วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ให้เพื่อนลอกข้อสอบบาปไหม (ดังตฤณ)

ถาม : หนูเป็นคนที่เรียนดี สอบได้ที่หนึ่งของชั้นบ่อยๆ ทำให้เพื่อนในห้องส่วนใหญ่ ชอบมาลอกการบ้านของหนู ซึ่งส่วนใหญ่หนูก็ให้พวกเขาลอก แต่บางทีก็ไม่ให้ อยากทราบว่าการให้เพื่อนลอกการบ้านนี่บาปหรือเปล่าคะ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖

ดังตฤณ: 
หากทางโรงเรียนออกกฎให้ลอกข้อสอบได้ ก็จะไม่มีใครผิด ไม่มีใครประพฤติทุจริตมิชอบ เมื่อน้องเข้าไปอยู่ในขอบเขตของกฎที่ว่าห้ามลอกข้อสอบ แม้จะเป็นฝ่ายให้ลอก ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ฝ่าฝืนกฎ กติกาที่มนุษย์วางกันไว้ จะกลายเป็นกรอบขึ้นมากรอบหนึ่ง ซึ่งผู้เข้ามาอยู่ในกรอบอาจสร้างกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลโดยเฉพาะกรรมว่าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและทุจริต การเข้าร่วมขบวนการไม่ซื่อ ก็ย่อมได้ผลเป็นการพัวพันกับโลกที่ไม่ซื่อในทางใดทางหนึ่ง

การฝ่าฝืนกฎมีอยู่ ๓ แบบหลักๆ หนึ่งคือฝ่าฝืนด้วยความคิดเอาประโยชน์เข้าตัว สองคือฝ่าฝืนด้วยความเมตตาหวังประโยชน์แก่ผู้อื่น สามคือจำใจฝ่าฝืนเพราะถูกบีบบังคับด้วยเหตุจำเป็น

กรณีของน้อง เข้าข่ายแบบที่สองกับแบบที่สาม ขึ้นอยู่กับวาระ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วนกรณีของเพื่อนน้อง ก็จะเข้าข่ายแบบที่หนึ่งหรือแบบที่สามเท่านั้น ฐานะของพวกเขาไม่เอื้อให้เกิดโอกาสเป็นพวกที่สองซึ่งเป็นผู้มีพอจะให้

เมื่อเราพูดถึง ‘ความไม่ตรงไปตรงมา’ ในการสอบนั้น เราตั้งต้นพูดกันตามจริงว่ามีการฝ่าฝืนกฎ มีคนทำผิดกฎ แต่แง่มุมของกรรมวิบากไม่ได้มองแค่นั้น กฎของมนุษย์มีแค่ผิดกับถูก แต่กฎของกรรมวิบากมีเรื่องของน้ำใจ มีเรื่องของความฝืนใจ มีเรื่องของความเห็นแก่ตัว มีเรื่องของความลังเลอึดอัดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และเมื่อจะตัดสินว่าบาปหรือไม่บาป ก็ต้องดูที่เจตนาตั้งต้นว่าเป็นการสละให้หรือคิดเอาเปรียบคนอื่น

น้องบอกว่า ‘บางทีก็ไม่ให้’ อันนี้ต้องถามว่าทำไมถึงไม่ให้ ไม่ให้เพราะรำคาญ ไม่ให้เพราะกลัวใครเกินหน้าเกินตา ไม่ให้เพราะกลัวใครมาแย่งตำแหน่งที่หนึ่ง ไม่ให้เพราะเห็นว่าการผิดกฎกติกาเป็นเรื่องมิบังควร ไม่ให้เพราะไม่อยากเพาะเชื้อนิสัยขี้โกงไว้ในตัวเพื่อน หรือไม่ให้เพราะพิจารณาแล้วว่านี่เป็นการส่งเสริมให้เพื่อนๆเกิดความอ่อนแอไม่คิดพึ่งพาตนเอง

ส่วนเมื่อจังหวะที่อยากให้เขาลอก ก็ต้องถามว่าทำไมถึงให้ ให้เพราะกลัวไม่เป็นที่รัก ให้เพราะกลัวเพื่อนเกลียด ให้เพราะกลัวจะถูกรุมรังแกในภายหลัง หรือให้เพราะพิจารณาแล้วว่าถ้าไม่ช่วยก็คงไม่มีใครรอด เพราะข้อสอบยากเกินไป เขาตั้งใจเรียนกันแล้ว ดูหนังสือกันแล้ว ข้อสอบก็โหดเกินกำลังอยู่ดี

เหตุผลและวิธีคิดของน้องนั่นแหละ คือเครื่องชี้ว่ากรรมของน้องเอียงเข้าฝ่ายกุศลหรืออกุศล ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่าโลกนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก มีแต่เหตุผลและวิธีคิดที่ทำให้จิตของคนๆหนึ่งในขณะหนึ่งๆเป็นขาวหรือเป็นดำมากกว่ากัน น้องมีวิธีคิดใช้เหตุผลอย่างไร วิธีคิดแบบนั้นก็จะติดเป็นนิสัยของน้องต่อไป


สรุปคือเมื่อจะช่วยหรือไม่ช่วยใครในครั้งต่อไป ถามตัวเองว่าน้องมีเหตุผลอะไร เหตุผลนั้นเข้าใกล้ใจที่ขาวหรือใจที่ดำ เหตุผลนั้นนำไปสู่ความเดือดร้อนของตนเองและผู้อื่นได้แค่ไหน และที่สุดคือเหตุผลนั้นทำให้โลกนี้ดีขึ้นหรือเลวลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น