ถาม : เทวดาบรรลุมรรคผลได้ไหมครับ? ถ้าบรรลุได้
หมายความว่าบนสวรรค์มีการปฏิบัติธรรมเหมือนมนุษย์หรือเปล่า?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๐
ดังตฤณ:
การบรรลุมรรคผลบนสวรรค์นั้นเป็นไปได้ แต่ ‘ไม่สะดวก’ เหมือนบนโลกมนุษย์ครับ เหตุเพราะขาด ‘อุปกรณ์สำคัญ’ ที่เอื้ออำนวยในการปฏิบัติภาวนา นั่นคือกายมนุษย์อันเต็มไปด้วยความกระสับกระส่ายของพวกเรานี้
การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระพุทธเจ้ายืนอยู่บนการพิจารณาเห็นกายใจไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเห็นได้ง่ายในกายใจของมนุษย์
แต่เห็นได้ยากมากบนกายทิพย์ใจทิพย์ของ เทวดานางฟ้า อะไรๆในความเป็นทิพย์นั้นตั้งอยู่เพื่อให้หลงระเริง
เพื่อให้เพลิดเพลินยึดติดแต่ถ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม
หากเทวดามีคุณสมบัติเหล่านี้ ก็เป็นไปได้ที่จะบรรลุมรรคผลบนสวรรค์กัน
๑) เป็นเทพยดาผู้สั่งสมนิสัยอริยะไว้ก่อน
พูดง่ายๆคือมีบุญ มีบารมีทางมรรคทางผลพอที่จะสละความยึดติดในกายทิพย์และใจทิพย์
ไม่ใช่มีเมฆหมอกความหลงผิดปิดบังแน่นหนา เช่น เมื่อครั้งเป็นมนุษย์เคยบั่นทอนกำลังใจหรือขัดขวางผู้คิดภาวนาเอามรรคเอาผล
๒) มีการพิจารณาเห็นความไม่ใช่ตัวตนเต็มกำลัง
แม้มีบุญบารมีมากเพียงใด ถ้าไม่รู้เข้ามาที่กายทิพย์ใจทิพย์ของตน
จนเห็นความเป็นเหตุปัจจัยประชุมกันชั่วคราว เกิดแล้วต้องดับเป็นธรรมดา
หาตัวตนมิได้แล้ว ก็ไม่มีทางบรรลุมรรคผลเลย การพิจารณาธรรมให้เห็นความไม่เที่ยงและความไม่ใช่ตัวตนนั้น
อาจเป็นความรู้ความจำที่ติดตัวมาตั้งแต่ครั้งเป็นมนุษย์
หรืออาจเป็นการชี้ทางโดยผู้มีภูมิธรรมระดับอริยะก็ได้
ขอยกตัวอย่างการบรรลุธรรมอันลือลั่นของพระอินทร์
ซึ่งมาเข้าเฝ้าสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า เรื่องนี้มีมาในสักกปัญหสูตร
อันหมายถึงปัญหาที่ท่านท้าวสักกะหรือพระอินทร์ลงมากราบทูลถามพระพุทธเจ้าถึงในโลกมนุษย์
หากคุณศึกษาเนื้อความดังต่อไปนี้ให้ดี ก็จะเห็นตัวอย่างการบรรลุมรรคผลอันเกิดจากการพิจารณาธรรมที่ไม่ยากจนเกินไป
และเมื่อเข้าใจแล้วก็ย่อมทราบชัดว่าการบรรลุมรรคผลเป็นของสากล ไม่จำเพาะว่าต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น
ขอเพียงมีดวงจิตเป็นกุศล สามารถเข้าใจภาษาธรรมะ
จะเป็นเทวดาอินทร์พรหมไหนๆก็มีสิทธิ์ด้วยกันทั้งสิ้น
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ท่านประทับอยู่ในถ้ำชื่ออินทสาละ
พระอินทร์รวมทั้งเหล่าเทวดาอันเป็นเทพบริวารได้มาเข้าเฝ้า
พระอินทร์กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระพุทธศาสนาว่าทำให้เทวดามีสหายใหม่มากขึ้น
ส่วนสัตว์ในอบายภูมิได้เพื่อนน้อยลง อีกทั้งพระอินทร์ได้เห็นตัวอย่างการบรรลุธรรมในหมู่เทพด้วยกัน
