สวัสดีครับทุกท่าน
วันนี้วันพฤหัสบดีที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงครับ
และอย่างที่เราเคยทราบกันแล้วสำหรับการทักทายและไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ
ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks
โลกยุคต่อไปนะครับ
e-book
น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกที สำหรับท่านที่มี iPad สามารถเข้าไปโหลดแอปของ ‘คุณตรัง สุวรรณศิลป์’
ซึ่งรวบรวมผลงานของดังตฤณ แจกจ่ายฟรีที่ App Store เพียงเข้าไปที่ App Store แล้วค้นหาคำว่า Dungtrin ก็จะพบแล้วครับ
เจ้าตัวบอกว่าสำหรับ
iPhone นั้น กำลังทำอยู่ ไว้ทำเสร็จเมื่อไหร่ จะแจ้งให้ทราบอีกที (หมายเหตุ – ปัจจุบัน iPhone และมือถือ Android
สามารถดาวน์โหลดแอปนี้ได้แล้ว)
ไม่ว่าโลกจะล้ำไปในเรื่องของไอทีแค่ไหนนะครับ
ใจคนก็ยังเป็นทุกข์ได้เท่ากับอดีต และน่าจะยังเป็นทุกข์ต่อไปในอนาคต ความทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กาลนะครับ
ไม่ขึ้นอยู่กับความทันสมัยของเทคโนโลยีว่าจะมีไปแค่ไหน
เราไล่ตามเทคโนโลยีไป
เพื่อที่จะวนไปเวียนมาอยู่กับความทุกข์นี่เอง ทางที่ดีจึงควรหันมาใช้เทคโนโลยีในการทำทุกข์ให้เบาบางลงกันบ้าง
อย่างคืนนี้เราก็จะมาคุยกันครับ
๑) การอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตาย โดยไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่น
ถือว่าสร้างกรรมใหม่คือ ‘ประมาท’ ไว้ไหม?
หนูอยู่ที่ญี่ปุ่น ข่าวบอกว่ามีความเป็นไปได้ ๗๐% ที่จะมีแผ่นดินไหว
ตั้งแต่ ๗ ริกเตอร์ในโตเกียวภายใน ๔ ปี คนจะตายหมื่นกว่าคน และอาคารจะเสียหายกว่า
๘.๕ แสนหลัง
จริงๆแล้ว
ขอให้พิจารณาอย่างนี้นะว่า ‘ทุกวันนี้เนี่ย
เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตายกันทั้งสิ้นนะครับ’ ถ้าหากว่าจะเอาข่าวหรือว่าเอาการพยากรณ์
หรือว่าจะเอาการทำนาย ไม่ว่าจะเป็นแบบนอสตราดามุส (Nostradamus) หรือว่าแบบวิทยาศาสตร์ก็ตามเนี่ยนะครับ ‘เราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตายกันทั้งสิ้น’
แล้วจริงๆ
ถ้าหากว่าจะนับเอาความประมาทนะครับว่า ‘อาจจะไม่ถึงที่ตายในเร็วๆนี้’
หรือว่า ‘อาจจะไม่ต้องตาย’ เนี่ย ทุกคนประมาทกันหมด เพราะว่าร่างกายเรานี่แหละเครื่องประหารชั้นดีที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
ไม่มีใครรู้หรอกว่า ร่างกายของเราเนี่ย มันซ่อนระเบิดเวลาไว้กี่ลูก
และจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่
ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีมากมายที่จะบอกว่า
