สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin แล้วก็จะเห็นสเตตัสนะครับ ปรากฏทุกสามทุ่ม ของคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เข้ามาถามในสเตตัสนั้นได้เลย
๑) หากเราอยากจะเกิดเป็นเทวดา หรือพรหม ควรจะอธิษฐานจิตเพื่อขอเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมชั้นไหน เพื่อจะได้พบเจอพระศรีอริยเมตไตรย โดยที่เวลาของภพภูมินั้นๆยาวนานเพียงพอที่จะยังไม่เคลื่อน ไม่จุติไปยังภพอื่นเสียก่อน
จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าปรารถนาอายุอันเป็นทิพย์ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ก็จะต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญทานไว้มาก คือไม่ใช่ทำเล่นๆแค่ครั้งสองครั้ง แต่ทำเล่นๆเป็นงานอดิเรกไปจนตลอดชีวิต น้ำจิตน้ำใจจะต้องมีประมาณเหมือนกับทะเล หรือมหาสมุทร คือมีน้ำใจไม่มีที่สิ้นสุด ก็จะมีอายุอันเป็นทิพย์ แทบจะเหมือนกับลืมไปเลยว่าเคยเกิดเป็นเทวดาตั้งแต่เมื่อไหร่ นึกขึ้นมาเมื่อไรก็รู้สึกว่าเกิดมานานแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นผลของการที่มีน้ำจิตน้ำใจ ครุวนา ดุจดั่งทะเลหรือมหาสมุทรนะครับ
ถ้าหากในแง่ของความยาวนานจริงๆนอกจากเรื่องของน้ำจิตน้ำใจแล้ว จะต้องมีเรื่องความสะอาดของใจด้วย ถ้าหากว่าตั้งใจรักษาศีลแล้วสามารถรักษาได้ตลอดชีวิตที่เหลือนะครับ ณ เวลาที่พบพระพุทธศาสนาแล้ว มีศรัทธาอันแก่กล้าแล้ว เข้าใจแล้ว เชื่อแล้ว ว่ากรรมมีจิรง วิบากมีจริง
กรรมมีจริงตรงไหน? ตรงเจตนาที่เราตัดสินใจ เราตั้งใจทำดีหรือทำชั่ว ตรงนั้นเรียกว่าเป็นกรรม ส่วนผลของกรรมก็คือ สิ่งที่จะเผล็ดผลเป็นชะตาชีวิต เป็นรูปร่างหน้าตา เป็นตระกูลที่เข้าไปสู่ หรือสภาพแวดล้อมใดๆ ก็แล้วแต่ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีความประณีตหรือมีความหยาบ พรรค์นั้น เป็นผลของกรรม
ผลของกรรมนี่ไม่ใช่แค่ว่าเขียนหนังสือแล้วมีตัวอักษรปรากฏอยู่ หรือว่าเราพูดอะไรไป แล้วกระทบหูคน เกิดผลอะไรขึ้นมา ไม่ใช่แบบนั้นนะครับ แต่ผลของกรรมนี่มันเป็นสิ่งลึกลับกว่านั้น มันเหมือนเงาตามตัวเรา แล้วก็สามารถที่จะลิขิตว่าชีวิตของเราจะเป็นสุข หรือทุกข์ จะสูงหรือต่ำ จะดำหรือขาว จะประณีตหรือหยาบ ถ้าหากว่าคนมีศีล สามารถที่จะตั้งใจงดเว้นกรรมอันเป็นบาปชั่วได้ห้าประการแล้วตลอดชีวิตนะครับ ผลก็คือ ลักษณะของอายุ วรรณะ สุขะ พละ ก็จะมีความมั่นคงแข็งแรง ท่านเปรียบไว้ อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบไว้เหมือนกับเป็นภาชนะรองรับที่มั่นคงแข็งแรง หรือเปรียบเหมือนแผ่นดินที่มีความมั่นคง สามารถจะรองรับผลของบุญ ผลของกุศลต่างๆโดยไม่มีการชำรุด ทรุดโทรม หรือว่าผุกร่อนไปเสียก่อนจะถึงอายุขัยนะครับ
จริงๆพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้เป็นสรุปความง่ายๆว่า ถ้ามีมโนกรรมอันเป็นสุจริต ถ้ามีวจีกรรมอันเป็นสุจริต และมีกายกรรมอันเป็นสุจริต มีสุจริต ๓ นั่นเอง ก็จะเป็นเหตุให้มี อายุ วรรณะ สุขะ พละ อันเป็นทิพย์ ยืนยาว ยั่งยืน ถ้าหากว่าปรารถนาที่จะไปให้ถึงพระศาสนาของพระศรีอารย์นี่ เรียกว่าจะต้องตั้งจิตไว้ ต้องบำเพ็ญทั้งทานบารมี และศีลบารมี ให้มีความเต็มเม็ดเต็มหน่วยตลอดชีวิตที่เหลือนั่นเอง
ทีนี้ถ้าจะประกันว่าไปถึงศาสนาของพระศรีอารย์หรือเปล่าแน่ๆนี่ มันต้องดูเรื่องอีกหลายๆอย่างด้วยนะครับ ก็คือ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีความสามารถจะตั้งจิตให้เป็นสมาธิถึงฌานได้ มีความเป็นเอกัคตารมณ์ ถ้าหากว่าจิตของเราใหญ่พอ อันนั้นก็สามารถไปถึงพรหมภูมินะครับ พรหมภูมินี่เป็นที่เดียวที่ประกันได้ว่าอายุยืนยาวเป็นกัปเป็นกัลป์แน่ ส่วนเทวดานี่ก็ไม่มีความแน่นอน ค่อนข้างจะมีความพลิกผันได้ง่าย อย่างเช่น ก็มีการระบุไว้นะครับว่า ถ้าหากเทวดาเสียใจ เศร้าโศก มากเกินไป ถึงขั้นตรอมใจก็สามารถที่จะจุติ สามารถที่จะเคลื่อนจากภพของเทวดาได้โดยง่าย เพราะว่าจิตของเทวดา กายทิพย์ของเทวดา มันค่อนข้างจะมีความเปราะบาง
แต่พระพรหมนี่ ถ้าได้ถึงฌานในขณะก่อนตายนะครับและก็ไปสู่พรหมภูมินี่ มันมีความมั่นคงแข็งแรงมาก โอกาสที่จะมีอะไรกระทบกระทั่งให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจ หรือว่าจะต้องเคลื่อนด้วยอุบัติเหตุทางภพภูมินี่มันแทบไม่มี มันแทบเป็นไปไม่ได้ พระพรหมนี่ ไม่สามารถที่จะไปก่อเหตุอะไรที่ร้ายๆเนื่องจากว่าภพภูมิ หรือภาวะของพวกท่านนี่มันไกล มันห่าง จากโลกียวิสัย เรื่องที่จะมากระทบกระทั่งให้เกิดราคะนี่ไม่มี เรื่องที่จะทำให้เกิดการกระทบกระทั่งจนกระทั่งเกิดความโกรธจัดนี่ก็ยาก เพราะว่าจิตของพระพรหมนี่ เหมือนกับท่านทรงอยู่ในสมาธิตลอดเวลา ท่านมีปีติเป็นภักษาหาร ไม่ใช่มีลักษณะอาหารหยาบ เป็นเครื่องอยู่เครื่องกินนะครับ
ก็เรียกว่าถ้าอยากจะประกันความปลอดภัยให้ตัวเองจนกระทั่งถึงยุคของพระศรีอารย์นี่ ส่วนใหญ่ก็จะบำเพ็ญสมาธิ เข้าฌานกัน ซึ่งในปัจจุบัน ในภาวะวิสัยที่อยู่ในยุคนี้ ที่เรามีรูปเป็นมนุษย์ มีความสามารถที่จะประกอบกรรมในเรื่องการคิด การพูด การทำ ในแบบที่จะออกสู่ความเป็นวิเวก ทำให้จิตมีความดำริที่จะพ้นจากกาม ที่จะพ้นจากกิเลส แล้วก็เข้าฌานได้ ก็ควรจะต่อยอดไปเลย คือเจริญสติให้เกิดความรู้ดำรู้แดงกันไปเลย ว่ากายนี้ใจนี้มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันเป็นอัตตาหรือว่าเป็นอนัตตากันแน่ เพราะว่าคำสอนในแบบที่จะทำให้เกิดการเข้าถึงฌานหรือว่าเข้าถึงมรรคถึงผลนี่ยังอยู่ครบถ้วน และก็ถ้าเราจะทำให้ถึงความเป็นพรหมนี่ พูดง่ายๆว่าเข้า เนกขัมมะสมาธิฌานได้นี่ ต่อยอดอีกนิดเดียวก็ถึงมรรคผลแล้ว มีค่าเทียบเท่ากับได้พบพระพุทธเจ้านั่นแหละ
เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต หมายความว่า ธรรมอันแท้จริง อันขั้นสูงสุด หรือว่าความจริงขั้นสูงสุดนี่เป็นสิ่งเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าท่านไหลรวมเข้าไปสู่ ถ้าหากว่าเรามองที่พระอรหันตสาวก หรือคนที่ได้ปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธเจ้า ได้เข้าถึงนิพพานแล้วท่านพูดกัน ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า ประดุจดั่งสายน้ำที่ไหลรวมเข้ากับมหาสมุทรใหญ่ คือพระนิพพานนี่ท่านเปรียบเป็นความว่างที่กว้างดุจดั่งมหาสมุทรแห่งจักรวาล ไม่มีต้นไม่มีปลาย ไม่มีขอบเขต ว่าอยู่ทางซ้าย ทางขวา ทางหน้า ทางหลัง ตรงไหน มีแต่ความว่างอันไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอนันต์ และพระอรหันต์นี่ ถ้าหากว่าดับขันธ์ปรินิพานแล้ว ก็ไปรวมอยู่กับความว่างอันไม่มีพร่อง อันไม่มีการล้น
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่าพระนิพพานไม่มีการพร่อง ไม่มีการล้น ไม่มีการเต็ม มีแต่ความว่างอันไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเข้าถึงได้ในปัจจุบันชาติแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องรอนะครับ เพราะการรอนี่เราไม่สามารถประกันอนาคตได้ชัดเจนเท่ากับการเอาน้ำบ่อนี้แหละ อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้าจะดีกว่า เพราะว่าถ้าเราหวังน้ำบ่อนี้นะครับ มันจะมีค่าเท่ากับว่าปลูกฝังนิสัยให้เกิดชาติไหน ปรารถนานิพพานและเอาจริง เอาให้ถึงนิพพานในชาตินั้น ถ้าชาตินี้เราตั้งเข็มไว้ว่า จะปฏิบัติธรรม เจริญสติ จนกระทั่งพบพระพุทธเจ้าตัวจริง พระองค์จริงของพระพุทธเจ้า คือพระนิพพานได้นี่ ก็เป็น คือจะถึงไม่ถึงนี่อย่างน้อยมีนิสัยตรงนั้นไว้แล้ว และถ้าเกิดว่าเกิดชาติหน้าฉันใด พบพระพุทธเจ้าหรือไม่พบกับพระพุทธเจ้าก็แล้วแต่ จะพบพระพุทธสาวกของพระองค์ ก็จะมีนิสัยแบบเดียวกันมาจุดชนวน มาจุดประกาย อยากเข้าถึง เข้าให้ถึงพระนิพพานได้เหมือนกันทุกๆชาติ ในที่สุดชาติหนึ่งมันก็จะต้องถึงที่สุดเข้าจนได้
