วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๖ / วันที่ ๕ ก.พ. ๕๕


สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง และเพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks ครับ คืนนี้เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลานะครับ เรามาดูคำถามแรกกันเลยก็แล้วกัน



๑) การนั่งสมาธิหรือปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการสั่งสมกำลังใจ เพื่อที่จะนำไปตัดกิเลสใช่ไหมครับ? ถ้าเราดูหนัง ฟังเพลง หรือทำผิดศีล จะเป็นการลดทอนกำลังใจลงไหม?

การนั่งสมาธินี่นะ จริงๆแล้วเป็น ความสงบนะครับ เป็นการเอาความสงบ เพื่อที่จะทำให้กิเลสที่หยาบๆทั้งหลายระงับลงชั่วครู่ เพื่อที่จะเอาสมาธิที่ได้มานั้น มารู้ต่อ มา รู้ตามจริงว่า ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งในกายในใจนี้เลย ที่มีความเที่ยง หรือมีอะไรที่เป็นหลักฐานของความมีตัวตน มีแต่หลักฐานของความไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น นี่คือจุดประสงค์เริ่มแรกที่เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนนะครับ

เมื่อเข้าใจว่าจะทำสมาธิไปทำไม ในที่สุดเราก็จะทำสมาธิไปเพื่อ เจริญสติ ให้มีความเข้าใจอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่เข้าใจด้วยมุมมอง แต่เข้าใจด้วยการหยั่งซึ้งถึงความจริงในกายใจตัวเองว่า ไม่มีอะไรที่เที่ยง ไม่มีอะไรที่ใช่ตัวตน ตัวนี้คือจุดประสงค์หลักนะครับที่ต้องทำความเข้าใจกัน

คำถามก็คือว่า ถ้าหากเราไปเอากิเลสมาเข้าสู่จิตสู่ใจ จะเป็นการบั่นทอน จะเป็นการลดทอนกำลังรึเปล่า?’ อันนั้นแน่นอนครับ เราดูนะว่า การปฏิบัติธรรมหรือการเจริญสติแบบพุทธ ไม่ได้เอาตรงแค่มีสมาธิ มีสติ หรือเอาความรู้นะ ท่านยังบอกด้วยว่า เพื่อที่จะทำทางให้สมบูรณ์แบบ เราต้องดูกันที่องค์มรรค ว่ามีครบ ๘ ประการรึเปล่า

หนึ่งในองค์มรรคนั้นก็คือ มีดำริที่จะออกจาก กาม มีดำริที่จะออกจาก  ความติดใจทั้งหลายทั้งปวง เพราะว่าที่สุดของการเจริญสติปฏิบัติธรรมกรรมฐานคือ การ เลิกติดใจในภาวะของกายใจ สามารถเห็นตามจริงได้

คือพอ เลิกติดใจ ก็จะมีความสามารถที่จะ เห็นตามจริง เห็นแจ้ง เห็นประจักษ์ ว่ากายใจมีความ ไม่เที่ยง  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อะไรที่น่าเอา ไม่ใช่อะไรที่น่ายึด

ที่นี้ถ้ายังดำริในกาม ยังติดใจในกามอยู่ โอกาสที่เราจะมีความปลอดโปร่งมากพอที่จะเห็นตามจริงว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง กายใจนี้ไม่ใช่ตัวตน มันแทบจะเป็นศูนย์เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ราคะ โทสะ โมหะ กำลังครอบงำจิตใจของเราอยู่เต็มๆ โอกาสที่จะเห็น โอกาสที่จิตจะเปิดออกรับความจริงนั้นยากมาก ถึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหนึ่งในองค์มรรค ท่านถึงบอกว่าต้องดำริที่จะออกจากกาม เห็นกามเป็นโทษ โดยความเป็นโทษ

