วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๙ / วันที่ ๑ ต.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin เวลาสามทุ่มก็จะมีสเตตัสใหม่ขึ้นมานะครับ พร้อมกับการดำเนินรายการของผม แล้วก็เข้าไปไถ่ถามกันได้ในสเตตัสเลยนะครับ



๑) คนที่มีกำลังในการซื้อที่ดิน แล้วได้ค่าเช่าสูงมาก (อาจจะประมาณครึ่งล้านทุกเดือน) เขาก็อยู่ได้อย่างสบายโดยอาจจะไม่ต้องทำงาน หรือเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องเงินทองอะไรเลย หนูสงสัยว่าทำบุญอย่างไร เขาถึงได้มาแบบนั้น?

ก็เป็นประเภทที่ว่าเคยอุปถัมภ์ค้ำชู หรือว่าเลี้ยงดูปูเสื่อคนอื่นๆในลักษณะของการทำบุญเป็นประจำนะครับ ที่จะเห็นได้ง่ายๆก็อย่างเช่น พวกที่มีการจ่ายเงิน อาจจะเป็นเงินสด หรือเป็นเช็ค หรือว่าจะหักผ่านบัตรเครดิตอะไรแบบนี้ หักผ่านบัญชีธนาคารอะไรแบบนี้ เวลาที่มีคนเขาอยากจะให้ช่วยในเรื่องของการสงเคราะห์เด็ก สงเคราะห์คนชรา หรือว่ามีโครงการบริจาค มีโครงการในลักษณะที่ มันเป็นประโยชน์กับคนที่เขาด้อยโอกาสในสังคมนะ ไม่จำเพาะเจาะจงหรอกว่าจะต้องเป็นคนแบบไหน แล้วก็ส่วนใหญ่นะครับในลักษณะการทำบุญแบบที่เป็นเกิดขึ้นเป็นประจำนี่ มันก็มีได้สองแง่ ในแง่ของการให้ทรัพย์ กับการให้แรงงาน หรือการให้สมอง

ในกรณีของการที่เขามีที่ดิน หรือว่ามีมรดกตกทอด มีสิ่งที่จะทำเงิน ทำรายได้ให้เขาโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเองนี่นะ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากกรรมเก่าที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้นๆ อย่างในเรื่องของที่ดินอย่างนี้นะ ผมก็มองจากที่ในพระไตรปิฎกด้วย แล้วก็เห็นจากในหลายๆเคสนะครับ มันมีความสัมพันธ์ มันมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่นะ อย่างในเรื่องเกี่ยวกับการมีที่ดินมากๆนี่ หรือว่าอยู่ๆได้ที่ดินมาโดยไม่ได้ไปใช้ความพยายาม ใช้ความสามารถอะไร แล้วก็สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการบริจาคที่ดิน เกี่ยวกับการที่เราให้ที่พักอาศัย หรือว่าให้ความสะดวกในเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ในการทำบุญกับคนอื่น

อย่างบางคนนี่ อยู่ดีๆก็เปิดบ้านให้คนมาฟังธรรม นิมนต์อาจารย์มา นิมนต์ครูบาอาจารย์ พระป่า หรือว่าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อยู่ในวินัย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน หรืออย่างคนที่อยู่ดีๆนะ ก็เกิดจิตศรัทธา อยากจะถวายที่ทางที่ตัวเองมีอยู่แล้ว หรือว่าไปซื้อหามา แทนที่จะเอาเงินเอาทองนะครับ ก็ได้ถวายเป็นกุศลให้กับพระศาสนา จะสร้างวัด จะสร้างสิ่งถาวรวัตถุ หรือว่าจะให้ที่พักที่พิงแก่คนผ่านทางอะไรแบบนี้นะ เขานับหมดเลย ถือว่าเป็นบุญใหญ่

