วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๑๘ / วันที่ ๒๒ ต.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่านวันนี้วันจันทร์ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธและศุกร์ เวลาสามทุ่มตรงเพื่อที่จะทักทายเข้ามาไถ่ถามนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/HowfarBooks



๑) สมมติคุณพ่อเป็นคนอารมณ์ร้าย แล้วลูกรู้สึกไม่ชอบ มีอคติกับพ่อของตัวเองมาตลอด ถือว่าเป็นลูกที่มีความคิดอกตัญญูและบาปมากไหม? และทำยังไงลูกถึงจะเลิกความคิดแย่ๆกับพ่อของตัวเองได้?

ถ้าคุณพ่ออารมณ์ร้ายก็ความเป็นจริงก็คืออารมณ์ร้ายอ่ะนะ ถ้าหากว่าท่านอารมณ์ร้ายจริงๆ ยังไงก็คงไม่จำเป็นต้องไปหลอกตัวเอง หรือว่าไปบีบบังคับให้ตนเอง เนี่ยมีความรู้สึกเอ่อชอบใจที่คุณพ่อเป็นแบบนั้นนะ เพราะว่าความรู้สึกที่มีต่อใครเนี่ยมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะ ไม่ใช่ว่าเป็นพ่อเป็นลูกเป็นญาติกัน แล้วแปลว่าจะต้องรักกันหรือว่ามีความชื่นชม นิยมในตัวนะ เพราะว่าการที่เราจะรู้สึกอย่างไรนะครับ ถ้าถอดความเป็นบุคคลออกไป ถ้าถอดฐานะต่างๆ ถอดหัวโขนออกไปมันก็เหลือแต่จิตที่รับสิ่งกระทบเข้ามาผ่านรูปนะ กระทบตาแล้วก็เสียงกระทบหู ถ้าหากว่านะเราเห็นแต่ภาพที่ไม่ดีแล้วไปโกหกตัวเองว่าภาพนั้นมันดี มันน่าชอบใจ นี่แหละเค้าเรียกว่าไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ตรงตามจริง ถ้าหากว่าเราเห็นคุณพ่อเป็นคนที่โมโหร้าย เป็นคนที่มีความไม่น่าเข้าใกล้นะ เราก็เอ่อเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นอะไรตามจริงนะครับ แต่เราไม่จำเป็นที่จะต้องเกลียดพ่อ หรือว่าเราไม่จำเป็นต้องมีความคิดรังเกียจในทางที่เป็นอกุศลไปด่าหยาบๆคายๆตอบ ตรงนี้แหละที่เป็นส่วนของเรา

หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าถึงแม้ว่านะ คุณพ่อจะไม่ดีอย่างไรเราก็สามารถที่จะอาศัยความมีจิตเมตตาหรือว่าความมีจิตคิดกตัญญูนะ ให้อภัยท่านก็ได้ ให้อภัยในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเรารู้สึกเหมือนกับเคลียร์ โล่ง ปลอดโปร่ง ไม่มีความรู้สึกอันเป็นลบเลย ไม่ใช่อย่างนั้นนะ แต่หมายความว่าเรามีความเข้าใจในฐานะลูกว่า ท่านให้กำเนิดเรามา ท่านเป็นรากของชีวิต ถ้าหากว่าเราบำรุงรากของชีวิตอย่างไร ชีวิตของเราก็มีความเจริญรุ่งเรืองหรือมีความเสื่อมทรามตามนั้น หากว่าคุณพ่ออารมณ์ร้ายแล้วเราคิดว่าเราในฐานะลูกนะ จะพยายามใช้ความเย็นของตัวเอง จะพยายามใช้ความสงบของตัวเองนะ ทำให้คุณพ่อมีความรู้สึกสงบตาม หรือว่ามีความรู้สึกเยือกเย็นลงมาบ้างสักนิดนึงก็ยังดี ในแต่ละครั้งที่ท่านอารมณ์ร้าย นี่แค่คิดอย่างนี้นะว่าเราจะทำตัวเองให้เย็น ทำตัวเองให้มีความสุขสว่าง ถือว่าตอบแทนบุญคุณแล้ว คือไม่ใช่ไปแกล้งหลอกตัวเองว่านั่นนะเรารู้สึกดีกับท่านที่ท่านร้ายอย่างนั้น แต่เราจะเอาความดีของเราเนี่ยไปทำให้ท่านดีขึ้น ตรงนี้แหละที่มันจะเป็นบุญเป็นกุศลนะครับ เป็นสิ่งที่เราจะสามารถตอบแทนท่านได้ในฐานะของลูก ในฐานะของกิ่งก้านที่ออกดอกออกผลมาจากรากคือตัวท่านนะ เราสามารถย้อนกลับไปบำรุงท่านได้ ในธรรมชาตินะ ทั้งดอกไม้และกิ่งใบ ไม่สามารถย้อนกลับไปบำรุงรากของตัวเองได้ แต่ในความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถจะย้อนกลับไปทำให้รากของตัวเองดีขึ้นได้ ไม่มีสัตว์ชนิดไหนที่มีความสามารถแบบมนุษย์แบบนี้อีกแล้วนะครับ

