วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๒๒ / วันที่ ๓๑ ต.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin

วันนี้มีข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหนังสือใหม่ของผม คือ หนังสือ ๗ วิธีตายอย่างสบายใจ

หลายคนคงจะได้ดาวน์โหลดไปแล้ว ทั้งไฟล์ PDF ซึ่งเอาไว้อ่าน และไฟล์ MP3 ที่เป็นไฟล์เสียง ซึ่งสำนักพิมพ์ฮาวฟาร์จัดทำไว้เพื่อที่จะได้สะดวก ดาวน์โหลดเปิดให้คนใกล้ตัวได้ฟัง ส่วนใหญ่คงมีคนใกล้ตัวที่คุณอยากให้สนใจธรรมะ หรืออยากจะให้เกิดความสบายใจ ในโอกาสไหนก็แล้วแต่ ก็เปิดให้ฟังกันตรงๆได้เลย เพราะว่าเนื้อหาในหนังสือมีอยู่หลายเรื่องที่พูดถึงความสบายใจโดยไม่ได้เกี่ยวกับความตาย

แต่ถ้าหากว่ามีญาติหรือคนใกล้ชิดที่รู้ตัวอยู่แล้วล่ะ มันพูดกันตรงๆอยู่แล้วว่าใกล้จะไปแล้ว หรือหมอบอกว่า เหลือเวลาอีกไม่มากหรือว่า โดยสภาพร่างกายของเขาหรือเธอ หรือของท่าน อาจจะบอกอยู่แล้ว บอกตัวเองอยู่แล้วว่าเหลือเวลาอีกไม่นาน ก็อาจจะเปิดให้ฟังกันตรงๆตั้งแต่ต้นเลยว่า ๗ วิธีตายอย่างสบายใจ ทำได้อย่างไรบ้าง

ถ้าหากว่ามีใครสักคนหนึ่งที่คุณรักและห่วงใย ก็ขอให้ทราบว่าไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรมอบให้มากไปกว่าความสบายใจอีกแล้ว เพราะความสบายใจก่อนตายคือสิ่งที่จะปรุงแต่งให้เกิดความเป็นกุศล ความเป็นกุศลของจิตจะไปดึงเอาความทรงจำหรือความคิดอ่านดีๆมาในช่วงท้ายๆของชีวิตนะครับ ซึ่งจะพยากรณ์ได้ ได้ดีพอสมควร เป็นอาสัญกรรม หรือกรรมช่วงท้ายๆก่อนตาย ที่จะไปสร้างนิมิตหมายอันดีขึ้นมานะครับ

เพื่อจะดาวน์โหลดไม่ว่าจะเป็นไฟล์ PDF หรือไฟล์ MP3 ให้เข้าไปที่ http://www.dungtrin.com/7ways



๑) เวลากำลังทำงานอยู่ แล้วมีคนคุยกันอยู่ใกล้ๆสมองมันจะไม่รับ หูไม่กระดิกเลย มักไม่รู้เรื่องว่าคนอื่นเขาคุยอะไรอยู่ เว้นแต่จะตั้งใจฟังเงี่ยหูฟังอย่างจดจ่อตั้งแต่แรก แต่คนอื่นๆเขานั่งทำงานไปก็สามารถมีปฏิกิริยาตอบรับในสิ่งที่ใครต่อใครคุยกันอยู่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ จะแก้ไขตัวเองอย่างไร? ไม่อยากหลงฝูงเป็นตัวประหลาดอยู่คนเดียวอย่างนี้เลย

แสดงว่าน้องถือว่ามีสมาธิจดจ่ออยู่กับงาน ก็ดีแล้วนี่ จะทำงานไปด้วยแล้วก็เงี่ยหูฟัง หรือว่าจะแบ่งโสตประสาทไปรับคำพูดหรือคำคุยของใครต่อใครเขาทำอะไร? ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อยากจะทำให้ได้แบบนั้นหรอก

