วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๐๘ / วันที่ ๒๘ ก.ย. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไต่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ก็เข้ามาที่ http://www.facebook.com/dungtrin



๑) ตั้งแต่ต้นปีมานี้ รู้สึกว่าวิบากเก่าจะให้ผล (คือวิบากไม่ดีนะ) แต่ทำกรรมใหม่ที่ดีมาด้วยตลอด คำถามก็คือ งานที่หนูทำมีกำหนดระยะเวลาทั้งหมดประมาณ ๓ ปี ทั้งปีนี้จนถึงปัจจุบัน เพราะเรื่องวิบากนี้ ทำให้ความสามารถในการทำงานของหนูไม่เต็มที่ (คือมองว่าเป็นของไม่ดีเก่าๆมารบกวนสมาธิในการทำงาน น่าจะอย่างนั้น) แม้ผู้ที่ทำงานด้วยกันจะพอใจกับผลการทำงานของหนูมาตลอด แต่ทุกวันนี้หนูจะเสียใจ หวนคิดตลอดว่า ๙ เดือนที่ผ่านมาเหมือนสูญเปล่า คำว่า ‘อยู่กับปัจจุบัน’ ใจมันไม่เอาเสียเลย (คือใจนี่มันไม่ยอมอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ยอมที่จะเจริญสตินั่นเอง) แต่หนูก็ตั้งใจจะลุกอีกครั้ง ขอพี่ตุลย์ช่วยเมตตาชี้แนะด้วย?

การที่เรามีสติที่กะพร่องกะแพร่งไม่ได้หมายความว่า เราไม่ได้เรื่องเสมอไปนะ บางทีก็เป็นจังหวะชีวิตที่จะต้องมีจิตใจไขว้เขวบ้าง มีจิตใจที่อยู่ในสภาพย่ำแย่บ้างนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในโลกนี้ไม่มีใครหรอก โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มเจริญสติได้ไม่นานนัก คนที่เขาเจริญสติกัน ๑๐-๒๐ ปี บางทียังมีเสียใจร้องไห้กันเลย แล้วถ้าจะมองว่าการเจริญสติจะต้องมีแต่รุ่งกับรุ่งนี่นะ อันนั้นต้องไปอยู่ป่าอยู่เขา ต้องไปอยู่ อย่างน้อยก็อยู่วัดวาอารามที่ไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจ ที่มันจะก่อกวนให้เกิดตัวความอยากได้มี อยากมีอยากเป็น อยากครองเรือนอะไรต่อมิอะไรต่างๆนะ อยู่เป็นฆราวาสนี่ มันมีเรื่องเข้ามาทุกวัน มีเหตุรบกวนจิตใจกันทุกวัน

ถ้าหากว่าเราไปมองนะว่า เอ๊ะ นี่ฉันเป็นนักเจริญสติ ฉันไม่ควรจะถูกรบกวนจากสิ่งเหล่านั้น หรือว่าจิตใจของฉันควรจะมีแต่สว่าง มีแต่รุ่งกับรุ่ง อันนั้นเป็นการตั้งความคาดหวังไว้กับเส้นทางของเราสูงเกินจริงนะ จำไว้ว่าฆราวาสนี่ มันต้องมีหมองบ้าง มันต้องมีสุกสว่างบ้าง เป็นธรรมดา เป็นเรื่องที่ไม่ใช่สิ่งผิดปกติ ไม่ใช่เราจะมามองได้เสมอไปว่า นี่วัดเป็นเครื่องชี้ว่าเราถอยหลัง เราไม่ก้าวหน้าในเส้นทางการปฏิบัติธรรม หรือการเจริญในธรรม

