วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ผลที่ได้จากการใช้เสียงเผยแผ่ธรรมะ (ดังตฤณ)

ถาม : ปัจจุบันมีช่องทางเผยแผ่ธรรมะผ่านภาพและเสียงได้กว้างขวาง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต และซีดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีดีเสียงซึ่งกำลังได้รับความนิยม เพราะนำไปฟังในรถได้สะดวก

ตามความเข้าใจ ผู้เป็นเจ้าของเสียงน่าจะได้ชื่อว่าทำบุญโดยให้เสียงเป็นทานใช่หรือไม่? ผลที่เกิดจากการให้เสียงเป็นทานคืออะไร? เหตุใดแต่ละคนประกอบบุญทางเสียงเหมือนๆกันแต่มีเสียงน่าฟังไม่เท่ากัน?

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖

ดังตฤณ: 
คำถามนี้มีมาจากหลายคน ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันชาวพุทธนิยมสื่อธรรมะทางเลือกกันมากขึ้น เพราะรูปแบบชีวิตการทำงานกับกำลังใจของคนในเมืองไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้รับชมรับฟังรายการวิทยุโทรทัศน์ธรรมะช่วงตีห้าสักเท่าใด ผมขอรวมตอบโดยเกลาคำถามใหม่ให้รวบรัด โดยไม่จำเพาะเจาะจงเป็นกรณีพิเศษใดๆนะครับ

กรรมที่ทำด้วยเสียงนั้น วิบากหลักย่อมเกี่ยวกับเสียง วิบากรองๆย่อมแปรไปตามเหตุปัจจัย ถ้าเสียงนั้นเป็นคุณ ก็ย่อมได้คุณภาพเสียงที่ดีเป็นวิบาก แต่ถ้าเสียงนั้นเป็นโทษ ก็ย่อมได้วิบากเป็นคุณภาพเสียงที่ต่ำหรือแย่ไปแทน

ธรรมะจัดเป็นสิ่งที่ฟังแล้วได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเปลี่ยนความเข้าใจผิดให้เป็นถูกได้ เปลี่ยนอกุศลให้เป็นกุศลได้ รวมทั้งเปลี่ยนคนไม่มีโอกาสรับรู้ให้เป็นคนมีโอกาสรับรู้ได้

เช่น บางคนขาดความอดทนพอจะอ่านหนังสือธรรมะ บางคนเสื่อมสมรรถภาพทางประสาทตา บางคนไม่มีเวลาอ่านเพราะงานรัดตัว จำเป็นต้องพึ่งพารายการวิทยุหรือซีดีเสียงเท่านั้น

(เท่าที่เห็นจริงๆคือบางคนอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง แต่พอฟังซีดีแล้วกลับรู้เรื่องขึ้นมาด้วยอารมณ์ติดใจคล้อยตามน้ำเสียงคนอ่านก็มี)

ดังนั้นถ้าทำธรรมทานด้วยเสียง ก็ย่อมให้ผลสูงสุดเหนือกว่าวจีกรรมประเภทใดๆ หากธรรมทานที่ทำมีน้ำหนักแรงพอจะส่งผลในชีวิตปัจจุบันทันตา

อันดับแรกๆบุญจะไปตกแต่งดัดแปลงทั้งเสียง ทั้งน้ำหนักคำพูด จากนั้นจึงขยายผลไปถึงเรื่องแวดล้อมอื่นๆ เช่น ฐานะความเป็นอยู่ สังคมแวดล้อม คนรัก สุดแท้แต่เหตุปัจจัยจะอำนวย

โดยมากที่จะเห็นผลเร็วคือพวกมีฐานของกุศลวิบากเกี่ยวกับเสียงเป็นทุนอยู่ก่อน แต่หากไม่มีฐานพอจะรองรับ ก็รวบรัดไปให้ผลทีเดียวในชาติถัดๆไป คือเกิดใหม่มีคุณภาพเสียงโดดเด่น

