วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๒๓ / วันที่ ๒ พ.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการ ดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์เวลาสามทุ่ม เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin



๑) พระพุทธเจ้าจริงๆแล้วมีมาทั้งหมดกี่พระองค์?

เอาเฉพาะที่อยู่ในกัปนี้กัลป์นี้ ก็หลายสิบองค์นะครับ ในกัปนี้กัลป์นี้ มีทั้งหมดมา ๔ พระองค์ ถ้าจะนับกันแบบให้ถ้วนจริงๆคงไม่ได้ พระพุทธเจ้า เคยตรัสว่าผู้ที่เคยบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้านี่ถ้าจะนับคงนับไม่ถ้วนเพราะมีปริมาณมากเท่ากับเมล็ดทรายในท้องสมุทร ลองนึกดูว่ามหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใดแล้ว ถ้าเราจะนับเม็ดทรายที่อยู่ในท้องมหาสมุทรจะถ้วนถี่ไหม จะไหวไหมนะครับ

ท่านเบรกไว้อย่างนั้น ก็ทำความเข้าใจกันว่าการเป็นพระพุทธเจ้า หมายถึงการที่มีใครสักคนนึงทำกรรรมบนเส้นทาง ของพุทธภูมินะครับ หมายความว่าได้เคยพบ ได้เคยกราบพระพุทธเจ้าพระองค์ใด พระองค์หนึ่ง แล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากที่จะรื้อ ขนสัตว์จา สังสารวัฏไปสู่นิพพาน เหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ท่านพบนะครับ ก็ปรารถนาที่จะได้สำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณบ้าง สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งบ้าง

แล้วก็ตั้งหน้า ตั้งตา บำเพ็ญเพียรเป็นอนันตชาติ หมายความว่านับชาติไม่ถ้วนว่าเท่าไหร่ ต้องเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตแทบจะครบทุกภพ ทุกภูมิ ไม่ว่าจะเป็นพระพรหม เป็นเทวดา เป็นมนุษย์ หรือว่าต่ำกว่าความเป็นมนุษย์นี่ก็เรียกว่าต้องเคยผ่านมากันหมดแล้ว เพราะว่าในสังสารวัฏนี้ พระพุทธเจ้า ตรัสแล้วว่าท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะรอดพ้นจากอบายภูมิมันเป็นไปไม่ได้นะครับ

เหมือนกับใครสักคนหนึ่งมีน้ำใจ เสียสละ รู้ทั้งรู้ว่า บำเพ็ญเพียรอยู่บนเส้นทางของพุทธภูมิแล้ว อาจจะต้องร่วงหล่นไปสู่อบายภูมิก็ยอม เพราะรักใน พระโพธิญาณ รักในพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำได้แบบพระพุทธเจ้าบ้าง เพราะฉะนั้น การจะนับว่ามีใครมีสิทธิที่จะเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง นับไม่ได้

พระพุทธเจ้า เคยเปรียบเทียบไว้ว่า เปรียบเหมือนกับน้ำสระ ทั้งน้ำ ทั้งบ่อเลย แต่ผู้ที่จะสำเร็จได้จริงคือไปถึงได้จริง ไม่ท้อเสียก่อน ไม่ถอนพุทธภูมิเสียก่อน มีปริมาณได้แค่หนึ่งหยด หรือว่าน้ำหนึ่งแก้ว อะไรประมาณนั้น นี่ก็เคยมีการเปรียบเทียบไว้

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นพุทธพจน์หรือเปล่าแต่ว่า อันนี้ก็มีคนเคยเปรียบเทียบไว้นะครับ เอาเป็นว่าเคยมีการเปรียบเทียบไว้ ประมาณนั้นว่าการถึงซึ่ง อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ใช่ของง่าย อาจจะเอาเป็นว่าเคยมีคนเปรียบเทียบไว้ก็แล้วกัน แต่ก็ คือเราก็สามารถเห็นได้แหละว่ามันยากขนาดไหนที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้ คือไม่ใช่ว่าพอปรารถนาพุทธภูมิไปแล้วนี่จะจำได้ไปทุกภพ ทุกชาตินะ แม้แต่พระพุทธเจ้าของเรานะครับ พระพุทธโคดมนี่นะ ท่านเคยพบ สมัยที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิเป็นครั้งแรกนี่นานมาแล้ว ๔ อสงไขย แสนมหากัป นะครับ

