สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันศุกร์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อที่จะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับ ให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin
สำหรับสเตตัสที่ขึ้นมาในเวลาสามทุ่มนะครับ ก็ยังไถ่ถามกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาฟัง หรือเข้ามาในแฟนเพจของดังตฤณนะครับ ยังไม่เข้าใจว่ากติกาจะต้องให้ทำอย่างไร
จะมีสเตตัสใหม่ขึ้นมาในคืนวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงนะครับ ก็ให้ไถ่ถามเข้ามาทางนั้น เพราะว่าทางอื่นนี่นะก็เคยทำมาทุกทางแล้ว แต่ว่ามันไม่เวิร์ค หรือไม่ก็เวิร์คแค่เป็นบางช่วง แต่พบว่าการใช้วิธีนี้นะครับในการสื่อสารกัน ในการพูดคุยกัน ถามตอบนะครับ มันเป็นไปได้จริง แล้วก็เป็นไปได้นาน มีความยั่งยืนพอสมควร ก็ขอเป็นเฉพาะทางนี้นะครับ
๑) เริ่มสงสัยการรู้ลมหายใจ การรู้อิริยาบถ และการรู้อารมณ์ ว่าเราควรรู้อะไรกันแน่?
การรู้อารมณ์ คงหมายถึง อารมณ์สุขทุกข์ นะครับ
คำถามต่อมาก็คือว่า...
สมมุติว่าเราเอาการหายใจเป็นเครื่องอยู่ เผลอไปก็รู้ว่าเผลอ แล้วกลับมารู้ลมต่อ แต่ถ้าระหว่างเดิน เรารู้เท้ากระทบพื้น ไม่ต้องดูลมหายใจใช่ไหม?
คืออย่างนี้นะครับ การรู้อะไรให้ได้จริงๆนี่ มันต้องเริ่มต้นจากรู้ให้ได้อย่างเดียว อะไรที่ปรากฏให้เห็นเด่นที่สุด เอาอันนั้นก่อน อย่าไปเอาอันที่ไม่ปรากฏเด่น บางคนนี่นะ ไปล็อกไว้ว่าจะต้องรู้ลมหายใจเท่านั้น หรือบางคนก็ต้องรู้เฉพาะจิตเท่านั้น อันนี้เป็นการเหมือนกับไปตีกรอบการเจริญสตินะ ว่าความหมายของการเจริญสติ หมายถึงการยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นหลักในการรู้ แล้วก็เป็นเสาหลัก เป็นตัวตาย เป็นเงื่อนตายเลย ว่าจะต้องตายตัวอยู่เท่านั้น มันไม่ใช้การเจริญสตินะ
การเจริญสติ ในความหมายของพระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้อย่างชัดเจนในสติปัฏฐาน ๔ นะครับว่า นอกจากรู้อย่างหนึ่งแล้ว ยังมีอย่างอื่นอีกให้รู้ต่อไป อย่างพอท่านสอนอาณาปานบรรพเสร็จเรียบร้อย ท่านก็บอกว่ายังมีอย่างอื่นอีกที่จะต้องรู้ ที่จะต้องพึงระลึก นั่นก็คือ อิริยาบถ นอกจากอิริยาบถนี่ พอดูเสร็จแล้วนี่ ท่านก็ยังตรัสว่า ต้องมีอย่างอื่นอีก อย่างเช่นอิริยาบถแยกย่อย ที่เราจะหันซ้าย หันขวา เหลือกตา หรือว่าจะพลิกมือ จะหมุนตัวกลับ หรือว่าแม้กระทั่งถอนเท้ากลับหลัง อะไรแบบนี้นะ ท่านบอกว่าควรรู้ให้หมดเลย แล้วลองพิจารณาดูว่า เราควรรู้อะไร ก็คงไม่ใช่รู้พร้อมกันทั้งหมดแน่ๆ ไม่ใช่ว่าเอาลมหายใจด้วย เอาอิริยาบถด้วย อิริยาบถแยกย่อยก็เอาอีก ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ตั้งใจให้ได้แบบนั้นในช่วงเริ่มต้น