เพราะว่าถาวรวัตถุ หรือว่าสถานที่นี่มันใช้กันนาน มันได้ใช้ประโยชน์กันแบบไม่เลือกหน้า ไม่รู้ว่าจะมีจำนวนของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากที่ทาง ที่เราบริจาคนี่เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ ใจมันกว้าง ใจมันใหญ่ ใจมันมีความสว่างออกไปแบบไม่มีประมาณ พอนึกถึงคนที่จะได้รับประโยชน์ เขาไม่รู้เป็นใคร ไม่รู้มาจากไหนกัน แล้วก็ไม่จำกัดว่าจะเป็นคนที่ยากดีมีจน หรือว่ามีฐานะดี ฐานะไม่ดี จะหล่อจะสวยอะไรอย่างไร ไม่ได้คำนึงถึง คำนึงถึงอยู่แต่ว่า มันเลือกหน้าไม่ได้ มันไม่มีการเลือกหน้า นี่อย่างนี้นี่ใจจะใหญ่ ใจจะกว้างออกไปไม่มีประมาณ

เพราะฉะนั้นเวลาที่ผลมันผลิตขึ้นมานะ ณ ที่ที่กรรมผลิตผลนี่ ก็จะได้ในเรื่องเกี่ยวกับที่ทาง เกี่ยวกับที่ดิน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจจะเป็นเงินก้อนที่อำนวยความสะดวกให้เรานี่ไปจับจ่าย หรือว่าจะซื้อหาจับจองที่ดิน หรือว่าบ้าน หรือว่าเกี่ยวกับเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายนี่มาลงทุนนะ อันนี้ก็จะมีเหมือนกับจิตใจ หรือว่าจะมีความรู้สึกว่า เรามีสัญชาตญาณ เรามีความเก่งเกี่ยวกับเรื่องของการเก็งกำไรที่ดิน อะไรแบบนั้น

ถ้าหากว่าอยากจะสบายแบบเขาบ้างนะ มันก็คงไม่จำเป็นต้องมีเงินมีทองมากมายหรอก แต่ว่าขอให้ทราบแนวทางแล้วกันว่า ทำประโยชน์กับใครเป็นประจำ สม่ำเสมอนะ แล้วก็ไม่ลืม คือมีจิตผูกพันกับการอนุเคราะห์กับคนจำนวนมากๆเป็นประจำนี่ เวลาที่กรรมผลิตผล ก็จะได้มาในลักษณะของมรดก หรืออะไรบางอย่างที่มันทำเงิน ทำดอก ทำเบี้ย ให้เรานะครับ เอาล่ะก็คงเป็นแนวทางคำตอบ



๒) เรื่องกรรมจากการฆ่าสัตว์ มีทางไหนที่จะทำให้วิบากเบาบางลงได้บ้าง?

อันนี้ก็ชัดเจนนะครับ ในการทำบุญแบบไทยๆนี่ก็จะมีเรื่องของการปล่อยนก ปล่อยปลา แล้วก็การช่วยชีวิตสัตว์ใหญ่ไม่ให้ต้องถูกฆ่า อย่างเช่น ไถ่ชีวิตวัว ไถ่ชีวิตควาย ที่มันมีความรู้สึกเจ็บมาก มันมีความรู้สึกว่าจะเสียชีวิตครั้งใหญ่นะ สัตว์ยิ่งใหญ่นี่ ยิ่งตัวใหญ่เท่าใดก็จะยิ่งมีความเจ็บปวดเวลาที่ถูกทรมาน ถูกฆ่านะ อย่างหมูบางตัวนี่ บางโรงฆ่าสัตว์ เขาก็ไม่ใช้วิธีอะไรทั้งสิ้นนะ ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงก็ไม่ทราบนะ เขาเชื่อกันว่า ถ้าพวกหมูไม่มีความเกร็งก่อนตายนี่ เนื้อจะอร่อย หลั่งสารแห่งความกลัวออกมา หลั่งสารแห่งความเจ็บออกมา เขาก็ใช้ค้อนไปทุบหัวมันตรงๆ ถ้าเห็นมันยังไม่ตาย เห็นมันยังยืนขาสั่น ก็ทุบซ้ำเข้าไปอีก อะไรแบบนั้นนะ