แล้วหลังจากที่ท่านเวียนว่ายตายเกิดไป ท่านก็ลืมว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ ปรารถนาพุทธภูมิไว้ก่อน เคยพบพระพุทธเจ้า ก็เคยปรามาสพระพุทธเจ้านะ อย่างนี้ก็มี ก่อนที่จะกลับลำนับถือท่านใหม่ นับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพระญาณมีความสามารถที่จะทำให้เชื่อได้โดยไม่ยากนะครับ ถ้าหากว่าอยู่บนเส้นทางพุทธภูมิเป็นพระโพธิสัตว์นี่ ก็จะรู้สึกอยู่ลึกๆว่านี่อันนี้ของจริงพอฟังเทศน์ พอได้เข้าใจเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ๔ อริยสัจ ๔ หรือว่า ได้ฟังมรรคมีองค์ ๘ นี่ก็เกิดความเลื่อมใสและก็สามารถที่จะดำรงศรัทธาอยู่ในพุทธศาสนาได้

ในฐานะของอุบาสิกา อุบาสก หรือว่าเป็นพระ อย่างใดอย่างหนึ่ง และก็ได้บำเพ็ญเพียรในแบบของคนที่จะสมควร จะได้ทำประโยชน์กับมหาชน ในแบบพุทธต่อไปแน่นอนครับ

สำหรับคำถามว่า ในอนาคตจะมีพระพุทธเจ้าอีกหรือไม่?

มีแน่นอน เพราะว่าผู้ที่ปรารถนาบำเพ็ญ และก็บำเพ็ญเพียรอยู่นี่ ไม่ใช่มีน้อยๆนะ อย่างที่เคยกล่าวไว้เมื่อครู่นี้ว่าถ้าเปรียบเทียบแล้วก็เหมือนกับกับน้ำบ่อ คนที่จะไปได้ถึงนี่ ก็น้ำแค่หยดเดียว รึว่าอาจจะซักแก้วหนึ่ง นะ ประมาณอย่างนั้น



๒) เวลาทำบุญใหญ่ คนทำบุญเยอะ แย่งกันทำบุญ เบียดดันกัน ส่งเสียงดังจิตไม่เป็นกุศล ควรทำอย่างไร? หรือไม่ควรทำบุญในที่ คนเยอะเกินไป?

บรรยากาศ การทำบุญนี่นะ ถ้าพูดไปแล้วก็ต่างจิตต่างใจนะ บางคนเหมือนกับว่าถ้าหากไม่มีความคึกคัก ก็ไม่มีความสนุก ไม่มีความร่าเริงในงานบุญ อย่างนี้ก็มีนะ คือ รู้สึกเหมือนกับว่า ถ้าไปในที่คนน้อยๆนี่แสดงว่า ไม่ค่อยมีศรัทธา ไม่ค่อยน่าศรัทธา

ก็ต่างจิต ต่างใจกันไปนะครับ คือถ้ามองว่าเราอยากจะได้บรรยากาศของการทำบุญที่มีความสงบเงียบ แล้วก็ยังจิตให้เป็นกุศล ก็ควรจะหาที่ๆถูกกับจริตก็แล้วกัน ว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน

อย่างบางแห่งนี่นะ ถึงแม้ว่าจะคึกคัก แต่ก็มีความสงบ มีความเรียบร้อยพอสมควรก็จะทำให้บรรยากาศ การทำบุญนี่ มันเป็นไปด้วยกุศล แต่ ส่วนใหญ่นะ ก็ต้องทำใจนิดหนึ่งว่า ถ้าเป็นสถานที่ๆมีคนร่วมกันเคารพ ศรัทธามากๆมักจะไม่ค่อยสงบเท่าไหร่