ช่วงเริ่มต้น ถ้ายังไม่มีสติ ก็ต้องเอาสติให้ได้หลัก ให้ได้ที่ตั้งก่อน อะไรกำลังปรากฏเด่น อันนั้นแหละเหมาะที่สุด ที่จะเป็นหลักที่ตั้งของสตินะครับ
เมื่อสติมันมีความแก่กล้า เมื่อจิตมีความใหญ่ มีความคมคาย สิ่งต่างๆที่ปรากฏในขอบเขตกายใจนี่ จะเห็นเหมือนกับ เออ ไอ้นี่เดี๋ยวมันหมุนเวียนนะ กำลังมีลักษณะปรากฏเด่นอยู่ที่ลมหายใจตรงนี้ เดี๋ยวพอเจอใครพูดอะไรไม่ดีใส่ นี่ทุกข์ทางใจมันปรากฏเด่นกว่าอย่างอื่นนะ ถ้าทางทุกข์ใจกำลังปรากฏเด่น แต่เรากลับไปดึงลมหายใจกลับมาใช้ในการเจริญสติแทน นี่เรียกว่าเป็นการเบียดบัง เอาสิ่งหนึ่งที่ไม่เด่น มาเบียดบังสิ่งที่กำลังปรากฏเด่น
หลักวิธีการเจริญสติ วิธีที่ถูกต้องที่พระพุทธเจ้าประทานทางไว้นะครับ ก็คือ อะไรกำลังปรากฏเด่น ก็ให้ดูอันนั้นแหละ ถ้าหากว่าทุกข์ทางใจเด่น แล้วเราดูทุกข์ทางใจ มันก็จะปรากฏเป็นของไม่เที่ยงให้เราเห็นนะครับ ทุกข์ทางใจตอนแรกเกิดมาก แล้วพอดูไปมันก็เกิดน้อยลง
แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีการเจริญสติ โดยอาศัยลมหายใจเป็นหลัก เป็นศูนย์กลางอยู่เรื่อยๆ เป็นหลักเกาะ เป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่เรื่อยๆนี่ มันจะมีความเคยชินขึ้นมาอย่างหนึ่ง เวลาที่เกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมา อย่างน้อยมีหลักสังเกตว่าลมหายใจนี้ ที่กำลังหายใจอยู่นี่ มันมีความทุกข์มากแค่ไหน อีกลมหายใจต่อมา เออ มันมีความทุกข์น้อยหรือว่ามากขึ้น นี่อันนี้พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะครับ เวลาที่เราเจริญสติโดยอาศัยลมหายใจ ไม่ใช่ว่าไปจ้องลมหายใจทื่อๆเอาอย่างเดียว แต่เราสังเกตไปด้วยว่า แต่ละลมหายใจนี่ มีภาวะทางใจ หรือปฏิกิริยาทางใจอย่างไร หายใจเข้ารู้ว่ากำลังมีปีติอยู่ หายใจออกรู้ว่ากำลังมีปีติอยู่ อย่างนี้เป็นตัวอย่างในการฝึกอานาปานสติ
เมื่อสามารถที่จะเจริญสติในแบบของการใช้ลมหายใจเป็นหลักตั้งได้แล้วนี่ เราจะสามารถดูได้ทุกอารมณ์ ไม่ว่ากำลังดี หรือกำลังร้าย ไม่ว่ากำลังแย่ หรือว่ากำลังมีความเจริญ ไม่ว่ากำลังจะเป็นกุศล มีความสว่าง หรือว่ามีความเป็นอกุศล กำลังมืดทึบนี่ ดูได้หมดเลย
พระพุทธเจ้าให้มนสิการ หรือมีการใส่ใจลมหายใจไว้เป็นหลักตั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องมีความเป็นศิลปะนะ ไม่ใช่ว่าเราไปพยายามที่จะดึงลมหายใจมาปรากฏให้เด่นแทนอารมณ์ที่กำลังปรากฏเด่น ณ ขณะนั้น อย่างเช่นฝึกไปแรกๆคนจะมีความรู้สึกว่า เออ เพื่อที่จะดูทุกขเวทนาทางใจ เกิดความรู้สึกว่าอึดอัด เกิดความรู้สึกว่ามีความกะวนกะวายเมื่อได้ยินเสียงด่า อย่างนี้คนส่วนใหญ่ก็จะลังเลว่าเราจะดูอย่างไร แต่ถ้าหากว่าฝึกดูลมหายใจมาอย่างคล่องแคล่วชำนาญแล้วนี่ ก็จะไม่ถามตัวเองนะว่าดูอย่างไรดี แต่มันจะเกิดอัตโนมัติขึ้นมาว่า ณ ลมหายใจนี้ หายใจเข้าอยู่เกิดความอึดอัด หายใจออกอยู่ยังอึดอัด แต่พอถอนลมหายใจออกไปหมด เออ ความรู้สึกนี่มันอึดอัดน้อยลงนะครับ