๒) ในขณะที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว แต่เรายังเพิ่งหัดรู้กาย รู้สุขทุกข์ และรู้จิตอยู่ จะสามารถหัดแยกกายใจ เพื่อให้เห็นความไม่ใช่ตัวเราไปพร้อมกันด้วยได้ไหม? และมีกี่ทางบ้าง? จะทำอย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านสอนสติปัฏฐาน ๔ นี่ท่านไม่สอนแยกนะครับ ไม่มีตรงไหนเลยที่ท่านสอนแยก แต่ถ้าหากว่าปฏิบัติตามท่านแนะนำไปเป็นขั้นๆแล้วก็จะเกิดการเห็นว่านี่รูปนี่นามขึ้นมาเอง คือไม่ใช่ว่าเราจะไปใช้อุบายใด หรือว่ามีเทคนิควิธีไหนที่จะทำให้เกิดการเห็นแยกเป็นส่วนๆว่านี่กาย นี่เวทนา นี่จิต หรือว่านี่ธรรม มันไม่สามารถทำกันได้เหมือนกับเราพยายามไปแกะของสองส่วนออกจากกัน แต่เราจะสามารถเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อมีความพร้อมทางจิตที่จะรู้ที่จะเห็น ว่ากายนี้เป็นเพียงสิ่งถูกรู้
อย่างเช่นถ้าหากว่าหายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก ตอนนี้มันจะยังเป็นเพียงความรู้สึกว่า ทั้งจิตเรา ทั้งตัวเรา หรือว่าลมหายใจยังเป็นตัวเดียวกันอยู่ ต่อเมื่อรู้ไปไม่ใช่แค่ครั้งเดียว รู้หลายๆ ครั้งว่า เออนี่ที่เข้าที่ออกอยู่นี่มันไม่เที่ยง มันแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการเข้าอย่างเดียว ไม่มีการออกอย่างเดียว และที่เดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออกนี่ มันมียาวมีสั้นไม่เท่ากันด้วย เหมือนกับท่านเปรียบเทียบเป็นการชักรอกเชือกที่มีจังหวะที่ควรจะผ่อนสั้นบ้าง ผ่อนยาวบ้าง ตามธรรมชาติของกายที่ไม่ได้ต้องการลมหายใจยาวอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการลมหายใจสั้นอย่างเดียว แต่ว่าบางครั้งมันควรจะยาว บางครั้งมันควรจะสั้น นี่แหละตรงนี้เป็นที่มาของคำว่า ลมหายใจไม่เที่ยง
เมื่อเราเห็นไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตมันเลิกฟุ้งซ่านได้ แต่มีพอใจที่จะเห็นว่าเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น ตรงนั้นแหละที่จิตมันถึงจะมีอาการออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เพราะอะไร? เพราะธรรมชาติของจิตเดิมทีมันเกาะเกี่ยวทุกสิ่งทุกอย่าง มันยึดมั่นทุกสิ่งทุกอย่าง เลยเกิดความรู้สึกว่าตัวเราหรือว่าจิตของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับร่างกาย หรือว่าลมหายใจที่มันเข้าออกร่างกายอยู่ ลองหายใจดูตอนนี้ก็ได้ เราจะรู้สึกตลอดเวลาว่ามีเราเป็นผู้หายใจ ลมหายใจนี่แหละเป็นลมหายใจของเรา
ต่อเมื่อดูไปสักพักหนึ่ง จนกระทั่งจิตไม่ไปไหน มีแต่อาการเห็นอยู่ว่าลมหายใจเข้าออกมันไม่เที่ยง ตัวความเห็นว่าไม่เที่ยงนั่นแหละจะเป็นตัวที่แยกออกมาเอง โดยที่ไม่สามารถที่จะไประบุได้ว่าให้มันแยกออกมา นาทีนี้นะ อย่าเพิ่งแยกออกมานาทีนั้นนะ เวลามันจะแยกนี่มันต้องมีเหตุผลของมันตามธรรมชาติของจิต คือรู้เสียก่อนว่าสิ่งหนึ่งๆที่มันกำลังเฝ้าดูอยู่นี่มีความไม่เที่ยง มันถึงจะยอมแยกออกมา