อายุขัยของคนๆนึงมันมีประมาณเท่าไหร่ อย่างที่ผมเคยไปตรวจเทโลเมียร์
(telomere)
มาก็รู้ว่า ถ้าหากว่ายังไม่เร่งบำรุงรักษาตัวเนี่ย
ก็มีสิทธิ์จะไปไวๆนี้เหมือนกัน
การที่เราไม่รู้แน่ๆชัดๆว่าจะเกิดอะไรขึ้นจริงหรือไม่จริง
ถ้าหากข่าวบอกว่า ‘มีความเป็นไปได้ ๗๐%’ คนที่บอกว่า ๗๐% เนี่ยคือใคร? ต้องถามว่าใครด้วยนะครับ
แล้วก็ต้องถามว่า ๓๐% ที่เหลือเนี่ย
มันแบ่งไว้เผื่อการตัดสินใจหรือว่าการจะอยู่หรือจะไปได้แค่ไหน? คือ ๓๐% สำหรับคนญี่ปุ่นเนี่ย
เท่าที่ทราบมานะครับ มันอาจจะไม่เกิดก็ได้
หมายถึงถ้า ๓๐% ไม่เกิดเนี่ย เขาถือว่ามันไม่เกิดเลยทีเดียวล่ะ
ที่เคยเห็นมานะครับ
เขาบอกว่าคนญี่ปุ่น ถ้าหากว่าจะให้สละบ้านเรือนย้ายถิ่นฐานไปที่อื่นเนี่ย
เขายอมตายอยู่กับบ้านดีกว่า อันนั้นเป็นความจริง เป็นเรื่องจริง ก็ไม่ใช่ความประมาทนะครับ
ไอ้ความรู้สึกว่า ‘ฉันจะไม่ไปไหนล่ะ ฉันจะอยู่เฝ้าแผ่นดินแม่อยู่ตรงนี้แหละ’
ก็เหมือนกับทหารในสมรภูมิเนี่ยบอกว่ารู้ว่าจะต้องตาย แต่ก็ไม่หนี
เพราะว่ามีเหตุผลที่ว่าจะสู้อย่างไว้ลาย อันนี้ไม่ถือว่าประมาท
แต่เราตัดทิ้งไปนะครับว่าจะเรื่องผิดศีล หรือเรื่องอะไรต่อมิอะไรยังไม่พูดกัน
พูดกันเฉพาะตรงที่คำถามของน้องที่ว่า ‘มันเป็นการประมาทหรือเปล่า’
การไม่รู้ชัดๆเนี่ย
มันไม่ได้ถือว่าเราประมาทหรือไม่ประมาทนะครับ แต่การที่เราอยู่อย่างคิดว่าจะไม่ได้ตายเนี่ย
อันนี้แหละ ที่ทางพุทธศาสนาถือว่าประมาท
และความไม่ประมาทของพุทธศาสนามีอยู่ประการเดียวคือ ‘เตรียมชีวิตทั้งชีวิตไว้เพื่อวันตายวันเดียวเลย’
จะมีชีวิตกี่หมื่นกี่แสนวันก็แล้วแต่
พระพุทธเจ้าให้เตรียมไว้เพื่อวันตายวันเดียวเลยนะครับ เตรียมก็คือว่า ‘ทำดีที่สุด เท่าที่จะทำได้’ ไม่ใช่สักแต่พูดนะครับว่า ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ แต่ถามว่าทำยังไง? บอกไม่ถูกนะครับ
หลักการง่ายๆที่ผมมองว่าเป็นไปได้สำหรับทุกคนก็คือ
‘ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานนิดนึง’ นั่นแหละที่เรียกว่าทำวันนี้ให้ดีที่สุดครับ
๒) อยากรู้ว่าต้องทำบุญประเภทไหน ถึงจะมีรถดีๆใช้?
คงไปมองรถสปอร์ตอะไรแบบนั้นมั้ง
หรือไม่ก็อาจจะรถหรูเป็นลักชูรี่คาร์อะไรแบบนั้นนะครับ
คำถามน่าจะมุ่งหมายไปทางรถระดับนั้น
จริงๆแล้ว
เราไปมองเป็นวัตถุไม่ได้หรอกนะครับ เรื่องที่ว่าจะได้มีรถดีๆใช้ จะได้มีเครื่องบินเจ็ตขี่
หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆเนี่ย มันเหมารวมไปเรื่องของฐานะ ระดับความเป็นอยู่
ระดับชีวิตที่จะมีจับจ่ายใช้สอยได้ตามอำเภอใจได้แค่ไหน หรือว่าจะมีเหลือเฟือพอที่จะฟุ่มเฟือย
