วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

นิมิตครึ่งหลับครึ่งตื่น (ดังตฤณ)

ถาม : ขณะใกล้หลับหรือเพิ่งตื่น จะเห็นนิมิตหรือได้ยินเสียงกระซิบแปลกๆบ่อยมาก อยากทราบว่าจะเอาอะไรเป็นตัวชี้ ว่าสิ่งที่เห็นหรือได้ยินเป็นการติดต่อมาจากภายนอกจริงๆ หรือว่าเราอุปาทานไปเองคะ?
มาตกลงกันก่อนครับ ว่า ‘ประสบการณ์จริง’ กับ ‘ประสบการณ์เท็จ’ ต่างกันอย่างไร

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๙

ดังตฤณ: 
๑) ประสบการณ์จริง คือ ประสบการณ์ที่เราเป็นตัวของตัวเอง มีจิตสำนึกตื่นเต็ม สามารถรับรู้ได้อย่างแจ่มชัดว่ามีรูปอันใดกระทบตา มีเสียงอันใดกระทบหู มีกลิ่นอันใดกระทบจมูก มีรสอันใดกระทบลิ้น มีสัมผัสอันใดกระทบกาย ตลอดจนมีความรู้สึกสุขทุกข์ ความจำได้ ความนึกคิด ความชอบชังอันใดปรากฏอยู่กับใจตนเอง สำหรับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น ต้องเป็นสิ่ง ‘มีตัวตนอยู่จริง’ ที่ภายนอกตัวเรา ส่วนสุขทุกข์ ความจำได้ ความนึกคิด และความชอบชัง ต้องเป็นสิ่ง ‘เกิดขึ้นจริง’ ที่ภายในของเราเอง

ในชีวิตประจำวันของคนปกติธรรมดาเราๆท่านๆ เมื่อมองไปที่คนใกล้ตัวหรือสมบัติชิ้นใดในบ้าน ก็จะระลึกได้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และสำคัญกว่านั้นคือความปรากฏตัวชัดคงเส้นคงวา มองเมื่อไรก็เห็นเมื่อนั้น ฟังเมื่อไรก็ได้ยินเมื่อนั้น สูดดมเมื่อไรก็ได้กลิ่นเมื่อนั้น ลิ้มรสเมื่อไรก็รู้รสเมื่อนั้น จับต้องเมื่อใดก็รู้สึกเมื่อนั้น ไม่ใช่ว่าโผล่มาอย่างปราศจากเค้าเงื่อน และปฏิรูปเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว

๒) ประสบการณ์เท็จ คือ ประสบการณ์ที่เราขาดความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีจิตสำนึกตื่นเต็ม หลงรู้เห็นอะไรไปเอง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นของภายนอกตัวเรา หาได้มีอยู่จริงไม่ เราสำคัญไปเองว่าเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัส เมื่อสัมผัสแล้วก็เกิดความสุขหรือทุกข์ เกิดความจำได้หมายรู้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เกิดความนึกคิดโต้ตอบ และเกิดการตัดสินว่าชอบหรือชังได้ กล่าวโดยย่นย่อคือ ‘ความสำคัญผิด’ เท่านั้นที่เกิดขึ้นจริง นอกนั้นเป็นเท็จทั้งสิ้น

ในชีวิตปกติของมนุษย์ทั้งหลาย ยามหลับเป็นเวลาแห่งประสบการณ์ที่แตกต่าง ผู้คนและเหตุการณ์ผุดขึ้นให้รับรู้โดยไม่จำเป็นต้องมีการอารัมภบทโหมโรง จะเห็นก็เห็นเลย จะได้ยินก็ได้ยินเลย กับทั้งไม่แน่ไม่นอน ว่าจะกลับไปเห็น กลับไปได้ยินได้อย่างไรเมื่อภาพเสียงและสัมผัสทั้งหลายหายไปแล้ว ด้วยความ ‘เหลว’ ชนิดจับต้องไม่ได้ของความฝันนี่เอง จึงทำให้ความฝันและวิธีเห็นที่คล้ายคลึงกับฝันทั้งหลาย ถูกมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหลไปทั้งหมด