จำไว้เลยนี่คือคีย์เวิร์ดนะครับ จิตเห็นสิ่งใดไม่เที่ยง จิตจะแยกออกมาเป็นผู้ดูสิ่งนั้น แต่ถ้าหากว่าเราไปตั้งใจว่า เราจงมีจิตแยกออกมาจากลมหายใจ อย่างนี้นะครับ ลองทำดูเดี๋ยวนี้ก็ได้ ลองตั้งใจเลย เราจงมีจิตแยกออกมาเป็นผู้ดูลมหายใจ แบบนี้นะครับมันจะมีแต่คำสั่ง ลักษณะการปรุงแต่งของจิตที่เป็นคำสั่ง บังคับตัวเองให้แยกออกมานี่ตัวนี้แหละติดแล้ว มันติดอยู่กับอุปาทานว่ามีเราเป็นตัวผู้แยก มีเราเป็นตัวที่สามารถจะควบคุม สามารถที่จะถอยออกมาดู ถอยออกมารู้ ตรงนี้ที่ผิดพลาด
แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นผู้แยก แต่ปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ ดูว่าเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น จนกระทั่งจิตมันเห็นขึ้นมาจริงๆว่าลมหายใจไม่เที่ยงนะครับ ธรรมชาติของจิตจะถอยออกมาเป็นผู้ดู ตรงนั้นแหละที่มันจะเป็นตัวอย่าง เป็นของจริงของจิตที่สามารถรู้ สามารถดูอะไรต่อมิอะไรโดยความเป็นสิ่งถูกรู้ว่าไม่เที่ยงได้ นะครับ
เอาละ ก็สรุปง่ายๆว่า ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะดูลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้ ทุกสิ่งทุกอย่างนอกเหนือจากนั้น จะเป็นสุข ทุกข์ จะเป็นภาวะฟุ้งซ่าน หรือว่าเป็นภาวะสงบของจิต มันก็ถูกรู้โดยความเป็นของไม่เที่ยงได้เหมือนกันหมด เพราะว่าทั้งหลายทั้งปวงมันเป็นแค่ บังอยู่แค่นิดเดียวก็คืออุปาทานนี่แหละ ว่ามีตัวเรานี่แหละ แต่ถ้าหากว่าอาการของใจมีความเป็นกลาง มีความเป็นอุเบกขานะครับ เราก็สามารถที่จะเห็นลมหายใจ โดยความไม่เที่ยงได้เป็นตัวอย่างแล้วนี่ ทุกอย่างมันก็จะไม่ต่างกันกับลมหายใจนี่แหละ มันเข้ามาและจะต้องออกไป ปรากฏขึ้นและจะต้องดับลงเป็นธรรมดาครับ
๓) ถ้าเราติดแช่ในอารมณ์ที่เป็นสุขตลอด หรือในบางอารมณ์ที่เราพอใจ จะแก้อย่างไร?
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนนะครับ อย่าไปแก้ ความสุขมันอยู่อย่างนั้น อย่าไปกลัวความสุข อย่าไปกลัวว่าความสุขจะทำให้เราติดนะครับ แต่จงกลัวเถอะว่าเราจะไม่เห็นความสุขโดยความเป็นของไม่เที่ยง นี่ถ้าจะกลัว กลัวอย่างนั้นนะครับ อย่าไปกลัวติด อย่าไปกลัวว่าความสุขเกิดขึ้นแล้วควรไปห้าม ควรไปเบรก การไปห้ามหรือว่าไม่ให้มีความสุขอยู่นานๆนี่เป็นแค่เจตนาที่ยืนอยู่บนพื้นความเข้าใจผิดว่า ถ้าหากเราไม่สุขแล้ว ก็จะไม่ต้องติด มันไม่ใช่แบบนั้นนะครับ