ที่นี้การที่เราจะเป็นฆราวาส แล้วก็ดำริออกจากกามด้วย มันยาก ยกเว้นแต่เป็นฆราวาสที่เบื่อ เบื่อหน่ายชีวิตแบบโลกๆแล้ว พร้อมอยู่ตลอดเวลาที่จะไปบวชแล้ว หรือตั้งใจไว้แล้วล่ะ มีการเคานต์ดาวน์ไว้เรียบร้อยเลย หกเดือน หนึ่งปี สองปี สะสางอะไรเรียบร้อยแล้ว หรือตกลงกับญาติพี่น้องไว้เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าพ่อแม่สิ้นแล้วนะ หรือว่าภาระตรงนี้ ลูกเต้าเลี้ยงจนกระทั่งเขาโตแล้วนะ เราจะไปบวช ปลอดโปร่งโล่งใจแล้ว ตกลงกับทุกฝ่ายได้ ทุกฝ่ายยินดี แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นการเคานต์ดาวน์เตรียมตัว ซึ่งถ้าหากว่าดูคนประเภทนี้นะ ระหว่างที่เขาเตรียมตัวบวชจริงๆ ก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการคลุกคลีเรื่องของกิเลสทั้งหลาย การบันเทิงทั้งหลาย เพื่อที่จะเตรียมพร้อมความเป็นพระ พูดง่ายๆ เป็นพระก่อนที่จะบวช

แต่ที่นี้ถ้าหากว่าเรายังติดใจอยู่ ตัดสินใจอยู่ว่าจะเป็นฆราวาสไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีเป้าหมาย ไม่ได้มีทิศทางชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วเราจะบวชแบบนี้นะครับ คือต้องทำความเข้าใจกันนิดนึงว่า การเจริญสติหรือปฏิบัติธรรมกรรมฐานในขณะที่อยู่ในเมือง ครองเพศฆราวาสแบบนี้ เป็นไปเพื่อที่จะทำให้สติมีการสั่งสมตัวขึ้นไปทีละนิดทีละหน่อย วันละนิดวันละหน่อย ไม่ใช่จะเอาทางตรง แต่เป็นทางแบบที่ว่า เดินบ้างพักบ้างนะครับ

สรุปก็คือ การที่เราจะไปเกลือกกลั้วกับการบันเทิง ไปดูหนังฟังเพลง หรือทำอะไรที่ผิดศีลยิ่งแล้วใหญ่เลยนะ การดูหนังการฟังเพลงแต่ละครั้ง จะทำให้เรามีอาการยึดติดอยู่ว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้น่าชอบใจ สิ่งนี้น่าหวงไว้ อันนี้ไม่ใช่ในระดับของการ คิด แต่เป็นระดับของ จิตเลยทีเดียว ว่าเราจะยึดไว้ จิตเขาจะมีอาการแบบนั้น ไม่ใช่ความคิดของเรานะ แต่เป็นอาการของจิตเลยทีเดียว ที่คว้าไว้ไม่ปล่อย

ยิ่งถ้าเกิดผิดศีลนะ มันไม่ใช่แค่ยึดไว้เฉยๆ แต่สภาพของจิตเองจะมีความมัวหมอง ธรรมชาติของการผิดศีลจะทำให้จิตมัวหมอง จะทำให้จิตมีความกระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปในทางมืด จะทำให้จิตเหมือนกับมีม่าน กั้นขวางระหว่าง ตัวเอง กับ ความจริง

สังเกตดูเถอะ คนโกหกเก่งๆ จะไม่ค่อยรับรู้อะไรตามจริงได้ง่ายๆ จะรู้สึกว่าตัวเองฉลาด จะรู้สึกว่าคนอื่นเขาโง่กว่าตัวเองหมด เพราะตัวเองหลอกคนอื่นเขาได้นี่ ก็เห็นเป็นไอ้หน้าโง่ไป ทั้งๆที่จริงๆเขาไม่ได้โง่ แต่เขาตามไม่ทัน เพราะว่าเรายังแนบเนียน สีหน้าสีตายังเป็นมนุษย์มนาอยู่