นี่ก็เห็นแล้ว ไม่ต้องไปถามคนอื่นเลยว่าอย่างนี้เห็นถูกหรือเห็นผิด มันบางลงแน่ๆ มันเบาลงแน่ๆ มันรู้สึกอยู่แน่ๆว่า ณ ลมหายใจหนึ่งมีความอึดอัดระดับหนึ่งนะ อีกลมหายใจต่อมา มันอึดอัดน้อยลง หรือถ้าหากว่ามันมากขึ้น ก็ยอมรับไปตามจริง ไม่ต้องไปคาดคั้นอะไรกับมันไม่ต้องไปคาดหวังอะไรกับมันทั้งสิ้น ว่าจะเห็นอย่างไร ว่าจะเป็นอย่างไร รู้แต่แนวทางว่า ถ้าลมหายใจเข้า รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้ว่าลมหายใจออก เวลาโกรธก็รู้ว่าโกรธ แล้วลักษณะความโกรธนั่น มันหายไปตอนไหน ก็อาศัยลมหายใจนั่นแหละเป็นตัวสังเกตนะครับ
นี่ตรงนี้นะครับ ถ้าหากว่าไม่ลองทำดู ไม่ได้ลองฝึก จนกระทั้งเกิดการมีศิลปะในการสังเกตนะครับ ก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าหากว่าทดลองดู ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้ โดยเริ่มตั้งแต่อานาปานบรรพ เป็นต้นไปนี่ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เราเดินมาถูกทาง
อันนี้ก็ถามคำถามตรงช่วงท้ายนะบอกว่า ถ้าระหว่างเดิน เรารู้เท้ากระทบพื้น ไม่ต้องดูลมหายใจใช่ไหม? ก็คือรู้เท้ากระทบพื้นไปก่อน ไม่ต้องดูลมหายใจ เพราะเท้ากระทบพื้นกำลังเด่นกว่าลมหายใจ แต่ถ้าหากว่าลองสังเกตไปเรื่อยๆว่า เท้ากระทบ กระทบ กระทบไปนี่นะ ถึงจุดหนึ่งนี่ เรามีสติเกิดขึ้นจริงๆมันจะรู้เลยว่า ขนาดกระทบนี่กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก มันรู้ของมันเองเพราะว่าสติไม่ถูกแย่งไปไหนแล้ว มันไม่มีความฟุ้งซ่าน มันไม่มีอาการที่วอกแวกไปทางไหนสติเต็มๆดวงนี่นะ สติเต็มๆจิต สติเต็มๆในนี่มันจะมีอำนาจ มีขอบข่าย มีความกว้างขวางมากพอที่จะไปรู้ไปพร้อมกัน โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจนะครับ
ที่บอกว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆอย่างนั้น ตามแต่ว่าอันไหนเด่นกว่ากัน ถูกต้องแล้ว
แล้วก็ถามทิ้งท้าย ปล. พี่ตุลย์จะไปงานหนังสือหรือเปล่า?
ปีนี้ขออภัยนะครับ ไม่ได้ไปนะครับ ก็มีบูทของร้านหนังสือชวนมาเหมือนกัน แต่ว่าจำเป็นต้องทำ ช่วงนี้กำลังทำงานอะไรอยู่หลายๆอย่างเลย ก็เดี๋ยวคอยติดตามผลงานกันก็แล้วกัน เอาผลงานก่อน เพราะไปงานสัปดาห์หนังสือนี้ก็อย่างที่เคยคุยๆกัน อย่างที่เคยคุ้นๆกันนี่แหละ ไม่มีอะไรมากหรอกนะครับ แต่ว่าเดี๋ยวเอางานใหม่ๆออกมาดีกว่า จะเป็นประโยชน์กว่านะครับ
๒) การที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้นจากการที่เป็นโรค เช่น ปวดเข่าจากเข่าเสื่อม มีอาการน้ำตาลต่ำจากที่เป็นเบาหวาน เป็นต้น หากกำลังปฏิบัติเจริญสติอยู่แล้วรู้ถึงความผิดปกติดังกล่าว ควรจะทนดูทุกข์ต่อ หรือแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์?
ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรนะครับ ถ้าหากเจริญสติมาถูกทาง ในการรู้กาย ในการรู้จิต ก็จะสามารถที่จะทุเลาจากทุกขเวทนา ทางกาย ทางใจ ได้ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเจริญสติมาจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิมีความสุข มีปีติทางใจ ร่างกายจะหลั่งสารดีๆออกมา แล้วก็จะทำให้ทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ มีความรู้สึกเหมือนกับว่าค่อยยังชั่วขึ้นนะ
อย่างพวกข้อเข่าเสื่อม หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆนี่ ถ้าหากว่ากล้ามเนื้อมีการผ่อนคลาย แล้วก็มีเอ็นโดรฟินหลั่งออกมาบ้างนี่ ก็จะรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือมันเหมือนกับอย่างน้อยที่สุดนะ เราฉีดสารมอร์ฟีนเข้าไปอย่างนี้นะครับ ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ว่ามันไม่ใช่สารจากภายนอก แต่เป็นการหลั่งสารจากภายในออกมานะครับ นี่เป็นคุณของสมาธิ
ส่วนคุณของสติที่จะทำให้จิตใจของเรานี่ไม่ต้องกระวนกระวาย ไม่ต้องคับข้อง ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ วาสนาอะไรต่อมิอะไรต่างๆมันเกิดขึ้นหลังจากที่ เราสามารถจะรู้เท่าทัน ขณะนี้กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ไม่ใช่ว่ารู้ทันฟุ้งซ่าน แล้วมันจะดีขึ้นทันทีนะ อาการฟุ้งซ่านไม่ใช่จะหายไป แต่ความฟุ้งซ่านมันจะปรากฏแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นนะ ตอนนี้ อึดใจนี้ ฟุ้งซ่านมาก มีความรู้สึกว่ากลุ่มความคิดหนาแน่น แต่ว่าลมหายใจต่อมาหลังจากดูไปโดยไม่ไปกระวนกระวาย ไม่ไปอยากดับความคิดฟุ้งซ่านนั้น เกิดกระแสความคิด หรือว่ากลุ่มก้อนความคิดนี้มันเบาบางลง
ลักษณะของการเห็นว่าความฟุ้งซ่านเบาบางลง นั่นแหละมันเริ่มทำให้เกิดปัญญา เห็นว่าความฟุ้งซ่านแยกเป็นต่างหาก ไม่เกี่ยวกับจิต ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ได้ แต่มันจะแสดงตัวมาเป็นหนึ่งในกระบวนการ มาแสดงตัวเป็นหนึ่งในกระบวนการ หรือมาเป็น แสดงตัวมาเป็นหนึ่งในขบวนการของอนัตตา ที่มันเกิดขึ้นแล้วมันจะต้องหายไป เกิดขึ้นโดยไม่เชื้อเชิญ แล้วก็หายไปโดยไม่ต้องไปผลักไส ไม่ต้องไปขับไล่อะไรทั้งสิ้น แค่ดูอยู่เฉยๆความฟุ้งซ่านก็หายไปให้เห็น ด้วยความเคยชินที่จะเจริญสติ ด้วยการที่เรามีความนิ่งพอจะเป็นสมาธินี่ มันมีคุณประโยชน์ ทำให้โรคร้ายต่างๆนี่ทุเลาเบาบาง หรือว่าดีขึ้นได้อย่างเห็นชัดเลยนะครับ
แล้วคำถามที่สองก็คือ...
ถ้าเราฝึกเจริญสติอยู่ ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับอาการของโรค ถึงจะอยู่ในความพอดี?
