วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๗ / วันที่ ๒๑ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) จะรู้ได้อย่างไรว่าความพยาบาทในใจเรามันเบาลงไปแล้วจริงๆ โดยในขณะที่เรานึกถึงเรื่องที่ไม่ชอบใจความโกรธเกลียดจะรุนแรงเหมือนไม่มีอะไรผิดไปจากเดิม แต่เมื่อประจันหน้ากันจริงๆที่คิดว่าจะรู้สึกมากกลายเป็นว่าความรู้สึกในใจมันเบาบางลง เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว อะไรเป็นตัวบ่งชี้ได้คะว่า ความพยาบาทในใจเรานั้นมันเบาบางไปจริงๆ?

คนที่เจริญสติมาคำว่าเจริญสติหมายถึงเท่าทันความเป็นจริงเกี่ยวกับกายใจตนเอง โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของที่บ่งบอกอยู่ในตัวเองว่าไม่ใช่ตัวตนไม่มีอัตตา อยู่ในที่ใดๆในหู ในตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็รวมถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ ไม่มีตรงไหนตรงหนึ่งเลยที่ฟ้องว่านี่แหละเราบังคับได้ นี่แหละเราบัญชาได้ มันเป็นอนัตตาทั้งหมด เมื่อเราเห็นความจริงอยู่เรื่อยๆ ใจของเราจะถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นอันมีกายใจเป็นที่ตั้ง เรายึดมั่นความรู้สึกในกายใจเป็นที่ตั้งมาช้านาน จนกระทั่งพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วก็ชี้ให้ดูว่ามันไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตน ถ้าเรามีศรัทธาในพระพุทธองค์แล้วก็ทำตามที่พระพุทธองค์ตรัสแนะไว้ ในที่สุดก็จะมีอาการทางใจเหมือนๆกันหมด ธรรมชาติของใจเห็นอะไรไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆมันก็ถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นจากสิ่งนั้น เมื่อเราเอาใจ เอาสติ มาจดจ่ออยู่กับความไม่เที่ยงของกายของใจนี้ ในที่สุดมันก็ถอดออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นใจกายใจ

นี่คือหลักธรรมชาติ ถ้าหากว่าเราดูจากมุมมองของพระที่ท่านเห็นคนที่ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า ท่านจะดูถึงจิต ว่าจิตของคนคนนี้ที่ปฏิบัติมา ได้ผลหรือไม่ได้ผล มันมีความสว่างโดยมากหรือมีความหม่นหมองโดยมาก มีอาการที่ถอนจากความยึด มีลักษณะของความเป็นอิสระมาก โดยมาก หรือว่ามีความยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่นโดยมาก ท่านจะดูกันอย่างนี้ แล้วก็จะตัดสินว่าเราก้าวหน้าขึ้นมาจริงหรือเปล่า หรือว่าเราเป็นแค่คนที่นึกว่าทำๆไป โดยที่ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรไปเท่าไหร่แต่สำคัญว่าเราก้าวหน้าไปมาก สำคัญผิดไปรึเปล่า ท่านก็จะทักจะท้วงถ้าเป็นลูกศิษย์ของท่าน แต่ประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติเองบางทีจะยังมองตัวเองยังไม่เข้าใจ ยังมองไม่เห็นภาวะโดยรวมของจิตตัวเองก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่ามาถึงไหนแล้ว บอกได้แต่ว่าบางทีเจอของจริงมาทดสอบเข้า ยังกรี๊ดอยู่ ยังมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่นได้อยู่ ยังไฟลุกโพล่งราวกับเอาเบนซินมาราดได้บ้าง แต่พอดูเวลาปกติก็ใจไม่อยากยึดมั่นถือมั่น หรือพอโกรธแล้วใจมันก็ไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนกับเอาจริงเอาจังอะไรมากเหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนเหมือนปีศาจมันหลุดออกมาจากก้นบึ้งของขั้วหัวใจ แล้วก็ยืนทะมึนขึ้นข้างหลังเรากลายเป็นตัวเรา หรือว่าครอบงำตัวเราให้พูดหรือส่งเสียงหรือว่าทำท่าทำทางในแบบที่ที่นึกไม่ถึงตัวเองตกใจเลยว่าทำไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติธรรมเจริญสติ เจริญสติไม่ใช่นุ่งขาวห่มขาวหรืออยู่ที่วัด แต่อยู่ในเมือง ทำงานอยู่อย่างนี้แหละ เจอผู้คนที่น่าเกลียดน่าชังอย่างนี้แหละ แล้วก็เห็นความเกลียดความชัง เห็นความโกรธ เห็นอารมณ์อยากอาละวาด เห็นๆเห็นหมดนะ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเห็นหมดนะ เห็นว่าไม่เที่ยง มันเพิ่มระดับได้ มันลดระดับได้ ว่ามันไม่ใช่ตัวตน สั่งไม่ได้ด้วยนะ บางทีมันหายไปแล้วแต่กลับมาอีก

ถ้าเราไม่กลุ้มใจ ถ้าเราไม่ทุกข์ใจว่าทำไมมันไม่หายไปสักที ทำไมมันไม่สิ้นซากไปสักที แต่เฝ้ารู้เฝ้าเห็นอยู่เป็นเดือนเป็นปีนั่นแหละเดี๋ยวมันหายไป เดี๋ยวมันก็กลับมาอีกบังคับไม่ได้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อะไรที่เราสั่งได้อย่างใจ ในที่สุดใจก็เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ คือ ค่อยๆ ถอนออกจากอาการยึดมั่นถือมั่น และประสบการณ์ตรงของเราก็บอกได้อย่างนี้แหละว่ามันมีความต่างไปนะ ถึงแม้ว่าเราจะตรึกนึกขึ้นมาแล้วโกรธเกลียดได้เท่าเดิม แต่เอาเข้าจริงพอเจอของจริงมันเหมือนกับกระทบแล้วเกิดไฟลุกขึ้นมาชั่วขณะเดียวแล้วก็หายไปไม่ได้ต่อเนื่องยาวนาน นี่แสดงให้เห็นสะท้อนให้เห็น จากประสบการณ์ภายในจากความรู้สึกของเรา เรารู้สึกได้ว่ามันมีความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง มีความเหนียวแน่นในอาการอาฆาตพยาบาทน้อยลง เราทราบดีกรีของตัวเองยากหน่อย แต่เราบอกตัวเองได้ว่ามันต่างไป ก็น่าพอใจพอแล้ว มันต่างไปนี่แหละ คำว่ามันต่างไปนี่แหละตัวก้าวหน้าแหละ

ส่วนใหญ่คนที่เจริญสติมา คำว่ามันต่างไปไม่ได้หมายความว่ายึดมั่นเหนียวแน่นขึ้น ถ้าหากว่ามาถูกทางจริงๆนะ แต่ถ้าหากว่าเราบอกว่าขยันมากเลยสิบปีแล้ว แต่พอเจออะไรขึ้นมานะ ข้างในนี่แบบจะตาย มีความรู้สึกแบบปวดร้าวทรมาน ทำไมมันยึดมั่นถือมั่นเหนียวแน่นขนาดนี้ แถมต้องมากดอารมณ์โกรธของตัวเอง กลัวคนอื่นเขาจะว่าปฏิบัติธรรมมาตั้งนานทำไมมันยังขี้โกรธ ทำไมมันยังโมโหง่าย โกรธง่ายหายยากขนาดนี้ ก็ล็อกเข้าไปหลายชั้นเลย เจอเข้าไปสองเด้ง เด้งแรกจากตัวเอง เด้งที่สองจากภาพที่ตัวเองสร้างไว้แล้วก็กลัวคนอื่นจะตัดสิน ว่าเรายังไม่ดีพอ เรายังใช้ไม่ได้ เราปฏิบัติธรรมใส่เสื้อขาวนุ่งขาวห่มขาว แล้วก็ทำท่าขรึมๆตอนเวลาพูดคุยกับคนอื่น แต่ปรากฏว่ามีเรื่องจี้นิดจี้หน่อยกลายเป็นฟืนเป็นไฟหน้าดำหน้าแดงขึ้นมา มันก็เลยกลัว กลัวจะเสียภาพ กลายเป็นปฏิบัติธรรมแล้วเป็นทุกข์ยิ่งขึ้น

แต่ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเรารู้สึกว่ายึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังน้อยลง แล้วก็มีความโกรธได้ชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ตัวนี้แหละที่มันสะท้อน เราไม่เห็นจิตของตัวเองก็จริง ไม่เห็นจิตโดยรวมของตัวเองก็จริง แต่สามารถที่จะรู้สึกได้ว่ามันไม่ยึดมั่นถือมั่นเท่าเดิม นี่แหละคือความก้าวหน้า อย่าไปคาดหวังว่าเราหมดความพยาบาทไปจริงหรือเปล่า มันไม่มีทางหมด ตราบใดเรายังไม่ใช่พระอนาคามี ความกระทบกระทั่งมันสามารถเข้าถึงใจได้ ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีแล้วจิตจะเหมือนสุญญากาศ อะไร อะไรกระทบได้แต่ไม่เข้าถึงใจ กระทบตาได้แต่ไม่เข้าถึงใจ กระทบหูได้แต่ไม่เข้าถึงใจ มันไม่ทำให้เกิดความขัดเคือง มันไม่ทำให้เกิดปฏิฆะ ตัวปฏิฆะนี่ก็คือเกิดความกระทบกระทั่งแล้วก็เกิดความขัดเคืองขึ้นมา



๒) เพิ่งเห็นตัวเองว่า จิตเริ่มบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง เกิดการพากย์มากกว่ารู้เฉยๆ จิตมีโทสะเป็นทุกข์กระวนกระวายค่ะ แต่เหมือนหลอกตัวเองว่ายังรู้อยู่ ขอคำแนะนำว่าควรภาวนาต่อไปอย่างไรดีคะ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกเหมือนกำลังหลงทางไม่ก้าวหน้า จิตซึมๆ และท้อใจค่ะ เป็นเพราะวิบากด้วยหรือเปล่า?

อันดับแรกเลยนะ บอกไว้อย่างนี้นะ ถ้าเรามีปัญหาในเรื่องของการเจริญสติหรือจะมีปัญหาแบบโลกๆอะไรก็แล้วแต่ เราต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจน ตั้งโจทย์ไว้ข้อเดียว อย่าตั้งไว้หลายข้อ อันนี้น้องตั้งไว้หลายข้อเลย บอกว่าเริ่มเห็นว่าจิตบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง มีโทสะ กระวนกระวาย เหมือนหลอกตัวเอง ควรจะภาวนาต่อไปอย่างไรดี แล้วก็ไปใส่คำถามซ้อนเข้าไปอีก มีโจทย์ซ้อนเข้าไปอีกว่ามันเป็นวิบากด้วยรึเปล่า อันนี้แสดงให้เห็นถึงใจที่มันไปจับโจทย์หลายข้อ มันไปสงสัย ว่าตัวเองมาดีแล้วหรือยัง ถูกแล้วหรือยัง นี่มันเป็นวิบากรบกวนรึเปล่า ใจมันเกิดความกังวล ใจมันเกิดความสงสัย ตัวนี้ที่เรียกว่า วิจิกิจฉา เป็นนิวรณ์ เป็นตัวถ่วงความเจริญของสติ ไม่ใช่ตัวที่สนับสนุนให้เราก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่ทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ดีกับการเจริญสติของตัวเอง มันเหมือนมันถึงจุดหยุดแล้วจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่มีคำตอบใดสักคำตอบหนึ่งมาทำให้หายสงสัยไปอย่างสิ้นเชิง และที่จะต้องตอบน้องมันหลายข้อ ควรจะภาวนาอย่างไรต่อไปดี กลัวจะไม่ก้าวหน้า กลัวหลงทาง แล้วมันเป็นวิบากกรรมรึเปล่า มันหลายข้อ เอาที่รวมให้มาเป็นข้อเดียวให้เลยก็แล้วกัน

ที่น้องบอกว่าจิตบิดเบี้ยวไม่ยอมรับตามจริง ตรงนี้เป็นการเถียงตัวเอง แล้วก็เกิดการพากย์มากกว่าจะรู้เฉยๆตัวนี้เป็นโจทย์ข้อที่สำคัญ คือถ้าจะวัดว่า เราเจริญสติมาเห็นอะไรบ้าง น้องตอบได้ ตรงนี้มีความชัดเจนพอสมควรทีเดียว น้องรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีจิตที่บิดเบี้ยว ไม่สามารถยอมรับตามจริงได้ นี่เป็นประโยชน์ นี่เป็นสิ่งที่ถ้าใครเห็นได้ไม่ใช่ว่า นับเป็นหนึ่งในร้อยนะ ต้องนับเป็นหนึ่งในหมื่นหนึ่งในแสนเลย คือที่จะเห็นว่าจิตตัวเองบิดเบี้ยวได้ไม่ใช่เรื่องง่าย คนส่วนใหญ่มีจิตบิดเบี้ยว แล้วก็คล้อยตามไปตามอารมณ์ความรู้สึกบิดเบี้ยวนั่นแหละ แล้วก็ก่อกรรมไปตามจิตที่บิดเบี้ยวนั่นแหละ โอกาสที่จะย้อนกลับมาเห็นราวกลับเป็นอีกบุคคลหนึ่งว่าบุคคลนี้มีจิตบิดเบี้ยวอยู่มันไม่ใช่วิสัยที่จะเกิดกับคนธรรมดาทั่วไป ต้องเจริญสติมา แล้วสามารถที่จะยอมรับสภาพความจริงได้พอสมควรถึงจะเห็นความบิดเบี้ยว ไม่สามารถที่จะต่อติดกับข้อเท็จจริงตรงหน้าได้ แม้แต่อาการที่มันไม่สามารถต่อติดกับความจริง ไม่สามารถยอมรับความจริง ถ้าตรงนั้น ภาวะตรงนั้น ถูกรู้ได้ นั่นแหละเรียกว่าเห็นแล้ว เห็นความจริงแล้ว เห็นสภาพตามจริงว่าจิตของเราบิดเบี้ยว มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ยากมาก

เพราะฉะนั้น ชมตัวเอง อย่าว่าตัวเอง คนที่เห็นจิตตัวเองบิดเบี้ยวได้ มันเริ่มตรงแล้ว มันเริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดัดให้จิตตรงความจริง สามารถเชื่อมติดได้กับความจริงแล้ว ส่วนที่น้องไปกังวลว่าจิตมันมีแต่การพากย์ มันไม่มีอาการรู้อยู่เฉยๆอันนี้มันก็เป็นธรรมชาติของจิต ที่มันคิดขึ้นมาตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์ อย่าไปเชื่อว่าเราจะเจริญสติแล้ว ความคิดหรือเสียงพากย์มันจะหายไปในทันทีทันใด จิตที่ยังฟุ้งซ่านได้จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต้องมีเสียงพากย์หรือมีความคิดที่กำกับอยู่กับการรู้ไปทุกครั้ง ต่อเมื่อจิตมีความสามารถตั้งมั่นได้พอสมควรเป็นขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วคราว มันจะมีความรู้สึกเป็นความรู้สึกนิ่งๆสงบเย็น แล้วก็มีอาการไม่คิดมาก ไม่พร้อมจะฟุ้งซ่าน มีแต่อาการที่มันตรง มีแต่อาการที่มันรู้สึกถึงสภาพภายในด้วยความอิ่มใจ ตัวนี้เราเรียกว่า ขณิกสมาธิ เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวแล้วเดี๋ยวมันก็รวนเร ปั่นป่วนไปเป็นฟุ้งซ่านได้ใหม่

ลักษณะของจิตที่มีความเป็นสมาธิชั่วขณะได้นี่นะ เสียงพากย์มันจะน้อยลงมีอาการรู้มากขึ้น มีความรู้สึกถึงอาการที่มันสงบอาการที่มันเย็นมากขึ้น แล้วก็สามารถที่จะเห็นภาวะของใจเปลี่ยนจากสงบกลายเป็นร้อน เปลี่ยนจากสงบกลายเป็นฟุ้งได้โดยไม่ต้องคิดไม่ต้องพากย์ แล้วเสียงพากย์มันก็จะกลับมาหรือว่าความฟุ้งซ่าน เสียงของความฟุ้งซ่านมันก็จะกลับมาตามเดิม แต่ถ้าหากว่าจิตของเราเจริญสติไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงขั้นอุปจารสมาธิ คือมีความวิเวก มีความเยือกเย็นกว้าง จิตแผ่กว้างออกไป จิตมีความสบาย จิตมีความโล่งเหมือนกับไม่มีอะไรห่อหุ้ม อันนั้นมันจะมีความตั้งมั่นได้นานขึ้น มันจะมีความสว่าง มันจะมีความเย็นซ่านออกไปเหมือนกับอยู่ในที่ที่เย็นมากๆ ตรงนั้นเราจะมีเสียงพากย์น้อยลงไปอีก มันจะเหมือนแมงหวี่แมงวันหรือว่ามีเครือข่ายใยแมงมุมอะไรเล็กๆน้อยๆเข้ามาปกคลุมอยู่ที่จิตแค่นิดหน่อย ไม่รู้สึกว่าเป็นเสียงพากย์ไม่รู้สึกว่านั่นคือความฟุ้งซ่าน แต่เป็นคลื่นอะไรแบบหนึ่งที่เราจำได้ว่าอย่างนั้นเขาเรียกความคิด มันยังเป็นความคิดอย่างอ่อนๆอยู่

แล้วถ้าหากว่าเราเจริญสติต่อไปเรื่อยๆมีความชำนาญ มีกำลังที่จะรวมกระแสจิตเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว ถึงฌานเป็นอัปปนาสมาธิ จิตรู้อารมณ์เดียวต่อเนื่องยาวนานยาวยืดเลย เป็นนาทีๆ หรือว่าเป็นครึ่งชั่วโมงได้ ตรงนั้นแหละที่เสียงพากย์หรือความคิดจะดับไปอย่างสิ้นเชิง จนกว่าที่จะออกจากฌาน เพราะฉะนั้นสรุปว่า ถ้ามีเสียงพากย์อยู่ตลอดเวลาไม่ใช่รู้เฉยๆอย่าเพิ่งไปตกใจ อย่าเพิ่งไปพยายามทำให้เสียงพากย์มันหายไป ขอให้มองก็แล้วกันว่านั่นเขาเรียกว่าจิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ เราได้รู้จักจิตชนิดหนึ่งแล้ว จิตที่ยังไม่เป็นสมาธิ จิตที่ยังคิดได้ มันจะพากย์อะไรให้มันพากย์ไป มันจะรู้อย่างเดียว หรือว่ารู้ไปด้วยมีคำกำกับด้วย ไม่ต้องสนใจ สนใจแต่ที่เราตรงนั้นเรารู้จริงๆหรือเปล่าว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ทั้งในแง่ของสิ่งที่กระทบตาหู ทั้งในแง่ของปฏิกิริยาทางใจที่มันสวนออกไป ถ้าหากว่าเรารู้ตามจริง ไม่ว่าจะพากย์อะไรถือว่าใช่หมด ถือว่าดีหมด มันถูกอยู่แล้ว ถูกต้องตามธรรมชาติของจิตอยู่แล้วที่จะต้องมีเสียงพากย์ มันไม่สามารถรู้ได้เฉยๆตราบใดที่จิตยังไม่เป็นสมาธิจำไว้นะครับ

เรื่องเป็นวิบากรึเปล่า ตั้งแต่มีกายขึ้นมาก็นั้นเป็นวิบากแล้ว ตั้งแต่มีจิตขึ้นมานั้นก็วิบากแล้ว อาการที่มันเกิดขึ้นกับจิตทั้งหลายทั้งแหล่สรุปรวมแล้วมันก็วิบากทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเรากำลังจะอยู่ในเส้นทางของการดับกรรมอยู่ การดับกรรมนี่ก็คือการทำกรรมไม่ดำไม่ขาว เป็นกรรมใส ตรงนี้แหละที่ขอให้ทำความเข้าใจไว้โดยรอบ รวมมาที่เดียวเลย เวลาสังเกตจิตตัวเองสังเกตว่ามีความสงสัยไหม ถ้าหากว่ามีความสงสัยให้รู้ระดับความสงสัยและเห็นมันโดยความเป็นของไม่เที่ยงซะ ตรงนั้นแหละจบแน่นอน



๓) ยึดธรรมข้อไหน ที่จะทำให้มีธรรมะข้ออื่นๆครบบริบูรณ์?

(ถาม – อยากทราบว่ายึดธรรมขอใดดีคะ ที่ทำให้เรามีธรรมข้ออื่นๆครบบริบูรณ์ เพราะเป็นคนที่ชอบแยกแยะอะไรเกินไป พอไปจำอะไรเป็นข้อๆแล้วจำไม่ได้ แล้วก็จะกังวลว่าเราทำไม่ครบเลยค่ะ?)

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่าธรรมะข้อเดียวที่รวมธรรมะข้ออื่นๆไว้ หมายถึงธรรมะที่เป็นกุศล ฝ่ายที่เป็นตัวทำให้เจริญ ธรรมะที่ทำให้เจริญมีอยู่ข้อหนึ่งที่เมื่อเกิดแล้ว จะเป็นที่ประชุมที่รวมของธรรมะข้ออื่นๆท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนกับรอยเท้าช้าง ย่อมสามารถที่จะรวบรวมรอยเท้าของสัตว์อื่นๆในป่าไว้ในรอยเท้าช้างรอยเดียวได้ ธรรมะข้อนั้นคือสติ ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่ ธรรมะทุกข้อมันเกิดขึ้น ประชุมกันลงตรงนั้นแหละ

แต่คนเรามักไม่เข้าใจคำว่า สติ ว่าสติหมายถึงภาวะจริงๆอย่างไรในตัวเรา ปัญหามันอยู่แค่ตรงนี้เอง ถ้าเราเข้าใจว่าภาวะของจริงๆที่เป็นสติที่มันเกิดขึ้น ภาวะภายในที่มันเป็นประสบการณ์ตรงภายใน หน้าตาเป็นอย่างไรแล้ว ตรงนั้นจบเลย ตรงนั้นไม่เป็นปัญหาอีกเลย สำคัญก็ตรงนี้แหละ คือเราต้องทำความเข้าใจเริ่มต้นไว้ว่า นิยามของสติ คือความสามารถที่จะระลึกได้ว่ากำลังมีอะไรปรากฏอยู่เป็นความจริงให้รู้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าหากว่าสตินั้นไปหมายถึงการที่เราไปพยายามขืนตัว เกร็งตัวหรือว่าพยายามบังคับให้ตัวเองอยู่ในภาวะสงบ นั่นไม่เรียกว่าสติ นั่นเรียกว่าความอยากจะสงบ นั่นเป็นปัญหาชนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นปัญหาที่ทำให้เนื้อตัวเกร็งแล้วก็มันไปบล็อกความสามารถที่จะระลึกได้ด้วย มันไปบล็อกความสามารถที่จะเกิดสมาธิ มันไปบล็อกความสามารถที่จะยอมรับอะไรตามจริง มันมีแต่ความอยากที่สวนทางกลับความจริง ตอนนี้ไม่สามารถที่จะสงบได้เราก็ไปพยายามดึงดันให้มันจงสงบ จงสงบ จงสงบอยู่เดี๋ยวนี้ มันก็เลยเกิดความอึดอัด มันก็เลยเกิดความกระสับกระส่ายรวนเรเข้าไปใหญ่

ทีนี้ถ้าเรารู้จักคำว่าสติอย่างแท้จริง ที่บอกว่าสามารถระลึกได้ตามจริงถูกต้องว่ากำลังปรากฏภาวะอะไรในปัจจุบัน ถ้าหากว่าเราฟุ้งซ่านอยู่แล้วเรามีความรู้สึกว่า นี่เราอยู่ในท่านั่ง ท่านั่งนี้มีความฟุ้งซ่านมีความปั่นป่วนอยู่ภายในเป็นนามธรรม นี่เรียกว่าสติแล้ว เพราะว่าภาวะความฟุ้งซ่านมันถูกรู้ตรงตามจริง มันไม่ได้ใช้จินตนาการเอาว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่ แต่มันใช้ความสามารถในการยอมรับว่าเรากำลังฟุ้งซ่านอยู่นี่เรียกว่าสตินะ ถ้าหากว่าเรามีสติตามจริง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราจะไม่แล่นไปตามความฟุ้งซ่าน พอเห็นความฟุ้งซ่านนะจำไว้นะ เราจะไม่แล่นไปตามไปตามความฟุ้งซ่าน เห็นไหมธรรมะข้ออื่นๆเกิดแล้ว เราจะไม่กระวนกระวายไปตามความฟุ้งซ่าน ไม่เอาตัวแล่นไปตามความฟุ้งซ่าน ไม่เตลิดเปิดเปิงไป ไม่ไปหาใครบางคนที่ไม่สมควรจะไปหา ไม่คิดถึงใครบางคนที่ไม่สมควรไปคิด ไม่คิดถึงเรื่องอะไรที่มันยังอยู่ในอนาคต ตรงนี้แหละคือธรรมะข้ออื่นๆเริ่มตามมาแล้ว

