วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เจริญสติแก้นิสัยขี้รำคาญ ขี้เบื่อ


ถาม : คำถามเกี่ยวกับการเจริญสติในชีวิตประจำวัน คือผมก็ทำไป แต่ไม่รู้ต้องเน้นส่วนใดเพิ่ม
รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/SXzre_p6OVY
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้ที่มันจะว่างไปแวบนึง ว่างแล้ว เสร็จแล้ว ก็กลับมาปรุงแต่งใหม่ เราดูตรงนี้ ถ้าหากว่าไม่มีงานทำ ไม่มีอะไรที่ต้องจดจ่อเป็นพิเศษ ว่างๆก็ดูอย่างนี้ก็แล้วกัน คือสังเกตลมหายใจเฮือกสองเฮือก ไม่ต้องหลับตาก็ได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่างๆคลายๆขึ้นมา ก็รู้ว่าสภาพของจิตมันมีอาการไม่ยึดมั่นถือมั่น มันมีอาการโล่งๆ เห็นแต่ความไม่เที่ยงของลมหายใจชั่วขณะหนึ่ง แล้วพอรู้สึกกลับไปปรุงแต่งเป็นฟุ้ง ยุ่งๆใหม่เราก็รับรู้ไปว่าจิตมันแตกต่างกันอย่างไร เห็นสลับไปสลับมาอย่างนี้

แล้วตอนทำงาน พวกงานรูทีน (routine)  เราก็มีสติโฟกัสกับงานดีใช่ไหม

ผู้ถาม : มีครับ ถ้าไม่น่าเบื่อ

ดังตฤณ: 
ถ้าเรามีความสนใจ มีโฟกัสจริง ส่วนใหญ่สติมันก็จะไปกับงานได้ดี เราเป็นคนขี้รำคาญ คือพอไม่ชอบ หรือว่าไม่โฟกัสแล้วเนี่ย มันจะไม่อยากจดจ่อ แล้วความฟุ้งซ่านมันก็เข้ามาได้ง่าย รู้สึกไหมว่าเราเป็นคนขี้รำคาญ พอเรารู้สึกได้ถึงความเป็นคนขี้รำคาญเนี่ย มันใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน

เวลาที่จิตไม่อยากไปจดจ่อ ไม่อยากไปโฟกัสอยู่กับอะไร มันจะมีอาการไม่รวม ไม่นิ่ง ไม่สามารถที่จะอยู่กับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งได้นาน เพราะว่ามันอยากไปจดจ้องอย่างอื่นมากกว่า หรืออยากจะหนีจากภาวะการงานตรงหน้ามากกว่า อันนั้นเป็นความปรุงแต่งแบบฟุ้งซ่าน อุทธัจจะ เป็นอุทธัจจะ เป็นตัวความรู้สึกรำคาญใจ

เราก็ดูได้เหมือนกัน ว่าความรำคาญใจเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่สามารถดึงดูดใจเราได้ พอเห็นว่าเออ นั่นเป็นความรำคาญใจ ในที่สุดมันก็จะเหลือแต่ความมีสติรู้ ว่าความรำคาญใจนั้นมันเกิดขึ้นในชั่วขณะที่เราไม่รู้อะไรเลย แต่ถ้าเรารู้ตัวรำคาญใจ มันก็เป็นสติชนิดหนึ่ง แล้วถ้าหากว่าเราเห็นตัวรำคาญใจนั้นหายไป มันก็จะเหมือนกับโฟกัสกลับมา อย่างน้อยกลับมาที่ใจ ใจที่ปราศจากความรำคาญใจ เข้าใจที่พี่พูดใช่ไหม พ้อยท์ (point) คือว่าเราเอาตัวความรำคาญใจมาใช้ ให้เห็นความแตกต่างระหว่างความรำคาญใจกับความมีสติ รู้ว่าความรำคาญใจเป็นแค่ภาวะปรุงแต่งชั่วขณะหนึ่ง

