ถาม : ตั้งแต่เด็กๆผมจะขาดความมั่นใจในการทำงานให้เสร็จ
อย่างเวลาครูให้งานมากๆ จะรู้สึกทันทีว่าไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถจะทำให้ทัน
หรือตอนจะสอบวิชาที่ไม่ชอบ ก็เหมือนมีก้อนหินหนักๆมาถ่วงไว้
ไม่ให้เปิดหนังสืออ่านไหว แล้วในที่สุดก็ส่งผลกระทบกับชีวิตการทำงาน เจ้านายสั่งให้อ่านเอกสาร
แค่เห็นแฟ้มหนาหน่อยก็อ่อนระทวย พานอยากจะลาออกเดี๋ยวนั้นแล้ว
อย่างนี้ผมเคยไปทำกรรมประเภทขัดขวางความเจริญใครเขามาหรือเปล่า
ถ้าใช่จะต้องแก้อย่างไรครับ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗
ดังตฤณ:
กรณีแบบนี้อย่าไปมองเรื่องกรรมเก่าที่มองไม่เห็นหรือพิสูจน์ได้ยากเลยครับ ปัญหามันกองอยู่ตรงหน้าแล้ว ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนดีกว่า
ตอนคุณจะเปิดแฟ้มเอกสารใหญ่ๆ
ใจมันจับอยู่ที่แฟ้มทั้งแฟ้มใช่ไหมล่ะ? ถ้าใจจับอยู่ที่แฟ้มทั้งแฟ้ม ก็เป็นธรรมดาที่ต้องรู้สึกหนักอึ้ง
และความรู้สึกหนักอึ้งนั้นเองที่กดปกแฟ้มเอาไว้
ขณะเดียวกันสำนึกรับรู้ภายในก็บอกตัวเองว่าขืนไม่เปิด ขืนไม่อ่าน
เดี๋ยวก็ตกงานกันพอดี ไม่แปลกที่ความรู้สึกอึดอัดทรมานจากความขัดแย้งภายใน
จะบีบให้คุณรู้สึกอยากลาออกไปให้พ้นๆ
งานใหญ่ๆนี่นะครับ
สำเร็จได้จากการเริ่มทำอะไรเล็กๆ แปลว่าถ้าใจคุณจับอยู่กับงานเล็กๆก่อน
ในที่สุดงานใหญ่จะสำเร็จลงได้
การทำงานไม่เหมือนการพิชิตยักษ์
โอเคถ้าคุณเป็นเจ้าชายที่ถูกยัดเยียดให้ไปปราบมังกรร้าย
อย่างนั้นคุณจำเป็นต้องโฟกัสกับมังกรยักษ์ทั้งตัว
เผลอกะพริบตานิดเดียวมันพ่นไฟใส่ให้คุณม่องเท่งได้ทันที แต่นี่คุณเป็นคนธรรมดา
รับงานหนักหน่อยก็จริง แต่คงไม่มีใครยัดเยียดแฟ้มสูงเท่าเพดานให้คุณพิชิตยอดภายใน
๑๐ นาทีแน่นอน
แบ่งทำทีละงานสิครับ
งานที่เล็กที่สุดในการจัดการแฟ้มใหญ่ ก็คือเอื้อมมือไปเปิดปกแฟ้ม
เพื่อเริ่มกางเอกสารออกอ่าน เอาใจไปจับอยู่กับงานง่ายๆแค่นั้นก่อน
อย่าคิดว่าคุณกำลังปราบแฟ้มทั้งแฟ้ม คุณจะรู้สึกว่างานเบาลงทันที
ขอให้ทดลองดูเถอะ แล้วจะรู้ว่าคุณสามารถทำได้ทุกครั้ง
เมื่องานง่ายที่สุดผ่านไปแล้ว
ขั้นต่อมาคือคิดถึงงานง่ายที่สุดลำดับต่อไป นั่นคืออ่านประโยคแรกให้จบ
อย่าคิดว่าคุณกำลังจะอ่านร้อยประโยคพันประโยคให้หมดรวดเดียว
คุณจะพบความจริงที่ว่าสมองและร่างกายมนุษย์นั้น
ขอให้เริ่มต้นทำงานเถอะ
เดี๋ยวจะมีกลไกสอดสัมพันธ์ให้เคลื่อนไหวต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
กระทั่งบรรลุจุดหมายปลายทางไปได้เอง
อีกประการหนึ่ง พอทำเรื่องเล็กๆเสร็จ
อย่าเพิ่งอนุญาตให้ตัวเองมีข้ออ้างว่าทำเสร็จแล้ว พักยาวๆเสียหน่อย เพราะการพักยาวจะไปเรียกเอาความขี้เกียจกลับมาใหม่
เอ็นมันจะยึด สมองมันจะเฉื่อย การพักบ่อยๆเป็นเรื่องดี
ขออย่างเดียวอย่าให้นานเกินไป คุณอาจสูดลมหายใจช้าๆ ลึกๆ
ทอดตามองทางอื่นเพื่อเคลียร์สมองให้ว่างเปล่าพักหนึ่ง พักนานเท่าที่จะพอใจ โดยมีสติกำกับไปด้วย
ถ้าเห็นว่าความคิดเริ่มแช่ไปในเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน
ก็ให้รีบกลับมาทำงานต่อทันที ก่อนจะเกิดสภาพจมปลักหรือติดหล่มกับความเฉื่อยชา
คุณจะพบว่าตอนงานเสร็จนั้น
คุณไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวหรอก เพราะทำมาเรื่อยๆ ไม่เสียเวลาอิดออดหรือตามใจตัวเอง
เหมือนคนว่ายน้ำระยะยาว ถ้าคิดถึงปลายทางตั้งแต่แรกก็ถอดใจไม่อยากไปให้ถึง
แต่ถ้าจ้วงน้ำเรื่อยๆ ทำวินาทีนี้ให้ผ่านไปเรื่อยๆ
จุดหมายปลายทางก็ใกล้เข้ามาเองโดยไม่ต้องตั้งความหวังรอคอยแต่อย่างใดเลย
แค่เปลี่ยนมุมมองตามหลักการอันเป็นสุดยอดของแนวปฏิบัติทางพุทธ
คือ 'อยู่กับปัจจุบัน’ คุณจะแก้ปัญหามือง่อยเท้าง่อยในการทำงานได้ตามลำดับ
ใจจะไม่ปั่นป่วนฟุ้งซ่านวกวนแต่อย่างใดเลย และสูตรสำเร็จคือ
‘ทำเฉพาะงานเล็กๆตรงหน้า’ นี้ สามารถแก้ปัญหาได้ครอบจักรวาล แม้คุณเข้าใจว่านี่คือกรรมเก่ากำลังให้ผล
กรรมใหม่ในการตั้งมุมมองใหม่ก็จะค่อยๆลดความกังวล
บรรเทาความฟุ้งซ่านอึดอัดทรมานลงไปได้เรื่อยๆ การสร้างนิสัยใหม่วันต่อวัน
ก็คือการสั่งสมบุญใหม่ชะล้างบาปเก่านั่นเองครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น