สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin
เพื่อจะได้สอบถามเข้ามาเนี่ย อาจจะต้องเรียนให้ทราบซ้ำอีกครั้งหนึ่งนะครับว่า ไม่ได้รับทางอื่นนะครับ ก็คงจะเป็นทางสเตตัสปัจจุบันล่าสุดของคืนวันจันทร์ พุธ แล้วก็ศุกร์เท่านั้นนะครับ หลายท่านก็อาจจะเพิ่งเข้ามายังไม่ทราบนะ ก็ขอเรียนไว้นะครับ เนื่องจากว่าถ้ารับคำถามจากทางอื่นแล้วจะต้องตอบมากเกินไปเนี่ย บางทีมันไม่ทันนะครับ แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำได้นาน มันไม่เหมือนกับการออนแอร์นะ ที่อาทิตย์หนึ่ง จันทร์ พุธ ศุกร์ เนี่ย มันทำได้จริงและก็ทำได้ยาวนะครับ
๑) เห็นความไม่เที่ยงหรือเห็นความไม่ต่อเนื่องกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ปัญญาแบบนี้สามารถติดตามข้ามภพข้ามชาติไปได้หรือไม่?
(ถาม – ได้ดูการบรรยายผ่านยูทูป วิทยากรผู้บรรยายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จบทางด้านสมองมาจากต่างประเทศ แล้วก็มีอยู่ช่วงหนึ่ง เขายิงคำถามกับผู้ฟังว่า ทุกคนเคยเจออุบัติเหตุไหม เช่น ตัดสินใจแต่งงานไป สุดท้ายก็ไม่รอด ต้องหย่า ตัดสินใจพลาดพลั้งกับชีวิต หรือคนรักเสียชีวิตไป ฯลฯ แล้วทันใดนั้นมันก็ปิ๊งขึ้นมาในหัวว่า คนอื่นก็เคยพลาดผิดเหมือนกับเรานี่หน่า แล้วเหมือนจิตมันเด้งออกมาเป็นผู้ดู เสมือนเห็นภาพความล้มเหลวของตัวเองปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์ม แผ่นฟิล์มถ่ายหนังสมัยก่อนเป็นฉากๆ แล้วก็เก็ตเลย เกิดความเข้าใจ เกิดความรู้สึกเลยว่า มันเป็นต่างหากจากตอนนี้ คืออดีตกับปัจจุบันเนี่ยมันคนละโลกกันแล้ว คนละช่วงเวลา คนละมิติกัน แล้วก็จิตมาอยู่กับปัจจุบัน ใจมันก็รำพึงว่า นี่เรา มันรำพึงว่า นี่หรือที่เขาว่าชีวิตติดกรรม เพราะใจมันยังไปยึดเห็นว่ามันเป็นเรื่องของเรา เพราะคำว่าของเรานะ ปัญญาลักษณะแบบนี้ ถ้ายังไม่หลุดพ้นจะได้ติดตามข้ามภพข้ามชาติต่อไปได้ไหม?)