ถ้าหากว่าเราไปเห็น แล้วก็เกิดการรับรู้ว่าวิธีตายของสัตว์ต่างๆเหล่านั้น มันมีความทรมานมาก มันมีความน่าสงสารมาก แล้วเรามีแก่ใจที่จะไปไถ่ชีวิตมันนะ ทำให้มันรอดตายนี่ อันนี้ก็จะเป็นบุญใหญ่ แต่ถ้าหากว่าแค่คนเขาชวนกันไปไถ่ชีวิตสัตว์ แล้วเราก็ให้เงินไป โดยที่จิตใจไม่ได้มีความรู้สึกอะไรมากเกี่ยวกับการช่วยชีวิตสัตว์นี่ อันนี้ก็จะลดระดับดีกรีของบุญ ของทาน ของกุศลลงมานะ

ส่วนใหญ่ที่ช่วยชีวิตสัตว์ ไถ่ชีวิตสัตว์ แล้วมันได้ผลเกี่ยวกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ หรือความรู้สึกทึบๆในหัวมันหายไป ที่มันสืบเนื่องมาจากวิบากเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์โดยตรงนี่นะ ส่วนใหญ่ที่มันจะเจือจางลงได้แบบเห็นผลในชาติปัจจุบันนี่ มันต้องช่วยจนกระทั่งรู้สึกว่า ‘ใจเรานี่อยากช่วยสัตว์ทั้งโลกเลย’ บางคนก็เหมือนพอช่วยสัตว์มากๆนี่ เลิกกินเนื้อสัตว์ไปเลย แล้วก็จะมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของการไม่เบียดเบียนกัน ค่อนข้างจะมากทีเดียวนะครับ ไม่ว่าจะเบียดเบียนด้วยกาย วาจา หรือกระทั่งแม้แต่คิดเบียดเบียนกันนี่ก็ไม่หลงเหลืออยู่เลยนะ มีแต่จะช่วย มีแต่ความรู้สึกอยากจะให้ชีวิตอื่นนี่ได้ดีมีสุข ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์นี่จะไม่เลือกหน้าเลย

ถ้าทำได้ถึงขั้นนั้นนี่จะเห็นผลนะ โรคภัยไข้เจ็บอะไรที่มันเรื้อรังที่หมอรักษาไม่หาย หรือแม้กระทั่งว่าที่ไม่เคยเจอยา ไม่เคยเจอหมอดี ก็จะไปเจอนะ หรือการที่เราจะเป็นประเภท ป่วยออดๆแอดๆ สุขภาพก็จะเข้มแข็งขึ้นมา แข็งแรงขึ้นมานะ มันจะเห็นผลทันตาขึ้นมาเป็น ‘ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม’ คือกรรมที่เห็นผลในชาติปัจจุบัน กำลังจิตกำลังใจนี่ ต้องมีความหนักแน่น ต้องมีความต่อเนื่องนะ ส่วนใหญ่แล้วจะเข้าใจเอาดื้อๆง่ายๆเลยว่า ทำครั้งเดียวได้ผลทันที บุญมันไม่ใช่อะไรแบบนั้น

