ถาม : บางทีดูหนังบางเรื่องที่กล่าวถึงการบำเพ็ญตบะเพื่อเข้าถึงสวรรค์แล้วผมรู้สึกชื่นใจ
อบอุ่นใจ และเกิดแรงบันดาลใจใหญ่อย่างบอกไม่ถูก
ทั้งรู้ว่าเขาแต่งฉากสวรรค์ขึ้นมาหลอกๆก็เถอะ ในใจมีความเชื่ออยู่ในส่วนลึก
ว่าตัวเองเคยหวังสวรรค์ไว้ตั้งแต่ก่อนเกิด จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ล่ะ
อยากถามว่าตามหลักที่ถูกแล้ว การบำเพ็ญตบะบารมีหวังสวรรค์เขาทำกันอย่างไรครับ? ทั้งในหนัง
แล้วก็ผู้ใหญ่บางคนบอกผมว่าสวรรค์นั้นไม่ใช่จะเข้าถึงกันง่ายๆ
แค่ทำบุญที่วัดแล้วรักษาศีลยังมีกำลังไม่พอ
ต้องนั่งสมาธิและเจริญสติดีๆหลายๆปีด้วย
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๙
ดังตฤณ:
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า ‘การบำเพ็ญตบะ’ สักนิดหนึ่ง ตบะคือความเพียรเพื่อล้างผลาญกิเลสให้มอดไหม้หมดสิ้นไป และที่นิยมล้างผลาญกิเลสกัน ก็ด้วยถือเอาความจริงตามธรรมชาติของจิตประการหนึ่ง คือ ยิ่งกิเลสน้อยลงเท่าไร จิตก็ยิ่งสดใสผ่องแผ้วขึ้นเท่านั้น จิตที่สว่างสดใสด้วยอาการตีตัวออกห่างจากกิเลส เป็นจิตที่เหมาะกับการเข้าถึงดินแดนอันแสนสุข ส่วนจิตที่มืดมนหรือขุ่นมัวด้วยความจมปลักอยู่กับกองกิเลส เป็นจิตที่เหมาะกับดินแดนอันทุกข์ร้อน
กล่าวง่ายๆได้ว่า การบำเพ็ญตบะที่แท้จริงนั้น
จะตั้งใจทำอะไรหรืองดเว้นอะไรก็ได้ ขอเพียงให้สวนทางกับกิเลส ลดละกิเลสให้เบาบางลงก็แล้วกัน
ส่วนที่ระดับของกิเลสลดลงจนจิตควรคู่กับสวรรค์หรือยัง เอาไว้ค่อยว่ากันอีกที
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณติดหนังโป๊งอมแงม
กระทั่งรู้สึกตัวว่าสุขภาพเริ่มไม่ดี ไม่ค่อยมีแรงตื่นไปเรียน คุณพิจารณาเห็นโทษของการเสพติดชนิดนั้น
ว่าทั้งทำให้ตาแฉะ ทั้งทำให้อ่อนแอลง ตลอดจนทำให้มองผู้หญิงด้วยสายตาประสงค์ร้ายมากขึ้นทุกที
อย่างนี้แค่ตั้งใจว่าจะถอนตัวจากความหมกมุ่นทุกวัน งดเว้นสักสองวันต่อหนึ่งอาทิตย์
และหันไปเล่นกีฬา ไปอ่านหนังสือธรรมะ หรือไปสร้างประโยชน์เล็กๆน้อยๆให้กับครอบครัว
ก็จัดว่าเป็นการบำเพ็ญตบะ พัฒนาจิตวิญญาณให้สดใสขึ้นได้แล้วครับ
ความสดใสของจิต ก็คือความรู้สึกเบาโปร่งโล่งเป็นสุขมากขึ้นกว่าเดิม
มองโลกในทางอยากพัฒนาให้อะไรๆก้าวหน้ากว่าที่เคยนั่นเอง ฉะนั้นยิ่งเบายิ่งโปร่งโล่งเป็นสุข
และยิ่งอยากพัฒนาตัวเองมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นตัววัดความสำเร็จแห่งตบะบารมีในการงดกามได้มากขึ้นเท่านั้น
หากคุณต้องตายอย่างกะทันหันขณะที่จิตกำลังปลื้มเปรมกับความดี มีความสดใสพิเศษ แม้ด้วยบุญเพียงเล็กน้อยก็ส่งคุณขึ้นสวรรค์ได้
อย่างไรก็ตาม ความสดใสเป็นของไม่เที่ยง
แรกๆเมื่อหยุดดูหนังโป๊ได้สองวันตามความตั้งใจ ก็อาจยินดีในความสำเร็จ แต่พอทำได้เรื่อยๆ
ก็ชักชินไม่ต้องใช้ความพยายามฝืนใจเอาชนะกิเลส จึงไม่เห็นเป็นเรื่องน่าดีใจที่ทำได้อีกต่อไป
ความสดใสของจิตก็น้อยลง ถ้าคุณต้องการความสดใสพิเศษใหม่ ก็ต้องตั้งโจทย์ใหม่ เอาชนะกิเลสที่ยังไม่ชนะ
เป็นต้นว่าคิดรุกคืบหนักขึ้นขนาดลดปริมาณการดูเสพหนังโป๊ลงเหลืออาทิตย์ละวันเดียว
คือไม่จำเป็นต้องไปห้ามตัวเองขนาดงดเว้นจากกิจอันสุนทรทั้งปวง เพียงแต่ไม่ยึดเอาหนังโป๊เป็นที่พึ่งของสายตาตามสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง
ถ้าไม่ได้ดูแล้วรู้สึกเหมือนจะลงแดงแต่อดกลั้นสำเร็จ
คุณจะได้ความภาคภูมิใจและเกิดความหนักแน่นเชื่อมั่นในสัจจะของตนเอง เป็นตัวของตัวเอง
ควบคุมตนเองได้ ทั้งที่ยังไม่ได้นั่งสมาธิหรือทำคุณงามความดีใหญ่โตอะไรเลย เมื่อทำตามข้อตกลงกับตนเองได้สองสามครั้ง
คุณจะฮึกเหิมพอจะทำขั้นต่อไปได้เรื่อยๆ และเห็นผลดีทางใจยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
หากเริ่มเห็นตัวเองเป็นนักบำเพ็ญตบะ
คุณจะพบความจริงหลายประการเช่น
๑) การบำเพ็ญตบะคือการสู้กับกิเลสในตนเอง
ทว่ากิเลสของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการตั้งเป้าแบบเดียวกัน สำหรับคนหนึ่งอาจเป็นการบำเพ็ญตบะ
แต่กับอีกคนอาจไม่ใช่ อย่างเช่นถ้าคุณไม่ได้ติดหนังโป๊ ดูก็ได้ไม่ดูก็ได้ อย่างนี้ถ้าตั้งใจไม่ดูเลยตลอดปีหรือตลอดไป
ก็ไม่ต้องกัดฟันอดกลั้นไม่ต้องสละกิเลสที่มีอยู่ ตบะบารมีย่อมไม่เกิด หรือเกิดน้อยเมื่อเทียบกับพวกเสพติดหนังโป๊ที่เขาตั้งใจงดดู
๒)
พลังงานที่ทุ่มเทลงไป ตลอดจนระยะเวลา และความยากเย็นของการบำเพ็ญตบะนั้น ยิ่งมาก
ยิ่งยาว ยิ่งเข้มข้นขึ้นเท่าไร บารมีก็ยิ่งมากปรากฏชัดขึ้นเท่านั้น โดยรางวัลทันตาจะมาในรูปของความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง
ว่าสามารถทำอะไรดีๆให้เกิดขึ้นได้ตามปรารถนา
คุณจะรู้สึกว่าการหวังสูงไม่ใช่เรื่องเกินตัวอีกต่อไป ยิ่งมีชีวิตนานไป
ความรู้สึกเกี่ยวกับสวรรค์ก็จะยิ่งเป็นของเอื้อมถึงได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
๓)
ธรรมชาติของการบำเพ็ญตบะ ต้องการความก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยการตั้งเป้ากำจัดกิเลสข้อใหม่ที่ยังพิชิตไม่ได้
มิฉะนั้น ความสดใสพิเศษจะจืดจางแปรเป็นความเคยชินไปแทน คุณจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ในสวรรค์ชั้นสูงขึ้นตามจิตที่ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ
และการยกระดับแต่ละครั้งอาจหมายถึงการเอาชนะกิเลสได้ตามความตั้งใจ
๔)
คุณภาพของตบะบารมีขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่เกิดขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณพิจารณาว่าตนเองปากพล่อย
พูดจาไม่เข้าหูคน เพียงไม่กี่คำอาจเผาเมืองได้วอด แล้วคิดว่าถ้าแกล้งทำเป็นใบ้เสียคงดี
จะได้ไม่มีใครต้องเดือดร้อนรำคาญอีก อย่างนี้ก็ถือว่าบำเพ็ญประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่ก็ก่อผลกระทบข้างเคียงขึ้นมากมาย
เช่น ทำให้คนอื่นโมโหเมื่อจะเอาคำตอบแล้วไม่ได้คำตอบจากคุณ ตบะอย่างนี้สู้ตั้งใจพูดให้ดีขึ้นกว่าเดิมไม่ได้
ทั้งในแง่การเลือกคำ ในแง่การพยายามใช้น้ำเสียงสุภาพ ทั้งในแง่การพูดประสานประโยชน์
หากทำได้นอกจากสังคมจะได้ฟังเรื่องดีๆกันมากขึ้นแล้ว ตัวคุณเองยังได้ชื่อว่า ‘บำเพ็ญตบะเปลี่ยนปาก’
ของตนได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นเรื่องยากเย็นท้าทายความสามารถกันมิใช่น้อย
๕)
การบำเพ็ญบางอย่างอาจพ่วงผลกระทบข้างเคียงไม่ดีมาด้วย โดยเฉพาะถ้าตั้งใจทำเรื่องผิดมนุษย์มนาได้นานๆ