แล้วก็เอาของแบรนด์ของดีมีระดับมาบำรุงบำเรอชีวิตของตนเองจะได้แค่ไหนเนี่ย พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ
ขึ้นอยู่กับ ‘วิธี’ ที่เราทำทาน แล้วก็
‘ปริมาณ’ ที่เราทำทานมา
ถ้าหากว่าเป็นผู้มีใจเลื่อมใส
คืออยากให้ มีความรู้สึกตื้นตันใจ มีความรู้สึกปีติอย่างใหญ่ที่จะอนุเคราะห์ให้ใครเขาเกิดความรู้สึกดี
หรือว่าเกิดสภาพชีวิตที่มันพัฒนาขึ้น มีการอัพเกรดชีวิต ถ้าอัพเกรดชีวิตให้ใครเขาได้แล้วรู้สึกปลื้มรู้สึกยินดี
อันนั้นแหละ ที่เรียกว่าเป็น ‘การให้ทานด้วยความเลื่อมใส’
เลื่อมใสในผลของบุญ
เลื่อมใสในสิ่งที่ตัวเองทำให้คนอื่นเขามีชีวิตที่ดีขึ้น หรือว่ามีความสุขมากขึ้น อันนี้ก็เป็นผลให้ทานมีความเต็ม
มีความอิ่ม มีความเบ่งบานอย่างใหญ่ โอกาสที่จะได้เกิดมามั่งคั่งก็มีสูงนะครับ
เราเกิดมามั่งคั่งเนี่ย
มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องรถ เรื่องบ้าน เรื่องการซื้อเสื้อผ้า การซื้อของจำเป็นเนี่ย
มันก็จะฟ้องฐานะนะครับ สิ่งที่แวดล้อมเราเนี่ย ทรัพย์สมบัติที่แวดล้อมเราเนี่ย
จะฟ้องฐานะความเป็นอยู่ว่ามีอันจะกิน และในขณะเดียวกันก็จะสะท้อนภาพในอดีตนะว่า
เคยทำบุญทำทานมามากด้วย
ทีนี้คนจะมีความสงสัยกันว่า
เอ๊ะ ตอนแรกๆเนี่ย ทำไมอัตคัดขัดสน แต่โตขึ้นมาโกงเอาๆแล้วร่ำรวย? เนี่ยคนจะสงสัยกันมากที่สุดเลย ก็มักจะพูดกันว่า คนขี่รถสปอร์ตเนี่ย
ส่วนใหญ่เหมือนไปขโมยเขามาแหละพูดง่ายๆ เพราะว่าวิถีทางของการได้เงินมาเนี่ย
คือการไปหลอกลวงเขาบ้าง คือการไปช่อฉลบ้าง คือการไปยักยอกบ้างต่างๆนานา
คือความสงสัยจะเพ่งกันที่จุดนี้แหละ
จริงๆแล้ว
ถ้าหากว่าเราจะมองในแง่ของการเวียนว่ายตายเกิด หรือว่ากรรมวิบากเนี่ยนะครับ
ต้องมองว่ากรรมเนี่ย ไม่ได้มีแค่เรื่องของทาน มันมีเรื่องของศีลด้วย ศีลเนี่ยนะ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นเหตุ เหมือนเป็นแผ่นดิน เหมือนภาชนะรองรับความร่ำรวย
ถ้าหากว่ามีศีลสะอาดนะครับ
ก็ถือว่ามีแผ่นดินที่หนักแน่นมั่นคง ไม่แผ่นดินไหว หรือมีภาชนะ
มีพานทองรองรับความร่ำรวยได้อย่างมั่นคงนะครับ
แต่คนที่ไม่มีศีลเนี่ย
บางทีถึงแม้ว่าทานจ้องจะให้ผลอยู่ ผลของทานจ้องจะมาบำรุงบำเรอให้มีความร่ำรวย
มีความมั่งคั่ง แต่การที่ไปผิดศีลโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้ออทินนาทาน ไปช่อฉลใครเขาไว้
ไปขโมยทรัพย์ใครเขาไว้ ไปทำลายข้าวของใครเขาไว้เนี่ยนะครับ มันก็เป็นไปได้
อย่างประเภทที่นำทัพไปปิดล้อมเมืองอะไรเขาเนี่ยนะครับ
ถึงแม้ว่าจะทำบุญทำทานอะไรมาแค่ไหน เกิดมาเนี่ยมีความเป็นไปได้สูงที่จะอยู่ในถิ่นที่ทุรกันดาร
