วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๔ / วันที่ ๓ ก.พ. ๕๕


สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงครับ

แรกๆนี้ก็เรียกว่าอยู่ในช่วงหารูปแบบของรายการ ซึ่งต้องเหมาะกับความเป็นวิทยุออนไลน์หน่อย เพื่อที่จะหาให้เจอนะครับ ก็ไม่มีอะไรดีกว่าทดลองจริง อาจติดขัดน่ารำคาญบ้าง ก็ขออภัยด้วย

และอย่างที่บอกไว้ในเฟสบุ๊คช่วงเช้าคือ วันนี้ผมจะลองดำเนินรายการอีกรูปแบบหนึ่ง คือให้คุณๆส่งเสียงผ่านสไกป์ เข้ามาตั้งคำถามโดยตรง จะได้ไม่มีเสียงของผมพูดอยู่ข้างเดียว

เมื่อจะเรียกเข้ามานะครับ ไม่ต้องเป็นวิดีโอคอล ขอเป็นแค่เสียงอย่างเดียวพอ เพื่อเป็นการประหยัดแบนด์วิดท์ของผมไว้บรอดคาสต์ด้วย

(...มีเสียงเรียกเข้าจากสไกป์ แต่สัญญาณขัดข้อง ไม่สามารถคุยได้...)

คือจริงๆแล้วนี่ มันมีซอฟต์แวร์อยู่ตัวหนึ่ง ที่ทำให้เสียงของสไกป์ ไลน์อินเข้ามาในวิทยุออนไลน์ได้โดยตรง แต่เนื่องจากผมใช้เครื่องแมคอยู่ แล้วก็เวอร์ชันปัจจุบันซอฟต์แวร์ดังกล่าวยังใช้ไม่ได้อยู่ ก็ต้องรอเขาอัพเดตก่อน

ตอนแรกผมก็ว่า จะให้เปิดเสียงของสไกป์ออกจากลำโพงโดยตรง แต่ท่าทางจะไม่เวิร์ค วันนี้อย่างน้อยก็ได้ทราบว่ายังใช้สไกป์กันไม่ได้ ผมก็จะขอมาอ่านคำถามในหน้าวอลล์ http://www.facebook.com/HowfarBooks เหมือนเดิมไปก่อนนะครับ แล้วพอซอฟต์แวร์ที่เขาให้ลายอินเข้ามาในวิทยุออนไลน์ได้เวิร์คเมื่อไหร่ ผมก็จะให้ทดลองไลน์อินเข้ามาใหม่อีกที 



) เราจะต้องมี ศีล ทาน และภาวนาระดับไหน และสภาพจิตสุดท้ายที่จากความเป็นมนุษย์ไป ควรมีลักษณะอย่างไร ถึงจะได้ไปสวรรค์ชั้นดุสิต?

สวรรค์ชั้นดุสิต ถ้าเอาตามในคัมภีร์นะครับ ก็จะเป็นที่อยู่ของพวกที่ประมาณว่า ในปัจจุบันนี้ เราก็เรียกกันว่าพวกโลกสวยนะ ก็เป็นพวกที่มีความปรารถนาดีกับผู้อื่น อยากเห็นโลกเป็นไปในทางที่ดีนะครับ ไม่ใช่แค่อยากเห็นนะ แต่ว่าทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แล้วก็มีคำพูดคำจาอะไรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมในการที่จะช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น

เวลาที่ในคัมภีร์กล่าวถึงนี่ ก็มักจะพูดถึงพระโพธิสัตว์นะ ที่มีน้ำจิตน้ำใจอยากจะเกื้อกูลสัตว์โลกนะครับ อยากจะพาสัตว์โลกนี้ให้พ้นทุกข์ทั้งในระดับของการพาไปสวรรค์ แล้วก็พรหมโลก ตลอดจนกระทั่งถ้าหากว่าจนถึงชาติสุดท้าย ตัวเองก็จะเอาความรู้ความสามารถที่ได้ถึงฝั่งแห่งความสิ้นทุกข์ มาพาคนอื่นตามไปด้วย ถ้าเป็นไปได้ ก็จะกวาดเก็บไปทั้งโลกเลย หรือทั้งอนันตจักรวาลเลย น้ำใจยิ่งใหญ่ขนาดนั้น