ขั้นต่ำคือไม่น้อยหน้าใครในประเทศ ขั้นสูงคือเป็นที่หนึ่งในระดับโลก จะเป็นรองก็แค่เทวดานางฟ้าเท่านั้น

นอกจากทุนเก่าที่ต่างกันแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ผลของการให้เสียงเป็นธรรมทานแตกต่างกันได้แก่

๑) เจตนาตั้งต้น คือคิดให้ประโยชน์กับคนอื่นหรือหวังประโยชน์ทางใดทางหนึ่งเข้าตน ถ้าจุดหมายหลักคือเพื่อคนอื่น เสียงจะฟังรื่นหูน่าชื่นใจ แต่ถ้าตั้งต้นด้วยความหวังเอาเข้าตัวเอง แม้เสียงจะไพเราะก็ไม่เย็นชื่นใจได้เท่า อีกประการหนึ่ง

หากตั้งความหวังให้ธรรมทานทางเสียงของตนเผยแพร่เป็นประโยชน์ไปในคนหมู่มาก คือทำทานด้วยความเข้าใจว่าเสียงนี้จะเป็นประโยชน์กับหมู่คนตาบอด เสียงนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่ถนัดฟังธรรมะตอนรถติด เสียงนี้จะเป็นประโยชน์กับคนชราที่สายตาฝ้าฟาง ฯลฯ

โดยย่นย่อคือมีน้ำจิตประกอบด้วยเมตตาไพบูลย์ ผลจะเป็นความกังวานกว้าง ถ้ามีโอกาสขึ้นพูดในที่ชุมนุมใหญ่จะเห็นผลชัด คือเรียกความสนใจจากคนหมู่มากให้เงี่ยฟังได้ไม่ยาก

๒) ความเข้าใจธรรมะ เสียงที่ประกอบด้วยความเข้าใจ มีผลต่อความหนักแน่น คมชัด แจ่มใส บางคนแม้อ่านก็เหมือนสักแต่อ่าน กขค. นกแก้วนกขุนทองไปอย่างนั้น นั่นจะส่งผลกับเสียงด้วย

คือแม้เสียงเพราะ แต่ก็ขาดน้ำหนักน่าเชื่อถึงที่สุด หรือขาดแรงดึงดูดให้ติดใจคล้อยตาม การมีความเข้าใจธรรมะด้วยตนเองจริงๆมักเป็นทั้งแรงบันดาลใจให้คิดริเริ่มอยากอ่านโดยไม่ต้องมีใครชักชวน

บุญที่อยากทำเองย่อมให้ผลเหนือกว่าบุญที่ได้รับการชักชวนจากคนอื่น ทั้งในแง่ของความเร็ว ความเป็นใหญ่ และความคงเส้นคงวาในการให้ผล

๓) ความตั้งใจขณะใช้เสียง คือเวลาเปล่งเสียงแต่ละคำเป็นไปอย่างลวกๆหรือประณีต เท่าที่เห็นคนมีหน้าที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ทำๆไปสักพักจะชิน ความตั้งอกตั้งใจจะลดลง (ซึ่งก็เป็นกันทุกวงการ ทุกสาขาอาชีพ)

แตกต่างจากมือสมัครเล่นที่เอาจริงเอาจังเพราะรักจะทำชั่วครั้งชั่วคราว หากเสียงที่ออกมาชัดถ้อยชัดคำ ถูกจังหวะจะโคน ถูกต้องตามประโยคดั้งเดิมไม่ผิดพลาด

ผลคือความหนักแน่น นุ่มนวล เสียงไม่ตกไม่พร่าง่าย กับทั้งมีพลังสะกดตรึงให้คนอยากตั้งใจฟังจากต้นจนจบความโดยดี เพราะสติในการพูดจะสูงกว่าธรรมดาทั่วไป