แต่เอาล่ะ ถ้าอธิบายนะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ อาจจะได้สบายใจขึ้น ทำไมคนอื่นเขาเป็นอย่างนั้นแล้วเราถึงไม่เป็นเช่นนั้นบ้าง

การที่เรามีใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่า มีความสนใจมีโฟกัส ที่เต็มๆอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แสดงถึงการมีสมาธิโดยพื้นฐาน ไม่ใช่หมายถึงเรามีสมาธิดีแค่ไหนหรือจะประณีตเพียงไร แต่โดยพื้นฐานแล้วใจของเราเมื่อโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วมันจะไปปิดการทำงานของประสาทส่วนอื่นไม่ให้เกิดการรับรู้ ไม่ให้เกิดการวอกแวกซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ใครๆเขาอยากเป็นอย่างนี้กัน

ถ้าหากว่านั่งทำงานแล้วได้ยินคนอื่นคุยไปด้วยแสดงว่าใจไม่ได้โฟกัสอยู่กับงานจริง หรือถึงแม้ว่าทำงานได้ดูเป็นปกติ แต่ว่าคุณภาพของจิตจะไม่เต็มร้อยนะ คือถ้าคิดในแง่ของคนที่คิดอยากจะต่อยอดจากงานทางโลกมาเจริญสติแล้วนี่คนที่โฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไม่สนใจสิ่งอื่นเลยจะได้เปรียบ กว่าโดยพื้นฐานนิสัยนะ ถ้าหากว่าพื้นฐานนิสัยของน้องจะเกื้อกูลต่อการเจริญสติมากกว่า

เปรียบเทียบกับตอนที่พระพุทธเจ้าท่านเคยประทับอยู่ในโรงนา ของชาวบ้าน ท่านขออาศัยชาวบ้านที่มีโรงนาประทับอยู่ชั่วข้ามคืน คืนที่
มีฟ้าร้องฟ้าผ่า มีเสียงอึกทึกจากการที่ฝนตกอะไรแบบนี้ ท่านก็ออกมาเดินจงกรมบ้าง เดินจงกรมอยู่ในโรงนานั่นแหละ ไม่ได้ออกมาข้างนอกโรงนา

เสร็จแล้วตอนเช้าท่านก็คุยกับเจ้าของโรงนา เจ้าของโรงนาก็บอกว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม บรรทมได้ดีหรือเปล่า เพราะว่าเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่ามันดังอึกทึกครึกโครมมาก ท่านก็บอกว่า ท่านไม่ได้ยินเสียงเลย ท่านเดินจงกรมแล้วประทับนั่งสมาธิ เหมือนกับเรียกว่าเวลาที่ท่านอยู่ในสมาธิ ขึ้นสมาธิระดับฌาน ประสาทหูจะไม่ทำงานเลย ท่านไม่ได้ยินเลย ท่านตอบเจ้าของโรงนาอย่างนั้น เจ้าของโรงนาก็อัศจรรย์ใจบอกว่า โอ้! ฟ้าผ่าดังขนาดนั้น มีการเปรี้ยงปร้างใกล้โรงนาด้วยซ้ำ น่าอัศจรรย์มากที่นักบวชรูปนี้ไม่ได้ยิน

ท่านเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสเป็นความจริง ท่านดูจากลักษณะท่าทางหรือรัศมี คาริสม่าของพระพุทธเจ้าคงไม่ใช่คนโกหกหรอก เมื่อท่านบอกว่า ไม่ได้ยินก็แปลว่าท่านคงไม่ได้ยินจริงๆ คงมีการปฏิบัติธรรม คือจิตนี่ตัดจากการรับรู้ทางประสาทอื่นๆนะครับ อย่างเช่นหู อย่างเช่นทางกลิ่น อะไรแบบนี้ รับรู้อยู่เฉพาะสิ่งที่เป็นอารมณ์ในการบำเพ็ญเพียรเจริญสติ

