วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สับสนเกี่ยวกับวิธีทำใจขณะให้ทาน (ดังตฤณ)

ถาม : หลังๆ รับข้อมูลเกี่ยวกับวิธีทำทานอย่างดีที่สุดจนสับสนไปหมด พอจะทำทานทีไร ใจนึกทุกทีว่าควรตั้งจิตไว้อย่างไร อยากขอสักแค่สองสามคำที่ทำให้จำขึ้นใจและเอาไปใช้ได้จริงด้วยครับ

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘

ดังตฤณ: 
วิธีทำทานให้ได้ถึงอกถึงใจนะครับ เอาง่ายๆ เลย นึกให้ออกว่าคนรับเขาจะรู้สึกอย่างไร ตรงที่นึกออกนั่นแหละ คุณจะปลื้มปีติตื้นตันราวกับเป็นผู้รับเสียเอง ตรงที่ปลื้มปีติตื้นตันนั่นแหละ คือทานจิตอันเป็นมหากุศล ตรงที่เป็นทานจิตแท้ๆ นั่นแหละ แหล่งรวมองค์ประกอบในการทำทานที่ดีไว้ทั้งหมด นับตั้งแต่มีความเห็นอกเห็นใจ มีความคิดอนุเคราะห์ เป็นต้น

ทุกคนเคยเป็นผู้รับมาก่อน และน่าจะต้องเคยผ่านประสบการณ์ยินดีปรีดาที่ได้รับของถูกใจ หรือของสำคัญซึ่งจำเป็นต้องใช้ด่วน หากจำความรู้สึกขณะเป็นผู้รับได้ คุณก็น่าจะ‘รู้ใจ’ ผู้รับของของคุณ กล่าวคือเวลามองข้าวของที่คุณจะมอบให้แก่ผู้รับ จะนึกออกทันทีว่าผู้รับเขารู้สึกอย่างไรในนาทีที่ได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ หรือในขณะที่เขากำลังใช้ของอย่างเต็มประโยชน์

ยกตัวอย่างเช่น คุณมีเสื้อผ้าเก่าๆ ไม่ค่อยใช้แล้วแต่ยังไม่ขาด ถ้าวางดองอยู่ในตู้เสื้อผ้าเฉยๆ ก็ไม่ต่างจากผ้าขี้ริ้ว ต่อเมื่อคุณคิดถึงเด็กต่างจังหวัดที่เสื้อกางเกงตัวเก่งขาดวิ่น ผิวหนังเจอลมหนาวประจำ ถ้านึกออกว่าเขาได้เสื้อผ้าของคุณไปแล้วจะดีใจ สวมแล้วจะหายหนาว นั่นแหละทานจิตบังเกิดเต็มดวงแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ให้ แม้กรรมยังไม่สำเร็จเป็นทานเต็มขั้นเพราะยังไม่มีผู้รับทานจริง อย่างน้อยคุณก็ชื่นบาน บังเกิดโสมนัสอย่างใหญ่ได้แล้ว


สรุปคือนึกถึงใจเขาใจเราให้ออก ความสุขความพอใจของผู้รับจะเป็นรางวัลใหญ่ชิ้นแรกสำหรับคุณทันที และจะติดตรึงในความทรงจำไปอีกนานด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น