แต่ถ้าเมื่อไรที่หน้าตาจอมโกหกเบ่งบานเต็มที่แล้ว เอาหน้าไปให้ใครเขาดู เขาก็รู้สึกไม่อยากเชื่อถือแล้ว ไม่ต้องพูดเลย ไม่ต้องมาแสดงหลักฐานอะไรกัน ยังไม่ทันอ้าปาก เห็นลิ้นไก่ก่อนเลยนะครับ

แล้วตัวจิตตัวใจของคนที่โกหกเก่งๆ ก็จะดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องหลอกไปหมด พวกนี้นะ ตามคำถามนะ ถ้าหากว่าทำผิดศีลจะเป็นการลดทอนกำลังใจลงไหม?’ มันไม่ใช่แค่การลดทอนกำลังใจอย่างเดียว แต่จะทำให้ใจ ไม่มีความสามารถที่จะเห็นตามจริงได้เลยทีเดียว สังเกตเถอะ คนที่ผิดศีลมากๆ พอพูดถึงธรรมะปุ๊บ หันหน้าหนีเลย อย่าว่าแต่จะมาฟังว่าเขาปฏิบัติธรรมกันอย่างไรนะครับ



๒) อยากเลิกแต่งตัวโป๊ แต่ทำไม่ได้ ทำอย่างไรดี?

(บางทีใส่ขาสั้นธรรมดาคนก็มอง)

ก็มีเส้นทางอยู่จริงๆนะ คือสำหรับบางคนเท่าที่เห็นมา จะมีลักษณะแบบหนึ่ง ต่อให้ไม่ได้แต่งโป๊ ไม่ได้หวือหวา แต่ด้วยแค่ว่าใส่ขาสั้น มีแค่เรียวขาโผล่ออกมา คนก็จะรู้สึกว่ามีแรงดึงดูดสายตาอย่างจังเลย ออกมาจากผู้หญิงคนนั้นนะครับ หรือบางทีใส่เสื้อมิดชิดหมดทุกอย่าง แต่ก็จะทนสายตารบกวน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกมองเป็นวัตถุทางเพศ ผู้หญิงหลายคนเลยจะรำคาญสายตาแบบนี้มาก

แต่ปัจจุบันเหมือนกับโลกหมุนไป และถูกเหวี่ยงไปอีกข้างหนึ่ง คือเด็กผู้หญิงที่โตมาในยุคปัจจุบัน เหมือนจะเคยชินมากๆเลย กับการเห็นดารานางแบบ โดยเฉพาะคนดัง คนที่ได้ตังค์กันเยอะๆ จะแต่งตัวหวือหวา แทบจะไม่ได้ใส่เสื้อผ้าอยู่แล้ว เห็นกันมาแต่อ้อนแต่ออก พ่อแม่ดูหนังดูละคร ก็เห็นอยู่ตรงนั้นแหละ โตขึ้นมาก็เจอเพื่อนที่เห็นดีเห็นงามตามกัน ประกวดประชันกันนะครับ

อย่างเมื่อล่าสุดที่เพิ่งออกมาเป็นข่าว มีเด็กมัธยมจับกลุ่มกันในห้องเรียน มีการเปลือย เพื่อที่จะอวดกัน แข่งกันว่าใครดีกว่ากัน ตอนนี้กลายเป็นอย่างนั้นไปว่า คนที่ไม่อาย ก็จะกลายเป็นพวกที่นึกว่าเป็นของดี ที่จะเอามาอวดกัน ส่วนคนที่อยู่ในแวดวงของคนที่อยากจะพ้นทุกข์ ก็จะรู้สึกว่า เรื่องของกิเลส เรื่องของราคะตัณหา ที่ส่งมาจากผู้ชายที่หื่นกระหาย เป็นเครื่องรบกวนจิตใจอย่างยิ่ง