จึงมากราบทูลขอพุทธานุญาตถามธรรมเพื่อความบรรลุถึงเช่นนั้นบ้าง
พระพุทธองค์ทรงอนุญาตและตรัสรับรองว่าจะตอบปัญหาของพระอินทร์ให้หายสงสัยถึงที่สุด
เนื่องจากเล็งเห็นว่าท้าวสักกะเป็นบัณฑิต จะถามอะไรย่อมประกอบด้วยประโยชน์
กับทั้งมี ความสามารถเข้าใจเนื้อความธรรมะได้รวดเร็วฉับพลัน
ฉะนั้นพระองค์จะไม่เปลืองแรงเปล่ากับการ ตอบคำถามเป็นแน่
ครั้งนั้นความสงสัยอย่างที่สุดของพระอินทร์ท่าน
คืออยากทราบว่าอะไรเป็นเครื่องมัดใจสัตว์ ทั้งหลายให้ต้องผูกเวรกัน
ทั้งที่บางพวกไม่อยากมีเวร ก็ไม่แคล้วต้องถูกเบียดเบียน ต้องตอบโต้
ต้องก่อเวรกับผู้รุกราน ต่อให้เป็นเทวดา หรือกระทั่งเป็นพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่ในดาวดึงส์
ยังถูกเหล่าอสูรราวีเข้าจนได้
ในการตอบเพื่อให้มรรคให้ผลแก่ผู้ควรบรรลุ
พระพุทธเจ้าทรงเลือกที่จะไม่ให้คำตอบโยงไปเกี่ยวพันกับอดีตกรรมหนหลังที่เทวดาและอสูรเคยผูกเวรกันมา
ทว่าจำกัดขอบเขตอยู่ในเหตุผลของจิต และคำตอบแบบยิงเข้าเป้าโดยตรงของพระพุทธองค์ก็คือ…
ดูกรจอมเทพ
เหล่าเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ ต่างก็มีความริษยาและความตระหนี่เป็นเครื่องผูกใจไว้
แม้เหล่าชนจำนวนมากปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู
ไม่มีความพยาบาท แม้กระนั้นพวกเขาก็ยังต้องเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรูมีความพยาบาท
ยังจองเวรกันอยู่
คำตรัสของพระพุทธองค์หมายความว่า
พวกเราตกอยู่ในจักรวาลแห่งการเบียดเบียน ถูกจองจำพันธนาการอยู่ด้วยสายโซ่คือความริษยาและความตระหนี่
ต่อให้ไม่อยากมีเวรก็ต้องมีเวร ต่อให้ไม่อยากมีศัตรูก็ต้องมีศัตรู
เราไม่ทำเขาเขาก็มาทำเราอยู่วันยังค่ำ ยากที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ตลอดรอดฝั่ง
ดังกล่าวแล้วว่าพระอินทร์เป็นผู้มีปัญญามาก
เพียงฟังเท่านั้นท่านก็เบี่ยงเบนความสนใจจาก เวรนอกตัว
มาเป็นเหตุแห่งเวรอันเป็นของภายใน นั่นคือความริษยาและความตระหนี่ทันที ซึ่งในขั้นนี้ผู้มีปัญญาใกล้ถึงธรรมทั้งหลายต่างก็เหมือนกัน
คือตัดความสนใจนอกตัว เอาสติเข้ามาตั้งที่ภายใน รู้อยู่กับเรื่องของใจตน
เมื่อเกิดสติรู้อยู่ที่จิตอันเป็นของจริงในตนแล้ว
พระอินทร์ก็ทูลถามต่อ…
ข้าแต่พระสุคต
ด้วยคำตอบของพระองค์ทำให้ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยเรื่องต้นเหตุแห่งภัยเวรแล้ว
แต่กระนั้นก็ยังสงสัยอยู่ ว่าความริษยาและความตระหนี่มีอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น
ข้าพระองค์ใคร่ที่จะทราบว่า เมื่ออะไรมีความริษยาและความตระหนี่จึงมี
และเมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี?
