วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แฟนเปลี่ยนศาสนาเพราะกรรมเก่าแบบไหน (ดังตฤณ)

ถาม : เดิมทีแฟนเป็นพุทธ แต่คุณแม่ของเขาเปลี่ยนศาสนาแล้วมาชวน ซึ่งแรกๆเขาก็ไม่สนใจ กลับจะต่อต้านด้วยซ้ำ แต่ต่อมาเขาเกิดปัญหาแก้ไม่ตก แล้วก็เกิดนึกถึงที่พึ่งที่อบอุ่น เลยเปลี่ยนใจไปทางนั้น นี่เป็นกรรมร่วมกันมากับคุณแม่เขาใช่ไหม?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๑๑

ดังตฤณ: 
เท่าที่สังเกตนะครับ พวกที่ต่อต้านความเชื่อไหนไว้มากๆ ด่าทอหรือดูถูกดูหมิ่นศาสนาไหนไว้แรงๆ ก็เหมือนไปผูกเวรเอาไว้ แล้ววันหนึ่งจะเกิดความใจอ่อน เพื่อรับเวรที่ตนผูกขึ้น ทำนองเดียวกับที่คุณไปทำร้ายร่างกายคนดีๆคนหนึ่ง ตอนทำอาจเต็มไปด้วยโทสะครอบงำ เนิ่นนานต่อมาพอไฟโทสะมอดลง แสงแห่งความสำนึกผิดชอบชั่วดีฉายสว่างขึ้นในใจ ก็ย่อมเกิดความเสียอกเสียใจ อยากชดใช้ความผิด และเห็นว่าตนเองแย่กว่า ชั่วร้ายกว่า และไม่มีอะไรดีเหมือนคนดีที่ถูกคุณทำร้ายเอาเปล่าๆ

ศาสนาหนึ่งๆเป็นยิ่งกว่าคนดี เพราะศาสนาเป็นความอบอุ่น เป็นที่พึ่งทางใจ คนเราพอตกอับ รู้สึกเหน็บหนาว ก็ย่อมนึกถึงที่พึ่งอันอบอุ่น และนั่นเอง ศาสนาใดที่คุณเคยไป ‘ทำร้าย’ เอาไว้ ก็มักจะผุดขึ้นมาในความนึกคิดเป็นอันดับต้นๆ สายใยแห่งเวรจะดึงดูดเข้าไปหาเอง โดยเฉพาะศาสนาที่ยืนพื้นอยู่บนศรัทธาความเชื่อจะดึงดูดได้ง่ายเป็นพิเศษ ในห้วงเวลาที่คนเรายืนด้วยขาตนเองไม่ได้ คือไม่พร้อมจะใช้เหตุผลใดๆ

มีการโจมตีจากต่างศาสนาหลายคำ ที่อาจทำให้พวกเรายอมจำนน เช่นว่า ถ้าวิบากกรรมมีจริง ทำไมทำดีมานาน อยู่ๆถึงย่ำแย่ลงได้ นั่นเพราะคนเราไม่มีอำนาจใดๆ ความดีกองภูเขาก็ไม่พอ ต้องรอการพิพากษาจากเบื้องบน และนั่นเองมนุษย์ทั้งหลายจึง ‘ยอมเชื่อ’ อย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยความรู้สึกจนแต้ม สู้อย่างไรก็แพ้

ความจริงก็คือถ้ามีเหตุผล ถ้ามีความเข้าใจธรรมชาติดีๆ เราจะเลือก ‘ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ’ มากกว่าที่จะ ‘คาดหวังให้ธรรมชาติรับใช้ชีวิตเรา’ ธรรมชาติแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าทุกสิ่งมีขึ้นมีลง มันอยู่ที่ว่าเราจะเห็นความจริงนี้ในฐานะผู้ยืนดูอย่างวางเฉย หรือเอาตัวเองเข้าไปเป็นผู้ถูกกระทำและร่ำร้องเรียกหาความช่วยเหลือ วิธีเลือกของเราจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้ม ว่าจะนับถือศาสนาไหน


การเลือกนับถือศาสนาอาจมีญาติเป็นพลังชักนำ แต่ญาติไม่ใช่ตัวแปรสำคัญเท่ากับวิธีคิด วิธีเลือกตัดสินใจของเราเองครับ