ตรงนี้ เราก็ขอให้ลองมองอย่างนี้แล้วกัน นี่มองจากประสบการณ์ที่ได้เห็นผู้หญิงหลายๆคนนะ ที่ช่วงแรกๆ มีความเรียกร้องทางเพศค่อนข้างสูง หมายความว่า ปรากฏตัวที่ไหน ผู้ชายก็จะจับจ้องมอง ด้วยสายตาแบบเรียกว่า ไม่มองด้านอื่นล่ะ มองความเซ็กซี่อย่างเดียว ทีนี้พอมาสนใจ ได้มาปฏิบัติธรรม ได้มาถือศีล ได้มาตั้งใจอะไรดีๆในแบบที่พุทธศาสนาสอนไว้ สังเกตอย่างหนึ่งนะ ลักษณะของการเรียกร้องทางเพศตรงข้ามจะลดลงเรื่อยๆ เพราะอะไร? เพราะว่าความสะอาด ความสว่างที่ออกมาจากใจ ที่มีแต่ความคิดให้ มีน้ำใจ แล้วก็มีศีล มีความตั้งใจที่จะงดเว้นบาปอย่างเด็ดขาดนะครับ ตลอดจนกระทั่งการพิจารณาเห็นกายใจโดยเป็นของไม่เที่ยง มันจะผลิตความรู้สึกหรือกระแสความสว่างออกมาอีกอย่างหนึ่งคือ คนเห็น พอกระทบใจ ความรู้สึก ว่างจากกิเลส หรือความรู้สึกสว่าง ที่พูดง่ายๆว่า ชนะอิทธิพลของรูปทรงที่ดูเซ็กซี่ของตัวเอง ทำให้ใจคนเห็นเกิดความรู้สึกอีกด้านหนึ่ง ไม่มองรูปภายนอกอย่างเดียว แต่จะใช้ใจสัมผัสความรู้สึกถึงอะไรที่ละเอียดอ่อนกว่านั้น มีความสว่างมากกว่านั้น

ความสว่างความสะอาดของใจนี่นะ ถ้าหากว่าสะสมมากแล้ว คนเห็นจะพลอยมีความรู้สึกสว่างตามไปด้วย พลอยมีความรู้สึกที่ดี พลอยมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนตามไปด้วย และเกิดความเกรงใจ ไม่ได้อยากจะมุ่งมองในเรื่องความเซ็กซี่อย่างเดียว ไม่ได้มองทรวดทรงองค์เอวอย่างเดียว ตรงนี้ก็จะช่วยลดทอนทั้งตัวเราเองที่เคยติดใจกับการอวดเนื้อหนัง คือบางทีเป็นความเคยชินที่สั่งสมมา อาจจะตั้งแต่ไหนแต่ไร แล้วก็จะทำให้คนที่เขามองเราเข้ามา มองด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง อันนี้ต้องพูดให้เคลียร์ชัดเจนนะ คือไม่ใช่ว่าจะไปตัดความรู้สึกทางเพศที่เกิดกับผู้ชายที่มองเข้ามา ไม่ใช่ถึงขนาดนั้น แต่ว่าจะมีอะไรเพิ่มเข้ามาที่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่อยากมองเรา ไม่ได้มุ่งอยากมองเราในเรื่องของความเซ็กซี่อย่างเดียว แต่จะมีเรื่องของความสบายใจ จะมีเรื่องของการยกระดับจิตใจ ที่ทำให้เขามองเราหรือคุยกับเราอย่างให้เกียรติ อย่างรู้สึกว่า น่าจะเห็นเราสะอาดกว่านั้น น่าจะรู้สึกกับเราสะอาดกว่านั้น นี่คือในระดับของผู้ชายปกติทั่วไปที่ยังไม่ได้หมดศีลธรรมจรรยา ส่วนพวกที่เขาคิดแต่แบบนั้นเรื่องเดียวเลยทั้งชีวิต อันนั้นช่วยไม่ได้ เขาก็คงยังคิดต่อไปนะครับ