ถ้าหากว่าเราไม่แล่นไปตามความฟุ้งซ่านตัวเดียว มันระงับทุกอย่างเลยที่เป็นบาปที่มันเป็นอกุศล มันจะเรียกเอาความรู้สึกอิ่มใจขึ้นมาด้วย พอคนเรานะรู้สึกอิ่มใจอันเกิดจากการเจริญสติ อันเกิดจากการเห็นสภาวธรรมตรงหน้านะ มันจะมีความขยัน มันจะมีความรู้สึกมีแก่ใจ เออ เวลาเขาดูเขาดูกันแค่นี้เอง มันเกิดขึ้นยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วเดี๋ยวก็เห็นว่ามันค่อยๆเปลี่ยนระดับ เปลี่ยนดีกรี บางทีมันอาจจะเปลี่ยนขาลงคือลดระดับดีกรีลง หรือบางทีมันก็เปลี่ยนขาขึ้นคือเพิ่มความเข้มข้นขึ้นมา เรามีความพอใจอยู่แค่นั้นแหละ ที่จะเห็นว่ามันเป็นขาขึ้นหรือขาลง อนิจจังขาขึ้นก็ยอมรับว่าอนิจจังขาขึ้น อนิจจังขาลงก็ยอมรับว่าอนิจจังขาลง ไม่ดีใจไม่เสียใจ มีแต่ความรู้สึกเป็นกลาง ตรงความรู้สึกเป็นกลางนั่นแหละคือความรู้สึกอิ่มใจ คือความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา ถ้าน้องเป็นคนชอบแยกแยะอะไรมากเกินไปก็คือช่างคิดนั่นเอง ถ้าหากว่าช่างคิดเรายอมรับตัวเองว่าช่างคิด แล้วดูสิว่าลักษณะของจิตที่ช่างคิดหน้าตาเป็นอย่างไร มันมีความอึดอัด มันมีความรู้สึกแตกซ่านกระเส็นกระสาย มันมีความรู้สึกเหมือนกับว้าวุ่นไม่รู้จบ มันมีความรู้สึกเหมือนไม่อิ่มใจสักที ไม่ได้อะไรมาอย่างที่ต้องการสักที ลักษณะของใจที่ไปไม่ถึงความสงบก็เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตามจริง แล้วสามารถรับรู้ได้เดี๋ยวนี้ ไม่ได้เป็นอะไรที่ยาก ไม่ได้เป็นอะไรที่ซับซ้อน ไม่ได้เป็นอะไรที่ลึกลับมหัศจรรย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

พอเรารู้ด้วยอาการยอมรับ ไม่ใช่รู้ด้วยอาการที่อยากให้มันเกิดภาวะพิสดารอะไรขึ้นมาเป็นพิเศษ ในที่สุดเราจะเคยชิน ได้เป็นผู้ที่มีชื่อว่าสะสมความเคยชินที่จะมีสติอยู่กับปัจจุบัน ผู้ที่สั่งสมความสามารถในการยอมรับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่ากำลังสร้างรอยเท้าช้างขึ้นมา เพื่อที่จะรวบรวมรอยเท้าสัตว์อื่นในป่ามาไว้ที่เดียว ก็คือธรรมข้อเดียว ถ้าหากว่ามีสติได้ สติจะพาธรรมะข้ออื่นๆมารวมไว้ในที่เดียวกัน



๔) เป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองและขี้กังวลมากเลยค่ะ ปีนี้จะต้องไปต่างประเทศเพื่อไปเรียนและไปสอบ มีทั้งเดินทางไปสิงคโปร์และอเมริกากลัวไปหมดเลย จะต้องไปสอบกับไปเรียนกับเพื่อนที่พูดอังกฤษได้ดีมากๆด้วย?

พูดได้ว่าเราเริ่มเปรียบเทียบแล้ว ไปนึกกลัวไปนึกกังวลว่าเราดีไม่เท่าเขา นี่เป็นเรื่องที่ว่าตัวกิเลสคือ มานะ ถือเขาถือเรา มันมารบกวนจิตใจก็ขอให้ดูตรงนี้ คือเมื่อใจของเราเล็งไปที่คนที่ดีกว่าเราตัวเราจะเล็กลง ดูตอนที่มันเกิดขึ้นเลยนะ เมื่อไหร่ที่เรานึกถึงคนที่ดีกว่าเราตัวเราจะเล็กลง เหมือนกับมันเตี้ยลง ร่างกายเราจะสูงกว่าเขาหรือจะต่ำกว่าเขายังไงก็แล้วแต่ แต่พอเล็งไปที่คุณสมบัติที่มันเหนือกว่าเรา ตัวเรามันจะเล็กลง ตัวเรามันจะเหมือนเตี้ยลงทันที ดูเป็นอาการของใจ ดูเป็นปฏิกิริยาของใจที่เกิดจากมานะข้อนี้ไว้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเทียบตัวเองกับคนที่ต่ำกว่าเรา เทียบตัวเองกับคนที่เขาด้อยกว่าเรา เขาสู้เราไม่ได้ด้วยประการใดๆตัวเราจะใหญ่ขึ้นหรือว่ามีความรู้สึกเหมือนเงาร่างมันสูงกว่าเดิม สูงกว่าปกติ นี่คือปฏิกิริยาทางใจที่เกิดจากการมีมานะเช่นกัน เป็นมานะคนละแบบ นี่มานะฝั่งปมเขื่อง เมื่อกี้อันแรกเป็นมานะฝั่งปมด้อย

การที่เราสามารถจะเห็นปฏิกิริยาทางใจของตัวเองแล้วไม่ไปหมกมุ่นกับมัน เห็นแต่พอเราเล็งไปหาคนที่ดีกว่าเรา ตัวเรามันเตี้ยลง แต่พอเราเล็งคนที่เขาต่ำกว่าเรา มันรู้สึกเหมือนกับตัวมันพองขึ้นมาได้ กลายเป็นอาการจริงๆบางทีจิตมันเหมือนอึ่งอ่าง มันพองออกมาเวลาที่ใจเล็งอยู่ที่คนที่เขาด้อยกว่าเรา ตรงนี้อย่างน้อยที่สุดถึงมันจะไม่ได้ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดเราจะเริ่มสนุกกับการที่เห็นอะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นมาก่อน ทั้งๆที่มันเกิดขึ้นให้รู้สึกมาตลอดชีวิตนั่นแหละ ปมเขื่องปมด้อย มันจะเกิดขึ้นกี่ครั้งกี่หนก็แล้วแต่ เราจะจมไปกับมัน แล้วก็รู้สึกมันเป็นตัวเรา ต่อเมื่อเราเห็นมันเห็น ณ จุดเกิดเหตุว่า มีอาการทางใจไปคิดถึงความสามารถในการพูดอังกฤษได้ดีของเพื่อนปุ๊บ ตัวเรากลายเป็นเหมือนกับคนที่เกือบๆจะเป็นใบ้ขึ้นมาทันที เหมือนพูดไม่ออกขึ้นมาทันที เหมือนเป็นคนไม่มีความสามารถในการพูด ทั้งๆที่จริงมี เพียงแต่ไม่ได้ดีเท่าเขา พอไปนึกถึงคนที่ดีกว่าก็เลยมามีอะไรมาอุดปากไว้ มาปิดปากไว้ มาทำให้ลำคอตีบตันเหมือนกับไม่สามารถพูดอะไรไปได้ นี่เป็นปฏิกิริยาทางใจที่มีผลออกมาทางกาย คือไม่ใช่ไปกำจัดปฏิกิริยานี้ทิ้ง แต่เห็นปฏิกิริยาทำนองนี้ขึ้นมาได้บ่อยๆเราจะมีความรู้สึกราวกับว่าเห็นตัวเองมาจากสายตาของคนอื่น เห็นตัวเองออกมาจากสายตาของบุคคลที่สอง แล้วจะเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนที่มันด้อยกว่าหรือว่าเหนือกว่าคนอื่นน้อยลง

ส่วนเรื่องของความกังวลกลัวจะสอบตก กลัวจะไม่ได้ดีเท่าใคร แล้วก็ไปเร่งใหญ่เลย เร่งไปฝึกซ้อมภาษามากขึ้นแต่ไปเร่งด้วยความเกร็งไม่ใช่เร่งด้วยความสนุก เรื่องภาษาเอาให้สนุกเถอะ อย่าเอาให้มันดีกว่าคนอื่นเลย อย่างเขาพิสูจน์มาแล้วนะ เด็กที่เขาเก่งภาษามาตั้งแต่ช่วงประถมหรือช่วงมัธยมที่เหนือกว่าคนอื่นๆได้ ไม่ใช่ว่าเขามีความสามารถ มีพรสวรรค์หรือว่ามีอะไรมาแต่ไหน แต่เพราะเขาสนุกที่จะอยู่กับภาษาต่างประเทศ อย่างผมเอง ขออนุญาตยกนิดหนึ่ง ตอนมัธยมมีความเด่นมากเลยเรื่องภาษา ไม่ใช่เพราะว่ามีความสามารถในการจดจำแกรมม่า หรือใช้แกรมม่าอะไรได้ดีเลิศเลอ แต่เพราะชอบอ่านหนังสือนอกเวลาภาษาอังกฤษ เผอิญว่าอ่านแล้วติดใจแล้วก็เลยอ่านเรื่อยๆอ่านแบบเหมือนกับหนังสือที่ระดับยากกลางๆแล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่มีใครบังคับ มันเหมือนขนมที่จะเปิดภาษาอังกฤษอ่านเอง อ่านทุกคืนแล้วก็คืนละหลายๆหน้า ตอนนั้นจำได้เรื่องที่อ่านแล้วสนุกมาก ‘The Tales of two cities’ ฉบับ simplify อ่านแล้วมีความรู้สึกไม่มีใครบังคับให้อ่าน แต่อยากอ่านเองอยากรู้เรื่องว่ามันจะดำเนินเรื่องไปอย่างไร มันจะจบอย่างไร แล้วมีความรู้สึกซาบซึ้งมาก ราวกับความรู้สึกนะเหมือนกับอ่านนิยายภาษาไทย พอไปถึงความรู้สึกนั้นได้ภาษาอังกฤษจะไม่น่ากลัวอีกต่อไป มีความรู้สึกว่ามันเป็นอันเดียวกับเรา มันเป็นสิ่งที่จิตของเราจูนเข้าไปติด แล้วอะไรก็แล้วแต่ที่จิตจูนเข้าไปติดมันจะไม่มีความกลัวหลงเหลืออยู่อีกเลย มันจะมีแต่ความเป็นกันเองมีแต่ความเป็นพวกเดียวกัน มีแต่ความรู้สึกที่มันใช่ มันออกมาจากข้างในไม่ใช่ต้องฝืนออกมาจากข้างนอก

ฝืนออกมาจากข้างนอกหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเราไปคิดเปรียบเทียบกับคนอื่นก่อนว่าเราไม่ดีเท่าเขา แล้วก็ต้องไปพยายามดิ้นรนไปฝืนใจพยายามทำให้เท่าเขา นี่แหละเขาเรียกว่ามันออกมาจากข้างนอกไม่ได้ออกมาจากข้างใน ข้างในหมายความว่ายังไง มันมีความรู้สึกเหมือนขนมมีความสนุกที่จะทำ ความเชื่อมั่นจะตามมาเองหลังจากที่เรารู้สึกเหมือนเป็นขนม น้องจะเอาอะไรก็ได้ที่เป็นสิ่งล่อใจให้ชอบภาษาอังกฤษ เช่นถ้าชอบติดตามข่าว ชอบติดตามเทคโนโลยีก็อ่านข่าวหรือว่าเว็บภาษาอังกฤษมากๆพออ่านเราไม่อ่านอย่างเดียวเราออกเสียงด้วย อ่านออกเสียง ถ้าเราบอกว่าไม่ค่อยอยากจะอ่านข่าว ขอเป็นเพื่อนๆ ได้ไหม สมัยนี้ก็มีเครื่องช่วยเยอะนะ อย่าง http://translate.google.com เราสามารถที่จะเอาคำที่เพื่อนๆเขียนเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษก็ได้ ซึ่งมันอาจจะเพี้ยนๆอยู่สัก ๓๐–๔๐ เปอร์เซ็นต์ หรือว่าเกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็เถอะ แต่อย่างน้อยเราได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ แล้วอ่านขอให้อ่านออกเสียง เพราะระบบการเรียนภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดคือการสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่เอาแต่อ่านได้อย่างเดียว ภาษาอังกฤษจะเข้าไปอยู่ในใจเราจริงๆ เข้าไปถึงจิตถึงใจ มันต้องมีความสามารถที่จะสื่อออกมาจากภายใน มันต้องมีความเป็นอัตโนมัติมากพอ ราวกับว่าเราสามารถเข้าใจถึงภาษาจิตได้ก่อนแล้วค่อยเอาภาษาจิตนั้นเป็นตัวขับดันให้เกิดภาษาอังกฤษออกมา นี่แหละที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไปไหนไปกันแล้วก็ไม่น้อยหน้าใครถ้าเชื่อมั่นตามนี้



๕) ในขณะที่รักษาศีล ๘ การฟังเสียงธรรมะที่มีเพลงประกอบหรือการฟังบทเพลงสวดมนต์หรือการฟังเพลงสำหรับภาวนาหรือแม้กระทั่งที่ต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงเพลงรบกวนโดยเราไม่มีความยินดีที่จะอยากฟัง อย่างนี้จะถือว่าศีลด่างพร้อยหรือเปล่า แล้วการถวายซีดีธรรมะที่มีเพลงประกอบแด่พระภิกษุสงฆ์ถือเป็นการสมควรหรือไม่?

ตอบคำถามแรกก่อนคือศีล ๘ มีไว้เพื่อที่จะทำให้กายเบาจิตเบา จุดประสงค์หลักเลย คือต้องแม่นข้อนี้ก่อน ศีล ๘ มีไว้เพื่อที่จะทำให้กายเบาจิตเบาไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะทำให้เราปิดกั้นโลกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เราปิดกั้นกันที่ความยินดีในกาม กามนี่ไม่ได้หมายถึงเพศสัมพันธ์ หมายถึงกามคุณทั้งห้า ที่จะมาเร้ากิเลสจนกระทั่งเกิดความไม่สงบของจิต จนกระทั่งเกิดความฟุ้งซ่านกระวนกระวายที่จะไปเสพความบันเทิง จุดประสงค์หลักๆมีข้อเดียวข้อนี้เลย เพื่ออะไร เพื่อที่จะทำให้จิตมีความพร้อมที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อโฟกัสอยู่กับที่ใด อารมณ์ที่เป็นประโยชน์ใด ก็มีความสามารถที่จะตั้งมั่น มีความสามารถที่จะเล็ง มีความสามารถที่จะอยู่กับสิ่งนั้นได้อย่างเด็ดเดี่ยวนี่แหละ คือจุดประสงค์หลักของศีล ๘ พอเราเข้าใจจุดประสงค์หลักตรงนี้ชัดเจน ก็ค่อยๆมาตอบคำถามกัน

การฟังเสียงธรรมะที่มีเพลงประกอบหรือเสียงเพลงสวดมนต์อย่างนี้ผิดหรือเปล่า ถ้าใจเราไม่ยินดี ไม่ไปเกลือกกลั้วกับความบันเทิงอันเกิดจากการได้ยิน ไม่ได้เคลิ้ม ไม่ได้ก่อให้เกิดกิเลส อยากจะไปฟังเพลงหวานๆไปฟังเพลงที่เจืออยู่ไปด้วยราคะ หรือไปฟังเพลงด้วยประเภทที่ยั่วยุทำให้เกิดความอาฆาตแค้นคนรักเก่าอะไรแบบนั้นก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเพลงประกอบบางเพลงเคยทำให้คนในสมัยพุทธกาลบรรลุธรรมมาแล้วนะ เข้าใจว่าเป็นภิกษุนะ ไม่แน่ใจว่าเป็นภิกษุหรือฆราวาส คนที่แม่นก็คงจำได้นะมันมีอยู่กรณีหนึ่งที่ท่านได้ยินเสียงเพลงจากหญิงที่เดินผ่านละแวกบ้านหรือว่าละแวกวัดอะไรมา แล้วท่านตรึกนึกไปในทางธรรม ตรึกนึกถึงเสียงเพลงที่นางร้องไปในทางธรรม เลยทำให้เกิดความสลดสังเวช ทำให้เกิดความรู้สึกถึงอนิจจัง ความไม่เที่ยงในสังขาร แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีตัวตน ท่านก็บรรลุธรรมบรรลุได้โสดาบันหรืออรหันต์จำไม่ได้ แต่สาระมันอยู่ตรงที่ว่า เสียงเพลงถ้าหากว่ามันปลุกให้เกิดรู้สึกถึงความไม่เที่ยง มันทำให้เกิดความฮึกเหิมที่จะหลุดพ้นออกจากกิเลส มันทำให้เราเกิดความอยากจะต่อสู้กับกิเลส นี่แหละอันนี้แหละ เรียกว่าเป็นไปทางเดียวกับธรรมะไม่สวนทางกันแล้วก็ไม่ผิดในเรื่องของศีล ๘

แต่ถ้าหากเจตนาตั้งต้นของเรานึกอยากฟังเพลงขึ้นมาเองแล้วไปเปิดฟัง อย่างนี้แหละผิดศีลแล้วศีล ๘ นะ การที่เราเข้าปะปนอยู่กับที่มีเสียงเพลงรบกวน ยิ่งไม่เข้าข่ายเขาไปใหญ่เลยเพราะเราไม่ได้ตั้งต้นเจตนาที่จะอยากฟัง พอเราฟังเราก็ไม่ได้ส่งใจให้เกิดความยินดีขึ้นมา อย่างนี้ไม่แม้แต่จะด่างพร้อยอย่าว่าแต่จะทะลุ คำว่าด่างพร้อยหมายความว่าเราเริ่มมีความอยากขึ้นมาเองและเจตนาที่จะไปกดปุ่มฟัง นี่คือเริ่มแล้ว ด่างพร้อยแล้วคือมีความอยากจะไปกดจริงๆนะ คือกำลังตั้งใจเดี๋ยวจะไปกดละแต่ยังกดไม่สำเร็จ นี่เรียกว่าศีลยังไม่ทะลุ แต่ว่าด่างพร้อยแล้ว การที่เราไปอยู่ในที่ที่มีคนเขาเปิดเพลงไว้ก่อนแล้วใจเราไม่ยินดีมันไม่มีการเริ่มต้นใช้กำลังใจที่จะไปฟังเพลง ไม่เกิดอะไรขึ้นเลยกับเรา

ส่วนการถวายซีดีธรรมะที่มีเพลงประกอบแด่พระภิกษุสงฆ์ ก็ไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นไรเลย แม้แต่อย่างเพลงกราบหลวงตาที่ถวายท่านไป พระท่านก็ฟัง แต่ท่านไม่ได้ฟังเพื่อที่จะเอามากล่อมเกลาให้เกิดความบันเทิงให้เกิดความเคลิ้ม แต่ให้เกิดความระลึกถึงคุณของหลวงตาอะไรแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องตีความกันอย่างชัดเจน เวลาตีความธรรมะ เราต้องดูก่อนต้นรากหรือว่าต้นตอที่มาของธรรมะข้อนั้นๆต้องการให้เราเล็งไปทางไหน ศีล ๘ ต้องการให้เราเล็งไปสู่ความเบากายเบาใจ แต่เรากำลังหนักใจอยู่เรื่องว่าตรงนี้มันไม่ใช่ ตรงนี้มันไม่ถูก ตรงนี้มันไม่ควร นี่เรียกว่าเป็นกิเลสข้อหนึ่ง แต่เมื่อเราจะทำให้กิเลสข้อนี้หายไปเราก็ต้องใช้หลักพิจารณาที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการนี่นะ ง่ายๆเลย ท่านดูว่าใจเรากำลังเล็งไปที่จุดหมายปลายทางแบบไหน เราต้องการที่จะตั้งเป้าประสงค์แบบใด เป้าประสงค์ของพุทธศาสนาโดยหลักก็คือทำให้กายเบาจิตเบา เพื่อที่จะมีความพร้อมในการเห็นตามจริงเพื่อพ้นกิเลสเพื่อดับกิเลส ไม่ใช่เพื่อที่จะแบกไว้ ไม่ใช่เพื่อที่จะกั้น กั้นอันโน้นก็ทำไม่ได้ อันนี้ก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้สักอย่างเดียวขัดกับโลกเขาไปหมด อยู่กับโลกเขาไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในเมืองนี่ มันต้องปะปนอยู่กับภาพเสียงสัมผัสที่ค่อนข้างจะเร้ากิเลส เราจะไปขอให้ชาวบ้านเขาอย่าเปิดเพลง จงอย่าสร้างภาพหน้าบันเทิงขึ้นมายั่วใจเราเลย ยั่วตาเราเลย มันเป็นไปไม่ได้ แต่มันเป็นไปได้ที่เราจะมีใจพิจารณาสิ่งที่ได้ยินโดยความเป็นของไม่น่ายินดี โดยความเป็นของไม่น่ายึดมั่นถือมั่น



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐ / วันที่ ๙ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพฤหัสบดีที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ก็ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks ครับ คืนนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานะครับ เรามาดูคำถามแรกกันเลยก็แล้วกัน



๑) รายการทีวีเคยนำเสนอเรื่องกะเทยหรือทอม ที่มีเหตุให้กลับมาเป็นเพศปกติ อย่างนี้เป็นสัญญาณว่าเขาหมดกรรมหรือเปล่า? แล้วกระเทยบางท่านที่มีจิตอยากบวชเป็นภิกษุสามารถทำได้หรือไม่?

