ถาม : ศึกษาเรื่องการทำทานแล้วอดรู้สึกขัดแย้งไม่ได้
เพราะหลักการทำทานที่ดีอย่างหนึ่ง คือทำแบบไม่โลภ ไม่หวังอยากได้อะไร
แต่ขณะเดียวกันก็ควรทำทานด้วยความศรัทธาในผลแห่งทาน
เลยสงสัยว่าควรตั้งจิตไว้อย่างไรแน่
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖
ดังตฤณ:
ผมจะแยกให้ดูเปรียบเทียบเป็นข้อๆอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ
๑)
ถ้าทำบุญแล้วเจาะจงว่าขอให้รวยขึ้น ขอให้ถูกหวย
ขอให้มีคนเอาเงินมาประเคนใส่มือทันตาในสามวันเจ็ดวัน
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญที่ประกอบด้วยความโลภ
เงินที่ใช้ในการทำบุญนั้นเปรียบเสมือนเงินลงทุนของนักธุรกิจที่ขึ้นต้นด้วยความหวังผลตอบแทน
แต่หากทำบุญด้วยความเชื่อว่าการทำบุญอย่างสม่ำเสมอ
แม้ทีละน้อยก็ละลายความตระหนี่ได้มาก ผลย่อมเป็นความสบายใจ ไม่คับแคบ
แล้วในที่สุดใจที่สบายย่อมช่วยให้กายไม่ลำบาก เรื่องดีๆย่อมตามมาเอง
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำทานด้วยศรัทธา
๒)
ถ้าทำบุญแล้วเจาะจงว่าขอให้สวยขอให้หล่อ ขอให้รูปร่างหน้าตาผิวพรรณเป็นที่หนึ่งอย่าได้รองใคร
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญที่ประกอบด้วยความโลภ
เงินที่ใช้ในการทำบุญนั้นเปรียบเสมือนเงินลงทุนของคนเข้าร้านเสริมสวยหรือคนเข้าทำศัลยกรรมตกแต่ง
แต่หากทำบุญด้วยความเชื่อว่าการทำบุญด้วยใจอันเปี่ยมด้วยความเคารพศรัทธา ผลย่อมเป็นความเบิกบาน
แล้วในที่สุดใจที่เบิกบานย่อมช่วยให้กายผุดผ่อง
แม้ชาติหน้ามีจริงย่อมมีรูปร่างหน้าตาที่เข้ากันได้กับจิตซึ่งผุดผ่องด้วยแน่ๆ
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำทานด้วยศรัทธา
๓)
ถ้าทำบุญแล้วเจาะจงว่าขอทำเฉพาะกับพระดังๆ ผลจะได้งอกเงยมากมายและรวดเร็ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำบุญที่ประกอบด้วยความโลภ
แต่หากทำบุญด้วยความคิดว่าแม้พระที่ยากจนและไร้ชื่อเสียงก็นุ่งห่มจีวร
ช่วยสืบทอดพระศาสนา ทำหน้าที่เป็นหลักใจให้ชาวบ้านในเขตหนึ่งๆ
ควรที่เราจะทำถวายทานแด่สงฆ์ให้ทั่วๆ
ผลที่เกิดกับตนเองย่อมตกแต่งให้จิตคิดเกื้อกูลพระศาสนาโดยรวมอย่างแท้จริง
เมื่อจิตเล็งที่ศาสนาโดยรวมย่อมให้ผลใหญ่ประมาณมิได้อยู่ในตัวเอง
อย่างนี้เรียกว่าเป็นการทำทานด้วยศรัทธา
กล่าวอย่างรวบรัด
ให้คิดง่ายๆครับว่าทำบุญแล้วบุญจะช่วยให้เราไม่ลำบาก
ทำให้เรากำจัดความตระหนี่อันเป็นต้นเหตุแห่งความลำบากที่แท้จริง
ตลอดจนทำให้เราฉลาดในการเกื้อกูลพระศาสนา นี่แหละเป็นนโยบายการทำบุญที่ประเสริฐ
เป็นประกันไม่ให้บุญโดนตัดกำลังไปด้วยอำนาจมืดแห่งความโลภเสียกลางทาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น