การที่เราจะเห็นความไม่เที่ยงหรือเห็นความไม่ต่อเนื่องกันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน หรือจะเห็นอะไรที่มันมีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือชัดเจนไปกว่านั้นก็ตาม หรือว่าน้อยกว่านั้นก็ตามเนี่ย ถ้าหากว่าเป็นปัญญาในลักษณะที่เกิดความเข้าใจ เกิดความรู้นะ รู้ซึ้งถึงไอ้ลักษณะที่อะไรๆเนี่ย มันแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเนี่ยนะครับ ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘อนิจจสัญญา’ หรือว่า ‘อนัตตสัญญา’ นะ ขึ้นอยู่กับว่าอะไรปรากฏเด่น
ถ้าหากว่าอนิจจสัญญาปรากฏเด่นเนี่ยนะ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะถอนออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นได้ระดับหนึ่งนะ
แต่ถ้าหากว่าเป็นอนัตตสัญญาเนี่ยนะ ติดจิตติดใจไปว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเนี่ย ก็มีความโน้มเอียงที่จะได้ถึงมรรคถึงผลนะ เพราะว่าไปถึงที่สุดแล้วเนี่ย อนัตตสัญญาเนี่ยนะ หรือว่าความรู้สึกที่มันชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเนี่ยนะ ตัวนี้มันเป็นประตูเข้าถึงมรรคผลได้อย่างดีนะครับ
คืออนิจสัญญาเนี่ยใครๆมันก็มีทั้งนั้นแหละ เวลาที่แก่ตัวลงไป มันเกิดความรู้สึกว่า ไอ้อะไรๆที่ผ่านมาเนี่ย มันเหมือนเรื่องหลอก มันเหมือนเรื่องที่ผ่านมาเหมือนฝัน แล้วก็หายไปเหมือนฝันนะ แต่ไอ้ความเข้าใจในเรื่องของอนัตตาเนี่ย มีแต่คนที่ได้ฟังได้ยินจากพระศาสดาอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งได้นะ
จริงๆแล้ว เวลาที่จะเกิดมรรคผลเนี่ยนะ เขาว่าในพระคัมภีร์เนี่ยจะเหมือนกับบอกไว้นะครับว่า มันมีทางเข้า ๓ ทาง คือ
๑) เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยง มี ‘อนิจจสัญญา’ ที่แก่กล้า หรือ
๒) เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เรียกว่าเป็น ‘ทุกขสัญญา’ นะ หรือ
๓) เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม นามธรรม รวมตลอดไปจนถึงนิพพานเนี่ยนะ คือหมายถึงว่า ท่านใช้คำระบุชัดเจนว่า สังขารและอสังขารธรรมทั้งปวงเนี่ยเป็น ‘อนัตตา’ นะครับ
ก็ด้วยความรู้สึกชัดเจนนะว่าไม่เที่ยง ไม่สามารถทนอยู่ได้ หรือว่าเป็นอนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งเนี่ย ทำให้บรรลุธรรมได้
แต่สิ่งที่มันชัดเจนว่าเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาก็คือ ‘อนัตตสัญญา’ นะ คือถ้าถึงแม้ว่าจะรู้สึกว่าไม่เที่ยงไปสักขนาดไหน แต่ถ้าหากว่าไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของ ‘อนัตตา’ อยู่เนี่ย มันไม่สามารถที่จะถอดถอนความเห็นผิดว่านี่เป็นตัวเป็นตนได้ มันจะยังรู้สึกอยู่นั่นร่ำไปนะครับว่า เออ! นี่เป็นบุคคล นี่เป็นเรา นี่เป็นเขานะ ต่อเมื่อมีความเข้าใจ มีความรู้ว่าทั้งหลายทั้งปวงที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่นี้ ประกอบประชุมอยู่ด้วยเพียง ‘ธาตุ ๔’ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วประกอบประชุมอยู่กับจิตวิญญาณที่ถือครองอยู่ในชั่วคราว ไม่ได้มีตัว ไม่ได้มีตน ไม่ได้มีบุคคล ไม่ได้มีเราเขา ไม่ได้มีชาย ไม่ได้มีหญิงนะ แล้วก็ฝึกโดยการที่เห็นนะว่า ‘อะไรๆที่เห็น มันกระทบกระทั่งให้เกิดความรู้สึกขึ้นมา เป็นปฏิกิริยาทางใจ’ เดี๋ยวก็ชอบ เดี๋ยวก็ชัง เดี๋ยวก็มีความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เดี๋ยวก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์บ้างเนี่ยนะ มันไม่เที่ยงไปทั้งนั้น พอไม่เที่ยงเนี่ย ต้องมีความเข้าใจต่อไปว่า เออ! ที่ไม่เที่ยงก็รู้ว่ามันทนอยู่ในสภาพเดิมๆไม่ได้ ลักษณะพื้นฐานโดยธรรมชาติไม่มีอะไรที่ทนอยู่ได้ และที่ทนอยู่ไม่ได้ก็เพราะว่าเป็นอนัตตา พอหลุดจากไอ้ความรู้สึกว่า เป็นตัวเป็นตนได้นั่นแหละ ถึงจะถึงมรรรคถึงผลกันนะ ไม่ใช่ว่าเห็นความไม่เที่ยงอย่างเดียว เห็นว่าอะไรๆมันเหมือนของหลอกแล้วจะบรรลุธรรมกันได้นะครับ
สรุปแล้วก็คือว่า ถ้าหากว่าได้สั่งสมแม้เพียงปัญญา มีความเข้าใจว่า อะไรๆทั้งหลายเป็นอนัตตาเนี่ยนะ ก็จะติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้ทั้งนั้นแหละ
แต่การที่เราเกิดนิมิตนะว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาในอดีตกับปัจจุบันเนี่ยนะ มันเป็นคนละยุคกัน เป็นคนละมิติกัน เป็นคนละช่วงเวลากัน ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ตัวตนเนี่ย อันนี้ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สั่งสม ‘อนิจจสัญญา’ นะ ที่พร้อมจะพัฒนาขึ้นไปเป็น ‘อนัตตสัญญา’ คือถ้าหากว่าปราศจากความรู้ความเข้าใจทางพุทธศาสนาที่เข้าไปอธิบายตัวเองได้ว่า ที่ๆจะยืนยันกับตัวเองได้ว่า นั่นน่ะเป็นอนัตตานะ มันก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลได้ ต่อเมื่อมีสัมมาทิฏฐิ คือมีตัวที่มีคำอธิบายนะครับว่า ที่มันไม่เที่ยงเนี่ย เพราะว่ามันเป็นอนัตตา ตัวจิตที่มันสามารถเข้าถึงความปล่อยวางว่านี่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนได้ ตัวเนี่ยถึงจะบรรลุถึงมรรคถึงผลได้
อันนี้ผมอธิบายอีกทีนะ เพราะเมื่อครู่อาจจะยังไม่ชัดเจนนะ คือการที่จะเข้าถึงมรรคถึงผลได้เนี่ยนะ จะต้องเข้าผ่านอนิจจสัญญา หรือว่าทุกขสัญญา หรือว่าอนัตตสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งนะครับ คือมีญาณหยั่งรู้ว่าไม่เที่ยง หรือว่ามีญาณหยั่งรู้ว่าทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือว่ามันเป็นอนัตตามีอะไรมาประกอบประชุมกันชั่วคราวนะ แต่ถ้าหากว่ามีเพียงความรู้สึกเฉยๆว่า อย่างคน คนพออายุมากขึ้นนะครับ เห็นว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นของไม่เที่ยง แค่นี้มันไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะว่ายังไม่ใช่ความเห็นว่าไม่เที่ยงโดยพื้นฐานความเข้าใจว่ามันเป็นอนัตตานะครับ มันไม่สามารถถอดถอนอุปาทานได้ แต่ในกรณีที่เราสามารถเห็นนะ จะด้วยสาเหตุอะไรมากระตุ้นก็แล้วแต่นะว่า ไอ้อดีตที่ผ่านมากับปัจจุบันมันคนละตัวกัน แล้วสามารถที่จะลิงก์ คือโยงกันได้นะ กับความรู้ ความเข้าใจว่า นั่นไม่มีตัวตน นั่นไม่ใช่ตนนะ ไม่มีอัตตาอยู่ที่ไหน มีแต่อนัตตานะที่แสดงตัวอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เนี่ยก็ถือว่าเป็นการสั่งสมอนิจจสัญญาที่จะนำไปสู่อนัตตสัญญาในแบบของพุทธได้ ซึ่งมันติดตัวข้ามภพข้ามชาติได้เช่นกันนะครับ
เอาล่ะคิดว่าน่าจะตอบคำถามนะ ถ้าใครฟังไม่เข้าใจอาจจะฟังไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานก่อนก็แล้วกัน
๒) ถ้าคนที่เรารักไปเป็นเทวดาหรือนางฟ้าแล้ว จะยังห่วงใยเรามากน้อยเพียงใด?
(ถาม – ถ้าคนที่เรารักไปอยู่บนสวรรค์ เขาจะห่วงเรามากหรือน้อยอย่างไร?)