คืออย่างพระพุทธเจ้าไม่ต้องบำเพ็ญเพียรแล้วหละ แต่ท่านเจริญสติ ดูขันธ์ห้าโดยความเป็นอนัตตาเพื่อความสุขในปัจจุบัน ท่านตรัสไว้นะ พระอรหันต์ท่านยังเดินจงกรมอยู่นะ ยังขยันอยู่ ยังนั่งสมาธิอยู่ ทั้งนี้ ก็เพื่อได้เห็นขันธ์ห้าโดยความเป็นอนัตตา เป็นความสุขเฉพาะเวลาปัจจุบันซึ่งยังดำรงขันธ์ของพวกท่าน

อันนี้ก็เอามาเปรียบเทียบว่า ถ้าหากเราจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่ง แล้วไม่ได้ยินอะไรเลย นั่นแสดงว่า จิตของเรามีความโน้มเอียงที่จะสามารถเข้าฌานได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เสียงจะเป็นปฏิปักษ์กับฌาน หมายความว่า ถ้าหากยังได้ยินเสียง ยังมีเสียงเป็นเครื่องรบกวนอยู่นี่ โอกาสเข้าถึงฌานมันยาก เพราะคลื่นเสียงเป็นสิ่งสั่นสะเทือน ทำให้จิตมีอาการหวั่นไหว มีอาการที่มีความกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตามลักษณะที่เสียงมันเข้ามาปรุงแต่งจิตนะครับ

เอาเป็นว่า ถ้าเราเป็นตัวประหลาดในแบบดี ก็เป็นไปเถอะนะ อย่ามาเป็นคนปกติกับเขาเลย



๒) การอนุโมทนาบุญในบุญประเภทต่างๆ เช่น อนุโมทนาบุญกับคนที่ปฏิบัติธรรม กับคนที่ให้ทาน กับคนที่ให้อภัย ตัวคนที่อนุโมทนาจะได้บุญตามประเภทของบุญนั้นๆหรือเปล่า? และในบางครั้งดูละครที่มีฉากเกี่ยวกับการทำบุญ รู้สึกอิ่มใจ ก็จะอนุโมทนาบุญตามไปด้วย อย่างนี้เราจะได้บุญไปด้วยหรือเปล่า?

ตอบคำถามที่สองก่อนแล้วกัน ที่บอกว่าเห็นในละครเกี่ยวกับทำบุญแล้วเกิดความรู้สึกอิ่มใจ รู้สึกอนุโมทนาบุญ อย่างนี้ได้บุญไหม? ได้ครับ เพราะขณะนั้นจิตเป็นกุศล จิตนึกอยากทำบุญหรือจิตมีอาการเข้าไปทำบุญแบบที่เห็นในละครเต็มๆมันได้บุญประเภทนั้นด้วย เพียงแต่ว่าเป็นการได้บุญเป็นลักษณะของการคิดนึก ในลักษณะของมโนกรรม ไม่ใช่ลักษณะของวจีกรรม หรือว่ากายกรรม เป็นมโนกรรม

แต่ถามว่ามันมีกำลังอ่อนหรือว่าแก่กล้าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความรู้สึกอิน ถ้าอินมากๆขนาดอยากจะทำแบบนั้นบ้าง ถ้าหากมีโอกาสทำเดี๋ยวนั้น ทำทันที ทำด้วยความเต็มใจ ทำด้วยความเต็มอิ่ม นี่แหละตัวนี้แหละเป็นวัดได้ว่า กำลังจิตของเราเป็นบุญเต็มที่ มีความแก่กล้ามีความพร้อมเต็มที่
ถ้าหากว่าดูแล้วรู้สึกดี แต่ว่าถ้าให้ทำแบบนั้นไม่เอา อย่างนี้ก็วัดได้ว่า กำลังของจิตยังไม่เต็มที่ ยังไม่เป็นบุญตามนั้นนะครับ ยังไม่ถูกปรุงแต่งให้เกิดความเป็นกุศลธรรม ไม่ถูกปรุงแต่งให้เกิดลักษณะของบุญขึ้นมา

ถามว่า ถ้ามีความอิ่มใจในลักษณะนี้แล้ว ผลตอบแทน หรือว่าเวลาที่กรรมผลิตผลจะให้ผลอย่างไร?