‘การเจริญในธรรม’ จริงๆนี่ หรือ ‘การปฏิบัติธรรม’นี่นะ พระพุทธเจ้าท่านก็บอกอยู่ว่า สำหรับฆราวาสแล้ว ผู้ที่นับได้ว่า ‘ประพฤติธรรม’ ก็คือผู้ที่มีศีล มีความสามารถที่จะให้ มีน้ำใจ หรือว่ามีความสะอาดทางจิตใจนั่นเอง ความมีน้ำใจนี่นะมันเพิ่มขึ้นทุกวันที่เรายังจำได้อยู่ ยังระลึกได้อยู่ว่าควรให้อะไรแก่คนที่ควรได้รับความช่วยเหลือบ้างนะ หรือว่าเราถวายอะไรกับผู้ที่ทรงคุณ ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ส่วนการรักษาศีลนี่ บางทีนะ ฟังดีๆนะ คือ คนรักษาศีลไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีความสุข มีความเบิกบานเสมอไป เพราะบางครั้งนี่ เรารักษาศีลแล้วมันขัดกับผลประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆที่ตัดสินใจที่จะรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์นี่นะ บางทีมันไปขัดแข้งขัดขากันกับกิเลสภายใน ตัวตนภายในจริงๆไม่ได้อยากรักษา อยากจะเอาอย่างที่ใจอยากได้ แต่ศีลเขาห้ามไว้ และตัวเรามันก็เข้าข้างศีล เกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความกระวนกระวายขึ้นมา… (เสียงหายนาทีที่ 05:29 - 05:42) ...ได้นี่นะ แล้วเกิดความรู้สึกเหมือนกับชีวิตมันมีความเป็นปกติ... (เสียงหายนาทีที่ 05:48 - 05:57) ที่มันสามารถเอาชนะกิเลสได้ อย่างนี้นี่นะ เราจะค่อยเห็นผลว่า ‘ศีลทำให้ใจเราเป็นปกติอย่างไร’

ศีลทำให้เป็นทุกข์ในระยะสั้น... (เสียงหายนาทีที่ 06:13 - 06:18) ...ในเส้นทางยาวๆที่ต้องเดินไปในชีวิต

ส่วนคนไม่รักษาศีลนี่นะ อยากได้อะไรเอาหมด มันมีความสุข มันมีความสะใจ มันมีปีติ มันมีโสมนัส ที่ได้ของที่เราต้องการอย่างใจ แต่พอของนั้นได้มานี่นะ มันกลายเป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง มันรู้สึกว่าตัวเองมีของเน่าของเสียอยู่ มีของที่ไม่ใช่ของของตัวอยู่ แล้วก็เกิดความรู้สึกในระยะยาวขึ้นมาว่า นี่ไม่ใช่ของของเรา นี่เป็นของที่ไปเอาจากคนอื่นเขามา พอเกิดความเห็น พอเกิดความเห็น พอเกิดความตระหนักว่า ตัวเองนี่อยู่บนเส้นทาง… (เสียงหายนาทีที่ 07:12 - 07:18) ...ความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นมันก็กัดกินหัวใจ มันจะไม่ยอมรับในช่วงแรกๆนะ แต่ในระยะยาว ยังไงๆ มันก็ต้องรู้อยู่กับใจ เห็นอยู่กับตัว เห็นอยู่กับตาว่า เรากำลังใช้ชีวิตในแบบที่ไม่ใช่ของของเรา ไปเอาของของคนอื่นเขามา อย่างนี้นี่นะ มันก็เกิดความรู้สึกว่าจิตใจนี่มีความหม่นหมองในระยะยาว เรื่องของศีลนี่ อันนี้ก็อยากจะฝากไว้กับทุกคน คือไม่ใช่กรณีนี้นะ แต่ถ้า… (เสียงหายนาทีที่ 07:52 - 07:58) ....ทุกข์ในระยะสั้นแต่ว่ามีความสุขในระยะยาวนะ ถ้าหากว่าเรายังเป็นผู้ให้ทานอยู่ เป็นผู้รักษาศีลอยู่ นั่นเรียกว่าเป็น ‘ผู้ประพฤติธรรม’ แล้ว