อันนี้ แยกออกได้เป็นหลายคำแนะนำเลย ถ้าหากว่ามีเวลาจริงๆอยากให้ฝึกสมาธิ ถ้าหากว่าเราเอานี่แหละ ลมหายใจนี่แหละนะเป็นหลักตั้ง สังเกตอยู่เรื่อยๆ นี่เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก แล้วจนกระทั่งสามารถเห็นได้ด้วยว่า ไอ้ที่เข้าที่ออกอยู่นี้นี่ มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ต้องลากยาว ร่างกายต้องการลมยาว เดี๋ยวมันก็ลากสั้น ร่างกายไม่ต้องการลมยาวมาก จนกระทั่งจิตเกิดความรู้สึกนิ่งขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง นิ่งแบบเป็นอิสระ ในฐานะผู้รู้ผู้ดู ว่ากองลมทั้งปวงนี่ กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูอยู่ ไม่ใช่ว่าลมหายใจ หรือว่ากองลมทั้งปวงนี่มันเป็นตัว มันเป็นตน มันเป็นใคร มันเป็นชาย มันเป็นหญิง หรือว่าเป็นบุคคลตัวตนเราเขาที่ไหน ไม่ใช่เลย เป็นแค่ลักษณะพัดเข้า ลักษณะพัดออก ตามธรรมชาติที่ร่างกายนี้ต้องการเท่านั้นเอง
นี่ตัวนี้นี่นะ ถ้าหากว่าเราสังเกตแบบคนที่มีเวลามากพอนะครับ มันจะเกิดความสงบ มันจะเกิดความนิ่ง เกิดความรู้สึกไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายขึ้นมา มีปีติ มีความสุข มีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง มีความรู้สึกว่าเบา มีความรู้สึกว่า เออ สบาย นะครับ
ลักษณะความสงบสบายนี่ ถ้ามันมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้สึกว่าสามารถไปเห็นมันได้เป็นปกติแล้วนี่นะ ความเชี่ยวชาญนั้นจะพัฒนาต่อยอดเป็นความสามารถในการเห็น ว่าถ้าลมหายใจมันไม่เที่ยง ร่างกายก็ต้องไม่เที่ยงด้วยนะ ถ้าหากร่างกายไม่เที่ยง อาการปวดเข่า อาการน้ำตาลต่ำ อะไรต่างๆมันก็ต้องไม่เที่ยงด้วย มันมีอิทธิฤทธิ์นะ ไอ้ความสามารถในการเห็นความไม่เที่ยง
พอเห็นความไม่เที่ยงไปมากๆมันจะมีความรู้สึกว่า ไอ้ที่มันกำลังปรากฏอยู่ ไม่ต้องปรากฏก็ได้ ตรงนี้มันจะสอดคล้องกัน พอเรารู้สึกอย่างนี้ หมายความว่าร่างกายนี่มันเริ่มปรับ มันเริ่มเปลี่ยน มันเริ่มปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น
เคยมีรายงานวิจัยมากมายทั่วโลกบอกว่า สมาธินี่สามารถช่วยรักษาโรค บางโรคนี้หมอทึ่งเลย หายขาด บางโรคนี่คือไม่หายขาด แต่ก็ทุเลาลง บางโรคนอกจากทุเลาลงแล้ว มันยังเกิดมีความรู้สึกเหมือนกับมีความแข็งแรง มีความเข้มแข็งอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยนะครับ นอกจากในเรื่องของการเจริญสติแล้ว ก็อยากแนะนำด้วยเกี่ยวกับการบริหารร่างกายให้มีความแข็งแรงอยู่เรื่อยๆ
การเจริญสตินะครับ ถ้าหากว่าเราไปจ้องมากเกินไป มาพะวงว่าเราควรจะทนดูความทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ หรือว่าจะแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างนี้ก็เรียกว่าความฟุ้งซ่านนะครับ แพทย์แนะนำอะไรมาทำตามให้หมด แล้วก็เวลาที่ความทุกข์เกิดขึ้น ก็ถ้ามันทุกข์หนักเกินไป เกินกำลังสติที่จะดูความทุกข์ ก็อย่าเพิ่งไปดู ก็ใช้ยา ใช้อะไรไป ตามคำแนะนำของใครต่อใครที่เขาให้เรามา