พระอินทร์ไม่ได้ถามอย่างคนช่างซักหรือสักแต่อยากรู้อยากเห็น
เพราะท่านถามเจาะเอาแก่นสารอันเป็นที่สุดด้วย นั่นคือ ‘เมื่ออะไรไม่มี
ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี’ อันนี้ถือเป็น
คำถามที่ลึกซึ้งสุดยอดของศาสนาพุทธเรา ซึ่งกล่าวถึงเหตุแห่งการมีทุกข์
และเหตุแห่งการดับทุกข์
ผู้รู้ทางศาสนาย่อมทราบดีว่าคำถามนี้ของพระอินทร์เริ่มเข้าข่ายอริยสัจจ์
หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการถามเอาความรู้แจ้งในระดับอริยะแล้ว
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า…
ดูกรจอมเทพ
ความริษยาและความตระหนี่ มีวัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น
เมื่อวัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี
เมื่อวัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี
พระอินทร์ย่อมเห็นแจ้งตามจริงตามพุทธพจน์ทันที
ว่าเมื่อปราศจากเครื่องยึดให้จิตรักใคร่ ใจย่อมว่างจากความริษยาและความตระหนี่
แต่กระนั้นก็ยังไม่ถึงที่สุดของความสงสัย พระอินทร์จึงทูลถามต่อไป…
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น
ข้าพระองค์ใคร่ที่จะทราบว่าเมื่ออะไรมี วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักจึงมี
และเมื่ออะไรไม่มี วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี?
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
ดูกรจอมเทพ
วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักนั้น มีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ให้เกิดขึ้น เมื่อความพอใจมี วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักจึงมี
เมื่อความพอใจไม่มี วัตถุอันเป็นที่รักและวัตถุอันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี
บัดนั้นพระอินทร์เห็นเข้ามาที่จิตอีกครั้ง
เห็นว่าบุคคลหรือวัตถุภายนอกย่อมไม่อาจเป็นที่รักได้เลย
หากขาดตัวแปรสำคัญตัวเดียวคือ ‘ความพอใจ’ หากขาดความพอใจเสียแล้ว ทั้งโลกย่อมไม่มีสิ่งใดควรยึดมั่นว่าน่ารักหรือน่าชังอีกต่อไป
พระอินทร์ยังมีคำถามต่อ…
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ความพอใจมีอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น ข้าพระองค์ใคร่ที่จะทราบว่าเมื่ออะไรมี
ความพอใจจึงมี และเมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี?
พระพุทธองค์ตรัสตอบ
ดูกรจอมเทพ
ความพอใจมีความตรึกเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี
เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี
นี่คือคำตอบที่ชัดเจน
เรียบง่าย และตรงไปตรงมายิ่ง คนเราถ้าไม่ตรึกนึกถึงสิ่งใด
ความพอใจหรือความไม่พอใจเกี่ยวกับสิ่งนั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
ขอให้พิจารณาดูว่าถ้าคุณผ่านไปเห็นหรือมีอะไรผ่านมาให้ได้ยิน แต่คุณไม่ยินยลสนใจ
ไม่ใส่ใจตรึกนึกเปรียบเทียบให้เห็นข้อดีข้อเสียต่างๆ คุณย่อมไม่รู้สึกรู้สา
แม้เห็นอยู่ว่าสวยงามหรือชวนชัง แต่ทุกอย่างก็สักแต่ผ่านมาแล้วผ่านไป
โดยไม่มีใจคุณติดตามไปด้วย
แต่ธรรมดาคนเราเมื่อพบเห็นหรือได้ยินอะไร
ก็มักเอากลับมานึกถึง เอากลับมาคิดต่อ แล้วก็เกิดอาการตอกย้ำ
ตัดสินยิ่งๆขึ้นว่านั่นน่าพอใจ นั่นน่าจับต้อง นั่นน่าได้มาไว้เป็นสมบัติ
นี่แหละพระพุทธองค์จึงตรัสว่าเพราะความตรึกนึกเป็นเหตุ จึงมีความพอใจเกิดขึ้นได้
พระอินทร์ทูลถามต่อ…
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ความตรึกมีอะไรเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น ข้าพระองค์ใคร่ที่จะทราบว่าเมื่ออะไรมี
ความตรึกจึงมี และเมื่ออะไรไม่มี ความตรึกจึงไม่มี?
