ถาม : กรรมอะไรที่ทำให้ผมเป็นคนที่มีเสียงไม่เพราะ
เสียงอู้อี้อยู่ในลำคอ พูดจาไม่ชัด ทำให้สื่อสารกับคนไม่ค่อยรู้เรื่อง
ฟังแล้วไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งๆที่มีข้อมูลและความรู้ในเรื่องที่จะพูด
และมีวิธีอะไรที่จะทำให้เสียงเราดีขึ้นบ้างครับ?
>
จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖
ดังตฤณ:
ทั้งรูปปาก ลิ้น และแก้วเสียง อันเป็นส่วนประกอบของการเปล่งวาจานั้น เป็นวิบากที่เกิดจากวจีกรรมทั้งหมดทั้งสิ้นแหละครับ ยิ่งหากโดยรวมแล้วคุณมีปัจจัยที่ทำให้เสียงไม่เพราะ พูดไม่ชัด ก็สันนิษฐานได้โดยไม่ต้องใช้ญาณใดๆเลย คุณเคยเป็นผู้เคยประกอบวจีทุจริตไว้มากแน่นอน นี่ว่ากันตามเนื้อผ้านะครับ อย่าไปเสียใจกับตัวตนที่ลืมไปแล้วในอดีตชาติเลย มาดูและแจกแจงกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกันดีกว่า
วจีทุจริตมีอยู่ ๔
จำพวกใหญ่ๆ ซึ่งก็เป็นตรงข้ามกับวจีสุจริตที่ผมตอบคำถามข้างบนไป
หากประกอบวจีทุจริตเป็นประจำ
ภายในไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีจะเริ่มสำแดงผลในชาติปัจจุบัน และถ้าทำไปจนตาย
ก็จะให้ผลชัดเจนในชาติถัดมา (ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์หรืออะไรอื่น)
แจกแจงวิบากได้ดังนี้
๑) มักพูดเท็จ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าวิบากอย่างเบาคือเป็นผู้ถูกกล่าวตู่ ถูกใส่ไคล้
อันนี้อธิบายได้ว่าพลังสัจจะหรือพลังแห่งความจริงนั้นมีความยิ่งใหญ่
ถ้าคิดทำให้ความจริงบิดเบี้ยวด้วยคำพูด ความบิดเบี้ยวนั้นก็จะย้อนกลับมาลงโทษในหลากหลายรูปแบบ
นับเริ่มจากการโดนใส่ไคล้ให้ชีวิตเกิดความบิดเบี้ยว
เมื่อกล่าวถึงวิบากเกี่ยวกับเสียง
แม้เคยเสียงดีๆก็ต้องมีอันให้คุณภาพบิดเบี้ยวหรือด้อยลงจากของจริงเดิมๆ
ขอแจกแจงเป็นรายละเอียดดังนี้
หากโกหกแบบไม่เต็มใจและยังมีความละอาย
ผลในปัจจุบันคือจะเป็นคนพูดจาขาดน้ำหนัก ฟังไม่ค่อยน่าเลื่อมใส
เหมือนขาดความมั่นใจ เช่นพนักงานขายบางคนที่ต้องฝืนโกหกเป็นประจำ
ทั้งที่พื้นเดิมไม่ใช่พวกชอบบิดเบือนความจริง
หากปั้นน้ำเป็นตัวได้หน้าตาเฉย
ผลคือเสียงจะฟังเข้มหรือห้วนผิดปกติ พูดจริงคนก็นึกว่าหลอก
พูดด้วยความตั้งใจดีคนก็เข้าใจผิดนึกว่าคิดร้าย ไม่ได้ฝืนใจก็เหมือนฝืนใจ
อยากพูดปลอบคนเขาก็กลับนึกว่าแกล้งเยาะเย้ย
อยากพูดให้เขาดีกันคนก็นึกว่าเสแสร้งแกล้งยุแยงตะแคงรั่วแบบแยบยลเหนือเมฆ ฯลฯ
พวกโป้ปดมดเท็จได้หน้าตาเฉยนี้ได้ชื่อว่าทำกรรมหนักแน่นเป็นอาจิณถึงขั้นปั้นหน้าในชาติต่อไปให้ดูโกงๆได้แล้วด้วย
ถ้าเป็นดาราก็โดนเขาคัดตัวให้เป็นวายร้ายอย่างแน่นอน
๒) มักพูดส่อเสียด
พระพุทธเจ้าตรัสว่าวิบากอย่างเบาคือมักแตกคอกับเพื่อน
เมื่อกล่าวถึงวิบากเกี่ยวกับเสียง ก็จำแนกเป็นรายละเอียดได้ดังนี้
หากเห็นการนินทาลับหลังเป็นของสนุก
ก็จะทำให้น้ำเสียงฟังขาดเมตตาลงเรื่อยๆ ฟังแล้วไม่น่าชื่นใจ
แม้เดิมมีคุณภาพเสียงสดใสชวนรื่นหูก็ตาม
บางคนพูดด่าคนอื่นทุกวันจนน้ำเสียงที่เคยขลังขาดความขลังไปได้อย่างน่าเสียดาย
หากคนเขาอยู่ดีๆก็ไปยุแยงตะแคงรั่วให้เขาบาดหมางกัน