แต่ถ้าหากว่าเราเจริญสติ มีเวลามากพอที่จะทำให้จิตมีความนิ่ง ที่จะทำให้ร่างกายสบายผ่อนคลายเป็นสมาธิ จะเห็นเลยนะครับ ว่าวิธีที่เราดูทุกข์ จะแตกต่างไปทันที เพราะว่ากำลังสมาธิ หรือว่าปีติที่ฉีดออกมา ความอิ่มเอิบที่มันมีความรู้สึกเย็น มีความรู้สึกเบา มีความรู้สึกปลอดโปร่งไปทั่วทั้งกายนี่ เวลาที่เกิดความทุกข์แทรกแซงเข้ามามันจะดูง่าย มันจะดูเหมือนกับเป็นของเล็ก ความสุขมันใหญ่กว่า แล้วก็เห็นว่าความทุกข์ที่เป็นของเล็กนี่มาเพื่อแสดงความไม่เที่ยง มาแป๊บเดียว มาเดี๋ยวเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดความรำราญอะไรมากมาย แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นนี่ไม่ใช่ว่าทำกันแป๊บๆนะ ต้องทำกันจริงๆจังๆ ถ้าหากว่าอยากจะฝึกทำสมาธินะครับ ก็อยากแนะนำให้ลองเข้าไปฟังไฟล์วิธีทำสมาธิในแบบของพระพุทธเจ้าที่ผมทำเป็นไฟล์เสียงไว้ คือฟังไปด้วยแล้วก็ทำตามไปด้วยเลยนะครับ อยู่ที่ http://soundcloud.com/dungtrin
๓) เพราะเหตุใด เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นบนโลกในแต่ละครั้ง แผ่นดินถึงได้สูงขึ้น ตามที่ได้เห็นนักโบราณคดี ขุดพบเมืองกบิลพัตร ขุดคันพบพุทธคยา ในลักษณะจมอยู่ใต้ดิน ทั้งๆที่แถวอินเดียก็ไม่มีภูเขาไฟพ่นเถ้าถ่าน พ่นลาวาอะไรเลย?
ผมเพิ่งเคยได้ยินนะครับ ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติแล้ว แผ่นดินจะสูงขึ้น อันนี้ไม่มีความรู้เลย แล้วคิดว่านะ คงจะไม่น่าจะเกี่ยวกันกับที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน ก็ไม่ทราบ ไม่แน่ใจนะครับ ในเรื่องของข้อมูลตรงนี้
๔) เป็นคนที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือเรียน คือเวลาต้องเข้าโหมดอ่านหนังสือเรียนทีไร จะรู้สึกหดหู่ เบื่อๆ ทำให้บางทีอ่านแล้วไม่เข้าสมอง ต้องอ่านซ้ำๆกว่าจะเข้าใจก็กินเวลาไปเยอะ บางวิชาจะสอบแล้ว ยังไม่ไปถึงไหนเลย มีสมาธิและความอดทนต่ำมาก บางทีมันทึบจัด ไม่มีกำลังใจจะอ่านต่อ ท้อ แล้วก็เลิกอ่านไปเลย จึงขอคำแนะนำว่า ทำอย่างไรถึงจะมีสมาธิกับความอดทนในการอ่านหนังสือเรียนได้นานๆ แล้วก็รวดเร็ว?
ถ้าหากว่าพิจารณาตรงในเรื่องของการเจริญสติ จะเอามาช่วยได้อย่างไร? อย่างที่ผมเคยแนะนำไปกับหลายๆคน แล้วก็บางคนก็ใช้ได้ผล คือมันไม่ใช่ว่าจะได้ผลกันทุกคน มันขึ้นอยู่กับว่าเราเอาจริงแค่ไหนนะครับ แล้วก็แบ็คกราวน์ของเรามีความเต็มใจที่จะใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งเพียงใดด้วย