คราวนี้พระพุทธองค์ตรัสตอบมาถึงระดับพ้นวิสัยที่จะเข้าใจด้วยมุมมองของการมีตัวตน
(ลองอ่านช้าๆจะไม่ยากเกินเข้าใจนะครับ)
ดูกรจอมเทพ
ส่วนหนึ่งของความตรึกมาจากความสำคัญมั่นหมาย อันประกอบด้วยความทะยานอยาก
ความถือตัว และความเห็นผิด ความสำคัญมั่นหมายนั่นแหละเป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น
เมื่อความสำคัญมั่นหมายมี ความตรึกจึงมี เมื่อความสำคัญมั่นหมายไม่มี
ความตรึกจึงไม่มี
ความสำคัญมั่นหมายคืออาการที่จิตทรงจำ
ตลอดจนหมายรู้ได้ว่าอะไรคืออะไร หน้าตาแบบ ไหนเป็นของคนรัก
หน้าตาแบบไหนเป็นของศัตรู และหน้าตาแบบไหนเป็นตัวคุณเอง
หากปราศจากอาการสำคัญมั่นหมายอันประกอบไปด้วยความทะยานอยาก ความถือตัว
และความเห็นผิดเสียแล้ว คุณจะไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มีข้างคนรัก ไม่มีข้างศัตรูเลย
ทุกคนเป็นพวกเดียวกัน คือเป็นเหยื่อของความไม่รู้ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
เมื่อ ‘รู้สึกชัด’
เข้ามาในภายใน เห็นว่าจิตนี้ มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งเป็นความสำคัญมั่นหมาย
หรือความจำได้หมายรู้ ก็เท่ากับคุณเห็นแบบแยกส่วน
ว่าความจำได้หมายรู้เป็นแค่อะไรชิ้นหนึ่ง เป็นต่างหากจากจิต เป็นต่างหากจากตัวตน
และถ้าตั้งความเห็นไว้ถูกต้อง
ว่าความจำได้หมายรู้เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
เกิดขึ้นด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง แล้วต้องสาบสูญไปสู่ความเป็นอื่น
คุณก็จะไม่เห็นตัวคุณอยู่ในความจำ และไม่เห็นความจำโดยความเป็นตัวคุณแต่อย่างใดเลย
มาต่อกันเรื่องพระอินทร์
พอฟังคำตอบถึงตรงนี้ ‘ตัวสำคัญมั่นหมาย’ ก็ปรากฏต่อจิตของท่านแล้ว
คือท่านเห็นความสำคัญมั่นหมายเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง อันนำมาซึ่งความตรึก
ความพอใจ แล้วเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่รัก
สิ่งที่เป็นต้นตอแห่งความริษยาและความตระหนี่ ดังนั้นท่านจึงทูลถามพระพุทธเจ้าต่ออย่างจะเอาคำตอบสำคัญสุดยอด
คือ…
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร
จึงได้ชื่อว่าทำเหตุอันควรที่จะให้ถึงความดับในส่วนของความสำคัญมั่นหมาย
อันประกอบด้วยความทะยานอยาก ความถือตัว และความเห็นผิด?
