ถาม : หลายครั้งพยายามพูดกับลูกง่ายๆ แล้ว
แต่ก็เหมือนพูดกันคนละภาษาลูกมีท่าทางเหมือนเข้าไม่ถึงสิ่งที่เราพูด
แล้วก็ไม่อยากคุยกับเราเกี่ยวกับปัญหาของเขา ทั้งที่เขาก็แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้
อันนี้เป็นปัญหาของกรรมสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาในทางใดทางหนึ่งหรือไม่
ที่กำหนดให้เราช่วยเหลือลูกไม่ได้ ปกติเขาจะเป็นเด็กฉลาดในการเรียน
แต่พอเจอปมปัญหาทางอารมณ์บางอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับเพื่อน แฟน พี่น้อง และครู
ก็จะติดตันอยู่อย่างนั้น ตลอดจนพยายามแสดงออกหรือคิดแก้ปัญหาด้วยความก้าวร้าว
ขอคำแนะนำอะไรก็ได้ที่จะช่วยให้สื่อกับลูกเข้าใจมากขึ้น
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๐
ดังตฤณ:
ขอกล่าวถึงเฉพาะปัญหาการสื่อสารก็แล้วกันนะครับเพราะปมปัญหาระหว่างพ่อแม่ลูกในปัจจุบันนี้มีความซับซ้อนมาก อันที่จริงคุณใส่ใจลูกก็ถือว่าลูกโชคดีมากแล้ว เพราะมีพ่อแม่อีกหลายบ้านที่ไม่เอาลูกเลย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างเดียว แค่ทำงานหูตาเหลือกก็เหนื่อย ก็เบื่อ ก็ท้อต่อการรับผิดชอบภาระตนเองแล้ว การณ์จึงมักปรากฏว่าเลี้ยงลูกด้วยสตางค์อย่างเดียว ความรักความอบอุ่นจากการพูดจาและการอยู่ร่วมกันไม่ค่อยมี โดยรวมลูกจึงรู้สึกเหมือนถูกเลี้ยงมาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ มากกว่าอย่างอื่น
มีคนเคยชวนผมไปคุยกับเด็กวัยรุ่น
และขอให้เล่านิทานทางพุทธให้เด็กฟัง ผมคุยกับเด็กสองสามคำก็รู้แล้วว่าขืนเล่านิทาน
มีหวังหัวเราะเยาะผม เห็นผมเป็นตาแก่ไม่ทันโลกอย่างแน่นอน เพราะความรู้ ความคิด
และความฉลาดของเด็กนั้น อาจจะมากกว่าผู้ใหญ่บางคนเสียอีก
ผมอยากเสนอกว้างๆ
ว่าถ้าเด็กรู้ความแล้ว จะอายุอานามเท่าใดก็ตาม หากเขามีแววฉลาด
ก็พูดคุยกับเขาเหมือนผู้ใหญ่คุยกันเลยจะดีกว่า
เรามักเข้าใจผิด
คิดว่าคุยกับเด็กต้องใช้ภาษาเด็ก คิดง่ายๆ แบบเด็ก เด็กถึงจะเข้าใจ
ที่แท้แล้วการพูดคุยโดยเล็งว่าเขาเป็นเด็กนั่นแหละอาจจะเป็นตัวปัญหา
คุณต้องมองว่ายุคนี้เด็กๆ
บริโภคสื่อที่เต็มไปด้วยเนื้อหาซับซ้อนมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ทั้งเพลง ทั้งละคร
ทั้งโฆษณาไม่ได้เรียบง่ายแบบกุ๊กไก่แมวเหมียวน่ารักเหมือนเมื่อก่อน
คำบางคำที่คุณคิดว่าเด็กอายุ ๔ ขวบไม่เข้าใจ เขาอาจเข้าใจเสียยิ่งกว่าผู้ใหญ่อายุ
๔๐ บางคนที่กิเลสหนาๆ เสียอีก
จุดแรกที่ผมอยากแนะให้แก้