ถ้าหากว่ามีน้ำใจที่ยิ่งใหญ่มากพอนะครับ เป็นพวกที่โลกสวย ไม่ใช่โลกสวยแต่ปากนะ แต่ว่าได้มีการกระทำด้วย ในขณะจิตท้ายๆนี่มันจะมีเมตตาอย่างใหญ่ มีเมตตามากพอที่จะได้ไปพรหมภูมิ คือไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศ ตายไปมีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของเพศ แต่ด้วยความปรารถนาที่ยังห่วงโลกอยู่นี่ ขณะจิตท้ายๆก็จะคล้ายๆกับมีน้ำหนักถ่วงไว้ ดึงไว้ไม่ให้ไปถึงพรหมภูมิ เพราะว่าถ้าไปถึงพรหมภูมิอยู่ที่นั่นนาน ก็จะเป็นประเภทไปรอพักอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิตนะ สวรรค์ของพวกโลกสวยนะครับ หรือถ้าหากว่าเป็นเพศหญิง ก็มักจะเป็นพวกที่ติดตาม หรือว่าอาจจะมีบุพกรรมกันมากับพระโพธิสัตว์ อันนี้พูดตามในคัมภีร์นะครับ ก็อาจมีความผูกพันกัน และก็ไปเสวยสุขร่วมกันที่ชั้นดุสิตได้นะ

แต่ว่าบางแห่งบางที่ ก็จะมีบอกนะครับว่า สวรรค์ชั้นดุสิตไม่มีเพศหญิง อันนี้ก็แล้วแต่ แล้วแต่ว่าเราจะไปฟังจากทางไหนนะครับ แต่ที่แน่ๆก็คือว่า สวรรค์ชั้นดุสิตไม่ใช่สวรรค์ที่เทวดาในชั้นนั้นจะมีแค่บุญอย่างเดียว แต่จะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้โลกนี้ดีขึ้นนะครับ



) ถ้าความรักคือการให้ ต้องฝึกให้อย่างไร จึงจะไม่ทุกข์? เพราะคนรับ ก็รับแบบไม่ให้เราเลย พูดง่ายๆว่าเราเป็นฝ่ายให้อยู่ฝ่ายเดียว

ความรักที่จะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นี่นะ จะต้องเป็นความรักในลักษณะที่จิตใจมีการเปิดมีการแผ่ มีกระแสของความสุขรินออกมาก่อน รินนำออกมาก่อน ไม่ใช่ฝืนใจให้ความรัก

การฝืนใจให้ความรักนี่ เป็นลักษณะหนึ่งของคนที่มีความคาดหวังอยู่ มีความคาดหมายว่า ความรักที่ให้ออกไป จะต้องได้รับการสนองตอบกลับมา

แต่ความรักในลักษณะของเมตตาแบบพุทธนี่ จะเป็นความรักในลักษณะ... สังเกตที่ใจก่อนก็แล้วกัน การเปิดออกไป แผ่ออกไป รินความสุขออกไป โดยไม่ได้หวังว่าจะให้จิตมันหวนกลับคืนมา ลองสังเกตนะ ถ้าหากว่าคุณมีความสุขอยู่ อาจจะจากการสวดมนต์ อาจจะจากการใส่บาตรพระ หรือว่าอาจจะไปสงเคราะห์เด็ก ลักษณะของจิตมันจะมีการแผ่ออกไปแล้วไม่ม้วนกลับ มันมีการแผ่ มันมีการขยายออกไป ปราศจากการที่เราจะมีความรู้สึกดึงคืนกลับมา