ลองคิดดูก็แล้วกัน สมมติว่าเราเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเป็นว่าเล่นนี่ สิบ ยี่สิบ สามสิบ หรือเป็นร้อยตลอดทั้งชาติก่อน แล้วเราจะมาไถ่ชีวิตสัตว์แค่ตัวเดียว น้ำหนักมันจะได้กันไหม? คือเราไม่รู้ว่าที่เคยฆ่ามานี่มันเท่าใดกันแน่ ที่มันกำลังผลิตผลอยู่ ที่มันกำลังจะเอาเรื่องเราอยู่นี่นะ เราไม่รู้หรอก เพราะถ้าหากว่าเป็นคนธรรมดาก็ไม่สามารถที่จะระลึกชาติได้ ชาติก่อนมีจริงหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเลย ด้วยญาณ ด้วยความล่วงรู้ของตัวเองนี่ มีแต่อาศัยศรัทธาในพระพุทธเจ้า เชื่อว่า ‘กรรมมีจริง ผลของกรรมมีจริง’ ก็เอาแล้วตรงนั้น

เมื่อทราบแนวทางจากท่านผู้รู้ ผู้รู้แจ้งทั้งสามโลกบอกไว้ว่า เรื่องของผลของกรรมมีจริง แล้วเราสามารถที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ได้ ก็คือ ‘เคยทำกรรมอะไรไว้นะ เราก็เปลี่ยนเส้นทางกรรมนั้นเสีย’ คือเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ลักษณะของการทำบุญ แต่เปลี่ยนลักษณะของเส้นทางกรรม คือ สมมติว่าในชาตินี้เดี๋ยวก็ตบยุงบ้าง เดี๋ยวก็ไม่ตบยุงบ้าง หรือว่าอยากเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ไม่อยากเบียดเบียนคนอื่นบ้าง เปลี่ยนเป็นว่า ‘งดเว้นขาดนะ งดเว้นขาดเลยที่จะไปเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น’ ก็นี่เรียกว่าเป็นการถือศีลข้อแรกด้วยความเห็นว่า ‘นี่มันไม่ดี มันไม่ใช่ของที่เป็นมงคล มันไม่ใช่ของที่จะทำให้เราเกิดความสุขความเจริญในเวลาต่อมา’

ด้วยความเว้นขาดเช่นนั้นนี่ ก็ถือว่าได้ส่วนของการละลายวิบากเก่า วิบากดำมืดลงได้บ้างแล้ว คือมันไม่มีตัวต่ออายุ ไม่มีตัวเสริม ไม่มีตัวซ้ำ มันก็จะค่อยๆเจือจางลงไปเอง

แต่บางคนไม่อย่างนั้นนะ โรคภัยไข้เจ็บมากอยู่แล้ว ยังไปทำ ยังไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เพิ่มเติมเข้าไปอีก ก็เลยมันเหมือนกับทบทวีเข้าไปนะว่า ของเดิมไม่ดีอยู่แล้ว แล้วมาสร้างของใหม่ที่มันย่ำแย่ซ้อนเข้าไปอีก มันก็เลยไปกันใหญ่นะ แทนที่จะช่วยชีวิตสัตว์เป็นการบาลานซ์กรรมบ้าง แต่อันนี้กลายเป็นว่าเราไปเพิ่มน้ำหนักมาทางเอียงลงต่ำเข้าไปอีก ก็ยิ่งเห็นผลชัดเลย

อย่างนี้ก็ดีแล้วนะ อย่างที่คุณได้ไถ่ถามมาก็คือ มีเจตนาที่จะ... คำว่า ‘แก้กรรม’ นี่นะ มันก็คือแก้ที่นิสัยนี่แหละ มันไม่มีพิธีอะไรที่จะไปแก้ จะไปลบล้างกรรมเก่าได้ อย่าไปเชื่อนะ อำนาจของกรรมเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในจักรวาล มันมีอำนาจขนาดที่สร้างโลกได้ทั้งใบ สร้างสวรรค์ได้ทั้งอาณาจักร อาณาจักรสวรรค์ อาณาจักรนรกนี่นะ มันมาจากกรรมทั้งนั้น ดลบันดาลขึ้นมาจากกรรมทั้งนั้น แล้วอะไรล่ะ? พิธีอะไรล่ะที่มันจะมีอำนาจไปทัดทานกับอำนาจกรรมได้?