ผมเองก็หาอยู่เหมือนกันนะ ถ้าเวลาจะทำสังฆทาน ตระเวนไปตามที่ต่าง ก็มักจะยอมลงทุนขับไปไกลๆเลยนะ ขับไปไกลๆในแบบที่ว่าเจอวัดอยู่ลิบๆอยู่ในทุ่งนาอะไรแบบนั้น จะต้องดั้นด้น จะต้องลัดเลาะเข้าทางพิเศษกัน อะไรแบบนั้น เพื่อที่จะได้ไปพบกับความสัปปายะ หรือว่าจะชอบเป็นพิเศษ ถ้าวัดไหนมีคลอง อะไรแบบนั้น

เพราะว่าหลังจากทำสังฆทานเสร็จ ก็จะได้ไปนั่งเล่น คือคิดถึงความสงบ คิดถึงวัด อยากจะพบกับความสงบ แต่ในความเป็นจริงก็คือ วัดแบบนั้น ถ้าจะมีอยู่นี่ ก็อาจจะ ต้องลงทุนเดินทางนิดหนึ่ง

แล้วก็ถึงแม้ว่าจะไปพบแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีอยู่จริงนะครับ ก็อาจจะไม่ได้สงบทุกวัน ผู้คนส่วนใหญ่ ถ้าเป็นวัดขึ้นมา ต้องเข้าใจว่าคนนี่ช่วยกันสร้าง เป็นศรัทธาของชาวบ้านร่วมกันสร้างในท้องถิ่นนั้น จะไม่ค่อยมีการสร้างวัดกันขึ้นมาได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากคนต่างถิ่นนะ ส่วนใหญ่จะเป็นคนถิ่นนั้น และถ้าหากว่าเป็นศูนย์รวมของคนในย่านนั้นนี่ ส่วนใหญ่ก็จะมีการมาประชุม ชุมนุม รึว่าทำบุญกันให้สมกับที่เคยร่วมกันสร้างมา โอกาสที่เราจะเข้าสู่วัดแล้วก็มีความสงบเรียบร้อย มีความสัปปายะ มันค่อนข้างต่ำ ต้องทำใจกันนิดหนึ่ง

การที่เราจะทำใจให้เป็นกุศลได้นี่ คือมีการสำรวมจิตของตนเอง ไม่ว่าจะก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่วัด หรือขณะที่อยู่ในวัดนะครับ อาจจะเดินจงกรมด้วยการรู้เท้ากระทบไป หรือว่าอาจจะไปหลบมุมนั่งสมาธิ คือพอเราทำบุญแล้วนี่ ไอ้จิตตอนให้ จิตตอนที่ถวายของ มันปรุงแต่งให้ใจสว่างได้อยู่แล้วแหละ เราก็เอาความสว่างของใจแบบนั้นนี่นะ มาสำรวมจิต อาจจะสวดมนต์ หรือว่าจะนั่งสมาธิ หรือว่าจะระหว่างเดินเข้า เดินออกจากวัดนี่นะ รู้เท้ากระทบไปด้วย

ความมีสติเห็นว่าการรู้อย่างนี้นี่ ทำให้จิตของเรานี่ มีความตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วก็เห็นส่ำเสียง ที่เข้ามากระทบหูนะครับ เป็นเพียงสิ่งกระทบให้เกิดปฏิกิริยาทางในทางไม่ดี ในทางลบ แล้วก็เห็นปฏิกิริยาทางใจนั้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวที่เกิดขึ้น มีความขัดอก ขัดใจ มีความขัดเคือง คือยอมรับตามจริงว่า มีความขัดเคือง ไม่ใช่ไปพยายามหลอกตัวเอง ไม่ใช่พยายามที่จะทำใจให้สว่าง มีความเป็นกุศลอยู่ตลอดเวลานะครับ

เพราะว่าสิ่งที่เป็นกุศลสูงสุดจริงๆหรือว่าเป็นกุศลเหนือกุศล คือสภาวะที่เป็นบุญเหนือบุญนี่ ก็คือการได้เห็น การได้รู้ว่าทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นภายในใจของเรานี่ จะเป็นปฏิกิริยาทางใจ หรือว่าการกระทบกระทั่งใดๆทั้งหลายนี่ เป็นเพียงสภาวะหนึ่งชั่วคราวนะครับ ประกอบประชุมกัน ประเดี๋ยวประด๋าว ด้วยการที่มีเสียงมากระทบหู แล้วเกิดความขัดเคือง เห็นตามจริงว่ามันเกิดขึ้น เห็นตามจริงว่ามันค่อยๆเสื่อมลง อันนี้แหล่ะที่เป็นบุญใหญ่สูงสุด