คำถามคงหมายถึงถ้าหากว่าไปเป็นเทวดานางฟ้าแล้วเนี่ยนะ เขาจะย้อนกลับมามีความรู้สึกกับคนในโลกนะ ที่เคยเป็นญาติ ที่เคยมีความสนิทชิดเชื้อกันมากน้อยแค่ไหนนะ คงจะเป็นแบบนั้นที่เป็นโจทย์ตั้งมา
ก็อย่างนี้แล้วกัน คือเคยมีคนถามคล้ายๆอย่างนี้ แล้วก็มีการตอบไปนะครับ ที่มันคล้ายคลึงกัน น่าจะเข้าเป้ากับคำถามนี่แหละ คือว่า ถ้าสมมุติสวรรค์มีจริง ทำไมญาติๆเนี่ยนะ ถึงไม่กลับมาบอก ถึงไม่กลับมาคุยกันนะ? ก็มีผู้ตอบไว้ว่า ถ้าหากว่าขึ้นจากหลุมคูถมูตรได้แล้วเนี่ยนะ คือหมายความว่า ถ้ามีถังที่เต็ม อุดมไปด้วยอึฉี่นะครับ แล้วก็มีคนที่ลอยคออยู่ในนั้นเยอะแยะนะ เคยมีความสนิทคุ้นเคยกันอยู่ในถังคูถถังมูตร แล้วมีใครสักคนหลุดขึ้นไปนะ อยู่ในที่ที่แห้งสบายนะ เขาจะมีแก่ใจอยากกลับมาที่ถังคูตมูตรนั้นอีกไหมนะ จริงๆแล้วอันนี้มันเป็นคำเปรียบเปรยเท่านั้นแหละ มันไม่ถึงขั้นที่ว่าจะกลับมาไม่ได้ มันน่ารังเกียจอะไรขนาดนั้น เพราะว่าคนทั่วโลกนะครับก็มีประสบการณ์รายงานตรงกันว่า ได้พบกับญาติที่ล่วง ที่สิ้นชีวิตไปแล้วเนี่ย กลับมาพูดคุยด้วย บางทีก็มาแสดงให้เห็นฉากสวรรค์ นิมิตสวรรค์อะไรต่างๆ แต่ว่าไม่ใช่ทุกราย ซึ่งพอไม่ใช่ทุกรายเนี่ย มันก็เหมือนกับว่า ไม่สามารถเชื่อได้ว่าเป็นแค่อุปาทานของคนที่คิดถึงญาติมากเกินไปหรือเปล่านะ ถ้าหากว่ากลับมากันทุกคนอย่างนี้ยืนยันได้เป็นวิทยาศาสตร์เลยว่านะญาติพี่น้องที่ล่วงไปแล้วเนี่ยนะ กลับมาหาญาติกันทุกคนนะ เป็นของแน่นอนว่าสวรรค์มีจริงนะ
การที่เราจะไปมองนะครับว่า เขาขึ้นไปแล้วจะยังมีความห่วง มีความหวง มีความอาลัยยึดติดยินดีกันแค่ไหนเนี่ย ก็ดูจากตรงนี้แหละว่า เขาสามารถที่จะมีความรู้สึกเท่าเดิมหรือเปล่า ถ้าหากว่ามีความรู้สึกเท่าเดิมนะ ก็คงจะมีความพยายามที่จะติดต่อกลับมาอีก แล้วถึงแม้ว่าจะอยากติดต่อมา มีความพยายามที่จะติดต่อมา ก็ต้องตั้งข้อแม้อีกว่านะ มีฤทธิ์มากพอหรือเปล่า ซึ่งเทวดาแต่ละตนเนี่ยนะ ก็มีบอกไว้ในพระคัมภีร์นะครับว่าฤทธิ์ไม่เท่ากัน ความสามารถต่างๆไม่เท่ากัน ไม่ใช่ว่าอยากจะมา แล้วได้มาเสมอไป มันมีเรื่องของความสามารถที่จะสื่อสารหรือว่าความเหมาะสมที่กรรมและวิบากมันเปิดช่องให้นะ
ส่วนใหญ่แล้วเท่าที่มีการบอกเล่ากันมานะ ทั่วโลกเนี่ย เวลาคนที่ล่วงผ่านโลกนี้ไปแล้วจะกลับมาติดต่อกับญาติอีกเนี่ย มักจะเข้ามาในช่องทางของความฝัน ซึ่งการที่เข้ามาในช่องทางของความฝันเนี่ย มันมีความเป็นไปได้สูงที่คนฟังเนี่ยจะทึกทักจะมีความรู้สึกว่าคงฝันเหลวไหลไปเอง มันเป็นช่องทางที่ทำให้ไม่มีใครเนี่ย สามารถแน่ใจได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง เพราะฝันกันทุกคืน แล้วฝันเนี่ยก็เป็นสิ่งที่ลอยมาแล้วลอยไป ไม่สามารถเอาอะไรมายืนยันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราบอกเล่าให้คนอื่นฟังได้