เอาล่ะ ก็เป็นแนวทางนะครับ คือถ้าหากอยากจะทำให้วิบากเกี่ยวกับการฆ่าสัตว์มันเจือจางลง ก็คือไปไถ่ชีวิตสัตว์ แล้วก็ให้การไถ่ชีวิตสัตว์นั้น มันเป็นแรงบันดาลใจให้เราคิดไม่อยากจะเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นอีก ก็เป็นเรื่องของศีลข้อแรกเลยทีเดียว ถ้าหากว่าตั้งใจงดเว้นขาดตลอดชีวิตที่จะไม่เบียดเบียนกัน นี่ก็ถือว่าเป็นบุญใหญ่ เป็นมหาทาน พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นมหาทาน เพราะว่าเป็นการให้ความปลอดภัยกับสิ่งมีชีวิตอื่นนะ



๓) ถ้าเราเป็นฝ่ายเจ็บจากการถูกทิ้งเพราะคนรักไปมีใครใหม่ แต่เราไม่จองเวร อยากทราบว่าตัวคนรักจะมีเวรกรรมที่ทิ้งเราไปไหม?

มันขึ้นอยู่กับเจตนาของเขานะ มันขึ้นอยู่กับวิธีที่ทิ้งเราไป มันขึ้นอยู่กับความมีศีลของเขาก่อนที่จะจากเราไปหรือเปล่านะ ถ้าหากว่ามีการเลิกรากันโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่ได้ผิดศีลผิดธรรมนะ ก็ยังไม่ได้ถือเป็นบาปเป็นกรรมอะไรหนักหนา เพราะว่า... ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งนะ ต้องเข้าใจดีๆ เวลาที่เราเจ็บมากๆนี่ เราจะมีความรู้สึกว่า เราเป็นฝ่ายถูกกระทำเสมอ ทุกคนที่มีความรู้สึกเจ็บปวดจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำ ในขณะที่คนที่บอกว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรของเรา ที่ทำให้เราเจ็บปวดนี่ เขาอาจจะคิดของเขาอีกอย่างหนึ่ง

คือ... ฟังดีๆนะ อันนี้ผมไม่ได้ลงรายละเอียดในเฉพาะกรณีของคุณ หรือว่าของใครเป็นพิเศษ แต่ว่าพูดเหมารวมเลยว่า เดิมทีหญิงชายนี่ ก่อนหน้านั้นที่จะมาคบกัน เป็นคนแปลกหน้าต่อกัน แล้วที่มาคบกันนี่ก็เหมือนเป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคใหม่นี่มันจะไม่ค่อยมีการคลุมถุงชน เป็นการจับคู่กันโดยสมัครใจ เป็นการจับคู่กันโดยอยู่ใต้เงื่อนไขที่รู้ๆกันว่า จะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน แล้วก็มีการให้ความเอาใจใส่กันในฐานะของคนรักนะ

ในขณะเดียวกัน มันต้องรู้อยู่ลึกๆด้วยว่า ในฐานะของคนรักนี่ ถ้าตราบใดยังไม่ได้หมั้นหมาย ยังไม่ได้แต่งงานนี่ สามารถที่จะเลิกรากันได้ หรือถ้าหากว่าแต่งงานกัน ก็... อันนี้เห็นง่ายๆเลยนะ ชัดๆเลยตามแง่มุมของกฎหมาย คือมีสิทธิที่จะถอนหมั้น มีสิทธิที่จะหย่าร้างกันได้ นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันอยู่ทั่วไป