นิยามของ ‘ผู้ประพฤติธรรม’ ไม่ใช่แค่การเจริญสติภาวนาอย่างเดียว แต่เป็นผู้ที่มีน้ำใจที่จะให้ทาน มีความห้ามใจที่จะรักษาศีล งดเว้นขาดจากเรื่องผิดๆ เรื่องที่มันบาปทั้งปวงนะ ถ้าหากว่าเรายังมีทาน เรายังมีศีลอยู่ ถึงแม้ว่าจิตใจจะหม่นหมองลงบ้าง แต่ขอให้มองให้ชัดเป็นชีวิตโดยรวม เป็นภาพชีวิตที่มันอยู่บนเส้นทางระยะยาวไม่เกินร้อยปีนี้ ว่ามีความสุขสว่าง มีความน่าชื่นใจเมื่อระลึกถึงแล้วพบว่า ตัวเองสามารถที่จะอยู่บนเส้นทางนี้ได้ตลอดรอดฝั่งนะ มองอย่างนี้ก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเจริญสติไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่สามารถจะเอาดีในช่วงไหนเกี่ยวกับเรื่องของวิปัสสนา เรื่องทำสมาธิต่างๆนี่ ขอให้มองก็แล้วกันว่า เรายังเหลือความสุขสว่างจากการให้ทานและจากการรักษาศีลอยู่หรือไม่



๒) กรรมที่พ่อแม่ทำไว้ไม่ดี ถ้าเราต้องเป็นคนเลี้ยงลูกของพ่อแม่คู่นี้ให้เป็นคนดี และเชื่อฟังเรา การเลี้ยงดูที่ให้ความรักและความห่วงใย สอนให้เขาเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ทำให้เขาเห็น และเขาเองก็รับรู้ได้ แต่เหมือนเขายังดื้ออยู่ ถ้าเรารักเขาเหมือนลูกแท้ๆ บุญกุศลของเราที่ทำมาจะช่วยให้เขาเป็นคนดี เชื่อในวิบากกรรมได้ไหมคะ? มีคนบอกว่า ให้เราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เทวดาประจำตัวเขา เพื่อเปิดทางให้เรารักษากายและใจเขา มันจะได้ผลจริงไหม?

เรื่องของการที่จะทำให้เด็กมีความเชื่อเรื่องวิบากกรรมนี่ มันต้องค่อยๆหยอดเข้าไป และหยอดเข้าไปให้ถูกจังหวะนะ มันมาจากการที่เราใช้วิธีพูดกับเขา หรือว่ากระทำกับเขา มากกว่าที่จะไปอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้อะไรก็แล้วแต่ที่เรามองไม่เห็น เอาเรื่องที่เรามองเห็นกันก่อนดีกว่า คือไม่ใช่ไปขัดศรัทธาว่า อย่าไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร หรือเทวดาประจำตัวเขานะ คือทำไปเถอะ ถ้าหากว่าทำแล้วมีความรู้สึกว่า จิตของเรานี่เชื่อมกับเขาในทางที่สว่าง ในทางที่ดี ในทางที่เป็นบุญกุศลได้มากขึ้น เอาเลย

แต่คำถามที่ถามว่า จะทำอย่างไรให้เขาเป็นคนดี เชื่อในเรื่องของวิบากกรรมนี่นะ มันอยู่ที่เขาเห็นว่าเรามีศรัทธาในกรรมวิบากเพียงใด และทำให้เขาเห็นว่าเรามีเหตุผลในความศรัทธานั้นอย่างไร คือบางทีศรัทธาอย่างเดียวนี่มันไปก่อความรู้สึกต่อต้านให้กับคนบางคน หรือหลายๆคน โดยเฉพาะคนยุคนี้นี่นะที่คลุกคลีตีโมงอยู่กับเรื่องบันเทิง เรื่องที่มันฉาบฉวย เรื่องที่มันจับต้องได้ชั่วคราว และเห็นเป็นจริงเป็นจังมากที่สุดในชีวิตนี่ เขาจะไม่สามารถที่จะรับรู้อะไรที่เป็นนามธรรม หรือศรัทธาที่มีความสว่าง ความอบอุ่น ความสูงส่งได้ มันจะยากนะ ถ้าหากว่าเราทำๆไป สักแต่ทำโดยไม่บอกเหตุ ไม่บอกผล ไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงนี่นะ มันจะเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมาในใจว่า ทำอะไรโง่ๆ ทำอะไรงมงาย ทำอะไรเป็นคนโบราณนะ ก้าวไม่ทันยุคสมัย นี่คนยุคใหม่ เด็กรุ่นใหม่เขาจะคิดกันอย่างนี้ เกิดความรู้สึกต่อต้านกันแบบนี้

