วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๑๐ / วันที่ ๓ ต.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันพุธที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง วันนี้ก็เลทนิดนึง เพราะว่ามีปัญหาคอนเนคชันกับ Spreaker.com นะครับ เมื่อครู่นี้ พอจะต่อเข้าไปตอน ๓ ทุ่ม เกิดต่อไม่ได้ขึ้นมาซะอย่างนั้นนะ ต้องเลทไปประมาณ ๕ นาที ก็ขออภัยด้วย สำหรับท่านที่จะไถ่ถามเข้ามาในรายการ ก็เข้ามาที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks นะครับ



๑) ความศรัทธาชื่นชอบในบางสิ่ง หรือในตัวบุคคล ที่สะสมแล้วแปรเปลี่ยนเป็นความรัก ความหลงใหลเสน่หา ควรจัดการกับจิตตัวนี้อย่างไรดี?

ในตัวความชื่นชม ตัวความนิยมเนี่ยนะ มันมีความหลงใหลแฝงอยู่แล้วนะครับ แล้วลักษณะของความหลงใหลเนี่ย มันก็แยกออกเป็นหลายระดับนะ แม้แต่อย่างผู้ที่มีความศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ยนะ ก็เคยมีบอกไว้ในพระไตรปิฎกนะครับว่า มีพระรูปหนึ่ง วันๆไม่ได้ศึกษาธรรมะ หรือว่าพยายามที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ แต่ว่าเฝ้าจ้องมอง แล้วก็มีความนิยมชมชื่นในรูปโฉมของพระพุทธเจ้านะ ก็อันนี้คือเป็นผู้ที่มีความศรัทธา แล้วก็มีไอ้ตัวความยินดีในพระมหาปุริสลักษณะนะครับ ที่มีความงามสง่ามากๆของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ต้องพิจารณานะว่า กายนี้ พระกรัชกายของพระองค์เนี่ย จริงๆแล้วไม่ได้มีอะไรที่น่านิยมชมชื่นเลย เป็นเพียงสิ่งที่ล่อตา ล่อใจ ให้หลงผิวภายนอกนะครับ แต่ถ้าหากว่าดูเข้าไปถึงข้างในแล้ว มันเต็มไปด้วยคูถมูตร มันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกนะ แออัดยัดเยียดตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้านะครับ ถ้าหากว่าพิจารณาอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะละ สามารถละความหลงติดยินดีในรูปได้อย่างแน่นอนนะ ถึงแม้ว่าจะมีความหลงใหลในเชิงอื่นอย่างไรก็ตามเนี่ยนะ ยังไงเนี่ย ไอ้ตัวความรู้สึกถึงความจริง เกี่ยวกับความน่ารังเกียจของสิ่งปฏิกูลในร่างกายเนี่ย ก็จะทำให้ไอ้ความหลงใหลพิศวาสเนี่ย มันหายไป มันจางหายไปได้เองนะครับ เพราะว่าสิ่งที่เราจดจำเกี่ยวกับบุคคลเนี่ย มันเป็นภาพๆเดียว เป็นมโนภาพของตัวเขานะ ถ้าหากว่ามโนภาพของตัวเขาหรือตัวท่าน มีความเป็นบวกอยู่ เราก็จะยังติดหลงอยู่ แต่ถ้าหากว่ามโนภาพเกี่ยวกับตัวท่านนะ มันคล้ายๆกับเรานึกถึงส้วม เรานึกถึงไอ้สิ่งปฏิกูลที่เป็นศพนะครับ ที่เป็นซากเน่า ซากหนอนเนี่ย ก็จะกลายไปเป็นไอ้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง อันนี้เป็นทางเดียวที่ในทางพุทธสอนไว้นะครับ นอกจากนั้นก็ให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง ซึ่งลักษณะของความไม่เที่ยงเนี่ย บางทีมันอาจจะไม่สามารถเอาชนะความพิศวาสได้นะครับ ก็ใครจะทำหรือไม่ทำเนี่ย หรือว่าใครจะมีกำลังใจ ในการเจริญอสุภกรรมฐานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับกำลังใจของแต่ละคนที่สั่งสมมานะครับ หรืออาจจะเห็นความจำเป็นมากน้อย ต่างกันแค่ไหนนะ



๒) หากจิตวิญญาณทั้งหมดเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ วัฏสงสารนะครับ เกิดเพราะกรรมแล้ว ภพชาติแรกของทุกวิญญาณเกิดขึ้นได้อย่างไร?