ทีนี้เวลาที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่า ไม่อยากอยู่ด้วยอีกแล้วนะ แล้วก็ลักษณะของการผิดสัญญานั้น มันเป็นการผิดสัญญาด้วยการผิดศีล หรือว่าด้วยการผิดใจกัน หรือว่าด้วยการรู้สึกว่าไปด้วยกันไม่รอด อันนี้มันขึ้นอยู่กับว่า ลักษณะของการที่จะตกลงเลิกรากันนี่ ใครเป็นฝ่ายเริ่มก่อน? ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายที่เริ่มสร้างเวร คือเดิมทีอยู่กันมาด้วยกันนี่ เรียกว่าสร้างสายใยของความรัก แต่พอฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่จะเลิกร้างโดยอีกฝ่ายยังไม่เต็มใจนี่ อันนั้นก็ถือว่าเป็นฝ่ายเริ่มสร้างเวร

คือคิดง่ายๆว่า เริ่มสร้างความเจ็บใจให้อีกฝ่าย อย่างใหญ่หลวงนั่นเอง การสร้างเวรตรงนี้นะ อย่างไรๆก็ต้องถือว่าเป็นความผูกพันในทางลบ ในทางไม่ดี ในทางมืด ในทางที่มันจะทำให้รู้สึกย่ำแย่ต่อกันนะ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูกแค่ไหนก็แล้วแต่ แต่โดยอาการของคนที่เป็นฝ่ายจากไปนี่นะ ส่วนใหญ่จะมีข้ออ้างต่างๆนานา แต่ในที่สุดแล้วก็คือว่า อยู่ด้วยกันไม่รอด ถ้าหากว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร คิดร้ายอะไรมากมายนะ ก็ถือว่าเป็นแค่ภัยเวรที่จะมีผูกอยู่กับเราเฉพาะตัวนะครับ คือเจอกันใหม่ก็จะรู้สึกไม่ดีต่อกัน หรือจะมีเหตุการณ์อะไรที่ดลให้เกิดความรู้สึกแย่ๆต่อกัน แต่ก็ยังมีความผูกพันกันอยู่ดี ตัดไม่ตาย ขายไม่ขาดอะไรทำนองนั้น

ทีนี้ถ้าเขาเป็นฝ่ายทิ้งเราไปด้วยอาการที่มันไม่ดี ด้วยอาการที่รู้ๆอยู่ว่า ทำให้เราเจ็บใจ มีความจงใจ มีความสะใจ หรือมีการผิดศีลนะ อย่างนี้ถึงแม้ว่าเราจะไม่ผูกใจ เราไม่เอาเรื่อง ไม่อยากเอาความ ไม่ถือสา แล้วก็คิดอภัย ตรงนี้นะ อย่างไรตัวบาปตัวเวร หรือว่าตัวภัยมืดที่จะติดตัวเขาไปนี่ มันก็จะเกิดขึ้นอยู่ดี คือไม่ใช่เป็นการผูกเฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเจอกับเรา ถึงได้รับผล แต่ตัวเขาเองเลยทีเดียวนี่นะมันมีความแปดเปื้อน มันมีชนักปักหลังอยู่ มันมีตัวความเดือดร้อนที่จะต้องได้รับนะ ไม่เฉพาะจากทางเรา แต่จากใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะไม่ต้องเกี่ยวข้องก็ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้นะว่า ผู้ที่ผิดศีลเกี่ยวกับเรื่องของกาเมสุมิจฉาจารนี่ โทษสถานเบาที่สุดเมื่อกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็คือจะเป็นผู้มีภัยเวร ท่านก็ไม่ได้ระบุนะว่า จะมีภัยเวรกับใคร แต่เราก็สามารถเข้าใจได้ ถ้าผูกเวรไว้กับใคร ผูกความเจ็บใจไว้กับใคร ก็จะมีภัยเวรกับคนนั้นแหละ

