วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เหตุผลที่พระโสดาบันปิดอบายได้ถาวร (ดังตฤณ)

ถาม : ที่คุณดังตฤณเคยบอกไว้ว่าการบรรลุพระโสดาบันแล้วจะปิดอบายได้ทุกภพชาตินั้น หมายความว่าขณะตายพระโสดาบันจะมีสติระลึกรู้จนเกิดกุศลได้อัติโนมัติทุกครั้งใช่ไหม? อยากทราบเหตุผลว่าทำไมพระโสดาบันจึงมีความเที่ยงที่จะไปสุคติเสมอครับ

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖

ดังตฤณ: 
ก่อนอื่นต้องแก้ความเข้าใจสักนิดหนึ่ง เรื่องการปิดอบายอย่างเด็ดขาดของผู้เป็นโสดาบันนั้น ไม่ใช่ว่าผมบอก ไม่ใช่ว่าผมเป็นผู้ประกันนะครับ นี่เป็นสัจจะที่พระพุทธองค์ตรัสแสดง และมีพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ท่านเป็นประกัน และที่เป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธเจ้ารับรองความปลอดภัยให้พระสาวกเพียงเพราะพระสาวกนับถือท่าน แต่เป็นเพราะมีกุศลจิตและกรรมขาวอันตั้งมั่นแล้วอย่างสมเหตุสมผล

เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างครอบคลุมชัดเจน ขอให้พิจารณาคนดีธรรมดาที่ยังไม่เป็นโสดาบันบุคคลก็แล้วกัน ปกติถ้าหากว่าใครบำเพ็ญคุณงามความดีมานาน กระทั่งความดีทางกายวาจาซึมซาบเอิบอาบเข้าไปถึงระดับความนึกคิด คือแม้คิดเป็นความลับอยู่เงียบๆในหัวก็ไม่มีความเลวร้ายอยู่เลย ถึงขั้นนั้นแม้จะไม่ได้เป็นพระโสดาบัน นิสัยใจคอก็ย่อมสืบทอดลักษณะความดีงามของตนเองข้ามเดือน ข้ามปี โดยยากที่จะเปลี่ยนแปลง และเมื่อจะตายก็ย่อมมีจิตสุดท้ายที่คิดดี ไม่มีเหตุผลที่จะไปคิดอะไรเลวๆเอาตอนใกล้ตาย

และจากกฎธรรมชาติคือ ‘กรรมเดิมจะพยายามรักษาเส้นทางเดิมไว้’ ก็หมายความว่าคนดีที่ ‘ดีจริง’ ถึงระดับความคิดนั้น ย่อมไปเกิดในประเทศที่สงบ และอยู่ในฐานะที่ไม่มีความจำเป็นต้องรบราฆ่าฟันหรือเบียดเบียนใครๆด้วยกายวาจาใจ ตรงข้ามเขาย่อมคู่ควรแก่การไปอยู่ท่ามกลางความอบอุ่นเป็นสุขของครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อแม่เป็นผู้ตั้งมั่นในทานและศีล อบรมเขาให้โตขึ้นอย่างเด็กที่จะคิดดี พูดดี ทำดี นอกจากนั้นที่สำคัญกว่าอะไรอื่น กรรมแต่หนหลังจะบันดาลให้จิตใจของเขาไม่มีคลื่นความฟุ้งซ่านจัด บันดาลให้กายของเขาไม่กระสับกระส่ายเร่าร้อนไปในราคะและโทสะอย่างยากจะระงับ จึงยากที่อยู่ๆจะนึกสนุกอยากลองเป็นคนชั่วดูบ้าง และยากที่จะหลงไปคบเพื่อนชั่วด้วยความสำคัญว่าเป็นของดี เหมือนผู้นุ่งห่มอาภรณ์ขาวสะอาด ย่อมไม่สำคัญว่าผ้าขี้ริ้วน่าใส่กว่า

สรุปคือสำหรับปุถุชนคนธรรมดานั้น ถ้า ‘ดี’ ลงมาถึงระดับความคิดได้ชาติหนึ่ง ชาติต่อๆมาก็มีแนวโน้มจะคงความดีไว้ได้อีก อย่างไรก็ตาม กฎแห่งการรักษาเส้นทางเดิมของกรรมนั้น ยังเป็นรองอีกกฎหนึ่ง คือ ‘ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป’ ยุคเรานี่แหละครับ แสดงกฎนี้ได้ชัด คนดีเปลี่ยนใจเป็นคนชั่วกันทุกวัน เพราะสิ่งกระตุ้นให้ชั่วมีมากกว่าสิ่งกระตุ้นให้ดี ต่อให้ดีเพียงใดก็ไหลลงต่ำได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีเหตุผลชัดเจนพอว่าจะรักษาความดีไว้ทำไม