สรุปแล้วก็คือ เพื่อที่จะให้ตัวของเราออกห่างมาจากวงจรของการยั่วยวนสายตานะครับ อาจจะไม่ได้เน้นกันเรื่องของการแต่งกายประการเดียว แต่ต้องดูเรื่องของใจด้วยว่า ใจของเรานี่นะ บางทีไปเผลอที่จะดึงดูดใครมามองหรือเปล่า มันมีความเป็นไปได้นะ ลองสังเกตดู คนที่เป็นผู้หญิงจะมีความรู้สึกอยู่ว่า ถ้าเราเดินไป แล้วมีสายตาสนใจเข้ามา สนใจแบบไหน ถ้าหากว่าเป็นความสนใจความสวยความงามจะแบบหนึ่ง มองเฉยๆ แต่ถ้าสนใจมากกว่านั้น จะมีความรู้สึกรบกวนที่ทำให้เราขยะแขยง หรือทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ที่จะมีคลื่นรบกวนแบบนั้นเข้ามา แต่ถ้าหากว่าจิตใจของเราโน้มน้าว โน้มน้อมไปในทางที่จะมีน้ำใจกับคนทั่วไป ไม่ถือสา และให้อภัยคนได้ง่ายๆ จิตใจค่อนข้างจะมีความชุ่มชื่นความชุ่มเย็นจากการให้ทาน และก็มีความสะอาดจากการรักษาศีล ตลอดจนกระทั่งรู้จักลองเข้ามาสังเกตดูบ้าง หายใจแต่ละครั้ง มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น ไม่เห็นมีอะไรที่จะน่าบอกเลยว่าเป็นตัวเป็นตน พอใจเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ว่า อะไรๆ มันไม่เที่ยง ใจที่ว่างนั้น จะเกิดกระแสคลื่นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราจะรู้สึกเลยว่าส่งออกมาจากตัวเรา คือ คลื่นความว่างจากกิเลส เป็น สุญญากาศของกิเลส พอมีความว่างที่กระจายจากตัวเราออกไปเต็มที่แล้ว เราจะรู้สึกเลยว่า สายตาที่มองเข้ามา ไม่ใช่มองเข้ามาด้วยความน่ารังเกียจ หรือความน่าขยะแขยงแบบเดิมๆนะครับ



๓) ทำอย่างไรจะบรรลุธรรมภายใน ๗ ปี?

(ถาม – ที่หากว่าได้ปฏิบัติธรรมเจริญ สติปัฏฐาน ๔อย่างเต็มที่ จะบรรลุธรรมภายใน ๗ ปีนั้น สภาวะแบบไหนที่ถือว่าเริ่มต้นนับหนึ่งได้แล้ว?)

ถ้าเอาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนะครับ พระพุทธเจ้าตรัสใน มหาสติปัฏฐานสูตรว่า ผู้ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเพศไหนวัยใด ถ้าหากได้ปฏิบัติธรรม เจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ประการนี้แล้วอย่างเต็มที่ คือต้องเอาแบบที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้นะ ถึงจะได้รับการประกันจากท่าน บอกว่าถ้าหากใครผู้ใดก็ตามที่เจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ประการนี้อย่างเต็มที่ อย่างช้าที่สุดถ้าบุญน้อย บุญเก่ามีอยู่น้อย เจ็ดปีจะต้องได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถึงที่สุดของความทุกข์ แต่ถ้าหากว่าบารมีค่อนข้างจะน้อย อาจจะได้เป็นพระอนาคามีภายในเจ็ดปีก็ได้ หรือถ้าหากว่ามีอินทรีย์แก่กล้ามาแล้ว มีบุญเก่าเยอะ อย่างกลางก็ประมาณเจ็ดเดือน แล้วถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าสูงสุดเลย เป็นพวกที่ว่าปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานทั้งสี่ประการแล้ว ดูกาย เวทนา จิต ธรรม โดยความเป็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนแล้ว เจ็ดวันเท่านั้นก็สามารถที่จะบรรลุเป็นอรหันต์ได้ อันนี้ไม่ใช่เรื่องบรรลุเป็นโสดาฯ สกทาคาฯ ไม่ใช่นะ บรรลุถึงขั้นที่ว่าสิ้นกิเลส พ้นทุกข์ ถึงที่สุดทุกข์เลยทีเดียว นี่คือคำรับประกันจากพระพุทธเจ้าที่รู้ดีที่สุดในอนันตจักรวาลนี้