ถ้าเข้าวัดด้วยอาการที่ใจเราตั้งอยู่กับการว่าจะทำบุญ อันนั้นเป็นเบื้องต้น อันนั้นเป็นความสว่างเบื้องต้นแล้วถ้าหากว่า ตั้งใจซ้อนเข้าไปอีกว่า มีความขัดเคืองอะไร เราจะรู้ตามจริง รู้ว่ามันเป็นเพียงแค่ภาวะ ถูกกระทบกระทั่งอย่างหนึ่งนะ เกิดปฏิกิริยาทางใจแบบหนึ่ง ชนิดหนึ่ง แล้วไอ้ปฏิกิริยานั้น เมื่อถูกรู้มันก็ค่อยๆเสื่อมลงให้ดูต่อหน้าต่อตา นี่ตั้งใจไว้แบบนี้ เท่ากับว่าไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวัดที่สงบ หรือว่าเป็นวัดที่มีความวุ่นวายอึกทึกนี่นะ ได้บุญลูกเดียว



๓) แต่ก่อนเป็นคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องบาปกรรม และเมื่อสองสามปีที่แล้วเคยต้องฆ่าหนู โดยใช้กาวดักหนู เนื่องจากหน้าที่ คือมีหน้าที่ต้องกำจัดบรรดาตัวก่อเชื้อโรคในโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุดนี่นะ กาวซึ่งดักได้ทีละสองสามตัวจึงไวกว่า และยาที่กินแล้วนี่ หนูจะไปแห้งตาย โดยไม่ส่งกลิ่น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ผมน่าจะฆ่าหนูซัก ๒๐ ตัวได้

ที่นี้พอได้บวช ก็เกิดความกลัวบาป หลังสึกมาก็ใช้กรงดัก แล้วก็ไปปล่อยทีละตัว แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ผมจะมีกระแสความคิดมาเรื่อยๆ เป็นภาพหนูที่ติดอยู่บนกาว มีแววตาตาน่าสงสาร และก็จำได้ว่าเอาไปทิ้งขยะทั้งเป็นๆด้วยความรังเกียจปนสงสาร ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยมีกระแสความคิดนี้ ทุกวันนี้ จะพยายามปล่อยนก ปล่อยปลา แล้วก็ไถ่ชีวิตโค แผ่ส่วนบุญ แต่ก็ยังมีกระแสความคิดเดิมมาอยู่เรื่อยๆ ก็จะใช้วิธีคิดถึงบุญที่ทำ เหมือนแผ่ส่วนบุญไปให้

คำถามคือ แนวทางที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าเป็นการสร้างบุญในฝ่ายตรงข้ามกับบาปนี่นะ สามารถที่จะคานกับบาปอันนั้นได้หรือเปล่า? มีคนแนะนำว่า นั่งสมาธิเสร็จให้แผ่เมตตาให้ ก็จะได้ผลหักล้างได้เร็วกว่า แต่ส่วนตัว รู้สึกว่ามันเป็นบุญคนละประเภทกัน และถ้ากรรมฆ่าหนูแสดงผลนี่ จะแสดงให้ผมรับกรรมในลักษณะใด?

อันนี้ก็ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้ เพราะว่าโดยหน้าที่ก็เหมือนกับเราจะต้องทำ มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆเราจะไปอยากฆ่าหนูด้วยความเกลียดชัง แต่มันมีภาพติดตามา

ประเด็นในคำถามนี้ก็คือว่า คือมันเกิดภาพติดตาของหนูที่น่าสงสาร คือมันรู้ตัวว่าเราจะเอามันไปฆ่าให้ตาย หรือว่าเอามันไปทิ้งขยะที่มันติดกาว นี่มันไม่มีทางรอดแล้ว มันก็เลยมองด้วยสายตาที่อาจจะขอความเมตตา หรือว่าความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะตาย ที่กำลังจะถูกฆ่านี่ มันมีสัญชาตญาณแบบหนึ่ง อยากเอาตัวรอดแบบได้รับความเมตตาปราณี

