ถาม : สงสัยว่าทำไมตัวเองถึงเหมือนมีระดับสติปัญญาที่เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้
วันหนึ่งรู้สึกเหมือนฉลาดจัด แต่อีกวันหนึ่งดูโง่ ๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก
อย่างนี้แปลว่าผมเคยทำกรรมเกี่ยวกับความฉลาดมาอย่างไรหรือครับ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗
ดังตฤณ:
ก่อนอื่นต้องมองอย่างนี้ครับ ปัจจัยของความฉลาดไม่ได้มาจากกรรมในอดีตอย่างเดียว อดีตกรรมอาจเป็นตัวตั้งให้สัก ๕๐% สำหรับคนทั่วไป เช่นขึ้นต้นมาอาจมีหยักสมองให้มาก เป็นเด็กหัวโตหน้าผากกว้างเห็นเด่นหน่อย ส่วนอีก ๕๐% ที่เหลือต้องมาฝึกหัดสร้างสมเอาในชาตินี้ชีวิตนี้ จะกล่าวให้เข้าใจง่ายก็คงเป็นว่าคนเราฉลาดด้วยพรสวรรค์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งต้องอาศัยพรแสวงเอา ๕๐% แรกที่มาจากอดีตชาตินั้น หมายถึงทำทานและรักษาศีลมาสอดคล้องกับการเป็นผู้มีสติปัญญาดีไว้มากน้อยเพียงใด (ขอย้ำว่า ๕๐% จะหมายถึงสำหรับคนทั่วไปนะครับ มีบุญหรือบาปพิเศษบางอย่างที่ให้ผลเป็นความฉลาดหรือความโง่เกิน ๕๐% ได้มากเท่ามาก)
ในแง่ของทานที่ให้ผลเกี่ยวกับสติปัญญา
ก็เช่นการมีแก่ใจใช้สติปัญญาของตนช่วยแก้ปัญหาให้ผู้อื่น
หรือให้ความรู้ความเข้าใจเชิงวิชาการแก่คนรอบข้าง หากยิ่งให้ธรรมะเป็นทาน
ทำให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องกรรมวิบากและหนทางหลุดพ้น ก็ยิ่งมีผลใหญ่หลวงเป็นพิเศษ
ในแง่ของศีลที่ให้ผลเกี่ยวกับสติปัญญามีอยู่
๒ ข้อหลัก ๆ ข้อแรกคือปาณาติบาต ถ้างดเว้นการฆ่าสัตว์ก็จะเอื้อให้จิตใจปลอดโปร่ง
เปิดทางให้ความฉลาดแล่นได้เต็มที่เต็มทาง
แต่หากสั่งสมบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นประจำจะทำให้ทึบหนักเหมือนคนโง่ได้
อีกข้อหนึ่งคือสุราเมรัย ถ้างดเว้นน้ำเมาจะมีสติเป็นปกติดีตามธรรมชาติของจิต
แต่หากสั่งสมความมัวเมาขาดสติจากการร่ำสุรามากๆแล้ว จะมีผลถึงชาติถัดไปคือเป็นคนฟุ้งซ่านมาก
หรือกระทั่งวิกลจริตได้เป็นพัก ๆ
นั่นเป็นโทษของกรรมที่ไม่เห็นคุณค่าของการมีสติสัมปชัญญะดี ๆ
นอกจากศีล ๒
ข้อดังกล่าวแล้ว ศีลข้อที่ว่าด้วยการขโมยก็อาจมีส่วนทำให้โง่
ถ้าการขโมยนั้นเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ เกี่ยวกับปัญญา เช่นขโมยทรัพย์สินทางปัญญา
ลักลอบนำสิ่งที่ผู้อื่นอุตส่าห์เหนื่อยยากคิดค้นมาเป็นของตน
หรืออย่างพวกเผาโรงเรียนนี่สติปัญญาจะถูกบาปกรรมบดขยี้บี้แบนเป็นพิเศษ
ศีลข้อที่ว่าด้วยการมุสาก็มีส่วนทำให้โง่ได้เช่นกัน
ถ้าการมุสานั้นเกี่ยวข้องกับความรู้ความเข้าใจ
หากคุณเคยเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กลายเป็นผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาก่อน
ความเขลาหรือความเข้าใจผิดของผู้อื่นจะย้อนกลับมาเข้าตัวคุณในชาติถัดไปได้มากเช่นกัน
นอกจากทาน
และศีลแล้วยังมีส่วนของการแสวงหาคำตอบให้ชีวิต
พระพุทธเจ้าตรัสว่าพวกมีปัญญามากเป็นผลมาจากการเข้าหาสมณะผู้รู้แจ้ง แล้วไถ่ถามด้วยความปรารถนาเอาความจริงว่ากรรมใดเป็นประโยชน์
กรรมใดเป็นโทษ ก็จะส่งผลให้เป็นผู้ใฝ่รู้ในทางที่ถูกที่ชอบ
เป็นทางมาของปัญญาอันใหญ่ได้อย่างดี
สมมุติว่าคุณมีอดีตกรรมอย่างดีเป็นทุนตั้งต้นดังกล่าว
เกิดมาชาตินี้คุณก็จะยังไม่ฉลาดทันที ต้องมีความขวนขวายเป็นส่วนเสริมอีก ๕๐%
ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฝึกฝนเชาว์ไวไหวพริบ
การสั่งสมประสบการณ์อันเกิดขึ้นระหว่างแก้ปัญหา ซึ่งแต่ละศาสตร์
แต่ละสาขาวิชาก็มีความรู้และแบบฝึกหัดพื้นฐาน
ตลอดจนวิธีต่อยอดให้ความฉลาดแตกแขนงพิสดารไม่รู้จบอยู่แล้ว
นอกจากนั้น สติปัญญา
และความฉลาดยังเกี่ยวข้องโดยอ้อมกับทาน และศีลในชาติปัจจุบันอย่างหนีไม่พ้น
กล่าวคือทาน และศีลจะเป็นตัวกำหนดว่าสติ และความแจ่มใสของจิตมีได้มากน้อยเพียงใด
สติและความแจ่มใสของจิตจัดเป็นพื้นยืนสำคัญของความฉลาด
ต่อให้สมองคุณมีหยักมากจากบุญเก่าขนาดไหน ถ้าไร้ซึ่งสติและความแจ่มใสของจิตเสียแล้ว
คุณก็จะมึน ๆ งงๆ คิดอะไรไม่ออกเหมือนเช่นคนไร้สติปัญญาอยู่ดี
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้าคุณพล่ามพูดเพ้อเจ้อมาก ๆ จนเกิดความฟุ้งซ่าน ความฉลาดก็ย่อมลดลงทันตาเห็น
แต่ถ้าวันไหนอยู่กับหมู่บัณฑิต
ชักชวนกันพูดจาในเรื่องที่จะปลดเปลื้องความละโมบผิดๆ ความอาฆาตแค้นร้อน ๆ
และความหลงสำคัญผิดหนักๆทั้งหลาย สติจะดี และจิตจะแจ่มใสเป็นพิเศษ
ขณะนั้นคุณย่อมรู้สึกว่าตนเองสามารถคิดอ่านทะลุปรุโปร่ง หูตากว้างขวางกว่าวันอื่นๆ
เป็นต้น
สรุปคือสติปัญญาและความฉลาดของคนนั้น
ไม่ได้คงที่ตายตัวหรอกครับ ไหลๆเลื่อน ๆ ไปเรื่อย ๆ สุดแล้วแต่บุญบาปที่ทำกันนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น