ถาม : อยากรู้วาระจิตของคนอื่นได้โดยไม่ต้องนั่งสมาธิ
จะมีวิธีลัดๆบ้างไหมคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘
ดังตฤณ:
ก่อนอื่นต้องตั้งมุมมองที่ชัดเจน ว่าที่คุณไม่สามารถหยั่งทราบความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้ก็เพราะ
๑) จิตเต็มไปด้วยม่านหมอกบดบัง
เหมือนคุณไม่อาจเห็นรายละเอียดของสิ่งที่กำลังตั้งให้ดูอยู่ตรงหน้าตราบเท่าที่หมอกลงจัด
ม่านหมอกที่บดบังจิตได้แก่คลื่นความคิดฟุ้งซ่าน กระแสความสงสัยใคร่รู้
อารมณ์หดหู่เซื่องซึม แรงพยาบาทอาฆาต และความเพ่งเล็งอยากเสพกาม ลองดูความจริงที่เกิดขึ้น
คนเราอยู่กับใคร ถ้าไม่อยากเสพกามก็อยากทำให้อีกฝ่ายเจ็บใจ
แต่ถ้าไม่รู้สึกเป็นบวกหรือเป็นลบกับเขา คือไม่เอียงไปทางราคะหรือโทสะ
ก็ทำตัวหลบใน สร้างโลกส่วนตัว ปลีกตัวออกห่างจากเขาด้วยใจ
ซึ่งนั่นก็คือการคิดฟุ้งซ่านตระเวนไปเรื่อย หรือไม่ก็ปล่อยทอดหุ่ยจนเหม่อลอยเคว้งคว้าง
ถ้าครึ้มๆขึ้นมาก็สงสัยใคร่รู้ เพ่งเล็งอีกฝ่ายอย่างอยากจะอ่านใจให้ออก
พฤติของจิตเหล่านี้ล้วนก่อม่านหมอกบดบัง อย่าว่าแต่จะเห็นจิตคนอื่นเลยครับ
แค่เห็นให้ได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร คิดถึงสิ่งใดอยู่ ก็นับว่ายากแล้ว
๒) จิตเต็มไปด้วยอคติ
คิดเข้าข้างตัวเอง หรือเข้าข้างคนอื่น
กะเก็งอยู่ตลอดเวลาว่าคนอื่นคงรู้สึกอย่างนั้น คงคิดอย่างนี้ตัวอคตินั้นเปรียบเสมือนเลนนูนเลนเว้า
ที่เมื่อคุณมองอะไรผ่านเลนเหล่านี้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพบิดเบี้ยว ไม่เคยตรงจริงเลยและแต่ละคนก็มีระดับความรุนแรงของอคติมากน้อยต่างกัน
ประเภทฝึกตัวให้พูดแล้วบอกว่าไม่ได้พูด ทำแล้วบอกว่าไม่ได้ทำ
คนอื่นถูกก็ป้ายสีว่าผิด พรรคพวกตัวเองผิดก็ตกแต่งให้เป็นถูก
ผลของกรรมเหล่านี้จะทวีอคติให้กล้าแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าว่าแต่จะเห็นจิตหรือความคิดของคนอื่นไหว
เอาแค่ใจตัวเอง แม้พยายามอ่านจริงๆจังๆยังยากเลยครับ
ถามตัวเองก็ตอบตัวเองไม่ถูกว่าจะอยากเอาอะไร หรือคิดยังไงกันแน่
๓) จิตเต็มไปด้วยความไม่รู้
ไม่รู้จักธรรมชาติของจิต
ไม่รู้จักธรรมชาติของกรรมวิบาก ไม่รู้จักที่มาเหตุผลต้นปลาย
คนเราจึงเหมือนม้าใส่แว่น โดนบังคับให้เห็นลู่วิ่งตรงหน้าคับแคบ ไม่รู้อะไรเลยนอกจากวิ่งไปเรื่อยๆ
เช่นนี้อย่าว่าแต่จะเห็นจิต เห็นกรรม หรือเห็นเหตุผลต้นปลายของคนอื่น แม้จิต
แม้กรรม แม้เหตุผลต้นปลายของตนเองก็ไม่อาจหยั่งทราบ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าไม่อาจฉลาดในจิตของคนอื่น
ก็ขอให้ฉลาดในจิตของตนเอง ซึ่งพุทธพจน์นี้ที่จริงมีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะความจริงก็คือ
เมื่อรู้จักจิตของตนเอง ฉลาดในจิตของตนเอง ก็ชื่อว่ารู้จักธรรมชาติของจิต
ฉลาดในกลไกการทำงานของจิต รู้รอบตอบได้ในต้นสายปลายเหตุของอาการต่างๆทางจิต
ซึ่งก็นั่นแหละครับ แปลง่ายๆเลย คือเมื่อใดคุณเห็นจิตตัวเองได้เรื่อยๆ