ก็ยกตัวอย่าง ถ้าสมมุติว่าในละคร เราไปเห็นว่าตัวละครไปให้ความช่วยเหลือ คนที่ตกทุกข์ได้ยากหรือกำลังประสบชะตากรรมที่เดือดร้อนลำบากอย่างแสนสาหัส แล้วใจของเราเต็มตื้น ใจของเรารู้สึกดีจังเลยที่ตัวละครไปช่วยเสียสละ ทำให้คนผ่อนจากความเดือดร้อนกลายไปเป็นความสบาย หรือว่าทำให้ความร้อนในชีวิตของเขามันเบาบางทุเลาลง เย็นลง สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือว่า ใจของเราชัดๆเลย จะหนีออกห่างจากอาการอยากเบียดเบียนคน แต่จะมีแนวโน้มที่จะเข้าไปช่วยคนมากขึ้น และคนที่มีแนวโน้มที่จะเข้าช่วยคนมากขึ้นนี่ ใจจะไปผูกอยู่กับภพอยู่กับภูมิ หรือสภาวะที่มันดีที่มันมีการเกื้อกูลกัน

ถ้าหากเราตายในเวลาใกล้ๆนั้น สมมุติว่าเครื่องบินตกใส่หลังคาบ้าน นะ เราตายไปแบบฉับพลัน ภพภูมิที่เราจะไป มันก็จะเป็นภพภูมิที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน ที่มีการช่วยกันเกื้อกูลกัน ด้วยความเต็มใจ ด้วยความรู้สึกเป็นมิตร ด้วยความที่รู้สึกว่าหนักนิดเบาหน่อยก็จะไม่มาเอาเรื่องเอาราวกัน นี่ประมาณนั้น

มีผลใหญ่นะ คือจิตก่อนตายมันสำคัญมาก ถ้าหากว่า ใจของเรากำลังปรุงแต่งไปในกุศลธรรมแบบใด ก็จะไปเสวยภาวะที่สอดคล้องกับกุศลธรรมแบบนั้น นี่ก็เป็นเรื่องของอาสัญกรรม หรือว่ากรรมใกล้ตาย ก่อนที่จะตาย จิตผูกอยู่กับอะไร คิดถึงอะไร เป็นมโนกรรมแบบไหน มันชี้ชะตาได้ว่า เราจะไปดีหรือไปร้ายนะ

แต่ถ้ามองกันแบบถนัดๆหน่อย เอาตอนยังมีชีวิตอยู่ ถ้าหากว่าเราเห็นตัวละครที่ทำบุญโดยการช่วยเหลือคน แล้วเกิดความรู้สึกอยากไปช่วยแบบนั้นบ้าง ยกตัวอย่างที่มักจะเห็นกันบ่อยๆก็คือว่า จะไปอ่านนิยายหรือดูละครที่ไหนมาก็แล้วแต่ เห็นพระเอกนางเอกไปช่วยคนตาบอด หรือว่าไปอ่านนิทานให้คนตาบอด เด็กตาบอดฟัง แล้วเกิดความรู้สึกอยากทำอย่างนั้นบ้าง แล้วก็เกิดแรงบันดาลใจไปทำจริงๆ

นี่ ตัวนี้แหละ เป็นสิ่งที่บอกได้ว่า ผลของการที่เราอนุโมทนาเต็มๆมันก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ก่อให้เกิดความยินดี ก่อให้เกิดแรงดันที่ทำให้ไปกระทำเช่นนั้นได้จริงๆ อันนี้ก็เป็นคุณ เป็นคมดาบด้านดี ของนิยายหรือละคร ที่บันดาลใจคนให้ไปทำบุญได้จริงๆนะครับ