ถาม : ทุกวันนี้บางทีต้องกรองให้ดีก่อนพูดกับเขา ไม่อยากผิดใจกันค่ะ เขาอยากให้เราพบกับความรอด อยากให้เราเปิดใจ แต่แหม เราอดแย้งในใจไม่ได้ทุกทีว่าตอนนี้ฉันก็อยู่ดีๆนี่นา จะให้ฉันรอดไปไหน แต่ไม่ได้พูดออกมานะคะ ดิฉันควรพูดกับเขาอย่างไรดี ถ้าไม่อยากมีเรื่อง และขณะเดียวกันก็ไม่อยากทนเงียบอีกต่อไป

ดังตฤณ: 
ตรงนี้คงแสดงให้เห็นความจริงได้แค่ที่ต้นทางครับ ว่าคนเราเมื่อศรัทธาต่างกัน อยู่ร่วมกันจะยาก ผมคงได้แต่คิดคำพูดดีๆให้เอาไว้ใช้ชั่วคราวนะครับ

คุณควรพูดถึงแง่ดี เช่น คุณเชื่อว่าศรัทธาทำให้เขารอดจากทุกข์ รอดจากปัญหาที่ผ่านมา และได้ที่พึ่งอันอบอุ่น นั่นเป็นขั้นแรก

ขั้นต่อมาคุณควรเปิดเผยความรู้สึกของตัวเอง เช่น การได้รับแรงกดดันจากเขาทำให้คุณกระวนกระวาย และไม่อาจคล้อยตามเขาไปได้อย่างเป็นธรรมชาติ ขอเวลาให้คุณได้รับแรงบันดาลใจ ขอให้เขาเผื่อแผ่ความอบอุ่นมาถึงคุณมากกว่านี้ ลดแรงกดดันที่มีต่อคุณลงกว่านี้ ในเมื่อเขารอดจากปัญหา ก็อย่าเพิ่งทำให้คุณเกิดปัญหาทางใจขึ้นมาเลย เพราะเขาก็รู้ดีว่าคนเราเกิดปัญหาทางใจจากเหตุอันใด ก็ย่อมไม่อาจยอมรับเหตุอันนั้นไว้ได้

และถ้าหากเขายังเหลือเหตุผลพอจะฟัง ก็อาจพูดให้เขาเข้าใจ ว่าทุกคนยังลอยคออยู่ในห้วงน้ำของความทุกข์ การที่เขาได้ห่วงยางแล้วนึกถึงคุณ อยากให้คุณรอดตาม ก็ขอบคุณสำหรับความเป็นห่วง แต่ขอโอกาสคุณศึกษาพุทธศาสนาซึ่งตัวเองกำลังศรัทธา เพราะพุทธศาสนาให้เครื่องช่วยไว้เหมือนกัน แถมมีคำสัญญาเกี่ยวกับฝั่งอันปลอดภัยที่เข้าถึงได้ในปัจจุบันด้วย ไม่ใช่แค่ห่วงยางหรือเรือไม้ กับฝั่งอาจปลอดภัยที่จะเข้าถึงได้ต่อเมื่อตายแล้วเท่านั้น

คุณอยู่กับเขาย่อมรู้ว่าพูดได้แค่ไหนนะครับ อารมณ์ทางศาสนาไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เห็นว่าเขาฟังได้แค่ไหนก็พูดไปแค่นั้น อย่าพูดเกินกว่าที่เขาจะรับ และทางที่ดีควรพูดเท่าที่คุณรู้มาจริง ปฏิบัติได้ผลจริงแล้ว เพราะความจริงที่อยู่ในคำพูด กับความจริงที่ปรากฏทางอาการ ย่อมฟ้องตัวเองว่าคุณ ‘ได้ตนเองเป็นที่พึ่ง’ ตามหลักสำคัญของพุทธศาสนาแล้วมากน้อยเพียงใด


อีกอย่าง ถ้าหากความรู้สึกของเราที่มีต่อเขายังดี เขามีความดีที่ชนะความรู้สึกขัดแย้งระหว่างกันได้ ก็น่าจะช่วยให้คุณประคองตัวเองอยู่กับเขาไหว ศรัทธาไม่ได้มีแต่เรื่อง ทางศาสนา แม้ความเชื่อว่าชีวิตคู่คือการอยู่ร่วมกันด้วยความออมชอม ก็นับเป็นศรัทธาที่ประคองเรือนไม่ให้ล่มสลายได้เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น