การที่เราฝันถึงญาติที่ล่วงไปทุกคืนนะ แล้วเกิดความรู้สึกว่า ในฝันเนี่ยเต็มไปด้วยความห่วงหาอาลัย หรือว่าเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ยังยึดติดไม่ต่างกับตอนยังมีชีวิตอยู่เนี่ย ก็อาจจะเป็นความห่วงหรือว่าความอาลัยของเราเองก็ได้นะ นี่แหละ ตรงนี่แหละที่มันเลยไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ไอ้การการที่ญาติไปอยู่บนสวรรค์แล้วเขาจะห่วงเรา หรือว่าเราเป็นฝ่ายอยากจะให้เขากลับมาเองนะ
แต่ถ้าตอบตามเนื้อผ้านะครับ ในพระคัมภีร์เนี่ยก็มีบอกไว้เหมือนกันว่าเวลาที่ญาติสิ้นชีวิตไปแล้วไปอยู่บนสวรรค์นะ ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่พี่น้องเสมอไป บางทีเป็นเพื่อน เป็นกัลยาณมิตรที่เหมือนกับปฏิบัติธรรมมาด้วยกันนะครับ ก็มีความห่วงใยมาก บางคนเนี่ยไปอยู่ถึงพรหมโลก มองย้อนกลับมาว่า เพื่อนสหธรรมิกที่ปฏิบัติธรรมมาด้วยกันเนี่ย ยังอยู่ดี หรือว่าปฏิบัติกันย่อหย่อน มีความพากเพียรเพียงใดนะ พอเห็นเพื่อนย่อหย่อนไม่มีความพากเพียรก็ลงมากระตุ้นเตือน หรือลงมาช่วย หรือแม้กระทั่งว่านะ เพื่อนที่ปฏิบัติธรรมมาด้วยกันเนี่ย ตายไปแล้วไปอยู่ภพอื่นนะ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ยังตามไปห่วง ตามไปตักเตือน ตามไปช่วยเหลือนะครับ ในยามที่พรรคพวกเนี่ยเกิดความเห็นผิด อย่างที่ในอรรถกถาเนี่ยก็จะมีเล่าเรื่องของพระพาหิยะ ซึ่งไปปฏิบัติธรรมกับพรรคพวกสมัยนั้นเนี่ยท่านเห็นว่า พระพุทธศาสนาในยุคครั้งกระโน้นเนี่ย เสื่อมลงทุกทีเสื่อมถอยลงทุกที ก็เลยเหมือนกับพากันไปอยู่บนยอดเขา ก็ ๗ ท่านนะ แล้วก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้าหากยังไม่บรรลุอรหัตผลก็จะไม่ลงจากเขา ให้ตายไปเลยนะ ถ้าจะลงจากเขาก็ด้วยวิธีเดียวคือ สำเร็จอภิญญาได้อรหัตผลแล้วก็เหาะลงไป เนี่ยอันนี้เป็นความตั้งใจ เสร็จแล้วก็มีพระอรหันต์เกิดขึ้นได้แค่องค์เดียวหรืออะไรทำนองนี้นะ และส่วนอีกท่านหนึ่งก็ไปเป็นพระอนาคามีอยู่บนสุทธาวาสบนชั้นพรหมโลกนะครับ ก็มองย้อนกลับมาเห็นว่า พรรคพวกที่เหลืออยู่ก็กระจัดกระจายแตกตายแยกย้ายกันไปตามวาสนา แล้วก็มีท่านพาหิยะเนี่ยแหละที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์นะ แล้วก็เหมือนกับไปหลอกลวงชาวบ้านเขาด้วยการที่ไปสมมุติตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ คือเรือแตก แล้วก็เหมือนกับเสื้อผ้าหลุดลุ่ย ชาวบ้านเห็นก็นึกว่า โอ้! ว่าปลงได้แล้วนะ ไม่มีเสื้อ ไม่ต้องใส่เสื้อผ้านะ ทั้งๆที่รูปร่างหน้าตาดี ก็นึกว่าเป็นพระอรหันต์กัน ท่านเห็นชาวบ้านมากราบไหว้บูชาก็สวมรอยบอกว่า ข้านี่แหละที่เป็นพระอรหันต์จริง เพื่อนอยู่บนพรหมโลกก็มาตักเตือนนะครับว่าทำแบบนี้มันผิด มันไม่ถูกต้องนะ รวมทั้งบอกด้วยว่า พระพุทธเจ้าองค์จริงเนี่ยอุบัติแล้ว แล้วก็ให้ไปเรียนธรรมะกับท่าน นี่อันนี้ก็จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงนะครับว่า พระพุทธศาสนาชื้ให้เห็นนะ แม้ว่าจะตายไปแล้ว แล้วก็ไปอยู่บนสวรรค์หรือว่าพรหมโลก มีสิทธิ์ที่จะมีความห่วง มีความอาลัย มีความปรารถนาดีกับผู้ที่อยู่ข้างหลังนะ ทิ้งไว้บนโลกนี้ หรือแม้กระทั่งว่าจะข้ามภพข้ามชาติไปแล้ว ไปเป็นอื่นแล้ว ก็ยังตามไปดูแลได้ อันนี้ก็เป็นคำตอบนะครับ
๓) การปล่อยวาง การไม่คิดถึงสิ่งที่ทุกข์ หรือคิดถึงความทุกข์ให้น้อยที่สุด เราต้องเริ่มจากอะไรก่อน และทำยังไงให้คิดถึงเรื่องทุกข์น้อยที่สุด?
ความทุกข์ถ้าหากว่ามันเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เป็นทุกข์อย่างหนักนะ ก็ขอให้มองว่าใจเนี่ยมันยึดเรื่องนั้นๆอย่างเหนียวแน่น คือพุทธศาสนาเนี่ยนะชี้เข้ามาที่ ‘อาการของใจ’ เป็นสำคัญเลยตรงนี้นะว่าจะยึดหรือไม่ยึด
ถ้าหากว่ายังยึดอยู่ ท่านเรียกว่ามีอุปาทาน
อุปาทานเนี่ยนะในความหมายนะที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือ ‘สำคัญผิด’ ซึ่งมันก็เป็นความสำคัญผิดจริงๆ แต่โดยอาการของใจเนี่ยนะ โดยศัพท์ของอุปาทานที่ใช้ในพุทธศาสนาเนี่ย หมายถึง ‘อาการยึดมั่นถือมั่น หลงยึดมั่นถือมั่นแบบสำคัญผิด’ นะ นึกว่าอะไรนั้นเนี่ยมันเป็นของๆตัว อะไรนั้นมันเกี่ยวข้องกับตน ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ลักษณะของจิตที่มันกำอะไรอย่างหนึ่งแน่นนะ ยิ่งยึดมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิ่งที่มันไม่น่าชอบใจ มันเป็นสิ่งที่น่าขัดเคือง ยึดเข้าแล้วมันมีแต่ความทุกข์นะ
ส่วนถ้าหากว่าเรายึดสิ่งที่น่าพอใจ บุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่าข้าวของอันถูกอกถูกใจ อย่างนี้ยึดแล้วดูเหมือนกับว่ามีความสุข แต่ว่าเป็นความสุขในแบบที่จะเป็นเชื้อของความทุกข์เมื่อต้องพรากจาก
เพราะว่าพุทธศาสนานะครับบอกว่า ทุกข์อันดับต้นๆ ทุกข์อันดับหนึ่งนะ ก็คงไม่พ้นจากการพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่าสัตว์เลี้ยง หรือว่าสิ่งของที่เราพิศวาสมาก ยิ่งพิศวาสเท่าไหร่ ยิ่งมีต้นเหตุยิ่งมีเชื้อของความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น ทวีเป็นเงาตามตัวนะ พูดง่ายว่าๆ รักมากก็ยึดมาก ยึดมากก็เป็นต้นเหตุของทุกข์มากนะครับ