ส่วนการอนุโมทนาบุญประเภทต่างๆ จะเป็นการปฏิบัติธรรม จะเป็นการให้ทาน หรือจะเป็นการให้อภัย จะแตกต่างกันขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับบุญประเภทนั้นๆ คือมันก็แยกไปด้วย อย่างที่เมื่อกี้ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าหากเราอนุโมทนา เรายินดีไปกับตัวละครที่เข้าไปช่วยเหลือผู้คน ก็จะออกแนวเหมาะสมหรือว่าไปผูกโยงกับภพหรือ สภาวะที่ไม่มีการเบียดเบียนกันที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันนี้เป็นต้น

แต่ถ้าหากว่า อนุโมทนากับผู้ปฏิบัติธรรม อันนี้ก็จะไปผูกโยงกับการได้ดิบได้ดีกับการเจริญสติ หรือในการทำสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งนะครับ คือจิตมีโน้มเอียงที่จะความสงบ จิตมีความโน้มเอียงที่จะตื่นรู้นั่นแหละ แต่ว่าการสะสมสติ สะสมการตื่นรู้ไม่ใช่ด้วยการอนุโมทนาอย่างเดียว แต่การอนุโมทนาจะเป็นแรงดันให้เกิดความอยากจะพอใจ เกิดความพอใจอยากจะเจริญสติบ้าง ทำสมาธิบ้างหรือทำให้เกิดความสงบบ้าง อันนี้จะเป็นสิ่งที่เราจะได้รู้กันจากการลองได้อนุโมทนากับนักเจริญสติทั้งหลายนะครับ เห็น อ้อ พูดต่ออีกนิดก็ได้


คือจะดูอย่างง่ายๆอย่างนี้นะ บางคนไม่เชื่อเรื่องบุญของการอนุโมทนา ก็ลองเชื่อเรื่องบาปของการที่นึกดูถูกหรือว่านึกเหยียดหยาม ถ้าหากว่าเห็นใครนั่งสมาธิแทนที่จะรู้สึกดีไปกับเขา อยากแกล้งหรือลงมือแกล้งจริงๆ ใจนี่นะจะมีอาการที่สงบยาก คือบางคนทำแค่ไม่กี่ครั้งแต่จิตฟุ้งซ่านมาก แล้วก็รู้สึกเลยว่าพอพยายามจะนั่งสมาธิเองหรือเจริญสติเอง มันทำไม่ได้

อันนี้จะได้เห็นเลยว่า แทนที่คล้อยตามไปในกระแสดี แล้วได้รับผลดี ได้รับแรงบันดาลใจให้อยากทำเองบ้าง มันกลายเป็นเกิดความรู้สึกต่อต้านหรือเกิดความรู้สึกทำไม่ได้ บางคนใช้เวลาทั้งชาติไปในการปฏิเสธถึงการทำสมาธิ และก็ดูถูกต่างๆนานา ว่ามันเกิดผลร้ายอย่างโน้นอย่างนี้ตัวเองเลยทำสมาธิไม่ได้เลยทั้งชาติปัจจุบันและอนาคตชาติ

เคยมีคดีตัวอย่างในพระไตรปิฎกอยู่เหมือนกันที่ว่า ไปแกล้งคนทำสมาธิเลยทำสมาธิเองไม่ได้



๓) ถามเกี่ยวกับการสวดมนต์ เวลาสวดควรตั้งใจอย่างไร? สวดแบบไหน? มีคำแปลหรือไม่? และทำนองไหน? ควรสวดบทไหนบ้าง?