อยู่ในถิ่นที่อัตคัดขัดสน โอกาสที่จะได้มาซึ่งข้าวปลาอาหารลำบากอะไรแบบนี้นะครับ
กว่าที่จะโตขึ้นแล้วบาปเก่ามันทุเลาผลลงสิบปียี่สิบปีเนี่ย แล้วเริ่มที่บุญจะเผล็ดผล
จะให้ผลได้ชื่นใจบ้างเนี่ยนะครับ ก็ทำมาหากินสะดวก แล้วก็รุ่งเอารุ่งเอา
แต่ทีนี้วิธีที่จะรุ่งเนี่ย
มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจด้วยนะครับ จากนิสัยเดิมหรือว่าสันดานเดิมที่สืบๆมาข้ามภพข้ามชาติ
บางคนมีความรู้สึกพอใจที่จะทำมาหากินบนความเดือดร้อนของคนอื่น
แล้วเมื่อบุญเก่ายังหล่อเลี้ยงเขาที่จะให้เขาได้สบาย มันก็ทำให้เขาร่ำรวยขึ้นมาได้นะครับ
แต่บางคนเนี่ยถึงตายก็ไม่ยอมผิดศีล อันนี้ก็จะสู้ทนไป บางทีรอจนเกือบแก่ถึงได้ลืมตาอ้าปากได้
อันนี้ก็เป็นกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน
แต่ขอให้มองง่ายๆเถอะ
พระพุทธศาสนาเวลาจะพูดถึงเรื่องกรรมแล้วก็วิบากเนี่ย ท่านให้มองง่ายๆเลย
มันมีกรรมขาวกับกรรมดำ กรรมขาวกับกรรมดำมันปนกันมั่วไปหมด ยุ่งไปหมดเนี่ย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเวียนว่ายตายเกิดที่สลับซับซ้อนน่ากลัวอย่างที่สุดก็ตรงนี้แหละ
คือมันไม่ชัดเจนไปเลยว่า ขาวขาวทีเดียว หรือว่าดำดำทีเดียว แต่มันขาวบ้างดำบ้างสลับกันนะครับ
สลับกันกับจังหวะอารมณ์กิเลสนั่นแหละ บางทีก็อยากจะทำดี
บางทีก็อยากจะทำชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วมันเลยสลับกันเช่นกัน ไม่แน่ไม่นอน
บางคนเนี่ยโอกาสที่จะรวยมีมาก
ทำอะไรมันก็รวยหมด แต่ ‘ความชอบใจที่จะทำอะไร’ ตัวนี้แหละที่เรียกว่าเป็นนิสัย
เป็นอาจิณณกรรม เป็นสิ่งที่สืบๆ สันดานมา
ก็คิดว่าคงจะตอบเลยจากประเด็นโจทย์ไปนิดนึง
อันนี้ก็ตีความของน้องนะครับว่า คงจะถามเอาเรื่องของความร่ำรวยขนาดที่จะไปจับจ่ายใช้สอยในแบบที่ฟุ่มเฟือยได้
เพราะว่าสิ่งที่ผมได้ยินกันมากที่สุดเลยในปัจจุบันก็คือว่า คนที่รวยมากคือเลวมากมาก่อน
ส่วนใหญ่เลยนะครับ แต่ที่จะรวยเพราะคาบช้อนเงินช้อนทองกันมาเนี่ย
อันนั้นก็เป็นอีกประเภทนึงซึ่งมักจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันนะครับ
คนร่ำรวยในโลกนี้ตามสถิติที่นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes)
เขาเคยรวบรวมไว้ คนที่รวยระดับโลกจริงๆที่มีกินมีใช้ได้ด้วยตัวเองเนี่ยนะครับ
ส่วนใหญ่ดิ้นรนกันมาจากศูนย์ หรือจากประมาณซักหนึ่งสองสามอะไรแบบเนี้ย
ไม่ค่อยมีใครที่มาเริ่มที่ห้าสิบหรือว่าเกินห้าสิบนะครับ ส่วนใหญ่เนี่ยต้องคิดเอง ต้องริเริ่มเอง
ใช้ความสามารถเองกันทั้งนั้น แต่พวกที่ได้มรดกมาเนี่ยก็ต้องแบ่ง
ก็ต้องหารนะครับ
๓) สิ่งใดเป็นเหตุให้เพียรเจริญสติอย่างต่อเนื่อง?
