วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ชนะความงอนของลูก (ดังตฤณ)

ถาม : ผมมีลูกชาย ๒ คน คนเล็กอยู่กับผม ส่วนคนโตผู้ใหญ่ที่นับถือได้ขอไปเลี้ยง ในที่นี้ผมขอเรียกว่าคุณลุง นะครับ ลูกชายไปอยู่กับคุณลุงตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ (ป.๑) ปัจจุปันอยู่ ป.๕ ระยะหลังลูกชายผมจะไม่รับโทรศัพท์จากผมและคุณแม่ของเขาเลย ไปหาที่บ้านก็ไม่ยอมลงมาพบ ทำอย่างไรจะให้ลูกรับโทรศัพท์ พูดคุยกับพ่อแม่ หรือมาหาพ่อแม่บ้าง คุณลุง คุณครูที่โรงเรียนก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คิดไว้ว่าจะเอาตัวกลับมาเลี้ยงดูเองก็ไม่ทราบว่าลูกชายจะยอมหรือไม่ ครั้นจะใช้วิธีบังคับก็เกรงว่าจะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง กรุณาชี้แนะด้วยนะครับ

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗

ดังตฤณ: 
ความน้อยใจของเด็กบางคนนั้น บางทีเกินกว่าที่เราจะคาดคิดครับว่ามากมายแค่ไหน และไม่เฉพาะเด็ก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็อย่างนั้น บางทีเอาแมวฝากคนอื่นเลี้ยงไม่กี่วัน มันยังงอน ไม่ยอมมานัวเนีย หรือบางทีหลบหนีออกจากบ้านไปเลย นับประสาอะไรกับเด็กที่รู้ความแล้ว และ คิดมากได้ยิ่งกว่าแมวหลายเท่า

ผมเข้าใจว่าคุณคงมีความจำเป็นบางอย่าง จึงต้องฝากลูกไว้กับคนอื่น และท่าทางเขาก็จะพิศวาสลูกชายคุณ อยากรับอุปการะเป็นลูกจริงๆถาวรเสียด้วย จึงไม่เกี่ยงภาระนานปีใดๆ ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากเขาประคบประหงมลูกคุณเป็นอย่างดี ทำให้เด็กไม่เห็นความจำเป็นต้องดิ้นรนจะกลับมาหาคุณแต่อย่างใด

คนเรานะครับ ไม่ว่าวัยไหน ถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นที่ต้องการ เวลางอนจะมีโทสะปกคลุมหนาทึบกว่าปกติ เช่นถ้าพ่อแม่ทำให้เจ็บใจ ทำให้งอน ก็อยากเอาคืนด้วยการทำอะไรก็ตามให้พ่อแม่เสียใจมากๆ

ทางที่ดีอย่าแสดงออกซึ่งความโศกเศร้าให้แกรู้มากนัก อย่าพยายามตื๊อหรือให้แกเห็นว่าเราใจจะขาดให้ได้ ทำใจให้แข็งแรง แต่ก็ไม่ทอดทิ้ง ไม่หายไปนานๆ แกจะรับรู้ได้ในวันหนึ่งว่าคุณคิดถึง และขณะเดียวกันก็จะไม่มีความเศร้าโศกจากคุณไปกระตุ้นให้แกอยากงอนต่ออีกนานๆ


เด็ก ป.๕ นั้น ยังตัดตายขายขาดจริงๆไม่เป็นหรอกครับ ต่อให้แกนึกเอาจริง ไม่เผาผีกันอีกเลยก็เถอะ รอวันแกใจอ่อน แล้วก็อย่าอ่อนใจเสียเองเท่านั้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น