เรามองย้อนไปเลยนะว่า ตรงความรู้สึกเบี่ยงเบนทางเพศมันมาจากไหนนะครับ มันไม่จำเป็นต้องมาจากกรรมเก่าในอดีตชาติเสมอไปนะครับ ขอเพียงมีการแกล้งทำกระตุ้งกระติ้ง หรือว่าอย่างที่เคยมีดาราให้สัมภาษณ์นะครับ เดิมทีก็เป็นผู้ชายอยู่ดีๆมีแฟน แล้วจะต้องมารับบทเป็นกระเทยหรือว่าแกล้งสะดีดสะดิ้งอะไรนานๆเข้านี่มันติด มันกลายเป็นความเคยชิน ซึ่งก็ตรงกลับที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้นะ ถ้าหากว่าติดในกิริยาท่าทางของผู้หญิง แบบว่ามีอาการดัดๆหน่อย หรือว่ามีอาการแกล้งอ่อนไปอ่อนมา ระทดระทวยอะไรแบบนั้น ในที่สุดก็เหมือนกับมีสัญชาตญาณหรือว่าความรู้สึกแบบเพศหญิงติดมาได้นะครับ มันก็เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศได้

ทีนี้ถามว่าถ้าบางคนนี่ คือไม่ได้ไปแกล้งทำนะครับ แต่มันเป็นเองมาตั้งแต่เด็ก ผมเคยได้ยินหลายคนนะครับที่บอกจากปากเลยว่า มีความรู้สึกแบบนั้น มาตั้งแต่ยังเด็กๆนะ โดยไม่ได้ไปแกล้ง ไม่ได้ไปทำอะไรที่มันพิลึกพิสดารทั้งสิ้น และก็ไม่ได้มีแรงบีบคั้นจากภายนอกมากระทำด้วย แต่มันมีความรู้สึกของมันเองขึ้นมา อันนั้นถือว่าเป็นของเก่า เป็นวิบากที่เกิดจากกรรมเดิมเขาบังคับ หรือบีบให้เกิดความรู้สึกผิดธรรมชาติทางเพศในปัจจุบันไปนะครับ

ทีนี้พอเกิดเหตุกระทบกระทั่ง มีอุบัติเหตุหรือมีเหตุการณ์บางอย่างให้กลับใจนี่ถือว่าหมดกรรมแล้วหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องถามว่าพอกลับใจแล้วนี่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข มีความรู้สึกดีหรือไม่ดีนะครับ ถ้าหากว่ามีความรู้สึกที่ดีกับตัวเองขึ้นมาได้ ตรงนั้นถึงจะถือว่าหมดกรรมเก่า เพราะว่าความรู้สึกนี่เป็นตัววัดได้ดีเลยว่า วิบากเก่าเล่นงานเรามาจนสุดขั้วแล้วหรือยัง

จริงๆแล้ววิบากของกรรมที่เคยทำไว้ตั้งแต่อดีตชาติแล้วมาให้ผลคือ มีวิบากเล่นงานเราในปัจจุบันชาตินี้ เล่นกันได้มากที่สุดหนักที่สุดก็ตรงความรู้สึก ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางหูตา แต่เป็นความรู้สึกของเรานี่ ที่ชอบหรือไม่ชอบ ที่มีความรู้สึกทรมานใจหรือรู้สึกสบายใจที่จะได้เป็นแบบนั้น ถ้าหากว่าเป็นทุกข์อยู่อันนั้นให้สันนิษฐานว่า มีวิบากเก่าบางอย่างกระทำกับชีวิตเราด้วย จะรู้แบบอะไรก็แล้วแต่ จะทำให้เกิดเหตุการณ์อะไรก็แล้วแต่ แต่มาลงที่ความรู้สึกเป็นทุกข์นั่นแหละ ตัวนั้นนั่นแหละ เป็นเครื่องสะท้อน เป็นสัญญาณบอก เป็นเครื่องหมายบอกว่า วิบากกรรมที่เกิดจากบาปเก่ากำลังเล่นงานเราแล้ว ถ้าหากว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างให้กลับใจ แล้วรู้สึกเป็นสุขขึ้นมา นั่นถึงจะเป็นตัวตัดสินว่าของเก่าหมดแรงส่งที่จะให้ผลนะครับ

สำหรับการคิดอยากบวช อันนี้ผมก็เคยพบกับพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนะครับ แล้วท่านก็เก็บอาการลักษณะของความเบี่ยงเบนหรือว่าความชอบใจ คือเวลาบวชไปนี่นะครับ พฤติกรรมในการบวชเป็นตัวชี้สำคัญ นี่คือมีวินัยอยู่นะครับ คือในภาษาพระเรียกว่าบัณเฑาะก์ ซึ่งก็มีการตีความกันว่า หมายถึงผู้ที่มีอวัยวะเพศชายสามารถกลับกลายเป็นอวัยวะเพศหญิงได้ในคนๆเดียวกัน ในปัจจุบันก็มี แต่น้อย หาได้ยากมากที่จะมีกรณีอวัยวะเพศที่สามารถเปลี่ยนเป็นชายก็ได้ เป็นหญิงก็ได้ อันนั้นที่ท่านตีความกันว่าพระวินัยห้ามไม่ให้บวช จะมุ่งเอาคนประเภทนั้น แต่ก็จะมีบางความเห็น บางตำรานะครับที่บอกว่า เหมารวมเอาพวกที่เบี่ยงเบนทางจิตใจด้วย อันนี้ก็แล้วแต่การตีความกัน แต่เท่าที่ผมเห็นมาคือ สำหรับวัดป่าก็มีนะครับ ที่ท่านรับเอาคนที่มีความเบี่ยงเบนทางความชอบใจทางเพศมา แต่ว่าไม่มีพฤติกรรมที่เสียหาย ท่านสามารถที่จะบวช แล้วก็มาประพฤติถูกประพฤติชอบนะครับ ในการบวชนี่เราไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางเพศอยู่แล้ว เราต้องข่มใจห้ามใจไม่มีพฤติกรรมทางเพศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นนี่ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดนะครับ ถ้าหากว่าคิดจะมาเอาดีเป็นพระ ในเมื่อโดยรูปลักษณะของกายนี่ มันก็ฟ้องอยู่ว่าเป็นเพศชายสมบูรณ์ทุกประการ



๒) เป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน แต่กลับถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเขาเอาเปรียบ และบางคนพอเราให้เกียรติเขา เขากลับข่มเรา ทั้งๆที่ความจริงเราไม่ได้เกรงกลัว แต่เป็นเพราะอภัยเมตตาไม่ถือสาหาความใครต่างหาก จะทำอย่างไรให้เราดูไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาคนอื่น?

ความเข้มแข็งกับความอ่อนแอนี่ มันแตกต่างกันที่ความรู้สึกทางใจนะ ถ้าหากว่าใจเราเป็นทุกข์อยู่ มีความรู้สึกระส่ำระสายอยู่ กระแสความอ่อนแอนี่มันจะส่งออกมา แล้วถึงแม้ว่าภายนอกจะยังดูแข็งๆ แต่ถ้าหากว่าภายในมีความรู้สึกสว่าง มีความรู้สึกนิ่ง มีความรู้สึกตั้งมั่นอยู่ อันนั้นจะส่งกระแสของความเข้มแข็งออกมา อันนี้พูดถึงหลักการก่อน อย่าเพิ่งพูดว่าผมตอบคำถามนี้แล้วหรือยัง ตรงตัวแล้วหรือเปล่านะครับ

โดยหลักการก็คือมนุษย์นี่จะสามารถรับรู้ได้ว่าภายในของอีกฝ่ายหนึ่งที่กำลังอยู่ต่อหน้านี่ มีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีความอึดอัดหรือมีความสบาย ลองสังเกตตัวเองดูนะ อันนี้เป็นประสบการณ์ทางใจที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันเลย บางทีเราไปหาใครที่เขาเป็นผู้นำ เราก็รู้สึกว่าเขาน่าเกรงใจ เขามีความเข้มแข็ง เขามีลักษณะของคนที่เราจะไปรังแกไม่ได้ หรือเอาง่ายๆอย่างถ้าหากว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ไปหาหมอ ถ้าเป็นหมอใจดี ถ้าเป็นหมอที่มีความกระตือรือร้นในการรักษาคนไข้อยู่ทั้งวันทั้งคืน มีความแข็งแรงออกมาจากความเมตตาปราณีที่อยากจะช่วยคน เราจะรู้สึกเลยว่า แค่เข้าไปในห้องตรวจก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าอาการเราดีขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว นั่นเป็นเพราะว่าเราได้รับกระแสความรู้สึกดีๆมาจากหมอ ได้รับความรู้สึกเข้มแข็งของคนที่ไม่ยอมแพ้กับโรคภัยไข้เจ็บ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บของตัวเองโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นการถ่ายทอดกระแสที่เห็นได้ชัดในตัวอย่างชีวิตประจำวันทั่วไปนะครับ

แต่ที่ผมยกตัวอย่างอย่างคนที่เป็นผู้นำ หรือคนที่เป็นหมอใจดีนี่ ก็จะเป็นกรณีความเข้มแข็งที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก แต่ถ้าหากว่าเรามาพูดถึงคนทั่วๆไปที่พูดง่ายๆแหละว่าก็มีกิเลสแล้วก็มีความรู้สึกกลับไปกลับมา ระหว่างอยากให้อภัยกับอยากเอาคืนนะครับ ถือว่ามีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องชั่งใจแหละว่า จะอภัยดี ไม่อภัยดี จะพูดอย่างไรถึงจะให้ฟังดี แล้วก็เขาไม่ระคายใจด้วย และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ถูกเข้าใจผิดด้วย มันจะยังมีความแกว่งไปแกว่งมาได้อยู่นะครับ อันนี้มองเป็นเรื่องของจิตไปก่อนนะ

ทีนี้มาเข้าคำถามนะครับว่า การที่เราเป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน แล้วถูกมองว่าอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเอาเปรียบ ตรงนี้ บางทีนะครับ ความอ่อนน้อมหรือให้เกียรติคนนี่ มันอาจทำให้คนบางคนที่เป็นพาลนี่มองว่าเราหงอ มองว่าเราดูเหมือนกับปกป้องตัวเองไม่ได้ เราเป็นคนอ่อนแอนะครับ ให้สังเกตลักษณะของใจในขณะที่เราอ่อนน้อมและให้เกียรติคน เราอ่อนมากเกินไปหรือเปล่า หรือว่าเรายังมีความสดใส มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่ ถ้าหากว่าเรายังมีความสดใส มีความเข้มแข็ง ยังมีความเป็นตัวของตัวเองนะ ความอ่อนน้อมนั้นจะถูกมองว่าเป็นการให้เกียรติ แต่ถ้าหากว่าเราอ่อนน้อมแล้วใจข้างในของเราเหมือนกับยอมเขาได้ทุกอย่างนี่ กระแสความรู้สึกมันจะพลิกกลับไปเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเขาจะรู้สึกว่าเราตัวงอเกินไป เราหงอเกินไปหน่อย แล้วก็ดูน่ารังแกซะด้วย

อันนี้เป็นธรรมชาติที่ค่อนข้างจะเป็นที่สังเกตได้ล่ะ คือมันไม่มีถูกไม่มีผิดนะ แต่เป็นที่สังเกตได้ ถ้าหากว่าใครมาทำหงอๆนี่ ธรรมชาติของคนที่ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นเต็มที่นี่นะ จะรู้สึกว่าคนๆนี้น่ารังแก คนๆนี้น่ากลั่นแกล้ง คนๆนี่ไม่น่าเห็นใจซะด้วยซ้ำนะครับ คือมนุษย์เรานี่นะ กิเลสนี่มันเป็นอย่างนี้แหละ คือเห็นใครที่อ่อนกว่าด้อยกว่านี่ จะอยากเหยียบย่ำ เห็นเป็นบันได เพราะคนส่วนใหญ่นี่อยากมีจะมีอัตตา อยากจะมีความยิ่งใหญ่ อยากจะมีความเป็นนาย

เพราะฉะนั้นสรุปก็คือว่า เราต้องสังเกตตัวของเราเองด้วยว่า การอภัย การเมตตาไม่ถือสาหาความนี่ เป็นไปด้วยอาการที่เรายังมีความรู้สึกชัดเจนอยู่ข้างในหรือเปล่า เรายังมีสติอยู่ชัดเจนหรือเปล่านะครับ ยืนอยู่รู้ว่ายืนอยู่ไหม พูดอยู่กับเขารู้สึกถึงอาการพูดไหม หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าไม่เป็นไร ดิฉันไม่ถือ ด้วยอาการแบบนี้นี่ เป็นอาการของคนที่ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความตรง ยังยืดตัวได้ตรง ยืดอกได้ตรง หน้าตั้ง คอตั้ง หลังตรงอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการให้อภัย ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการอ่อนน้อมนะครับ เขาจะรู้สึกว่าเขากำลังได้รับเกียรติจากเราอยู่ แต่ถ้าอ่อนน้อมของเราหมายถึงการอ่อนไปทั้งตัวเลย ระทดระทวย หรือว่างอไปทั้งตัวนะครับ อันนั้นเขาจะรู้สึกว่าเรามาก้มศีรษะให้เขาด้วยอาการที่อยากจะมารับใช้เขา หรือว่าอยากจะมายอมให้เป็นบันไดให้เขาเหยียบขึ้นไปมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวตนของเขา

อันนี้ขอให้สังเกตด้วยก็แล้วกัน การที่เราจะไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาของคนอื่นได้ จำไว้เลยว่าความรู้สึกของเราจะต้องยังเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อย แล้วก็ไม่งอแบบหงอนะครับ



๓) คุณป๊าเป็นคนใจร้อนมาก เวลาขับรถนิดหน่อยก็โกรธโมโหสบถออกมา แล้วทำให้ทุกคนบนรถพลอยหงุดหงิดอารมณ์ไม่ดีตามไปด้วย บางครั้งพากันบ่นคุณป๊า ท่านก็จะยิ่งโมโห และถ้าไม่สนใจฟังเลยก็จะยิ่งหงุดหงิด ส่วนหนูก็จะพยายามทำใจเย็น ไม่ปริปากว่าใคร แต่พอเจอคุณป๊าทีไร ก็จะอดพูดไม่เพราะไม่ได้ หรือบางทีก็บ่นไป นิ่งไม่ไหวเลย จะมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง?

อันนี้ก็ขอให้ดูปฏิกิริยาทางใจของตัวเองนะครับ เวลาที่รุ่มร้อนขึ้นมา บอกตัวเองว่านี่แหละความร้อนมันหน้าตาแบบนี้ ถ้าหากว่าเรายอมรับความจริงได้ ณ ขณะนั้นว่ากำลังมีอาการร้อนอยู่แค่ไหนนะครับ ปกตินี่ใจมันจะมีความค่อยๆเย็นลง แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้สึกตัวว่ากำลังร้อนอยู่ อาการของใจนี่มันจะถูกความร้อนลากจูงให้ทะยานออกไปเป็นความอยากพูด อยากระบาย อยากบ่น หรืออยากต่อว่า อันนี้เป็นข้อสังเกตเลยนะครับ

ถ้ารู้สึกถึงความร้อนเหมือนกับมีไฟอยู่ในอกนี่ แล้วเรารู้สึกว่ามีไฟอยู่ในอก ไฟมันจะค่อยๆมอดลง บางทีต้องใช้เวลานานนะ ไม่ใช่มอดทันทีนะ แต่ระดับอย่างน้อยที่สุด ระดับความร้อนนี่มันจะไม่เท่าเดิม นาทีนี้ร้อนแค่นี้ อีกครึ่งนาทีต่อมา อาจจะร้อนน้อยลง หรือบางทีเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างน้อยที่สุดคือได้เห็นความร้อนมันเปลี่ยนระดับให้เราดูนะครับ

แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้สึกถึงความร้อน ไม่รู้สึกว่าไฟกำลังอยู่ในอกนี่ ไฟนั้นน่ะ มันอยากจะระบายออกมาทางปาก มันจะแลบออกมาเป็นคำพูดที่ไม่ดี หรือเป็นคำบ่น หรือเป็นคำต่อว่านะครับ อันนี้คือหลักการ

ถ้าหากว่าเราแค่เห็นอย่างนี้นะ มันจะเหมือนกับอะไรที่แปลกใหม่ในชีวิตเลยทีเดียว ได้ข้อสังเกตว่ามันมีความแตกต่างระหว่างการเห็นกับการไม่เห็นความร้อน ถ้าเห็นความร้อน ความร้อนจะค่อยๆเบาลง แต่ถ้าไม่เห็นความร้อน ความร้อนมันจะอยากระบายออกมาทางปากนะครับ เพียงเห็นเท่านี้นะ เห็นบ่อยๆ เห็นให้ได้ถึงความแตกต่างนี่ก็เรียกว่าเราจะมีสติในขณะที่เกิดความหงุดหงิดคุณป๊านะครับ

แล้วพอยต์มันก็คือว่า เมื่อเราเห็นบ่อยๆเข้านะครับ ถ้าร้อนแล้วไม่ดูความร้อน มันพูดออกมาทางปาก แต่ถ้าเห็นความร้อนขึ้นมา ความร้อนค่อยๆลดระดับให้ดูได้ อย่างนี้น่ะ ในที่สุดเราจะเกิดความเย็น ทุกครั้งที่คุณป๊าบ่นหรือว่ามีอาการหงุดหงิดให้เห็นนะ มันมากระแทกใจเราปุ๊บ เราก็ยังหงุดหงิดอยู่นะ เราก็ยังร้อนอยู่นะ แต่เราจะค่อยๆมีความรู้สึกว่า นี่เป็นแบบฝึกหัดให้ใจเราเย็นลง

การที่คนๆหนึ่งจะมีใจเย็นได้นะ ไม่มีทางที่จะเกิดมาแล้วใจเย็นเอง แต่ต้องผ่านความร้อนและก็ฝึกที่จะดูความร้อน จัดการกับความร้อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งมาก่อน อันนี้ที่ผมพูดนี่ก็เป็นวิธีการเจริญสติแบบพุทธศาสนานะครับ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เมื่อมีโทสะในจิตให้รู้ว่ามีโทสะในจิต คือยอมรับไปตามจริงว่ามีโทสะในจิต ไม่ใช่ไปปฏิเสธ ไม่ใช่ไปพยายามหาทางดับทันที แล้วเมื่อความร้อนมันถูกรู้ ในที่สุดความร้อนจะเบาบางลงไปหรือหายไปจากจิต เราก็รู้ว่าสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากความร้อนหายไปคือจิตที่มันรู้ ที่มันสบายขึ้น ที่มันเย็นลง ความเย็นนั่นแหละที่ทำให้เราขอบคุณต้นเหตุที่ทำให้เราหงุดหงิด เพราะมันได้ฝึก ถ้าหากว่าไม่ได้ฝึก เราไม่มีทางที่จะใจเย็นได้เลยทั่วทั้งชีวิตนะครับ



๔) ทำไมบางคนเผยแผ่ธรรมะแบบที่เน้นทั้งปริมาณและคุณภาพ แต่ทำไมบางคนเน้นที่คุณภาพโดยเจาะจงให้กับคนกลุ่มเล็กๆ เพื่อป้องกันความเห็นผิดแล้วค่อยมาเน้นปริมาณภายหลัง?

อย่างในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์นะครับ ก็มีตัวอย่างหนึ่งคือพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านบรรลุโสดาบันเป็นอริยบุคคลที่เจริญรอยตามพระพุทธเจ้าเป็นท่านแรก และก็สามารถที่จะบรรลุอรหัตผลในเวลาไม่นานด้วย แต่ท่านไม่มีอัธยาศัยในการสอนคนนะ ก็ว่ากันว่าท่านหนีเข้าป่า หลังจากที่ท่านบรรลุอรหัตผล แล้วก็มีความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะแล้วท่านไม่ค่อยถูกจริตเท่าไหร่นะครับ อย่างเช่นว่าจะต้องไปนั่งข้างหน้าหรือข้างหลังพระสารีบุตรนี่ ท่านไม่ถนัดเลย พระสารีบุตรก็เกรงใจท่าน แต่ตัวท่านเองท่านก็ยกพระสารีบุตรให้เหนือกว่าเพราะว่าเป็นถึงพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านก็เลยตัดสินใจปลีกตัวเข้าป่า และก็ไม่ยินดีในการสอนใครด้วยนะครับ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่า ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วนะ แล้วก็มีศักดิ์มีศรีมีเกียรติ เรียกว่ามีความเป็นเอตทัคคะด้านใดด้านหนึ่งนี่นะ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากสอนคนเสมอไป

ทีนี้เรามาดูว่า แม้แต่พระอริยบุคคลท่านนี่ ท่านก็ยังมีอัธยาศัยที่แตกต่างล้ำเหลื่อมกันนะครับ ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจที่จะสอน อันนี้เรื่องของการอยากสอนหรือไม่อยากสอนนี่ เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบารมีมาในทางให้ธรรมเป็นทาน หรือให้วิทยาทาน แต่ละคนมีความถนัดไม่เท่ากันนะครับ แล้วยิ่งจะมาพูดเรื่องการเผยแผ่ทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือเลือกเพียงคุณภาพอะไรต่างๆนี่นะ ยิ่งเป็นอัธยาศัยหรือว่าความชอบใจของแต่ละคนเข้าไปใหญ่เลยนะครับ ไม่สามารถที่จะบอกได้ตายตัวว่า ใครผู้ใดมีความสามารถทางธรรมะแล้วนี่ จะอยากเผยแผ่แบบไหน หรือว่าอยากจะเก็บตัวอยู่เงียบๆคนเดียว ไม่สุงสิงไม่ยุ่งกับใครเลย

ก็สรุปง่ายๆคือ ขึ้นอยู่กับอัธยาศัยนะครับ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถูกความผิดหรือว่าความควรความไม่ควรนะครับ



๕) พนักงานไม่พอใจหัวหน้าที่ไม่ยอมทำงานเลย ส่วนหัวหน้าก็คิดว่าตัวเองทำงานเต็มที่แล้ว ปรับตัวกันได้ไม่นานก็เหมือนเดิม ทำอย่างไรดี?

เรื่องในที่ทำงานนี่นะ เป็นเรื่องน่าปวดหัวที่สุดเลย คือมันไม่มีทางออกในแบบที่ว่าทำอย่างไรแล้วจะเกิดผลดีที่สุด หรือแม้แต่อุตส่าห์จ้างเอาคนที่ชื่อว่าเป็นเอกซ์เพิร์ต หรือว่าที่ปรึกษาในการบริหารองค์กรมาช่วยไกล่เกลี่ยอะไรต่างๆนี่นะครับ ถ้าใจคนไม่ยอมกันซะอย่าง หรือว่าไม่ยอมที่จะมองเห็นมุมมองของอีกฝ่ายนะครับ อย่างไรๆนะไม่ว่าจะคำพูดไหน ไม่ว่าจะกุศโลบายใด ก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ยกเว้นจะมีผู้นำที่เป็นแบบอย่างจริงๆ หมายถึงว่าในระดับหัวเลยนะ ในระดับกลางกับในระดับหางนี่ ส่วนใหญ่จะมองว่าองค์กรของตัวเองนี่มีหัวไว้นำหรือเปล่า

ถ้าหากว่าองค์กรของตัวเองมีหัวที่ชัดเจน ทุกคนยอมลงให้ และเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำงานนี่นะ บรรยากาศในการทำงาน สภาพแวดล้อมต่างๆนี่ จะคล้อยตามรอยเท้าของผู้นำคนนั้น แต่ถ้าหากว่าผู้นำองค์กรนั้นๆไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของระหว่างคนกับคน ลูกน้องไม่อยากยอมก้มหัวให้เจ้านายในเมื่อรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าเจ้านาย หรือว่าฉลาดกว่าเจ้านาย หรือว่าขยันกว่าเจ้านาย ส่วนเจ้านายนี่ก็มีความรู้สึกว่าลูกน้องกระด้างกระเดื่อง

ถ้าหากว่าเราจะเอาข้อสรุปหรือว่าคำตอบในการแก้ไขปัญหาจริงๆนี่ บางทีมันไม่ใช่ด้วยการคุยกันอย่างเดียว แต่มันจะต้องเป็นการหาทิศทางร่วมกันด้วย ว่าจะอยู่กันอย่างไรโดยที่ไม่ต้องมามีความรู้สึกว่า นี่แกเหนือกว่าฉัน หรือว่าแกต้องอยู่ภายใต้คำสั่งฉัน หรือว่าความรู้สึกที่เหมือนกับว่า ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกันนะครับ

ถ้าหากว่าการประชุมเป็นไปในทิศทางที่มีใครสักคนนะครับ บอกได้ว่าโอเค คุณผิดหรือว่าคุณถูก หรือคุณควรจะไปทางนี้ คุณไม่ควรจะไปทางนั้น นั่นแหละ องค์กรนั้นน่ะมันถึงจะมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยที่จะไม่มีการมาคิดเล็กคิดน้อยกันนะครับ มันไม่ใช่เรื่องที่เราคงมาคุยกันสี่นาทีนี้แล้วได้คำตอบ อันนี้พูดตามในโลกความเป็นจริงเลยว่า ถ้าไม่มีหัวที่ชัดเจน กลางกับหางไม่มีทางชัดเจนด้วย มันจะส่ายไปส่ายมาตลอดนะครับ


เอาล่ะ คิดว่าวันนี้คงต้องกล่าวอำลาเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ เหลือเวลาประมาณหนึ่งนาทีนะครับ ก็อยากจะกล่าวว่า โลกของอินเตอร์เน็ตก็มีประโยชน์นะครับที่ทำให้เราได้มาพบมาคุยกัน แล้วก็สร้างสรรค์ทั้งคำถามคำตอบที่ทำให้เรามีความสบายใจนะครับ มีความเป็นธรรม มีความสว่างก่อนนอนนะครับ ก็สำหรับวันนี้นะครับ ผมดังตฤณขอลาไปก่อน ราตรีสวัสดิ์ครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๕ / วันที่ ๒๒ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) อยากทราบวิธีแก้ไขนิสัยที่ไม่ดี คือว่าเป็นคนง่วงง่าย ขี้เซา หลังตื่นนอนตอนเช้าจะมีอาการซึมๆมึนตึ๊บอยู่หลายนาที ทั้งๆที่นอนพักผ่อนไปร่วมแปดชั่วโมงแล้ว และถ้าหากนอนน้อยจะยิ่งมึนร่วมกับหงุดหงิดง่ายด้วย?

