วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กรรมใดทำให้พระราชามีความชอบธรรมในการมีชายามาก (ดังตฤณ)

ถาม : อยากทราบด้วยว่ามีเหตุผลกลใดในหลักกรรมวิบาก ที่ทำให้พระราชาทั้งหลายมีความชอบธรรมในการครองมเหสีหลายองค์พร้อมนางสนมเป็นสิบเป็นร้อย ทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้องตามธรรมชาติกรรมวิบาก หรือว่าเป็นเพียงความลำเอียงของมนุษย์ด้วยกัน ที่ยกอภิสิทธิ์พิเศษให้พระราชา?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘


ดังตฤณ: 
เพื่อให้ยอมรับได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นลองมองสิ่งที่เห็นด้วยตาเปล่าได้นะครับ คุณรู้ว่าโลกนี้มีคนบางคนทำงานมากกว่าใครอื่น แบกภาระมากกว่าใครอื่น เสียสละเพื่อส่วนรวมมากกว่าใครอื่น และหากคุณปลาบปลื้มในน้ำใจกรุณามหาศาลของเขาเป็นล้นพ้น คุณย่อมไม่สงสัย ไม่รู้สึกคัดค้าน หากบอกว่าหลังจากตายจากโลกนี้ไปแล้ว สิ่งที่เขาจะได้รับเป็นผลตอบแทนคือนางฟ้าสักหมื่นองค์

หากศรัทธากรรมวิบากจริง คุณต้องมองด้วยใจเป็นกลาง ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย

คำถามที่อาจมีตามมาก็คือถ้าทำดีเกินธรรมดา แล้วจะได้ ‘อะไร’ ที่ดีเกินธรรมดา คำตอบคือได้ในสิ่งที่มนุษย์ชอบใจ และมีคุณสมบัติเลอเลิศ ตลอดจนมีจำนวนมากกว่าผู้อื่น

ถามอีกว่าเมื่อใดควรจะได้รับรางวัล คำตอบคือถ้าไม่เหมาะจะได้รับในชาติปัจจุบัน ก็ควรเหมารวบยอดทีเดียวในชาติถัดๆไป อาจจะเพื่ออยู่ในฐานะอันไม่เป็นที่ครหาแล้ว ทุกคนพร้อมใจกันยอมรับแล้ว

อย่างเช่นฐานะของพระราชาในเกือบทุกท้องถิ่น เกือบทุกยุคทุกสมัย ประชาชนทั่วไปพร้อมใจกันรู้สึกว่าเหล่าพระองค์น่าจะมีบาทบริจาริกามากกว่าหนึ่ง และบาทบริจาริกาแต่ละนาง สมควรจะเลอเลิศเกินภรรยาของชายทั้งแผ่นดิน

ผู้หญิงที่เหมาะจะเป็นบาทบริจาริกาเหล่านั้นมาจากไหน ก็มาจากเหล่ามหาชนที่พระราชาเคยช่วยเหลือเกื้อกูลไว้ในอดีตนั่นเอง ส่วนจะอยู่ในฐานะมเหสีหรือนางสนม ก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เหมาะสมของพวกนางเอง

หากเคยร่วมเรียงเคียงหมอนกันมา เคยประกอบบุญด้วยใจยินดีร่วมกัน มีใจเสมอกันในศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา มีโอกาสตอบแทนคุณ ผลัดกันเกื้อกูล ตลอดจนมีใจไปในทางเดียวกัน อธิษฐานให้ได้เป็นคู่กัน เมื่อสบจังหวะได้เสวยภพมนุษย์ที่เป็นไทในตนเองร่วมกัน หญิงนั้นจะเป็นมเหสี เพราะเป็นที่เสน่หาปานดวงหทัยของพระราชา (ตำแหน่งมเหสีเป็นที่เชิดหน้าชูตา ได้นั่งเคียงราชา หรือเป็นรองก็เพียงราชา อาจเป็นธิดาเจ้าเมืองอื่นซึ่งมีศักดิ์เสมอกัน หรืออาจเป็นหญิงมีสกุลธรรมดาที่ถูกยกขึ้นเทียบเกียรติภูมิราชวงศ์)

หากเคยได้รับความช่วยเหลือ มีใจกตัญญู มีความเคารพรักบริสุทธิ์ แต่ไม่เคยมีโอกาสร่วมประกอบบุญอย่างใกล้ชิด ไม่เสมอกันในศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ไม่มีโอกาสตอบแทนคุณอย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่มีใจปรารถนาติดสอยห้อยตามไปรับใช้ในปรโลก เมื่อสบจังหวะต้องเสวยภพบริวาร หญิงนั้นจะเป็นสนมเอก เพราะเป็นที่โปรดปรานยิ่งของพระราชา (ตำแหน่งสนมเอกเกิดจากการพระราชทานเครื่องยศ อาศัยความพอพระทัยเป็นสำคัญ)

หากเคยได้รับความช่วยเหลือ ไม่เคยได้ร่วมประกอบบุญด้วยกัน อ่อนด้วยศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา คิดเอาแต่ได้ไม่หาโอกาสตอบแทนคุณแม้แต่น้อย เมื่อสบจังหวะต้องเสวยภพบริวาร หญิงนั้นจะเป็นสนมสามัญ ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระราชา (ตำแหน่งสนมไม่จำเป็นต้องเกิดจากการคัดเลือกของพระราชาเสมอไป สุลต่านหลายองค์ที่มีสนมเป็นร้อยเป็นพันนั้น อาจไม่เคยแม้แต่มองหน้าพระสนมบางนางชัดๆสักครั้งเดียว)

สำหรับมเหสีและสนมเอกนั้น เกือบร้อยทั้งร้อยต้องเคยมีความผูกกายหรือผูกใจกับพระราชามาก่อน แต่สำหรับสนมสามัญ อาจเป็นหญิงทั่วไปที่เคยทำทานรักษาศีลพอจะเข้ามาอยู่ในวัง ทว่าเป็นผู้อ่อนในบารมีด้านกตัญญูกตเวที จึงอยู่ในฐานะผู้รับใช้มากกว่าผู้ใกล้ชิด

และกรณีของพระราชาที่มีบุญยิ่งใหญ่จริงๆ สมบูรณ์ด้วยพระราชอำนาจและรูปโฉมผิดสามัญบุรุษ ก็มักมีคู่บุญที่รูปโฉมเกินสตรีธรรมดาเช่นกัน อันนี้ต้องคำนึงด้วย ว่าเมื่อหญิงใดใจบุญเสมอผู้สมควรเป็นหมายเลขหนึ่งของแผ่นดิน ผลย่อมได้เกิดเป็นหญิงผู้เลิศเหนือนางใดในแผ่นดินไปด้วย

แม้เป็นพระราชา และแม้มีบาทบริจาริกามหาศาล ก็ใช่จะเป็นเครื่องประกันความสุขเสมอไป ประวัติศาสตร์บอกไว้ ในอดีตมีพระราชาจำนวนมาก ได้รับความเดือดร้อนพระทัยจากบรรดามเหสีและสนมนางในด้วยเรื่องราวโลกๆ ไม่ค่อยจะแตกต่างจากความเร่าร้อนของปุถุชนผู้มีเมียมากสักเท่าใด กรรมอันเป็นเครื่องกำหนดให้พระราชาอยู่สุขตามอัตภาพกับบรรดาบาทบริจาริกา ก็คือการที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลทางธรรม ทำให้ศรัทธากรรมวิบาก ทำให้รู้ทางไปดี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น