แม้แต่พระที่เจริญสติปัฏฐานในสมัยพุทธกาลนี่ ท่านก็พยายามทำให้ถึงฌานกัน ฌานนี่สุขมหาศาล สุขอย่างล้นหลามนะครับ ไม่ใช่สุขน้อยๆนะ สุขเปรียบเทียบได้กับมหาสมุทรแห่งความสุขทีเดียว แต่ท่านก็ผ่านกันไปได้ เพราะอะไร เพราะพิจารณาอยู่ เพราะมีสติเห็นอยู่ว่าความสุขไม่เที่ยง คือเราปล่อยให้มันสุขไปเลย อยากจะสุขเป็นวันๆ ให้มันสุขไปเลยแต่ว่าเรามีสติรู้อยู่ ณ ขณะที่มันเปลี่ยนจากภาวะสุขแบบหนึ่งๆ เช่น สุขอ่อนๆ กลายเป็นสุขมากๆ นี่ตรงนี้เราก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของความสุขได้แล้ว หรือที่มันจะชัดกว่านั้น สุขกลางๆ สุขอ่อนๆ กลายเป็นไม่สุขเลย กลายเป็นเฉยๆ อย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นความสุขในทางที่ไม่เที่ยงเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น หรือความไม่เที่ยงขาลง ล้วนแล้วแต่เป็นการเห็นที่ทำให้จิตฉลาดขึ้นทั้งนั้น อย่างที่พูดไว้เมื่อครู่นะครับ ถ้าจิตเห็นอะไรโดยความเป็นของไม่เที่ยง จิตจะถอยออกมาเป็นผู้ดู จิตจะไม่ยึดสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ว่า อนิจจสัญญา หรือว่าความหมายมั่นสำคัญว่าไม่เที่ยงนะครับ จะครอบงำความยึดติด หรืออุปปาทานทั้งปวง หมายความว่าจิตเห็นอะไรไม่เที่ยงปุ๊บ จิตมันจะถอนจากอุปาทานหรืออาการยึดติดสิ่งนั้นๆออกมาทันที และประสบการณ์ตรงนะครับในการเห็นว่าอะไรที่มันไม่เที่ยง และก็ถอยออกมาดูนี่ก็คือ จะเหมือนกับมีจิตตัวหนึ่งนะครับ ออกมาเป็นผู้ดูอยู่เฉยๆแยกออกมาต่างหาก
ตรงนี้เราสร้างไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะประกอบเหตุได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนนะครับ และขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าท่านคะยั้นคะยอ ให้ทำกันมากที่สุดก็คือ ให้เฝ้าดูลมหายใจที่ปรากฏอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมงนี่แหละ ไม่ใช่ไปพยายามดูอารมณ์แบบที่เรานึกว่าควรจะดูตรงๆเข้าไป เช่น อาการของใจ อาการของความฟุ้งซ่านอะไรต่างๆคือดูได้นะครับ แต่ไม่ใช่ไปคาดหวังว่าเราจะสามารถเห็นความไม่เที่ยงได้โดยง่าย เท่ากับลมหายใจนะครับ
เมื่อสามารถเห็นลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้แล้วนี่ อารมณ์สุข ทุกข์ หรือว่าตัวความฟุ้งซ่าน ตัวความสงบของจิตนี่ก็จะปรากฏให้เห็นได้โดยง่าย แต่ถ้าไปพยายามดูตรงๆนี่บางทีมันจะงงๆอยู่ และถ้ามีความสุขแบบที่มีอาการสงบเย็นจริงๆนะครับ แล้วเราสามารถที่จะเห็นความติดใจแฝงอยู่ในความสงบนั้นนี่ มันก็สามารถที่จะแยกออกมาได้เช่นกัน แต่ความสงบที่ว่านี้ต้องเป็นความสงบที่ค่อนข้างจะยืนยาวนิดหนึ่ง มีความยืนยาวขนาดที่เราสามารถเห็นได้ว่า มีอะไรแฝง มีอะไรประกอบอยู่ในความสงบนั้นบ้าง
