ถาม : บุญที่ทำให้เสียงดีมีอะไรบ้างคะ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖
ดังตฤณ:
มีวจีสุจริตเป็นสำคัญครับ วจีสุจริตคือเจตนาเลือกคำที่เป็นประโยชน์ไม่เป็นโทษต่อผู้อื่น หรือเจตนาบริสุทธิ์ที่จะทำให้ผู้ฟังสบายใจ แยกเป็นประเภทได้ ๔ คือ
1.
เว้นจากการพูดเท็จ
เลือกกล่าวแต่คำที่เป็นจริง
ตรงจริง ผลที่เห็นได้ทั้งปัจจุบันและอนาคตคือความหนักแน่นของน้ำเสียง
เพราะการเลือกที่จะพูดความจริงในสถานการณ์ที่น่าโกหกเอาตัวรอดนั้น ถือเป็นการ
‘เข้าข้าง’ สัจจะความจริง พลังแห่งสัจจะความจริงย่อมย้อนมาเข้าถึงตัว เข้าถึงใจ
และเข้าถึงน้ำเสียง หากเป็นผู้เว้นจากการพูดเท็จได้ตลอดชีวิต
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในการไม่โกหก
เงากรรมจะตามตัวไปปรุงแต่งแก้วเสียงให้หนักแน่นในชาติถัดไปด้วย
2.
เว้นจากการพูดส่อเสียด
เลือกกล่าวแต่คำที่ทำให้ผู้ฟังสบายใจ
คำที่ทำให้คนมองกันในทางดี คำที่ทำให้หมู่คณะเกิดความสมัครสมานสามัคคี
ผลที่เห็นได้ทั้งปัจจุบันและอนาคตคือความนุ่มนวลของน้ำเสียง
เพราะการเลือกที่จะพูดออมชอมเพื่อความปรองดองขณะอยู่ในสถานการณ์น่าพูดทิ่ม
แทงให้เกิดความแตกร้าวนั้น
จิตจะปรุงแต่งไปในทางราบรื่นเหมือนคนปรุงอาหารให้รสกลมกล่อม หากเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียดได้ตลอดชีวิต
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในการไม่นินทาว่าร้าย
ไม่เป็นผู้ก่อความเจ็บใจด้วยคำพูด
เงากรรมจะตามตัวไปปรุงแต่งแก้วเสียงให้นุ่มนวลในชาติถัดไปด้วย
3.
เว้นจากการพูดหยาบ
เลือกกล่าวแต่คำที่สุภาพ
ด้วยเจตนาจะทำให้ผู้ฟังรื่นหู ผลที่เห็นได้ทั้งปัจจุบันและอนาคตคือความไพเราะของน้ำเสียง
ยิ่งถ้าหากผูกประโยคให้ฟังสละสลวย รู้จักคำมาก ฉลาดเลือกคำให้ฟังดี
ไพเราะแบบไม่ขาดไม่เกิน ก็จะยิ่งปรุงแต่งให้แก้วเสียงเพราะพริ้งยิ่งๆขึ้น
หากเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดหยาบคายได้ตลอดชีวิต ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในการเป็นคนสุภาพ
ไม่เป็นผู้ก่อความระคายโสตด้วยวาจาอัปมงคล
เงากรรมจะตามตัวไปปรุงแต่งให้กังวานเสียงสดใสในชาติถัดไปด้วย
4.