ถ้าเอาตามที่เห็นจากประสบการณ์ตรงและก็ดูจากหลายๆท่านนะครับ อาการที่เราอยากจะนอนมากๆแล้วก็ขี้เซา หรือว่าตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการมึนร่วมกับอาการหงุดหงิดทั้งหลายทั้งแหล่นี่นะ ส่วนใหญ่จะมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตระหว่างวันด้วยนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราเป็นคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการบันเทิง มากกว่าที่จะทำงานนี่ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการแบบนี้กัน อันนี้คือพูดจากที่เห็นล้วนๆเลยนะ คือไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และไม่ได้เอาผลงานวิจัยจากใครมาทั้งสิ้นนะ ถ้าหากว่าระหว่างวันมีอาการเหม่อบ่อย มีอาการฟุ้งซ่านไปในเรื่องของการบันเทิง หรือว่ามีอาการหงุดหงิดง่ายไปในเรื่องของการกระทบกระทั่งอะไรต่อมิอะไรต่างๆ พูดง่ายๆว่าเป็นคนคิดไปเรื่อยเปื่อยนะครับ มีอะไรมากระทบนิดๆหน่อยๆก็สามารถจะเกิดปฏิกิริยาในทางที่ไม่ดี ในทางที่เป็นลบ หรือลุ่มหลงอยู่ในเรื่องของรูป รส กลิ่น เสียงต่างๆนะครับ ด้วยลักษณะของคนที่ปักใจอยู่กับการใช้ชีวิตในเมืองแบบที่มีสีสัน มีแสงเสียง ที่จะยั่วเย้าให้กิเลสมันกำเริบไปในทางเคลิ้มหลงนะครับ

อันนี้มันจะเกี่ยวกับการที่เรานอนไปแล้วนี่ รู้สึกไม่เต็มอิ่ม เพราะอะไร? อยากให้สังเกตว่าถ้าหากเรานอนลงไป แล้วข้างในมันยังไม่ยอมพักผ่อนตาม มันมีอาการเหมือนกับฝันวกวนเหมือนกับเราต้องออกแรง หรือว่ามีความเลอะเทอะเลื่อนเปื้อนนะครับ ภาพโน้นกระโดดไปทางนั้นที แล้วภาพนี้เปลี่ยนไปเป็นฉากโน้นฉากนี้มั่วเลอะเทอะไปหมดนี่นะ พอตื่นขึ้นมาแล้วมันจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่าเลอะเลือนพร่ามัว เพราะว่าจิตใจระหว่างวันนี่มันพร่ามัวอยู่แล้ว มันเหม่อมันซึมมันมีอาการฟุ้งอยู่แล้ว พอไปนอนหลับพักผ่อน อาการฟุ้งอาการเหม่อซึมนั้นนะ มันก็ไม่ขาดสายหายหนไปไหน มันยังมีความต่อเนื่องไปพัฒนาในรูปความฝัน ที่สร้างมาจากพื้นฐานความเหม่อความฟุ้งซ่าน พอตื่นขึ้นมามันก็เลยมีความรู้สึกอย่างที่ว่านั้นแหละ

อันนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะน้องที่ถามมานะ นี่พูดถึงในกรณีทั่วๆไปที่เห็นบ่อยที่สุดนะครับ พูดง่ายๆคือถ้าหากว่าจิตใจของเราไม่โฟกัส ไม่เป็นสมาธิอยู่กับสิ่งที่เป็นประโยชน์ในระหว่างวัน และก็เอาจิตไปใช้ในทางที่ออกแนวบันเทิงซะมาก หรือว่าเหม่อซะมาก หรือว่าฟุ้งซ่านไปในเรื่องของราคะ โทสะ โมหะซะมากนี่ มันก็จะไปต่อยอดเอาที่ความฝัน มันก็เลยไม่มีการพักผ่อนที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีการพักผ่อนที่มีคุณภาพมากพอนะครับ ตื่นขึ้นมาก็เลยซึมเซาได้ และก็จะมีอาการอยากนอนมากๆด้วย

นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะในกรณีของจิตฟุ้งซ่าน จิตเหม่อลอยระหว่างวันอย่างเดียว บางทีมันขึ้นอยู่กับสถานที่ด้วยนะว่า เรานอนในที่ที่มีออกซิเจนพอไหม อย่างหลายคนเคยบอกว่าออกจากกรุงเทพไปแล้วเข้าไปที่เขาใหญ่ หรือไม่ก็แถวที่มีโอโซนมากอย่างวังน้ำเขียว โคราชอะไรแบบนั้น หรือจะเป็นบรรยากาศชายทะเลหัวหิน หรือว่าจันทบุรีอะไรต่างๆที่อากาศยังบริสุทธิ์อยู่นี่นะ มันเห็นผลชัดเจนเลย คืนแรกสองคืนแรกนี่ แตกต่างจากกรุงเทพอย่างชัดเจน รู้สึกเหมือนกับตื่นขึ้นมามีความสดชื่น อันนี้ก็เพราะว่าในทางกายภาพนี่นะ ถ้าหากว่าเราได้นอนในที่ๆมีความปลอดโปร่งมากพอ มีออกซิเจนมากพอนะ คุณภาพในการพักผ่อนมันต่างกันเป็นคนละเรื่องเลยนะครับ

นอกจากนั้นถ้าหากว่าระหว่างวันก็ปฏิบัติตัวดีแล้ว หรือว่าออกซิเจนก็พอเพียงแล้ว แต่ตื่นมาทำไมมันยังมีอาการง่วงงุนเซื่องซึมอยู่ อันนี้จะทดลองอย่างนี้ก็ได้นะครับ ทำให้ทุกเช้ามีความเบิกบานในกุศล ทำให้ทุกเช้ามีความสว่าง มีความตื่นตัว ถ้าหากว่ายังนั่งสมาธิไม่เป็น ก็ขอแนะนำให้สวดมนต์ สวดมนต์ทุกเช้าที่ตื่นนอนขึ้นมานะครับ ถ้าหากว่ายังสวดมนต์ให้เกิดความชุ่มชื่นไม่ได้ ลองเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ ‘อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ’ ถ้าคุณเปล่งเต็มปากเต็มคำนะครับ แก้วเสียงออกมาฟังแล้วมีความรู้สึกว่า เราสามารถที่จะตื่นนอนขึ้นมาพร้อมกับเสียงที่เป็นมงคล พร้อมกับการใช้แก้วเสียงไปในทางบูชาพุทธคุณแทนดอกบัว แทนดอกไม้ แทนมาลัยนะครับ คุณจะเกิดความรู้สึกว่า เสียงของคุณนั่นแหละปรุงแต่งจิตให้เกิดความสดใส ปรุงแต่งจิตให้เกิดความตื่นเต็มขึ้นมาได้อย่างง่ายดายนะครับ ก็ทดลองดูก็แล้วกัน พูดง่ายๆนะ ถ้าหากว่าปัจจัยทางกายมันไม่สามารถทำให้ตื่นขึ้นมาได้ ก็เอาปัจจัยทางจิต คือความเป็นกุศลจิตมาลองปรุงแต่งชีวิตในช่วงเช้าดู ทดลองดูนะครับ



๒) คนชาติอื่นๆตายไปแล้ว จะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์เหมือนกับคนอย่างเราๆที่นับถือพุทธไหม? ถ้าไปสวรรค์นรกที่เดียวกัน แล้วจะคุยกันรู้เรื่องไหม?

โลกหลังความตายหรือโลกของวิญญาณนี่นะ ไม่ได้ใช้ภาษาแบบโลกๆแบบนี้นะ จะใช้ภาษาทางจิต ลองคิดดูง่ายๆเวลาที่คุณเห็นคนต่างชาติต่างภาษานี่ บางทีคุณสามารถทราบได้ว่าเขาใช้ภาษากายบ่งบอกว่าต้องการอะไร หรือพยายามที่จะคุยกับเขาในแบบที่ใช้ภาษามือ หรือว่าส่งเสียงใบ้กัน แล้วเกิดความรู้สึกเหมือนจะมีความเข้าใจกันมากขึ้นเรื่อยๆได้ อันนั้นแหละเป็นตัวอย่างของภาษาทางจิต ภาษาที่ส่งออกมาจากเจตจำนงภายใน ซึ่งไม่ได้ใช้ไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง ไม่ได้ใช้คำศัพท์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง แต่ใช้ความต้องการทางใจนะ อันนั้นคือตัวอย่าง แต่ว่าในโลกวิญญาณหลังความตาย มันละเอียดอ่อนกว่านั้น คือคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวเองพูดภาษาไทย อีกคนหนึ่งเข้าใจว่าตัวเองพูดภาษาจีนหรือภาษาฝรั่งนี่นะ มันสามารถที่จะสื่อสารกันได้ เพราะว่าไม่มีอะไรปิดบังเหมือนกับตอนอยู่บนโลก ถ้าหากว่าได้ถึงระดับความสูงส่งของวิญญาณระดับเดียวกัน สามารถสื่อสาร สามารถจูนกันรู้เรื่องได้ทันที รู้ว่าเจตนาอะไร ต้องการฝากข้อความอะไรไว้ หรือถ้าหากว่าจิตหยาบพอๆกัน อันนั้นก็สามารถสื่อสารกันได้อีกนะครับ สื่อสารกันด้วยระดับคลื่นของจิตที่ไม่มีความไม่รู้แบบมนุษย์มาปิดบังมาปิดกั้น แต่ถ้าหากว่าจิตไม่เสมอกัน ต่อให้พูดราวกับว่าเป็นภาษาเดียวกัน ขมุบขมิบปากเป็นภาษาเดียวกัน แต่ก็ฟังกันไม่รู้เรื่องอยู่ดี อันนี้ก็เหมือนกับในโลกมนุษย์นี่แหละ ถึงพูดภาษาไทยเหมือนกันไม่ใช่จะสื่อสารเข้าใจกันทุกครั้ง อุตส่าห์พูดอุตส่าห์ใช้มือไม้ประกอบนะ แต่ในที่สุดแล้วก็ฟังไม่รู้เรื่อง นี่ถ้าเกิดว่าตั้งอคติเข้าใส่กันนะ พูดจนจบก็เหมือนไม่ได้พูดอะไรเลย แต่คนที่มีความพร้อมจะเข้าใจกัน ธาตุนิสัยเดียวกัน ยังไม่ทันพูดสักคำ บางทีมันเหมือนเข้าใจกันเรียบร้อย ตรงนี้เป็นเรื่องของภาษาทางใจ เป็นเรื่องที่ไม่ใช่แค่อุปมาอุปไมยว่า ภาษาทางใจภาษาจิต มันมีภาษาทางจิตอยู่จริงๆ มันมีภาษาทางใจอยู่จริงๆ

ทีนี้ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของสวรรค์ หรือว่าสถาปัตยกรรม หรือว่ามีนวัตกรรมทางทิพย์อะไรต่างๆนี่ ส่วนใหญ่นะครับ ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกไว้ว่า มันเป็นไปตามการปรุงแต่งของกรรม ถ้าหากว่ากรรมมันสามารถปรุงแต่งให้สถาปัตยกรรมของชาติต่างๆนี่นะ ปราสาท หรือบ้าน หรือว่ากระต๊อบ มันแตกต่างกันได้ในโลกนี้ มันก็สามารถที่จะปรุงแต่งให้เกิดความแตกต่างทางสถาปัตยกรรม หรือว่านวัตกรรมอะไรต่างๆบนสวรรค์ได้เช่นกัน กรรมนี่เป็นสิ่งที่มีความวิจิตรพิสดารยิ่งกว่าสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราไปดูในสวรรค์ชั้นเดียวกันนี่นะ บางทีเหมือนกับเห็นเป็นความสว่างเหมือนกัน เห็นเป็นความวิจิตรลวดลายอะไรต่างๆนี่ มันออกมาจากกรรมทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่ามีใครไปออกแบบเป็นสถาปนิก หรือว่าต้องไปตกแต่งกันล่วงหน้า แต่ใช้กรรมนี่แหละเป็นตัวสร้างเป็นตัวตกแต่ง ทีนี้เราดูแล้วกัน ผมให้ตัวอย่างที่ง่ายๆที่สุดนะ อย่างเวลาเราฝันแต่ละคืนก็ไม่เหมือนกัน ฝันแต่ละช่วงวัย แต่ละช่วงอายุก็ต่างกัน อย่างตอนฝันแบบเด็กๆนี่ จะเห็นเป็นลายการ์ตูน จะเป็นลายอะไรง่ายๆที่ไม่ซับซ้อน แต่สังเกตไหม พอโตขึ้นมานี่ ความฝันของเราในแต่ละคืนนะ ถ้าหากว่ามีความชัด ถ้าหากว่ามีความสด ถ้าหากมีสีสันจัดแจ้งนะ จะรู้สึกเหมือนกับว่าลวดลายหรือว่าสิ่งที่เป็นนิมิตนี่ มีความซับซ้อน มีความวิจิตรพิสดาร เรียกว่าใส่อะไรเข้าไป ไม่รู้ว่าใครไปวาดไว้ ถ้าหาคนไปวาดนะต้องวาดกันเรียกว่าเป็นปีๆ ต้องใช้ศิลปินที่มีชื่อระดับโลกมา แต่ถ้าหากว่าเป็นกรรมสร้างนะ ไม่ต้องใช้เวลาเลย ทำกรรมเสร็จเมื่อไหร่ นั่นน่ะมันวาดให้เรียบร้อย ไม่ต้องไปกังวลหรอกว่าข้างบนโน้นจะมีสภาพแตกต่างกันยังไงแค่ไหน แต่ให้ดูนี่แหละว่า คนเราสามารถทำกรรมแตกต่างกันได้เพียงใดในแต่ละคนนะครับ

ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นความแตกต่าง ความพิสดารที่แต่ละคนทำกรรมได้ไม่เหมือนกัน แค่ตั้งจิต แค่ส่งมอบของแต่ละชิ้นที่เลือกให้ผู้รับได้ประโยชน์แค่ไหน เอาไปใช้ทำอะไร หรือว่าตกแต่งเสริมเติมอะไรเข้าไป ด้วยจินตนาการของแต่ละคนนี่ มันต่างกันแค่ไหน ก็นั่นแหละครับ ตรงนั้นแหละคือตัวอย่างนะว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกต่างเกิดขึ้นจากจินตนาการในการทำบุญ จินตนาการในการอนุเคราะห์ผู้คนนะครับว่า มีความละเอียดอ่อนเพียงใด ยิ่งมีความละเอียดอ่อนมาก จินตนาการยิ่งมีความละเอียดอ่อนมาก เวลาทำบุญนี่ สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนสวรรค์ หรือว่าสภาพความเป็นทิพย์ มันยิ่งมีความวิจิตรพิสดารแตกกิ่งก้านสาขาออกไปยิ่งกว่านั้น คือเราไม่ได้ไปสร้างสถาปัตยกรรมขึ้นมาด้วยความตั้งใจ คิดว่าจะให้ออกลวดลายแบบไหน แต่ว่าตัวกรรมนั่นแหละ เขาจะไปประดิษฐ์สร้าง เอาจากความรู้สึกของเราก็ได้ ถ้าเราทำบุญแต่ละครั้ง เราให้ใคร เราอนุเคราะห์ใครแต่ละครั้ง มีความละเอียดอ่อนมาก มีความประณีตมาก นั่นแหละเป็นเมล็ดพันธุ์ของสถาปัตยกรรมที่มีความละเอียดอ่อนมาก มีความอ่อนช้อยมาก มีความสละสลวยมาก แต่ถ้าหากว่าเราช่วยใครแบบส่งๆ เหมือนกับโยนเดนให้ หรือว่าคิดง่ายๆโยนกระดูกให้หมาอย่างนี่ โยนแบบทิ้งๆขว้างๆอย่างนี่ จิตแบบนั้นมันหยาบ เป็นการให้แบบหยาบๆ คือได้บุญแต่เป็นบุญแบบหยาบๆ ถ้าหากว่า ณ ขณะนั้นเป็นจังหวะที่ใหญ่ที่สุด เป็นบุญที่จะให้ผลให้เราได้ไปเกิดตามบุญตอนโยนเศษเดนให้หมานี่ ก็พยากรณ์ได้ว่าจะไปเกิดกับสิ่งที่ไม่ค่อยจะน่าดูนักแหละนะครับ

ส่วนใหญ่นี่นะ เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าถ้าให้อาหารหมาแล้วจะได้บุญน้อย จริงๆแล้วถ้าหากว่าเรามีจิตใจที่ประณีต มีจิตใจที่สงสารหมา แล้วก็ก้มลงให้ด้วยความอ่อนโยน ด้วยความกรุณา นั่นก็คือตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์แห่งสถาปัตยกรรมที่ละเอียดอ่อนเช่นกัน ไม่ใช่ว่าให้ของกับสัตว์เล็กสัตว์น้อยแล้วมันเป็นบุญน้อย แล้วไปตกแต่งให้ที่อยู่ของเราน่าเกลียด ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของเราว่ามีความเมตตากรุณาแค่ไหน เวลาให้นี่ ยื่นให้ด้วยมือ ด้วยความอ่อนโยนเพียงใดนะครับ พระพุทธเจ้าตรัสเลยว่า ถ้ายื่นให้ด้วยมือ ด้วยความอ่อนโยน ด้วยความกรุณา นั่นแหละจิตที่ประณีต นั่นแหละบุญที่มีความเต็มรอบนะครับ



๓) อยากสัมภาษณ์ได้คนดีๆมาทำงานด้วยกัน เวลาคุยใช้ความรู้สึกดูได้ไหมครับ?

มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้วยนะ ถ้าหากว่าเราสั่งสมประสบการณ์ไว้มากๆนี่ บางทีมันสามารถรู้ได้ตั้งแต่เห็นหน้าเลยว่า คนๆนี้น่าจะทำงานกับเราได้ไหม แต่ถ้าลักษณะการสั่งสมประสบการณ์ของเรา อาศัยการดูหน้า อาศัยความรู้สึกเป็นหลัก ไม่อาศัยการวิเคราะห์แบบอื่นๆ บางทีมันก็เพี้ยนได้ เพราะว่าใจคนนี่ อารมณ์ของคนนี่นะ มันมักจะเข้าข้างตัวเอง ถ้าชอบใครก็มักจะตัดสินด้วยความรู้สึกแรกๆนะครับ แต่ถ้าหากว่าเราเป็นนักสัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์สูงๆ คืออาศัยหลักจิตวิทยาการดูคน หรือว่าอาศัยการสังเกตสีหน้าท่าทาง หรือว่ามีความฉลาดในการยิงคำถาม หรือว่ามีการที่สามารถจะล้วงเอาความเป็นเขาจริงๆ ความเป็นคนที่ว่าจะเหมาะกับสถานที่ทำงานของเราไหม หรือว่าเหมาะกับคาแรคเตอร์ของเราหรือเปล่า เหมาะที่จะมาช่วยกันแค่ไหนอะไรต่างๆนี่นะ ถ้าหากว่าคุณสะสมเกร็ดเล็กประสมน้อยไว้ มันเหมือนกับได้วัตถุดิบไว้ในตัว ประสบการณ์ที่คุณใช้ความสามารถในการสัมภาษณ์คนมานั่นแหละ มันรวมแล้วก็จะได้เป็นความรู้สึกแบบหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีความเที่ยงตรง

คือคลื่นความเป็นคนๆหนึ่งนี่นะ ถ้าแบ่งออกเป็นหมวดหมู่แล้วก็ไม่มากหรอก ยกตัวอย่างนะครับ บางคนมีความแข็งกร้าวอยู่ข้างในแต่ว่าข้างนอกดูอ่อนโยน ถ้าหากว่าคุณเจอคนแบบนี้มาเยอะๆ คุณจะแยกออกทันทีว่านี่ มันอ่อนแต่ข้างนอก แต่ข้างในมีความรุนแรงอยู่ มีความก้าวร้าวอยู่ หรือบางคนนี่ ดูข้างนอกเหมือนพ่อพระเลย เหมือนแม่พระเลยนะ ดูดีมาก ดูเป็นคนดีเหลือเกิน รัศมีเปล่งปลั่งออกมานี่ ราวกับว่าข้างในไม่มีอะไรซ่อนเร้น แต่ว่าเอาเข้าจริงๆนะ มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเยอะแยะเลย ถ้าหากคุณมีโอกาสที่จะสัมผัสคนมามากๆนะครับ คุณจะเข้าใจคลื่นความเป็นมนุษย์ที่มันซ้อนๆเข้าไปกันในแต่ละคน แล้วคุณสามารถเห็นว่า จริงๆแล้วก็แบ่งออกได้ไม่กี่จำพวกน่ะ ยกตัวอย่างเช่น ข้างนอกกับข้างในตรงกัน ข้างนอกกับข้างในไม่ตรงกัน เป็นตรงกันข้ามกัน หรือว่าข้างนอกกับข้างในคล้ายๆกัน แต่เปลี่ยนกลับไปกลับมา บางคนดูปากร้ายแต่ข้างในใจดีอะไรแบบนี้ เรียกว่าไม่ตรง แต่บางคนก็ทั้งปากทั้งใจร้ายหมด แต่บางทีก็กลับไปกลับมาระหว่างใจร้ายกับใจดี

ถ้าหากว่าเจอคนมาเยอะๆ แล้วคุณสามารถที่จะเอาชนะความเกลียด เอาชนะความรัก ความหลง ซึ่งเป็นอคติ ซึ่งเป็นม่านกั้นความจริง คุณจะสามารถเห็นคนด้วยใจที่เป็นกลางว่า ลักษณะแบบนี้คุณเคยเจอมานี่นะ เท่าที่เคยเจอแบบคล้ายๆกันมานี่ มันน่าจะออกแนวใด มีใจที่เมตตา หรือว่ามีแต่ภาพที่เมตตา มีลักษณะที่ปากร้ายใจดี หรือว่ามีลักษณะที่ปากดีใจร้าย อันนี้พูดง่ายๆเลยนะ การที่จะสัมภาษณ์คนที่ได้ดีๆมาทำงานด้วยกันนี่ เวลาใช้ความรู้สึก ความรู้สึกของคุณต้องมาจากประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ดีแล้ว ถึงจะมีความแม่นยำ แล้วก็ความรู้สึกนั้นต้องออกมาจากใจที่ปราศจากอคติด้วย มีความเป็นกลางมากพอที่จะตัดสินเอาจากประสบการณ์ เอาจากที่สะสมไว้นี่ เป็นวัตถุดิบนี่ เป็นประสบการณ์ตรงนี่ มาเปรียบเทียบดูว่า ใครน่าจะเข้าจำพวกไหน แต่ที่จะปลอดภัยที่สุด ที่เซฟที่สุดคือ คุณควรใช้หลักจิตวิทยาด้วยนะครับ คือให้มีหลักการครึ่งหนึ่ง แล้วใช้ความรู้สึกของคุณอีกครึ่งหนึ่ง โอกาสเสี่ยงมันถึงจะน้อยที่สุดนะครับ



๔) พระพุทธเจ้าไม่สอนให้เชื่ออาจารย์กับหลายๆอย่าง ไม่ทราบว่าท่านบอกให้เราเชื่ออะไร?

