ถาม : หากความเย็นของเราดึงดูดให้คนร้อนๆเข้ามาหา
เพราะอยู่ใกล้แล้วเขาเย็นใจ แต่บางทีพอความเย็นของเราเอาความร้อนของเขาไม่อยู่
เขาก็เอาเรื่องร้อนๆมาสุมใส่เรา จนเราเองยังทนเย็นอยู่ไม่ไหว ทั้งวางอุเบกขาก็แล้ว
คิดเมตตาก็แล้ว มันทำให้ชีวิตเราเริ่มหมดความสุขลงทีละน้อย ถ้าเจอแบบนี้
ควรจะวางใจอย่างไรดีคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗
ดังตฤณ:
อย่าทนร้อนสิครับ
ให้น้ำเขาแก้วหนึ่งเป็นตัวอย่างว่าน้ำเย็นเป็นอย่างนี้
แล้วให้วิธีหาน้ำเย็นเพื่อให้เขาพึ่งตัวเองได้ จากนั้นเขาจะหาได้หรือไม่ได้ก็วางเฉยเสีย
นโยบายที่ดีที่สุดในการเผชิญกับคนมีความร้อนติดตัว
คือตั้งระยะห่างไว้พอประมาณ
อย่าเพิ่งเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาใกล้ขนาดไม่เกรงใจว่าเราจะร้อนตามเขาไปด้วยถี่บ่อยเพียงใดก็ได้
เว้นแต่ว่าเขาคบเรา ได้ความเย็นจากเรา จนกระทั่งเห็นจริงๆว่าความเย็นของเขามีความนิ่ง
มีความตั้งมั่นได้เทียบเท่ากับเรา หรือยิ่งกว่าเรา
อันนั้นแหละค่อยเปิดรับเขาเป็นคนสนิท
เท่าที่เห็นมาโดยมากนะครับ
หากเดิมเคยร้อนสุดๆ อาละวาดฟาดงวงฟาดงาเก่งสุดๆ จะเหมือนกันแทบทุกราย
คือรำคาญตัวเอง ใจจริงส่วนลึกอยากจะสงบเย็น แต่ยังหาคนเย็นมาเป็นผู้เหนี่ยวนำให้พอใจเปลี่ยนแปลงตนเองไม่เจอ
หากโชคดีได้เจอและได้พึ่งพาไอเย็นจากคนใจคอสงบสุขสักพัก
ก็จะเหวี่ยงนิสัยร้อนๆดั้งเดิมไปอยู่ขั้วตรงข้าม คือเมตตาได้สุดๆ
เยือกเย็นและสว่างอาภา
เป็นที่สบายตาสบายใจแก่ผู้พบเห็นเสียยิ่งกว่าคนมีธาตุนิสัยร้อนโดยเดิม
ยกตัวอย่างหลวงปู่ขาว
ผมเห็นใบหน้าท่านแล้วจับใจตั้งแต่แรก เข้าใจว่าท่านคงเปี่ยมเมตตามาแต่อ้อนแต่ออก
ที่ไหนได้ ท่านเคยเป็นคนดุ และระบุเลยว่าช่วงก่อนบวชนี่ท่านเป็นคนโมโหร้ายมาก
แต่แน่นอนครับ
เมื่อท่านจะเปลี่ยนแปลง ท่านคงไม่เจอครูบาอาจารย์ประเภทที่ปล่อยให้ท่านได้สำแดงความร้อนของโทสะได้ตามอำเภอใจ
ท่านต้องถูกกำราบ หรืออย่างน้อยก็ต้องได้แรงบันดาลใจอย่างใหญ่ในระยะห่าง
เห็นความเยือกเย็นดีงามของผู้เป็นอาจารย์แล้วซึมซับ
น้อมรับความเยือกเย็นดีงามนั้นเข้าไปไว้ในตนบ้าง
สรุปคือคุณทำตัวเป็นที่พึ่งในระยะห่าง
เป็นแรงบันดาลใจในระยะไกล และเป็นผู้ออกแรงใช้นิ้วในการชี้ทาง
ไม่ใช่เอามือและไหล่แบกทั้งตัวเขาไปส่งถึงที่
เพราะคุณจะหน้ามืดเป็นลมอยู่กลางทางนั่นเอง เขาเองก็จะหลงทางต่อ
แล้วช่วยพัดวีให้คุณฟื้นไม่เป็นเสียด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น