ส่วนใหญ่ความสงบของคนที่มาเจริญสติปัฏฐานในช่วงแรกๆจะเป็นความสงบแบบที่พอดูเข้าไปปุ๊บ ความสงบนั้นหายไปทันที มันไม่ได้ตั้งมั่น ไม่ได้ยั่งยืน ไม่ได้มีความแข็งแรงพอที่จะแสดงองค์ประกอบที่มีอยู่ในจิต ณ ขณะนั้น มันเหมือนกับว่าพอดูปุ๊บ เปลี่ยนจากอาการสงบกลายเป็นอาการฟุ้งซ่านขึ้นมาทันที เป็นอาการอยากดูบ้าง เป็นอาการรู้สึกกระวนกระวายบ้างว่าถูกหรือผิด แต่ถ้าหากว่าความสงบมีความตั้งมั่นอยู่เอง มีธรรมชาติของจิตที่มีความเข้มแข็งในสมาธินี่ มันเหมือนกับของที่ตั้งอยู่บนพื้นราบที่มีความมั่นคง ที่มีความแข็งแรงแบบพื้นซีเมนต์อะไรอย่างนี้ อะไรกระทบกระแทก หรือแทรกแซงขึ้นมานี่มันก็ยังไม่เคลื่อนไหวนะครับ อันนี้ก็เปรียบเทียบไป
๔) คนรักนับถือคนละศาสนากัน จะสามารถรักกันได้ไหม? เพราะตนเป็นคนเคร่งการปฏิบัติธรรม คืออยากจะให้เราทั้งสองเห็นตรงตามกันในแบบที่มันจะเป็นสัมมาทิฏฐิในการทำบุญ และก็ร่วมสร้างบุญสร้างกุศลไปด้วยกัน
ตัวคำถามเองนี่นะครับ มันเหมือนกับบอกคำตอบอยู่โดยนัยแล้ว มันเหมือนบอกเป็นนัยๆอยู่แล้วว่า จะเป็นไปได้หรือเปล่านะครับ
ถ้าความรักของเรากับเขามีมากพอที่เขาจะหันมาฟังเรา หรือต่างฝ่ายต่างฟังเหตุผลของกันและกัน มันก็จะเป็นไปได้แหละ คือเคยมีอยู่เยอะที่คนต่างศาสนากันมารักกันแล้วฝ่ายที่มีความมั่นคงกว่า ฝ่ายที่มีความแข็งแรงในศาสนาของตัวเองกว่า สามารถเผื่อแผ่ความสุขไปให้อีกฝ่ายหนึ่งจนกระทั่งอีกฝ่ายเห็นดีเห็นงามตาม แล้วก็เกิดความเลื่อมใส คล้อยตาม อยากจะมาตามทางของฝ่ายที่แข็งแรงกว่า
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าคนศาสนาไหนก็ตามนะครับ จะค่อนข้าง โลกาภิวัตน์นี่คือค่อนข้างจะพลิกผันได้ง่าย ถ้าทางไหนดีกว่า ทางไหนเป็นตัวเลือกที่มีความสุขมากกว่าก็พร้อมจะกระโจนไปหามากกว่าสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นแบบสืบๆกันมา
ทีนี้ ขอให้พิจารณาตามจริง ว่าความปรารถนาของเรา ที่จะ คือเราตั้งต้นแล้วว่าของเราเป็นสัมมาทิฏฐิ ของเราเป็นฝ่ายถูกนี่ มันเป็นฝ่ายถูกในแบบที่จะให้เหตุผล หรือว่าให้ความเย็น สัมมาทิฏฐิมีอยู่สองแบบนะครับ สัมมาทิฏฐิแบบที่ร้อนแรงก็มี คือพูดน่ะพูดถูกหมดเลย ตามตำเราเป๊ะ ไม่คลาดเลยแม้แต่อักษรเดียว แต่ว่ามาพร้อมกับความร้อน มาพร้อมกับความอยากจะให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือว่าอยากให้ใครต่อใครมาเห็นตามตน มาเชื่อตามตน มานับถือตน คือหลักๆก็คือว่าถ้าไม่เห็นอย่างเรานี่ เราจะยังไม่หยุด เราจะยังไม่ยอม อย่างนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิแบบร้อน
ส่วนสัมมาทิฏฐิแบบเย็น ตั้งต้นมาจากความรู้สึกเมตตาก่อน มีความรู้สึกเย็นในตัวเองก่อน มีความรู้สึกเป็นสุขในตัวเองก่อน แล้วอยากให้ความสุข อยากให้ความเย็นนั้น แผ่กระจายไปถึงคนรอบข้าง ผ่านการพูด ผ่านการกระทำ ในแบบธรรมดาๆสื่อสารในแบบที่คนทั่วไปเขาสื่อสารกันนี้แหละ คือยังไม่พูดถึงธรรมะ ยังไม่พูดถึงรายละเอียดอะไร แต่อยากจะให้คนอื่นเขาเย็นก่อน อยากจะให้คนอื่นเขามีความรู้สึกเป็นสุขเหมือนกับเราก่อน
