วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรรมที่ทำให้เป็นนักเขียนเก่ง (ดังตฤณ)

ถาม : ถ้าหากอยากเป็นนักเขียนที่มีความสามารถเรียงร้อยถ้อยคำให้กระชับ สวยงาม อ่านแล้วเข้าใจง่าย จะต้องฝึกฝนหรือทำกรรมอย่างไรครับ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๗

ดังตฤณ: 
เริ่มจากมโนกรรมก่อนครับ ขณะเขียนต้องคิดทุกประโยคว่าทำอย่างไรจะให้เข้าใจง่ายที่สุด น่าสนใจที่สุด

โรงเรียนนักเขียนที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่ชีวิตประจำวัน หลายครั้งที่ประโยคดีๆเกิดขึ้นในหัวขณะเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างตัวคุณกับโลกภายนอก ตรงนั้นก็เอามาเขียนได้เลยตรงๆ แต่หลายครั้งคุณเกิดความรู้สึกประทับใจทว่าบรรยายเป็นคำพูดไม่ถูก ตรงนั้นก็ต้องฝึกที่จะกลั่นมันออกมาเป็นคำพูดและบันทึกลงไปเนียนๆ

ขอให้จำไว้ว่าคุณจะได้ประโยคคำพูดกินใจ ชื่อบทความน่าสนใจ หรือชื่อหนังสือสะดุดตาที่สุดจากเรื่องราวกระทบตัวระหว่างวัน ไม่มีทางหาได้จากการนั่งใช้จินตนาการอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสือเลย

ด้วยนิสัยนึกได้แล้วค่อยจด คุณจะพบว่าตัวเอง ‘อยู่กับงานเขียนทั้งวัน’ ได้โดยไม่ต้องเหนื่อยเฟ้นหาคำจากสมองที่ว่างกลวง เพราะชีวิตประจำวันนั่นเอง จะเป็นที่มา เป็นตัวบันดาลคำที่คุณจะเขียน เมื่อมานั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือก็แค่เรียบเรียงให้เกิดเนื้อหาเริ่มต้น ดำเนินไป และจบลงอย่างเรียบร้อย สอดคล้องกับไอเดียระหว่างวันเท่านั้น

สมัยก่อนสมุดโน้ตเล่มเล็กกับปากกาหนึ่งด้ามจึงเป็นอุปกรณ์หากินสำคัญที่สุดสำหรับนักเขียน หากไม่พกติดตัวไปไหนมาไหนอาจเป็นความผิดขั้นอุกฤษฏ์ และจะสำนึกได้ต่อเมื่อการออกนอกบ้านครั้งหนึ่งๆเกิดไอเดียเด็ดแล้วไม่สามารถทรงจำไว้ หรือจำได้ไม่ครบถ้วน

สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องขยันพกสมุดกับปากกาให้รุงรัง เพราะโทรศัพท์มือถือกลายเป็นอะไรที่รวมเอาทุกอุปกรณ์สำคัญไว้ในหนึ่งเดียว ถ้าคุณมีโทรศัพท์ชนิดบันทึกเสียงได้ ก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์เต็มที่เถอะครับ เมื่อใดก็ตามที่ประโยคคำพูดดีๆผ่านแวบขึ้นมาในหัว อาจจะขณะว่าง หรือขณะกระทบเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแรงๆ จงบันทึกมันลงไป หาวิธีอธิบาย หรือหัดเลือกคำให้เหมาะเจาะที่สุด ฟังแล้วเข้าใจทันที ตีกรอบไว้ด้วยว่าต้องสั้น ถ้าให้ดีที่สุดคือจบความในประโยคเดียว หรือให้ยาวที่สุดอย่าเกิน ๓ ประโยค

เยี่ยมกว่านั้นคืออาศัยลูกขยัน พอบันทึกเสร็จก็คิดซ้ำ ว่ามีมุมมองไหนอธิบายเรื่องเดียวกันให้น่าสนใจมากขึ้นได้ไหม อย่าตำหนิตัวเองถ้าคุณมีความไม่พอใจในงานของตัวเองสูงมาก กลับไปอ่านแล้วไม่เคยรู้สึกพอใจ จะต้องเห็นจุดบกพร่องที่ต้องแก้เสมอ เพราะไม่ว่าจะเขียนได้ดีเพียงใด คุณจะพบว่าตัวเองในอีกเวลาหนึ่งมักสามารถเขียนได้ดีกว่าเดิมเกือบทุกครั้ง


ในแง่ของกรรมวิบาก เมื่อฝึกหาคำอธิบายให้เข้าใจง่ายมากเข้า กระทั่งเกิดกระแสความปรารถนาอันแท้จริงที่จะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจของคุณเป็นวิทยาทานกับคนอื่น จิตจะเกิดความฉลาดทางภาษาขึ้นมาเอง และยิ่งวิทยาทานทำให้จิตคุณนุ่มนวลควรแก่งานมากขึ้นเท่าไร คุณก็จะยิ่งเกิดความละเอียดอ่อนและสามารถขีดเขียนได้สละสลวยมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น