ข้อสองที่ถามว่าลูกคนนั้นรักแม่มากพยายามทำทุกอย่างให้แม่สบายใจและภูมิใจ ทำให้แม่สบายแล้วก็ภูมิใจ เลี้ยงดูให้สุขสบายแล้วก็ภูมิใจแต่ลูกเป็นคนซุ่มซ่ามเฟอะฟะถูกแม่ว่าตลอด ไม่ว่าเรื่องนั้นลูกจะทำถูกแล้วหรือยังผิดอยู่แม่ก็ยังว่ายายเฉิ่มบ้าง ยายเฟอะฟะบ้าง หรือไม่ก็เรานี่ทำอะไรบ้านนอกจริงๆ ไม่ได้เรื่องเลยนะ ไม่ว่าลูกจะทำอะไรแม่ก็ยังไม่พอใจจนลูกขาดความมั่นใจ บางครั้งโดนแม่ต่อว่านะก็พาลโกรธเล็กโกรธน้อยทั้งที่ใจรู้ว่าแม่ ไม่ควรโกรธ คือ โกรธแม่มันไม่ดี ถ้าลูกอยากให้แม่เห็นว่าเค้าเป็นลูกที่ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ทำอะไรไม่ให้เค้าเป็นทุกข์เพราะลูกควรจะทำอย่างไร คำถามก็สรุปแล้วนะ ถ้าหากว่าถูกด่าว่าอย่างไม่สมเหตุสมผลแล้วเนี่ยควรจะทำอย่างไรเพื่อให้แม่รู้สึกดี?

การที่เราจะไปเอาใจใครให้ชีวิตของเรา ทำให้ใครพอใจได้ตลอดเวลามันเป็นไปไม่ได้ อย่าไปคาดหวังเช่นนั้น แต่เราคาดหวังแค่ว่าเราจะตอบแทนเท่าที่เราจะทำได้ เท่าที่กำลังของเราจะมี อย่าไปตั้งโจทย์ให้มันผิด ‘ถ้าตั้งโจทย์ผิดชีวิตถึงขั้นที่ไม่มีทางจะเป็นสุขได้เลยสักวันเดียว’ จำไว้นะชีวิตถ้าตั้งโจทย์ผิดนะมันจะไม่มีความสุขเลยแม้แต่วันเดียว แต่ถ้าหากตั้งโจทย์ไว้ถูกต้อง อย่างเช่นในกรณีนี้ ถ้าหากว่ามีความผูกพัน ผูกโยงอยู่กับคุณแม่ คุณแม่มีอิทธิพลกับชีวิตมากๆทำให้เราเนี่ยเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความรู้สึกว่าไม่เอาไหน ทำอะไรไม่ดี ผิดไปหมด อะไรแบบนี้นะ ถ้าหากว่าใจของเราโยงอยู่กับความเป็นอย่างนี้นะ ก็ต้องตั้งโจทย์ให้ดีๆ ว่าทำอย่างไรเราถึงจะรู้สึกดีกับตัวเอง แล้วก็รู้สึกว่าทั้งหมดทั้งปวงเนี่ย ก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะทำให้ชีวิตทั้งชีวิตของตัวเองเป็นความหวัง หรือว่าเป็นเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงปรับความพอใจของคุณแม่ให้ดีขึ้นมาได้นะ มันเป็นไปไม่ได้ เราคิดอย่างนี้ก่อน แล้วก็ตั้งโจทย์ใหม่ว่า ถ้ามีอะไรที่เราสามารถทำให้ท่านสบายใจ เราจะทำเต็มที่ แต่ผลถ้าหากว่ามันไม่ถูกใจ มันไม่ได้ทำให้ท่านพอใจก็ไม่ต้องไปรู้สึกเสียใจ ไม่ต้องไปรู้สึกกังวล เพราะถือว่ากรรมของเราคือเจตนาของเราเนี่ยนะตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้ว ทำให้ท่านมีความสุขมากที่สุดแล้ว แต่ถ้าท่านไม่มีความสุข อันนั้นมันพ้นขอบเขตความสามารถของเรา พ้นขอบเขตกรรมที่เราจะไปกระทำได้ การที่จะทำให้ท่านมีความสุขได้ด้วยกรรมใหม่ของเรา ก็อันนี้เป็นเรื่องที่จริงๆแล้วก็มีรายละเอียดเยอะแต่โดยหลักๆ โดยหลักการนะครับ ก็อยู่ตรงนี้แหละที่ว่ากรรมของเรา มโนกรรมของเราตั้งไว้อย่างไร ให้พอใจแค่ตรงนั้น เต็มที่แค่ตรงนั้น อย่าไปคาดหวังผล ให้มันต้องเกิดกับจิตกับใจของคนอื่นซึ่งเป็นอนัตตาภายนอก เราไม่สามารถควบคุมได้นะครับ