แต่ถ้าหากว่าเราเกี่ยวข้องกับคนในครอบครัว จะเป็นพ่อแม่พี่น้อง หรือว่าจะเป็นแฟน หรือว่าจะเป็นเพื่อนสนิทอะไรก็แล้วแต่ ความรักที่เราให้ออกไปนี่นะ มันจะเป็นลักษณะของการแผ่ออกไป แล้วม้วนกลับมานะ
เหมือนกับบูมเมอแรง ถ้าหากว่าเรามอบความรักให้ใครไป ลักษณะของใจนี่ มันจะไม่เปิดออกไปแบบเต็มร้อย มันจะมีลักษณะครึ่งๆกลางๆ ด้วยความรู้สึกคาดหวัง หรือด้วยความรู้สึกว่า ถ้าเราให้เขาไปแค่นี้ เขาจะเห็นกำลังใจของเราที่ให้เขาไปไหม หรือว่าถ้าให้เขาไปแล้ว เขาจะเหลิงไหม หรือว่าให้เขาไปแล้ว เขาจะเกิดความรู้สึกว่าเรายอมเขาทุกอย่าง เสียเปรียบไปทุกอย่าง แล้วเขาจะต้องเป็นฝ่ายได้เปรียบอะไรต่อมิอะไรต่างๆนานา

ลักษณะของความคิดหรือว่าจิตที่เพ่งเล็งในการได้คืนนี่ เป็นลักษณะของจิตที่ให้ความรักไม่เต็มที่ ให้ไปแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งมีความคาดหวังในการรักตอบ

เพราะฉะนั้นวิธีฝึกนะครับ ง่ายๆเลย สังเกตเล็งเข้าไปที่กระแสของใจนี่แหละ เวลาที่ให้อะไรกับใครไป หรือว่าเรานิยามความรู้สึกของเราว่าเป็นความรักนี่ ความรักชนิดนั้น มันให้ออกไปแค่ครึ่งๆกลางๆ หรือว่าแผ่ออกไปแบบไม่มีประมาณ

สังเกตได้ง่ายๆเลยนะ ตอนที่แผ่ออกไปแบบไม่มีประมาณ ใจมันจะสบาย และไม่ติดค้าง มันจะรู้สึกว่าให้ไปแล้วไม่นึกถึงหน้าของผู้รับ ไม่นึกถึงผลตอบแทนที่เราจะได้รับกลับมา แม้กระทั่งความรักที่เท่ากัน หรือว่าจะเป็นความผูกมัดอะไรก็แล้วแต่นะ ใจมันจะไม่เล็งอยู่ที่หน้าของเขา แต่ใจของเราจะอยู่กับความรู้สึกทางใจ กระแสทางใจที่มันออกไปแล้วมันมีความสุขจริงๆ นั่นแหละ ลักษณะของจิตแบบนั้น เป็นจิตของผู้ที่แผ่เมตตาเป็น

ผู้ที่เมตตาเป็น ก่อนอื่นก็ต้องมีทุน ทุนคือการทำทาน รู้จักให้ทานโดยไม่หวังผลตอบแทน เรียกว่า รู้จักในการให้เปล่า

ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดนะ ถ้าหากว่าเราเคยเห็นหมาแมวน่าสงสาร แล้วเรามีเศษอาหาร หรือมีน่องไก่ มีอะไรที่เรากินทิ้งๆขว้างๆแล้วนี่ แล้วอยากให้มัน นี่เรียกว่าให้เปล่า ใจในลักษณะนั้น พอให้เสร็จ จะไม่นึกถึงหมา ไม่นึกถึงแมว แต่จะนึกถึงแต่ความสุข ความอิ่มที่ใจของเรา ที่มันกำลังเต็มตื้นอยู่นะครับ ลองสังเกตดูก็แล้วกัน