ซึ่ง ณ เวลาที่เรายังไม่คิดอะไรมาก ก็อาจจะทำลงไปโดยที่ไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อเราบวช หรือมาศึกษาธรรมมานะครับ แล้วเกิดความเป็นกุศลขึ้นมา คือการจะเชื่อเรื่องบุญ เรื่องกุศลได้ ก่อนอื่นส่วนใหญ่จะต้องมีลักษณะของบุญ ลักษณะของความสว่างอย่างใหญ่อยู่พอสมควร ที่จะทำให้จิตส่วนลึกนี่ เกิดความรู้สึกของความมีจริงของกรรม ทั้งในฝ่ายบุญ ทั้งในฝ่ายบาป ทั้งที่เป็นกรรมดำ และกรรมขาว

อย่างเช่นการบวชนี่ ถือว่าเป็นกรรมขาวอย่างใหญ่ ถือว่าเป็นการที่เราได้ครองกาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นเครื่องแบบที่มีเกียรติสูงสุดเลย เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นผ้าที่ห่อพัน ในสมัยพุทธกาล ท่านเรียกว่าเป็นผ้าที่ห่อพันกันอุจาด เรียกว่าให้จิตนี่เกิดความรู้สึกว่าเราไม่มีอะไรติดตัวเลย มีแค่ผ้าที่ห่อพันกันอุจาดเท่านั้น

การที่เราได้ไปบวชมา แล้ว เหมือนกับเกิดความเชื่อเรื่องบาปเรื่องกรรมแล้ว แสดงให้เห็นว่าการบวชครั้งนั้นเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างใหญ่ แล้วฐานของจิตที่เป็นบุญ เป็นกุศลอย่างใหญ่ มันจะมีความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงกับบาปกรรมที่เคยทำมา แล้วมันก็เลยขับเน้นให้เกิดความรู้สึกว่านี่ฝ่ายบุญเป็นอย่างนี้ นั่นฝ่ายบาปเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอมีความเหมือนกับระลึกได้ขึ้นมา เคยมีบาป เคยมีกรรมอันมืดนะ ก็จะกลับมาหลอกหลอนได้พอสมควรด้วยอาการอย่างนี้แหละ

ทุกคนนั้นเวลาทำบาปไปเรื่อย นี่มักจะไม่รู้สึกรู้สา อย่างคนทำบาปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่พอกลับใจเปลี่ยนมา พลิกกลับลำนะ กลายเป็นคนอีกแบบหนึ่ง จากมืดเป็นสว่าง ไอ้ความมืดที่เคยทำมานั้นมันก่อความรู้สึกเสียใจ ก่อความรู้สึกผิดอย่างใหญ่หลวง แล้วก็เหมือนกับไม่สามารถจะลืมได้ทั้งๆที่ก็คิดว่าได้ทำบางสิ่งบางอย่างเป็นการชดใช้ไปแล้ว

การที่คุณมีความเห็นว่ามันเป็นบุญคนละประเภทกันนี่ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วบุญไม่สามารถที่จะไปลบล้างบาปได้ แต่ว่าสามารถที่จะเจือจางผลของบาปได้

กล่าวคือ พระพุทธเจ้า ท่านเคยตรัสเปรียบเทียบ ถ้าเปรียบบาปเป็นก้อนเกลือก้อนเล็ก แล้ววันหนึ่งนะเราเอาเกลือไปใส่กะละมังน้ำ เทน้ำลงไป จนกระทั่งรสของเกลือนั้นเจือจางลง ถามว่าเกลือหายไปไหม มันไม่ได้หายไป แต่ถูกเจือจางลง จนกระทั่งรสเค็มแทบไม่เหลือ หรือว่าเหลือก็น้อยมาก ถ้ากะละมังมันน้อยไปก็ใส่เข้าไปตุ่มหนึ่ง หรือว่าแทงค์หนึ่ง ก้อนเกลือนั้นนี่ ยังไงๆก็ต้องจมหายไปนะ คือเหมือนกับว่ารสชาติของความเค็มมันไม่เหลือเลย