แต่ถ้าหากว่าลักษณะของการผิดศีลนี่ คือเป็นการผิดศีลเป็นนิสัย ผิดจนเรียกว่า จำไม่ได้แล้วว่าไปทำใครเขาไว้บ้างอย่างนี้นะ ลักษณะภัยเวรมันจะมาหาตัวในแบบที่ว่าคนเกลียดขี้หน้า ลองนึกดูว่า ในชีวิตเรานี่เคยเห็นบ่อยใช่ไหม? บางคนนี่เขาไม่ได้ทำผิดคิดร้าย ไม่ได้มาพูดอะไรไม่ดีใส่เรา แต่ก็เกิดความรู้สึกว่า เขาเป็นคนแบบที่ดูแล้วน่าเหยียดหยาม น่าดูถูก มีลักษณะบางอย่างในชีวิต ที่มันมีความเหม็น เหม็นออกมาจากจิตวิญญาณ คือไม่ใช่ตัวเหม็น แต่ดูหน้าแล้ว ที่เขาเรียกกันว่าเหม็นหน้านี่ ลักษณะแบบนั้น ถ้าเกิดขึ้นนะเป็นเหมือนกับติดตัวมาตั้งแต่เด็กแต่เล็ก แล้วก็โตขึ้นมาก็มีคนเหม็นหน้าบ่อย รู้สึกชีวิตมันไม่ค่อยมีใครเขาอยากจะอุปถัมภ์ค้ำชู ตรงข้ามอยากจะเหยียบย่ำให้ตกต่ำ หรือว่าอยากจะไปทำร้ายกัน หรือว่าอยากจะทำให้มีชีวิตที่ไม่เป็นสุขนี่ อันนี้ก็คือตัวอย่างของคนที่อยู่ในช่วงวิบากเกี่ยวกับกาเมสุมิจฉาจารให้ผลอยู่ คือดูแล้วไม่เป็นที่รัก

สมัยนี้ก็... มันเป็นแบบที่ว่าค่อนข้างจะเกร่อนะ ที่ว่าของเดิมนี่มาอย่างดี ศีลนี่หอมหวานนะ ดูทำให้เป็นคนเนื้อหอม แล้วก็เหมือนกับดึงดูดให้ใครต่อใครมาชอบได้มาก แล้วก็เผื่อใจปันใจไป ปันเนื้อปันตัวไปนะ ไม่ว่าจะหญิงจะชายแหละ ก็ทำกันแบบที่เอาของเก่าที่มันเป็นบุญ มาปู้ยี่ปู้ยำให้มันเกิดความเหม็นเสีย ทำของหอมให้กลายเป็นของเหม็น ต่อไปมันก็จะเปลี่ยนเป็นอีกแบบหนึ่ง

คือสังสารวัฏนี่น่ากลัวแบบนี้แหละ มาในโฉมหน้าแบบหนึ่ง หน้ากากของบุญแบบหนึ่ง เวลาที่ทำกรรมอันเป็นบาปนะ เป็นตรงกันข้าม ก็จะไปใส่อีกหน้ากากหนึ่งที่บาปกรรม จากสวยกลายเป็นขี้เหร่ จากหอมหวานกลายเป็นเหม็นเน่านะ ลักษณะที่ไปถึงสูงสุดที่จุดหนึ่งไม่ว่าจะเป็นบุญหรือเป็นบาป มันย้อนกลับมาให้กลายเป็นขั้วตรงข้ามได้อย่างที่น่าสลดใจนะครับ



๔) ช่วยขยาย อธิบายคำว่า ‘มิจฉาทิฏฐิ’ กับ ‘สัมมาทิฏฐิ’ ด้วยครับ แล้วก็ ‘สัมมาสติ’ ด้วย?