ควรสวดอิติปิโสบทเดียวเลย เพราะอิติปิโสเป็นบทที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง เป็นพุทธพจน์ และโดยลักษณะของภาษาก่อให้เกิดความรู้สึกเยือกเย็น ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี เนื้อหาของบทสวดก็เป็นสิ่งที่จะบอกความเป็นพุทธได้เช่นกัน คือสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรมากไปกว่าการเปล่งเสียงจากแก้วเสียงให้เต็มเสียง และก็บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้มีพระคุณกับชีวิตของเรา ชีวิตของชาวพุทธ

สิ่งที่ออกมาก็เป็นกระแสสว่าง กระแสความเมตตา กระแสความรู้สึกที่งดงาม ไม่ใช่กระแสความรู้สึกอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความอยากได้แบบใดแบบหนึ่งซึ่งไม่ใช่กระแสแบบพุทธ

ถ้าอยากจะฟังรายละเอียดที่ผมไกด์ไว้ซึ่งจะยาวนิดหนึ่ง http://soundcloud.com/dungtrin ไฟล์ชื่อว่า ‘แผ่เมตตา’ ผมพูดไกด์นำแผ่เมตตา มีเรื่องของการสวดมนต์ ซึ่งการสวดถ้าหากสวดเป็น สวดเต็มเสียง อาศัยแก้วเสียง เป็นจุดเริ่มต้นของการแผ่เมตตาดีๆได้ เป็นการแผ่เมตตาชั้นดีเลย ลองเข้าไปฟังดูนะครับ



๔) ทำไมบางคนเกิดมาถึงหน้าตาเศร้าหมอง? หน้าบึ้ง บางทีก็ดูหยิ่งหรือมีความทุกข์ถึงแม้จะยิ้มออกมาแต่ดวงตาก็แสดงให้รู้ว่าเศร้า

อ้อ วันก่อนผมก็เพิ่งเคยเห็นเด็กคนหนึ่งเดินผ่านบ้านไปนี่ บ้านช่องก็ใหญ่โตแต่หน้าตาไม่มีความสุขเลย พอเห็นผมเดินผ่านไปเหมือนพูดพึมพำอะไรไม่รู้ประมาณว่า ให้เอาหนูไปอยู่ด้วย เป็นลูกสาวของบ้าน แน่นอนหน้าตาดี แต่ว่าอายุสักสองสามขวบได้ แต่หน้าตาไม่มีความสุขเลย ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นการเลี้ยงดูมาในแบบที่ทำให้เด็กอยากหนีออกจากบ้านนะ

ก็ผมเดินผ่านไปก็ได้แต่ไล่ให้กลับเข้าบ้านไปซะ กลัวว่าจะโดนรถชนนะ ก็ได้แต่บอกไป แถมไม่มีใครตามออกมาด้วย เลยรู้สึกเป็นห่วง แต่พอตามออกมาก็ตามมาด้วยไม้เรียว อะไรแบบนี้ ก็เลยเห็นเลยว่า เวลากรรมจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ นะครับก็จัดสรรตามสิ่งที่ตัวเองเคยทำไว้นั่นแหละซึ่งมองกันไม่เห็น แล้วก็พูดไปก็จะเหมือนกลายเป็นความรู้สึกไม่ดีไป ว่าเด็กก็กำลังมีชีวิตที่ย่ำแย่อยู่แล้ว จะไปซ้ำเติมกันอีก ไปบอกว่าเป็นกรรมเก่า เป็นคนบาปอีก

แต่ตามหลักของพุทธศาสนา ก็คือพูดไว้แบบกลางๆเป็นสากล สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม หมายความว่า ใครจะไปเกิดที่ตระกูลไหน จะได้ดีหรือตกยาก จะมีสภาวะชีวิตที่ประณีตหรือหยาบเพียงไร ขึ้นอยู่กับกรรมที่เคยทำ เคยคิดเคยทำเคยพูดมาอย่างไร ลักษณะของกรรมที่สะท้อนออกมาก็ปรากฏเป็นผลลัพธ์นั่นแหละ ผลลัพธ์ที่จะเห็นได้ง่ายที่สุดคือตอนเด็ก ออกมารูปร่างหน้าตาขี้เหร่หรือน่ารักน่าเอ็นดู