ถ้าหากว่าช่วงแรกๆยังทำไม่ได้ ไม่ต้องฝืนนะ ไม่ต้องไปพยายามสร้างกระแสของความรู้สึกเมตตาอย่างไม่มีประมาณขึ้นมา แต่ให้หัดสังเกต สังเกตไปนะครับ ซึ่งวิธีสังเกตนี่ต้องใช้ของจริง ต้องออกไปให้ของจริง จะเป็นหมาเป็นแมว หรือว่าจะเป็นเด็กอนาถา จะเป็นคนในสถานสงเคราะห์คนชรา หรือแม้กระทั่งเป็นวัดที่เรารู้สึกว่าไม่มีชื่อเสียง แต่เราอยากไป เพราะว่าอยากให้พระมีของฉัน ของขบฉัน ของใช้ปัจจัยสี่นะครับ เพราะว่าไม่ค่อยมีใครมาถวายกัน อะไรแบบนี้นี่ คือแบบที่เป็นลักษณะจิตให้เปล่านะครับ

และลักษณะจิตให้เปล่านี่ จะสาธิตให้คุณได้เห็นตัวอย่างของจิตที่มีเมตตาแบบแผ่ไปแล้ว ไม่ม้วนคืนกลับมานะครับ


ก็ผิดคาดนิดหน่อยนะครับ จริงๆผมก็ทดลองดู ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ว่าพอลองของจริงแล้วก็ได้ทราบว่า ยังไม่สามารถจะใช้สไกป์เข้ามาได้ในตอนนี้ เดี๋ยวรอให้ซอฟต์แวร์ที่จะโฟนอินเข้ามากับตัววิทยุออนไลน์นี้เขาอัพเดตเรียบร้อยแล้วเมื่อไหร่ ก็จะเอามาลองใช้กันเลยทันที


) สำหรับนักเรียนวัยมัธยมฯ ควรเลือกทางโลกหรือทางธรรมก่อนดี? แล้วถ้าอยากทำควบคู่กันไป ควรปฏิบัติอย่างไร?

สำหรับวัยมัธยมฯ นี่เป็นช่วงแรกเลยที่ผมสนใจพุทธศาสนา แล้วผมก็ถูกถามบ่อยมากว่า เริ่มต้นสนใจพุทธศาสนาจากอะไร เมื่อไหร่นะครับ ผมก็ตอบคำเดิมว่า ที่ผมเริ่มต้นสนใจ ไม่ใช่เพราะอยากได้บุญ ไม่ใช่เพราะอยากที่จะเห็นตัวเองสูงกว่าผู้อื่น เหนือกว่าผู้อื่น ไม่ใช่เพราะเหตุผลอะไรอื่นทั้งสิ้น แต่ว่าชีวิตมันมีความทุกข์ แล้วก็ได้ข่าวว่าพุทธศาสนามีคำตอบสำหรับคนเป็นทุกข์ได้

การที่เราจะไปเอาคำตอบจากพุทธศาสนานี่ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเรียนมัธยมฯ ให้จบซะก่อน ไม่จำเป็นที่เราจะต้องขึ้นมหาวิทยาลัยเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องทำงาน ไม่จำเป็นจะต้องแก่เสียก่อน ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่บอกคำตอบในพุทธศาสนาให้ว่า พ้นทุกข์ ต้องทำอย่างไร ตั้งแต่ก่อนเราสิบขวบ เราก็สามารถที่จะรู้จักพุทธศาสนาได้ตั้งแต่ก่อนสิบขวบ

วัยและเพศนี่ไม่ใช่ข้อจำกัด ไม่ใช่กำแพงกีดขวางนะครับ ถ้าหากว่าเราอยู่มัธยมฯ แล้วเราได้คำตอบของพุทธศาสนาแล้วว่า ศาสนาพุทธบอกว่าวิธีที่จะพ้นทุกข์คือ ดูกายใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วเราสามารถเข้าใจคำตอบนั้นอย่างขึ้นใจนะ แล้วก็สามารถที่จะเอามาสังเกตระหว่างที่ว่างจากการเรียน มีช่วงไหนว่างจากการเรียนบ้าง ผมจะยกตัวอย่างให้ ถ้ายังค้นหาไม่เจอนะ