เพระว่า ที่ผมพูดอย่างนี้ เพราะอะไร? เพราะว่าบางทีนะ ต้นเหตุของการไม่อยากอ่านหนังสือนี่มันมีหลายอย่างเหลือเกิน เอาหลักๆเลย ปัจจุบันนี่นะ คนอยากจะใช้เวลาไปกับการเล่นสนุก คนยุคไอทีนะครับ มันมีของเล่นเยอะ ตั้งแต่เด็กจนโต พอตอนเด็กๆนี่ก็มีของเล่นกุ๊งกิ๊งๆ แต่ว่าพอตอนโตขึ้นมานะ ยังไม่ทันอะไรนี่ ตอนนี้เด็กทุกคนจะรู้จักไอแพด รู้จักกาแล็กซีแท็บ รู้จักแท็บแล็ตอะไรต่างๆที่มีกันเยอะแยะ หรือว่าบางทีนี่ไม่ต้องไปหาที่ไหน มีรัฐบาลแจกฟรี
ก็เป็นอันว่าอยู่ในโลกยุคไอทีนี่ไม่ต้องห่วงเลยนะครับ มีของล่อตาล่อใจมาแย่งไอ้ความสนใจจากการเรียน นั่นก็คือเพื่อน เพื่อนนี่นะเป็นสิ่งที่มนุษย์อยากจะมีกันที่สุดแหละ ไม่อยากจะมีใครเหงาหรอก ไม่มีใครอยากจะอยู่คนเดียว เดียวดายตามลำพังบนโลกใบนี้ แล้วก็ยุคไอทีนี่ เป็นยุคทองของคนขี้เหงา เพราะว่าเราสามารถใช้ความพยายามเพียงน้อยติดต่อสื่อสารได้กับเพื่อนๆที่อยู่ตรงไหนส่วนใดของโลกก็ได้
หรือถ้าบางคนไม่ชอบอินเตอร์เน็ต แต่ไปชอบดูหนัง ฟังเพลง หรือว่าไปเที่ยวห้าง หรือจะมีเครื่องล่อตาล่อใจอะไรก็แล้วแต่ในรสนิยมส่วนตัว ที่มีความเข้ากันกับตัวตนของเรานะ ไอ้สิ่งเหล่านี้นี่นะ ถ้าหากว่าเราติดใจไปกับมันมากๆแล้ว เวลาที่จะต้องมาทำการงาน หรือว่าจะต้องมาเรียน มันจะมีความรู้สึกเหมือนต้องฝืนใจ เหมือนกับต้องบังคับตัวเอง ต้องออกแรงที่จะยื้อตัวตนที่แท้จริง ให้มันหลุดจากการติดเป็นตังเมเหนียวๆนี่ออกมาจากอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือว่าคลิปวิดีโอ อินเตอร์เน็ต จะยูทูป จะอะไรทั้งหลาย มาอยู่กับอะไรที่ใจไม่ได้อยากโฟกัส ใจไม่ได้อยากต่อติดไปกับมัน
ถ้าหากว่าเรามีความเต็มใจที่จะใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง คือสร้างความ หรือปลูกฝัง ค่อยๆปลูกฝังความติดใจในตำรา ในหน้าที่การงานให้มากกว่าการเล่น อันนี้มันก็จะมีความเป็นไปได้จริงหน่อยนะครับ
หรือถ้าหากว่า เรารู้ตัวว่าเป็นคนที่ไม่ชอบในสาขา หรือว่าในการเรียน ในการศึกษาแบบใดนะครับ ก็ไม่ควรที่จะเลือกตั้งแต่แรก เพราะว่า ถ้าหากว่าเลือกไปแล้ว หรือว่าไปปักใจไปแล้วว่าจะจบมาทำอาชีพการงานแบบนี้ แล้วมันมารู้ตัวในภายหลังว่า เอ! เราไม่ได้อยากจะเป็นอย่างไรอย่างหนึ่งที่จะตรงกับการเรียนมา อย่างนี้มันก็จะยิ่งใช้ชีวิตไป มันก็จะยิ่งมีความรู้สึกว่าเรามาทำอะไรอยู่ เรามาฝืนใจทำอะไรอยู่
แต่ถ้าหากว่ากะจิตกะใจของเรานี่มันผูกอยู่กับหน้าที่การงาน หรือว่าเป้าหมายอะไรที่ชัดเจนข้างหน้า เราจะรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ มันจะตอบตัวเองได้ มันจะมีความเป็นผู้ใหญ่ มันจะมีความเต็ม มันจะมีความอิ่มออกมาจากความรู้สึกภายในว่า นี่เรากำลังทำสิ่งที่มันมีสติอยู่ ทำในสิ่งที่เป็นการสร้างอนาคตให้ตัวเองอยู่ ทำในสิ่งที่มันจะทำให้ชีวิตของเราเป็นปกติ รู้สึกเป็นปกติ ไม่ใช่รู้สึกเหมือนไม่มีค่า ไม่ใช่รู้สึกเหมือนไม่มีสติ ไม่ใช่รู้สึกเหมือนล่องลอยไปเรื่อยๆวันต่อวัน