ก่อนที่ปุถุชนจะเป็นโสดาบันบุคคลได้นั้น เริ่มแรกก็เป็นคนธรรมดา เป็นปุถุชนที่เดินทางท่องเที่ยวเกิดตายอย่างไร้จุดหมาย ไร้ความรู้จักปลายทางที่แท้จริง ต่อเมื่อพบการแสดงทางไปสู่ฝั่งอันเป็นที่สุดทุกข์ของพระพุทธเจ้า จึงเริ่มเข้าใจว่าการเดินทางที่ดีที่สุดคือการเดินทางที่มีจุดหมาย

จุดหมายปลายทางที่ดีที่สุดก็คือนิพพานนั่นเอง นิพพานเป็นเหตุผลที่ทำให้คนใฝ่ดีคนหนึ่งควรรักษากรรมขาวให้ยั่งยืน เพราะกรรมขาวเท่านั้นที่ปูพื้นให้จิตมีสภาพพร้อมบรรลุธรรมเป็นโสดาบันบุคคลขึ้นมาได้ กล่าวคือ จิตอันปลอดโปร่งจากบาป และถึงพร้อมด้วยความสุจริตทางกาย วาจา ใจเท่านั้น ที่พร้อมจะเห็นตามจริงว่ากายและจิตนี้ไม่เที่ยง มีอันต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น กระทั่งเห็นความจริงขั้นสูงสุดคือนิพพาน กลายเป็นโสดาบันบุคคลขึ้นมาได้

อันนี้ถ้าไม่เชื่อคุณลองไปพูดกับคนใจบาปเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่น่ายึดมั่นถือมั่นของสังขารทั้งปวง จิตอันยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่ในบาปอกุศลของพวกเขาจะปิดกั้น ไม่ยอมรับฟังใดๆเลย ส่วนคุณเอง ถ้ามีใจเบิกบานอยู่ในกุศล เพิ่งทำบุญทำคุณมา ความสุขความเบิกบานย่อมส่งให้สามารถรับฟังถึงสภาพอันเป็นสุขประณีตยิ่งๆขึ้นไปได้ โดยปราศจากแรงต้านใดๆ หรือแม้ต้านบ้างก็อ่อนกำลังลงมากแล้ว

เมื่อคนธรรมดาๆสักคน ได้เจริญสติรู้เห็นกายใจโดยความไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น กระทั่งถึงจุดหนึ่ง เกิดปรากฏการณ์ทางจิตที่เรียกว่า ‘ได้ดวงตาเห็นธรรม’ คือบรรลุมรรคผล จิตถึงความใหญ่เป็นฌาน เห็นความไม่มีตัวตน และประจักษ์ว่ามีธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งคือนิพพาน เป็นบรมสุข เป็นฝั่งอันปลอดภัย เป็นความเที่ยงแท้ เป็นความไม่มีนิมิตหมาย มีแต่ความเป็นเช่นนั้นเสมอมาและเสมอไป ปรากฏการณ์เห็นนิพพานนั้นจะยกชั้นของภูมิจิตให้สูงขึ้นอย่างถาวร กล่าวคือเมื่อรู้จักนิพพานแล้ว จิตย่อมทราบที่หมายปลายทาง และย่อมเลิกเข้าข้างกิเลส แต่หันไปเข้าข้างกรรมที่สนับสนุนให้เดินทางไปถึงความหมดกิเลสสิ้นเชิง ซึ่งก็ได้แก่กรรมอันเป็นกุศลทั้งทางกาย วาจา และใจนั่นเอง

สรุปโสดาบันบุคคลนั้น ‘ต้องดีจริง’ ลงมาถึงระดับของจิต แม้ยังมีราคะ โทสะ โมหะ แม้ยังมีความคิดไม่ดีได้อยู่ แต่ก็ ‘ไม่เอาบาป’ ออกมาจากจิต ถ้าเป็นบาปจะไม่มีการชั่งใจลังเลว่าเอาดีไม่เอาดี เมื่อจิตไม่เอาบาป ก็ย่อมไม่สร้างภพ ไม่สร้างนิมิตสยดสยองก่อนตาย พอจิตสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ดับลง ที่หมายย่อมเป็นไปได้สองสถาน คือสวรรค์หรือนิพพานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ คือโสดาบันบุคคลนั้นเที่ยงที่จะบรรลุพระอรหัตตผล หมายถึงในที่สุดจะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสอย่างสิ้นเชิงภายใน ๗ ชาติ ถ้าขยันหน่อย ปฏิบัติธรรมลดละกิเลสเห็นตามจริงขะมักเขม้นก็จบกิจในปัจจุบันชาติ แต่ถ้ายังปรารถนาเสวยสมบัติมนุษย์และเทวดา อย่างมากอีก ๗ ชาติก็ต้องเบื่อหน่าย คลายความยินดี เห็นความจริงจนถึงที่สุด สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้ายจนได้

