วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

บทส่งท้าย (จดหมายถึงดังตฤณ)

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘

มักมีคนสงสัยว่าคำถามในจดหมายถึงดังตฤณนั้น เป็นอย่างที่เห็นเมื่อผมนำมาตอบใน เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว หรือไม่ ผมตัดทอนหรือตกแต่งมากน้อยเพียงใด ผมแต่งคำถามไหนขึ้นมาเองบ้าง ฯลฯ

บทส่งท้ายของ ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ เล่มนี้จะขอยกตัวอย่าง ต้นฉบับคำถาม ของจริงมาให้ดูเล่นสักสองฉบับ

ที่จะบอกคือส่วนใหญ่ก็จะมีขนาดความยาวเต็มหน้าทำนองนี้ บางฉบับปาเข้าไป ๔ หน้าก็มีครับ และจากภาพคงแทนคำบรรยายได้อย่างดี คงเห็นนะครับว่าไม่มีทางที่ผมจะนำคำถามของแต่ละคนนำมาลงได้ทั้งหมด เพราะถ้าลงทั้งหมด ก็คงไม่เหลือพื้นที่สำหรับตอบแล้ว ฉะนั้นจึงต้องตัดทอนข้อความส่วนใหญ่ออก เหลือไว้แต่แก่นของคำถาม พอที่เจ้าของอ่านแล้วทราบว่านั่นเป็นคำถามของตน กับทั้งเมื่อผู้อื่นอ่านแล้วจับประเด็นถูกว่าโจทย์ต้องการคำตอบแบบใด

นอกจากนั้น การคัดกรองจนเหลือแต่แก่นของคำถาม ยังสามารถนำไปปะติดปะต่อกับแก่นคำถามของท่านอื่นที่มาแนวเดียวกัน เพื่อจะได้ตอบเบ็ดเสร็จเหมารวมรวบยอดในคราวเดียว น้อยครั้งที่ผมจะซอยคำถามของผู้ถามท่านเดียวเพื่อแยกตอบให้หมดในหนึ่งตอน

อีกประการหนึ่ง ตามความตั้งใจเดิมของผม ไม่อยากให้มีคำถามซ้ำ ฉะนั้นหลายครั้งเมื่อเป็นประเด็นคำถามซ้ำก็จำใจต้องคัดออกบ้าง

เมื่อเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานแล้ว คราวนี้มาพูดเกี่ยวกับแง่คิดที่ผมได้รับจากการเขียน เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวบ้าง

หากคุณมีโอกาสอ่านจดหมายระบายความในใจของผู้คนบ่อยๆ สิ่งหนึ่งที่คุณจะรู้สึกขึ้นมาเองคือมนุษย์เราประสบปัญหาที่คนอื่นประสบมาแล้ว มนุษย์เราสงสัยในสิ่งที่คนอื่นสงสัยมาแล้ว

วิธีเล่าเรื่อง และวิธีสงสัยเรื่องของตนเองล้วนสะท้อนให้เห็นเส้นทางกรรมวิบากที่แตกต่างกันได้ยิ่งกว่าแม่น้ำร้อยสาย หลายครั้งก็เหลือเชื่อ ที่ผู้คนจำนวนหนึ่งประสบปัญหาเดียวกันราวกับเป็นคนเดียวกัน ถ้าไม่ใช่เพราะลายมือกับชื่อนามสกุล ตลอดจนตราประทับจังหวัดที่อยู่ที่แตกต่างกัน ผมคงหลงเข้าใจว่าเป็นคนเดียวกันอย่างแน่แท้

ดังนั้น เมื่อหลายคนซึ่งอาจกำลังเผชิญกับปัญหาข้อเดียวกัน ได้มีโอกาสอ่านคำตอบจาก ‘เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว’ ก็อาจเข้าใจว่าผมตอบปัญหาของพวกเขาเป็นส่วนตัว บางรายอาจฉงนสนเท่ห์ว่าทำไมเพิ่งส่งจดหมายได้สองวัน แต่ผมกลับตอบอย่างปุปปับฉับพลันให้ได้ในสัปดาห์นั้นเอง

อันที่จริงจะคิดอย่างไรก็ได้ครับคุณอาจกำลังอ่านคำถามตนเองที่มีผู้อื่นช่วยถามให้ก่อน หรือคำถามของคุณ อาจเป็นสิ่งที่คนกำลังจะถามตามมาอีกนับร้อยนับพันครั้ง

การที่คนเราไม่เหมือนกันใช่จะแปลว่าคนเรามีปัญหาที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานแล้วทุกคนมีปัญหาเหมือนกันหมด คือไม่รู้ว่าอยู่ๆ ทำไมถึงต้องลืมตาขึ้นมาดูโลก แล้วพบว่าตัวเองเป็นอย่างนี้ ต้องเห็น ต้องฟัง ต้องสัมผัสอะไรอย่างนี้