คือ มุมมองของคุณเอง ต่อไปนี้เมื่อจะพูดคุยกับเขา
ลองตั้งไว้ในใจว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ธรรมดาๆ
คนหนึ่งสามารถรับรู้และเข้าใจเหตุผลในแบบของคุณได้ทุกอย่าง
เมื่อเปลี่ยนมุมมองเช่นนั้น คำพูดทุกคำของคุณจะต่างไป
ถ้าหากเขามีท่าทีรับฟังมากขึ้น และเหมือนเข้าใจมากขึ้นก็ให้ตัดสินว่ามาถูกทางแล้ว
จุดที่สองได้แก่ศิลปะทางจิต
บางทีคนทั่วไปไม่รู้หรอกครับว่าการสื่อสารที่ล้มเหลวนั้นเริ่มกันตั้งแต่จิตแล้ว
ไม่ใช่ต้องรอให้พูดกันเป็นคำๆ เสียก่อน
ลองทบทวนดูมีไหมที่คุณเคยต้องเข้าพบเจ้านายหรือผู้ใหญ่ท่าทางเครียดๆเหมือนไม่พร้อมจะรับฟังอะไรจากคุณ
เป็นแต่จะเป็นฝ่ายสั่งคุณท่าเดียว หากจำเป็นต้องคุยกันยาวๆ
คุณจะรู้สึกเหนื่อยอ่อนกว่าปกติ
ทั้งนี้ก็เพราะคุณต้องตั้งใจเป็นพิเศษที่จะรับฟังเขาให้ตลอดรอดฝั่งนั่นเอง
จิตของคนนะครับ
ถ้าไม่ยอมรับกัน ถ้าไม่เป็นไปในทางเดียวกัน หากต้องคุยกันต้องพยายามจูนอย่างหนัก
ก่อนฟังคำพูดแต่ละประโยค คุณต้องดันจิตตัวเองให้ผ่านช่องว่างระหว่างกันเพื่อเข้าถึงเขา
บางทีก็เจอแรงผลักกลับให้รู้สึกเหมือนถอยห่างออกมา หากคุณเคยเกิดประสบการณ์ชนิดนี้
ก็ต้องเข้าใจว่าลูกอาจรู้สึกเช่นเดียวกัน
ผมเห็นอาการคาดคั้นของพ่อแม่หลายๆ
รายแล้ว บางทีก็ขำนะครับ อยากให้ลูกยอมรับ แต่สร้างเหตุให้ลูกปฏิเสธ
คนเราจำความรู้สึกในวัยเด็กของตัวเองกันไม่ค่อยได้
มีเด็กที่ไหนชอบให้พ่อแม่ทำหน้าดุๆ ระหว่างพูดคุยกับตัวเอง? ถ้าคุณทบทวนนึกออก และรู้ตัวว่าพลาดไป
คุณจะเป็นพ่อแม่ที่มีเมตตา นุ่มนวล
และไม่สร้างกำแพงขึ้นมากั้นระหว่างตัวเองกับลูกโดยไม่รู้ตัว
กระแสจิตแบบเมตตามักเป็นกลาง
เป็นสากล และเข้ากับจิตได้เกือบทุกประเภท
เพราะมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายชอบกระแสความเย็นจากจิต
หากคุณกลับจากที่ทำงานแล้วเครียดก็อย่าเพิ่งคุยกับลูกเรื่องหนักๆ
ที่เป็นปัญหาทันที เพราะจะไม่ช่วยแก้
แต่อาจทับถมความเครียดของเขาด้วยความเครียดของคุณเอง
ขอให้อาบน้ำอาบท่า
กินข้าว และรอจนกว่าจะถึงจุดที่ชุ่มฉ่ำใจโดยทางใดทางหนึ่งเสียก่อน
แล้วค่อยนั่งลงคุยกับเขาด้วยความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง รู้ทันตัวเอง
ห้ามตัวเองไม่ให้มีสีหน้าและน้ำเสียงเอาจริงเอาจัง
รักษาระดับความรู้สึกเป็นพ่อเป็นแม่ที่พร้อมจะเอาใจใส่ลูกด้วยความเยือกเย็นหนักแน่น
นั่นแหละกระแสจิตของคุณกับเขาจะต่อกันติดครับ พูดอะไรเขาก็รับฟังหมด รู้เรื่องหมด
รับรอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น