๒) แสงสว่างในสมาธิเป็นอย่างไรครับ? ผมสังเกตว่าหลังจากรู้ลมหายใจ อิริยาบถจนจิตเปิดกว้างจะย้อนเข้ามาเห็นสุขเวทนา ความสบายจากสุขเวทนานั้นทำให้รู้สึกสบาย ไม่ทราบว่า คำว่าแสงสว่างนี่จะเกิดช่วงไหน และใช่แสงแบบที่ตามองเห็นหรือเปล่า

คำว่าแสงของจิตเนี่ย เอาง่ายๆเลยเรารู้สึกสว่างนั่นแหละแสงแล้ว เรารู้สึกปลอดโปร่งนั่นแหละแสง เรารู้สึกว่ามันไม่มืดไม่ทึบไม่มีความกระสับกระส่ายนั่นแหละแสง เพราะว่าเดิมทีเนี่ยนะจิตมีแสงอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเดิมทีจิตมีความประภัสสรนะ หมายความว่ามีความส่องสว่าง มีความผ่องแผ้ว มีความผ่องใสนะครับ ถ้าหากว่ามองดูโดยความเป็นจิตของมนุษย์แล้วเนี่ยนะ ต่อให้ไม่รู้สึกตัวอะไรเลยนะ แต่ถ้าหากว่าไม่มีมลทินไม่มีอะไรเคลือบบังอยู่ก็จะมีความสว่าง มีความผ่องแผ้วอยู่ นั่นเป็นเพราะว่าภวังคจิตหรือว่าจิตพื้นฐานที่สุดของความเป็นภพมนุษย์นะ จะมีความเป็นกุศล

เริ่มต้นขึ้นมาไม่มีมนุษย์คนไหนเลยสักคนเดียวในโลกที่เกิดมา ถือกำเนิดเกิดมาเข้าท้องแม่ได้ด้วยอกุศลวิบาก เป็นไปไม่ได้เลย ต้องอาศัยกุศลวิบากซึ่งเกิดจากการทำกรรมดีอย่างใดอย่างหนึ่งในอดีตชาติเท่านั้น จะเป็นการทำดีเพราะว่าเคยให้ทานไว้ จะเป็นการทำดีเพราะตั้งใจงดเว้นจากการทำบาปทำชั่วห้าประการ หรือว่าจะเป็นการทำดีเพราะได้เคยเจริญสติเคยทำสมาธิ จนกระทั่งเกิดมีความผ่องแผ้วนะ ลักษณะของวิบากที่มันถึงเวลาเผล็ดผลนะ ในขั้นที่ว่าจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิ จะเคลื่อนมาสู่ความเป็นภพภูมิใหม่ ถ้าหากว่ากรรมดีอย่างใดอย่างหนึ่งมันถึงเวลาเผล็ดผล แล้วก็จะให้เกิดการเนรมิตหรือว่าบันดาลธรรมชาติของจิตที่เป็นจิตดวงแรกในภพภูมิใหม่นะครับ ซึ่งมีความสุขสว่าง ซึ่งมีความผ่องแผ้ว นั่นแหละตรงนั้นแหละถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมนุษย์ถึงได้มีมนุษยธรรมอยู่ในใจทุกคน ถึงแม้ว่าจะแกล้งทำเป็นไม่มีมนุษยธรรมก็ตาม วันนึงทำผิดทำบาปอะไรไปจะต้องเกิดความละอาย จะต้องเกิดความรู้สึกผิด หรืออย่างน้อยที่สุดนะ จะต้องแยกแยะออกว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่จะแกล้งทำเป็นลืม ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ อันนี้คือกรรมใหม่