ที่นี้คำถามก็คงจะหมายถึงว่า ถ้าจะเริ่มนับตรงที่จะได้รับคำประกันจากพระพุทธเจ้าว่า อย่างช้าที่สุดอย่างไรก็ไม่เกินเจ็ดปี เราจะนับกันตรงไหน? คิดว่าคงเข้าใจคำถามถูกต้องนะครับ

ก็คือ เราจะต้องมี ความเข้าใจในเรื่องของหลักการอย่างชัดเจนนะครับว่า ที่ท่านให้เจริญสติปัฏฐานนั้น เจริญกันอย่างไร? พูดง่ายๆ ต้องมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ แล้วก็มีการเพียรพยายาม มีการลงมืออย่าง จริงจังตามแนวทางของ สติปัฏฐาน ๔

ยกตัวอย่างเช่น ขึ้นต้นมาที่พระพุทธเจ้าให้สังเกตว่า จะตั้งสติ นับกันตรงไหน? นับกันตรงที่ว่า หายใจเข้ารู้ไหม หายใจออกรู้ไหม เมื่อไรที่หายใจยาวรู้ไหม เมื่อไรที่หายใจสั้นรู้ไหม แล้วพอรู้ไปเรื่อยๆ จิตเขาจะปฏิรูปตัวเองออกมาเป็น ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เฝ้ามองอยู่ว่า ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น ตัวของจิตที่ปฏิรูปตัวเอง พัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง มันจะเป็นตัวตั้ง

ถ้าหากว่าจะเอาตัวคำถามว่า ตัวตั้งอยู่ตรงไหน? ผมขอให้เอาตรงนี้ก็แล้วกัน พอมีสัมมาทิฏฐิแล้ว เข้าใจหลักการแล้ว แล้วก็สามารถที่จะดูลมหายใจได้ ซึ่งเท่าที่ผมเห็นมา ประเภทที่ไม่เคยมีทิฏฐิ หรือไม่เคยปักใจว่าจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้มาก่อน พอได้มาลองฝึกดู แค่ครั้งเดียว ก็สามารถที่จะเห็นว่า ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น และจิตสามารถที่จะปฏิรูปตัวเองจาก ผู้คิดมาเป็น ผู้รู้ว่า กำลังมีลมหายใจเข้าบ้างออกบ้าง มีลมหายใจสั้นบ้างยาวบ้าง แล้วจิตจะถอยออกมาเป็นผู้ดู ดูอยู่ว่า จิตก็ส่วนหนึ่ง ลมหายใจ กองลมทั้งปวงก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

คำว่า กองลมทั้งปวงหมายความว่า เดี๋ยวมันก็ยาวเดี๋ยวมันก็สั้น เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก อย่างนี้เรียกว่า กองลมนะครับ

ส่วน จิตเหมือนเขาดูอยู่เฉยๆ ไม่ได้มีความเป็นตัวลมหายใจ หรือว่าไม่ได้มีความรู้สึกเป็นผู้หายใจ ตัวนี้เรียกว่า จิตถอยออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูลมหายใจ ขอให้นับตรงนั้นแหละเป็นตัวตั้ง คือ มีความสามารถที่จะดู