กล่าวโดยย่นย่อ ตามความรับรู้ของคนทั่วไป อะไรที่ไม่เห็นด้วยตา ไม่ได้ยินด้วยหู ถือว่าเป็นเท็จ หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นเท็จได้มากกว่าจริง และส่วนใหญ่ความเชื่อเช่นนี้ก็มักถูกต้อง เพราะโดยมากความฝันของคนเราบิดเบี้ยว และแม้คนที่อ้างว่านั่งทางใน สามารถรู้เห็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ก็มักพูดผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกินกว่าครึ่ง

ฉะนั้น เมื่อจู่ๆคุณได้ยินเสียงกระซิบหรือเห็นนิมิตขณะครึ่งหลับครึ่งตื่น แนวโน้มจึงใกล้ความเป็นเท็จมากกว่าใกล้ความเป็นจริง และไม่น่าแปลกใจ หากจะบอกว่าเสียงกระซิบที่คุณได้ยินอาจเป็นเพียงคลื่นความคิดที่ตกค้างอยู่ในหัวของคุณเอง และนิมิตทั้งหลายอาจเป็นเหมือนภาพฝันตกค้างที่แจ่มชัดเป็นพิเศษ แม้แต่พวกฝึกสมาธิเพื่อนั่งทางในยังจำแนกผิดบ้างถูกบ้าง นี่คุณไม่เคยฝึกอะไรถึงขั้นไหน ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะแยกแยะด้วยตนเองว่าอันใดจริงอันใดเท็จ

อย่างไรก็ตาม ทางพุทธเราไม่ปฏิเสธความมีอยู่จริงของรูปอันเป็นทิพย์ เสียงอันเป็นทิพย์ กลิ่นอันเป็นทิพย์ รสอันเป็นทิพย์ และสัมผัสอันเป็นทิพย์ ซึ่งล้วนเป็นของภายนอกตัวเรา หาใช่ยอมรับแต่เพียงรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสปกติที่รับรู้ได้ด้วยประสาทหยาบในกายมนุษย์ ฉะนั้นการพบกับอะไรที่รู้ไม่ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกายปกติ มิใช่แปลว่าเป็นประสบการณ์เท็จเสมอไป อาจจะเป็นประสบการณ์จริงก็ได้

จะดูว่าอะไรจริงอะไรเท็จ จึงต้องตัดสินกันด้วยคุณภาพของจิต ผมขอจำแนกระดับความสามารถในการรับรู้ตามจริงออกเป็นต่างๆดังนี้

๑) ขณะใกล้หลับ คือประสบการณ์ทั่วไปยามง่วง ไม่ต้องฝึกจิตแต่อย่างใดก็มีกันทุกคน ระดับนี้จิตมีกำลังอ่อนสุด รับรู้ตามจริงได้น้อยที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งพร้อมจะรู้เห็นอะไรก็ได้ที่บิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน และไม่มีอยู่จริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือความรู้สึกเป็นสุขอ่อนๆด้วยสภาพเคลิ้มของจิต ส่วนความหมายรู้หมายจำอาจชัดหรืออาจพร่าเลือน เอาแน่เอานอนไม่ได้

๒) ขณะทำสมาธิได้ครึ่งๆกลางๆ คือประสบการณ์ของผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกสมาธิ มีความสงบสุขบ้างแล้ว แต่ยังล้มลุกคลุกคลาน ตั้งมั่นได้เพียงสองสามอึดใจแล้วกลับฟุ้งซ่านวกวน ระดับนี้จิตยังมีกำลังอ่อนอยู่ แต่ก็เหนือกว่าขณะใกล้หลับ เพราะมีฐานกำลังสมาธิทำให้จิตสว่างนิดหน่อย ความสว่างหนักแน่นเล็กน้อยอันเป็นเศษสมาธินั้น เอื้อให้เห็นนิมิตได้แบบฝัน เพียงแต่จะแจ่มชัดสดใส ดูเป็นจริงเป็นจังกว่ากันบ้าง แล้วกลับพร่าเลือนอย่างรวดเร็วเหมือนโทรทัศน์เจอคลื่นแทรกบ่อยๆ