เด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ก็จะมีผู้ใหญ่มีความรู้สึกเหมือนเทวดาน้อยๆมาเกิดในบ้าน แต่เด็กที่หน้าตาขี้เหร่ ผู้ใหญ่แสดงสีหน้าสีตารังเกียจ เกี่ยงกันเลี้ยง ตั้งแต่ยังไม่รู้ความ น่าสงสารตั้งแต่ลืมตาดูโลกไม่ทันไรมีคนรังเกียจแล้ว หรือโตขึ้นมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูเเบบที่ทำให้เกิดความกดดัน หรือทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแบบใดแบบหนึ่ง

เด็กบางคน เดี๋ยวนี้ชัดเลยนะไม่อยากมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล เดี๋ยวนี้เด็กอนุบาลเครียดเป็น เครียดกันเยอะ ทีมจิตแพทย์ ออกมาพูด ออกมาคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้กันเยอะ ด้วยความวิตกกังวล เอ๊ะ ถ้ามันเครียดตั้งแต่มันอายุสองสามขวบ แล้วตอนโตมันจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็เป็นห่วงเป็นใยอนาคตของชาติ

เอาเป็นว่า เคยทำให้คนอื่นมีความทุกข์ เคยทำให้ผู้อื่นมีความทุกข์ ตกระกำลำบาก สิ่งที่จะสะท้อนแสดงออกมามันอาจจะไม่ทันตาในชาติที่เขาทำ แต่ออกมาทางรูปร่างหน้าตา ออกทางตระกูลที่เกิด

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเหมือนกับมรดกตกทอด ที่ตัวเองผู้ทำจะเป็นผู้ได้รับผล

การที่เราสามารถจักเห็นได้ด้วยตาเนื้อว่า ชีวิตของมนุษย์แตกต่างกันตั้งแต่เกิด บางคนหน้าตาดี หน้าตาขี้เหร่ บางคนน่ารักน่าเอ็นดู บางคนเหมือนกับน่าทอดทิ้ง น่าเอาขี้เถ้ายัดปากให้ตาย อะไรแบบนั้น มันเป็นการแสดงออก เป็นการจำแนกของกรรม สิ่งที่ตาเรามองเห็นได้ แต่ใจไม่รู้ ว่าเหตุของการเป็นเช่นนั้น มันมาจากไหน มันไหลมาแต่ไหนนะครับ

สิ่งที่เราจะสามารถ คิดได้น่ะนะก็คือว่า โลกนี้มันเป็นโลกของสถานีกรรมเป็นสถานีกรรม เหมือนกับมาแล้วจะเลือกที่จะขึ้นสูงกว่าที่เคย หรือลงต่ำกว่าที่เคยประพฤติมา ถ้าหากว่าเด็กโตขึ้นมา แล้วมีใครสักคนหนึ่ง หรือหลายๆคน เป็นสิ่งแวดล้อมดีๆให้ แล้วก็ให้คำแนะนำหรือว่าสั่งสอนพระธรรมที่มีความสว่าง เอาความสว่างเข้าไปสู่จิตสู่ใจเขา ก็เป็นไปได้ที่จะเปลี่ยน เปลี่ยนจากดวงตาที่เศร้าหมองกลายเป็นดวงตาที่สดใส หรือว่าหน้าตาที่สดใส หรือว่าโหงวเฮ้งที่ดูเป็นคนใจร้ายก็เป็นคนใจดีได้

โหงวเฮ้งคนเปลี่ยนได้ตามพฤติกรรรมนะ อย่างเกี่ยวกับเรื่องเนื้อที่จะเต็มอิ่มขึ้นมาหรือซูบลงไป บางทีก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไป ในลักษณะที่มีความถาวร หรือความเป็นนิสัยที่ติดตัวมานานหลายปี

ก็เรียนรู้ตรงนั้นแล้วกันว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนก ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่าหรือกรรมใหม่ มันปรุงแต่งให้เห็นความแตกต่างได้ทางหน้าทางตาออกมาเลยทีเดียว


เอาล่ะครับคืนนี้ก็คงต้องล่ำลากันที่นาทีนี้ สวัสดีราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น