เว้นจากการพูดพล่ามเพ้อเจ้อ
เลือกกล่าวแต่คำที่ก่อให้เกิดสติ
เมื่อคุณพูดอย่างมีสติ กระแสสติของคุณย่อมช่วยให้ผู้ฟังพลอยเกิดสติตามไปด้วย ยิ่งถ้าเป็นไปด้วยเจตนาให้สติแก่คนอื่นอยู่เนืองๆ
ผลอันเป็นสติก็ย่อมตกแก่คุณอย่างแจ่มชัด ความมีสติจะปรุงแต่งเสียงให้คมชัด
กล่าวถ้อยคำต่างๆได้ชัดเจนแม้จะเป็นภาษาที่ยากแก่การออกเสียง
หากเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดพล่ามเพ้อเจ้อได้ตลอดชีวิต ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งมั่นในการเป็นคนมีสติในการเจรจา
ไม่เป็นผู้ก่อความฟุ้งซ่านให้ตนเองและใครๆด้วยวาจาเลื่อนลอยหาสาระมิได้
เงากรรมจะตามตัวไปปรุงแต่งแก้วเสียงให้คมชัด
เป็นกังวานทรงพลังและมีความน่าเชื่อถือยิ่งในชาติถัดไปด้วย
นอกจากวจีสุจริตข้างต้นแล้ว
ยังมีกรรมทางวาจาอื่นๆที่เป็นปัจจัยแก่คุณภาพเสียง เช่น
1. ป่าวร้องชวนคนไปฟังธรรม
สมัยก่อนเมื่อถึงเวลาพระพุทธเจ้าแสดงธรรม
จะมีธรรมเนียมซึ่งกลุ่มคนประเภทหนึ่งชอบทำกัน นั่นคือร้องเรียกคนในบ้าน
หรือร้องเรียกญาติมิตรในบ้านใกล้เรือนเคียง ทำนอง ‘เจ้าข้าเอ๊ย!
พระพุทธเจ้าจะแสดงธรรมแล้ว พวกเราไปฟังกันเพื่อประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้ากันเถอะ’
การชักชวนด้วยวาจาด้วยเสียงคะยั้นคะยออันเจือด้วยความปรารถนาดีทำนองนี้
จะทำให้เป็นผู้มีแก้วเสียงที่ดังได้ตามปรารถนา คืออยากพูดให้ค่อยก็ได้
อยากพูดให้ดังไปทั้งคุ้งน้ำก็ได้
คน
พวกนี้พอเกิดใหม่มักมีเสียงเป็น เสน่ห์ดึงดูดความสนใจได้เฉียบพลัน
เรียกชื่อใครคนนั้นสะท้านไหวได้ถึงจิตถึงใจ
ถ้าอยากจับความสนใจของคนหมู่มากก็แค่กำหนดเปล่งเสียงให้กว้างไกล
หรืออยากคุมทิศทางผู้คนหมู่มากก็แค่ส่งพลังเสียงสะกดหน่อยเดียว
พวกนี้จึงง่ายต่อการเป็นผู้มีอัตตาสูงด้วยการใช้เสียง ภูมิใจในเสียง
หรืออาจถึงขั้นเชื่อมั่นในตนเองเกินเหตุ
และมักอยากให้ผู้คนในวงกว้างได้ยินเสียงอันทรงพลังเปี่ยมประกาศิตของตน
2. รักษาสัจจะยิ่งชีพ
ปากกับใจตรงกัน
พูดคำไหนเป็นคำนั้น ประกาศคำใดแล้วไม่ถอนคำเด็ดขาด จะเป็นเหตุให้มีเสียงประกาศิต
กับทั้งเกิดญาณหยั่งรู้ว่าคำใดกล่าวได้ คำใดกล่าวไม่ได้
เรื่องใดจะเกิดบางทีพูดออกมาได้เองตามความเหมาะสม
จึงเหมือนเป็นผู้ที่พูดแช่งหรืออวยพรใครแล้วปรากฏผลตามนั้นเสมอ
นอก
จากนั้นพวกที่รักษาสัตย์จนเกิด พลังภายใน
บางทีก็มีจริงนะครับที่สามารถใช้วาจาเป็นอาวุธได้ คล้ายนักกล้ามที่ฝึกยกน้ำหนักจนกล้ามเนื้อโตผิดผู้ผิดคน