ผู้ถาม : ถ้าเกิดผมดูลมหายใจ บางทีดูอิริยาบถ

ดังตฤณ: 
ไม่ว่าเราจะดูอะไรก็แล้วแต่ ให้สังเกตเข้ามาที่ใจว่ามันยังมีอาการยึดไหม อย่างเมื่อกี้ที่ชี้ให้ดูว่าใจมันว่างไปชั่วขณะหนึ่ง เข้าใจใช่ไหมว่าพูดถึงภาวะแบบไหน  ที่มันรู้สึกโล่งๆ ที่มันรู้สึกเหมือนไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เหมือนกับปล่อยไปเฉยๆ เห็นแต่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ชั่วขณะนั้นเนี่ยมันเป็นจุดตั้งต้นที่ดี คือเป็นจุดตั้งต้นที่เราจะสังเกตถูกว่าจิตที่มันไม่มีความยึด จิตที่มันไม่มีความฟุ้งซ่านหน้าตามันเป็นอย่างไร

ไม่ว่าจะดูลมหายใจหรือดูอิริยาบถอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าจำจิตแบบนี้ได้ แล้วจิตแบบนี้เกิดขึ้น เราก็ใช้เป็นตัวตั้งในการรับรู้ เปรียบเทียบ สังเกต ตอนที่ว่างกับตอนที่ว้าวุ่น หน้าตาความแตกต่างของจิตมันเป็นอย่างไร ดูอยู่อย่างนี้เนี่ยเรียกว่าเข้ามาถึงจิต

แต่ถ้าหากว่าเราดูลมหายใจหรือว่าอิริยาบถอะไรก็แล้วแต่ แล้วเข้ามาถึงจิตไม่ถูก คือไม่รู้จะจับจุดสังเกตอาการของจิตตั้งแต่ตรงไหนเนี่ย มันก็จะดูลมหายใจอย่างเดียว ดูแต่เปลือกนอก ดูแต่ความไม่เที่ยงภายนอก ซึงมันเป็นของผิวๆ มันไม่ค่อยสะกิดไอ้ตัวความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นตัวตนเท่าไหร่ แต่ถ้าลงมาถึงจิต ลงมาถึงความรู้สึกว่า เออ..เนี่ยจิตมันเปลี่ยน จิตมันไม่เหมือนเดิมได้ นี่แหละที่มันจะเริ่มรู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่าไม่มีเรา

ผู้ถาม : สรุปว่าเน้นดูความแตกต่าง

ดังตฤณ: 
ดูอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ลงมาถึงใจ ความแตกต่างของใจ ความแตกต่างของจิต




วิธีเห็นความไม่เที่ยงภายในสามลมหายใจ

เจริญสติแล้วรู้สึกจิตแข็งๆ วนๆ ดูลมหายใจต่อไม่ถูก
ถาม : บางครั้งผมทำในรูปแบบ แต่ว่าลืมตา เพราะกลัวจะหลับ แล้วลักษณะเหมือนกับตอนก่อนจะนอน สักพักนึงจะเหมือนหลับหรือว่าหลับใน

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/LjP_Iigb3lo
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
 

ดังตฤณ: 
สังเกตดูก็แล้วกันว่า ตอนที่ดูแบบนี้เนี่ย อาการทางใจมันแข็งๆอยู่ หรือมีความรู้สึกว่างๆสบายๆ  ถ้าว่างๆสบายๆแปลว่ารู้ มีสติ แต่ถ้ามันแข็งๆ แปลว่าเราตั้งใจมากเกินไป คือบางทีเนี่ยเราสังเกตอย่างนั้น จะลืมตาหรือหลับตาก็แล้วแต่ แล้วเกิดความรู้สึกว่ามันฝืนๆ นี่เรียกว่าจิตแข็ง แต่ถ้าหากรู้สึกว่ามันสบายๆ มันมีความรู้สึกปลอดโปร่งอันนี้เรียกว่ามีสติ เป็นข้อสังเกตง่ายๆ