แล้วจึงเอาความสุขความเย็นนั้นไปโน้มน้าว โน้มน้าวตามธรรมชาติเลยนะครับ คือพอเขาเกิดความทุกข์อะไรขึ้นมา เราพูดถึงความสุขในแบบของเรา วิธีที่จะเอาชนะทุกข์ในแบบของเรา ถ้าหากว่าเวลาผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี อยู่กับเราแล้วสุขแล้วเย็นอย่างไร ก็ยังสุขและเย็นอย่างนั้น ในที่สุดเขาก็จะเชื่อว่าของของเรานี่ดีกว่า คือมีตัวเรานี่เป็นประจักษ์หลักฐาน พอเขาเริ่มมีใจโน้มน้อมมาเชื่อ มาศรัทธา มาเลื่อมใสความสุขความเย็นในแบบของเรานะครับ ตรงนั้นพูดอะไรไปเขาเชื่อหมด
แต่ถ้าหากว่า ขึ้นต้นมา เธอมาเชื่อแบบฉันเถอะ ด้วยอาการที่แบบ เธอทำไมไม่เชื่อล่ะ อะไรแบบนี้นี่ อาการที่มันมีความร้อนเร่า หรือว่ามีลักษณะของความอยากจะดึงเขามามากเกินเหตุ โดยไม่สมเหตุสมผลนี่ ก็จะทำให้เขาเกิดความกระวนกระวาย อย่างที่หลายๆคนในปัจจุบันยุคนี้เป็นกันมากเลย อ้าวไม่เชื่อเหรอ มาร ไม่เชื่อหรือ ไอ้นี่มันมารศาสนา จะทำลายศาสนา อะไรอย่างโน้นอย่างนี้นะครับ คือหาความเย็นไม่เจอ หาอะไรที่เป็นความสุขไม่เจอ คนพวกนี้นี่คือทำให้ศรัทธาในศาสนานี่เสื่อมได้มากกว่าคนที่เขาพูดอะไรผิด แต่ว่ามีความเย็น มีความสุขเสียอีกนะครับ
คนเรานะครับ ไม่ฟังเหตุผลก่อนนะครับ เอาความสุขเอาความเย็นก่อนเข้าว่า ในเรื่องของศาสนา อย่างในยุคพุทธกาลนี่ ใครจะเห็นเลยว่าที่ใครมานับถือพุทธศาสนานี่นะครับ เขาเห็นว่า ปฏิบัติตนสมณสารูปมีความสงบมีความเย็น มีความสำรวม แล้วเขาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมา พระรูปนี้น่าจะเป็นผู้ที่รู้ดีและปฏิบัติดีมาแล้วจึงได้มีความสงบ จึงได้มีความเย็นขนาดนี้ ก็หันมาศรัทธาหันมาเลื่อมใสว่า เพราะอะไร? ปฏิบัติอย่างไร? จึงได้มีความสงบ จึงได้มีความเย็นเช่นนั้น
แต่ปัจจุบันไม่ใช่นะครับ ใครพูดอะไรก็ได้ในอินเตอร์เน็ตนี่ ขึ้นมาก็ยกล้อก่อนเลยนะครับ ผมรู้ คุณน่ะไม่รู้ ผมน่ะถูก คุณนะผิด มันขึ้นต้นกันด้วยความร้อน ขึ้นต้นกันด้วยโทสะ ขึ้นต้นกันด้วยความรู้สึกว่าอยากจะให้อัตตาของตัวเอง หน้าตาของตัวเองนี่มันใหญ่มันโตขึ้นมา ก็ปลูกศรัทธาให้คนอื่นเขาไม่ได้ อันนี้ก็พูดเป็นกว้างๆนะครับ ถ้าหากว่าจะเอาตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ความรักที่ยั่งยืนก็ต้องขึ้นต้นด้วยศรัทธาที่เสมอกัน ถ้าหากศรัทธาไม่เสมอกันแล้วนี่อะไรๆมันตามมายากนิดหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าเรามีความสุขความเย็น ทุกอย่างเป็นไปได้ครับ
เอาล่ะ คืนนี้ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น