อันนี้ท่านก็เปรียบเทียบว่า ถึงบาปจะทำมาขนาดไหน ถ้าหากว่า ปริมาณบุญที่เราเพิ่มเติมเข้าไปในชีวิตมันมากจนกระทั่งผลของบุญนั้นน่ะมันเกิน มันให้ความรู้สึกเกิน มันเป็นสุขมากเกินความทุกข์ ความทุกข์นั้นมันก็ลดน้อยลง จนกระทั่งแทบไม่เหลือ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังจำภาพติดตาของสัตว์ที่อ้อนวอนขอชีวิตได้อยู่ไม่รู้ลืมก็ลองไถ่ชีวิตสัตว์ เราฆ่าหนูไป ๒๐ ตัวนี่ ลองช่วยสัตว์ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ ปล่อยนก ปล่อยปลา จนกระทั่งเหมือนกับเป็นงานอดิเรก ทำเป็นร้อยเป็นพันตัว เห็นภาพของสัตว์ที่ดีใจได้ชีวิตต่อ ในที่สุดมันจะแทนที่ได้

คืออันนี้พูดเฉพาะในเรื่องของความจำนะ ความจำมันก่อให้เกิดความรู้สึกผิด หรือว่าปรุงแต่งให้จิตเกิดความเศร้าหมอง ไอ้ความจำดีใหม่ๆ ดูดีใหม่ๆ ที่สัตว์มัน อย่างเวลาปล่อยปลานี่ คุณจะรู้สึกได้เลยนะ ปลามันลงน้ำนี่ด้วยความดีใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเวลาไปซื้อปลาจากตลาดที่กำลังจะถูกฆ่า ไม่ใช่ปลาที่ถูกจับมาไว้เพื่อขายคนอยากปล่อยปลานะ แต่เป็นปลาที่กำลังจะถูกฆ่าจริงๆ มันเหมือนมีสัญชาติญาณทราบได้ ว่ามีชีวิตมันรอดแล้ว ได้ชีวิตต่อแล้ว การที่เราได้เห็นความดีใจของสัตว์บ่อยๆมันจะกลายเป็นความทรงจำชนิดใหม่ ที่มาทำจิตให้เกิดกำลังในด้านดีมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่ของคุณเคยทำเกี่ยวกับหนูมานี่นะ แล้วไปปล่อยนก ปล่อยปลา หรือว่าไปปล่อยโค กระบือให้มากๆ ช่วงที่ทำแรกๆอาจจะยังไม่รู้สึก นี่ที่คุณก็เล่าให้ฟังมานี่ปล่อยนกปล่อยปลา หรือว่าไถ่โค มันก็จะเรียกว่ามาถูกทาง แต่ว่ายังเดินมาไม่ลึกพอ

บางคนนี่นะที่เขาปล่อยนก ปล่อยปลากันนี่เพื่อที่จะแก้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ เพื่อที่จะแก้เกี่ยวกับรู้สึกเลยว่าเป็นวิบากที่เคยไปทำปาณาติบาตมานี่นะ เขาทำกัน ๕ ปี ๑๐ ปี ทำกันแทบทุกวัน หรือแทบทุกอาทิตย์ ปล่อยสัตว์มานี่ เขานับเลยนะปล่อยมาได้เท่าไหร่ เขานับกันได้เป็นหมื่นตัว คือทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าการปล่อยสัตว์ การได้ไถ่ชีวิตสัตว์เป็นเรื่องปกติของชีวิตเขา พอถึงความรู้สึกตรงนั้นนี่ สุขภาพมันค่อยดีขึ้นนะ ตามที่เสียดแทงอย่างรุนแรง อาการที่หมอรักษาไม่หายอะไรต่างๆมันทุเลาลงได้จริง

นี่ก็เหมือนกันแก้ความรู้สึกผิด หรือแก้ความเสียใจมันต้องแก้ด้วยความดีใจ เพียงแต่ต้องทำให้มากๆ ทำให้เป็นประจำนะ จะได้เปรียบเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ คล้ายๆกับน้ำที่เกินกว่ารสเกลือ



๔) การเจริญสติ หรือทำสมาธิ สามารถจะบรรเทา หรือรักษาอาการกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผลประเภทโฟเบีย (Phobia) อย่างโซเชี่ยลโฟเบีย (Social Phobia) หรืออะไรโฟเบียทั้งหลาย กรณีนี้คือ เป็นโฟเบียประเภทกลัวเข็ม กลัวที่แคบ หรืออะไรแปลกๆได้ไหม? ทำอย่างไรได้บ้าง? ทางการแพทย์เขาว่าเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก อยากให้ช่วยอธิบาย ความสัมพันธ์ของความกลัวกับจิตใต้สำนึกและกรรมด้วย?