ถ้าหากว่าเราจะทำอะไรสักอย่างนะ เราต้องชี้ให้เขาเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับใจตัวเอง พูดเป็นคำๆให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กรับรู้ อย่างเช่น ถ้าบอกเขาในเรื่องเกี่ยวกับการให้ทาน การเสียสละ ก็ชี้ให้เขาเห็นนะ บอกบรรยายพรรณนาสรรพคุณว่าการให้ทานนี่ ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีอย่างไร ‘เออใจเราเป็นสุขนะลูก ใจเรานี่มันมีความรู้สึกเหมือนกับปลดเปลื้องอะไรบางอย่างที่มันเหนียวๆออกไป เหนอะหนะออกไปนะ’

หรือพอรักษาศีล พอห้ามใจอะไรได้นะ ถ้าอย่างทำให้เขาเห็นว่า เราโมโหชาวบ้าน แทนที่จะด่านะ เขาเห็นเรากำลังมีอาการเก็บอัดแล้ว มีอาการเหมือนอยากจะด่าแล้ว แต่ไม่ด่า เลือกพูดคำที่ดี เลือกพูดคำที่เสนาะหู เลือกพูดคำที่ไม่ระคายนะ แล้วก็มาชี้แจง มาบอกเหตุผลเขาว่า ‘นี่เขาทำแบบนี้นี่มันน่าโมโหมากนะลูกนะ แต่ว่าเราก็เหมือนกับไม่อยากที่จะเสียสภาพดีๆของจิตใจไป คือพอเสียสภาพดีๆของจิตใจไปแล้วมันเครียด มันหัวคิ้วขมวดตลอดวัน แต่ถ้ามันเลือกคำดีๆไปได้ ชนะใจตัวเอง ชนะความโกรธของตัวเองไปได้นี่ มันเครียดอยู่ไม่นานแล้วก็ยิ้มออก แล้วก็มีความสุข แล้วก็สามารถที่จะสบายใจกับตัวเองว่า เมื่อกี้ไม่ได้มีเรื่องกับเขามา’

นี่ค่อยๆบอก ค่อยๆสอน คือลักษณะการสอนนี่นะ ต้องสอนในขณะที่เราทำให้เขาเห็นแล้ว หรือไม่ก็สอนในขณะที่เขากำลังทำผิดอะไรสักอย่าง หรือแสดงถึงความไม่เชื่อในทางบุญในทางกุศลอะไรนี่ เวลาสอน อย่าสอนสักแต่ว่า ‘จงทำ’ หรืออย่าใช้คำสั้นๆแค่ว่า ‘อย่าทำ’ แต่ว่าให้อธิบาย มีคำอธิบายตามหลังมาด้วย ว่าที่ว่า ‘จงทำ’ นี่ จงทำแล้วเกิดผลดีอย่างไรทางใจ ‘อย่าทำ’ แล้วเกิดผลดีอย่างไรกับสุขภาพจิต หรือว่ากับหน้ากับตา หรือเส้นทางชีวิตในแต่ละวันนี่ ที่จะไปดึงดูดแสงสว่างเข้ามา ไปดึงดูดความสุขเข้ามาในบ้านนี่ ต่างๆนานานี่นะ พยายามหัดเป็นคนที่บรรยายสรรพคุณเก่งๆเข้าไว้ เด็กจะฟัง แล้วก็ค่อยๆเชื่อ