หรือชอบใช้คำพูดเป็นชนวนความแตกร้าวของหมู่คณะ จะทำให้เสียงฟังกร้าว
แม้ภายนอกดูดีก็เหมือนแฝงความเหี้ยมโหดไม่น่าปลอดภัยให้รู้สึกได้
หากชมชอบการทิ่มแทงคนฟังขณะกำลังโกรธ
จะทำให้เสียงดุร้ายเหมือนหาเรื่อง แม้พยายามพูดดีๆ
คนก็รู้สึกเหมือนจะตั้งท่าเป็นศัตรู ถ้าทิ่มแทงคนดีมีศีลสัตย์ให้ช้ำใจหรือเสียหายเป็นประจำ
ก็มีผลกับรูปปาก อาจบิดเบี้ยวน่าเกลียด ขยับปากพูดลำบาก
แม้รูปปากดีเสียงก็อาจฟังไม่ชัด บางคนเห็นผลหนักชนิดนี้ได้ในชาติปัจจุบันทีเดียว
ทางแพทย์อาจอธิบายสาเหตุเป็นต่างๆนานา แต่เจ้าตัวอาจสำนึกรู้สึกทีเดียวว่าตนพูดจาให้ร้ายแก่ผู้ทรงคุณเข้า
๓) มักพูดหยาบคาย
พระพุทธเจ้าตรัสว่าวิบากอย่างเบาคือสุ้มเสียงไม่น่าฟัง
เสียงไม่น่าฟังก็อย่างเช่นที่เราคุ้นๆกัน คือกร้าวกระด้าง แหบแห้ง
หรืออย่างน้อยที่สุดแม้ไม่เหมือนแย่ตรงไหน ก็แย่ตรงที่ฟังแล้วรู้สึกแย่นั่นเอง
หากพูดหยาบด้วยความเคยชิน
ไม่ได้คิดประทุษร้าย
จะทำให้หางเสียงเหมือนออกไปทางกร้าวทั้งที่อาจไม่ใช่คนก้าวร้าว
หากพูดหยาบด้วยจิตคิดประทุษร้าย
จะทำให้เสียงแข็งกระด้างไม่น่าฟัง แม้พยายามพูดให้อ่อนหวานก็ฟังรำคาญหู
๔) มักพูดเพ้อเจ้อ
พระพุทธเจ้าตรัสว่าวิบากอย่างเบาคือทำให้เป็นคนพูดจาไม่น่าเชื่อถือ
คุณคงเคยมีประสบการณ์มาบ้าง
เห็นคนบางคนพูดแล้วทุกคนในที่นั้นอยากเบือนหน้าหนีโดยไม่นัดหมาย
บางคนนี่เข้าขั้นหนักขนาดพูดทุกทีคนหันหน้าหนีทุกที
ลองดูเถอะว่าคนๆนั้นชอบพูดจาไร้สติ นึกอยากพูดอะไรก็สักแต่พูดไหม
นี่เป็นวิบากซึ่งไม่จำเป็นต้องรอดูชาติหน้ากันเลย
หากพูดเพ้อเจ้อด้วยความคะนองแต่ยังพอมีสติอยู่บ้าง
ผลคือทำให้เสียงเหมือนหลอกๆ ฟังแล้วขาดๆเกินๆ เชื่อได้บ้าง เชื่อไม่ได้บ้าง
หากพูดแบบไหลไปเรื่อย
คือเรื่อยเปื่อยจนฟุ้งซ่านจัด จะทำให้สุ้มเสียงเหมือนคนสับสน พร้อมพูดจาวกวน
คนฟังได้ยินแล้วพลอยฟุ้งซ่านตาม จึงไม่มีใครอยากทนฟังให้จบ
ขอให้เข้าใจว่าพูดเพ้อเจ้อนั้นเฉียดๆกัน
แต่ไม่เชิงว่าหมายถึงการพูดเล่นพูดหัวระหว่างคนกันเองเพื่อหัวเราะเอาสนุก
การพูดเล่นที่ประกอบไปด้วยสติ รู้จักกาลเทศะ ไม่หยาบโลนดึงใจลงต่ำ
เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่เป็นพิษภัย และไม่ต้องรับผลแบบคนพูดพล่ามเพ้อเจ้อเป็นนิสัย
เพื่อจะปรับปรุงเรื่องเสียงและน้ำหนักความน่าเชื่อถือ
ทางที่ดีที่สุดคือต้องตั้งใจมั่นว่าจะมีแต่วจีสุจริต งดเว้นวจีทุจริตให้หมด
กับทั้งต้องรักษาความตั้งใจด้วยความหนักแน่นต่อเนื่องยาวนานพอสมควร
ทางลัดหนึ่งซึ่งคนที่ลองจะประจักษ์ผลได้ในเวลาไม่กี่วัน
คือฝึกสติระลึกรู้การเปล่งเสียงสวดมนต์ให้ชัดๆ
บทอิติปิโสฯก็มีรูปคำที่เปล่งเสียงแล้วช่วยเกื้อกูลได้มาก
ยิ่งถ้าหากคุณศรัทธาพระพุทธเจ้าหนักแน่นอยู่เป็นทุน
ก็จะพบความจริงคือเสียงที่มากับศรัทธาเป็นเสียงที่ฟังเพราะเสมอ
หากสวดอิติปิโสฯด้วยใจศรัทธา มีสติอยู่กับทุกถ้อยคำ
เพียงเดือนหรือสองเดือนจะพบว่าคุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาครับ
________________
คลิกที่คำถามเพื่ออ่านต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น