ก็ย่อมเกิดความสามารถอ่านจิตคนอื่นได้ด้วย
จิตสามารถรู้ภาวะของตัวเอง
รู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอย่างไร พระพุทธเจ้าตรัสให้มีสติยอมรับตามจริง
จะอยู่กับคนอื่นหรืออยู่คนเดียวก็ตาม ว่าปัจจุบันมีราคะหรือไม่มีราคะ
ปัจจุบันมีโทสะหรือไม่มีโทสะ ปัจจุบันมีความฟุ้งซ่าน หดหู่ หรือสงสัยใคร่รู้อย่างไรหรือไม่
เมื่อทำความรู้จักกับสภาพหยาบๆของจิตตัวเองถูก
รู้ได้เรื่อยๆเหมือนเล่นๆเหมือนดูทีวีแบบเอาความรู้เรื่อง
ไม่ใช่เพ่งเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งจนไม่เท่าทันว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว
เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไรแล้ว ในที่สุดคุณจะพบตัวเองเปิดใจ
รู้สึกสนุกราวกับเห็นสภาพจิตคนอื่นอยู่
เมื่อสักแต่เห็นและยอมรับตามจริง
ว่าจิตสงบเป็นอย่างไร จิตฟุ้งซ่านต่างๆนานาเป็นอย่างไร
ใจคุณจะปล่อยวางทุกสภาพจิตที่เห็น
เพราะทราบชัดว่าทุกสภาพจิตเกิดขึ้นแล้วต้องแปรปรวนเป็นธรรมดา
เมื่อรู้ชัดและปล่อยวางได้ทุกสภาพจิตที่เห็น
คุณจะรู้สึกอย่างหนึ่ง หลังจากเห็นสภาพจิตใดๆก็ตาม ใจจะว่างวายจากความอยาก
ว่างวายจากความฟุ้งซ่าน และเหมือนความว่างตรงกลางอกมีความเสถียรมากขึ้นเรื่อยๆ
ตรงที่คุณว่างได้เรื่อยๆนั่นแหละ จิตเริ่มเป็นสมาธิ โดยไม่ต้องหลับตาทำสมาธิ
และในความว่างจากอยากนั่นแหละ ที่ม่านหมอกบดบังต่างๆจะสลายตัว
อคติที่เคยอัดแน่นจะหายไป
พออยู่กับความว่างได้
คุณก็สามารถสัมผัสจิตคนอื่นออกมาจากความว่างนั้น คืออยู่กับใคร แล้วเห็นเขาพูด
เห็นเขาทำอะไร คุณจะสัมผัสถูก ว่าการพูดและการทำของเขาเหล่านั้น
ออกมาจากสภาพจิตที่มีราคะหรือไม่มีราคะ มีโทสะหรือไม่มีโทสะ มีความฟุ้งซ่าน หดหู่
หรือสงสัยใคร่รู้
หากคุณไม่มัวใจฟู
หลงตัวว่ารู้จิตคนอื่นได้ สักแต่เห็นว่าจิตแบบหนึ่งๆเกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย
ไม่ต่างจากสภาพจิตที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของตัวเอง
ในที่สุดคุณจะหลุดจากกรอบของความรู้สึกเป็นตัวตน เห็นโลกนี้ไม่มีอะไร
นอกจากสภาพจิตอย่างหนึ่ง เปลี่ยนไปสู่ความเป็นสภาพจิตอีกอย่างหนึ่ง
วนเวียนเรื่อยไปไม่สิ้นสุด
ด้วยความว่างระดับนั้น จิตคุณจะตั้งมั่นได้นาน
ดวงจิตจะใหญ่ มีความสามารถแปลความคิดที่ลอยมาจากหัวใครต่อใครได้ออก
บอกถูกว่าเขากำลังคิดอะไรได้เป็นคำๆ หากคุณยังมีความโลภ ยังมีความหลงตัว ความสามารถมองเห็นจิตและความนึกคิดของคนอื่นจะนำความทุกข์รูปแบบต่างๆมาสู่ตัวคุณเอง
แต่หากเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ ว่าจิตของเขา ความนึกคิดของเขา ก็ไม่แตกต่างจากของเรา
ที่เกิดแล้วหาย เกิดแล้วหาย ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ด้วยอาการอย่างนั้น
วันหนึ่งคุณจะพบความสุขอันเป็นนิรันดร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น