ถ้าหากว่าเรามองนะอาการของใจ ว่ามันยึดมั่นถือมั่นมาก แล้วมีความทุกข์มากอย่างนี้ ด้วยความเข้าใจอย่างนี้นะ แล้วเล็งไปที่อาการของจิต เราจะเห็นว่าตราบใดที่ใจมันยังมีอาการยึดอยู่ ตราบนั้นมันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่คิดถึงสิ่งที่เรากำลังยึดนะ สิ่งนั้นเนี่ยอย่างไรๆก็ต้องผลิตความคิดขึ้นมา คือตัวการยึดสิ่งนั้นเนี่ย อย่างไรนะครับก็ต้องผลิตไอ้ความรู้สึก จะเป็นสุข จะเป็นทุกข์ หรือว่าจะเป็นความคิดแย่ๆ หรือเป็นความคิดดีๆ อะไรก็แล้วแต่ มันจะยืนพื้นอยู่บนสิ่งที่เรายึดไว้นั้นนะ
อย่างเช่น ถ้าหากว่าข้าวของแตกพังไป แล้วเรายังมีใจที่ยึดอยู่กับไอ้ข้าวของนั้น ยังไงๆนะ ความคิดมันก็ต้องออกมาว่า เสียดายจัง โธ่เอ๊ย เนี่ยถ้าหากว่าไม่มีใครไปปัดตก ถ้าตอนนั้นเอาขึ้นที่สูงกว่านี้นะ มันจะมีสมมุติขึ้นมาสารพัด แล้วก็เสียดายอดีต เสียดายที่ไม่อย่างนั้น เสียดายที่ไม่อย่างนี้นะ แล้วยิ่งเกิดความเสียดาย แล้วก็ไปสมมุติมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีอาการเพ้อนะ ยิ่งมีอาการเหมือนจะคลุ้มคลั่ง มีอาการเหมือนกับว่าอยากจะย้อนเวลากลับไปให้ได้ เนี่ยตัวนี้เขาเรียกว่าเป็นทุกข์ต่อทุกข์นะ พอจินตนาการขึ้นมาถึงสิ่งที่มันล่วงไปแล้ว หรือว่าไปพยายามไปสมมุติในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้เนี่ย ใจมันก็ยิ่งมีความกระสับกระส่าย มีความเร่าร้อน มีความรู้สึกว่า เออ! มันไม่สามารถจะถอนออกไปได้ เพราะว่าเหมือนกับอาการของจิตเนี่ยนะ อาการของใจเนี่ย แทนที่มันจะค่อยๆคลายออกมาตามเวลาที่ผ่านไป มันกลับกลายเป็นว่ายิ่งคิดมันยิ่งไปผูกพัน ยิ่งไปกำให้มันแน่นขึ้น จากเดิมที่สมมุติว่า กำแน่นอยู่ ๕ ยิ่งคิดขึ้นมามากเท่าไหร่นะ มันก็กลายเป็น กำ ๖ กำ ๗ กำ ๘ กำ ๙ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งนะ กำ ๑๐ เนี่ย กำเต็มที่ กำแบบไม่มีช่องว่าง ไม่มีโอกาสให้ปล่อยออกมาเลยเนี่ย เราก็จะรู้สึกถึงนะความยึดมั่นเหนียวแน่นจนเกินกว่าจะถอดถอนออกมาได้ ถึงตรงนั้นเนี่ย เรามาถามหาวิธีเนี่ย ดูเหมือนกับว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
เอาล่ะ แต่ถ้าหากว่าดูจากหลักการเจริญสติของพุทธศาสนาเนี่ย ท่านให้ทำอย่างไรนะครับ ก่อนอื่นเลย เราทำความเข้าใจง่ายๆนะว่า ทุกข์หรือว่าไอ้อาการที่มันมีความกระสับกระส่าย มีความร้อน มีความไม่สามารถที่จะอยู่เย็นได้ของจิตเนี่ยนะ เป็นเพราะว่า ยึดเปล่าๆแล้วเกิดความรู้สึกว่า มันทุกข์ไปเปล่าๆ ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น