คือ
‘ฉันทะ’ ครับ
จริงๆแล้ว
ถ้าหากจะเอาคำตอบให้ครบเลยนะครับ ก็ต้องบอกว่า ‘ฉันทะ
วิริยะ จิตตะ และวิมังสา’ ถ้าหากว่าใครมี ‘อิทธิบาท’ ทั้ง ๔ ประการนี้นะครับ เจริญให้มากแล้ว
แน่นอนครับการเจริญสติย่อมต่อเนื่องไปได้แน่นอน
แต่ปัญหาก็คือการเจริญสติแบบฆราวาส
จะให้มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา แบบพระ ก็คงเป็นไปได้ยาก
เพราะว่าเราจะต้องมีฉันทะเราจะต้องมีความเพียรในการทำมาหากินกันมากกว่านะครับ
‘ฉันทะ’ นี้คือความพอใจ ความพอใจเนี่ย
คนถามกันมากที่สุดเลยว่า ‘จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ยังไง?’
วิธีที่จะทำให้ความพอใจเกิดขึ้นได้มีทางเดียว
มีประตูเดียวคือ ‘ต้องมีความสุขกับสิ่งที่ทำ!’
แล้วความสุขจากสิ่งที่ทำเนี่ยมันมาจากไหน? ก็ต้องปฏิบัติให้ถูก
ปฏิบัติให้ตรงจนเกิดความอิ่มใจ หรือเห็นว่ามีความสำเร็จ มีความคืบหน้าซะก่อนนะครับ
อันนี้เนี่ยมันเหมือนงูกินหางนะ
ไม่รู้ว่าอันไหนเกิดก่อนอันไหนเกิดหลัง แต่ก็สรุปได้ง่ายๆนะว่า ถ้าหากเป็นฆราวาส แล้วมาสนใจการเจริญสติเนี่ยนะ
ผมให้ถือว่าคุณมีบุญเก่ามา มีทุนเก่ามามากพอสมควรเลยนะครับ ถ้าหากว่าทำทางถูก
ทำทางตรงในเรื่องของการดู การรู้กายใจ
ก็เชื่อได้ว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ
หรือว่าอย่างน้อยที่สุดเห็นความคืบหน้าวันต่อวัน
ความคืบหน้าวันต่อวันเนี่ยนะครับมาจากตรงไหน? ข้อสังเกตอยู่ที่ตรงไหน? เอาง่ายๆเลยคือมีความทุกข์น้อยลง
จิตใจมีความรู้สึกชื่นบาน สบาย เบิกบานมากขึ้น แล้วก็เห็นอะไรเนี่ย ไม่ยึดมั่นจริงจัง
ไม่หมกมุ่นครุ่นคิด หรือว่าเคร่งเครียดกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อะไรต่างๆก็แล้วแต่ที่ทำให้สามารถสะท้อนภาพของจิตที่มันถอน
ที่มันถอยออกมาจากอาการยึดมั่นถือมั่นได้นั่นแหละ คือผลลัพธ์ของการเจริญสติที่ได้ผล
และถ้าหากว่าคนๆนึงที่เคยมีความทุกข์
ที่เคยงงกับชีวิตมาว่าจะเอายังไงดี จะยึดหรือไม่ยึดดี ทำยังไงถึงจะเรียกว่าพอดีที่สุด
ดีที่สุดเท่าที่จะใช้ชีวิต สำหรับคนๆนึงเนี่ยนะ พอหายงงว่า เออ! อย่ายึดสิ ถ้ายึดมันก็ทุกข์เปล่า ทำหน้าที่ของตัวเองไป
แล้วก็ให้จิตให้ใจเนี่ย มันดำเนินไปตามเส้นทางของการเจริญสติแบบพระพุทธเจ้านะ
ที่ให้เห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน นี่แหละตัวนี้แหละ
ตัวการได้ผลที่ใจมันถอนออกมาจากอาการยึดมั่นถือมั่น ถอยออกมาทีละนิดๆ วันต่อวันเนี่ย
มันทำให้เกิดกำลังใจ
กำลังใจนี่แหละ
‘ตัวฉันทะ’ กำลังใจนี่แหละ
‘ความสุข’ ที่จะค้ำจุนให้เกิด ‘ความพึงพอใจที่จะปฏิบัติต่อให้ยิ่งๆขึ้นไป’
‘ความพึงพอใจที่จะปฏิบัติต่อให้ยิ่งๆขึ้นไป’ ตัวนี้แหละตัวส่งเสริมความเพียรคือ
‘วิริยะ’ ให้มีความต่อเนื่อง
มีความตื่นตัว มีความกระตือรือร้น แล้วก็มีความแน่วแน่
มีความต่อเนื่องที่จะดำเนินไปตามเส้นทางของการเจริญสติ
ปัญหาก็คือพอมีฉันทะในการปฏิบัติ
ในการเจริญสติ เห็นจิตมันถอย มันถอนออกมาจากอาการยึดมั่นถือมั่นแล้วเนี่ย คนส่วนใหญ่จะ
‘ประมาท’ ตัวนี้คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดเลย
คือเกิดความชะล่าใจว่า เราไม่เป็นไรแล้ว ก็ไปเล่นเลยนะ เคยทำอะไรมา
เคยสนุกกับอะไรมา กลับไปหามันใหม่ ย้อนกลับไปหามันใหม่นะ
ตรงนี้เป็นสิ่งที่ฆราวาสจะต่างกับพระ เพราะพระเนี่ยเล่นไม่ได้
ถ้ารักษาพระวินัยกันจริงๆจังๆนะครับ
พระพุทธเจ้าตราพระวินัยขึ้นมาก็เพื่อให้พระได้อยู่บนเส้นทางของความขยันจริงๆ
สรุปว่าเป็นฆราวาสเนี่ยนะครับ
บอกตรงๆคืออย่าไปหวัง อย่าไปคาดหวังกับตัวเองมาก ว่าจะเจริญสติได้ต่อเนื่องด้วยฉันทะ
ด้วยวิริยะเต็มกำลัง แต่ขอให้ ‘อย่าทิ้ง’ ตัวเนี้ยที่สำคัญที่สุดสำหรับฆราวาส เมื่อไหร่ที่มีแก่ใจ
เมื่อไหร่ที่นึกขึ้นมาได้ ก็ดูเข้ามาที่กายใจให้มันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเกิดฉันทะขึ้นมาเรื่อยๆเอง
คุณจะไปเล่นสนุกยังไง
หรือว่าจำเป็นต้องทำหน้าที่การงานจนเกิดความเครียด
หรือว่าเกิดความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับหน้าที่การงานอะไรแค่ไหนเนี่ย
ก็ให้เป็นไปตามเส้นทางของฆราวาสเถอะ อย่ามามัวแต่คาดคั้นตัวเอง
มุ่งหวังว่าจะให้ก้าวไปตามลำดับวันละขั้นสองขั้น ไม่มีการถอยหลังเลย
เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยของฆราวาส
ไม่ใช่ธรรมดาของคนที่ต้องทำมาหากินอยู่เลี้ยงชีพแบบนี้นะครับ
ก็หวังว่าคงเป็นคำตอบนะครับ
สรุปก็คือ
‘สิ่งใดเป็นเหตุให้เจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง?’ ตัวหลักเลยคือ
‘ฉันทะ’ แล้วฆราวาสเนี่ย
พึงมีฉันทะตามมีตามได้ อย่าเอาแบบเกินตัวนะครับ
แต่ละคนก็จะมีงานแตกต่างกันด้วยนะ
ประเภทของงานเนี่ย ก็จะทำให้เรามีโอกาสที่จะปลีกตัว หรือว่าปลีกจิตมาเจริญสติ
รู้ภาวะอารมณ์ของตัวเองได้ต่างกันด้วย
แล้วถ้าหากว่า
ฝึกดูลมหายใจไปเล่นๆ ดูความสุขความทุกข์ไปเล่นๆ ดูสภาพจิตใจเดี๋ยวฟุ้งซ่านเดี๋ยวสงบไป
ทำเหมือนเล่นๆ แต่ทำจริงจังให้ต่อเนื่องเนี่ย มันจะเกิดฉันทะขึ้นมาเองได้หลังจากที่มันผ่านเดือนผ่านปีไป
เพราะว่าเห็นชัดเลย
ถึงแม้ทำเล่นๆ
แต่มันได้ผลจริงๆนะครับ เอาอย่างนั้นก็แล้วกัน
๔) ถ้าเราต้องสูญเสียลูกหรือพ่อแม่อันเป็นที่รัก จะรับมืออย่างไร?