คำถามที่ว่า ‘ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับเรา?’ มักทำความทุกข์สาหัสให้กับหลายคน และคำว่ากรรมวิบาก คำว่าบุญบาป ก็ล้วนแล้วแต่คุ้นหู ฟังแล้วเหมือนอยู่ในหูของเรามาตลอด ทว่ายิ่งเพ่งเล็งจ้องมองจริงจัง ก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกว่าความคิดและความเชื่อตามๆ กันมา ไม่เคยทำให้เรารู้อะไรจริงๆ เลย

ต่อเมื่อมองชีวิตตัวเอง ค่อยๆ เห็นความเป็นตัวเองในฐานะ ‘ผู้ถูกกระทำ’ แล้วค่อยๆ ตั้งสติทบทวน ก็จะเห็นความเป็นตัวเองในฐานะ ‘ผู้กระทำ’ มาก่อน

ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์มีเรื่องราว มีลำดับขั้นตอน ตลอดจนมีเวลามากพอ ที่จะเป็นทั้งฝ่ายกระทำและฝ่ายถูกกระทำ คุณทำกับคนอื่นไว้อย่างไร วันหนึ่งคุณจะได้รับผลในรูปแบบนั้น อาจคล้ายคลึงหรือเหมือนกันสนิท แต่หมั่นถามตัวเองง่ายๆ ว่าที่โดนอย่างวันนี้ เมื่อวันก่อนเคยไปทำใครเขาไว้หรือเปล่า วันต่อวันจะค่อยๆ ตาสว่างขึ้นเอง ค่อยๆ เชื่อว่ากรรมวิบากเป็นเรื่องจริงไปเอง

พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องของกรรมวิบากให้เข้าง่าย โดยตรัสถึงการใช้ชีวิตในกรอบของ ‘ทาน’ และ ‘ศีล’ สองคำสั้นๆ แค่นี้ แต่เป็นชีวิตทั้งชีวิต ต้องใช้ทั้งชีวิตทุ่มไปจึงจะเข้าถึง

เมื่อเข้าไปอยู่ในกรอบของทานและศีลเต็มตัว ความรับรู้โลกจะต่างไป อย่างน้อยจะเห็นกว้างๆ ว่าใครหลุดจากกรอบของทานและศีล จะกลับเข้ากรอบยาก

ตัดสินใจตระหนี่แล้วจะพอกพูนก้อนตระหนี่ให้โตขึ้น
ตัดสินใจฆ่าแล้วต้องเจอแรงบีบให้ฆ่าอีก
ตัดสินใจขโมยแล้วต้องเจอแรงบีบให้ขโมยอีก
ตัดสินใจผิดกามแล้วต้องเจอแรงบีบให้ผิดกามอีก
ตัดสินใจโกหกแล้วต้องเจอแรงบีบให้โกหกอีก
ตัดสินใจกินเหล้าแล้วต้องเจอแรงบีบให้เข้าสังคมคอเหล้าอีก

นอกจากนี้ เมื่อคุณสบายใจ ไม่มีก้อนตระหนี่เป็นภาระหนักอก เมื่อคุณมีใจสะอาด ไม่มีมลทินแปดเปื้อนให้ว้าวุ่นกลุ้มใจคุณจะมองเห็นคนอื่นๆ กำลังวิ่งขาขวิดเพื่อชดใช้ความหลงผิด คุณจะเริ่มเข้ามาในขอบเขตของ ‘เหตุการณ์ทางจิต’ ด้วยการรู้เท่าทัน ว่าหากทำทานได้แต่ไม่ทำ หากรักษาศีลได้แต่ไม่รักษา จะต้องเป็นทุกข์ หรืออย่างน้อยมีความคับแคบอึดอัดในทางใดทางหนึ่งทันที

สำหรับคนบางคน อาจได้คำตอบก่อนที่จะตั้งคำถามเสียอีก เพราะรูปแบบชีวิตที่บำเพ็ญมาแต่ไหนแต่ไรเอื้อให้ได้อยู่ในกรอบของทานและศีลมาช้านานในขณะที่คนส่วนใหญ่ยุยงกันเอง หรือเฝ้าตอกย้ำกับตนเอง ว่าจงตระหนี่เถิด จงผิดศีลเถิด เสร็จแล้วก็งุนงงสงสัย ว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน ทำไมชีวิตฉันต้องตกอยู่ในสภาพแบบนี้...

ตอนคุณเริ่มซุ่มสังเกตชีวิตตัวเอง ไม่มีคนรอบข้างรู้หรอกครับว่าคุณกำลังทำอะไร ต่อเมื่อชีวิตคุณเปลี่ยนไปแล้ว สว่างแจ้งขึ้นแล้ว ถึงเวลานั้นคนรอบข้างค่อยประหลาดใจ แล้วถามคุณว่าไปทำอะไรมา?ไปเข้าโรงผลิตจิตใสแต่ไหนหรือ? หน้าตาและสง่าราศีถึงได้เบ่งบานปานฉะนี้เมื่ออยู่บนเส้นทางแห่งความศรัทธาในกรรมวิบาก

เมื่อยู่บนเส้นทางแห่งความเชื่อมั่นในความรู้จริงแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณอยู่ไม่ไกลจากเสียงทักถามของคนรอบข้างเท่าไรหรอกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น