๓) ขณะลืมตาเต็มตื่น คือประสบการณ์ของคนทั่วไป ที่ไม่หดหู่ง่วงเหงาหรือฟุ้งซ่านรำคาญใจ ระดับนี้ก็ประมาณเดียวกับที่คุณกำลังอ่านหนังสืออยู่นี่แหละ คุณสามารถเลือกที่จะปรายตาดู เงี่ยหูฟังภาพเสียงรอบตัวตามต้องการ แต่ก็จะมีภวังค์ไม่รู้สึกตัว ความฟุ้งซ่าน ความเหม่อลอย หรือความซึมเซาเกิดแทรกเป็นระยะๆ ไม่อาจบังคับให้รับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานๆ ภาวะที่จิตผูกกับประสาทหยาบเช่นนี้ ไม่เอื้อให้เห็นภาพนิมิตใดๆเป็นเรื่องเป็นราว อาจมีพวกจิตรกร นักประพันธ์ หรือเหล่านักหมากรุกที่งานบีบให้ฝึกเห็นภาพในหัวบ่อยๆ ทว่าก็ไม่ถึงขนาดเทียบประสบการณ์ยามฝัน ที่เห็นสีสันผูกกันเป็นเรื่องราวชัด

๔) ขณะทำสมาธิได้ตั้งมั่นเฉียดฌาน คือประสบการณ์ของผู้ผ่านชั่วโมงบินในการฝึกสมาธินานพอจะเกิดจิตตั้งมั่น สว่างคงเส้นคงวา ปีติสุขเย็นซ่าน ยับยั้งอยู่ในรสวิเวกได้หลายนาทีโดยไม่กระสับกระส่ายล้มๆลุกๆ ระดับนี้จิตมีกำลังแข็งแรงแล้ว และเหนือกว่าจิตสำนึกขณะลืมตาตื่น เป็นที่ตั้งของนิมิตได้ดีกว่ายามหลับ กับทั้งไม่ต้องโดนแย่งพื้นที่ด้วยภาพเสียงนอกตัว จะมีก็เพียงวูบความคิดระลอกอ่อนๆบ้างเป็นระยะ แต่ไม่ซัดเป็นพายุบุแคมเหมือนความฟุ้งซ่านปกติ ความมีสติรู้อย่างคงเส้นคงวา จะทำให้เกิดประสบการณ์ทางจิตอีกระดับหนึ่ง ที่เหมือน ‘รู้ได้ชัดเจนตามจริง’ ยิ่งกว่าขณะกำลังลืมตาเต็มตื่น ฉะนั้นเมื่อเกิดนิมิตใดในมโนทวาร จึงดูน่าเชื่อถือยิ่ง และความจริงก็มีอยู่ว่าการหยั่งรู้อดีตอนาคต ตลอดจนการเชื่อมต่อสื่อสารกับวิญญาณต่างมิติ ล้วนทำกันได้ก็ด้วยจิตระดับนี้

๕) ขณะทำสมาธิได้ตั้งมั่นถึงฌาน คือประสบการณ์ของผู้ผ่องแผ้วจากความคิดในกาม ความคิดในพยาบาท ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ และความตรึกนึกสงสัยไปต่างๆ จิตตั้งมั่นเด่นดวงเหมือนพระอาทิตย์ที่แผดรัศมีได้เต็มวงโดยปราศจากมลทินแปดเปื้อนแม้แต่น้อย เพราะแม้แต่ตัวตนทางความคิดก็หายไป จิตระดับนี้เหมาะสำหรับสัมผัสความจริงขั้นสูงสุดคือนิพพาน อันพ้นไปจากจินตนาการ พ้นไปจากนิมิต และพ้นไปจากการคาดคะเนทั้งหลาย แต่โดยมากผู้ที่เข้าถึงฌานจะขาด ‘ตัวตั้ง’ คือวิธีดูความไม่มีตัวตนของจิต จึงเอาแต่สงบนิ่งเสวยรสสุขแห่งฌานอยู่เฉยๆ ครึ่งฉลาดครึ่งโง่ ไม่ฉลาดถึงที่สุดขนาดทะลุกรอบจำกัดของกายใจไปรู้จักพระนิพพานได้

จะเห็นว่าเมื่อกล่าวถึงคุณภาพจิตระดับที่ ‘ตื่นเต็มพร้อมรับรู้ความจริง’ นั้น ยังมีต่ำมีสูงกว่ากันอยู่ เช่นเมื่อใดที่ใครมีประสบการณ์ทางจิตระดับฌาน เขาจะได้นิยามใหม่ของคำว่า ‘ตื่นเต็ม’ ไปเป็นคนละเรื่อง