อันนี้เป็นคำถามที่ตอบบ่อยมากนะ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ดูว่า ไม่ให้คิดนะครับ ว่าชาติแรกในแบบที่เป็นเนื้อเป็นตัวเป็นๆอย่างนี้เนี่ย มันเริ่มต้นขึ้นที่ไหน เพราะว่าเอาแค่พูดคำว่าอนันตชาติเนี่ย เราก็นึกไม่ออกแล้วว่า มันนานสักขนาดไหน จะต้องอาศัยเวลาสักกี่กัปกี่กัลป์ หรือว่าจะต้องมีซากศพของเราเนี่ย ทับถมกันกี่โกฏิล้านศพนะครับ การเวียนว่ายตายเกิดเนี่ย มันเอาแค่กัปเดียวกัลป์เดียวเนี่ย ก็นับไม่ถ้วนแล้วว่า มันกี่ล้านชาติกัน แต่ถ้าหากว่าจะไปขุดคุ้ยเอาชาติแรกเนี่ย มันยิ่งไปกันใหญ่ คือพระพุทธเจ้าท่านจะให้ดูความจริงนะครับ ว่าอะไรๆมันเกิดขึ้นแบบเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีไอ้ลักษณะของอะไรสักอย่างเดียวนะ ที่มันเกิดขึ้นมาเองลอยๆ ไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่อยู่ๆเนี่ย เกิดการเนรมิตขึ้นมา แล้วก็คงรูปอยู่ได้ สืบต่อไอ้การคงรูปคงนามแบบนั้นนะครับ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ แบบนั้นไม่มี มีแต่ว่าทั้งหลายทั้งปวงเนี่ยนะ จะมีได้ อะไรสักอย่างนึงเนี่ย มีขึ้นมาได้ จี้ลงไปซักอย่างนึงนะ เราจะสามารถสืบหาเหตุ ของการมีสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอนะครับ อย่างเช่น ถ้าหากว่าจะเอาโดยย่นย่อ รวบรัดมากที่สุดก็คือ ก่อนที่จะมีปฏิสนธิจิต คือจิตดวงแรกในแต่ละชาติได้เนี่ย จะต้องมีจุติจิตนะ เคลื่อนจากชาติภพก่อนมานะ ลักษณะการเคลื่อนมา ไม่ใช่ยกเอาตัวเดิมมานะครับ แต่เป็นลักษณะของจิตที่ดวงนึงดับไป และอีกดวงนึงเกิดขึ้น บันดาลขึ้นด้วยกรรมที่ทำมาทั้งชาตินั้น อย่างในอดีตถ้าหากว่า เอ่อ ก่อนที่น้องจะมาเป็นผู้หญิง น้องเคยเป็นผู้หญิงคนเดิมมาก่อนนะ แต่หน้าตาคนละคนกัน ลักษณะของความเป็นอยู่ ลักษณะของฐานะอะไรต่างๆเป็นคนละคนกัน แต่กรรมที่ทำมานะ ในขณะที่เป็นหญิงในชาตินั้นนะ รวมแล้วมีลักษณะของความสว่าง ที่เป็นบุญมากพอ ที่จะทำให้มาเข้าท้องมนุษย์ได้ เนี่ยพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในปฏิจจสมุปบาท ท่านบอกว่า ถ้าหากไม่มีบุญแล้ว ก็ไม่สามารถที่วิญญาณจะหยั่งลงในครรภ์มารดาได้ นี่ท่านตรัสไว้อย่างนี้นะ เป็นสำนวนพระพุทธเจ้านะครับ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไปคิดปุ๊บ ว่ามีชาติใดชาติหนึ่งเป็นชาติแรกเนี่ย อย่างนี้ก็เท่ากับกฎของปฏิจจสมุปบาท อันเป็นกฎที่ยิ่งใหญ่มากในธรรมชาติกฎนึงเนี่ยนะ มันถือว่าเป็นโมฆะเลย ถือว่าเป็นล้มเหลวเลย มันจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง กรรมที่จะชี้ชัด จะชี้ขาดว่า มีบุญใหญ่มากพอที่จะเข้าท้องมนุษย์หรือเปล่า หรือไปเป็นเทวดา หรือไปเป็นพรหม หรือว่าไม่มีบุญนะ มีแต่บาป จะต้องไปอยู่ในนรก จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าจะต้องไปเป็นเปรตแบบนี้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสย้อนทวนขึ้นไปว่า ก่อนที่จะเกิดการสั่งสมบุญ สั่งสมบาปในแต่ละชาติ จนกระทั่งไปประมวลผลเอาครั้งสุดท้าย ก่อนที่จิตจะดับลงในชาตินั้นเนี่ยนะ ก่อนหน้านั้นเนี่ยมันมีความไม่รู้ มันมีความไม่ทราบว่า ทำอะไรแล้วจะได้ผลอย่างไร บาปชนิดนี้ทำไปเนี่ย ตัดสินใจไปแล้วเนี่ย มันจะเกิดผลเป็นรูปร่างหน้าตาอย่างไร มันจะมีชะตาชีวิตแบบไหน ถ้าหากว่าคนรู้ว่า ทำบาปไปแล้วจะเกิดผลอย่างไร ก็คงไม่ทำบาปกัน มีแต่ทำบุญกันอย่างเดียว นี่แหละลักษณะของความไม่รู้เนี่ย พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นอวิชชา และความเป็นอวิชชาเนี่ย ขั้นสุดยอดเลยก็คือ ไม่รู้ว่ากายใจนี้เนี่ย มันเป็นเพียงเหยื่อล่อให้ตะครุบ ให้จิตเนี่ยไปยึดเอาถือเอาว่า มันคือตัวเรา มันคือตัวตน มันคือก้อนอะไรก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นอัตตา มีอยู่แน่ๆ คงรูปอยู่แน่ๆ เป็นอมตะนะ ถ้าไม่ใช่ตัวนี้ มันก็ต้องฝากอยู่ที่ตัวอื่น บนสวรรค์บ้าง ในจักรวาลจุดใดจุดหนึ่งบ้าง มันจะมีความหลงคิดอยู่อย่างนี้ เนี่ยแหล่ะเรียกว่าเป็นอวิชชา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นต้นกำเนิดของความมี ความเป็นทั้งปวงนะครับ ถ้าหากว่าทำลายอวิชชานี้ได้ จิตสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละชาติเนี่ย ที่เรียกว่าจุติจิตเนี่ย พอปรากฏแล้วก็จะดับไปเลยนะ เป็นเหมือนกับเปลวเทียนดับ แต่ว่าไม่ใช่สูญนะครับ ลักษณะของการไหลรวมเข้าไปสู่มหาสมุทรแห่งความว่าง ที่เรียกว่านิพพานเนี่ย เป็นอะไรที่เกินจินตนาการ และพระพุทธเจ้าไม่ให้คิดนะ เคยมีคนเข้าใจว่า พระนิพพาน พระอรหันต์เนี่ย พอดับขันธ์แล้วก็สูญไปเลยนะครับ พระสารีบุตรก็เคยแก้ความเข้าใจผิด แล้วก็ชี้มา เน้นมาให้เห็นว่า เนี่ยไอ้ที่นึกว่าเป็นสังขารของเรา เป็นการปรุงแต่งลักษณะของกาย ลักษณะของใจเนี่ย ที่นึกว่าเป็นตัวเราเนี่ยนะ ถามไปเป็นจุดๆเถอะ มันมีซะที่ไหน ที่เที่ยง มันมีซะที่ไหน ที่คงรูปคงร่างอยู่ได้ มันมีซะที่ไหน ที่เราจะจำได้ตลอดไป มันมีซะที่ไหน ที่เราจะรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ตลอดไป ถ้าหากว่าไม่มีอะไรที่มันเที่ยงแล้ว จะไปยึดถือได้อย่างไร ว่ามีตัวตนอยู่นะครับ ลักษณะของการเห็นแจ้งว่า ขันธ์ ๕ หรือว่ากายใจนี้ มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่เที่ยง นี่แหละที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้ง เกิดความเข้าใจว่า การมีอยู่ของชาติแรกเนี่ย มันเป็นเพียงสิ่งจินตนาการ แต่ไอ้สิ่งที่มันปรากฏอยู่จริงเนี่ย ก็คือการสืบเหตุสืบผล ถ้าหากว่าไม่มีบุญเก่าอยู่บ้าง ก็คงไม่มีรูปกายแบบมนุษย์ หรือว่าจิตสำนึกแบบมนุษย์ปรากฏขึ้นมาได้ หรือถ้าหากว่าไม่มีบาปอยู่บ้าง ก็คงไม่มีหมา ไม่มีแมว ไม่มีสัตว์ที่ตกยาก หรือว่าลำบากนะ ต้องถูกเขาฆ่าแกงเอามากินกัน เนี่ยตรงนี้นะครับ ที่พระพุทธเจ้าท่านจะเน้นให้เรารับรู้กัน เอ่อ คำถามที่เหลือขอตัดไปนะ เพราะว่า มันจะยาวนิดนึง เพราะอันนี้ตอบคำถามไปหนึ่งคำถามแล้ว