ถึงแม้ว่าเขาจะหัวดื้อขนาดไหนนะ แต่ถ้าหากว่าความสว่าง ความเย็น แล้วก็ความมีเหตุผลมันปะทะจิตปะทะใจเขาทุกวันนี่ เขาทนอยู่ไม่ได้หรอก แรงต่อต้านนั้นมันจะต้องอ่อนตัวลงนะ ถ้าไม่ใช้เวลาแรมเดือน ก็ใช้เวลาแรมปี แต่ผลมันคุ้มค่าเพราะเขาจะได้ดีหลายๆชาติเลย ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวนะ ต้นของเมล็ดพันธุ์ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กนิดเดียวนี่มันขยายออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่รู้ว่ามันจะมีขอบเขตขนาดไหน แต่เรารู้ว่ามันจะได้ผลดีกับเขาแน่นอน



๓) มีอยู่หลายครั้งที่นั่งเล่นๆดูลมหายใจอยู่ ทั้งๆที่ยังลืมตา แต่ทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย มันปิดไปชั่วขณะ เห็นแต่ใจที่คิดปรุงแต่ง คือมีตัวรู้แยกออกมา เห็นกายใจชัดเจนมากครับ เป็นอย่างนี้สักพักก็กลับสู่สภาวะที่ทวารทั้ง ๖ ทำงานปกติ อย่างนี้เรียกว่าจิตรวมหรือเปล่า?

ทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า ลักษณะของจิตที่ คือ ถ้าเป็นนักวิชาการธรรมะ หรือว่านักอภิธรรมนี่ ก็จะเรียกว่าเป็น ‘วิถีจิต’ นะ ถ้าวิถีจิตใดนี่มีการยกอารมณ์ขึ้นสู่วิถีจิตโดยเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วยนี่ ก็จะมีอาการที่จิตผนึกเข้ากับอารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวนะครับ แล้วก็มีการปิดทวารอื่นๆ ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น นอกเหนือไปจากสิ่งที่จิตนี่ยึดเหนี่ยวเป็นอารมณ์อยู่นะ อันนั้นก็เรียกว่าเป็นตัวความเป็นหนึ่งเดียวกันกับอารมณ์ ซึ่งในทางสมาธิแล้วนี่ ถ้าหากว่ามองเป็นเรื่องการฝึก ในเรื่องของสมถะนะ ถือว่านี่เป็นความก้าวหน้า

นี่คือสิ่งที่เป็นหลักฐานเห็นได้ชัดทั้งลืมตา ว่าจิตคนเรานี่สามารถที่จะอยู่กับอะไรอย่างหนึ่งได้ทั้งๆที่ยังไม่ต้องหลับตา ยังไม่ต้องมีอาการเข้าสู่นิทรารมณ์นะครับ กำลังตื่นอยู่ดีๆนี่แหละ แต่ถ้าหากว่าใจเราผูกพัน ใจเรานี่มีความเข้าไปคลุกเคล้าอยู่กับลมหายใจมากๆเข้า ตัวลมหายใจนี่แหละจะยึดเอาพื้นที่การรับรู้ของเราไปทั้งหมดนะ ในขณะที่เรานั่งเปิดตาอยู่นี่ ดูเห็นว่า มีลมเข้า มีลมออกนี่ ในที่สุดแล้วมันไม่ไปสนใจทวารทางอื่น มันสนใจแต่ว่า เห็นลมหายใจด้วยห้วงมโนทวาร