ตรงนี้จะมีคนเข้าใจสับสนกันมากจากกาลามสูตรนะครับ คือต้องดูเบื้องหน้าเบื้องหลังก่อนว่า ที่มาที่ไปเป็นยังไง การที่ท่านสอนกาลามสูตรนะครับ คือท่านสั่งสอนชาวกาลามะที่มีความสงสัยว่า ครูบาอาจารย์ท่านโน้นบอกว่ากรรมมีผล อีกท่านหนึ่งบอกว่ากรรมไม่มีผลอะไรต่างๆนานานี่นะครับ แล้วก็ได้ข้อสรุปที่พูดง่ายๆคือก่อให้เกิดพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าเชื่อว่ากรรมไม่มีผล ก็อยากทำอะไรก็ทำ อยากผิดศีล อยากผิดลูกผิดเมียใครก็ได้ อันนี้เรียกว่าพอเชื่อแล้วมันเกิดความเดือดร้อนกับคนอื่นเขา มันเกิดความเดือดร้อนกับตัวเองในภายภาคหน้า มันเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจในปัจจุบันว่า ทำอะไรผิดๆ ทำอะไรที่มันค้านกับสามัญสำนึก หรือว่ามนุษยธรรมของตัวเอง นี่เรียกว่าเป็นการเชื่อแล้วเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ไม่ให้เชื่ออะไรแบบนั้น นี่ตัวอย่างง่ายๆนะครับ

คือท่านสอนแต่ละข้อ แต่ละสูตรนี่ มีที่มาที่ไป ท่านก็ไม่เคยพูดเลยนะว่า อย่าเชื่อใครเลย อย่าเชื่อแม้กระทั่งท่าน คือท่านบอกว่า แม้กระทั่งคำสอนของท่านเองนี่ ถ้าหากพิจารณาแล้วว่าไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เป็นคุณประโยชน์กับตัวเองในปัจจุบันในภายภาคหน้าก็อย่าไปเชื่อ ท่านพูดอย่างนี้นะ ไม่ใช่บอกว่า ขอจงอย่าเชื่ออะไรเรา ไม่ใช่นะ ต้องพิจารณาก่อนว่า เชื่อแล้วเกิดอะไรขึ้น เชื่อแล้วมีใครได้ดีบ้าง เชื่อแล้วใจมันสว่างขึ้นไหมเชื่อแล้วใจมันเป็นกุศลขึ้นไหม ถ้าหากว่าเรารู้สึกตัวอยู่ว่าเชื่อคำสอนไหนแล้วมีประโยชน์สุข มีความรู้สึกสว่าง มีความอบอุ่นใจว่าเราอยู่ในเขตปลอดภัยแล้ว เราอยู่ในเขตกุศลแล้ว มันเรื่องอะไรที่เราจะต้องไม่เชื่อ มันเรื่องอะไรที่เราจะต้องไปปฏิเสธนะครับ ขอให้ไปอ่านที่มาที่ไปของกาลามสูตรดีๆนะครับ ลองหาในอินเตอร์เน็ตนะครับ



๕) ทำอย่างไรจะกลับมาภาวนาได้ดีและมีกำลังใจ นอกจากทำสมถะได้บ้าง ใจมันหนักๆแล้วก็แน่นๆ อยากภาวนาแต่ไม่มีแรงเลย?

คนที่รู้สึกว่าไม่มีแรงในการเจริญสตินะ พระพุทธเจ้าท่านก็แนะนำไว้หลายทางนะครับ เพื่อที่จะได้รับแรงบันดาลใจในทางธรรมนี่ ไม่ว่าจะเป็นการฟังครูบาอาจารย์ เสียงของครูบาอาจารย์นี่ก็มีพลังที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกอบอุ่นได้ ถ้าฟังครูบาอาจารย์ท่านไหนจนกระทั่งเกิดความเคยชิน เหมือนกับฟังแล้วมันผ่านหูไปเฉยๆนะครับ คือไม่ใช่ว่าเราเคารพท่านน้อยลงแต่ว่าเราฟังมาหมดแล้ว เราได้ยินมาหมดแล้ว ก็อาจจะเปลี่ยนไปฟังครูบาอาจารย์ท่านอื่นบ้าง เพราะว่าเสียงของครูบาอาจารย์ท่านอื่นก็จะเป็นอีกคลื่นกระแทกที่ทำให้เราเกิดความตื่นขึ้นมาได้ ทำให้เราเกิดความสนอกสนใจอะไรใหม่ๆขึ้นมาได้ สำคัญคือเราต้องเลือกนิดหนึ่งนะครับ เราน่าจะผ่านมาแล้วว่า เสียงของครูบาอาจารย์ท่านไหนที่ทำให้เกิดพลัง ทำให้เกิดความสดชื่น ทำให้เกิดกำลังใจที่จะกลับมาเจริญสติอีก ครูบาอาจารย์พระป่ามีหลายรูปเลยที่เสียงเข้าข่ายแบบนี้ ถ้าหากว่าเราฟังธรรมะของท่านแล้วก็เกิดกำลังแล้วนี่ ต้องรีบที่จะฉวยโอกาสนั้นเป็นจังหวะทองเป็นนาทีทองเลยนะครับ ลุกขึ้นไปเดินจงกรม หรือว่านั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งว่าขณะกำลังฟังแล้วเกิดความรู้สึกอยากจะนั่งสมาธิ อยากจะเดินจงกรมก็เอาเลย เพราะว่าไม่มีใครห้ามนะ ไม่มีใครหวงไว้ว่า การเดินจงกรม หรือว่าการนั่งสมาธินี่ ห้ามฟัง ตรงกันข้ามเลย ถ้าหากว่ามีเสียงของครูบาอาจารย์คอยมากำกับให้จิตอยู่ในลู่ในทาง ไม่ฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิงออกไปตามอำเภอใจนี่นะครับ มันก็ถือว่าเป็นเครื่องช่วย เป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ทำให้เราอยู่กับร่องกับรอยในช่วงต้นได้ง่ายๆนะครับ ถ้าหากว่ายังมีความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีกำลังใจอีก อันนั้นก็คงจำเป็นที่จะต้องกลับไปสวดมนต์บ้าง กลับไปอ่านหนังสือธรรมะที่นำเรามาสู่เส้นทางนี้บ้าง หรือว่าอาจจะไปคุยไปสนทนาธรรม ซึ่งในอินเตอร์เน็ตปัจจุบันนี่นะ ก็มีหลายแห่งที่เป็นเขตสว่าง ไปคุยแต่ในเรื่องที่ดีๆ อย่าไปคุยอะไรที่มันทำให้จิตตก อย่าไปทำให้ใจของเรานี่ไปยุ่งเรื่องของคนอื่น ไปข้องเกี่ยวเรื่องของคนอื่น แต่ให้เข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตของตัวเอง ให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับสติของตัวเองมากๆนะครับ ถ้าหากว่าที่ไหนเป็นเขตแบบนั้นก็ให้เข้าไปสนทนาธรรมที่นั่นบ่อยๆ แล้วกำลังใจมันก็จะไม่ขาดสายนะครับ



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๑ / วันที่ ๗ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

๑) อภิญญา ๖ไปนิพพานได้หรือไม่ ในนิพพานมีจิตของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์อยู่หรือไม่?

ความจริงอภิญญามีแค่ห้าสำหรับโลกียะ อภิญญาที่หกเป็นอภิญญาที่ล้างกิเลสได้ เป็นความรู้แจ้ง ไม่ได้เอาไว้ไปนิพพาน คนละประเด็นกัน การไปนิพพานในความหมายของคนที่ยังไปไม่ถึง ก็จะเข้าใจก่อนว่า นิพพานคือสถานที่ คืออะไรอย่างหนึ่งที่เข้าถึงได้ด้วยการเอาความรู้สึกแบบที่เป็นมนุษย์ขึ้นไปดูว่านิพพานมีความกว้างเท่าใด หน้าตาเป็นอย่างไร มีผนัง กำแพง วิมาน หรือมีที่นั่ง ที่นอน ที่กินอย่างไร จะเปรียบเทียบเอาจากสิ่งที่รับรู้ได้ในโลกมนุษย์ หรือที่ท่านมักเปรียบเทียบกันคือ เหมือนปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำแล้วเห็นสาหร่าย เห็นปะการัง ก็เข้าใจว่าบนบกน่าจะมีสิ่งเดียวกับที่ตนเห็น มีมวล มีความหนาแน่นแบบในน้ำบีบอัดรัดตัวอยู่ ทั้งๆที่บนบกไม่ได้มีอะไรแบบที่เห็นในน้ำหรือที่ตนเคยประสบมาชั่วชีวิต เราเป็นมนุษย์ ก็คงเปรียบเหมือนปลาที่ยังไม่เคยขึ้นบก และไม่สามารถคาดเดา ไม่สามารถจินตนาการได้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร

การที่เราไม่สามารถจินตนาการได้ว่านิพพานเป็นอย่างไร ก็ต้องฟังจากคัมภีร์ที่ท่านอธิบายไว้แล้ว สำหรับนิพพานนั้น รู้และเห็นได้ตั้งแต่การบรรลุโสดาปัตติผลขึ้นไป การบรรลุธรรม หรือได้มรรคจิตและผลจิต หมายถึง จิตสัมผัสถึงความมีอยู่ของนิพพาน หมดข้อสงสัยอย่างสิ้นเชิงว่า นิพพานมีจริงหรือไม่ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปยังไม่ได้ถึงอภิญญาขั้นที่หก ยังล้างกิเลสไม่ได้เด็ดขาด อภิญญาขั้นที่หกต้องเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่การเป็นพระโสดาบันก็สามารถสัมผัสรู้ได้แล้วว่า พระนิพพานมีอยู่จริง เนื่องจากมรรคจิตและผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ กล่าวง่ายๆว่าจิตสัมผัสกับนิพพานแล้ว และถ้าถึงโสดาปัตติผลแล้ว เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าผลญาณ ผลสมาบัติได้ คือเมื่อได้รู้จักนิพพานแล้ว จะมีความสามารถพิจารณาเข้ามาในกายใจด้วยแนวทางแบบเดิม คือพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่มีผู้ครอบครอง ไม่ใช่ตัวตน เช่นนั่งดูลมหายใจว่า สักพักก็เข้า สักพักก็ออก รู้สึกถึงความไม่เที่ยง จิตเป็นอิสระจากอุปาทานว่าลมหายใจเป็นตัวตน ลมหายใจเที่ยง เมื่อหลุดออกจากความมีอุปาทานว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายใจนี้เป็นตัวเป็นตน จิตก็เป็นอิสระเหมือนครั้งที่บรรลุธรรม เพียงแต่ไม่เกิดมรรคจิตขึ้นมาล้างกิเลส มีแต่สภาพที่สามารถรู้ได้ว่านิพพานมีอยู่ จิตต้องเป็นฌาน จิตขณะนั้นต้องมีความหนักแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นมหัคคตกุศล คือมีความเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่ตนรับรู้ ท่านบรรยายเกี่ยวกับนิพพานไว้ว่า ไม่มีรูปร่าง ไม่มีหน้าตา ไม่มีขอบเขต ไม่มีที่ตั้ง มีแต่มหาสมุทรของความว่าง มีความสว่างโพลงทั่วถึงตลอด พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้จินตนาการว่านิพพานเป็นอย่างไร นอกจากจะได้เข้าถึงมรรคจิตและผลจิต ก็จะทราบเองว่าสภาพของนิพพานเป็นอย่างไร

ถามว่านิพพานมีจิตของพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์อยู่ไหม คำตอบจากพระคัมภีร์กล่าวว่า เมื่อจิตของพระอรหันต์ดวงสุดท้ายดับไป ที่เรียกว่า ‘จริมจิต’ ท่านเปรียบไว้เหมือนกับเปลวเทียนดับ ที่เรากำลังคุยกันอยู่ จิตยังมีสภาพที่เป็นเปลวเทียน ลุกโพลง มีความร้อน แต่ถ้าเป็นจิตของพระอรหันต์ ซึ่งถึงเวลาที่จะดับขันธ์เข้านิพพาน จิตจะดับเหมือนเปลวเทียน พระอนุรุทธะมีหน้าที่รายงานว่า จิตของพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานหรือยัง เพราะท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องตาทิพย์ ท่านบอกว่า เวลาที่จิตของพระพุทธเจ้าดับขันธ์แล้ว เหมือนเปลวเทียนดับ พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสว่า ในนิพพานนี้ ขันธ์ทั้งห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ได้มีอยู่ในนั้น แต่นิพพานไม่ใช่การสูญ ดังที่เคยมีพระรูปหนึ่งฟังธรรมแล้วสำคัญว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระสารีบุตรบอกว่า ‘เธออย่าคิดอย่างนั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูก เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน’ แต่แทนที่ท่านจะมาพรรณนาว่า พระนิพพานเป็นอย่างไร ให้เกิดความฟุ้งซ่านตามประสาปุถุชนคนธรรมดา ท่านใช้วิธีตะล่อมถามว่า ‘เธอสำคัญว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ความรู้สึกสุขทุกข์ คือ เวทนา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ความจำได้หมายรู้ คือ สัญญา เที่ยงหรือไม่เที่ยง ตรงไหนที่เที่ยง ตรงไหนที่เรียกว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่ ณ ขณะนี้ที่เรานึกว่ามีตัวมีตนอยู่’ พระรูปนั้นก็พิจารณาตามไปเรื่อยๆ โดยเอาความสำคัญผิดเป็นตัวตั้ง ตั้งแต่ตอนแรกที่ว่าพระอรหันต์ตายแล้วคงจะดับสูญไป โดยความสำคัญไว้อย่างนี้ ท่านก็นำมาพิจารณาใหม่ตามคำแนะนำของพระสารีบุตร ท่านเห็นว่า แม้กระทั่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน มีความดับไป มีความเกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจะยึดเอาตัวใดไปเข้านิพพาน สุดท้าย ท่านก็สำเร็จธรรมด้วยการมีดวงตาเห็นธรรม หรือการรับรู้ถึงพระนิพพานที่แท้จริง ที่ทะลุออกไป ที่เกินออกไปจากความเป็นกาย ความเป็นใจแบบนี้ ลักษณะความปรุงแต่งใดๆที่กำลังปรากฏมีปรากฏเป็นอยู่หายไป แล้วท่านก็ได้เห็นนิพพาน

สรุปว่า คาดคะเนหรือกะเกณฑ์ไม่ได้ว่าสูญหรือไม่สูญ ต้องเห็นด้วยตนเอง ต้องถึง ต้องทะลุเข้าไปเห็น จึงจะหมดคำถามและไม่สงสัย ที่แน่ๆคือพระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่า ‘ขอให้คิดถึงพระนิพพานโดยความเป็นบรมสุข คือไม่ต้องกลับมาทุกข์อีก ไม่ต้องกลับมามีความปรุงแต่งที่มีความไม่แน่นอน เกิดตายแบบไม่รู้เรื่องราวแบบนี้อีก’ ขอให้คิดอย่างนั้นไปก่อน แล้วพวกท่านจะยังมีความเป็นพระพุทธเจ้า หรือความเป็นพระอรหันต์อยู่ที่ไหน เราไม่ต้องไปห่วง ไม่ต้องเป็นกังวล ขอให้กังวลว่าตอนนี้เรายังไม่ดับทุกข์ เราเจริญตามรอยบาทพระศาสดาและพระอรหันตสาวกกันแล้วหรือยัง นี่เป็นสิ่งที่เราซึ่งยังอยู่บนโลกนี้ต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด



๒) ไม่ได้ใส่บาตรนานพอสมควรตั้งแต่ปีใหม่ วันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญก็ไม่ได้เวียนเทียนหรือไปวัด และการฟังธรรมที่ต้องใช้ความพยายาม ส่วนมากก็ไม่ได้ไป เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ที่คิดว่าเจริญสติอย่างเดียวดีกว่า?

บุญในพุทธศาสนามีสามระดับ บุญระดับแรกคือการทำทาน น้ำใจเสียสละ น้ำใจคิดอนุเคราะห์ น้ำใจคิดจะให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่หรือความสามารถที่เราจะเกื้อกูลเขาได้ นี่เรียกว่าเป็นบุญระดับต้น คือท่านใช้คำว่าเป็นบุญเบื้องล่าง เป็นบุญขั้นต่ำ ส่วนบุญที่ยกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้แก่ การถือศีล คือการระวังรักษาใจไม่ให้สกปรก ไม่ให้แปดเปื้อนด้วยเจตนาอันเป็นบาปอกุศล คืองดเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเด็ดขาด คิดได้แต่ห้ามพูด ห้ามทำ เช่น มีคนมาด่าเราแล้วเราอยากจะตบ หรือเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแล้วอยากฉุด โดยไม่สนใจว่าเป็นลูกหรือภรรยาของใคร อย่างนี้คิดได้ ยังไม่ผิดศีล แต่ถ้าเริ่มลงมือ แค่ตั้งความคิดว่าจะเอาจริงขึ้นมา เริ่มด่างพร้อยแล้ว และถ้าทำสำเร็จ แปลว่าศีลขาดทะลุแล้ว

ถ้าสามารถระงับใจได้ ถึงคิดก็ไม่ทำ ไม่พูด เรียกว่าเป็นคนมีความสามารถในการรักษาศีล ซึ่งโดยธรรมชาติของสัตว์โลก ไม่มีทางที่จะรักษาศีลโดยบังเอิญ เพราะว่าเกิดมาก็โดนกิเลสฉุด โดนกิเลสลากกันมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ ตามใจกิเลสก่อน ต่อเมื่อเจอพระหรือสมณะที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของกรรมวิบาก เรื่องการทำจิตให้พัฒนา การปูเส้นทางไปสวรรค์และนิพพาน มาแนะนำว่าควรสมาทานศีล หรือตั้งใจงดเว้นขาดที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดประเวณี ไม่โกหก และไม่กินเหล้าเมาสุรา นี่เรียกว่าเป็นการตั้งใจทำบุญที่ใหญ่กว่าการเสียสละ (การทำทาน)

ไม่ว่าจะเสียสละอะไรไปเท่าไร ถ้าจัดชั้นวรรณะกัน การตั้งใจรักษาศีลจะได้บุญมากกว่า ถ้าไม่มีสิ่งยั่วยุ และไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แล้วบอกว่าฉันตั้งใจรักษาศีล ไม่ใช่แบบนั้น คือต้องมีความตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อมีเรื่องยั่วยุ (สำหรับคนตั้งใจรักษาศีล จะมีเรื่องยั่วยุกันตลอดชีวิตให้ผิดศีล) แล้วประสบความสำเร็จในการรักษาศีลได้ ทำตามความตั้งใจได้ คืองดเว้นขาด ไม่ยุ่งเรื่องเกี่ยวกับการผิดศีล นี่เรียกว่าเป็นผู้บำเพ็ญบุญที่เหนือกว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ศีลได้ชื่อว่าเป็นมหาทาน’ ยิ่งใหญ่กว่าทานธรรมดา เพราะทำให้สัตว์โลก เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของเรารอดพ้นจากภัยอันตรายอันเกิดจากน้ำมือของเรา ดังนั้น การรักษาศีลจึงได้บุญยิ่งกว่าการให้ทานทั้งปวง หมายถึง ทานที่ให้ด้วยทรัพยทาน หรือให้ด้วยอภัยทาน

หากจะเอาบุญขั้นสูงสุดเลย ก็เรียกว่าเป็นบุญที่จะทำให้ประกันว่า ไม่ต้องไปอบายภูมิแน่ๆ คือต่อให้ทำทานรักษาศีลแค่ไหน บางครั้งเกิดชาติใหม่ แล้วลืมหมดว่าเคยทำอะไรมาบ้าง เผลอหลงไปทำบาป ก็ตกนรกได้ ไปสู่อบายภูมิได้ ท่านจึงเรียกว่าบุญอันเกิดจากทานและศีล ยังถือว่าเป็นแค่บุญขั้นต้นและขั้นกลาง บุญขั้นสูงจริงๆจะทำให้หลุดจากอบายได้อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นมา จะไม่ไปอบายภูมิอีกเลย แล้วสิ่งที่ทำให้เป็นอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาจนถึงพระอรหันต์ ก็คือบุญอันเกิดจากการเจริญสตินั่นเอง เจริญสติโดยมีความเข้าใจนำหน้าว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง ดูๆไปจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่เห็นมีอะไรเป็นของเรา ไม่ใช่ตัวเราสักอย่าง ไม่มีอวัยวะสักชิ้นเดียวในร่างกายนี้ที่เป็นตัวตนของเรา จะบังคับบัญชาว่าให้มีอายุเท่าไร มีลักษณะอย่างไร จงหนุ่ม จงสาว จงหล่อ จงสวยอยู่ตลอด ไม่สามารถที่จะระงับความเปลี่ยนแปลงได้เลย เมื่อดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งเห็นแจ้ง จะเกิดการบรรลุมรรคผลขึ้นตามลำดับ จึงกล่าวได้ว่า ‘การเจริญสติเป็นบุญขั้นสูงสุด’ นี่ไม่ใช่ตามมติของพุทธศาสนา ไม่ใช่ตามมติของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก แต่ตามธรรมชาติ

ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติได้ และเจริญสติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้จนสามารถเห็นได้ว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เพียงเห็นเท่านี้ก็เรียกว่า ได้ทำบุญยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เมื่อตายไป อย่างต่ำก็ได้ถึงสวรรค์แน่นอน และคนที่เจริญสติเป็น ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่า จิตคับแคบไม่ดี ให้ทานดีกว่า เปิดกว้างดีกว่า จิตสกปรกไม่ดี รักษาศีลดีกว่า ทำให้สะอาดดีกว่า บุญในขั้นต่ำและขั้นกลางก็จะเจริญตามมาด้วย

สรุปคือ ‘การเจริญสติดีที่สุด’ ดีกว่าการทำทานและรักษาศีล แต่ถ้าไม่รู้จักการเสียสละ การมีน้ำใจ การให้ทานบ้าง หรือมีจิตสกปรกอยู่ตลอดเวลา มีความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน เห็นผิดบ้างเห็นถูกบ้าง พูดง่ายๆว่า ถ้าไม่ทำทาน ไม่รักษาศีลไว้ก่อน จะเจริญสติไม่ถูก เจริญสติไปก็เหมือนกับแกล้งๆ เหมือนเป็นเรื่องตลก และไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ สรุปคือ ทาน ศีล และภาวนาเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน



๓) การกินเนื้อวัวบาปมากหรือไม่ ในเมื่อพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงห้าม เราควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะดีที่สุด?

ที่พระพุทธองค์ห้ามไว้ในวินัย แค่ห้ามพระไม่ให้ฉันเนื้อเสือ เนื้อมนุษย์ อาจจะมีเนื้องูด้วย เป็นต้น เนื้อมีกี่อย่างไม่ทราบ แต่ท่านไม่ได้ทรงห้ามฉันเนื้อวัวหรือเนื้อหมู แสดงให้เห็นว่าคงไม่บาปมาก ให้สบายใจได้ หากเราจะพิจารณาว่า อย่างไรเรียกว่าบาปในทางพุทธศาสนา ถ้าตั้งต้นด้วยการรับรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีชีวิต แล้วประสงค์ให้สิ่งมีชีวิตนั้นตกตาย จะด้วยความแค้นอาฆาตส่วนตัว หรือด้วยความหวังว่าจะได้กิน ล้วนเป็นบาปข้อ ‘ปาณาติบาต’ ทั้งสิ้น แต่ถ้าสัตว์เป็นศพอยู่แล้วถือว่าไม่ผิดศีล ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามว่า ‘จงอย่าฉันเนื้อสัตว์’ ก็เพื่อให้ชาวบ้านได้ถวาย ได้ใส่บาตรตามที่ถนัด ตามที่สะดวกกัน พูดง่ายๆว่า สมณะเป็นผู้เลี้ยงง่าย ไม่เรื่องมาก ชาวบ้านถวายอะไรมา ก็ฉันตามที่เขาถวายกัน
การที่เราไม่ได้มีส่วนรู้เห็น ไม่ได้มีส่วนจงใจว่าสัตว์นี้จงตายมาให้เรากิน เราก็จะไม่แปดเปื้อนมลทินอันเกิดจากการฆ่า เพราะไม่ต้องใช้กำลังใจในการฆ่า ก่อนเราเกิดมา ก็มีคนที่ฆ่าสัตว์กันอยู่แล้ว ขณะที่เรามีชีวิต ก็มีการฆ่ากัน ขณะที่เราจะต้องตายจากโลกนี้ไป ก็จะยังมีวงจรของการฆ่าฟันกันไม่มีที่สิ้นสุด เราเป็นเพียงผู้บริโภคสุดท้าย คือศพสัตว์เกิดขึ้นก่อนแล้ว เราไม่ต้องใช้กำลังใจในการฆ่า เราไม่รู้ว่าสัตว์ตัวไหนตายเพื่อจะมาอยู่ในจานของเรา แต่ถ้าเรามีความรู้สึกอยากจะกินมังสวิรัติขึ้นมา ด้วยเจตนาว่า เราจะช่วยลดปริมาณการตายของสัตว์ นี่ถือเป็นบุญ เพียงความตั้งใจตรงนี้ จะรู้สึกได้ถึงความมีเมตตา ความรู้สึกไม่อยากเบียดเบียนชีวิตสัตว์ มีความสงสารสัตว์ อย่างนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน

การที่เรากินเนื้อไม่ว่าจะชนิดใดที่เป็นศพอยู่แล้ว โดยที่เราไม่ได้ใช้กำลังใจในการฆ่า ก็ไม่บาปทั้งนั้น ไม่ว่าจะเนื้อวัวหรือเนื้อหมู การที่เรามาถกเถียงกันอย่างที่ผมพูดอย่างนี้ ถ้าคนที่กำลังกินมังสวิรัติอยู่ ก็จะบอกว่าไม่เห็นด้วย จะมาเลี่ยง มาบ่ายเบี่ยงได้อย่างไร ในเมื่อกินอยู่ก็ต้องไปเพิ่มความต้องการเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อให้พอดีกับความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะคิดอย่างไร ก็มาลงที่ความจริงข้อเดียวว่า ‘เรามีการรับรู้ไหมว่าสัตว์ตัวไหนจะตายเพื่อเรา’ เล็งมาที่จิต เล็งมาที่กำลังใจของเรา ‘เรามีความปรารถนาไหมว่าจะเอาเนื้อหมู เนื้อไก่ตัวนี้ หรือเนื้อวัวตัวนั้น เห็นแล้วถูกใจเหลือเกิน อยากกิน’ ถ้าไม่มีการตั้งต้นรับรู้แบบนี้ ก็เรียกว่าไม่มีตัวเริ่มต้นในการก่อกรรมข้อปาณาติบาต และถ้าเรายิ่งคิดว่า เราเคยมีกำลังใจที่จะอยากให้สัตว์ตัวไหนตายเพื่อมาให้เรากินไหม ถ้าเราไม่ได้ใช้กำลังใจ ไม่ได้ใช้ความพยายามในการทำให้สัตว์ตาย ก็เรียกว่าจิตของเราไม่มีเจตนาฆ่าฟันแน่นอน

แต่ร้านอาหารหลายๆร้านในปัจจุบันเปิดให้ลูกค้าชี้ได้ว่า กุ้งเป็น ปูเป็น ตัวไหนที่อยากจะเอาใส่จาน อย่างนี้เรารู้ เราเห็นอยู่ เกิดการมอง การจ้องแต่ต้นแล้วว่า ตอนนี้มันยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเราชี้ไปว่าพอใจตัวนี้ อ้วนๆอย่างนี้ สักพักมันจะไปอยู่ในจานเรา นี่คือการบงการฆ่า คือการสั่งฆ่า มีการใช้กำลังใจที่จะประหารสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ตรงนี้บาปเกิดแล้ว มลทินเกิดแล้ว ทำให้ใจเปื้อนปาณาติบาต สร้างกรรมข้อปาณาติบาตแล้ว แม้จะมีความสนุก ความครื้นเครงมาปิดบังความมืด ความทุกข์ทางใจ และความไม่สบายใจก็จริง แต่คนที่กินเข้าไปย่อมรู้อยู่ว่า ตัวเองทำให้สัตว์ตัวหนึ่งต้องตกตายไป



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๒๒ / วันที่ ๙ มี.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง และอย่างที่นัดหมายกันไว้นะครับ คืนนี้เราจะคุยกันผ่านสไกป์ (Skype) แอดผมไว้ในสไกป์ได้จากแอคเคาน์ดังตฤณนะครับ 'dungtrin' ผมจะรอรับสายแรกเลยนะครับ ถ้าได้ยินเสียงแล้วเดี๋ยวผมจะเข้าโหมดรับสายได้ 'available' ตอนนี้จะเป็น 'do not disturb' อยู่ซึ่งจะไม่มีสายไหนเรียกเข้ามาได้ เอาล่ะครับผมได้ทำให้เป็น available แล้วนะครับ



๑) การที่คนหลายๆ คนในปัจจุบันได้ไปกราบไหว้สิ่งที่นอกเหนือพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเช่นไปไหว้พระพรหม พระพิฆเนศ หรือว่าพระราหู หรือสิ่งต่างๆ ไม่ทราบว่าถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ครับ?