ตื่นนอนขึ้นมานี่ ช่วงนั้นไม่ต้องทำอะไร มันสามารถเห็นได้ว่า เพิ่งตื่นขึ้นจากฝัน

ออกมาจากความฝันนี่มีความฟุ้งซ่านตกค้างออกมาแค่ไหน?

ความฝันที่ออกมา หรือว่าการหลับนอนที่เรารู้สึกว่าปราศจากความฝันในคืนที่ผ่านมานี้ ให้ความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์?

สังเกตง่ายๆเลย ตื่นนอนขึ้นมานี่ มันเป็นชีวิตใหม่แบบเล็กๆ มันเป็นชาติใหม่แบบเล็กๆ เราสามารถสังเกตได้เลยว่า ชีวิตใหม่ของเราแต่ละเช้านั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์

ถ้าหากว่าเป็นทุกข์ ก็ให้บอกตัวเองว่า แสดงว่าชาติก่อนแบบเล็กๆที่ผ่านมานี่ ทำไว้ไม่ดี มันทำให้เกิดความฝัน มันทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ทำให้เกิดการนอนไม่เต็มอิ่ม อะไรก็แล้วแต่แหละที่เป็นหลักฐานแสดงในช่วงเช้าว่า ชีวิตใหม่ในเช้าวันนั้น ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่

หรือถ้าหากว่ามีความสุขนะ เราก็บอกตัวเองว่า ชาติก่อนเล็กๆที่ผ่านมา วันก่อน หรือคืนที่ผ่านมานี่ เราทำไว้ดีพอ แล้วการทำไว้ดีพอนั่นน่ะ มีผลให้เราตื่นขึ้นมามีชีวิตใหม่ในเช้าวันนั้นอย่างมีความสุข

ความสุขกับความทุกข์ที่เรามองเห็น ณ ขณะของการตื่นนอน มีความสำคัญแค่ไหน? มันมีความสำคัญกับ ความเข้าใจของเราว่า อยู่ๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆนะ มันเกิดขึ้นจากการสะสม สะสมไอ้วันก่อน ว่าเรามีมาดีพอแค่ไหน หรือว่าไม่ดีพอแค่ไหน

จากนั้นให้สังเกตว่า อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ ที่เกิดขึ้น ณ ขณะตื่นนอนอีกแป๊บหนึ่ง มันก็จะหายไป

หรือถ้าหากว่ายังมีแรงส่งของเก่าอยู่นะ ถ้าหากว่าทำไว้ไม่ดีมากๆนี่ ทำอะไรก็แล้วแต่ จะพูดไม่ดี จะทำไม่ดี หรือว่าผิดพลาด หรือว่ามีความวิตกกังวลอะไรก็แล้วแต่ มันจะมีแรงดันของความทุกข์ ให้มีอายุยืนต่อไป ไม่ใช่แค่ช่วงเช้าที่ตื่นนอนมา แต่ระหว่างวัน ช่วงสาย ช่วงบ่าย บางทีมันแย่ลง แต่ถ้าหากว่าเรามีแรงดันของความสุขมากพอ ทำอะไรดีๆมามากพอ ความสุขความสดชื่นในช่วงเช้านี้ มันก็มีอายุยืนต่อไปเช่นกัน

ถ้าสังเกตอยู่อย่างนี้ มันได้อะไร? อย่างน้อยที่สุดได้ ข้อสังเกตจิตว่า ใจของเราในแต่ละวัน มันดีหรือไม่ดีอย่างไร มันมีความรู้สึกว่าเป็นฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบยังไง

ข้อสังเกตตรงนี้นะ เราไม่ต้องเอาไปเบียดบังเวลาเรียนอะไรเลย เราแค่สังเกตไปทุกวันๆๆ เท่านี้มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาได้เองเลยว่า จิตของเรานี่ ความรู้สึกของเรา มันไม่เที่ยง

และจิตของเรา ความรู้สึกของเรานี้ ถ้าหากว่าแบ่งซอยย่อยเข้ามาในแต่ละลมหายใจ แต่ละลมหายใจลองดูซิว่า หายใจเข้าครั้งนี้ ยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า หายใจครั้งนี้ ยังมีความทุกข์อยู่หรือเปล่า แค่ถามตัวเองง่ายๆอย่างนี้นะ หายใจแต่ละครั้ง ยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า? ยังมีความทุกข์อยู่หรือเปล่า?’ มันจะได้คำตอบขึ้นมาเองว่า แต่ละลมหายใจนี่มีความสุขความทุกข์ไม่เท่ากัน ความสุขมันจะมาในรูปของความรู้สึกสบายกาย สบายใจ ความทุกข์มาในรูปของความอึดอัดกาย อึดอัดใจ และความอึดอัดความสบายที่ถูกสังเกตรู้ความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆอย่างนี้แหละ มันจะทำให้จิตไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับอะไรต่ออะไรภายนอกตามไปด้วย

ถ้าหากเห็นซะแล้วว่า ทั้งสุขทั้งทุกข์มันเป็นแค่อะไรที่เกิดขึ้นแป๊บหนึ่งด้วยเหตุ แล้วก็ต้องดับลงเป็นธรรมดานะ ทำผ่านเดือนผ่านปีไป แค่ทำเล่นๆนะ ยังไม่ต้องนั่งสมาธิ ยังไม่ต้องเดินจงกรม จิตมันได้คำตอบในชีวิตแล้วว่า อะไรๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่แหละแก่นของพุทธนะครับ เริ่มเจริญสติแบบนี้แหละ



) จิตร้องเพลง หรือมีเพลงเป็นแบล็คกราวน์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาทำสมาธิ นอน หรือว่าอยู่เฉยๆก็ตาม เพลงมันจะซ้อนกันอยู่กับทุกการกระทำเลยค่ะ ทำยังไงดี? 


นี่พอดีเลยนะ ผมกำลังจะมีซักวันนึง ไม่แน่ว่าจะเป็นอาทิตย์หน้าหรือเปล่า จะมีสาธิต เพราะคำถามทำนองนี้ มีเกิดขึ้นบ่อยมากในหมู่คนที่อยากเจริญสติในเมือง ชอบมีเสียงในหัว ชอบมีเพลงนู้นเพลงนี้ บางทีมีเพลงที่ไม่ชอบด้วยนะ ถ้าเป็นเพลงที่ชอบก็ว่าไปอย่าง แต่บางเพลงนี่ไม่ชอบเลย แล้วก็ด่าเขาด้วย ได้ยินจากรถไฟฟ้าบ้าง หรือได้ยินจากรถเมล์บ้าง หรือว่าใครเขาเปิด

ไอ้ความไม่ชอบนั่นแหละ มันฝังใจ กลายเป็นว่ามีเสียงเพลงที่เราไม่ชอบ รีเพลย์อยู่ในหัวตลอดเวลา จนกระทั่งเกิดความอึดอัด แม้กระทั่งคนที่ชอบฟังเพลง บางทีก็มีนะ ประมาณนี้แหละว่า เอ๊ะ ไอ้เพลงที่เราชอบ ก็ไม่ยักกับมาเปิดในหัว แต่ไปเปิดเพลงที่มันแย่ๆ ยังกับว่าเอาสังกะสีมาเสียดกันอยู่ในหัวนะ มันรู้สึกทรมานใจ มันรู้สึกไม่ชอบใจเลยว่าเสียงนี้ มันเข้ามาอยู่ในหัว แล้วแกะไม่ออก