การที่เราฝึกรู้ลมหายใจก็ดี รู้อิริยาบถก็ดีจนกระทั่งเกิดความไม่ซัดส่าย ไม่มีความไปเกี่ยวข้องกังวลกับเรื่องที่เป็นอกุศล เรื่องที่เป็นมลทินทั้งหลาย ผลก็คือนะจิตจะค่อยๆเข้าสู่ภาวะที่เป็นกุศล เข้าสู่ภาวะที่รู้อยู่ได้ด้วยตนเอง ว่าเอ่อสบายอกสบายใจ ความสบายอกสบายใจ ความปลอดโปร่งนั่นแหละนะ ถ้าเราหลับตาลงเราจะรู้สึกว่าสว่างอ่อนๆสว่างนวลๆ นั่นคือความสว่างไม่ใช่อุปาทาน แต่ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถประจักษ์อยู่กับใจตนเอง ว่าธรรมชาติของจิตโดยเดิม ขอแค่ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความซัดส่าย ก็จะมีลักษณะสว่างอ่อนๆแบบนี้แล้วความรู้สึกอย่างไรขอให้เอาตามนั้น อย่าไปคิดถึงแสงสว่างแบบนีออน อย่าไปคิดถึงแสงสว่างแบบพระอาทิตย์ เพราะว่าเริ่มต้นขึ้นมาเนี่ย ถ้าจิตยังไม่ตั้งมั่นมากพอ มันไม่ได้ออกมาเป็นโอภาส มันไม่ได้ออกมาเป็นแสงสว่างแจ่มจ้า ต่อเมื่อจิตมีความนิ่งมีความตั้งมั่นนะ อย่างน้อยที่สุดเข้าขั้นอุปจารสมาธิที่มีปีติมีสุข นิ่ง เนียน นานพอสมควรเนี่ย อันนี้แสงที่ออกมามันจะชัดเจนเลย มันจะไม่สงสัยเลยว่าแสงของจิตเนี่ยหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะว่ามันจะแผ่จิต จิตจะแผ่กว้างออกไปนะครับ แล้วก็มีความนิ่งมีความวิเวกเยือกเย็น มีความรู้สึกสุขมาก ปีติมาก ลักษณะของความซาบซ่านที่จิตเนี่ย มันรวมดวงก็จะสาดฉายความสว่างออกไปชัดเจนกว้างขวาง แตกต่างจากตอนที่เราแค่รู้สึกเหมือนกับใจเปิดกว้างธรรมดาๆ ประเดี๋ยวประด๋าวนะครับ ใจเปิดกว้างแต่ไม่ได้รวมดวง ยังไม่ได้ตั้งนิ่ง หนักแน่นมั่นคงเนี่ยนะ จะแค่รู้สึกไปว่าสว่างนวลๆไม่ได้สว่างแจ่มจ้า

เอาเป็นว่าถ้าหากเราจะสังเกตโดยความเป็นธรรมชาติของจิต เอาแค่รู้สึกว่าสว่างอย่างไร เอาแค่นั้นนะครับ เพื่อที่จะได้สังเกตว่าแสงสว่างแบบนั้นๆเนี่ย อยู่ได้นานแค่ไหน มีประโยชน์ที่สุดมันอยู่ตรงนี้นะ เพื่อที่จะได้เห็นว่าแสงสว่างเป็นของไม่เที่ยง ถ้าหากว่าเริ่มต้นขึ้นมาเราฝึกเราหัดที่จะดู โดยความเป็นอย่างนี้ ต่อไปเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นเต็มดวง มีความแจ่มจ้าเราก็จะไม่หลงไม่ติดใจ แต่ถ้าหากว่าเราไปเฝ้าจดจ่ออยู่ตั้งแต่ต้นมือ ว่าเออนี่แสงสว่างเป็นอย่างนี้ มากหรือน้อย น่าพอใจมาก น่าพอใจน้อยกว่ากัน ถ้าหากว่ามันจะตั้งอยู่ได้นานเราจะมีความสุขมาก เราจะมีความพอใจมาก เนี่ยตั้งทิศทางไว้แบบนี้นะ ยิ่งสว่างขึ้นเท่าไหร่ยิ่งติดใจมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าเริ่มต้น เราแค่เห็นด้วยอาการยอมรับไปตามจริงว่า สว่างนวลๆน้อยๆปลอดโปร่งธรรมดาๆเนี่ยแล้วเดี๋ยวปุ๊บนึงมันก็กลายเป็นมีคลื่นวกวนของความคิด มาฉุด มาดึงมาทำให้ความสว่างนั้นล้มหายไป จากไป แต่ถ้าไม่สนใจ ไม่ได้ไปยินดียินร้าย แป๊บนึงนะความไม่ฟุ้งซ่านมันก็จะพาให้ความสว่างนวลๆนั้นกลับมาใหม่ สังเกตโดยความเป็นอย่างนี้มันจะรู้สึกว่าความสว่างไม่ได้มีความน่าติดใจอะไรเลย แต่การสามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงของความสว่างต่างหากนี่แหละ ตรงนี้น่าติดใจกว่าเพราะว่าอะไร เพราะว่าเมื่อเห็นความไม่เที่ยงของความสว่างแล้ว เกิดปัญญาเกิดความรู้สึกว่าใจเนี่ย มันถอยออกมาจากการยึดมั่นถือมั่น ยิ่งสว่างมากเราก็ยิ่งที่จะมีความสามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยงของมัน ตอนที่มันเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนขึ้น เนี่ยความพอใจมันจะเป็นไปตามทิศทางนี้นะครับ ไม่ใช่ไปปลูกฝังความรู้สึกติดใจในแสงสว่างเข้าโดยไม่รู้ตัว



