ถาม : คุณดังตฤณเคยกล่าวไว้ในคอลัมน์เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว
ว่าขณะตายเป็นจังหวะที่มีโอกาสดียิ่งในการบรรลุมรรคผล
แม้ผู้บำเพ็ญเพียรวิปัสสนามาเพียงเล็กน้อยก็มีสิทธิ์เข้าถึงกันได้
อยากทราบว่าตรงนี้มีตัวอย่างยืนยันจากในคัมภีร์หรือไม่?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๙
ดังตฤณ:
ในคัมภีร์มีอยู่หลายแห่งครับ ขอยกเฉพาะธนัญชานิสูตร ซึ่งเป็นบันทึกเกี่ยวกับพราหมณ์ชื่อธนัญชานิมาเป็นแหล่งอ้างอิง เพราะเห็นว่าครอบคลุมประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการส่งคนตายไว้หลายข้อ ต้องเล่าเป็นการปูพื้น ว่าพระพุทธเจ้ามี ‘มือขวา’ ซึ่งเป็นเลิศทางปัญญาอยู่ท่านหนึ่ง นามว่า ‘สารีบุตร’ สำหรับพระสารีบุตรนี้ว่ากันว่าท่านฉลาดจำแนกธรรมอย่างที่สุด จะเป็นรองก็แต่พระพุทธเจ้า ช่วยให้คนสำเร็จฌาน สำเร็จมรรคผลมานักต่อนัก เพียงด้วยลีลาเทศนาธรรมอันกระจ่างชัดเฉียบแหลม
ผลงานชิ้นหนึ่งของพระสารีบุตรคือกลับใจคนเห็นผิดอย่างธนัญชานิให้กลายเป็นคนเห็นถูกเห็นชอบ
คือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ไม่ประกอบด้วยความเข้าใจอันถูกต้อง
เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยความเข้าใจอันถูกต้องได้
เมื่อยอมรับเป็นครูเป็นศิษย์กันเรียบร้อย
ในกาลต่อมาธนัญชานิล้มป่วยลงและเห็นท่าว่าตนจะไปไม่รอดแน่
จึงส่งคนไปนิมนต์พระสารีบุตรผู้เป็นพระอาจารย์มาดูใจตน
ซึ่งการนี้พระพุทธเจ้าก็ทรงรับทราบ
เนื่องจากธนัญชานิสั่งคนให้ทูลแจ้งข่าวอาการตรีทูตของตนแก่พระองค์ด้วย
พอพระสารีบุตรรับนิมนต์
เดินเท้าไปถึงบ้านคนป่วย ก็ไถ่ถามถึงอาการของธนัญชานิ ว่ายังพอทนไหวไหม
เจ็บปวดเป็นทุกข์มากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนอย่างไร
ธนัญชานิได้ยินพระอาจารย์ถามเช่นนั้นก็ตอบแบบหมดอาลัยตายอยาก
ว่าคงทนอีกได้ไม่นานแล้วขอรับพระคุณเจ้า น่าจะทำกาละเร็วๆนี้เอง
เพราะความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมีแต่จะทวีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกที
ไม่เห็นวี่แววว่าจะลดระดับลงเลย ราวกับใครเอาเหล็กแหลมคมมาจี้หัว มีลมเสียดแทงหัว
นอกจากนั้นที่ท้องยังเหมือนโดนคนเอามีดเชือด มีลมเสียดแทงท้อง
เนื้อตัวร้อนราวกับกำลังโดนย่างในหลุมถ่านเพลิงก็ไม่ปาน
พระสารีบุตรเห็นธนัญชานิร่อแร่ต้องไปแน่เช่นนั้น
ก็ไม่เห็นว่ามีอะไรดีไปกว่าการชวนธนัญชานิพูดคุยเรื่องภพภูมิ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นตาม โดยเริ่มจากการถามว่า
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างนรกภูมิกับเดรัจฉานภูมิ อย่างไหนดีกว่ากัน
ซึ่งตามความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องแล้วของธนัญชานิ
ก็ทำให้เขาสามารถตอบพระสารีบุตรได้ ว่าเดรัจฉานภูมิย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน
(เพราะไม่ต้องทนเร่าร้อนด้วยไฟแผดเผาของขุมนรก)
จากนั้นก็ไล่ลำดับสูงขึ้นมา
ระหว่างเดรัจฉานภูมิกับเปรต อย่างไหนดีกว่ากัน ธนัญชานิก็ตอบว่าเปรตดีกว่า
(เพราะมีโอกาสสบายบ้างไม่จมอยู่กับอัตภาพคับแคบเหม็นเน่าตลอด)