๔) ความต่อเนื่อง หมายถึงความยาวนานในการให้เสียงเป็นทาน ยิ่งนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีผลคูณมากขึ้นเท่านั้น ทั้งในแง่ของคุณภาพและระยะเวลาให้ผล

โดยมากแล้วการให้เสียงเป็นธรรมทานจะมีวิบากเป็นกุศลเกี่ยวกับเสียงไปจนถึงนิพพานอยู่แล้ว แต่จะให้ผลอย่างคงเส้นคงวาในทุกภพที่เกิดตั้งแต่ต้นจนถึงอายุขัยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าทำธรรมทานด้วยเสียงตลอดชีวิตหรือเปล่า

๕) เนื้อหาธรรมะ ต้องมองตามจริงว่าธรรมะเหมือนกัน เนื้อหาก็อาจแตกต่างกันได้ คือมีทั้งธรรมะระดับกรรมวิบากกับธรรมะระดับพ้นทุกข์ มีทั้งธรรมะตรงทางกับธรรมะหลงทาง มีทั้งธรรมะของพระพุทธเจ้ากับธรรมะนอกครู ฯลฯ

ทุกวันนี้มีธรรมะจากหลายแหล่งจนยากจะชี้ชัดว่าอันไหนผิดอันไหนถูก ถ้าถูกนั้นถูกหมดหรือเปล่า เครื่องสะท้อนอย่างหนึ่งก็คือการเปล่งเสียงของธรรมะที่ถูกต้อง จะให้ผลเป็นความรู้สึกถูกต้องเกี่ยวกับการพูดโดยรวม เป็นเสียงที่ให้ความกระจ่างแก่คนฟัง

นอกจากนั้นยังมีผลข้างเคียงอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเสียง เช่นถ้าอ่านธรรมะที่ตรงทางมากๆ จะยังผลให้เจ้าของเสียงเข้าใจธรรมะง่าย อยู่ในครรลองของธรรมะที่ถูกต้องไปเรื่อย

แต่หากอ่านธรรมะที่ผิดมากๆ จิตใจจะขุ่นมัว มีความรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง เข้าใจอะไรผิดพลาดบ่อยทั้งที่เป็นเรื่องพื้นๆ

(เท่าที่เห็นในภาคสนามจริงๆคืออาจเห็นผิดเป็นชอบ มองไม่เห็นบาปโดยความเป็นบาปไปเลย)

กล่าวโดยสรุปสำหรับข้อนี้คือถ้ามีอาชีพเกี่ยวกับการใช้เสียง และต้องอ่านธรรมะออกอากาศหลากหลาย ก็น่าเห็นใจครับที่ตกอยู่ในความเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกคละเคล้ากันโดยไม่รู้ตัว

๖) ผลต่อคนรับฟัง ถ้าหากทุนเก่าเกี่ยวกับเสียงดีพอ คือสามารถเหนี่ยวนำให้ผู้รับฟังคล้อยตาม และเกิดศรัทธาในธรรมะได้อย่างดี จำนวนคนผู้มีโอกาสรับฟังกว้างขวาง รวมทั้งเจ้าตัวผู้ให้เสียงเป็นทานได้รับรู้ถึงผลในวงกว้างแล้วเกิดใจยินดีซ้ำๆ

นอกจากให้ผลทางความกังวานของเสียงแล้ว จะยังเป็นตัวคูณยกชั้นคุณภาพเสียงให้ขึ้นทำเนียบระดับใด ส่วนใหญ่พวกนักร้องที่มีแก้วเสียงระดับโลกนั้น ล้วนผ่านการให้เสียงเป็นทานแบบชักจูงจิตใจคนจำนวนมหาศาลให้เกิดศรัทธาที่ถูกต้องมาด้วยกันทั้งสิ้น


(ศรัทธาที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องอยู่ในขอบเขตของพุทธเสมอไป ขอให้เข้าข่ายทำคนตาสว่างในด้านทานและศีลก็ใช้ได้แล้ว)

________________

คลิกที่คำถามเพื่ออ่านต่อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น