อันนี้คือทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก่อนนะครับ นี้ผู้ถามถามถึงว่า ต้องเริ่มจากอะไร? ต้องเริ่มจากความเข้าใจ เพราะว่าหากไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตแล้วเนี่ย มันก็จะไม่มีลำดับการปฏิบัตินะที่จะถูกฝาถูกตัว ส่วนใหญ่จะไปเริ่มกันจากอุบายนะ ให้คิดอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้ ซึ่งมันเป็นการเหมือนกับปลอบประโลมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจว่าทั้งหลายทั้งปวงมันมีแค่จิตยึดกับจิตปล่อย มีอยู่แค่ ๒ อย่างนี้นะ เราก็จะได้หลักการปฏิบัติ แนวทางการปฏิบัติที่เป็นสากล ใช้ได้ตลอดชีวิตที่เหลือนะ
หลังจากที่เราเข้าใจได้แล้วว่าจิตมีแต่ยึดกับปล่อย เราก็ตั้งคำถาม ตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรจิตมันถึงจะมีอาการปล่อย มีอาการคลาย พระพุทธเจ้าตรัสนะว่า อนิจจสัญญาหรือว่าไอ้ความเห็นว่าไม่เที่ยงสามารถครอบงำความสุข ความทุกข์ทั้งปวง หรือแม้กระทั่งอุปาทานสำคัญมั่นหมายผิดๆนะ คือพูดง่ายๆว่าอาการยึดมั่นถือมั่นเนี่ยนะ มันจะสู้อาการเห็นความไม่เที่ยงไม่ได้ ถ้าจิตเห็นอยู่ ถ้าจิตจดจ่อเห็นความไม่เที่ยงไม่เท่าเดิม ไม่ว่าจะเห็นอะไรก็แล้วแต่นะ ไอ้อะไรอย่างนั้นเนี่ยมันจะคลายออก
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราสังเกตอยู่ว่า เรามีความทุกข์ เรามีความอึดอัดในนาทีนี้ สมมุติ สมมุติว่าบอกตัวเองว่า ยึดมากทุกข์มาก ลองสังเกตว่านาทีต่อไปนะ คือนึกขึ้นมาเล่นๆดู มาเล่นๆว่า มันยึดเท่าเดิม มันทุกข์เท่าเดิม หรือว่ามันน้อยลง การที่เราค่อยๆเห็นไปทีละนิด ทีละนิดนะ สังเกตเข้ามาว่าอาการยึด อาการแน่น อาการเค้น อาการเหมือนกับโศกเศร้า อยากคร่ำครวญ หรือว่าอยากที่จะรินน้ำตาออกมาเนี่ย มันมีไม่เท่าเดิมในแต่ละนาที เราจะค่อยๆเกิดปัญญา ตัวปัญญาเนี่ยที่เห็นว่ามันไม่เที่ยงเนี่ยนะ จะทำให้จิตเกิดอาการคลาย คือมันจะรู้ขึ้นมาเองว่ากำ กำอยู่เหมือนมือกำอะไรเปล่าๆเนี่ยนะ เป็นอาการอย่างหนึ่ง แล้วพอกำไปแล้ว เออ!ไอ้ของที่กำอยู่มันไม่เที่ยงเนี่ย มันเหมือนกับกำก้อนอะไรที่มันเปลี่ยนรูปได้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆแล้วจะกำไปทำไม มันก็จะมีอาการเหมือนกับปล่อยมือ คลายมือออกมาตามธรรมชาติ ธรรมดาของจิตที่ฉลาดขึ้นนะครับ อันนี้ก็ขอให้ลองดูก็แล้วกัน แค่ลอง แค่นี้แหละว่าสังเกตความยึดนะว่ามันมากหรือว่ามันน้อย ถ้าสังเกตเป็นนาทีได้ ก็สามารถจะสังเกตเป็นลมหายใจได้ แต่ละลมหายใจเนี่ย ความยึดไม่เท่ากันนะครับ
เอาล่ะคืนนี้ คงต้องลากันที่ตรงนี้ สวัสดีราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น