ดูตัวการกราบไหว้ก่อน ลักษณะของการกราบไหว้เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะว่าคนที่จะมีกิริยาแสดงการกราบไหว้ได้ ก็จะเป็นคนที่กำลังมีจิตใจที่นบนอบ กำลังมีจิตใจที่อ่อนน้อม กำลังมีจิตใจที่ยอมเอามานะของตนลง เพื่อที่จะได้ไปทำความเคารพผู้ใดผู้หนึ่งที่เรากำลังกราบไหว้ นี่เอาเฉพาะเรื่องของอาการก่อน อาการนั้นเป็นกุศล

ทีนี้ถ้าถามว่าบุคคลหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลกที่เรากราบไหว้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากราบไหว้ด้วยความตั้งใจอย่างไร ถ้าหากว่าเราตั้งใจที่จะกราบไหว้ด้วยความเคารพ ด้วยความนับถือ ด้วยความตั้งใจที่จะลดความยโสโอหัง หรือว่าความอหังการของเราลง ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้ใคร ก็ถือว่าเป็นมงคล เป็นกุศลได้เสมอ

แต่ถ้าหากว่าการกราบไหว้นั้นมีความหมายว่า เราปรารถนาที่จะยึดเอาเป็นที่ขอสิ่งของ หรือว่าขออะไรบางอย่างที่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอกับมนุษย์ด้วยกัน อย่างนี้เริ่มต้นแล้วที่จะพาตนเองไปสู่ความงมงาย คือไม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราไปกราบไหว้นั้นจะเป็นของจริงหรือไม่จริง ท่านจะเป็นสัมมาทิฏฐิหรือมิจฉาทิฏฐิก็ตาม แต่ลักษณะการขอของเราเป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เนื่องจากเราพยายามที่จะทำอะไรให้มันเหนือธรรมชาติ เราพยายามจะชนะกฎของธรรมชาติ กฎของกรรมวิบาก ด้วยการให้ใครคนหนึ่งที่มีอำนาจวิเศษยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทันที แล้วถ้าพิจารณาตามแนวคิด หรือว่าแนวอุดมคติ หรือแนวปรัชญาของพุทธศาสนานี่ มันไปรบกวนความเชื่อหรือความเลื่อมใสเกี่ยวกับตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และเรื่องของการที่จะน้อมใจไปเชื่อว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมอย่างยิ่งเลย

คืออันนี้ย้ำอีกทีหนึ่งว่าเรายกไว้ก่อนว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสามารถช่วยเราได้หรือไม่ได้ การจะมีคนทรง จะมีเจ้ามาลงได้จริงหรือไม่จริง อันนั้นยกไว้ก่อน เราพูดกันในขอบเขตของคำถามนี้ก็คือว่า ผิดหลักจากพุทธศาสนาไหม เป็นสิ่งที่สมควรไหม เป็นสิ่งที่นำพาไปสู่ความเป็นมิจฉาทิฏฐิไหม เอาแค่ตรงนี้ก่อนนะ เมื่อเอาแค่ตรงที่ว่าสมควรหรือไม่สมควรแก่ผู้ที่จะมีศรัทธาในกรรมวิบาก ก็บอกได้เลยว่าไม่สมควร ถ้าหากว่าพิจารณาในแง่ที่ว่าจะพาไปลงเหวหรือเปล่า ก็มีสิทธิ์ เพราะว่าเมื่อเราเชื่อเสียแล้วว่าชีวิตสามารถจะดีขึ้นได้ด้วยการวอนขอ ชีวิตสามารถที่จะอยู่ใต้ความช่วยเหลือของสิ่งที่เรามองไม่เห็น จิตใจก็จะพุ่งไปยึดหรือว่าพุ่งไปเชื่อ หรือว่าโน้มไปในศรัทธาสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระอย่างไรก็ได้ คือเขาจะหลอกอย่างไร ถ้าเป็นกรณีที่เราไปเจอของหลอก เขาจะหลอกอย่างไรเราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อ ที่จะทำตาม เขาให้เรารำแก้บนเราก็รำ เขาให้เราแก้ผ้าเราก็แก้ผ้าอะไรขนาดนั้นนะครับ หรือที่เจอกันบ่อยที่สุดก็คือมีการเรียกร้องเงินทอง หรือว่ามีการทำให้เสียเนื้อเสียตัวกันสำหรับผู้หญิง

พูดง่ายๆ ก็คือว่า ทางพุทธเราไม่สนับสนุนไม่ส่งเสริมให้เกิดการวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะในรูปแบบกรณีใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการน้อมไหว้ บางทีพระพุทธเจ้าถึงกับให้บทสวดบางบทเพื่อที่จะผูกมิตรกับบรรดายักษ์ บรรดาอสูร บรรดาเปรต คือไม่ใช่เรียกร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปกป้องตัวเองนะ เวลาที่พระพุทธเจ้าให้บทสวด ท่านจะให้เป็นบทผูกมิตร บทแผ่เมตตา บทที่มีการสรรเสริญคุณของเทวดา คือหมายถึงว่า คุณวิเศษของเทวดาได้มาอย่างไร ด้วยการทำกรรมอย่างไร มีการจาระไนนะว่ากรรมอย่างไรถึงทำให้เป็นเทวดา นี่คือหลักการแบบพุทธ

กล่าวโดยสรุปก็คือ ‘การกราบไหว้ไม่เคยเป็นอัปมงคล แต่การตั้งใจวอนขอมันจะนำเราไปสู่ความงมงาย’



๒) มีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงของวัยรุ่น บางครั้งอารมณ์เขาแปรปรวนง่าย อารมณ์ร้อน จะมีวิธีอย่างไรที่จะสอนเขา?

ปัจจุบันมีปัญหานี้เกิดขึ้นกันมากที่สุดเลย เป็นหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับมากที่สุดจากคุณพ่อแม่ นั่นก็คือลูกดื้อ ลูกอารมณ์ร้อน และมีลักษณะก้าวร้าว ลักษณะที่คุมยาก สอนยาก อบรมยาก เวลาเราไปตักเตือนหรือว่ากล่าวเข้าก็มีอาการกระด้างกระเดื่อง เหมือนไม่แคร์ด้วยว่าเราจะมีปฏิกิริยาต่อไปเป็นอย่างไรเราจะดุด่าแค่ไหน หรือว่าเราจะถึงขนาดพูดอะไรที่รุนแรง อย่างเช่น หลายคนเผลอตัดพ่อตัดแม่เลย เดี๋ยวจะไล่ออกจากบ้านเลย ลูกก็ไม่สนใจ ไม่แคร์ แล้วก็บางทีแสดงท่าว่าพร้อมจะออกไปอยู่แล้วด้วยซ้ำ อันนี้เกิดขึ้นเกือบๆ จะเป็นเรื่องปกติแล้ว

ก็ขอให้เป็นสิ่งที่พิจารณาไว้ก่อนว่าไม่ใช่เคสของเราคนเดียว คุณไม่ได้โดดเดี่ยว คุณไม่ได้มีปัญหาอยู่คนเดียว คุณไม่ได้มีความกลัดกลุ้มในลักษณะนี้อยู่แค่ตามลำพัง เมื่อเราทำใจว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ใช่พ่อแม่ที่ผิด ไม่ใช่พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ดี มันเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ อย่างน้อยสบายใจได้แล้ว คราวนี้จะได้เกิดการพิจารณาหรือว่าสืบสาวกันต่อไปว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงมีลักษณะก้าวร้าว ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงมีจิตใจที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่ ไม่อยากฟังว่าผู้ใหญ่สอนอะไร ไม่อยากเชื่อว่าใครจะมานำชีวิตตัวเองได้ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น

อันดับแรกเลย สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวเขามากที่สุดตั้งแต่เริ่มขึ้นมาก็คือทีวีหรือไม่ก็เกม ส่วนใหญ่พ่อแม่จะให้ดูทีวีหรือว่าให้เล่นเกมได้ โดยคาดไม่ถึงว่าจะมีผลจะมีอิทธิพลกระทบจิตใจของลูกอย่างไร ได้มีการวิจัยกันออกมาว่าเด็กที่เล่นเกมจะมีแนวโน้มค่อนข้าง คือมีแนวโน้มดีแหละ แต่ว่าแนวโน้มที่เสียก็มาก อย่างเช่น ถ้าหากเล่นชนะจะมีความก้าวร้าวได้สูงกว่าคนที่เล่นแพ้ นี่เป็นตัวอย่างเลย เขามีวิธีวิจัยของเขา อย่างเช่นว่า ถ้าเล่นชนะมากๆ แล้วเปิดโอกาสให้พูดกับคู่แข่งได้ตามปรารถนาได้ตามใจ ส่งเสียงอัดใส่หูคู่แข่งขันได้ จะมีลักษณะของเสียงเป็นอย่างไร ก็ค่อนข้างชัดเจน ผลจากการวิจัยก็คือว่าเสียงจะแข็ง เสียงจะมีความก้าวร้าว และก็มีลักษณะที่คุกคาม ลักษณะที่ข่มขู่หรือว่าเกทับคู่ต่อสู้อย่างชัดเจน หรืออย่างที่เขาเคยวิจัยกันมา เกมอะไรที่ทำให้เด็กมีความก้าวร้าวได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าเป็นเกมยิงๆ เกมที่รุกเข้าหาศัตรูคู่ต่อสู้แล้วก็มีการทำให้บาดเจ็บล้มตาย จริงๆ แล้วอันนั้นก็อาจจะทำให้เกิดภาพหลอนได้เหมือนกัน อยากจะเข้าสู่สมรภูมิได้จริงเหมือนกัน แต่ยังไม่ใช่ที่สุดของเกมที่จะทำให้เกิดความก้าวร้าวในจิตใจของเด็ก

เกมที่จะทำให้เกิดความก้าวร้าวในใจของเด็กได้มากที่สุดอันดับหนึ่งเลย ส่วนใหญ่นึกกันไม่ถึง คือเกมขับรถ ยิ่งมีลักษณะของการพุ่งไปข้างหน้ามากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีลักษณะของความรวดเร็วรุนแรง และเดี๋ยวนี้มีการทำลายคู่ต่อสู้หรือว่าทำลายคู่แข่งได้ด้วย มันจะไปทำให้เกิดอารมณ์วู่วาม อารมณ์อยากจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ใจมันมีอาการแบบพุ่งไปทำลาย พุ่งไปให้ถึงเป้าหมาย ลักษณะของใจที่มีแต่พุ่ง พุ่ง พุ่ง ไปให้ถึงเป้าหมายโดยไม่สนใจสิ่งกีดขวาง พอเจอสิ่งกีดขวางแล้วก็จะทำลาย ก็จะชนให้มันแตกพังไปนี่เป็นลักษณะของการก่อตัวของความก้าวร้าวรุนแรงมากที่สุด นี่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นว่า บางสิ่งบางอย่างที่เรานึกไม่ถึงกัน เวลาเขาทำวิจัยกันออกมา มันแสดงความชัดเจนแต่ผลวิจัยต่างๆ เหล่านั้น มักจะเป็นข่าวแค่เล็กๆ มันสู้อำนาจของความสนุกความบันเทิง ในเรื่องของการอยากเข้าไปเล่นเกมไม่ได้ บริษัทเกมปัจจุบันเม็ดเงินก็เรียกว่าไม่รู้กี่หมื่นล้านเหรียญต่อปี โอกาสที่เขาจะหยุดหรือว่ามีอะไรไปเบรกได้คงยาก

นอกจากนั้นเรื่องของทีวี เรื่องของละคร ก็มีส่วนปรุงแต่งจิตใจให้เด็กเข้าไปอยู่ในโลกความคิดฝัน คิดๆ ฝันๆ ตามใจตัวเองได้มากกว่ายุคไหนๆ เพราะว่ายุคนี้ละครกับหนังทำได้ดุเดือดแล้วก็มีความถึงอกถึงใจมาก อะไรที่มันฝังเข้าไปในใจคน ภาพความรุนแรงทั้งทางเรื่องของ ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหลายมันจะถอนได้ยาก หรืออย่างเช่นข่าว แต่ก่อนเวลาเราเรียนคงจำได้นะว่า มักมีการแนะนำให้เด็กๆ ควรดูข่าว ควรสนใจความเคลื่อนไหวของการบ้านการเมือง แต่ปัจจุบันผมว่ามันน่าจะเป็นตรงข้ามนะ ถ้าหากว่าเด็กสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากๆ มันมีอารมณ์ที่จะเห็นผิดเป็นชอบ หรือว่ามีอารมณ์ดื้อด้านได้ อย่างเวลาที่มีการถ่ายทอดสดประชุมสภา หรือว่ามีการถ่ายทอดข่าวที่มีคนถกเถียงกัน แล้วก็ไม่ฟังเหตุฟังผลกัน จะคอแข็งแล้วก็เสียงแข็ง ตั้งตาตั้งตาเอาชนะกันอย่างเดียว ลักษณะที่เป็นภาพเสียง ที่อัดเข้าใส่จิตใจของเด็ก เรานึกไม่ถึงหรอกว่ามีผลอย่างไร

แล้วมากที่สุดเลยก็คือ วิธีที่เราพูดกันเอง ระหว่างพ่อแม่ของเด็กที่คุยกันในบ้าน หรือว่าที่คุยกับเพื่อนบ้าน มันมีผลกับเด็กทั้งนั้นเลย เวลาที่เรานินทาใคร เวลาที่เราว่าร้ายใคร หรือว่าเวลาที่เราพูดถึงใครในทางไม่ดี ในทางเสียหาย มันทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีใครดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า ที่เราสอนไปสอนให้เขาดี แต่ไม่มีใครเคยทำตัวอย่างให้เขาเห็นว่าความดีมันเป็นอย่างไร สัมผัสจับต้องได้อย่างไร อันนี้ไม่ได้พูดถึงคุณผู้ถามนะครับ ผมพูดถึงในกรณีทั่วๆ ไปที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำ อันนี้คือสาเหตุ คือปมว่าเหตุใดเด็กสมัยนี้ถึงได้เกิดความก้าวร้าวกันทั่วโลกและถึงขั้นที่เริ่มมีปัญหา อย่างในอเมริกามีปัญหาว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เด็กคว้าปืนของพ่อไปกราดยิงเพื่อนๆ และครูที่โรงเรียนได้ เขาทำกันเป็นประจำทุกปี แล้วอเมริกาก็ซื้อง่ายขายคล่องเลย อาวุธปืน ผมอยากให้มองอย่างนี้ก่อนว่า ปัจจุบันโลกเป็นอย่างนี้ เราต้องยอมรับให้ได้ว่าความจริงก็คือเด็กจะมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวกระด้างกระเดื่อง ดื้อด้าน ไม่ยอมฟังคำสอนของใครเพราะเห็นว่าไม่มีใครดีจริง

สิ่งแรกที่เราจะต้องทำก็คือทำให้เขาเห็นว่ายังมีคนที่ดีจริงๆอยู่ ดีในลักษณะที่เขาจะว่าไม่ได้ ว่าสอนเขาแต่ทำไมเราถึงไม่ทำ ทำไมเราสอนให้เขาอย่าดื้อกับเรา แต่ทำไมเราดื้อกับคนอื่น หรือว่าเถียงกันเองในลักษณะไม่ฟังกัน นี่คือสิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญที่สุดว่าเราทำอย่างไร ถึงจะให้เขาเชื่อว่ายังมีคนที่นำจิตนำใจเขาได้ นำความเชื่อเขาได้

เริ่มต้นจากการตกลงกันก่อนเลยว่า เราจะไม่พูดอะไรที่มันเป็นเรื่องร้ายให้เข้าหูลูก ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่เถียงกันแรงเกินไป ไม่นินทาว่าร้ายใครให้ลูกได้ยิน จากนั้นก็เริ่มที่จะทำความเข้าใจตัวเองว่าเวลาที่เราจะพูดกับลูก เรามีอารมณ์อะไรขึ้นมานำหน้า ตัวนี้สำคัญมากเพราะคลื่นของความปรารถนา อาจจะเป็นคลื่นความปรารถนาดี แต่คลื่นความปรารถนาดีนั้นรุนแรงจนกระทั่งมีลักษณะเดียวกันกับคลื่นโทสะ เวลาที่เด็กรับอะไรเป็นคลื่นแหลมๆ ออกมาจากตัวเรา ก่อนอื่นเขาจะยกการ์ดขึ้นมาปิดป้องไว้ก่อน ไม่ว่าเราจะมีความปรารถนาดีที่มันจริงขนาดไหนก็ตามนะ เราต้องดูด้วยว่าความปรารถนาดีนั้นมาในรูปของคลื่นความเมตตาที่นุ่มนวล หรือว่าคลื่นของความอยากเอาให้ได้อย่างใจที่มันมีความแหลม ที่มันมีอาการเสียดแทง

จากนั้นการเลือกคำพูด เราต้องทำความเข้าใจ คิดถึงตอนที่เราเป็นเด็ก เราจะไม่ชอบฟังอะไรนานๆ เราจะชอบฟังอะไรแค่สั้นๆ แล้วจำได้ แต่พวกผู้ใหญ่มักจะไม่ใช่อย่างนั้น
เวลาอบรม สั่งสอนหรือว่าตักเตือนลูก จะพูดชักแม่น้ำทั้งห้า จนกระทั่งฟังเหมือนเป็นการพล่าม นี่คือมุมมองของเด็กนะ เขาจะไม่มองว่าเราสอนเขาดีแค่ไหน ให้เหตุผลดีแค่ไหน แต่เขาจะมองว่าเราพล่ามแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง แบบนั้นนะครับ

ถ้าหากว่าเราฝึกนิสัยที่จะอบรมลูก ที่จะตักเตือนลูกได้ด้วยแค่คำสั้นๆ เอาแค่ที่ได้ใจความว่าอย่าทำอย่างนั้นเพราะอะไร อย่าทำอย่างนี้เพราะอะไร มันจะเป็นเวลาที่สั้นเกินกว่าลูกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาเป็นกำแพงขวาง หรือว่าทำหูทวนลม แค่สั้นๆ บางทีเขาอาจจะเหมือนกับไม่มีท่าทีสนใจ แต่เขาจะรับฟังนะ แล้วจำ ถ้าเราพูดแบบนั้นบ่อยๆ ในลักษณะของการอมรมหรือการตักเตือนที่สั้นได้ใจความ มีความหมาย กระตุ้นให้เกิดการคิดได้ กระตุ้นให้เกิดการรู้สึกว่าตาสว่าง กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกยอมรับได้แบบนี้ ในที่สุดลูกคุณจะค่อยๆเปลี่ยนไป จะค่อยๆ หันมาฟัง หันมาเต็มใจที่จะคุยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าถึงเวลาที่เขาจนแต้ม ถึงเวลาที่เขาหาทางออกของตัวเองไม่เจอ ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ในที่สุดเขาอาจจะนึกถึงเรา แล้วก็หันมาถาม หันมาซักไซ้ หันมาระบายความในใจ เพื่อให้เกิดลักษณะของการปรับทุกข์ขึ้นมา ตรงนั้นแหละเราต้องรีบฉวยโอกาสนะครับ

สรุปสั้นๆ ก็คือ ‘สำรวจใจตัวเองว่ามีความนุ่มนวลพอไหม แล้วก็ฝึกที่จะเลือกคำให้สั้นที่สุดกระชับที่สุด’ จนกระทั่งลูกมีแก่ใจ เกิดความมีแก่ใจที่จะรับฟัง ลูกจะคิดถึงเราในเวลาที่เขาคิดไม่ได้ เขาอยากจะได้คำพูดของเราไปทำให้เขาคิดได้ขึ้นมา เรื่องของเด็กเป็นเรื่องที่ยากที่สุดครับ แต่ว่าถ้าเราใจเย็นนิดหนึ่ง บางคนผมเข้าใจนะว่าใจเย็นมานานแล้ว ใจเย็นมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เห็นอะไรดีขึ้นสักที ก็อยากจะแนะนำครับว่าลองพูดสั้นๆดู



๓) ในการเลือกคู่ชีวิต ผมควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อน ระหว่างเลือกคนที่เข้ากับผมได้ หรือควรเลือกแม่และภรรยาที่ดีของครอบครัวครับ เพราะว่าตอนนี้แฟนผมดีทุกอย่าง มีลักษณะของความเป็นแม่ที่ดี ภรรยาที่ดี แต่เธอเป็นคนจืดๆ เรียบๆ ง่ายๆ ทุกอย่างที่เธอทำมันเหมือนไม่ถูกจริตกับผมน่ะครับ ผมเลยรู้สึกเฉยๆ ในสิ่งที่เธอทำให้ผมหลายๆ อย่าง สุดท้ายความรู้สึกที่ผมอยากทำอะไรดีๆ ให้เขานี่มันลดลง ด้วยความที่มันไม่มีเหตุมาเติมน่ะครับ แล้วหลายครั้งผมก็ทะเลาะกัน แล้วนี่เขากำลังจะขอเลิกกับผม แต่ผมก็เห็นเขาเหมือนเป็นแม่ที่ดี ผมเลยไม่รู้ว่าผมควรให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรก่อน?