ถาม : ระหว่างบางทีปลอดโปร่งแบบมีสติ กับ บางทีปลอดโปร่งแบบเคลิ้มๆ เหมือนมีโมหะอยู่ด้วย ควรทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรดี

ดังตฤณ: 
อย่าไปพยายามทำให้มันดีขึ้น แต่สังเกตข้อแตกต่าง ไอ้ตอนที่เรารู้สึกเหมือนกับหลงวนๆ อยู่ในอาการแข็งๆ  อยู่ในอาการที่มันไปไม่ถูก จำไว้ว่าลักษณะจิตมันเป็นอย่างไร ดูไปสัก ๒-๓ ลมหายใจ คือรู้สึกถึงลมหายใจประกอบไปด้วย มันจะได้มีเครื่องเปรียบเทียบ ว่าลมหายใจนี้มันแข็งๆ มันไปไม่ถูก อาการของจิตหน้าตาเป็นแบบนี้

เสร็จแล้วเราอยู่ในอาการยอมรับตามจริงนั่นแหละว่า มันแข็งๆ มันเป็นลมหายใจที่ดูไม่ถูก ไปไม่เป็น แต่ลมหายใจต่อมา มันยังเหมือนเดิมไหม คือยอมรับตามจริงเลยว่าระหว่างลมหายใจแรกกับลมหายใจที่ ๒ เนี่ยมันเหมือนเดิมไหม ถ้าเหมือนเดิมก็ยอมรับว่าเหมือนเดิม ถ้าลมหายใจที่ ๒ เรายอมรับตามจริงอยู่นะ ปกติแล้วลมหายใจที่ ๓ มันจะเริ่มเปลี่ยนให้เห็นแล้ว นึกออกไหม คือลมหายใจแรก ไปไม่ถูกมันรู้สึกวนๆ ลมหายใจที่ ๒ มันยังวนๆอยู่ มันยังฟุ้งซ่านอยู่ มันยังไปไม่ถูกอยู่ แต่พอลมหายใจที่ ๓ ด้วยอาการยอมรับตามจริงเนี่ย มันจะเริ่มเปลี่ยนไป คืออาการวนๆมันจะเริ่มคลาย

จำไว้เลยนะเป็นคีย์เวิร์ด (keyword) นะ
ถ้าเรามีอาการของสติ
ประกอบกับจิตเกินกว่า ๒ ลมหายใจขึ้นไป
ลมหายใจที่ ๓ เนี่ย
มันจะเริ่มแสดงความไม่เที่ยง

อาการทางใจ อาการของสติ จำไว้เลยว่ามันจะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ สติกำลังเห็นอะไรอยู่ก็แล้วแต่ สิ่งนั้นจะแสดงความไม่เที่ยงออกมาให้เห็นในลมหายใจที่ ๓  คือบางทีมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ว่ามันเปลี่ยนมากพอที่จิตจะรู้สึกว่า เออ..มันต่างไปแล้ว แล้วการเห็นว่ามันต่างไปแล้วเนี่ย มันไม่มีอะไรพิเศษนะ มันเหมือนกับต่างไปแค่นิดเดียว

แต่ถ้าหากว่าเรามีความเคยชินที่จะรู้สึกถึงความต่าง ลมหายใจที่ ๔  ลมหายใจที่ ๕ เนี่ย มันจะเห็นว่ามันต่างไปอีก มันต่างไปเรื่อยๆ แล้วไม่ใช่ต่างไปในทางที่ดีขึ้นกับดีขึ้นอย่างเดียวนะ บางครั้งมันอาจจะวกกลับมาแย่ลงใหม่ แต่เราไม่แคร์ เพราะจิตมันถูกปรุงแต่งให้เป็นสติยอมรับตามจริงอยู่ จิตที่ถูกปรุงแต่งให้มีอาการยอมรับตามจริงอยู่เสมอๆ ไม่ใช่จะเอาอย่างใจ ไม่ใช่จะเอาอย่างอยาก