วิธีง่ายๆ คำตอบนะ เราต้องทำความเข้าใจก่อน ทางธรรมชาติของจิตนี่ มีการอธิบายไว้ว่า ก่อนที่เกิด ความจำได้ มันมี ความรู้สึกนำมาก่อน  

อย่างที่ผมบอกนั่นแหละ บางทีเราไม่ได้ชอบ เราเกลียดด้วยซ้ำบางเพลงนี่ แต่ไอ้ความเกลียดนั้นน่ะ ความรู้สึกแบบนั้นน่ะ มันเป็นทุกข์ มันเป็นทุกข์มาก มันเป็นทุกข์ที่ชัดเจนมาก ยิ่งความรู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ชัดเจนเท่าไหร่ นั่นแหละเป็นหัวขบวนนำ ความทรงจำที่จะปักเข้ามาในจิตนะครับ

อย่างบางเพลง บางทีเราไม่ได้ชอบมาก หรือรู้สึกว่าไม่ได้ชอบมากหรือเกลียดชังอะไร รู้สึกเฉยๆ แต่ว่ามันมีความรู้สึกที่ ชัดเจน มันมีความรู้สึกที่ เด่นขึ้นมา บางเพลงอาจแหวกแนว บางเพลงเราไม่เคยได้ยินมาก่อน หรือว่ามันไปเตือนให้เรานึกถึงเพลงที่เราเคยฟังตั้งแต่ครั้งเด็กๆ หรือว่าครั้งที่แรกรัก หรือว่ากำลังตกหลุมรักใครอะไรต่างๆนี่นะ จะเป็นความรู้สึกอะไรก็แล้วแต่ ขอเพียงว่า มันมีความทุกข์ความสุข แจ่มชัดมากพอ มันจะเป็นหัวขบวนนำ ความทรงจำ นั้น มาปักเข้าไปในใจเรา นี่เรียกว่าอธิบายตามหลักของ ขันธ์ ๕

วิธีที่จะแก้นี่ ถ้าอยากจะถอนเสียงเหล่านั้นออกจากหัว ประการแรกเลย เราต้องเข้าใจว่า ถ้าเรายิ่งอยากจะถอนมากเท่าไหร่ มันยิ่งมีความรู้สึกทรมาน ไอ้ความรู้สึกทรมานนั่นแหละ จะไปตอกย้ำเอาความจำให้ปักลึกแน่นขึ้นไปอีก

นี่ไม่ใช่กรณีเฉพาะของเสียงเพลงนะ ในทุกเรื่องทุกราวเลย จะเป็นความรัก จะเป็นความจำที่เศร้าโศกทั้งหลายแหล่ที่บรรดามีในโลกนี้ ถ้าเรายิ่ง อยากจะให้มันถอนออกไป ยิ่งไปสร้างความทรมานใจให้ตัวเอง ไอ้ความทรมานใจนั่นแหละ คือความทุกข์ที่ ชัดเจนมาก และมันก็จะยิ่งย้ำ ตอกย้ำเข้าไปใหญ่ว่า เออ ไอ้สิ่งที่เรา จำนั่นน่ะ มันเหมือนกับยิ่งปรากฏชัดมากขึ้นๆๆ พูดง่ายๆว่า ไปให้อาหารหล่อเลี้ยงมันนั่นแหละ

ทางที่ถูกต้องนะครับ ต้อง ยอมรับความจริงในแต่ละขณะว่า มันเกิดขึ้นอีกแล้วในหัวเรา อย่าไปพยายามที่จะผลักไส หรือว่าอยากจะให้มันหายไปชั่วนิจนิรันดร์ เพราะไอ้ความอยากแบบนั้น มันจะยิ่งย้ำเข้า