๓) ความรักของคนส่วนใหญ่ จะทำให้เราเข้าไปยึดไปหลงโดยไม่รู้ตัว ปกติก็ปฏิบัติดูกาย ดูใจ แต่เมื่อประสบปัญหาทางความรัก ทำให้เห็นว่าเรายังยึดในความรักอยู่มาก พอกลับไปเริ่มต้นใหม่ ก็กลัวจะเข้าไปยึด คอยพยายามดู ก็เหมือนกับเราไปเพ่ง เราระวังตัวเอง อันนี้คือพูดง่ายๆว่า มันยักแย่ยักยันนะครับ เราจะปฏิบัติอย่างไร? ให้ยึดในความรักน้อยลง

จริงๆแล้วการที่จะยึดความรักน้อยลงได้เนี่ยนะ มันต้องอาศัยทั้งลูกล่อ ลูกชนหลายๆแบบนะ เพราะว่าเป็นสิ่งติดตัวมา เป็นสิ่งที่ติดจิต ติดวิญญาณมาชั่วกัปชั่วกัลป์ เราเวียนว่ายตายเกิดมากี่ครั้งเนี่ย ก็มีความรัก มีความหลง มีความพิศวาสนี่แหละ เป็นตัวตั้งนะครับ ถ้าหากว่าไม่มีความรัก ไม่มีความหลง ไม่มีความพิศวาสแล้วเนี่ย กรรมใดๆที่มันจะก่อขึ้นมาในแต่ละภพแต่ละชาติเนี่ย ก็คงเป็นหมันไปนะครับ เพราะว่าถ้าไม่มีความติด ไม่มีความหลงซะแล้ว อะไรๆก็คงจะจบลงตั้งแต่ก่อนจะเริ่มต้นนะ คงไม่มีความทุกข์อันเกิดจากความรัก คงไม่มีความทุกข์อันเกิดจากการอยู่ร่วมกัน แล้วที่สุดก็คงไม่มีความทุกข์ อันเกิดจากความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักด้วยนะครับ ความรักนี่แหละ ที่เป็นแรงดึงดูดของสังสารวัฏที่ทรงพลังที่สุดนะ ถ้าหากว่าเราคิดนะ นึกว่าปฏิบัติเพียงเล็กน้อย หรือว่าทำเจริญสติสักปีสองปี แล้วจะห่างหาย จะตัดความพิศวาสได้ อันนั้นนะครับ ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มแรก ขอให้เข้าใจเลยว่า จิตใจของมนุษย์นะครับ ตราบเท่าที่ยังเป็นฆราวาส ยังมีอิสระที่จะคบหาใครต่อใคร ดูใจใครต่อใครนะ อันนั้นมันก็เป็นช่องทาง เป็นที่มา เป็นความเพลิดเพลินยินดี ที่เราเคยคุ้นมา ต่อให้เจริญสติมานานแค่ไหน ถ้าหากว่ายังเปิดใจได้นะ หรือว่าเปิดหูเปิดตา มองใครได้ มันก็มีความพิศวาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นแหละ ทีนี้ในกรณีของคนที่เกิดความสับสนขึ้นมาว่า เอ๊ะ ตกลงเนี่ย เราจะปฏิบัติเพื่อที่จะละ เพื่อที่จะวางในระดับไหนกันแน่นะ ตรงนี้ถ้าทำตกลงกับตนเอง ทำความเข้าใจให้เคลียร์ตั้งแต่ต้นมือนะครับ มันก็จะลดความสับสน ลดความกังวลไปได้มาก