ความกลัวที่แคบ หรืออะไรแปลกๆนะครับ คือลักษณะการปรุงแต่งของจิตอย่างหนึ่ง ที่เมื่อเกิดภาวะหรือว่าประสบกับผัสสะแบบหนึ่งๆแล้วนี่ มันจะเกิดการปรุงแต่งให้จิตมีอาการหดตัวอย่างรุนแรง จิตที่กลัวก็คือจิตที่หดตัวอย่างรุนแรงนั่นเอง หรือถูกความมืด หรือความเป็นอกุศลธรรมนี่ มันเข้ามาครอบงำจนกระทั่งจิตหด จิตมีอาการที่เหมือนกับลูกหนูที่ถูกบีบ

ถ้าหากเรามองว่าการปรุงแต่งใดๆที่ทำให้จิตถูกบีบได้ เป็นธรรมฝ่ายมืด เป็นอกุศลธรรม แล้วเรามองว่าจะแก้นี่ ต้องแก้ด้วยธรรมฝ่ายขาว ธรรมฝ่ายสว่าง หรือว่าธรรมอันเป็นกุศลธรรมนะครับ

ธรรม อันเป็นกุศลธรรม มีอะไรได้บ้าง? ถ้าการเจริญสติ ถ้าการทำสมาธิของเรา มันเปิดจิตเปิดใจให้มีความกว้าง มันเปิดจิตเปิดใจให้มีความสว่างอย่างใหญ่ได้ ทุกอาการกลัวมันจะหายไป สำคัญก็คือ กำลังของสมาธิ หรือว่ากำลังของสตินี่ มันต้องเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำไม่ใช่กะเอาไปใช้กับการแก้ความกลัวอย่างเดียว แต่มันต้องเกิดขึ้นในทุกกรณี

พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ถ้าเกิดความกลัวในที่ใด ให้อยู่ในที่นั้นไปจนกว่าจะเห็นความกลัวไม่เที่ยง แสดงความไม่เที่ยงหายไปให้ดู คือพูดง่ายๆว่า เราไม่ได้ดูไอ้ภาวะที่บีบให้เรากลัว ไม่ได้ดูภาวะความแคบ ไม่ได้ดูว่ากำลังมีความมืด แบบที่เราอย่างกลัวเข็ม กลัวอะไรต่างๆนี่ เราไม่ได้ไปดูที่เข็ม ไม่ได้ไปดูที่ความมืด หรือความแคบ แต่เราดูที่จิต ว่ามันกำลังมีอาการหดแคบอยู่ มีอาการหดตัวอยู่ ดูไปจนกว่ามันจะแสดงอาการเหมือนกับค่อยๆคลายออกมาจากความหดแคบ มีความเปิดกว้างขึ้น ตรงนี้ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่าจะให้ช่วยจริงๆนะครับ มันต้องมีสมาธิหนุน มันต้องมีกำลังที่จะทำให้จิตเปิดกว้างในระดับที่คงเส้นคงวาพอสมควร เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดภาวะหดแคบขึ้นมา มันจะได้เห็นไว มันจะได้เห็นว่า เป็นภาวะหดแคบชั่วคราว เป็นภาวะที่มันมีอาการหดตัวเดี๋ยวเดียว แล้วคลายออก ไม่งั้นนี่ มันจะดูยากนิดหนึ่ง มันจะเจริญสติยากนิดหนึ่ง

สรุปโดยใจความสำคัญก็คือว่า ต้องหัดทำสมาธิจนกระทั่งจิตมีความเปิดกว้าง มีความสว่างพอสมควร ลองเข้าไปฟังวิธีทำสมาธิใน http://soundcloud.com/dungtrin มันมีวิธีทำสมาธิอยู่ ผมพูดไกด์ไว้นะครับ แล้วก็ทำตามไปด้วยตามนั้นเลย


เอาละครับ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น