ถ้าหากว่าแต่ละครั้งที่เสียงเพลงในหัวเกิดขึ้น แล้วคุณยอมรับตามความจริงว่า เอาอีกแล้ว มันเกิดขึ้นอีกแล้ว แล้วคุณก็ไม่พยายามผลักไสมันด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมาก็คือ ความสามารถรับรู้ตามจริงว่า เสียงเพลงมันอยู่ได้เดี๋ยวเดียว แป๊บหนึ่ง เดี๋ยวมันก็หายไป

ครั้งแรกที่คุณทำได้ คุณจะมีความรู้สึกว่า เออ ดีแฮะ! ไม่ต้องพยายามอะไรนี่ ไม่เห็นต้องทรมานอะไรมากเหมือนกับตอนที่เราพยายามอยากให้มันหายไปเลย

แต่ถ้าหากว่าคุณสามารถจดจำวิธีการตรงนี้ จำลักษณะจิตใจที่ รู้เฉยๆได้ ไม่ไปพยายามยุ่งเกี่ยว ไม่พยายามไปผลักไส ไม่ไปพยายามหล่อเลี้ยง ไม่ไปพยายามด่ามัน หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้มันเกิดอาการตอกย้ำนั้น ในที่สุดแล้วนี่ พอทำบ่อยๆเข้า ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ครั้งที่สี่ คุณจะมีความรู้สึกว่า จิตนี่มันมีแต่ อาการรับรู้ มันไม่มีอาการที่จะอยากให้มันหายไป หรือว่ามีความรู้สึกแย่ๆใดๆขึ้นมาเลย มันมีแต่ความรู้สึกว่างเปล่า ว่างเปล่ากับไอ้สิ่งที่เราไม่ชอบนั่นแหละ เมื่อว่างเปล่ากับสิ่งที่เราไม่ชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ไอ้ความว่างนั้น จะมาแทนเสียงเพลงไปเอง เพราะว่าทุกครั้งที่มันเกิดขึ้น มันจะนำ ความว่าง ความรู้สึกว่าว่างมาสู่ใจเรา ไม่ใช่นำความรู้สึกแย่ๆมาสู่ใจเรานะครับ

หรือถึงแม้ว่าจะเป็นเพลงที่คุณรู้สึกเฉยๆตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ติดรำคาญหน่อยๆ คุณก็จะรู้สึกว่า ความรำคาญนั้น มันพลอยถูกรู้ไปด้วยนะ ถูกรู้ว่า เออ ถ้ามีความรำคาญแล้ว เรายอมรับตามจริงว่ามันเกิดความรำคาญขึ้นมา ไม่เห็นต้องทำอะไรไปมากกว่ายอมรับตามจริง อาการยอมรับตามจริงนั้น จะเป็นความสามารถที่จะเห็นว่า ความรำคาญมันอยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวมันก็หายไปนะครับ ไม่แตกต่างอะไรจากลมหายใจ ที่เดี๋ยวต้องเข้ามา เดี๋ยวต้องออกไป

นี่แหละ แล้วคุณก็สามารถที่จะไปสังเกตต่อได้ด้วยว่า หลังจากที่อารมณ์แย่ๆ อารมณ์ที่เป็นลบ หรือเสียงเพลงที่คุณไม่ชอบมันหายไปจากหัวแล้ว มันมีแต่ความ รู้ มันมีแต่ความ ว่าง มันมีแต่ สติปรากฏอยู่นะครับ 

แล้ว สตินั้นน่ะ ลองเอาไปใช้ รู้ลมหายใจดูนะครับว่า ไม่แตกต่างจากเสียงเพลง ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วก็ไม่แตกต่างจากสรรพสิ่งทั้งหลายภายนอก ที่เกิดขึ้น แล้วก็ต้องดับลงเป็นธรรมดา



           เอาละครับ คืนนี้คงต้องล่ำลากันเท่านี้ครับ ราตรีสวัสดิ์นะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น