จำไว้เลยว่าแต่ละลมหายใจที่คืบหน้าไป
คือสติที่เพิ่มขึ้นเสมอ
ไม่ว่าภาวะทางใจ
จะแย่ลง หรือ จะดีขึ้นก็ตามนะ

แต่ตัวสติจะพัฒนาขึ้นเสมอ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คิดอกุศลขณะฟังธรรมหรือสวดมนต์


ถาม : ปัญหาในการภาวนาตอนนี้นะคะ คือเวลาเราทำในสิ่งที่เป็นกุศล อย่างเช่น ฟังธรรม หรือ สวดมนต์ มันจะมีความคิดอกุศลที่เข้ามา

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/kc6227M7cAg
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ: 
แต่ก่อนเป็นอกุศลมากกว่านี้ตั้งมากนะ เราก็เห็นอยู่ ตอนนี้มันค่อยๆละลายไง คืออย่าไปคาดหวังว่าเราเปลี่ยนจากคนมองอะไรแง่ไม่ดี จะต้องดีกลายเป็นตรงกันข้ามทันที มันค่อยๆปรับโครงสร้างทางความคิด ตอนนี้จิตวิญญาณสะอาดขึ้นเยอะ มีความสว่าง ยิ่งสว่างเท่าไรจำไว้เลยนะ มันยิ่งเห็นความคิดไม่ดีชัดขึ้นเท่านั้น

แต่ก่อนถ้าเป็นความคิดไม่ดีเนี่ย จิตมืดอยู่ มันมองไม่เห็น มันเหมือนกับว่าเป็นปกติ เหมือนกับว่าเราไม่ได้คิดไม่ดี เหมือนกับเราไม่ได้อะไรมากมาย แต่พอเมื่อไหร่ที่จิตมันสว่างขึ้นมา จิตมันมีความเป็นกุศลหรือโน้มเอียงไปในทางความเป็นกุศลโดยมาก พอมีจิตอกุศลผุดขึ้นมาแม้แต่นิดเดียวเนี่ย มันเห็นความแตกต่างชัดเจน

เหมือนกับเราทำความสะอาดพื้นที่ ปัดหยากไย่ ปัดเศษอะไรโสโครกออกหมดแล้วเนี่ย พอมีอะไรสกปรกแปดเปื้อนเข้ามานิดเดียว มันสามารถเห็นข้อแตกต่างได้ทันทีระหว่างสะอาดกับสกปรกนะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจ ขอให้บอกตัวเองว่าดีแล้ว ทำมาถูกแล้ว แล้วที่มันยังเหลืออยู่เนี่ย ถ้าเรารู้สึกแล้วก็ยอมรับตามจริงได้ว่ามันเป็นอกุศลจิต เป็นความคิดไม่ดี บอกตัวเองไว้เลยว่าไม่บาปแล้ว

ทันทีที่เห็นความคิดไม่ดีแล้วไม่ไปยึดมั่นถือมั่น กับทั้งไม่ไปต่อต้านมัน จำไว้เลยว่านั่นคือมหากุศลจิต

อันนี้อยู่ในคัมภีร์เลยนะ
ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วมีสติรู้ทัน
มันพลิกเป็นมหากุศลจิตทันที

จากอกุศลธรรมดานะ แล้วเรารู้ทัน มีสติรู้อย่างยอมรับตามจริงว่านั่นคืออกุศลจิต มันเปลี่ยนเป็นมหากุศลจิตทันที สังเกตได้ง่ายๆเลย เวลาที่คิดไม่ดี หรือเกิดความรู้สึกที่มันเป็นอารมณ์ลบขึ้นมา เราแค่ยอมรับมันเฉยๆว่า เออ..ตอนนี้เกิดอกุศลจิตขึ้นมานะ เกิดความคิดไม่ดีขึ้นมานะ มันจะรู้สึกโล่ง มันจะรู้สึกคลาย