ความรู้สึกที่นำมาด้วยกายสัมผัสนะ คือตัวลมหายใจที่กระทบร่างกาย มันก่อให้เกิดมโนภาพในห้วงมโนทวารชัดเจน ลักษณะของลมเป็นอย่างไร มีต้นลมเป็นปลายแหลมๆเข้ามา เป็นลำ แล้วก็ทยอยออกไปนะ สู่ความว่างเปล่า มันเห็นชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างนี้เรียกว่าเห็นนิมิตชัด แล้วเมื่อนิมิตชัด จิตมีความพอใจ จิตมีความปลื้มปีติที่ได้เห็น กายก็สงบระงับ จิตก็สงบระงับ คือมันจะจูนตรงกันสู่ความสงบระงับ เพื่อรู้เห็นตัวการเคลื่อนไหวของลมหายใจเพียงอย่างเดียว

การที่เราเกิดประสบการณ์ว่า ตาดับ หูดับ จมูกดับ ลิ้นดับ แล้วก็กายดับ เหลือแต่ห้วงมโนทวารที่เห็นลมหายใจอยู่นี่ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเหมือนมีความมหัศจรรย์อะไร แต่เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่จิตใจเริ่มผูกอยู่กับลมหายใจดีแล้ว เมื่อผูกอยู่กับลมหายใจดีแล้วนะ เราเห็นอย่างนั้นนี่ ให้ทำต่อไป อย่าหยุด อย่าเลิก แล้วก็ศึกษาเพิ่มด้วย ศึกษาจากของจริง เห็นให้ได้ว่า ลักษณะที่มันเข้า ลักษณะที่มันออก โดยปรากฏโดยความเป็นธาตุลม มีอาการพัดไหว เดี๋ยวพัดเข้า เดี๋ยวพัดออก มันให้ความรู้สึกอย่างไรในขณะที่เหลือแต่ลมหายใจอย่างเดียว

ยิ่งเราสนใจปฏิกิริยาทางใจมากขึ้นเท่าใด อาการรับรู้หรือว่าสตินี่มันก็จะเข้ามาเห็นสภาพของจิต สภาพของใจมากขึ้นเท่านั้น จำคำนี้ดีๆไว้นะ คือเรายิ่งเห็นปฏิกิริยาทางใจที่มันเป็นสุข มันเป็นทุกข์ มันมีความชอบ มันมีความชัง กับสภาวะแบบนั้นแค่ไหน เราจะยิ่งเห็นแล้วก็รู้เข้าไปถึงสภาพของจิตมากขึ้นเท่านั้น

จิตนี่อยู่ๆเราจะไปมอง เราจะไปเล็งมันตรงๆไม่ได้หรอก แต่เราสามารถที่จะเห็นอาการ หรือปฏิกิริยาทางใจที่มันมีอาการสวนตอบกับการกระทบกระทั่ง หรือสภาวะหนึ่งๆ เมื่อเราสามารถที่จะเห็นอาการ เมื่อเราสามารถที่จะเห็นปฏิกิริยาทางใจมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงนั้นนี่นะมันก็จะถึงบางอ้อ มันก็จะถึงข้อสรุปนะ เกิดปัญญาขึ้นมาว่า อาการของจิต ลักษณะของจิตมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามการกระทบ ตามการปรุงแต่งของสิ่งภายนอก หรือตามการปรุงแต่งของจิตเจตนาของเราเอง ที่จะเล็งอยู่ ที่จะดูอยู่ ที่จะรับรู้อะไร การเห็นปฏิกิริยาทางใจนี่นะ บางทีมันจะขาดช่วงไป มันจะเหลือแต่ความนิ่ง มันจะเหลือแต่ความสงบ เหมือนกับไม่มีอะไรเลย เหมือนกับมีแต่ความรู้สึกว่างๆอยู่ เหมือนกับไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีบุรุษ ไม่มีสตรี ไม่มีมนุษย์ ไม่มีจักรวาล ไม่มีโลกอะไรทั้งสิ้น มีแต่การรับรู้ว่างๆ ก็ขอให้ดูว่านั่นก็เป็นอาการอย่างหนึ่งของจิต เป็นของชั่วคราวอย่างหนึ่งของจิต