ความสำคัญอันดับหนึ่งนะครับที่จะเลือกคู่ นี่ตอบคำถามเป็นข้อๆไป ความสำคัญของการเลือกคู่ที่จะมาอยู่กับเราตลอดไป คุณสมบัติอันดับหนึ่งก็คือ ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองร่วมไปกับเรา คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้นะครับ ‘ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองร่วมไปกับเรา’ เพราะถ้าหากว่าไม่มีความพร้อมนี้แล้วจะไม่มีการปรับหรือว่าเปลี่ยนหรือว่าถมช่องว่างให้เต็มอย่างเด็ดขาด คือการที่เราเจอคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเรา ไม่ใช่เป็นประกันนะว่าในที่สุดแล้วทุกอย่างจะลงเอยดี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทั้งคู่ แต่อย่างน้อยที่สุดมันมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้จริง และมันก็เป็นตัวดัชนีชี้ว่าทั้งสองคนมีความรักกันมากพอ เพราะคนเราสิ่งที่หวงแหนที่สุดในชีวิตก็คือความเป็นตัวเอง ถ้าหากว่ามีใครทำให้เรารู้สึกว่าความรักหรือว่าการได้อยู่ร่วมกับเขามันมีพลังมากกว่า มันมีพลังเกินกว่าที่เราจะไปหวงแหนทิฐิมานะของตัวเองไว้ หรือว่าหวงแหนความเป็นตัวของตัวเองไว้ แสดงว่าความรักนั้นมีพลังมากพอ แสดงว่าเขาคนนั้นหรือเธอคนนั้นมีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราให้กลายเป็นชีวิตคู่ จากชีวิตเดี่ยวให้กลายเป็นชีวิตคู่ที่ดีได้ ตัวนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ถ้าหากว่าเราเห็นแนวโน้มนั้นในตัวใคร ก็ให้มาร์คไว้เลยเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง

ทีนี้คำถามต่อมาคือว่า เราควรให้ความสำคัญกับคุณสมบัติความเป็นแม่แค่ไหน หรือว่าคุณสมบัติที่จะอยู่ร่วมกันในลักษณะของคนที่จะเห็นอกเห็นใจกัน หรือว่าเข้ากันได้ ความสำคัญของคนที่จะมาเป็นแม่ให้กับลูกนะครับ ข้อหนึ่งเลยคือสามารถที่จะเลี้ยงดูลูก เต็มใจที่จะเลี้ยงดูลูก แล้วก็ให้ความสำคัญกับลูก ให้เวลากับลูกได้ ตัวนี้เป็นเครื่องวัดความเป็นแม่ ถ้าหากว่าไม่มีความเห็นว่าลูกมีความสำคัญ หรือว่าเวลาที่จะให้กับลูกสำคัญน้อยกว่าสิ่งอื่นในชีวิต นั่นก็เรียกว่าความเป็นแม่ค่อนข้างน้อย ถ้าหากว่าเราเห็นว่าใครมีความสามารถจะเลี้ยงดูลูก หรือว่าให้เวลาลูกได้ อันนั้นเราควรที่จะเพิ่มความสำคัญ เพิ่มมุมมองขึ้นมามุมมองหนึ่งว่า ยังมีอะไรอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่าความต้องการของเรา ยังมีอะไรอีกอย่างหนึ่งที่มันเป็นกำลังใจให้เราได้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะต้องทน หรือแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไป มันมีจุดหมายที่เราจะทน มันมีจุดหมายที่เราจะเปลี่ยนแปลงนะครับ นั่นก็คือเพื่อสร้างชีวิตครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูก ที่พร้อมไปด้วยกัน ที่พร้อมที่จะฝ่าฟันไปด้วยกัน ถ้าไม่มีกำลังใจ ถ้าไม่มีฉันทะเสียแล้ว โอกาสที่เราจะอยากทน หรือว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรืออยากจะปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันมันแทบจะเป็นศูนย์เลย ใจเราจะคอยวนเวียนคิดถึงแต่เรื่องของการไปให้พ้นหน้ากัน หรือว่าปลดเปลื้องพันธะเพื่อที่จะไม่ต้องมาเป็นทุกข์ร่วมกัน

วิธีที่เราจะเป็นผู้นำในการสร้างความเต็มใจ ในการรักษาครอบครัวไว้ หรือว่าให้เวลากับลูก ให้ความสำคัญกับลูกเหนือกว่าความเป็นเราและความเป็นเธอนะครับ ก็คือเราจะต้องบอกตัวเองว่าชีวิตที่จะโตขึ้นภายใต้การเลี้ยงดูของเรา มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ถ้าหากว่าเราไม่สามารถจะที่จะรับผิดชอบชีวิตที่อยู่ร่วมกับเราได้ หมายถึงว่าลูกน้อยที่โตขึ้นมา ถ้าหากว่าไม่สามารถทำให้เขามีความสุขความเจริญได้ ชีวิตของเราเองที่เหลือมันก็ไม่สามารถจะเป็นสุขขึ้นมาได้เช่นกัน เราคิดถึงความสุขในอีกแบบหนึ่ง คือไม่ใช่ความสุขในแบบที่เป็นตัวเอง เป็นอิสระ หรือว่าเป็นไทจากพันธะ หรือว่าไม่ต้องมาเจอความทุกข์แบบที่กำลังเป็นอยู่นี้อีก แต่เราคิดถึงชีวิตอีกแบบหนึ่งที่มันมีความสุขความภูมิใจที่ได้ทำให้ลูกคนหนึ่ง ทำให้เด็กคนหนึ่งได้โตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ แล้วก็มีความเป็นประจักษ์หลักฐานยืนยันว่าเรามีความสามารถที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น หรือว่าทำให้โลกนี้มันเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นไปนะครับ

สรุปก็คือ การที่เราจะให้ความสำคัญกับผู้หญิงสักคนหนึ่งนะ อันดับแรกเลยก็คือว่า เขามีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงหรือว่าปรับตัวร่วมไปกับเราหรือเปล่า อันดับที่สอง คือเขาพร้อมที่จะให้เวลากับครอบครัวหรือเปล่า ถ้าหากว่าพร้อมที่จะให้เวลากับครอบครัวต้องพร้อมที่จะปรับความเข้าใจ หรือว่าให้ความเข้าใจอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นไปกับเราด้วย ไม่ใช่เฉพาะว่าจะไปให้เวลากับลูกอย่างเดียว เพราะว่าการที่เราเข้ากันได้กับเขานั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูก



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๑ / วันที่ ๑๓ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ

วันก่อนผมพูดเรื่อง ‘การปรุงแต่งทางจิต’ โดยเอาเพลง ‘ความอบอุ่นกลางสายฝน’ (Warmth in the Cold Rain) มาเป็นตัวตั้ง ก็ไม่นึกว่าหลายคนจะชอบเพลงนี้มาก แต่ก็บ่นว่าฟังจาก http://www.spreaker.com แล้วเสียงแตก อันนั้นก็เป็นเพราะทาง Spreaker.com เค้าไปบีบอัดเสียงอีกทีนะครับ พอถูกถามหาไฟล์ต้นฉบับจากหลายคนเข้า ผมก็เลยคิดว่าอัพโหลดขึ้นไปไว้ให้เอามาฟังกันเลยดีกว่านะครับ แล้วก็อย่างที่ทราบถ้าติดตามเพจ http://www.facebook.com/AskDungtrin ในช่วงเช้านี้นะครับ ก็คงเห็นผมให้ลิงก์ไว้แล้ว ไปฟังกันได้จาก http://soundcloud.com/dungtrin/warmth-in-the-cold-rain ลิงก์ยังอยู่ที่สเตตัสปัจจุบันของเพจ แต่ผมเองก็เพิ่งทราบว่าทาง SoundCloud.com เนี่ย มีเงื่อนไขคือให้ฟังได้ไม่จำกัด แต่อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้เพียงไม่เกินร้อยครั้งนะครับสำหรับทะเบียนฟรี

เดิมผมจะทำอัลบั้มเพลงบรรเลงแบบที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานของคนเมืองทั่วไปคือเครียด จิตตก หดหู่ ฟุ้งซ่าน โดยอาศัยความรู้บวกกับจินตนาการทางดนตรีนะครับมาสร้างเสียงที่สดใส ตลอดจนทำเสียงที่ไปจัดระเบียบคลื่นสมองเสียใหม่ ให้มันมีความถี่แบบที่ใกล้เคียงกับสมาธิ ซึ่งแนวดนตรีประเภทนี้เนี่ย ปัจจุบันก็นิยมกันมากเลย เพียงแต่คนส่วนใหญ่ฟังแล้วจะทนไม่ไหว เพราะว่าดนตรีพวกนี้จะออกแนวแบบเป็นเสียงซ้ำๆ ไม่ใช่ลักษณะของดนตรีที่ฟังเพลินอะน่ะครับ ผมก็เลยตั้งใจจะทำแบบที่เป็นดนตรีด้วย ขณะเดียวกันก็ไปสร้างจินตภาพเชิงบวก เพื่อแก้เครียดแก้หดหู่แบบง่ายๆ เมื่อฟังไปหลายเพลงเข้านะครับ แต่โครงการเกี่ยวกับดนตรีบำบัดเนี่ย ผมเอาไว้คิวท้ายๆนะครับ คือพอเบื่องานเขียนค่อยหันมาทำซักช่วงนึง เลยไปไม่ค่อยถึงไหนนะครับ อย่างเพลง ‘ความอบอุ่นกลางสายฝน’ นี่ ก็ดองทิ้งไว้นานแล้ว ไม่ได้เอามาปรับแต่งให้ฟังดูดีกว่าที่ได้ยินกัน

เอาละครับ! พูดไปเรื่อยๆเพื่อรอให้เสียงไปถึงเครื่องของคุณๆ มาดูคำถามแรกกันเลยนะครับ… ก็ทักทายกับทุกท่านที่ได้เข้ามาที่หน้าวอลล์ของ http://www.facebook.com/HowfarBooks แล้ว ก็ทักทายกับทุกคนนะครับ



๑) คนที่โดนทำร้ายไม่ว่าจะร้ายแรงขนาดไหน อย่างมากแค่โกรธ แค่โมโห แล้วก็ไม่เคยเกลียดใคร จิตแบบนี้ได้มาอย่างไร?

ถ้ามีความตั้งมั่น คือ เวลาพระพุทธเจ้าท่านอธิบายเส้นทางหรือว่านิสัยของคน อย่างคนที่ถือว่าได้ที่พึ่งให้ตัวเองแล้วเนี่ย ท่านจะนิยามจากการที่ทำทานแล้วก็รักษาศีล ตลอดจนมีศรัทธาในทางที่ถูกในแบบที่ตั้งมั่น คือคนส่วนใหญ่เนี่ย จะเข้าใจกันในแง่ที่ว่า ทำบุญมากๆ… ทำบุญยังไง? ก็คงให้อะไรใครเยอะๆมั้ง?

แต่จริงๆแล้วระดับของบุญเนี่ย การรักษาศีลมันยิ่งกว่า มันเหนือกว่า แล้วการทำบุญของแต่ละคนเนี่ย ก็ไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน ไม่เท่ากัน

บางคนช่วงต้นชีวิตทำบุญเยอะเลย แต่กลางชีวิตมาเริ่มเข้าไปปะปนกับผู้คนที่ชวนให้ดิ่งลงเหว ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงนิสัย จากเคยมีน้ำใจมากเป็นคนมีจิตใจขี้เหนียว หรือว่าอาจจะไปฉกฉวยหาโอกาสหาผลประโยชน์จากคนอื่นเลยด้วยซ้ำ

หรือว่าจากที่เคยรักษาศีล กลัวมากๆแม้กระทั่งยุงก็ไม่กล้าตบ แต่กลางชีวิตอาจจะถึงขั้นที่ว่า สั่งฆ่าคนได้ อย่างนี้ก็มี

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าเลยตรัสว่า ผู้ที่ได้ที่พึ่งจริงๆให้กับตัวเอง
หมายถึงผู้ที่มี ‘ทาน’ ‘ศีล’ แล้วก็ ‘ศรัทธา’ ที่ตั้งมั่นแล้ว

ทั้งชีวิตเนี่ยนะ พิสูจน์กันได้ด้วยตรงที่ว่า ‘ต่อให้คบใคร เจอเรื่องยั่วยุแค่ไหน ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลนจากความตั้งใจที่มั่นคง’

แล้วความตั้งใจที่มั่นคง ก็มักได้มาจากแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต
จะเป็นเพราะว่าพบพระพุทธเจ้า หรือได้พ่อแม่ที่ดี ที่ประเสริฐ อย่างไรก็แล้วแต่

เอาเป็นว่า ถ้าหากใครสามารถที่จะมีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ตลอดชีวิต สามารถรักษาศีลได้ตลอดชีวิตไม่ว่าจะเจอเรื่องยั่วยุขนาดไหน แล้วก็มีศรัทธาที่จะดำเนินรอยตามพระบาทของศาสดา แบบนี้ก็เรียกว่าเป็น ‘ผู้มีที่พึ่งที่แน่นอนให้ตัวเอง’

ผลเป็นอย่างไร? ผลคือว่า ถ้าเกิดชาติไหน เกิดชาติถัดๆมา จะเกิดในตระกูลที่สูง

คือไม่ใช่ตระกูลที่ร่ำรวยล้นฟ้านะตระกูลสูงเนี่ย ตระกูลที่ร่ำรวยล้นฟ้าต่างหากที่บางทีไม่ค่อยจะมีน้ำใจกัน ไม่ค่อยจะมีศีลกัน แต่ตระกูลสูงเนี่ย โดยนิยาม ก็หมายถึงผู้มีใจสูงจริงๆ มีความตั้งมั่นอยู่กับการมีใจสูง
คือมีน้ำใจคิดสละให้คนอื่น แล้วน้ำใจคิดสละเนี่ย กับการให้อภัยเป็นทาน ไม่อยากจะถือสาหาความ ไม่อยากจะเกลียดใครตอบ ไม่อยากที่จะทำผิดคิดร้าย ไม่อยากที่จะละเมิดศีลข้อไหนๆ อันนี้ก็เป็นผลมาจากการสั่งสมบุญไว้ดีแล้ว บุญในที่นี้ก็หมายถึงทาน ศีล และศรัทธา ตั้งมั่นดีแล้ว เกิดชาติใหม่ก็จะยังมีความมั่นคงอยู่ แล้วถ้าหากว่าต่อยอด พัฒนาให้เกิดยิ่งๆขึ้นไป ทั้งในแง่ของน้ำใจ ทั้งในแง่ของความสะอาดทางใจ แล้วก็เรื่องของการเจริญสติเนี่ยนะ พัฒนาจากฐานที่ตั้งมั่นอยู่แล้วเดิม
ให้ต่อยอดสูงขึ้นไปอีก ตราบเท่าเข้าถึงนิพพาน ก็เป็นเหตุเป็นผลว่าทำไม ใจของคนบางคน ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่ต้องมีใครเสี้ยมสอน ก็จะสามารถที่จะไม่ถือโกรธ หรือโกรธนะ โกรธมี โกรธเป็นวูบๆวาบๆ เหมือนไฟลุกโพลงขึ้นมาแล้วก็มอดดับหายไป ตั้งใจว่า “โอย เนี่ยไม่ต้องมาญาติดีกันอีกแล้ว” แต่พอเค้ามาพูดดีหน่อย ใจอ่อน แล้วก็ให้อภัยเค้าได้ อย่างนี้แหละ ก็ถือว่าเป็นร่องรอยเป็นหลักฐานของจิตที่สั่งสมในเรื่องของ ‘อภัยทาน’ มาโดยมีความ ‘ตั้งมั่น’ แล้ว



๒) เด็ก ๑ ขวบ จะหัดให้รู้และคุ้นเคยกับธรรมได้โดยวิธีใดบ้าง?

สำหรับเด็กเนี่ยนะ เท่าที่สังเกตมา จริงๆไม่ว่าจะเด็กชาติไหนภาษาไหน
จะมีความรับรู้ทางหูทางเสียง ได้มากกว่าทางอื่นๆ อันนี้เท่าที่สังเกตเอานะ ไม่ทราบว่าจะไปขัดแย้งกับงานวิจัยที่ไหนรึเปล่า

อย่างเอาง่ายๆ ตอนอยู่ในท้องเนี่ย เค้าบอกเลยนะว่า ให้พูดกับลูกให้คุยกับลูก ตั้งแต่หกเจ็ดเดือนที่ประสาทหูเค้าพัฒนาแล้วเนี่ย มีงานวิจัยออกมาว่า ถ้าหากให้ฟังเสียงเพลงคลาสสิกบ่อยๆเลยนะ คือ ถ้ายิ่งทุกคืนทุกเช้าได้เนี่ย มีวิจัยบอกว่า เด็กคลอดออกมาแล้ว จะคลอดออกมาหน้ายิ้ม แล้วมันก็ท่าจะมีแนวโน้มออกมาอย่างนั้นจริงๆด้วย

ทีนี้ถ้าหากว่า คิดในแง่ของธรรมะ ถ้าให้เค้าฟังซีดีของครูบาอาจารย์ที่เสียงท่านมีความอัศจรรย์ในเรื่องของการเทศน์ เสียงมีความสว่าง เสียงมีความบริสุทธิ์ ที่ผมแนะนำเป็นประจำเนี่ย ก็หลวงพ่อพุธ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) อันนี้คงทราบกันอยู่แล้วว่า ผมก็ไปบวชกับหลวงพ่อพุธ
และมีความซาบซึ้งกับอัศจรรย์ทางเสียงของท่านมาก อย่างเสียงของหลวงปู่เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) เนี่ย ก็เป็นเสียงที่บริสุทธิ์มากๆ ถ้าหากว่าเราเปิดให้เด็กในท้องฟังตั้งแต่แรกเลย ก็จะมีผลนะ เพียงแต่ว่าคงยังไม่มีการทำวิจัยกันจริงจังเหมือนเพลงคลาสสิก เพราะเพลงคลาสสิกเนี่ยขายได้ แต่ว่าเสียงธรรมะเนี่ย ไม่ได้แพร่หลายซักเท่าไหร่ อย่างมากก็คงยังฟังกันในประเทศไทย ส่วนเพลงคลาสสิกเนี่ยฟังกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าแปลกใจถ้าหากจะมีการทุ่มทุนทำการวิจัยกันแล้วก็แสดงหลักฐานเป็นเปเปอร์ออกมาว่ามันได้ผลจริงๆ

ก็ถ้าหากเราทำให้เด็กคุ้นกับเสียงของธรรมะตั้งแต่อยู่ในท้อง แล้วออกมายังทำให้คุ้นกับเสียงเย็นๆของพ่อแม่ อันนี้ก็จะมีผลมาก

บางคนเนี่ยนะ ใช้อุบายวิธีอะไรที่มันดูวิจิตรพิสดารมาก หรือว่าดูเท่ห์มาก หรือ… จริงๆแล้วผมขอบอกเลยว่า เทคโนโลยีที่ใช้พัฒนาจิตใจของเด็กให้เป็นไปในทางธรรมขึ้นมาให้มาในทางสว่าง ไม่มีอะไรล้ำสมัยเกินไปกว่าเสียงของพ่อแม่ที่เป็นธรรมอีกแล้ว ถ้าหากคุณพูดคุยกันเย็นๆให้ลูกได้ยิน นั่นแหละ มันคือการทำให้เค้าได้รับธรรมะ ตั้งแต่ยังไม่รู้ความแล้ว

หรือถ้าคุณรู้ตัวว่า (อันนี้ไม่ได้บอกว่าใครนะ) ถ้าหากเกิดความรู้สึกอยากจะนินทาว่าร้ายใคร หรือว่านึกอยากจะขึ้นเสียงกันเอง ใส่กันเอง ก็สะกิดๆกันหน่อย คือปวารณาตัวไว้ว่า “นี่จะทำเพื่อลูกนะ!” อย่าให้เค้าได้ยินอะไรที่จะไปก่อคลื่นความรุ่มร้อนขึ้นในจิตของเค้า เพราะเด็กเนี่ยไวกับเสียงมากๆเลย เสียงนินทาว่าร้ายเป็นเสียงที่มีความร้ายกาจมาก เสียงที่พ่อแม่ด่าทอกันหรือว่าทะเลาะกันเนี่ย เป็นเสียงที่น่ากลัวมาก น่าหวั่นไหวมาก แต่ถ้าเค้าได้ยินแต่เสียงที่ดีๆ เสียงชื่นชมคนอื่น เสียงที่เป็นพวกเดียวกัน มีความสามัคคีมีความปรองดองกัน ก็จะทำให้ลูกยิ่งอบอุ่นมาก ยิ่งถ้าหากพ่อแม่คุยธรรมะกันเองนะ พูดง่ายๆว่าไปอ้างอิงคำสอนครูบาอาจารย์มา หรือว่าพูดถึงในลักษณะที่เรียกว่า ‘สนทนาธรรม’ เนี่ย พูดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ พูดในเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล คลื่นเสียงที่เป็นเหตุเป็นผลและมีความเย็นเป็นพวกเดียวกัน จะเข้าสู่โสตประสาทของลูกน้อย แล้วก็ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดความสว่าง เราเกิดมาในโลกที่อบอุ่น

ถ้าหากว่าพ่อแม่เข้าใจหลักการตรงนี้ แล้วก็นำไปปฏิบัติจริงๆต่อหน้าลูก ให้ลูกได้ยินอยู่ทุกวันทุกคืน ขอให้รู้เถอะว่า เด็กคนนั้นมีบุญมหาศาลเลย เป็นเด็กที่มีบุญมากๆ เพราะมันเป็นไปได้ยากที่จะไปเกิดกับพ่อแม่ที่มีแต่พูดดีกับดี ทำแต่ภาพที่มีแต่ความน่าชื่นใจให้ลูกเห็น เป็นไปได้ยากมาก ถ้าหากว่าคุณมีความเต็มใจ คุณและคู่ของคุณมีความเต็มใจ มีความพร้อมใจ มีความสมัครสมานสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ที่จะทำให้ลูกเห็น แล้วก็ได้ยินแต่อะไรที่มันเป็นธรรมะ นั่นแหละ เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแล้ว เกินกว่าจะไปเปิดเพลงคลาสสิก เกินกว่าจะไปเอาลูกเข้าไปวัดทุกวันซะอีก อันนี้ยืนยันเลยนะ ดีกว่าเอาลูกเข้าวัดทุกวัน เพราะว่าเอาลูกเข้าวัดเนี่ย เราไม่สามารถประกันได้ว่าเด็กจะมองอะไร จะฟังอะไร แต่อยู่ในบ้านเนี่ย ประกันได้เลยว่าเด็กจะพยายามฟังว่า พ่อแม่มาคุยกับตัวเองว่าอย่างไร แล้วพ่อแม่คุยกันเองอย่างไร



๓) พรุ่งนี้วันวาเลนไทน์ ช่วยสอนวิธีรับมือกับความผิดหวังจากคนที่เราแอบปลื้มได้ไหมคะ? มีแววเศร้าใจพรุ่งนี้แน่นอน

เอาละสิ วันแห่งความสุขของคนอื่น มันเป็นวันเศร้าของเรา เป็นวันแอบเศร้าของคนส่วนใหญ่ในโลกนี้เลย

ไอ้ที่บางทีควงคู่กันหวานแหววเนี่ย เค้าไม่อยากให้เราเห็นภาพที่แท้จริง บางคู่เท่าที่รู้เลย จับคู่กันเฉพาะกิจ เพื่อไม่ให้อายเพื่อน เพื่อไม่ต้องมีตำแหน่งว่างงานจากการเดินไปไหนกับคนที่เป็นคนรู้ใจ หรือว่าเป็นคนที่เอาไปนำเสนอให้เพื่อนเห็นว่าเนี่ยเป็นแฟนฉัน จริงๆโลกนี้เนี่ย มันคือโรงละครโรงใหญ่ ขอให้มองเถอะว่า ทำความเข้าใจไปเถอะว่า เค้าไม่ได้ควงกันมีความสุข เค้าควงกันมีความทุกข์ ทุกข์แบบคนมีคู่ แต่เราแอบเศร้าแอบเหงาเนี่ยนะ จริงๆแล้วเนี่ยมันประกันได้ว่าไม่ถูกใครทำร้ายในวันวาเลนไทน์

ในวันวาเลนไทน์เนี่ย เท่าที่รู้ บางทีก็มี… คือไม่ใช่มาเพิ่งสมัยนี้นะ มันตั้งแต่ตอนผมเป็นวัยรุ่น ตั้งแต่สมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วนะ มันก็เป็นคืนวันเสียตัว แล้วไม่ใช่คืนวันที่จะขอกันดีๆนะ บางทีก็ปล้ำเอา หรือว่าหลอกลวงไปที่ไหนๆบอกว่า “เออ! ไปเที่ยวกันหน่อย เดี๋ยวจะไปส่งบ้าน” ก็นั่นแหละ กลับเช้าเลย แล้วก็กลับไปก็ตาบวม ไม่นึกไม่ฝันว่าคนที่จะดีกับเรา กลายเป็นโจรโฉด คร่าพรหมจรรย์กันไป อย่ามองว่าวันวาเลนไทน์เป็นวันแห่งความสุขความสมหวังทางความรัก ขอให้มองความจริงเถอะว่า คนบนโลกนี้มีน้อยคู่นะครับ มีน้อยคนนักที่มีความสมหวังในความรัก เพราะว่าปัจจัยทางความรักไม่ได้มาหวานแหววกันในวันเฉพาะกิจ วันที่ ๑๔ กุมภาฯเนี่ย มันไม่มีทางเลยที่จะทำให้คนทั้งโลกเกิดความรักที่แท้จริงต่อกันได้ ถ้าหากว่าไม่มีพื้นฐานของความรัก ไม่มีพื้นฐานของความสุขที่จะอยู่ด้วยกันก่อนหน้าวันที่ ๑๔ นะครับ แต่ของเรา
เรามีพื้นฐานของความสามารถที่จะเจริญสติ มีความสามารถที่จะอ่านฟังธรรมะ สามารถที่จะมีความสุขอยู่กับตัวเอง สามารถยิ้มอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องฝืนแสร้ง ถ้าหากว่าเราเห็นความสงบเราเห็นความสุขอันเกิดจากการอยู่คนเดียวในวันวาเลนไทน์แล้ว ขอให้วันนั้นเป็นวันที่คุณรักตัวเอง และก็มีความสุขอยู่กับการได้อยู่กับธรรมะที่วิเวก ไม่เป็นทุกข์จากการมาเสแสร้งแกล้งรักกันเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในโลก

คู่รักที่รักกันจริงๆมีนะ ผมรู้จักหลายคู่ ส่วนใหญ่ไม่ได้รักกันมาแต่อ้อนแต่ออก ส่วนใหญ่แล้วเค้าผ่านความทุกข์ คู่รักที่ประสบความสำเร็จเนี่ย ผมบอกเลยว่าเกิดจากการที่สามารถผ่านความทุกข์ร่วมกันมาได้ ไม่ใช่เกิดจากการที่มีบุญเก่าเนี่ยหนุนให้แต่สุขกับสุขตั้งแต่แรกจนกระทั่งวันตาย มันไม่ใช่ คนที่เค้ามีความสุขกันจริงๆเนี่ย จะวันที่ ๑๓, ๑๔ หรือ ๑๕ เค้าก็มีความสามารถที่จะผ่านปัญหาในการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นไปได้ เค้าต้องใช้ความสามารถในการต้องผ่านด่านอุปสรรค แต่เราไม่ต้องผ่านด่านอุปสรรคแบบนั้น คิดในแง่ดีก็เหมือนกับเราไม่ต้องเหนื่อยเหมือนเค้านะ



๔) ถ้าเราไม่บริสุทธิ์ หมายถึงผ่านผู้หญิงมาแล้ว จะบวชให้พ่อแม่ พ่อแม่จะได้บุญเต็มที่ไหม?