และ มีความสามารถที่จะดูนั้น เริ่มขึ้นมาได้อย่างไร? เริ่มขึ้นมาจากการทำความเข้าใจ มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้าว่า ท่านบรรลุธรรมจริง และ ท่านมาสอนธรรมที่ถูกต้อง เราทำตามด้วยใจที่สวามิภักดิ์ ด้วยใจที่ศิโรราบให้ ด้วยใจที่ไม่คิดเป็นอื่น ด้วยใจที่ พิจารณาแล้วอย่าง มีเหตุมีผลว่า ท่านตรัสมาถูกต้อง ถ้าหากว่าดูลมหายใจ ถ้าหากว่าดูโดยความเป็นอิริยาบถ โดยความเป็นสุขทุกข์ โดยความเป็นภาวะของจิตใจ เห็นว่ามันไม่เที่ยงทั้งหมด ในที่สุดก็ต้องเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่ใช่ตัวเราจริงๆด้วย พอทำใจไว้ก่อน ปักใจไว้ก่อนตั้งแต่แรก พอลงมือทำจริง ก็เห็นตามนั้น พอเห็นตามนั้น เริ่มมีจิตที่มีความสามารถ เริ่มเห็นว่ากายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนนั่นล่ะครับ ขอให้นับเป็นวันที่หนึ่ง



๔) เวลาทำงานที่ต้องคิดเยอะๆ ควรปล่อยให้คิดไปเลยอย่างเต็มที่ หรือควรต้องมีสติคอยรู้ตัวบ้าง?

(ถาม – เวลาทำงานที่ต้องคิดเยอะๆ เช่นอ่านหรือเขียนหนังสือ ควรจะปล่อยใจให้คิดไปเลยอย่างเต็มที่ หรือว่าควรต้องคอยรู้ตัวบ้างคะ? บางทีอ่านหรือเขียนหนังสือ จะจมไปกับงานเป็นชั่วโมงๆเลย ควรต้องแก้ไขหรือไม่?)

ขอบอกอย่างนี้ก็แล้วกันนะว่า อ่านหนังสือหรือเขียนหรือทำงาน ขอให้สังเกตไปก็แล้วกัน สังเกตเอาตอนที่เราเริ่มรู้สึกเครียดขึ้นมา หรือเริ่มรู้สึกฟุ้งซ่านมากๆขึ้นมา ไม่สามารถอ่านงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่อยู่แล้ว ก็เอาเวลาช่วงนั้นแหละ มาเจริญสตินิดหนึ่ง

คือแค่ รู้ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายกำลังเกร็งอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ฝ่าเท้า จะเห็นชัดที่สุดเลยในเวลาที่คุณฟุ้งซ่าน ในเวลาที่คุณเคร่งเครียด ฝ่าเท้าจะเป็นฟีดแบคที่ชัดเจนที่สุด

ถ้าหากว่ารู้ว่า ฝ่าเท้าฝ่ามือกำลังเคร่ง กำลังเกร็ง ลองคลายออกดู คุณจะรู้สึกทันทีว่า จิตใจผ่อนคลายลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเลย นั่นเรียกว่าเป็น การเจริญสติ แล้ว คือรู้ตัวว่ากำลังเครียด กำลังฟุ้งซ่าน กำลังมีอาการที่ไม่พร้อมจะทำงานอยู่แล้ว แล้วจะทนฝืนดันทุรังทำงานต่อไปทำไม ขอเวลาแค่ห้าวินาทีสิบวินาที มีความ รู้ตัว ว่าเรากำลังเกร็งอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง จะเป็นเท้าก็ดี จะเป็นมือก็ดี หรือว่าจะเป็นหัวไหล่ หรือต้นคอ หรือที่ใดก็แล้วแต่ แต่ที่ดูง่ายที่สุดคือที่ฝ่าเท้า

