วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จะทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอรหันต์ (ดังตฤณ)

ถาม : จะทราบหรือแน่ใจได้อย่างไรว่าใครเป็นพระอรหันต์ครับ?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๙

ดังตฤณ: 
พระอรหันต์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์เพราะเลิกทำกิริยาวาจาเหมือนคนปกติ จึงเป็นไปได้ที่คุณจะรู้สึกว่าพระอรหันต์ท่านก็เป็นแค่คนปกติคนหนึ่ง

พระอรหันต์ท่านไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่ จึงเป็นไปได้ที่คุณจะรู้สึกว่าพระอรหันต์ท่านช่างอ่อนน้อมถ่อมตน ราวกับไม่มีคุณวิเศษใดๆอยู่ในตัว

พระอรหันต์ท่านชอบเก็บเนื้อเก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร นิยมแต่ความวิเวกและวิมุตติรสแห่งนิพพานอันหาง่ายในวัดหรือป่า จึงเป็นไปได้ที่คุณจะไม่เคยเห็นท่าน หากไม่ไปถึงที่อยู่ของท่านคือวัดหรือป่า เพราะฉะนั้นสบายใจได้ครับ ถ้าคุณเดินไปตามสี่แยกไฟแดง อย่ากังวลว่าจะต้องพลาดพลั้งกระทบไหล่พระอรหันต์ให้เกิดบาปเกิดกรรม พวกท่านไม่ปรากฏให้เห็นง่ายขนาดนั้น

แต่ถ้าหมั่นเข้าวัด ชอบตระเวนไปทำบุญแบบไม่เลือกวัด อันนั้นมีสิทธิ์ครับ เป็นไปได้ที่วันหนึ่งคุณอาจปะเหมาะเคราะห์ดี ได้พบพระอรหันต์ที่ยังมีลมหายใจอยู่ในโลก เพราะวัดและป่าคือบ้านของพระอรหันต์

อย่างไรก็ตาม ในสมัยพุทธกาลมีประวัติมาแล้ว ว่าพระอรหันต์ชื่อปิลินทวัจฉะท่านติดปาก ชอบเรียกใครต่อใครหยาบๆคายๆ ร้อนถึงพระกรรณของพระพุทธองค์ เมื่อชาวบ้านมาฟ้องว่าพระรูปนี้พูดจาไม่สำรวม ไม่เหมาะแก่สมณรูป พระพุทธเจ้าท่านก็ต้องประกาศว่าพระรูปดังกล่าวหมดจดจากกิเลสแล้ว แต่ยังละความเคยชินทางวาจาไม่ได้ ท่านก็พูดแบบเดิมๆด้วยอำนาจความเคยชิน โดยไม่มีจิตประทุษร้ายเยี่ยงผู้ยังมีโทสะเจืออยู่แต่ประการใด

สรุปว่าถ้าคุณเจอพระอรหันต์ คุณอาจเข้าใจผิดว่าท่านไม่ใช่ เช่นเดียวกับที่ครั้งพุทธกาลเคยมีชาวเมืองเข้าใจผิดพระอรหันต์มาแล้ว

ถ้าเช่นนั้นคนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์อย่างเราๆท่านๆ จะดูพระอรหันต์ด้วยตาเปล่าได้อย่างไร? อันนี้พอมีหลักอยู่บ้าง ถ้าดูด้วยตาเปล่า เราไม่มีทางรู้แน่ๆว่าใครเป็นพระอรหันต์ แต่เรารู้ได้แน่ๆว่าใคร ‘ไม่ใช่’ พระอรหันต์

หลักดังกล่าวเป็นที่เปิดเผยโดยพระอรหันต์ผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า นามว่า ‘อานนท์’ ท่านกล่าวไว้ในครั้งหนึ่ง ว่าภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ มีภาระอันปลงลงแล้ว ถึงประโยชน์สูงสุดสำหรับตนแล้ว สิ้นกิเลสอันเป็นตัวก่อภพแล้ว ภิกษุนั้นจะไม่มีประพฤติกรรมดังต่อไปนี้ คือ

๑) ไม่อาจแกล้งปลงชีวิตสัตว์

๒) ไม่อาจถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน

๓) ไม่อาจมีเพศสัมพันธ์

๔) ไม่อาจกล่าวเท็จทั้งรู้

๕) ไม่อาจเป็นผู้สั่งสมเครื่องบันเทิงเริงรมย์เหมือนเมื่อครั้งก่อนบวช

พฤติกรรมต้องห้ามสำหรับพระอรหันต์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าปรากฏในผู้ใด ก็นับว่าไม่ใช่พระอรหันต์เด็ดขาด เนื่องจากความเป็นอรหันต์นั้น เป็นแล้วเป็นเลย ไม่มีการกลับเสื่อมลงได้ ดังเช่นที่พระอานนท์กล่าวเปรียบไว้ ว่าเหมือนมือและเท้าของใครสักคนขาดไป เขาจะเดินอยู่ก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับแล้วก็ดี ตื่นอยู่ก็ดี มือและเท้าก็เป็นอันขาดอยู่เสมอ ไม่อาจกลับงอกขึ้นใหม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้เป็นอรหันต์แล้วย่อมไม่กลับมีกิเลสกำเริบขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในอาการใดๆจนชั่วชีวิต

