วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ความเป็นมาของพรหมลิขิต (ดังตฤณ)

ถาม : คำว่า ‘พรหมลิขิต’ มีความเป็นมาอย่างไรคะ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗

ดังตฤณ: 
ตามตำนานนะครับ มีพระพรหมซึ่งเป็นเทพผู้ทรงฌานท่านหนึ่ง อายุยืนยาวจนลืมความเป็นมาของตัวเอง เห็นแต่ความเกิดดับของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย แต่ไม่เห็นความเกิดดับของตนเอง ก็เกิดความหลงเข้าใจว่าตนเป็นผู้สร้างโลก สร้างสวรรค์ สร้างจักรวาล และความเชื่อนี้พลอยตกทอดลงมาถึงมนุษย์ผ่านเทวดา ผ่านร่างทรง ผ่านการเข้าฝัน จนกระทั่งผ่านมนุษย์รุ่นต่อรุ่น หาที่มาชัดเจนไม่เจอ

เมื่อเชื่อเสียแล้วว่าพระพรหมเป็นผู้สร้าง ดังนั้นชะตากรรมทั้งหมดก็ต้องมีพระพรหมเป็นผู้ลิขิต แต่ถามว่าทำไมพระพรหมมีเวลาลิขิตมากนัก สัตว์เป็นหมื่นล้านแสนล้านขนาดนี้ ก็จะไม่พบคำตอบ คำตอบสุดท้ายคือพระพรหมเป็นผู้ลิขิต หาทางพิสูจน์หรือหาคำอธิบายให้ยิ่งไปกว่านี้ไม่ได้

จุดและที่สำคัญคือ เมื่อเชื่อว่าพระพรหมเป็นผู้ลิขิตเสียแล้ว ก็แปลว่าเราไม่มีทางแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนอะไรๆให้ดีขึ้นเลย ทุกอย่างถูกกำหนดไว้เรียบร้อยตั้งแต่เกิดจนตาย แบบเดียวกับเราเป็นนกหนูในกรงทดลองที่คนอยากกำหนดให้มีอันเป็นไปอย่างไรก็ได้ ไม่มีทางหือ

แต่ถ้าเราเชื่อตามหลักพุทธศาสนาที่ว่าตัวเราเองลิขิตตัวเองด้วยกรรม ใครทำกรรมอันใดไว้ ย่อมเป็นทายาทของกรรมนั้นๆ อันนี้พอหาทางพิสูจน์และอธิบายกันได้ เช่นว่าถ้าเราดวงไม่ดี เจอแต่คนรักเลวๆ ก็แปลว่ากรรมเก่าเราทำให้คนอื่นมีชะตากรรมไม่ดี และเราก็อาจจะเคยเลวกับคนรักในปางก่อน

วิธีพิสูจน์นั้น ก็ยืนพื้นอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ถ้าเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นด้วยกรรมดำ เราก็ต้องสร้างเรื่องดีมาสู้ได้ด้วยกรรมขาวอันเป็นขั้วตรงข้ามเช่นกัน เช่นเมื่อหมั่นสร้างชะตากรรมดีๆให้ผู้ด้อยโอกาส หมั่นให้อภัยไม่อาฆาตคนร้ายกับคุณ กัดฟันทำแต่กรรมขาวจนกระทั่งความดีงามตั้งมั่นในคุณ หากเรื่องของกรรมวิบากมีจริงชะตากรรมของคุณก็ต้องดีขึ้นภายในชาตินี้ กรรมย่อมไม่ปล่อยให้คุณต้องมัวน้อยใจวาสนา ไม่ปล่อยให้รอถึงชาติหน้าเหมือนอย่างพรหมลิขิตอย่างแน่นอน


และเท่าที่พบกันมานักต่อนัก ทันทีที่คนเราเริ่มเชื่อว่ากรรมเป็นตัวลิขิตชะตานี่นะครับ ทุกอย่างเริ่มดีขึ้นทันที อย่างน้อยเรามีเหตุผลอธิบายตัวเองว่าทำไมต้องเป็นเรา และเจออะไรอย่างที่เคยเจอ จิตที่มีศรัทธาแบบพุทธจะคล้อยไปในเส้นทางของเหตุผลและปัญญา ซึ่งทำให้เกิดความสว่าง ความอบอุ่น และความไม่หลงงมงายด้วยความเชื่อสืบๆกันมาครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น