ที่ว่า ‘สัมมา’ ... สัมมา นี่นะ คือเป็นการรู้ถูกรู้ชอบนั่นเอง มาในทางถูกมาในทางชอบนั่นเองนะครับ ขึ้นต้นมาเลยไม่ใช่เราจะมาทำความเข้าใจกับคำว่า ‘สัมมาสติ’ ‘สัมมาสมาธิ’ ได้ทันที เราต้องทำความเข้าใจกับคำว่า ‘สัมมาทิฏฐิ’ เสียก่อน เพราะถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐินะ จำไว้เลยนะ มันจะไม่มีคำว่า ‘สัมมาสติ’ ‘สัมมาสมาธิ’ เกิดขึ้นได้เด็ดขาด

อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ เราจะต้องมีความเข้าใจถูก มีมุมมองที่ถูกต้องเสียก่อน ถ้าหากว่าขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง หากขาดมุมมองที่ถูกต้องแล้วนะ ก็จะไม่สามารถที่จะปฏิบัติอะไรได้อย่างถูกต้องเลย ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของศีลของธรรมนี่ ถ้าไปเชื่อเสียแล้วว่า ชีวิตจะเจริญรุ่งเรืองได้ต้องฆ่าสัตว์บูชายัญ แบบนี้ก็เท่ากับเอาความเชื่อของตัวเองนี่ มาทำให้ชีวิตหม่นหมองไปทั้งชีวิตแล้ว มันไม่มีทางที่จะเป็นคนมีศีลมีธรรมไปได้เลยด้วยการผูกความเชื่อไว้แบบนั้น

ในเรื่องเกี่ยวกับร่างกายและจิตใจของตัวเองก็เช่นกันนะครับ อย่างเมื่อกี้นี้ เราไปผูกความเชื่อไว้เกี่ยวกับชีวิตอื่นว่า จะต้องถูกบูชายัญนะ แต่ทีนี้ถ้าเราผูกความเชื่อไว้ตลอดไปว่า ‘กายนี้ของเราแน่ๆ ใจนี้ของเราแน่ๆ อัตตาของเรามีอยู่แน่ๆ ถ้าไม่ใช่กายใจแบบนี้ก็จะต้องเป็นกายใจแบบอื่น หรือลักษณะนามธรรมแบบใดแบบหนึ่ง มันจะต้องมีตัวตนอยู่’ ถ้าปักความเชื่อไว้แบบนี้ ไม่มีทางเลยที่เราจะส่องเข้ามาดูนะ รู้เข้าไปจนกระทั่งเห็นชัดว่า ‘กายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน’ ไม่มีทางบรรลุมรรคผลได้จากความปักใจเชื่อว่า ‘อย่างไรๆ ก็ต้องมีอัตตา’

แต่ถ้าหากว่าเราฟังธรรมะมามากพอที่จะเข้าใจ แล้วก็เกิดความเลื่อมใส เกิดความปักใจแน่วเชื่อเข้าไปนะว่า ‘กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่เราแน่ๆ’ แต่ต้องปฏิบัติให้เห็น ให้เกิดความซึ้ง ให้เกิดลักษณะของจิตที่รู้แจ้ง บรรลุธรรมขึ้นมา ด้วยความตั้งความเชื่อ ด้วยการตั้งศรัทธาไว้เช่นนั้น มันถึงจะมีสิทธิค่อยๆเข้ามาดู ‘เออ ลมหายใจนี้ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น สุข ทุกข์’ หรือว่าภาวะจิตใจสงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง ต่างๆนานานี่มันไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่ซ้ำของเดิม มันเป็นคนละชุดกันทั้งนั้นนะ

ที่พูดๆกันอยู่ ที่ฟังๆกันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลยว่าตรงไหนที่มันเป็นตัวเรา มันเป็นตัวเขา มีแต่การเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ด้วยการเห็นที่ชัดเจนจนกระทั่งจิตเกิดความเป็นปกติ เกิดความตั้งมั่นขึ้นมานะ นั่นแหละที่เรียกว่า ‘สัมมาสติ’ นั่นแหละที่เรียกว่า ‘สัมมาสมาธิ’ นะ คือสามารถรู้แจ้งได้ด้วยจิตที่เป็นปกตินะ ด้วยจิตที่มันรู้สึกเป็นอย่างนี้ ธรรมดาๆนี่แหละ



« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น