คำตอบสำหรับคำถามนี้
พระพุทธองค์ตรัสโดยถือหลักว่าจะต้องปฏิบัติได้จริงสำหรับเทวดา
เหล่าเทวดาประสบกับสัมผัสดีๆอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นจะหาเครื่องพิจารณาให้จิตถอนจากความทะยานอยาก ความถือตัว และความเห็นผิด
จึงต้องว่ากันด้วยเรื่องความดีใจและความเสียใจกันเป็นหลัก เพราะแม้ในโลกสวรรค์ที่อุดมด้วยทิพยสภาพอันแสนประณีตไร้ที่ติ
ก็อาจเป็นทางมาแห่งโสมนัสและโทมนัสได้
พระพุทธองค์จึงอาศัยโอกาสแคบๆนี้เป็นช่องชี้ทางสว่างให้พระอินทร์
คือ…
ดูกรจอมเทพ
อาตมภาพจะกล่าวถึงโสมนัสโดยแยกเป็น ๒ คือโสมนัสที่ควรเสพก็มี
โสมนัสที่ไม่ควรเสพก็มี โทมนัสก็แยกเป็น ๒ คือโทมนัสที่ควรเสพก็มี
โทมนัสที่ไม่ควรเสพก็มี และอุเบกขาก็แยกเป็น ๒ คืออุเบกขาที่ควรเสพก็มี
อุเบกขาที่ไม่ควรเสพก็มี
โสมนัส
โทมนัส และอุเบกขาใดทำให้กุศลเจริญขึ้น กับทั้งปราศจากความตรึก ความตรอง
อย่างนั้นควรเสพ แต่ถ้าทำให้อกุศลเจริญ อย่างนั้นไม่ควรเสพ
ได้ฟังอย่างนี้
สำหรับพระอินทร์ก็โดนใจเต็มๆ
เพราะท่านเพิ่งมีประสบการณ์อันทำให้ระลึกได้ถึงการเสพโสมนัสควบคู่ไปกับโทมนัสมาสดๆร้อนๆ
กล่าวคือเหล่าพรรคพวกเทวดาของท่านเพิ่งรบกับเหล่าอสูร
ซึ่งเมื่อพระอินทร์เป็นฝ่ายชนะ ก็ย่อมมีความโสมนัสยินดี
ความโสมนัสยินดีอันเกิดจากชัยชนะต่ออริราชศัตรูนั้น
เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ย่อมเห็นชัดว่าเป็นโสมนัสที่ประกอบไปด้วยทางมาแห่งอาชญา
ประกอบไปด้วยทางมาแห่งศาตรา ไม่เป็นไปเพื่อความแหนงหน่ายคลายกำหนัด
ไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อันเกิดจากการรู้แจ้งมรรคผลนิพพาน
ส่วนการได้รับความยินดี
การได้รับความโสมนัสอันเกิดจากการได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น
ไม่เป็นทางมาแห่งอาชญา ไม่เป็นทางมาแห่งศาตรา
แต่เป็นไปเพื่อความแหนงหน่ายคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อความดับทุกข์อันเกิดจากการรู้แจ้งมรรคผลนิพพาน
ระหว่างฟังเทศนาธรรมไขปัญหาอยู่นั้นเอง
พระอินทร์ก็บรรลุธรรม (กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าบรรลุมรรคผล หรือได้ดวงตาเห็นธรรม
รู้จักพระนิพพานเป็นวาระแรก) ดังความตามพระสูตรที่ว่า…
ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่
ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพ
เพราะเห็นแจ้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งเหล่านั้นทั้งมวลล้วนมีความดับลงเป็นธรรมดา
การสืบเหตุสืบผลของความมีความเป็นทั้งหลายตามลำดับนั้น
เปรียบเสมือนการปอกกาบ ใบของต้นกล้วยออกทีละชั้นจนไม่เหลืออะไร
ไม่พบแก่นอันเป็นสุดท้ายนอกจากความว่างเปล่า และณ ที่ที่พบความว่างเปล่าจากตัวตนนั้นเอง
ความรู้สึกในตัวตนย่อมหายไป
กล่าวโดยสรุปอีกครั้ง
เทวดาบรรลุมรรคผลได้นะครับ
แต่ตามอัตภาพอันเป็นอัครมหาสุขแล้วท่านจะไม่มีโอกาสเจริญสติตามแนวสติปัฏฐาน ๔
เหมือนมนุษย์โลก พวกท่านไม่มีกายอันเต็มไปด้วยอึฉี่และตับไตไส้พุงโสโครก ตั้งอยู่อย่างอุดมโรค
เป็นรังโรคที่รอวันแตกดับ มีแต่กายทิพย์อันหอมหวนนุ่มนิ่ม
กับสภาพแวดล้อมน่ารื่นรมย์สุดประมาณ การจะพิจารณาให้เกิดความแหนงหน่ายจึงยาก
แต่ก็มีโอกาสอันแคบอยู่ คือพิจารณาเห็นสายโซ่แห่งเหตุผลของการมีการเป็น
หรือเห็นเข้ามาในจิต ในอารมณ์ของตนเป็นขณะๆ ว่าเกิดแล้วต้องดับไปทั้งหมด
กระทั่งจบลงที่การรู้แจ้งว่ากายทิพย์ใจทิพย์นั้น หาใช่ตัวตนของใครไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น