หรือถ้าแม้กระทั่งเกิดความรู้สึกทรมานใจ เพราะบางทีคิดไม่ดีในเรื่องที่มันแย่อะไรแบบนี้นะ ความทรมานใจนั้นเนี่ย มันก็ไม่ได้ทำให้เราเกิดเจตนาชั่วร้ายขึ้นมา

ขอให้สังเกตนะ
ถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดแย่มากๆ
แต่ตัวเจตนาของเราเนี่ย ความเป็นตัวของตัวเราเนี่ย
ไม่ยอมตามมัน ไม่เกิดความคิดแม้กระทั่ง
จะปล่อยให้มันหลุดออกไปเป็นคำพูด
นั่นเรียกว่าสติอยู่เหนืออกุศลจิตอยู่แล้ว

ไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องไปกังวล
มันเป็นแค่อกุศลสัญญาที่สะสมมา
แล้วมันยังไม่ได้หายไปไหนทันที
คนเราเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เปลี่ยนแบบชั่วข้ามคืน
ฉับพลันกลายเป็นอีกคนหนึ่ง
แต่ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป

จำไว้ว่าถ้าคุณเห็นตัวเองเปลี่ยนจากคนหนึ่งไปเป็นอีกคนหนึ่งในชั่วข้ามคืนนะ มันมีอะไรผิดปกติแล้ว แต่ถ้าหากว่าค่อยๆเห็นว่าตัวเดิมมันมาปรากฏแล้วรู้สึกแปลกปลอม รู้สึกว่ามันเป็นคนละพวกกับเรา แล้วมันเป็นอะไรที่เราไม่ได้ยอมตามมันอีกต่อไปแล้วเนี่ย นั่นแหละคือขั้นตอน นั่นแหละคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ถูกต้องแท้จริง แล้วกระบวนการการเปลี่ยนแปลงเนี่ย ถ้าหากว่าเราคิดในแง่ทางโลกนะ ก็คือว่าเราจะไม่ทำอกุศลกรรมแบบเดิมๆ หรือถึงทำก็เบาบางลงคือมันไม่เต็มใจ ถ้าหากว่าทำบาปโดยไม่เต็มใจ ผลมันไม่เต็มร้อย

แล้วเราเอามาใช้ประโยชน์ในทางการเจริญสติก็คือ เห็นความไม่เที่ยงนะ ว่าเราเดินชีวิตไปในทิศทางใด มันก็จะค่อยๆพัฒนาขึ้นไปในทิศทางนั้น อย่างเช่น เราเลือกแล้วที่จะดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางของการเจริญสติซึ่งรู้แน่ๆว่ามันไปสู่มรรคผลนิพพาน มันไปสู่ความเป็นกุศลมหากุศล เราจะเห็นจิตเปลี่ยนแปลงไป เนี่ยอย่างนี้แหละ พออกุศลสัญญาหรือความคิดไม่ดีมันกลับมา มันย้อนกลับมา เราจะไม่เต็มใจต้อนรับมัน เราจะไม่รู้สึกอยากจะให้ความร่วมมือกับความคิดแย่ๆ ที่มันผุดขึ้นในหัว

หรือแม้กระทั่งเกิดความรู้สึกทรมานใจ
มันก็จะไม่ทรมานนาน
เพราะมันเห็น มันเห็นไว้ก่อนล่วงหน้า
คือรู้ไว้ก่อนเป็น ‘สัมมาทิฐิ’ ว่า
อกุศลสัญญา มันเป็นเพียงแค่
ภาวะปรุงแต่งจิตชั่วคราว
มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวตน
เวลาที่มันเกิดขึ้น แล้วเราเห็นถึงความไม่เที่ยง
มันก็กลายเป็นข้อยืนยัน

แต่ละครั้งแต่ละหน
ที่เราเห็นถึงความไม่เที่ยงของอกุศลสัญญานะ
มันก็กลายเป็นข้อยืนยัน ข้อพิสูจน์ว่า
เออ..ไม่ใช่ตัวเราจริงๆด้วย!