การปฏิบัติธรรมเจริญสติ มีอยู่ ๒ ระดับใหญ่ๆ จำไว้เลยนะ ระดับแรกเนี่ย เป็นระดับของการสะสมความเห็นที่ถูกต้อง สะสมสัมมาทิฏฐิให้ค่อยๆเติบกล้าขึ้น ค่อยๆเจริญขึ้น คือขอให้นึกนะว่า เกิดมาไม่มีใครหรอกที่ไปบวชเลย พระไม่ได้เกิดขึ้นมาจากคนที่เกิดมาแล้วเข้าไปบวช แต่เกิดมาจากฆราวาสที่ใช้ชีวิตธรรมดาเนี่ย แล้วก็ที่เป็นทุกข์แบบเราๆท่านๆเนี่ยแหล่ะ แล้วเกิดความเห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง มันน่าเบื่อหน่ายนะครับ แล้วได้มาพบกับธรรมะของพระพุทธเจ้า เกิดความศรัทธาในแนวทางของพระพุทธองค์ ที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะพ้นทุกข์นะครับ เพื่อที่จะปล่อยวาง แล้วก็ค่อยๆเจริญสติ ในขณะที่ยังเป็นฆราวาสนั่นแหละ หรือว่าอย่างน้อยที่สุด สะสมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องของแนวทางในการดับทุกข์ ดับโศก ในแบบที่พระท่านปฏิบัติ หรือว่าถือเป็นกิจวัตรกันนะ ถ้าหากว่าสั่งสมมากพอ จนเกิดความแก่กล้า แน่ใจกับตัวเองแล้วว่า จะไม่เอาอะไรทางโลกอีก ไม่มีความยินดี ไม่มีความอาลัยอยู่แล้วเนี่ย เราอยากจะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง นั่นก็คือตัดสินใจไปบวช แต่ถ้าด้วยกรณีใดๆ จะรู้มากแค่ไหน หรือว่าจะปฏิบัติมามากเพียงใดนะ แต่ว่าใจเรายังมีความรู้สึกอยู่ว่า เออ ยังอยากอยู่เป็นฆราวาสไปนี่แหละ อยากจะสบายอย่างฆราวาสไปนี่แหละ ยังไม่อยากไปลำบากแบบพระ อันนั้นก็หมายความว่า เราจะได้แค่ครึ่งๆกลางๆนะ แม้กระทั่งว่า คนที่มีอินทรีย์แก่กล้า ของเก่ามาดีมาก แล้วก็มีความขยันขันแข็ง ในการเจริญสติอย่างมากเนี่ยนะ ก็ได้เป็นแค่พระโสดาบันหรือพระสกทาคามี หรืออย่างสูงสุดก็คือพระอนาคามีนะ คือไม่มีกิเลสราคะแล้ว ไม่มีไอ้ตัวโกธะแล้ว คือความกระทบกระทั่งทางใจเนี่ย มันไม่ก่อให้เกิดความขัดเคืองหรือเกิดความทุกข์ทางใจ อันเกิดจากความร้อนของโทสะได้แล้วเนี่ย อันนี้ก็คือประโยชน์สูงสุดที่จะอยู่เป็นฆราวาส แต่ถ้าหากว่าจะเอาจริงๆ แบบเด็ดขาด ตัดกิเลสได้นะครับ พ้นทุกข์ได้ถาวรจริงๆเนี่ย อันนั้นก็ต้องบวช เพื่อที่จะเป็นพระอรหันต์นะครับ ที่มีความไม่คู่ควรกับภาวะของฆราวาส ทีนี้พิจารณาดูว่าการที่เราเลือกจะเจริญสติ ในขณะที่เป็นฆราวาสเนี่ยนะ อันนี้เป็นฆราวาสชั้นเลิศ แบบที่พระสารีบุตรท่านเคยกล่าวไว้นะว่า การที่เรายังเป็นผู้บริโภคกาม หมายถึงกามคุณ ๕ นะ เสพรูป เสพเสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรต่อมิอะไรต่างๆเนี่ย ด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ แต่ก็ยังมีความรู้ว่า ยังมีสติรู้อยู่ว่า สุขอันเป็นที่สุด ไม่ใช่แค่กามคุณนี้ กามคุณทั้ง ๕ เนี่ยยังเป็นของต่ำอยู่ ยังมีสุขอันประณีตกว่านี้ คือสุขอันเกิดจากการเจริญสติขึ้นไป แล้วเห็นว่ากายใจมันไม่เที่ยง สามารถที่จะรู้จักกับจิตที่เป็นอิสระ จะชั่วคราว หรือจะได้นานๆก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดนะ ได้รู้ได้เห็นว่า มันมีอะไรมากกว่ากามคุณ ๕ มีความเข้าใจอันเป็นสัมมาทิฏฐิว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะพึงมีพึงได้คือ การเข้าให้ถึงสัจจะขั้นสูงสุดของเหล่าอริยะ ถึงแม้ว่าจะยังตัดราคะไม่ได้ ยังตัดโทสะไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดตัดความเห็นผิด ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน ถ้าหากว่าเราสามารถจะเป็นฆราวาสชั้นเลิศ คืออย่างน้อยที่สุดทำการศึกษา ทั้งการเจริญสติเพื่อที่จะตัดความเห็นผิด ว่ากายใจนี้เป็นตัวเป็นตนได้เนี่ย อันนี้ถือว่าน่าพอใจที่สุดแล้ว ถ้าหากว่าเราจะยังมีความยึด ยังมีความหลง ยังมีความโลภที่จะได้ดี ได้ดิบได้ดีแบบฆราวาส อย่าถือว่าเป็นความผิด อย่าไปกังวล อย่าไปมีความรู้สึกขัดแย้งกับตัวเองนะ คือมันสะสมกันได้ ค่อยๆเจริญสติไป แล้วก็มันจะมีการเหนี่ยวนำให้เกิดความรู้สึก อยากจะมีน้ำใจให้ทาน อยากจะรักษาจิตให้สะอาด ด้วยการงดเว้นขาดในเรื่องของบาปทั้งปวงนะครับ คือพูดง่ายๆเป็นผู้ทรงศีล เนี่ยขอให้แค่ว่าเป็นผู้ทำทาน เป็นผู้ทรงศีลนะครับ แล้วก็เจริญสติบ้าง จะได้ผลมากหรือน้อยเนี่ย เราตกลงกับตัวเองไว้ว่า นี่คือเส้นทางที่เราเลือก ว่าจะค่อยๆสะสมบุญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละความเห็นผิดได้