ท่านจึงว่าเป็นโสดาบันบุคคลนั้น ประเสริฐกว่าความเป็นนักธุรกิจหมื่นล้าน ประเสริฐกว่าความเป็นราชามหาจักรพรรดิ ประเสริฐกว่าความเป็นเทพและพรหม นั่นก็เพราะปุถุชนผู้ยังไม่บรรลุธรรมเป็นโสดาบันล้วนเดินทางเป็นวงกลม เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวทำบุญเดี๋ยวทำบาป เดี๋ยวเสวยทุกข์เดี๋ยวเสวยสุข คล้ายนั่งรถไฟเหาะ เดี๋ยวขึ้นสูง เดี๋ยวลงต่ำ แล้วก็วนย้อนกลับมาหาจุดเริ่มต้นกันใหม่ ในขณะที่โสดาบันบุคคลเดินทางเป็นเส้นตรงสู่จุดหมายที่แน่ชัดแล้ว คือแม้พวกท่านยังอยู่ภายใต้กฎแห่งความไม่เที่ยง ก็เป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น เหมือนคนขึ้นลิฟต์ลิ่วๆสู่ยอดสุดอันเป็นที่พักถาวรท่าเดียว

ถ้าให้กล่าวจำแนกอย่างชัดเจน เหล่าโสดาบันมีความมั่นคงในระดับของจิตอยู่ ๒ ประการ (ซึ่งก็คือความตั้งมั่นแห่งภพภูมิอันเป็นปัจจุบันและอนาคต) ได้แก่

๑) ศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธเจ้าและพระธรรมคำสอนของพระองค์ เนื่องจากเห็นนิพพานแล้ว ทราบแล้วว่าพระพุทธเจ้าพบนิพพานจริง รวมทั้งสั่งสอนให้พระสานุศิษย์ทั้งหลายถึงนิพพานได้จริง พิสูจน์ได้ในชาติปัจจุบันแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่มีการลังเลสงสัยหรือหันไปฟังคำสอนอื่นอีก ตลอดจนไม่มีทางหลงเห็นผิดเป็นชอบ เช่นเชื่อแบบสืบๆกันมาว่าทำพิธีอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะได้บรรลุมรรคผล มีแต่ความเข้าใจจริงว่าต้องปฏิบัติธรรม เจริญสติรู้เห็นเข้ามาในกายใจนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนเท่านั้น

๒) มีศีลที่ตั้งมั่น เป็นความตั้งมั่นแบบไม่ต้องดูตำราว่าท่านให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไรบ้าง จิตไม่เอาบาป ไม่เอาอกุศลอันเป็นหนทางไปสู่อบายภูมิทั้งหมด ทั้งการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การผิดในกาม การโกหก และการกินเหล้าเมายา

แถมท้ายอีกนิด การจะเป็นโสดาบันบุคคลนั้น มีเงื่อนไขอยู่บ้าง คือเกิดเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา มีสติปัญญาพอจะรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เคยฆ่าพ่อฆ่าแม่ ไม่เคยฆ่าพระอรหันต์ ไม่เคยเป็นพระที่ทำความแตกแยกแก่หมู่สงฆ์ ตลอดจนมีกำลังวังชา และมีเวลาเหลืออยู่ในโลกนี้สัก ๗ วัน ๗ เดือน หรือ ๗ ปี เพื่อพัฒนาสติรู้เห็นตามจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสชี้ทางไว้


ผมเคยนำ ‘วิปัสสนานุบาล’ มาลงไว้ในบางกอก ตอนนี้มีให้อ่านฟรีทั้งเล่มที่ http://dungtrin.com/vipassana กับอีกเรื่องหนึ่งคือ ‘๗ เดือนบรรลุธรรม’ มีให้อ่านฟรีอีกเช่นกันที่ http://dungtrin.com/7months และอยากบอกว่าทุกท่านที่ติดตามอ่านเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัวนี้ เกินกว่าครึ่งมีเงื่อนไข มีเหตุปัจจัยสมควรแก่การได้บรรลุมรรคผลเป็นโสดาบันบุคคลด้วยกันทั้งนั้นครับ​

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น