เมื่อสั่งสมความรู้สึกว่า เออ..ไม่ใช่ตัวเราจริงๆด้วย หลายๆครั้งเข้า เป็นสิบ เป็นร้อยครั้ง ในที่สุดนอกจากอกุศลสัญญามันจะหายไปเองแล้ว มันจะได้พุทธิปัญญาเกิดขึ้นมาด้วย ว่าอกุศลสัญญาเนี่ย มันกลับมาได้ก็จริงแต่มันจะไม่อยู่กับเรา ถ้าหากว่าเราไม่เติมอาหารให้มัน ไม่ให้อาหารหล่อเลี้ยงกับมัน

อาหารหล่อเลี้ยงอกุศลสัญญาจำไว้นะ มีทั้งฝ่ายต่อต้าน ไม่พยายามให้มันเกิดขึ้นอีก ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ตัวนี้ก็เป็นอาหาร หรือให้ความร่วมมือ ไปคิด ไปพูด ไปทำในแบบที่อกุศลสัญญามันบีบ อย่างนี้ก็เป็นอาหารอีกเช่นกัน ทั้งรับแล้วก็ทั้งต้านเป็นอาหารให้กับอกุศลสัญญาทั้งสิ้น แต่ถ้าหากรู้ตามจริงว่าอกุศลสัญญาสักแต่เป็นภาวะชั่วคราว นี่มันจะเป็นการตัดอาหาร ตัดเสบียง

แต่อย่าหวังว่ามันจะหายไปภายในเดือนสองเดือนนะ
ให้เล็งไว้เลยว่าอาจจะเป็นปีๆ หลายปี
หรือแม้กระทั่งจะเป็นไปอย่างนี้ชั่วชีวิตก็คุ้ม

เพราะว่ามันแปลว่าอะไร? แปลว่าเราใช้ชั่วชีวิตที่เหลือเนี่ยเห็นอกุศลสัญญาโดยความเป็นภาวะไม่เที่ยง มันเป็นต้นเหตุ มันเป็นบ่อเกิดของพุทธิปัญญา ไม่จำเป็นต้องไปรังเกียจมัน!

สยบความเคยชินที่จะหดหู่ด้วยการเคลื่อนไหว

ถาม : สวัสดีครับพี่ตุลย์ เมื่อประมาณกลางปีที่แล้วเคยส่งการบ้านพี่ตุลย์แล้วพี่ตุลย์ให้ไปดูตัวที่มันหดหู่น่ะครับ ก็เริ่มเห็นแล้วครับว่า เวลาคิดอะไรแล้วมันจะไปตกอยู่มุมนี้อยู่เรื่อยๆครับ หลังๆก็ยังมีอยู่ แต่ว่าดูเบาบางลงบ้าครับ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/jClTCyxPcr8
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๑๒
การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส  
๑๘ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ดังตฤณ:  
เมื่อกี้ตอนนั่งก็สว่างดี รู้สึกถึงความสว่างไหม


ถาม : รู้สึกเหมือนสงบ 

ดังตฤณ:  
ตัวสงบเนี่ยมันรู้สึกสบาย แล้วมันก็ปลอดโปร่งไป ตัวความผ่อนคลาย ตัวความปลอดโปร่งนั่นแหละคือตัวความสว่าง แต่มันจะยังไม่สว่างชัด เพราะว่าเราอาจจะยังไม่เกิดความรู้สึกถึงภาวะของจิตชัดเจน มันมาคาๆอยู่ที่ความรู้สึกเกี่ยวกับลมหายใจ เกี่ยวกับร่างกายอะไรแบบนี้นะ แต่ว่าจริงๆแล้วมันปลอดโปร่งมันก็มีอาการผ่อนพักพอสมควร