การที่ ถ้า ๒ ประการนี้นะ คือ ๑ ไม่ติดใจอินเตอร์เน็ตมากเกินไป ไม่ติดใจของเล่น ของสนุก ของบันเทิงมากเกินไป ๒ คือมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน
ถ้าหากว่ามี ๒ อย่างนี้แล้ว เราจะมีสมาธิในการอ่านหนังสือมากขึ้นเอง แต่ถ้าหากว่ามันไม่มี ๒ หลักนี้นี่นะ เราไปพยายามใช้อุบายอะไรก็แล้วแต่ เทคนิคพิสดารขั้นไหน จะไปฝึกอ่านเร็ว จะไปฝึกอ่านอย่างมีความเข้าใจเกินร้อย อะไรต่างๆที่เขาโฆษณากัน มันก็ไม่มีผลหรอก
การอ่านหนังสือ การรักการอ่านนี่มันไม่ใช่เกิดขึ้นจากตัวหนังสือโดยตรง แต่มันเกิดขึ้นจากเป้าหมายปลายทางในชีวิต ที่จะดูดจิตของเราให้ติดเข้าไปได้ ถ้าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ถ้าไม่มีตัวสติ ที่มันจะแยกตัวออกมาจากการละเล่น การบันเทิง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเล่าเรียนนี่มันน้อยทุกที ยิ่งวันยิ่งน้อย
ผมเคยไปบรรยายที่โรงเรียนเก่าเมื่อหลายปีก่อน ครูบาอาจารย์ยังอยู่กันเยอะแยะเลย แล้วก็มีท่านหนึ่งบอกว่า สมัยเธอนี่ยังเรียนกันบ้าง ถึงแม้ว่าจะมีคนเกเร ก็มีประมาณคนสองคน อะไรแบบนี่ปราบกันไม่ยากเท่าไหร่ แล้วคนเกเรนี่ก็ยังเรียนกันบ้าง แต่สมัยนี้ไม่เรียนกันเลย ไม่รู้ว่าไปทำอะไรกัน เอาเวลาไปใช้ทำอะไรกันหมด
ผมก็เห็นแหละ เห็นเด็กกี่คนกี่คน มันก็ไม่แตกต่างกัน ก็คือติดเกม ติดเพื่อน แล้วก็บางทีก็ติดเพศตรงข้ามนะครับ หรือไม่บางทีก็อยู่ที่ห้างทั้งวัน รอจ้องดู เดี๋ยวจะดูหนังรอบไหน เดี๋ยวจะไปเข้าตู้เกมตู้ไหน หรือไม่ก็เสร็จออกจากห้างแล้ว ไปบ้านเพื่อนคนไหนดี อะไรต่างๆมันเหมือนกับชีวิตในยุคไอที มันมีความก้าวหน้าในแบบที่จะดูดให้กับติดอยู่กับโลกที่ไร้แก่นสาร แต่ว่ามันมีความก้าวหลัง ถอยหลังเข้าคลอง ในกรณีที่จะช่วยกันสร้างสรรค์ให้โลกนี้มันมีความสว่าง มีความเจริญ รอจ้องกันแต่ว่าจะบริโภคเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วก็รอจ้องกันแต่ว่าจะได้คุยกับเพื่อน ได้ระบาย ได้บ่นให้เพื่อนฟัง ว่าวันนี้เรามีความทุกข์อย่างไร ไอ้ลักษณะที่ การที่เราสามารถจะเจอเพื่อนง่ายๆแล้วก็บ่นให้เพื่อนฟังได้ง่ายๆนี่นะ มันเป็นการก่อสร้างความฟุ้งซ่าน คลื่นความฟุ้งซ่านให้หนาแน่น ชุกชุมนะครับ คือไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะตัวเรา เกิดขึ้นในตัวเพื่อนด้วย แล้วก็ตรงนี้มันก็เหมือนกับกลายเป็นโรคระบาด
ขอให้นึกถึงเมืองๆหนึ่ง ที่มีแต่เมฆหมอกแห่งความมืด แต่ไม่ใช่เมฆหมอกที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้า หรือว่าอยู่บนยอดตึก แต่ว่ามันปรากฏในจิในใจของมนุษย์นี่เองนะครับ
เอาละครับ คืนนี้ก็คงต้องล่ำลากันที่นาทีนี้ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน แล้วก็สวัสดี ราตรีสวัสดีครับ
« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น