ถาม : ทำอย่างไรจึงจะเลิกโกรธได้เสียทีคะ? อยากเป็นคนดี
อยากมีใจใสๆ รำคาญตัวเองในข้อที่ว่าด้วยความโกรธเป็นที่สุด เหมือนเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจไปจนตายจริงๆ
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๘
ดังตฤณ:
คนดีใช่ว่าไม่มีโกรธ แต่โกรธแล้วรู้ว่าโกรธ โกรธแล้วไม่หลงตามโกรธ นั่นแหละเรียกว่าดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับผู้ยังเป็นปุถุชน
ที่จิตจะสิ้นความมัวหมองจากความโกรธ
ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่านรำคาญใจได้นั้น ต้องข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยะ
ปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐาน กระทั่งถึงขั้นที่จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง
อยู่เหนือความกระทบกระทั่งทางใจเป็นปกติ เรียกว่า ‘พระอนาคามี’ ครับ สูงกว่านั้นอีกขั้นคือ ‘พระอรหันต์’ ยิ่งสบายใหญ่ นอกนั้นหมดสิทธิ์ แม้พระโสดาบันกับพระสกทาคามีซึ่งเป็นอริยเจ้าชั้นต้นก็ยังโกรธได้
โมโหได้อยู่
สำหรับผู้ที่รู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชน
จู่ๆให้เลิกหงุดหงิด เลิกโกรธขึ้งเป็นอันลืมได้ แต่มีวิธีลดระดับความโกรธให้เบาบางตามลำดับ
เรียงจากง่ายไปหายาก ดังนี้
๑) ไม่ลงมือทำอะไรตามแรงขับดันของโทสะ
เช่น ไม่ขว้างสมบัติให้แตกกระจาย ไม่ปล่อยหมัดเข้ากระแทกโหนกแก้มคู่กรณี
แม้อยากทำใจจะขาด เป็นต้น หากตั้งใจกันจริงๆ
คุณจะพบว่าความเคลื่อนไหวทางกายนั้นเชื่องช้านัก
กว่ากายจะขยับไปทำอะไรได้สักอย่างต้องกินเวลา ต้องใช้กระบวนท่างอๆเหยียดๆมากมาย
สู้จิตไม่ได้ แค่ตั้งใจ ‘หยุด’ ภายในเสี้ยววินาทีเดียว
ทุกกระบวนท่าทางกายจะชะงักลงหมด คุณจะพบว่าที่จริงแล้วธรรมชาติเปิดโอกาสให้ยับยั้งชั่งใจตั้งนาน
ก่อนที่กายจะประกอบกรรมอันเจืออยู่ด้วยโทสะได้สำเร็จ แต่คนเราไม่สังเกตกันเอง
และปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจกิเลสบันดาลจนจบกระบวนท่าเสียก่อน
สติถึงค่อยหวนทวนกลับคืนมา
ใครชอบลงส้นปึงปัง
ใครชอบขว้างปาข้าวของ ใครชอบถลึงตาขู่คู่กรณี ขอให้ลงตั้งสัตย์กับตนเองเถิด เลิกทำ
เลิกปล่อยกายไปตามใจ เพียงเท่านี้สักอาทิตย์เดียว
ก็จะพบว่าแม้ใจร้อนก็ไม่ร้อนเท่าเก่า ลดระดับลงจากน้ำเดือดเป็นน้ำอุ่นได้แล้ว
๒) ไม่เปิดปากพ่นพิษออกมาจากเชื้อโทสะ
ทั้งคำด่าทอ คำหยาบคาย หรือแม้คำเหน็บแนมกระทบกระเทียบเสียดแทงใจคู่กรณี
จงงดให้หมดสิ้น เช่น แม้ใจจะนึกถึงของลับ ก็ไม่ปล่อยของลับจากปาก
อย่างมากให้ของลับงอกออกมาจากหัว คุณรู้อยู่คนเดียวพอ เป็นต้น
หากเป็นคนปากจัด
ปากตลาด ปากคอเราะราน แล้วเปลี่ยนใจเก็บปากเก็บคำ หรือแม้จำเป็นต้องพูดขณะโกรธ
ก็คุมคำพูดให้ฟังดี เลือกคำด้วยเจตนาประนีประนอม เลิกคิดปราบศัตรูภายนอก
กลับลำหันมาปราบผีร้ายในปากตัวเอง เพียงเท่านี้สักสองสามวัน ก็จะพบว่าความคิดมาก
ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความหงุดหงิดที่เป็นเงาตามตัวคุณไปทุกหนทุกแห่ง
ก็แผ่วลงถนัด แม้ใจยังกวัดแกว่งก็ไม่กวัดแกว่งเท่าเก่า
ลดระดับลงจากพายุกรรโชกเป็นลมแรงธรรมดาได้แล้ว
๓) ไม่ปล่อยให้ใจหลงถลำคิดไปเรื่อยด้วยแรงขับดันของโทสะ
คือโกรธแล้วมีสติรู้ตัวว่าโกรธ เห็นความโกรธว่าเป็นธรรมชาติกดดันจิต และมองจากของจริงให้ทราบชัด
ว่าสภาวะที่กดดันจิตนั้นไม่คงที่ เดี๋ยวมีแรงอัดมาก เดี๋ยวมีแรงอัดน้อย
สั่งไม่ได้ว่าจงลดระดับความกดดันลงเดี๋ยวนี้
หรือแม้กระทั่งอยากหน่วงเหนี่ยวให้มีความกดดันหนักๆอย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้อีกเช่นกัน
เมื่อตระหนักว่าความโกรธต้องมีขึ้นมีลง
และเห็นอย่างนี้สักร้อยครั้งพันหน ไม่ใช่แค่ป๊อบแป๊บสองสามหน
ในระยะยาวคุณจะพลิกสถานการณ์ ยิ่งเคยร้อนเท่าไร
พอฝึกสติจนเห็นความโกรธเป็นของไม่เที่ยงได้ จิตก็จะเย็นเป็นตรงข้ามเท่านั้น
คุณจะเกิดปัญญารู้เห็นแจ่มแจ้ง
ว่าแม้ความโกรธก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึด ไม่น่าหลงตาม ที่ตรงนั้นคุณจะสูญเสียความเชื่อว่าต้องโกรธจึงจะเหมาะ
สูญเสียความยึดมั่นถือมั่นว่าต้องตอบสนองด้วยอาการเร่าร้อน
แล้วได้นิสัยใหม่ในทางตรงข้ามมาแทน ใจเปิดกว้างมองเห็นมุมมองใหม่
คือเชื่อว่าต้องอภัยจึงเหมาะ ต้องปล่อยวางความคิดเอาคืนจึงควร ฝึกสติถึงจุดหนึ่ง
จะพบว่าปัญญารู้แจ้งปล่อยวางความโกรธไม่ใช่แค่การคิดๆเอา
แต่เป็นสภาพของจิตเองที่ตีตัวออกห่างจากความโกรธตั้งแต่ในมุ้ง
สรุปง่ายๆว่าถ้าโกรธแล้วมีสติเท่าทันได้ตามลำดับ
ก็เข้าขั้นสร้างเชื่อสายอริยเจ้าไว้ในตนทีเดียวนะครับ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้เกิดความโกรธแบบสูญเปล่า
ใช้ประโยชน์จากความโกรธให้เต็มที่ ตามนัยวิธีที่แสดงไว้ข้างต้นนั่นแหละ
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิตที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น