ทีนี้พ้อยท์ (pointก็คือว่า ถ้าเรารู้สึกปลอดโปร่งอย่างนี้นะ แล้วสามารถที่จะอาศัยเป็นตัวตั้งในการสังเกตดู ว่าตอนที่มันซึมตอนที่มันหดหู่เนี่ย มันมีความแตกต่างกันยังไง มันก็จะเริ่มเข้าใจว่า ตอนที่จิตตั้งอยู่ในความปลอดโปร่ง ตั้งอยู่ในความรู้สึกที่มันสงบ ไม่หดหู่ มันก็คือตอนที่มีสติ แต่ตอนที่หดหู่เนี่ย มันเหมือนจะคอยไหลไปตามอำนาจความเคยชิน 

อย่างที่ผ่านมาถ้าตอนที่มีจิตหดหู่เนี่ย เราจะรู้สึกเหมือนกับความรู้สึกนึกคิดมันจะแบลงค์ๆ (blank) ไป มันจะรู้สึกเอ๋อๆไปช่วงหนึ่ง แต่ตอนที่ปลอดโปร่ง มันเหมือนกับจะนิ่งๆ อยู่ในอาการที่สามารถจะรับรู้อะไรได้ตรงตามจริง ที่มันปรากฎอยู่ตรงหน้า

ทีนี้ของน้องเนี่ย มันจะยังมีตัวที่มันวนกลับมา เหมือนกับพยายามครอบงำราจะรู้สึกได้ คล้ายๆกับดูเหมือนปลอดโปร่งดีๆอยู่ แต่แล้วก็มีภาวะที่มันหดหู่เซื่องซึม เหมือนกับอยากจะกลับไปเซื่องซึม คือความคิดเรามันไม่ได้อยาก แต่มันมีภาวะหนึ่งคอยวนเวียนกลับมา และเรารู้สึกว่าเหมือนกับจะเอาด้วยกับมัน

รู้สึกไหมว่าในระหว่างวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราต้องคุยกับคนที่เราไม่ได้อยากฟัง หรือว่าในช่วงที่เรารู้สึกเหนื่อยและก็กำลังเบื่อๆเซ็งๆตัวที่เบื่อตัวที่เซ็งมันเป็นภาวะที่สภาพของจิตใจเราอยู่ในภาวะไม่พร้อมทำงาน ตัวไม่พร้อมทำงาน ตัวภาวะที่ไม่รู้สึกอยากจะกระตือรือร้น ตัวนี้เนี่ยเป็นตัวที่ ถ้าหากเราใช้เป็นเครื่องมือเจริญสติ มันจะก้าวหน้าขึ้นไปกว่านี้


ที่ผ่านมามันเหมือนกับไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจพอเราเกิดความรู้สึกทำนองนี้ แต่ต่อไปเนี่ย จำไว้เลยนะ คีย์เวิร์ด (keywordของเราก็คือว่า"ต้องเคลื่อนไหว" คือไม่ใช่ดูลมหายใจอย่างเดียวนะ แต่เคลื่อนไหวเลย เคลื่อนอะไรก็ได้ สมมุติถ้าหากว่าอยู่ที่โต๊ะทำงาน เราลุกเปลี่ยนอิริยาบถแป๊บนึง คือเดินเล่น เดินดูเท้ากระทบ ต๊อกๆๆไป  แต่ถ้าอยู่ในระหว่างสนทนา ในห้องประชุม ในระหว่างอยู่กับคนที่เราไม่ต้องการจะคุยด้วย มันต้องมีการขยับเนื้อขยับตัวนิดนึง คือขยับแบบไม่ให้ผิดสังเกตขยับในลักษณะที่เราผ่อนคลายอิริยาบถ แต่ไม่น้อยเกินไปกว่าที่เราจะรู้สึกว่า เนี่ยสามารถสังเกตได้ถึงอาการเคลื่อนไหว