เป็นคำถามที่ถือว่าเข้าประเด็นของพุทธศาสนาเลยนะครับ
พุทธศาสนาบอกว่า ทุกข์อันดับหนึ่ง ทุกข์หมายเลขหนึ่ง
ความทุกข์ซึ่งมีดีกรีสูงสุดเลย เห็นจะไม่มีอะไรเกินไปกว่าการต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก
ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตายก็ตาม
การที่เราจะทำใจหลังจากที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
ณ วันเกิดเหตุ ณ จุดเกิดเหตุเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้
เพราะว่าธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเนี่ยนะครับ
มันจะมีพลังผูกมัดใจเข้าไว้ด้วยกันของคนอยู่ร่วมกัน
โดยเฉพาะคนที่อยู่ด้วยกันมาดีๆ
อยู่บนเส้นทางบุญมาด้วยกันเนี่ยนะครับ มันจะมีแต่กระแสความรู้สึกที่อ่อนโยน
ละมุนละไม แล้วก็มีความรู้สึกแสนดี มีความรู้สึกอ่อนหวาน
มีความรู้สึกเหมือนกับทุกอย่างสว่างไสวไปหมดเมื่อมีกันและกัน
แม้กระทั่งนั่งกินข้าวด้วยกันเนี่ยนะครับ มันก็เหมือนกับมีสายใยผูกพันระหว่างเรากับเขา
จนกระทั่งถึงจุดๆหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่ามันแน่นแค่ไหน จนกระทั่งเขาต้องจากไป
อาจจะจากไปต่างจังหวัด หรือจากไปต่างประเทศ หรืออาจจะจากไปจากโลกนี้ก็ตาม
ถึงวันนั้นเราจะค่อยรู้ว่าเราผูกพันกับเขาหรือเธอมากแค่ไหน
การที่เราไม่เตรียมตัวเตรียมใจ
หรือว่าไม่เตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้เลย แล้วจะถามว่า ‘หากต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จะให้ทำอย่างไร?’ ตรงนั้นมันสายเกินไปครับ
พระพุทธศาสนาไม่แนะนำให้ไปทำใจหลังจากที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว
เพราะว่าอย่างบางคนเนี่ยนะครับ
พอสูญเสียลูก สูญเสียสามีพร้อมกันในวันเดียวกันเนี่ยนะครับ หรือในเวลาไล่ๆกัน
ในสมัยพุทธกาลเคยมีมาแล้วที่เป็นบ้า แล้วก็ผ้าผ่อนนี่หลุดเลยนะครับ
ต้องให้ร้อนถึงพระพุทธองค์ต้องทรงช่วยกลับฟื้นคืนสติให้
วิธีที่เราจะไม่โศกเศร้าเสียใจกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักมากเกินไป
มีอยู่ทางเดียวคือ เราต้องเห็นความจริงไว้ก่อนว่า ‘วันนึง
เขาจะจากไป’ คือต้องมีการทำใจไว้เลยนะครับ
สมัยนี้เนี่ยก็มีวิทยาการมากมายหลากหลายที่จะบอกได้คร่าวๆ
บอกได้ล่วงหน้านะครับว่า อาจจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อไหร่ ด้วยโรคอะไร ด้วยมะเร็ง
หรือว่าด้วยอะไรก็แล้วแต่ ที่มันเป็นโรคกรรมพันธุ์ ที่มันเช็คได้ง่ายๆด้วยวิทยาการยุคใหม่เนี่ยนะครับ
หัดพูดถึงความตายกันบ้าง
อย่าพูดถึงแต่การอยู่
ครอบครัวที่พูดถึงความตายเนี่ย
บางครอบครัวกลัวว่ามันจะเป็นอัปมงคล ในขณะที่ครอบครัวพุทธเนี่ยนะ
ได้รับการสนับสนุนจากพระพุทธเจ้าว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะพูดไว้บ้าง พูดไว้ เพื่อที่จะให้ใจเนี่ย
ไม่เหลิง ไม่หลงไปว่าจะอยู่กันไปเรื่อยๆนะครับ ให้มันมีชะงักขึ้นมาสักกึ๊กนึง
ให้มันมีความรู้สึกขึ้นมาสักจึ๊กนึงว่า ไอ้ที่อยู่ๆกันมีความสุขเหลือเกินอย่างนี้เนี่ย
มันไม่ใช่ของถาวรนะ มันไม่ใช่จะเกิดขึ้นตลอดไปนะ แค่ได้พูดได้คุยกันบ้าง
ก็เรียกว่าเป็นการเจริญมรณสติได้บ้างแล้ว เป็นการเจริญมรณสติแบบอ่อนๆแล้วนะครับ
ที่บอกว่าเป็นการเจริญมรณสติแบบอ่อนๆเพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็นแค่การพูดกัน มันเป็นการเตือนให้ระลึกถึงความตายในแบบง่ายๆ
ในแบบที่มันอาจจะคิดขึ้นมาสักวินาทีสองวินาทีว่า เออ! มีสิทธิ์ที่จะตายนะ พอทำบ่อยๆ
มันก็กลายเป็นความเคยชิน
แต่ถ้าหากว่าจะเจริญมรณสติอย่างกลาง
หรือว่าอย่างแก่กล้าเลยนะครับ อันนี้มีทางเดียวคือเราต้องค่อยๆหันเข้ามาดู
เข้ามาพิจารณาว่า ‘อะไรบ้าง ที่เป็นองค์ประกอบทางกายทางใจนี้
ที่มีความเที่ยง ที่มีความทน?’
นับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจเลย
มันไม่เที่ยงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่คนเราไม่เคยเห็น ไม่เคยสังเกต ถ้าไม่สังเกต มันก็ไม่ยอมรับ
คนเราเนี่ย จะมีแต่การเพ่งเล็งไปถึงสิ่งที่กำลังอยากได้เฉพาะหน้า
ใจมันเลยผูกอยู่กับกิเลส ใจมันเลยผูกอยู่กับโลกภายนอกที่มันดูเหมือนกับจะมีอะไรมาล่อตาล่อใจมากขึ้นเรื่อยๆทุกวันๆ
แต่ไม่ได้กลับไปสังเกตความจริงขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเองเลยนะว่า ‘แม้กระทั่งลมหายใจ เรายังเอาไว้ไม่ได้ แล้วชีวิตทั้งชีวิต
จะมีความเป็นไปได้ ที่เราจะรักษาไว้ได้อย่างไร?’
เมื่อเราไม่สามารถจะรักษาชีวิตของตัวเองไว้ได้
ก็ไม่สามารถที่จะรักษาชีวิตของคนอื่นไว้ได้เช่นกัน
เนี่ย! มันต้องมองออกมาจากตัวเองก่อนนะครับ มองอย่างตระหนัก
ลมหายใจของเราไม่เที่ยง ลมหายใจของคนอื่นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน
อิริยาบถของเราไม่เที่ยง อิริยาบถของคนอื่นก็ไม่เที่ยงเช่นกัน ความสุขความทุกข์หรือว่าจิตจะสงบหรือฟุ้งซ่านของเราเนี่ย
มันก็ไม่เที่ยง ถ้าสังเกตอยู่ เห็นอยู่ แล้วก็เปรียบเทียบกับคนอื่น เออ!
ของเขาก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน แยกดูเป็นส่วนๆอย่างนี้นะ รู้จริงเป็นส่วนๆอย่างนี้
ในที่สุดมันจะถอนจากความยึดมั่นถือมั่นว่า ‘คนเราจะไม่ตาย
คนรักเราจะไม่จากไป’ ได้อย่างเด็ดขาดนะครับ
ถึงวันที่เขาไป
เราอาจจะรู้สึกเสียใจ คือเป็นธรรมดานะครับ เราอย่าไปปฏิเสธเลย
อย่าไปเล่นกับความรู้สึกว่า ‘ฉันจะต้องไม่ทุกข์ เมื่อญาติอันเป็นที่รักเสียชีวิตไป’
แต่ให้เล่นกันตรงนี้ดีกว่าว่า ‘ความยึดของเราเนี่ย
มันยังรุนแรงแค่ไหน หรือว่ามีความผ่อน มีความบรรเทาลงไปแล้ว’ จากการได้เจริญสติตามที่พระพุทธเจ้าท่านสอนตามลำดับนะครับ
เอาล่ะ เหลือเวลาอีกประมาณสองนาที ก็คิดว่าคงจะไม่อ่านคำถามต่อไปนะครับ เดี๋ยวยังไงพรุ่งนี้ ถ้าหากว่าไม่มีอะไรผิดพลาด ก็น่าจะมาพบกันอีก ก็ขอให้ติดตาม เดี๋ยวผมคอนเฟิร์มอีกทีในช่วงนี้เช้าว่า จะมาสามทุ่มในคืนพรุ่งนี้ได้มั้ย สำหรับคืนนี้ก็ขอขอบคุณที่ได้ติดตามฟังกันครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น