ถาม : การพูดตามมารยาทที่ต้องโกหก เช่น ต้องการรักษาน้ำใจ เขาชวนมา
ใจเราไม่เอาด้วยแน่ๆ แต่ก็บอกว่าไว้คราวหน้าเถอะ หรือเขาถามว่าชุดใหม่สวยไหม
ถามอย่างภูมิใจทีเดียว เราเห็นแล้วนึกร้องยี้ตั้งแต่เข้าประตูมาแล้ว
แต่กลัวเขาเสียใจ เลยต้องอ้อมแอ้มตอบยิ้มๆว่าเข้าทีนี่
อย่างนี้ถือเป็นการผิดศีลข้อมุสาวาทหรือเปล่าคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๙
ดังตฤณ:
คำสำคัญในคำถามของคุณคือ ‘ต้องการรักษาน้ำใจ’ อันนั้นส่องถึงเจตนาไม่ให้เขาเสียใจ ไม่ใช่ว่าจงใจพูดคำเท็จทั้งรู้อยู่ว่าไม่จริง
ผมจะยกตัวอย่างเพื่อให้เปรียบเทียบง่ายขึ้น
สมมุติคุณรู้ดี ว่าเจ้านายชอบให้ชมชุดใหม่ คุณกำหนดไว้ในใจเลย เมื่อไรเห็นชุดใหม่
เมื่อนั้นรีบชมทันที โดยไม่ต้องสนใจว่าของจะสวยหรือไม่สวย
ด้วยความหวังว่าเจ้านายจะได้โปรด ขออะไรจะได้ให้
อันนี้เท่ากับคุณติดตั้งตัวโกหกถาวรไว้ในปากเรียบร้อย คุณพร้อมที่จะพูดไม่จริงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
ไม่ใช่พูดเพื่อรักษาประโยชน์ของคนอื่น
เรื่องการพูดตามมารยาท
หรือพูดเพื่อรักษาน้ำใจนั้น คุณไม่จำเป็นต้องพูดเท็จก็ได้ครับ เช่นแทนที่จะบอกว่า
‘ไว้คราวหน้า’ ก็อาจลดระดับการให้ความหวังลงมาเป็น ‘เอาไว้ให้พร้อมก่อนนะ’
หรือแทนที่จะอ้อมแอ้มว่า ‘สวยดี’ หรือ ‘เข้าทีนี่’
ก็เปลี่ยนเป็นการเล็งรายละเอียดจุดใดจุดหนึ่งที่คุณเห็นว่าดีจริงๆ แล้วชมแบบเจาะจง
เช่น ‘โห! สีตัดกันเตะตาขนาดนี้ไม่ค่อยเห็นที่ไหนเลยนะ’ การชมที่ไม่เกินจริง
มีความจริงอยู่ในคำ
จะทำให้คุณสร้างคำพูดตามมารยาทหรือรักษาน้ำใจได้มากมายโดยที่ปากกับใจยังตรงกันอยู่
คุณจะสบายใจว่าวาจาไม่เป็นเหตุให้จิตบิดเบี้ยว
เห็นความจริงผิดเพี้ยนไปแม้แต่นิดเดียวครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น