เมื่อเทียบระหว่างเปรตกับมนุษย์ มนุษย์ดีกว่าเปรต
(เพราะสบายกว่าและบำเพ็ญบุญศึกษาธรรมได้) เมื่อเทียบระหว่างมนุษย์กับเทวดา
เทวดาดีกว่ามนุษย์ (เพราะสบายกว่าและเสพสุขอันเป็นทิพย์) และสุดท้ายระหว่างเทวดากับพรหม
ธนัญชานิก็ตอบได้อย่างถูกต้องว่าพรหมดีกว่าเทวดา
(เพราะอายุยืนและมีจิตผ่องแผ้วไม่เกลือกกลั้วอยู่ด้วยกามคุณ)
พระสารีบุตรเล็งเห็นว่าธนัญชานิยังมีความปรารถนาภพภูมิ
และธนัญชานิก็มาติดอยู่ที่ความเห็นว่าพรหมเป็นภพภูมิที่ดี ที่ประเสริฐ ที่น่าไป
พระสารีบุตรจึงแสดงหนทางที่จะดำเนินจิตเพื่อให้ได้เป็นสหายของเหล่าพระพรหม
คือแผ่เมตตาออกไปไม่มีประมาณ ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง แผ่ไปตลอดโลก
ทั่วทุกเหล่าสัตว์ไม่เลือกหน้า กระทั่งน้ำจิตไม่คิดร้าย ไม่ผูกเวรแล้ว
ไม่นึกถึงการเบียดเบียนใดๆแล้ว
จูงจิตธนัญชานิด้วยคำพูดอยู่พักหนึ่ง
กระทั่งธนัญชานิรู้ว่าจะกำหนดจิตอย่างไรให้เป็นฌานชั้นต้น พระสารีบุตรก็หลีกไป
จิตอันใกล้ดับของธนัญชานิก็สงบลง บรรลุถึงฌานที่เรียกว่าอัปปมัญญาสมาบัติ
จากนั้นจึงขาดใจตายด้วยความสุขอันยิ่งใหญ่ เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม
หมดความทุกข์ หมดความเจ็บปวดทางกาย ทิ้งซากศพไว้ในโลกนี้โดยปราศจากความใยดีเท่ากระผีกริ้น
พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ
ว่าธนัญชานิถึงกาลแตกดับจากความเป็นมนุษย์แล้ว แต่แทนที่จะได้ประโยชน์ชั้นสูง
กลับไปติดอยู่แค่พรหมโลกชั้นต่ำ เนื่องจากไปด้วยกำลังแห่งปฐมฌาน
ซึ่งยังไม่ประณีตละเอียดเหมือนพรหมชั้นสูงกว่านั้น
พระศาสดาปรารถนาจะให้กรณีนี้เป็นตัวอย่าง
เผื่อภิกษุใดมีโอกาสส่งคนตายอีก ท่านจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายให้มาประชุมพร้อมกัน
และเปิดเผยว่าธนัญชานิทำกาละแล้ว แต่ไปติดอยู่แค่พรหมภูมิชั้นต่ำ
ในเวลาต่อมาเมื่อพระสารีบุตรกลับมาเข้าเฝ้า
พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสถามเป็นเชิงสอบสวน ว่าสารีบุตร
ทำไมเธอจึงประดิษฐานธนัญชานิพราหมณ์ไว้แค่ที่พรหมโลกชั้นต่ำเล่า
ในเมื่อเธอยังสามารถส่งเขาขึ้นสูงได้ยิ่งกว่านั้น?
พระสารีบุตรทูลตอบพระพุทธองค์ด้วยความเคารพ
ว่าท่านมีความเห็นว่าพราหมณ์ทั้งหลายต่างก็น้อมใจไปในพรหมโลกด้วยกันทั้งสิ้น
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นท่านเลยแสดงหนทางอันถูกต้องไปสู่ความเป็นสหายแห่งพรหม
ฟังพระสารีบุตรทูลตอบเช่นนั้น
พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ว่าอะไร ยืนยันรับรองว่าธนัญชานิได้ไปถึงความเป็นพรหม
สมความตั้งใจของพระสารีบุตรแล้ว
จากเรื่องบันทึกเกี่ยวกับธนัญชานิพราหมณ์
ผมมีข้อสังเกตให้พิจารณาดังนี้
๑)
คนป่วยใกล้ตายมีทุกขเวทนาแสนสาหัส ไม่ได้เป็นเครื่องหมายว่าเขากำลังจะไปนรก หากจิตของเขากำหนดไว้ดี
มีกำลังใจระลึกถึงความดีได้ ก็ย่อมมีที่หมายอันดีได้
และการโน้มน้าวจิตใจคนใกล้ตาย ก็อาจตั้งต้นกันที่การสาธยายเรื่องภพภูมิต่างๆ ซึ่งตรงนั้นนะครับ
จิตคนใกล้ตายจะสำเหนียกรู้สึกถึงความจริงเกี่ยวกับภพภูมิต่างๆได้ชัดเจนกว่าเราๆท่านๆ