สรุปคำตอบของคุณนะครับ คือถ้าจะให้แน่ใจว่าคุณเห็นรูปทิพย์เสียงทิพย์ หรือนิมิตภาพเสียงในฝันธรรมดา คุณก็ควรมีระดับจิตที่ตื่นเต็มพร้อมรับรู้ความจริง เหนือกว่าการรับรู้ด้วยหูตาธรรมดา เหนือกว่าการรับรู้ด้วยสมาธิครึ่งๆกลางๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าการรับรู้ขณะง่วงงุนใกล้หลับ

ผมไม่ปฏิเสธ ที่วิญญาณจะพยายามติดต่อส่งสารมาถึงคนใกล้หลับได้ เพราะสภาวจิตใกล้หลับเอื้อต่อการรับรู้นิมิตภาพเสียง ทุกวันมีเรื่องราวของคนเพิ่งตายย้อนกลับมาลาคนเป็นในฝันใกล้รุ่งเยอะแยะ แต่ประเด็นก็คือคุณไม่มีทางรู้ด้วยจิตครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือจิตขณะลืมตาตื่นตามปกติ ว่าสิ่งที่เห็นหรือได้ยินนั้น ของแท้หรือของเทียมกันแน่

แปลกแต่จริง คือบางคนจะเชื่อในประสบการณ์ที่รับรู้ขณะที่จิตตัวเองมัวมน มากเสียยิ่งกว่าตอนกำลังลืมตาตื่นอยู่เสียอีก หลายคนเหมือนเพี้ยนไป เพียงเพราะยึดมั่นถือมั่น เกิดอุปาทานไปว่าตนอยู่ในสองโลก ปล่อยให้ความจริงภายนอกกับความเท็จในฝันปะปนกัน กระทั่งมีอิทธิพลใหญ่กับการดำเนินชีวิต คือแทนที่จะตัดสินใจไปบนพื้นฐานของความจริง กลับเอาคำพยากรณ์ของเทวดาในฝันมาเป็นหลักตั้ง

หากยังอยากจะเต็มใจยอมรับนิมิตฝันมากกว่าความจริงเฉพาะหน้า ผมอยากให้คุณตั้งคำถามกับตนเองง่ายๆในขณะเกิดนิมิตอย่างนี้ครับ

๑) แยกแยะได้ถูกไหมว่ากำลังสุขหรือทุกข์เพียงใด? หากไม่เป็นสุขมากนัก แปลว่าใจยังไม่สบายเท่าที่ควร เมื่อใจไม่สบาย ก็แปลว่าคุณภาพยังต่ำเกินกว่าจะเชื่อถือหรือทึกทักเอาจริงเอาจังอะไร

๒) ความจำได้หมายรู้มีความคงเส้นคงวานานแค่ไหน? หากทราบชัดว่าบุคคลที่กำลังปรากฏอยู่ในการรับรู้มีที่มาที่ไปอย่างไร สืบหาหลักฐานในโลกความเป็นจริงได้ว่ามีความสัมพันธ์กับคุณแบบไหนมาก่อน อันนั้นค่อยเป็นประกันระดับหนึ่งว่าจิตของคุณไม่เพ้อพกไปเอง

ขอแถมเพิ่มเติมหน่อยนะครับ หากคุณศึกษาให้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา ว่าด้วยการรู้ตามจริง เท่าทันธรรมชาติของจิตและกรรมวิบาก วันหนึ่งคุณจะทราบว่าใดๆล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งใดไม่เที่ยง มีอันต้องเลอะเลือนไปเป็นธรรมดา ควรกล่าวว่าเป็นเท็จ ลองมองกวาดไปทั้งโลกเถอะ มีอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นเท็จ ขนาดเงาในกระจกของคุณยังเป็นเท็จเลย แม้จะต้องพิสูจน์ความเป็นเท็จของมันหลายปีหน่อยก็เถอะ


สิ่งที่คุณสัมผัสได้ด้วยหูตาทุกวันนี้ ยืนพื้นอยู่บนความสามารถของจิตสำนึกที่มีสติตื่นเต็มธรรมดา ต่อเมื่อวันหนึ่งคุณยกระดับจิตให้ถึงฌานอันประกอบด้วยซูเปอร์สติ วันนั้นคุณจะมีสิทธิ์เห็นความจริงขั้นสูงสุด ที่มีความตั้งมั่นถาวร ไม่เลอะเลือนไป ที่เรียกว่า ‘นิพพาน’ อันพระพุทธเจ้าตรัสว่ามีจริงและเป็นของจริงเพียงหนึ่งเดียวครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น