ทีนี้การที่เราจะไปเกี่ยวข้อง จะไปข้องแวะกับความรักอะไรเนี่ย ต้องตกลงกับตัวเองเลย ต้องบอกกับตัวเองแล้วว่า นี่คือการเลือกว่า เราจะหาใครสักคนร่วมทางไปด้วยกัน คืออย่าไปคว้าเอาใครที่ไม่มีศรัทธา หรือว่าไม่มีไอ้ความเข้าใจในเส้นทางแบบนี้เข้ามาเป็นคู่ เพราะว่ามันจะเหนื่อย เหนื่อยมาก กว่าจะหว่านล้อมให้เข้าใจกันได้ มันต้องใช้เวลาหลายปี แล้วมันจะต้องเกิดความรู้สึกพะวักพะวง มันจะต้องเกิดความรู้สึกเหมือนครึ่งๆกลางๆนะ เราจะอยู่ฝ่ายเค้า หรือว่าเราจะอยู่ฝ่ายธรรมะ เพราะว่าคนที่ไม่เข้าใจธรรมะเนี่ย เขาจะดึงเราเข้าถ้ำนะ เข้าถ้ำมืด หรือว่าเข้ารกเข้าพง แต่ถ้าหากว่าเราตัดสินใจแล้วว่า โอเค ไม่ว่ายังไงเนี่ย เราก็จะเอาความรักนำหน้าล่ะ เอาความพิศวาสนำหน้า นี่ก็ต้องบอกกับตัวเองไว้ว่า ถึงจะเจริญสติได้แค่ไหน เดี๋ยวมันก็ต้องพังจนได้นะครับ เราก็ต้องไปยอมที่จะผูกพัน หรือว่าถูกดึงดูดลงไปหาอะไร ใครที่เขาไม่ได้มีความฝักใฝ่ในทางนี้เนี่ยนะ คือพูดง่ายๆว่า เลือกใครก็เท่ากับว่า เลือกใจให้ตัวเองนั่นแหล่ะ เลือกใครก็เท่ากับเลือกเส้นทางกรรมให้ตัวเอง อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่ง มันไม่มีทางล่ะที่ครองคู่กันแล้วจะอยู่ได้เป็นตัวของตัวเองเต็มร้อยนะครับ ถ้าหากว่าเราอยากจะตกลงใจกับตัวเองนะว่า เราอยากจะเอาดีในทางเรื่องของพรหมจรรย์จริงๆ ก็ต้องบอกกับตัวเองอีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์ อันเกิดจากความเหงาหงอยแค่ไหนนะครับ เราก็จะยอมรับตามนั้น คือไม่ใช่มาแบบครึ่งๆกลางๆ หรือว่าลังเลสองจิตสองใจ วันต่อวันนะครับ คือมันต้องมีการตัดสินใจ ต้องมีการตกลงใจ ถ้าไม่มีการตกลงใจแล้ว มันจะไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่า เราจะเอายังไงแน่ แล้วจิตใจของเราจะฟุ้งซ่านอยู่ตลอด เกิดความสับสนอยู่ตลอดนะ แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเราเนี่ยจะอยู่ฝ่ายที่เป็นพรหมจรรย์มรรคก็ไม่ใช่ หรือว่าจะเป็นชาวโลกธรรมดาๆ แบบดิบๆก็ไม่เชิง แล้วก็จะเหมือนกับว่า ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลยสักฝ่ายหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นเข้ากับใครแบบสนิทเต็มตัวไม่ได้นะครับ แต่จริงๆแล้วเนี่ย ถ้าหากว่าเราทำความเข้าใจนะว่า ทั้งหมดทั้งปวงที่เราอยู่บนเส้นทางนี้เนี่ย เราต้องการอะไรแน่ๆ ถ้าหากว่ายังตอบตัวเองไม่ได้นะครับ ค่อยๆสะสมไป ค่อยๆเรียนรู้ ค่อยๆศึกษาไป แล้วก็การคบหาคนเนี่ย คือบนเส้นทางนี้นะ จำไว้อย่างหนึ่งนะครับ อย่าให้ความพิศวาสนำหน้า แต่ให้ไอ้เป้าหมายปลายทางที่เราตัดสินใจเลือกแล้วเนี่ย เป็นตัวหัวหอก เป็นตัวนำหน้า เป็นตัวที่จะบอกเรานะครับว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เรากำลังตัดสินใจเลือกสิ่งใดเพื่ออะไร หรือเลือกใครเนี่ย แล้วจะได้ผลตามมาเป็นความขัดแย้งกับไอ้ความปรารถนาลึกๆของเราเพียงใด ตรงนี้ถ้าเราเคลียร์บอกกับตัวเองได้ คุยกับตัวเองรู้เรื่องเนี่ย มันก็จะลดปัญหาลงได้มาก แต่ปัจจุบันเนี่ยนะ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องพวกนี้มากๆเนี่ย มักจะมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นกับผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสติกันมากนะครับ คือเกิดความทรมานใจว่า เอ๊ะ เราทำอะไรผิดหรือเปล่า แค่ไปมีความรู้สึกรักใครชอบใครแล้ว ก็นี่มันขวางทางมรรคผลนิพพานนี่ แล้วเมื่อไหร่ถึงจะได้ไปถึง จะต้องใช้เวลากี่ปี กว่าที่จะหลุดจากพันธะอะไรต่างๆ มันคิดมาก แล้วก็ตกลงไม่ได้เลือกอะไรสักอย่างเดียว แต่ปัจจุบันก็มีคนเข้าใจกันมากขึ้นนะครับ ก็คือว่า คิดง่ายๆเลยก็แล้วกันนะครับว่า ถ้าเราเจริญสติได้ถูกต้อง เอาแค่ตัดความเห็นผิดว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนเนี่ย ก็สามารถที่จะถึงโสดาปัตติผลได้ อันนี้ที่ในพระคัมภีร์บอกไว้นะครับ แม้แต่นางวิสาขบูชา เอ่อ ขอโทษครับ อันนี้พูดผิดไปนิดนึงนะ นางวิสาขานะ นางวิสาขาก็บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่เจ็ดขวบ แล้วก็ยังใช้ชีวิตแบบฆราวาสธรรมดา มีสามีครองเรือน แล้วก็มีลูกตั้ง คือบางแห่งก็บอกว่า ๑๒๐ คน บางแห่งก็บอกว่า ๑๒ คน ก็เอาเป็นว่าท่านก็มีลูกมาก แต่ก็ยังเป็นผู้ที่มีศีลมีธรรม แล้วก็มีปัญญา มีสติปัญญาในระดับของอริยบุคคลได้อยู่นะ นั่นก็แสดงให้เห็นว่านะครับ การที่เราจะเจริญสติกันเนี่ยนะ ไม่ได้มีตัวเรื่องของการครองเรือนเนี่ย มาเป็นตัวเบรกมรรคผล จริงๆแล้วเนี่ยการครองเรือนหรือไม่ครองเรือนเนี่ย มันไม่สำคัญเท่ากับวิธีที่เราเจริญสติ วิธีที่เราทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง เกี่ยวกับการดูกายดูใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตนนะครับ

สิ่งที่พ้นไปจากนั้นนะ มันเป็นเรื่องของนิสัยใจคอ มันเป็นเรื่องของ เอ่อ ลักษณะความ พูดง่ายๆว่า ความไปด้วยกันระหว่างเรากับคู่ ที่จะชวนกันไปสวรรค์หรือไปนิพพาน มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจหรือว่ามุมมองของทั้งคู่จริงๆ

หมายเหตุ – คุณดังตฤณเพิ่มเติมว่า...

ถ้าจะบรรลุอรหัตตผลขณะเป็นฆราวาส ก็ต้องเป็นฆราวาสที่ไม่ได้ทำมาหากินหรืออยู่ร่วมกับภรรยา แต่เป็นฆราวาสชนิดที่ถือครองชีวิตแบบบรรพชิตโดยพฤตินัย

มรรคมีองค์ ๘ บอกอยู่ชัด ถ้าจังหวะไหนเรายังมีใจยึดติด ผูกพันกับกามคุณ ๕ จังหวะนั้นอย่างไรก็เจริญสติไม่ได้ถึงที่สุดหรอกครับ อย่าว่าแต่อรหัตตผล ถึงจะเป็นโสดาปัตติผลก็ไม่ได้ เส้นทางของบรรพชิตจึงเหมาะที่สุด เอื้อกับมรรคผลที่สุด

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ฆราวาสเป็นทางมาของธุลี ถ้าพอใจกับความเป็นฆราวาส โอกาสจะบรรลุมรรคผลก็ต่ำ ไม่ว่าจะขั้นแรกหรือขั้นสุดท้าย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เริ่มเจริญสติกันตั้งแต่เป็นฆราวาส ไม่มีจุดมุ่งหมายกันตั้งแต่เป็นฆราวาส อยู่ๆจะให้เกิดพระดี พระแท้ขึ้นมาเลยก็ยาก ทุกวันนี้ที่พระส่วนใหญ่ปฏิบัติกันไม่ถูก รู้แต่จะสวดศพกันเป็นงานหลัก ไม่ใช่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง ก็เพราะนึกว่าจะต้องไปเริ่มเรียน เริ่มสร้างแรงบันดาลใจกันในวัด พระอยู่ส่วนพระ ฆราวาสอยู่ส่วนฆราวาสนี่แหละ

พวกเราถือว่าเป็นฆราวาสที่สั่งสมความเข้าใจ และสติให้แก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป ตามกำลัง หรือตามวาสนาของแต่ละคน เมื่อเข้าใจชัดก็จะไม่สับสนว่า ทำสิ่งที่ขัดแย้งกันหรือเปล่านะครับ


เอาล่ะ คืนนี้คงต้องล่ำลากันวินาทีนี้ ก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่าน ราตรีสวัสดิ์นะครับ

หมายเหตุ – คุณดังตฤณพิมพ์ตอบในสเตตัสหลังจบรายการ... “วันนี้เหนื่อยหน่อย เหลือสติแค่ครึ่งเดียว ขออภัยนะครับ ถ้าบางจังหวะพูดไม่ปะติดปะต่อบ้าง”

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น