบริเวณศีรษะไม่เลิกรา และเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก
ก็อาจโดนใครจงใจประทุษร้ายที่ศีรษะ หรือไม่ก็เกิดอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ
ได้รับบาดแผล ได้รับความเจ็บปวดทรมานอยู่เรื่อยๆ จนตัวคุณในชาติต่อไปรำพึงรำพัน
ว่าสงสัยต้องเคยไปตีหัวคนไว้บ่อยแน่ๆ
แต่หากคุณยังไม่ตาย
พบธรรมะและเกิดการเปลี่ยนใจครั้งใหญ่
ต่อไปจะไม่ตีหัวคนอีกไม่ว่าจะโกรธแค้นอาฆาตสักเพียงใด
แถมเจอใครจะถูกตีหัวหรือทำร้ายร่างกาย ก็อุทิศตัวเข้าไปปกป้องเสียด้วย
อย่างนี้คิวกรรมจะถูกจัดเรียงใหม่ทันที
คือถ้าตายไปด้วยความผูกพันกับความคิดไม่เบียดเบียน
และความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นภัย เช่นนี้สุคติคือโลกสวรรค์หรือโลกมนุษย์ย่อมเป็นที่หวังได้
เมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์
คุณอาจโดนทำร้ายทางศีรษะบ้าง แต่อาจไม่โดนเต็มๆ และไม่โดนบ่อยมาก
หรือบางทีถ้าจะโดนแรงขนาดต้องหามขึ้นเมรุ วิบากด้านดีที่เคยช่วยคน
ก็จะส่งใครสักคนหรือเหตุการณ์สักอย่างมาช่วยไว้ทัน
การผูกเวรแบบตาต่อตา
ฟันต่อฟัน ภายในชาติที่มีเรื่องกันนั้น ก็จัดเป็นการใช้หนี้เก่าและต่อหนี้ใหม่
กฎของการเอาคืนระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับความเจ็บใจเป็นหลัก
แม้คุณจะตีหัวเขาโป๊กเดียว ไม่ถึงเลือดอาบ แต่ถ้าเขาเจ็บใจเข้าไปถึงกระดูกดำ
เวลาเขาหาทางเอาคืน ก็อาจตีหัวคุณเลือดไหลเป็นน้ำตก
หรือหนักกว่านั้นอาจถึงขั้นหัวแบะกะโหลกเปิด
และวิธีการของมนุษย์ที่จะแก้แค้นคืนนั้น
ก็เป็นไปได้หลากหลาย ไม่จำกัดว่าเขาจะอยากตีหัวคุณกลับอย่างเดียว
แต่อาจพาพรรคพวกมารุมกระทืบ หรือมัดไว้แล้วเอาแส้โบย
ความเจ็บตัวของคุณไม่ว่าวิธีใดๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนของการชดใช้กรรมที่ทำไว้กับเขาทั้งสิ้น
หากให้อภัยได้ก็จะไม่เหลือเศษให้ต้องไปชดใช้ต่อในอบายภูมิอีก
แต่หากเคียดแค้นอาฆาตอยากขอเอาคืน อันนั้นก็ต้องผลัดกันทำร้ายต่อไปอีก เขาพลาดบ้าง
คุณพลาดบ้าง ขึ้นอยู่กับเป็นรอบของใครขึ้นขี่กัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น