ที่ต่างก็สำคัญว่าคงยังอยู่กันอีกนาน ทั้งนี้เนื่องจากภาวะใกล้สิ้นสุดภพหนึ่ง
เป็นสัญญาณบอกด้วยตนเองอยู่แล้ว ว่าภพชาติมี
และกำลังจะสิ้นสุดจากภาวะหนึ่งไปสู่ภาวะหนึ่ง เพียงด้วยการชวนคุยเปรียบเทียบภพภูมิต่างๆ
ไล่จากต่ำขึ้นไปหาสูง มีผลใหญ่หลวงกับคนใกล้ตายเกินกว่าที่คุณจะนึกถึง
๒) ระหว่างมีชีวิต
หากทำทุนไว้อย่างเพียงพอ ก็มีสิทธิ์เลือกภพภูมิได้พอดีกับทุนนั้นๆ
ซึ่งก็เป็นไปตามความพอใจเป็นหลัก อย่างเคยมีพระราชาองค์หนึ่ง ระลึกได้ว่าท่านเคยเป็นเทวดาชั้นต้น
แม้เมื่อท่านทำบุญใหญ่ระดับอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
แถมได้เป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบันแล้ว
มีสิทธิ์เลือกไปเป็นเทวดาชั้นสูงสุดได้ท่านก็ไม่ไป จะเอาแค่เทวดาชั้นต้น
ด้วยความผูกพันเดิมๆ สำหรับธนัญชานิพราหมณ์ก็ทำนองเดียวกัน แม้เขานับถือพระสารีบุตรเป็นอาจารย์
ถึงขนาดนิมนต์ให้มาดูใจเป็นคนสุดท้ายแล้ว
ก็ยังไม่คลายจากความยินดีในวิสัยแห่งพรหมตามความเชื่อดั้งเดิมแบบพราหมณ์
ความเชื่อนั้นเองเป็นทุนให้น้อมจิตด้วยความเต็มใจยิ่ง ยินดีแต่การแผ่เมตตา
ปราศจากเวร ปราศจากความผูกพยาบาทกับใครๆในโลก ก็ขึ้นไปสู่ความเป็นพรหมได้ในที่สุด ตรงนี้แสดงว่าการถึงฌานเป็นไปได้ง่ายแก่คนใกล้ตาย
ทั้งที่อาจจะไม่เคยฝึกปรือหรือมีชั่วโมงบินมาก่อน
๓)
แม้ส่งคนไปพรหมโลกได้ ทางพุทธศาสนาก็ยังถือว่าไม่น่าพอใจ
เพราะแก่นอันเป็นที่สุดของพุทธศาสนาคือการหมดทุกข์หมดโศกอย่างสิ้นเชิง หลุดพ้นจากทุกภพภูมิเข้าสู่มหานิพพานอันเกินจินตนาการของใครๆ
และการจะเข้าถึงนิพพานได้นั้น ก็ต้องบรรลุมรรคผล คือจิตต้องมีปัญญา
รู้ชัดเฉพาะหน้ากายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
กับทั้งต้องมีสติและสมาธิอย่างเอกอุระดับฌานด้วย นั่นหมายความว่าก่อนตายถ้าปล่อยวางกายใจ
ปล่อยวางภพภูมิทั้งหลายเสียได้ด้วยจิตที่พร้อมจะเป็นฌานง่ายๆอยู่แล้ว
ก็บรรลุมรรคผลกันสดๆโดยไม่ลำบาก
มีเรื่องคนใกล้ตายเจริญสติจนเป็นพระอรหันต์ก่อนจิตดับอยู่ไม่น้อยครับ
ท่านไม่ทำอะไรมาก แค่ไม่คำนึงถึงความกระสับกระส่าย ไม่กลัวตาย
ตั้งสติกำหนดดูเฉพาะทุกข์ทางกาย ที่เดี๋ยวหนักบ้าง เดี๋ยวเบาบ้าง
พอรู้ชัดว่าความทุกข์ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาวะทางธรรมชาติที่แปรปรวน
เกิดได้ด้วยเหตุ ในที่สุดก็ต้องดับลงเป็นธรรมดา
จิตใกล้ตายก็ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ถึงที่สุด ไม่ห่วงไปข้างหลัง
ไม่หวังไปข้างหน้า นั่นแหละจึงยกระดับเป็นพระอรหันต์ขีณาสพผู้หมดกิเลสองค์หนึ่ง
พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสไว้ ว่าวิธีส่งคนตาย
ไม่มีอะไรดีไปกว่าทำให้เขาสบายใจ ปลดความหวง
ความห่วงใยใดๆในโลกที่กำลังจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยกจิตให้สูงถึงสวรรค์
และจูงจิตให้เห็นว่าแม้สวรรค์กับพรหมก็ไม่เที่ยง อยู่ที่นั่นแล้วเดี๋ยวก็ต้องจากไปที่อื่นอีก
ต่างจากการไม่ยึดความมีความเป็นใดๆเลย ซึ่งนั่นแหละ
หากความห่วงข้างหลังและความไม่หวังข้างหน้าแก่กล้าพอ
จิตก็เป็นอิสระถึงที่สุดได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น