เนี่ยน้องลองเคลื่อนไหวดู เออเนี่ย อย่างแค่เนี่ย มันจะรู้สึกถึงอาการเปลี่ยนของใจ ทันใดที่ความเคยชินแบบเก่าๆกลับมาครอบเราได้ แล้วเราไม่เคลื่อนไหว คือของน้องเนี่ยมันจะมีอาการอย่างนี้ พอมันกลับมาครอบปุ๊บ เรายอมนิ่งแบบนี้ อยู่ในอาการซึม มันก็เท่ากับเปิดประตูต้อนรับความเคยชินแบบเก่า แต่ถ้าเราขยับเคลื่อนไหว แล้วเราสังเกตว่า ใจมันโปร่งขึ้น ใจมันเป็นอิสระมากขึ้น ในที่สุดน้องจะรู้สึกแบบตอนที่พี่ไกด์ (guideนั่งสมาธิ มันจะรู้สึกเหมือนกับมีความสงบ มีความนิ่ง แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้มีความอยากจะนอน ไม่ได้มีความอยากไปพักอยู่เฉยๆ

น้องสังเกตตอนที่มีความรู้สึกไม่อยากจะรับรู้อะไรตรงหน้า ตรงนี้เป็นพ้อยท์สำคัญที่เราจะใช้เป็นเครื่องสังเกต เพราะว่า ลองทบทวนดูนะ ภาวะที่เบื่อๆนั้นน่ะ มันมักจะมาตอนที่เรานั่งอยู่คนเดียวและงานตรงหน้ามันไม่ท้าทาย หรือไม่ก็อยู่กับคนที่เราขี้เกียจจะฟังว่าเค้าพูดอะไร จะเป็นเจ้านายจะเป็นเพื่อนร่วมงาน จะเป็นใครก็แล้วแต่ จะลูกค้า จะอะไรก็แล้วแต่ คือมันไม่เหมือนกัน สิ่งกระทบเนี่ย ที่เข้ามาหาเรา แล้วโดยความเป็นเรา โดยเส้นทางเนี่ย มันสร้างความเคยชินไว้ไงว่า ถ้าไม่พอใจเนี่ย จะอยู่ในอาการแบบซึม คือเปิดหูไว้ครึ่งหนึ่ง ยังสามารถโต้ตอบกับเค้าได้อยู่ แต่ว่าใจจริงๆเนี่ยมันไม่เอาแล้ว  มันเหมือนมีอะไรมาปิดครอบไว้ครึ่งหนึ่ง  ซึ่งตรงนี้เราจะนึกออกว่าอาการมันเป็นยังไง

เช่นกัน พอเรานึกออกว่าอาการแบบนี้เป็นยังไง พอไปแก้ด้วยการเจริญสติ ด้วยกาเคลื่อนไหว ขยับนิดนึงเนี่ยมันจะรู้สึกถึงอาการเปลี่ยนแปลง มันจะรู้สึกว่าจิตไม่เหมือนเดิม ในความไม่เหมือนเดิมเนี่ย เราดูได้จากภาพรวมว่า ทุกครั้งที่เริ่มจะถูกครอบด้วยนิสัยทางจิตแบบเก่าๆ มันจะไม่ถูกครอบเต็ม ถูกครอบแค่แป๊บเดียว แล้วมันก็เคลื่อนออก  แต่มันต้องใช้เวลา แล้วก็อาจจะถ้าไปวิ่งจ้อกกิ้งแล้วรู้เท้ากระทบได้ยิ่งดีเลย มันจะเหมาะกับเรามาก เพราะว่าสติของเราข้างในเนี่ยมันครึ่งๆกลางๆ จะว่าตื่นก็ไม่ใช่ จะว่าเซื่องซึมก็ไม่เชิง มันพร้อมจะสวิตช์ (switch) จากโหมดหนึ่งไปอีกโหมดหนึ่ง เหมือนคนที่จะกระตือรือร้นก็ได้ เซื่องซึมก็ได้ โดยที่ไม่ต้องรอเวลานาน แค่ข้ามนาที ไม่ต้องข้ามวัน แค่ข้ามนาทีมันเปลี่ยนจากแบบนึงไปอีกแบบนึงได้เลย