ถ้าเราสามารถรับรู้ได้ถึงอาการของจิตชัดๆ มีแต่จิตอย่างเดียวที่มันกำลังแสดงตัวอยู่ ว่างๆอยู่ นี่ตรงนั้นน่ะเป็นโอกาสทองที่เราจะเห็นต่อไป ว่าอาการที่ตามมา อาการที่มันเปลี่ยนไปนี่เป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเราเห็นอาการแค่ว่างๆ แล้วไปสำคัญมั่นหมาย มีความยึดอยู่ถึงอาการว่างๆนั้น มันจะเหมือนไม่ได้เห็นอะไรเลย ไม่ได้ประโยชน์อะไรสักเท่าใด

แต่ถ้าหากว่า เราเห็นความว่างนั้นด้วยอาการที่เป็นอุเบกขา แล้วมีความรับรู้อย่างต่อเนื่องไปจนกระทั่งสุดทางของความรู้สึกว่างๆ กลายเป็นอาการปรุงแต่งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา เช่น อยากจะออกจากสมาธิ อยากจะออกจากอาการดูลมหายใจ หรือไม่ก็เหมือนกับลมหายใจเสื่อม แรงดึงดูดจิตเสื่อม แรงดึงดูดใจของเรานะ มันถอยห่างออกไป แล้วใจเราเกิดการปรุงแต่ง มัวซัวขึ้นมา เกิดการปรุงแต่งมโนภาพอย่างอื่นขึ้นมา หรือถูกรบกวน ถูกดึงดูดด้วยเสียง หรือภาพอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งตรงหน้าไปได้ ถ้าหากว่าเห็น ถ้าหากว่ารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น ตรงนั้นแหละที่มีประโยชน์ที่สุด ตรงนั้นแหละที่เป็นประโยชน์จากการที่เราผ่านความว่างมา

คือมันได้เห็นความไม่เที่ยงของความว่าง มันได้รู้จักว่าอาการปรุงแต่งชนิดหนึ่งของจิตเพิ่งผ่านไป อาการปรุงแต่งชนิดนั้นก็คือ ความรู้สึกว่าว่างๆเหมือนไม่มีอะไร นี่ขอให้จำไว้ดีๆเลยนะ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเห็นความว่าง ยังไม่มีประโยชน์ แต่พอเราเห็นความว่างต่างไป หรือมีความกระเพื่อมไหว นั่นแหละตรงนั้นล่ะเป็นประโยชน์ที่สุด แล้วคนจะไม่ค่อยเห็นกัน คือคนจะไปมองเห็นตอนที่มันกำลังว่าง ตอนที่มันกำลังนิ่ง หรือตอนที่มันสามารถรับรู้ลมหายใจได้ชัดเจน แต่ตอนที่จิตเคลื่อน ตอนที่จิตมันเปลี่ยนไป มันต่างไป อันนั้นไม่ค่อยเห็น เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันไปเกิดความสำคัญมั่นหมายแล้ว เกิดอุปาทานแล้วว่า นี่เรากำลังจะออกจากสมาธิ ตัวตนมันครอบคลุมทั่วทั้งจิตใจไปแล้วนะ จากเดิมนี่ที่จิตไม่แปดเปื้อน จิตมีแต่ความสะอาดอยู่ด้วยความรู้สึกว่างนี่ พอมันแปดเปื้อนด้วยความรู้สึกมีตัวตนขึ้นมานี่ ตอนนั้นไม่ได้ดูกันแล้ว ลืมสติกันไปหมดแล้ว ถ้าหากฝึกมองอยู่นะ คือทำความเข้าใจล่วงหน้าไว้อย่างนี้ มันก็จะเกิดทิศทาง มันก็จะเกิดข้อสังเกตนะ ในครั้งๆต่อไปถ้าหากว่าทำได้ ก็ขอให้ลองดูตรงนี้ก็แล้วกัน



๔) ศรัทธาที่ลดลง เพราะนานๆจะเพิ่มพูน (อืม... หมายความว่าอย่างไร ศรัทธาที่ลดลง เพราะนานๆจะเพิ่มพูนได้อย่างไร) และศรัทธาที่ลดลง จะมีผลทำให้การนั่งสมาธิไม่ก้าวหน้าหรือเปล่า?