เช่น คิดจะไม่พูดกับใครเลย หากทำได้สักปีก็อาจกลายเป็นคนดื้ออย่างไร้เหตุผล ทว่าก็สามารถดื้อได้อย่างมีอำนาจน่าเกรงขามด้วยพลังตบะที่บำเพ็ญมาตลอดปีนั่นเอง
การเลือกบำเพ็ญตบะจึงต้องดูด้วยว่ามีเหตุผล มีความสมควรแก่การใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นแค่ไหน
๖) การถูกบังคับให้กลัว
ต้องอยู่ในวินัยไม่ได้มีความเต็มใจรักษาวินัยด้วยตนเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมิได้เพียรกระทำไปด้วยเจตนาเผากิเลส
จะไม่ถือว่าเป็นการบำเพ็ญตบะ ยกตัวอย่างเช่น คนคุกไม่กล้าซ่าอย่างที่เคยซ่า หาใช่เพราะเห็นโทษของความเกกมะเหรกเกเรของตน
ทว่าเป็นเพราะเกรงจะโดนผู้คุมรุมเอากระบองฟาด แต่หากสมัครใจเข้ามาอยู่ในวินัยตั้งแต่ต้น
เพราะเล็งเห็นประโยชน์ของวินัยว่าเป็นเครื่องเผากิเลส เช่นพระตั้งใจรักษาวินัย ๒๒๗
ข้อ ก็ด้วยความเข้าใจว่านั่นเป็นปัจจัยให้หลุดพ้นจากกิเลสได้โดยสวัสดี อันนี้เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญตบะอันเยี่ยม
๗)
การบำเพ็ญตบะอันประกอบด้วยศรัทธาและความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า จะมีรัศมีเรืองรองสูงสุด
ทั้งนี้เนื่องจากหลักธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอนนั้น เป็นไปเพื่อระงับกิเลส ตลอดจนถอดถอนกิเลสได้ถึงที่สุดขณะยังมีชีวิต
ไม่ต้องตายเสียก่อน เช่นทำทานด้วยความเข้าใจว่าเป็นการสละลดละความตระหนี่ รักษาศีลด้วยความเข้าใจว่าเพื่อไม่ต้องร้อนกายร้อนใจตนเองและผู้อื่น
เมื่อทำทานรักษาศีลเป็นอาจิณ
ย่อมเกิดความเข้าใจขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะเห็นจากประสบการณ์ตรง ว่าการทำทานและการรักษาศีลนั้น
ต้องใช้ความอดทนสูง เพราะโลกมนุษย์เต็มไปด้วยบททดสอบยั่วยวนให้ตระหนี่และผิดศีล ดังนั้น
การใช้ชีวิตตามหลักของทานและศีล จึงจัดเป็นการต้านและการทวนกระแสกิเลสอย่างยิ่งใหญ่ประกันสวรรค์ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทิ้งท้ายอีกนิด ที่ผู้ใหญ่ของคุณท่านกล่าวไว้ก็มีส่วนถูก
คือ ถ้าทำสมาธิให้จิตใจหนักแน่น มีความเบิกบาน ก็ประกันสวรรค์ได้แข็งแรงขึ้น แต่สมาธิก็มีหลายแบบ
แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น ‘สัมมาสมาธิ’ หรือสมาธิอันชอบอันควรนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
เช่น ถ้าทำสมาธิด้วยวิธีระลึกถึงลมหายใจเสมอๆ ก็ควรมีความเข้าใจประกอบ ว่าลมหายใจไม่เที่ยง
เข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา สักแต่เป็นธาตุลมอันไม่ซ้ำไม่ใช่ของเรา
เมื่อระลึกถึงลมหายใจอย่างมีความเข้าใจจนกระทั่งจิตตั้งมั่น
ไม่รู้อะไรอื่นนอกจากเห็นลมหายใจเข้าออก ด้วยความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา
แม้วิเวกสุขอันเกิดขึ้นในขณะดำรงสมาธิก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของของเรา แม้สภาพจิตอันตั้งมั่นก็ไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้แหละเรียกว่าสัมมาสมาธิ เมื่อได้สมาธิแบบนี้บ่อยๆเข้า
ก็ถึงสุดยอดของสัมมาสมาธิ บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน นี่แหละประกันสวรรค์อย่างถาวรปิดประตูอบายได้สนิทแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น