ส่วนถ้าคุณจะ ‘รู้จริง’ ด้วยตนเองว่าใครเป็นพระอรหันต์ ก่อนอื่นคุณต้องเป็นพระอรหันต์ และไม่ใช่พระอรหันต์เปล่าๆ แต่ต้องรู้วาระจิตคนอื่นได้ด้วย เหมือนเช่นที่พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นอรหันต์เอกองค์หนึ่งของโลกเคยกล่าวไว้ว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อสามารถพยากรณ์อรหัตผลของตนเอง บอกได้จากจิตว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะเป็นผู้ทรงฌาน และเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดรู้จิตผู้อื่น

เมื่อใดใครกล่าวอ้างว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ตัวจริงท่านก็รู้แต่แรกว่าใช่หรือไม่ใช่ แต่แทนการด่วนกล่าวให้โกรธเคืองกัน ท่านก็จะเมตตาไล่เลียง ซักถามภิกษุนั้น ด้วยอุบายประการต่างๆ จนกว่าผู้เข้าใจผิดจะรู้สึกตัว ว่าความสำคัญตนผิดนั้นเป็นโทษ เป็นเหตุให้ไม่ปฏิบัติเพื่อความเจริญ กระทั่งถอนความเห็นผิดเสียได้เด็ดขาด จะได้พากเพียรเจริญสติให้ถูกทางกันต่อ

มักมีผู้สงสัยว่าพระอรหันต์ท่านสัมผัสว่าใครเป็นอรหันต์ด้วยกันแบบไหน อันนี้หากกล่าวเป็นขั้นๆ ตามสัมผัสอันเกิดจากกระแสจิตของปุถุชนและอริยบุคคล เรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง ก็คงพออนุมานได้ดังนี้

๑) ปุถุชนผู้มีราคะและโทสะกล้าแข็งขนาดยอมผิดศีลได้ ย่อมมองออกว่าใครมีราคะและโทสะกล้าแข็งขนาดยอมผิดศีลได้ กับทั้งเป็นพาลพอจะเหมาว่าคนทั้งโลกก็อาจผิดศีลได้เหมือนตนหากถูกเร้าใจมากพอ

๒) กัลยาณชนผู้มีความดีงาม ย่อมมองออกว่าใครมีความดีงาม แต่จะมองไม่ออกว่าใครบ้างที่ว่างจากความยึดมั่นว่ากายใจเป็นตัวตน

๓) อริยบุคคลชั้นโสดาบันผู้สามารถสัมผัสนิพพานเพราะว่างจากอาการยึดมั่นว่ากายใจเป็นตน ย่อมมองออกว่าใครว่างจากอาการยึดมั่นว่ากายใจเป็นตน แต่ยังไม่อาจรู้ได้ว่าใครบ้างมีราคะ โทสะ โมหะเบาบางลงแล้ว เพราะตนเองยังมีราคะ โทสะ และโมหะได้เท่าเดิม

๕) อริยบุคคลชั้นสกทาคามีผู้มีราคะ โทสะ และโมหะเบาบางลงแล้ว ย่อมมองออกว่าใครมีราคะ โทสะ โมหะเบาบางลงแล้ว แต่ยังไม่อาจรู้ได้ว่าใครบ้างที่สิ้นราคะและโทสะ

๖) อริยบุคคลชั้นอนาคามีผู้หมดความยินดีในกามคุณ และมีใจอันว่างจากการถูกกระทบกระทั่ง ย่อมมองออกว่าใครละกามคุณได้แล้ว และมีใจอันปลอดจากการกระทบกระทั่งแล้ว แต่ยังไม่อาจรู้ได้ว่าใครละความรู้สึกว่าเป็นตนได้เด็ดขาด

๗) อริยบุคคลชั้นอรหันต์ผู้ทรงฌาน มีความสามารถล่วงรู้วาระจิตคนอื่นได้แจ่มแจ้งแทงตลอด ย่อมรู้ได้ว่าจิตอันรู้ตื่นเบิกบานถาวรเช่นตนเป็นอย่างไร กับทั้งมองลงมาเห็นระดับจิตที่ต่ำกว่าตนได้ทะลุปรุโปร่ง แยกแยะถูกว่าใครเป็นปุถุชน เป็นกัลยาณชน หรือเป็นอริยบุคคลชั้นไหนๆ

พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นพระองค์ นี่ถือเป็นความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนา พระอรหันต์ท่านมีประสบการณ์ทางจิตอย่างไรไม่มีใครในระดับจิตต่ำกว่าท่านจะไปล่วงรู้ได้ เรารู้เพียงคำพูดว่าพวกท่านมีจิตที่พรากแล้วจากกายใจ ไม่ยึดแล้วว่ากายใจเป็นตัวตน จึงได้แต่อนุมาน ว่าพวกท่านมองตัวเองด้วยความรู้สึกประมาณเดียวกับที่คุณมองคนอื่น ถ้านี่เป็นมุมมองที่แปลกประหลาดและยากจะจินตนาการ ก็แปลว่าเป็นเรื่องอจินไตย คือคุณ ‘ไม่ควรคิด’ ว่าเป็นอย่างไรเพียงด้วยการอาศัยประสบการณ์สามัญของตนเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น