ถ้าหากว่าสามารถรู้ว่า ณ ขณะหนึ่ง ฝ่ามือฝ่าเท้ากำลังเคร่งกำลังเกร็งอยู่ แล้วเราคลายออก จากนั้นหายใจเข้าหายใจออกนิดหนึ่ง ให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย จะสามารถกลับมาทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม

แต่ขอให้จำไว้ว่า ในขณะที่คุณเริ่มต้นทำงาน กำลังทำงานอยู่ อย่ามัวแต่มองย้อนเข้ามาเรื่อยๆว่า ตอนนี้จิตใจของเรากำลังเป็นยังไง เรากำลังฟุ้งซ่านมากไหม เรากำลังมีสติอยู่หรือเปล่า ใจเหม่อลอยไปรึเปล่า แบบนั้นเรียกว่าเป็นการจับปลาสองมือ เหยียบเรือสองแคม ถ้าหากว่าเราเคยชินกับการเจริญสติในลักษณะนั้น ในที่สุดจะไม่ได้อะไรสักอย่างเดียว ทั้งทางโลกและทางธรรม

ทางที่ดีที่สุดคือ ทำงานให้เต็มที่ ทำงานอย่างมีสมาธิ แต่ว่าเราดูด้วยระหว่างทำงาน มีอาการที่เป็นส่วนเกิน มีอาการที่ผิดปกติจากที่ควรหรือเปล่า สิ่งที่ควรก็คือ กายควรจะผ่อนพักสบาย เป็นฐานรองรับให้จิตมีสมาธิเต็มที่กับงาน ส่วนจิตใจต้องไม่เพ่ง ต้องไม่มีอาการเคร่งเครียดมากเกินไป ในขณะเดียวกันต้องไม่เหม่อลอยไปด้วย

ถ้าหากว่าเราทำงานไป แล้วรู้สึกเหม่อลอย อันนี้ต้อง รู้สึกตัว แล้วหันมารู้สึกตัวว่า กำลังเหม่อลอย มีอาการเหมือนลูกโป่งที่พร้อมจะลอยขึ้นฟ้า

หรือถ้าหากว่ามันเคร่งเครียด เป็นการขันเกลียวเชือกแบบนี้ เราก็ควรจะต้อง รู้และสังเกตดูเลยง่ายๆฝ่าเท้าฝ่ามือกำลังมีอาการ เกร็งหรือเปล่า มีอาการ งองุ้มรึเปล่า ถ้าหากเราผ่อนคลายส่วนใดส่วนหนึ่งที่กำลังเกร็งอยู่ รู้สึกใจสบายขึ้น นี่เรียกว่าเป็น การเจริญสติระหว่างทำงานได้

แล้วก็นิสัยที่เรา เคยชินที่จะ สั่งสมการเจริญสติในระหว่างทำงาน จะปรากฏชัดตอนที่เรามีความเคยชินแล้วที่จะเห็นตัวเองกำลังเครียดแล้วผ่อนคลายได้ทันที

มันจะไม่มีความเครียดสั่งสม มันจะมีแต่ความรู้สึกว่าทำงานแล้วสนุก อ่านหนังสือแล้วสนุก เพราะจิตใจเนี่ย มันมีความปลอดโปร่ง มันมีความเต็มที่กับสิ่งที่กำลังจดจ่ออยู่ มันมีความรู้สึกว่า เออ ใจของเราเนี่ยพัฒนาขึ้นทุกวันๆ


เอาล่ะครับ คิดว่าคงต้องล่ำลากันในเวลานี้ครับ เหลือเวลาอีกประมาณครึ่งนาที เดี๋ยวผมเปิดเพลงให้ฟังกันดีกว่านะครับ สำหรับวันนี้ขอบคุณนะครับที่ติดตามฟังกัน ราตรีสวัสดิ์นะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น