เอาอย่างนี้ ตามความเข้าใจคงเหมือนกับว่า พอมีความศรัทธาในการเจริญสติน้อยลงนี่ จะทำให้เพิ่มกลับมาได้อย่างไร

อันนี้ ต้องทำความเข้าใจตามธรรมชาติ คืออย่าไปมองว่ามีอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่าทางลัดอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มศรัทธา หรือว่ารักษาศรัทธาให้ได้ตลอดรอดฝั่งนะ มันต้องมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา จริงๆถ้าพูดถึงการทำสมาธิหรือว่าการเจริญสตินี่นะ น่าจะเป็นคำว่า ฉันทะ มากกว่า คือคำว่า ศรัทธานี่ หมายความว่าความเชื่อ ความเลื่อมใสในสิ่งที่ดี ในทางที่มันเป็นกุศล แต่ว่าตัวความพอใจที่จะปฏิบัติธรรม หรือว่าเจริญสติภาวนานี่นะ อันนี้ก็ต้องอาศัยฉันทะ หรือว่าความพึงพอใจ

ความพึงพอใจมันเกิดจากไหน มันเกิดจากการที่ใจรู้สึกเหมือนกับตัวเองเป็นแม่เหล็กขั้วหนึ่งที่ถูกแม่เหล็กอีกขั้วหนึ่งดึงดูด คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่ มีการงานหรือว่ามีเรื่องของความสนุกทางธรรม ที่สามารถดึงดูดจิตใจของเราให้ไปฝักใฝ่ได้ ตัวนี้เรียกว่า ฉันทะ นะ การที่เราขาดฉันทะ ขอให้มองว่า มันขาดแรงดึงดูดไป แล้วพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าหากว่าไม่มีความสุขอยู่บ้าง มันไม่มีแรงดึงดูดหรอก ถ้าหากว่าไม่มีความพึงพอใจอันเกิดจากความรู้สึก เหมือนกับถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่มีความรู้สึกสนุกที่จะทำ ไม่มีความรู้สึกว่าทำแล้วมันได้ผลดีกับทางจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมานี่ มันก็ไม่เกิดฉันทะเป็นธรรมดา ขอให้เข้าใจธรรมชาติของเหตุผลอย่างนี้ ว่ามันเกิดความพอใจขึ้นได้ เพราะว่าประสบความสำเร็จอะไรบางอย่าง มันมีความสุขอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา

ทีนี้ถามว่า จะทำอย่างไรให้มันเกิดความสุข? ขั้นแรกเลยนะ อย่าหวังความสุข อย่าหวังความก้าวหน้า อันนี้เป็นขั้นแรกจริงๆที่ต้องทำความเข้าใจนะ คนส่วนใหญ่จะไปสำคัญมั่นหมายว่า ยิ่งทำต้องยิ่งได้ ยิ่งได้ต้องยิ่งมีความสุข หรือเกิดฌาน ญาณ วิปัสสนาอะไรขึ้นมานะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราตัดความคาดหวังได้ เรียกว่าสร้างเหตุแห่งความสุขขึ้นมาทางใจแล้วชนิดหนึ่ง ทีนี้เวลาทำ ทำไปเรื่อยๆ ทำเพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกพอใจในขณะนั้น เอาความพอใจแค่ขณะเดียว นาทีเดียว อย่าเอานาทีอื่น ไม่ว่าจะหน้าหรือหลังมานะ จากนั้นถ้าหากว่าจะไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดอยู่อีก ก็ไม่ต้องไปบังคับ ให้หันไปทำอย่างอื่น แล้วกลับมาทำเรื่อยๆเมื่อนึกออก เมื่อนึกขึ้นได้นะครับ


เอาล่ะ ก็เจอกันวันจันทร์นะ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น