การบวชเนี่ย เราถือเอาเฉพาะความตั้งใจก่อนบวช ถ้าหากว่าคุณมีความสามารถที่จะถือศีลแบบพระได้ หมายถึงว่าถือวินัยของพระได้
แล้วก็มีความรู้มากพอที่จะเจริญสติในขณะห่มผ้าเหลืองได้ ตรงนั้นแหละ พอคุณบวชเข้าไปแล้วคุณทำตามความตั้งใจ ทำตามความรู้และประสบการณ์ที่พูดง่ายๆว่า เป็นเสมือนพระก่อนที่จะบวชได้ อันนั้นแหละได้บุญเต็มที่

ถ้าหากว่าพ่อแม่ของคุณเห็นภาพลูกชายที่มีจิตใจว่างจากกิเลส ว่างจากความโลภ โกรธ หลง ตามแบบชาวบ้านธรรมดาได้แล้วเนี่ย เห็นลูกชายห่มผ้าเหลืองด้วยความผ่องแผ้วทางใจแล้วเนี่ย เกิดความปลื้มปีติขึ้นเป็นธรรมดาแล้วเนี่ยนะ อันนั้นบุญจะเกิดกับพ่อแม่เต็มที่ เพราะคนเราเนี่ย ย่อมยึดว่าลูกเป็นของเรา เป็นตัวแทนของเรา เมื่อลูกมีความผ่องใส เมื่อลูกมีความบริสุทธิ์แบบพระ เมื่อลูกสามารถเป็นภาพของความศักดิ์สิทธิ์ให้ตัวเองพร้อมอ่อนน้อมพอที่จะกราบไหว้ได้ นั่นแหละคือที่สุดที่พ่อแม่จะปลื้ม นั่นแหละคือที่สุดของบุญที่จะได้เต็มที่ ไม่เกี่ยวกับว่าเราจะเคยทำอะไรหรือไม่ทำอะไรมาก่อน

แม้แต่พระองคุลีมาล เคยฆ่ามาคนเกือบครบหนึ่งพันคน พอบวชแล้วท่านก็ได้เป็นอรหันต์ นั่นหมายความว่าต่อให้ทำบาปมามากมายอุกฤษฏ์ขนาดไหนก็ไม่สามารถไปลบล้างหรือว่าไปขัดขวางไม่ให้บุญใหญ่เกิดขึ้นได้จากการบวชนะครับ สบายใจได้เลย

การออกกำลังกายเนี่ย มันเป็นเหมือนกัน เป็นเครื่องช่วยให้การเจริญสติเนี่ยมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นด้วย เพราะว่าถ้าหากฐานคือกายเนี่ยนะ มีความแข็งแรงสมบูรณ์แล้วเนี่ย สติมันพร้อมที่จะตั้งมั่นได้ไม่ยากเลย เพราะว่าร่างกายเนี่ย จะอัดฉีดสารต่างๆที่มันเป็นประโยชน์ ที่มันเกื้อกูลกับความรู้ ความตื่น ความเบิกบานของใจนะครับ อย่าดูเบาว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องแบบโลกๆ เป็นเรื่องที่ไม่ได้แอดวานซ์อะไรเหมือนกับการปฏิบัติธรรมภาวนา ไม่ใช่เลย เป็นส่วนประกอบกันอย่างยิ่งเลย ถ้าหากว่าออกกำลังกายแล้ว คุณรู้สึกถึงความเข้มแข็ง คุณรู้สึกถึงกำลัง
รู้สึกถึงพละกำลังของการนั่งสมาธิ เดินจงกรม นั่นแหละเป็นหลักฐานฟ้องเลยว่าการภาวนาด้วยไม่ได้สวนทางกันครับ



๕) จะสอนลูกให้เป็นคนดีได้อย่างไร?

เมื่อครู่นี้ก็อย่างที่ตอบไปนะครับ สอนด้วยการกระทำของพ่อแม่ คุณอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ทำให้ลูกดู พูดให้ลูกดู แล้วที่ดีที่สุดคือคิดให้ลูกเกิดความรู้สึกถึงกระแสจากใจของคุณด้วย

คนที่คิดดีบ่อยๆ โดยเฉพาะเด็ก โดยเฉพาะในวัยต้นๆเค้าจะเซนส์ได้ไวมาก เมื่อพ่อเราคิดดี แม่เราคิดดี มันจะออกมาทางสีหน้าสีตาที่ยิ้ม ยิ้มจริงๆ ยิ้มแบบผ่องใส เด็กจะเซนซิทีฟมากกับจิตที่ซ่อนปมอะไรไว้ หรือมีปมอะไรบางอย่างกระจุกอยู่ข้างใน ถึงแม้ว่าเราจะยิ้ม แต่ถ้าใจมีอาการกระจุกตัวอยู่ มีความเครียดอยู่ มีความหมกมุ่นในบาปอยู่ เด็กจะเซนส์ได้
เด็กจะเอาสิ่งที่เค้าสัมผัสได้ทางใจเนี่ย อธิบายไม่ถูก แต่ว่าเค้าจะเก็บเข้ามาเป็นตัวอย่างทางจิตด้วย แล้วเค้าจะเลียนแบบทางจิตของเราด้วย
คิดแบบหมกมุ่น มีความมืด แอบมืด แต่ข้างหน้านี่แสดงออกแบบสว่าง เค้าจะก๊อปเรามาในช่วงต้นๆนะ เหมือนเป๊ะเลย



๖) หากเราเจอคนขี้โมโห ดุด่าโดยไร้เหตุผลบ่อยๆ หรือบางทีเค้าก็น้อยใจจนโมโห เพราะหนูไม่ได้อย่างใจ เค้าทั้งที่หนูก็ทำดีที่สุดแล้ว ถามว่าควรวางตัวอย่างไร? เพราะบางทีหนูวางเฉย เค้าก็หาเรื่องไม่หยุด ทำทุกวิถีทางเพื่อจะให้หนูโมโห เค้าจึงจะสบายใจ (หนูอยากหนีความโกรธ เค้าก็ตาม จนในที่สุด หนูก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน ในทางพุทธหนูทำถูกแล้วหรือยังคะ? และทำอย่างไรให้เค้าสุขใจและหนูไม่บาป?)

คนแบบนี้ผมเคยเจอ ยืนยันว่ามีอยู่จริงใจโลก ไม่ใช่ละครหลังข่าว บางทีเค้าก็ก๊อปมาจากละครหลังข่าวนั่นแหละ ละครหลังข่าวเนี่ย อิทธิพลสูงมากนะ

(คำถามต่อเนื่อง – หนูอยากหนีความโกรธ เค้าก็ตาม จนในที่สุด หนูก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน ในทางพุทธหนูทำถูกแล้วหรือยังคะ? และทำอย่างไรให้เค้าสุขใจและหนูไม่บาป?)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ใช่เราจะใจดี แล้วก็ปล่อยปละกับทุกคน ใครอยากจะทำอะไรก็ช่างเค้า ไม่ใช่นะ บางครั้งท่านตรัสอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ‘ควรข่มคนที่ควรข่ม’ ลองไปเสิร์ชหาดูในกูเกิล (http://www.google.com) นะครับ เป็นพุทธพจน์นะครับ

ถ้าหากว่าใครจะกำเริบเกินกว่าอยู่ในกรอบในเกณฑ์ที่ควรเนี่ย เราก็จำเป็นต้องกำราบเค้าเหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าหากเรามีอำนาจหน้าที่
เรามีพาวเวอร์ที่จะพอกำราบเค้าได้

การกำราบมีอยู่หลายวิธี ทั้งใช้ไม้นวมและก็ใช้ไม้แข็ง แล้วก็ไม่ใช้ไม้อะไรเลย

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าที่สุดของการลงโทษในแบบพระนะ ที่สุดของการลงโทษคือการลงพรหมทัณฑ์ หมายความว่าเงียบไม่พูดด้วยเลย
แต่ก่อนหน้านั้นคือการใช้ไม้นวม คือการพูดแบบมีเมตตา…

(สัญญาณขาดไป)



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๘ / วันที่ ๗ ก.พ. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ก็เป็นอีกค่ำคืนนึงนะครับที่ผมไม่ได้ออนแอร์สด แต่จะมาตอบคำถามที่ได้รับมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ ‘ทำยังไงจะกำจัดความคิดแย่ๆทิ้งไปได้?’



รับมือความคิดแย่ๆ

  •  ทำอย่างไรจะกำจัดความคิดแย่ๆในหัวทิ้งไปได้?
  •  ความคิดไม่ดีมาได้อย่างไร?
  •  คิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นบุญเป็นบาปติดตัวไปแล้ว?
  •  อาหารหล่อเลี้ยงของความคิดแย่ๆคืออะไร?
  •  หลักการหรือวิธีรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าคืออย่างไร?


ทำอย่างไรจะกำจัดความคิดแย่ๆในหัวทิ้งไปได้?

คนยุคเราจะชอบคิดไม่ดีกันบ่อยๆ โดยมันจะกลายเป็นคลื่นรบกวนจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเอง หรืออย่างน้อยก็รำคาญคลื่นความคิดที่ว่านี้ ซึ่งแม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าตัดสินใจจะเป็นคนเลวนะครับ ยังรำคาญเลย ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนดีถึงจะรำคาญ

เพื่อจะ ‘รับมือ’ กับความคิดไม่ดีอย่างถูกต้อง ก่อนอื่นคุณต้องไม่คิด ‘กำจัด’ มันทิ้ง เพราะความคิดเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ และมันไม่เลือกเวลามาหาเรา เหมือนศัตรูที่ไม่บอกล่วงหน้าว่าจะเข้าโจมตีเมื่อไหร่ หรือปรากฏตัวในรูปแบบไหน การพยายามต่อสู้กับมัน ก็เหมือนกับการพยายามสู้กับสิ่งที่ไม่มีตัวตน หรือนินจาล่องหนดีๆนี่เองนะครับ รบไปก็แพ้เปล่า

มาตรการรับมือที่ถูกต้องนะครับ เราจะอาศัยหลักการบางอย่างที่ทำให้ความคิดที่เลวร้ายทั้งหลายเนี่ยมันแพ้ภัยตัวเอง สาบสูญไปเอง โดยที่เราไม่ต้องออกแรงพยายามทำลายล้างมัน และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือไม่ไปเผลอสร้างมันขึ้นมา หรือป้อนอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตมันให้ยืดอายุออกไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ก่อนอื่น เราต้องตั้งโจทย์เป็นข้อๆ ทั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ครอบคลุมนะครับ ตลอดจนรู้ขั้นตอนการรับมือเฉพาะหน้าอย่างไม่ผิดพลาดนะครับ

โจทย์ข้อแรกที่ต้องรู้ให้ได้ก็คือ...



ความคิดไม่ดีมาได้อย่างไร?

ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญนะครับ ตามหลักของ ‘ขันธ์ ๕’ ในพุทธศาสนาชี้ว่า เรามีหู มีตา รับภาพกับเสียง ภาพเสียงเข้ามากระทบหูตาให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จากนั้นจึงค่อยเกิดความจำตามมา แล้วก่อแนวโน้มที่จะคิดดีหรือคิดร้าย

นั่นหมายความว่า ถ้าสุขทุกข์มีพลังหนักแน่น ความจำก็ฝังแน่น และโอกาสคิดดีร้ายก็แรงตาม

ความคิดไม่ดีเป็นฝ่ายลบ ฝ่ายร้าย เพราะฉะนั้นก็ต้องสันนิษฐานว่า สิ่งที่เรารับเข้ามาผ่านหูตาหรือการกระทบกระทั่งส่วนอื่นๆนั้นเป็นของไม่ดี ไม่น่าชอบใจนะครับ ถึงเป็นต้นเหตุของความรู้สึกที่มันไม่ดีขึ้นมาได้ สัมผัสเนี่ยนะครับที่เข้ามากระทบเราเนี่ย พอปะทะกับเรา แล้วจึงเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์มาก เมื่อทุกข์มากก็ฝังอยู่ในความทรงจำแน่น แล้วก็เกิดความคิดร้ายๆเป็นผลสืบเนื่องกันมา

ตัวอย่างการกระทบหูตาที่ชัดเจนนะครับ ก็เช่นมีคนมาด่าเราตรงๆ หรือเราอาจจะไปดูหนัง ฟังเพลง หรือไม่ก็คบกับคนพาลสันดานหยาบ กระทั่งใจเราเนี่ยมันสั่งสมความรู้สึกเป็นทุกข์เข้ามาบ่อยๆ ความจำจึงผุดขึ้นบ่อยตามนะครับ ที่มันแย่ๆเป็นความจำแย่ๆ อาจจะเป็นคำหยาบ หรืออาจจะเป็นไอ้ความคิดที่มันไปเพ่งโทษคนอื่นนะครับ เพ่งโทษตามคนอื่นที่เค้ามาไกด์เราให้มองตามแนวทางที่มันมืดมน มืดบอด หรือว่ามันเลวร้ายต่างๆนะครับ

หรืออีกทางนึงนะครับ เราอาจจะเคยทำให้ใครเจ็บใจ มองใครไว้ไม่ดี จนสะท้อนให้เกิดความรู้สึกอึดอัด คือพอไปมองเค้าไม่ดีเนี่ย มันสะท้อนกลับมาเป็นความรู้สึกอึดอัดในใจเราเอง พอเกิดความรู้สึกอึดอันนั่นน่ะเป็นทุกข์แล้ว ยิ่งเป็นทุกข์รุนแรงกับตัวเองเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งเกิดความจำแย่ๆฝังแน่นตามเข้ามาด้วย แล้ววันดีคืนดีมันก็ผุดขึ้นมาในหัวเราเป็นคำหยาบ หรือคำด่า หรือคำที่ไม่เป็นมงคลใดๆขึ้นมาได้นะครับ คือไปด่าคนอื่นเค้าไว้ หรือไปทำให้คนอื่นเค้ารู้สึกแย่ไว้ แค่รู้สึกแย่เนี่ยนะมันก็กลายเป็นอะไรที่เสียดแทงใจเราเองแล้วก็ผลิตคำพูดไม่ดีขึ้นมาในหัวเราได้

สรุปแล้วก็คือ ที่มาที่ไปของความคิดไม่ดีหรือว่าคำหยาบในหัวนะครับ มันมีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆเกิดขึ้นเองหรือว่ามีใครแกล้งนะครับ

โจทย์ข้อที่สองที่ต้องรู้ก็คือ...



คิดแค่ไหนถึงเรียกว่าเป็นบุญเป็นบาปติดตัวไปแล้ว?

ความคิดนี่นะครับ ถ้ายังไม่เติบกล้าพอ ใจก็ยังไม่เปื้อนบาป ยังไม่มีบาปติดตัวไปให้ต้องชดใช้หรอก ความรู้ข้อนี้นะครับจะช่วยให้หลายคนสบายใจขึ้นมาก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในระดับผุดความจำขึ้นมาลอยๆ ยังไม่ได้จงใจคิด กรรมยังไม่ครบวงจรนะครับ

หลายคนไม่สบายใจที่ตัวเองคิดแย่ๆคิดไม่ดีเนี่ย ก็เพราะว่ากลัวบาปกลัวกรรมมันมันจะติดตัวไปนั่นเอง ถ้าหากว่ารู้แล้วว่าระดับความคิดไหนที่มันยังไม่ได้เกิดเป็นกรรมเป็นบาป ก็จะได้เกิดความสบายใจขึ้นมาแทน

ที่คิดไม่ดีแล้วเป็นบาป ตัดสินกันที่มีความ ‘ยินดี’ ในความคิดนั้นเป็นอันดับแรก อันดับสองคือมีความ ‘หนักแน่นยั่งยืนที่จะยินดี’ ในความคิดนั้น และอันดับสุดท้ายคือ ‘ยินดีที่จะพูดและทำตาม’ ความคิดนั้น

หมายความว่าแค่คิดเฉยๆ ยังไม่ได้บอกว่าคุณเป็นยังไง น่าทรมานใจกับความเป็นคนแบบนั้นแล้วหรือยัง

คุณต้องวนเวียนคิดอยู่นานพอนะครับที่จิตจะยึดความคิดนั้นว่าเป็นคุณจริงๆ ถ้าเริ่มคิดร้ายขึ้นมา แล้วรู้สึกไม่ยินดี ไม่อยากให้อยู่ในหัวของเรา อันนั้นไม่ถือว่าเป็นความคิดของเรา ยิ่งถ้าตั้งใจเด็ดขาดว่าจะไม่พูดแล้วก็ไม่ทำตามความคิดนั้นเป็นอันขาด ก็ยิ่งชี้ชัดนะครับว่า อำนาจความคิดไม่สามารถครอบงำคุณได้ คุณไม่มีทางเป็นไปตามอำนาจความคิดที่พยายามครอบคุณแน่ๆ สบายใจได้เลยนะครับ คุณยังไม่ได้ทำบาปหรอก

โจทย์ข้อที่สามคือ…



อาหารหล่อเลี้ยงของความคิดแย่ๆคืออะไร?

ทุกสิ่งที่มันมีตัวตนอยู่ได้เนี่ย ก็ต้องอาศัยอาหารหล่อเลี้ยงนะครับ ไม่งั้นมันไม่มีทางที่จะมีตัวมีตนอยู่ได้ ความคิดเลวๆนั้นก็มีอาหารหล่อเลี้ยงเหมือนกันนะครับ ไม่แตกต่างกับสิ่งอื่นๆ

ความคิดแย่ๆมี ‘อาหารหล่อเลี้ยง’ อยู่ ๒ อย่างก็คือ

๑) มีใจ ‘ยินดี’ ไปกับมัน ตกลงใจใช้ชีวิตตามความคิดนั้นๆ
๒) มีใจ ‘ต่อต้าน’ มากเกินไปจนเป็นทุกข์ ความทุกข์นั่นแหละคืออาหารล่อเลี้ยงความคิดที่ไม่ดีอย่างหนึ่งนะครับ อย่างที่บอกแล้วว่าความทุกข์ที่แรงนั่นแหละเป็นตัวตอกย้ำความจำให้มันลึกลงไปในใจ ไม่ใช่ถอนมันออกมาจากใจนะครับ

โจทย์ข้อสุดท้ายคือ…



หลักการหรือวิธีรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าคืออย่างไร?

คุณต้อง ‘รับมือ’ กับความคิดแย่ๆด้วย ‘สติ’

และความหมายแท้ๆของสติก็คือ การระลึกได้ตรงตามจริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในขณะนั้น ไม่ใช่มันเกิดขึ้นก็ไปพยายามฝืนปฏิเสธ แกล้งหลอกตัวเองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น หรือมันดับไปเดี๋ยวนี้ไม่ได้ ก็ไปพยายามทำให้มันดับนะครับ มันเป็นความพยายามที่เกินความสามารถ เกินตัว เกินจริงนะครับ แบบนั้นเนี่ยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเหนื่อยเปล่า ทุกข์มากขึ้นไปอีก

ถ้าไม่ต้อนรับ ไม่ต่อต้าน แล้วจะให้ทำอย่างไร? ก็ให้ยอมรับตามจริงครับ ยอมรับตามสภาพที่มันเกิด ไม่ไปต่อต้าน แล้วก็ไม่ไปพยายามทำลาย

การไม่พลอยยินดีไปกับมัน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ไปยินร้ายอะไรมากมายนะครับ สักแต่ยอมรับไปตามจริงนั่นแหละครับที่เรียกว่ามีสติแล้ว เพราะรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆในขณะนั้นไง

เมื่อมีสติ ก็มีความสว่างนะครับ เมื่อมีความสว่างมา ความมืดก็หายไป หรือค่อยๆเบาบาง เจือจางลงไปทุกที หมายความว่าพอเกิดความคิดแย่ๆเสียดแทงจิตใจปั๊บ คุณปลงใจยอมรับโดยดุษณีว่ามันเกิดขึ้น อย่าไปปฏิเสธว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น คุณจะเห็นถนัดด้วยสติในขณะที่ยอมรับนั่นแหละว่ามันรู้สึกแย่ขนาดไหน ทรมานใจเพียงใด และก็เวลาต่อมาคุณจะมีความสามารถที่จะดำรงสติอยู่ได้แล้วก็เห็นว่ามันแผลงฤทธิ์ไม่นานนะครับ เดี๋ยวมันก็ค่อยๆอ่อนกำลังลงไป โดยที่คุณยังไม่ได้ไปออกแรงผลักไสอะไรแม้แต่น้อยนะครับ

ด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเห็นว่ามันมาเองได้ เดี๋ยวมันก็ไปเองได้อย่างนี้เองนะครับ พอบ่อยเข้า ใจคุณจะจำว่ามันไม่ใช่ตัวคุณ และคุณจะไม่ยินดี ไม่ยินร้ายกับมันออกมาจากตรงกลางใจเลยนะครับ

ขอเพียงคุณฝึกรับมือกับความคิดแย่ๆเฉพาะหน้าได้บ่อยๆ ในที่สุดก็จะกลายเป็นมีสติในระยะยาว แล้วก็กลายเป็นความสว่างรุ่งเรืองในระยะยาวตามไปด้วย อันนี้ดูเหมือนง่ายนะครับ แต่ได้ผลจริงๆครับ ถ้าทำทุกครั้งนะครับ


ราตรีสวัสดิ์แล้วก็ฝันดีไปกับความเข้าใจที่ถูกต้องนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