ย่อมยกของที่คนทั่วไปยกไม่ไหว หรือออกแรงทำอะไรที่ไม่มีใครเชื่อว่ามนุษย์ทำได้
พอโกรธใครแล้วฟาดคำแช่งเปรี้ยงไปที่ใคร
คนนั้นอาจเคราะห์ร้ายตามคำแช่งหรือใกล้เคียงคำแช่งได้
ขึ้นอยู่กับว่าคนถูกแช่งมีบุญคุ้มอยู่แค่ไหน หากบุญน้อยกว่าก็แย่หน่อย
เหมือนนักเรียนประถมถูกรุ่นพี่มัธยมตบเบาะๆก็คว่ำคะมำ
หากบุญเสมอกันก็อาจไม่เกิดอะไรขึ้น เหมือนคนแรงเท่ากันงัดข้อก็กินกันลงยาก
แต่หากบุญมากกว่า คนแช่งนั่นแหละจะซวยเป็นทวีคูณ
เหมือนนักมวยผอมแห้งแรงน้อยหาญกล้าไปชกกับนักมวยปล้ำร่างยักษ์
อย่างไรก็ต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง
ด้วยนะครับ ผู้แช่งย่อมได้ชื่อว่ากล่าววาจาอันประกอบด้วยโทสะ
ผลของการมีโทสะรุนแรงเป็นอย่างไร ผู้แช่งย่อมได้รับผลเช่นนั้น
ไม่ว่าจะเป็นความเร่าร้อนภายในหรือความเดือดร้อนที่ภายนอก
และยิ่งจะเผ็ดร้อนรุนแรงกว่าคนทั่วไปที่ปราศจากวาจาสิทธิ์เป็นสิบเป็นร้อย เท่า
ส่วนผู้อวยพรย่อมได้ชื่อว่ากล่าววาจาอันประกอบด้วยเมตตา
ผลย่อมเป็นตรงข้ามคือเย็นทั้งนอกทั้งใน ไม่รู้จักความเดือดเนื้อร้อนใจได้ง่ายนัก
3.
สอนด้วยเสียง
เมื่อมีความรู้
มีความเข้าใจใดๆ แล้วเกิดความปรารถนาดี ใคร่อยากให้ผู้อื่นรู้ตาม
แล้วถ่ายทอดให้ผู้อื่นโดยไม่หวงแหน ฉลาดเลือกคำผูกประโยคให้ฟังง่าย เข้าใจเร็ว
จะมีผลให้น้ำเสียงฟังขลัง ฟังศักดิ์สิทธิ์
ระหว่าง
สอนทางโลกกับสอนทางธรรม สอนทางธรรมจะปรุงแต่งน้ำเสียงให้ฟังขลังกว่า
มีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่า แต่จะเห็นชัดในชาติถัดไป นับจากเมื่อรู้ความและพูดเป็น
คำพูดจะฟังน่าทึ่ง ชวนให้ผู้ใหญ่ฉงน
เมื่อเติบใหญ่ขึ้นจะมีคุณลักษณ์เกี่ยวกับเสียงดีพร้อมทุกแง่ทุกมุม
เป็นใหญ่เหนือวิบากที่มาจากวจีสุจริตทุกชนิด
เนื่องจากเสียงเป็นรูปธรรม
ชนิดหนึ่ง เพราะมีต้นแหล่งเช่นปากคอเป็นรูปธรรม
ฉะนั้นนอกจากเรื่องของกรรมวิบากแล้ว
ยังมีเรื่องของรูปธรรมด้วยกันเป็นเหตุปัจจัยสนับสนุนหรือส่งเสริมคุณภาพได้
เช่นดื่มน้ำอุ่น น้ำมะนาว น้ำมะขามป้อม และผลไม้รสเปรี้ยวทั้งหลาย
อ้อ! การฝึกพูดธรรมดาๆ ถ้าหากก่อให้เกิดสติ
รู้จักจังหวะจะโคน ฝึกกระดกลิ้นออกเสียงควบกล้ำชัดๆ
ตัวสติและความถูกต้องในการออกเสียงก็มีส่วนปรุงเสียงให้น่าฟังขึ้นได้เหมือน
กันนะครับ แม้สติไม่อาจปรุงแต่งแก้วเสียงให้ใสกิ๊กได้เท่าวิบากทางวจีสุจริต
แต่อย่างน้อยก็ทำให้ดีขึ้นแบบทันตาเห็นได้แล้ว
บุญที่ทำให้เสียงดี
________________
คลิกที่คำถามเพื่ออ่านต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น