๓) ตาของหนูมันเห็นอากาศเป็นเม็ดละเอียดไหลผ่าน เอาตาไปจดจ้องอยู่บ่อยๆ แต่ก็นึกได้ว่าไม่อยากเห็นอะไร เดี๋ยวมันจะประกอบเป็นรูปอะไรที่เราไม่อยากเห็น มันเป็นเม็ดละเอียดเหมือนฝุ่นบางเบา คือยืนว่างๆแล้วมันเห็นทั้งในตึก ทั้งกลางแจ้งจะชอบไปจดจ้องดู บางครั้งต้องสลัด

เอาล่ะ จะเห็นอย่างไรนะก็ไม่สำคัญเท่ากับที่ว่า เรามีความรู้รึเปล่าว่าไอ้สิ่งที่เห็นนั้นมันค่อยๆต่างไป ตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าหากว่าเรามัวแต่ไปกำหนดจดจ้องนะ ว่าเอ๊ะนี่มันติดใจ เอ๊ะนี่มันเป็นเรื่องไม่ดีเรื่องไม่ถูกต้องรึเปล่า มันก็กลายเป็นการไปห้ามใจ ทั้งๆที่ตัวเองยังมีความอยากจะจดจ้องอยู่ ไปฝืนใจตัวเองเปล่าๆ เอาอย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ ไม่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์ให้กับตนเองว่า เห็นอย่างไรกลัวจะติดใจ หรือว่าเห็นอย่างไรแล้วมันถูกมันผิดอย่างไร แต่เอาเป็นว่าเห็นอย่างไร แล้วอะไรอย่างนั้น มันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูได้มั้ย อย่างเช่นพอเห็นว่ามันมีอะไรไหลผ่านนะครับ เป็นเม็ดละเอียดเล็กๆน่าพอใจ เราก็เห็นความพอใจนั้นเกิดขึ้นนะ แล้วก็เห็นว่าอะไรที่มันไหลไปเนี่ย เดี๋ยวมันก็ปฏิรูปเป็นอื่นไป อะไรที่มันเป็นเม็ดๆ เดี๋ยวมันก็กลายเป็นโปร่งๆไป อะไรที่มันหยาบๆเดี๋ยวมันก็กลายเป็นละเอียด เนี่ยเห็นอยู่อย่างนี้ เห็นอยู่ในลักษณะที่มันไม่เหมือนเดิม แล้วก็รู้สึกถึงความไม่เที่ยง รู้สึกถึงความพอใจหรือไม่พอใจ แค่นี้นะในที่สุดแล้ว มันก็จะกลายเป็นความวางเฉยในแบบที่รู้นะครับ ว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเห็น สิ่งทั้งหลายที่เราพอใจแม้แต่ตัวความพอใจเองก็ตามเนี่ย มันแปรสภาพไปเรื่อยๆ ตรงนี้ที่เป็นประโยชน์ที่มันเกิดขึ้นนะ ไม่ใช่ว่าพอเราถอนความติดใจออกมาด้วยความจงใจแล้วเนี่ย มันจะเป็นเรื่องดีเสมอไป เพราะว่าบางครั้งมันสวนมันขัดแย้งกับความรู้สึกที่แท้จริงของเรานะครับ



๔) เข้าใจว่าผู้ถามคงจะทราบว่าผมมีแบ็คกราวน์ในเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับซอฟท์แวร์ เกี่ยวกับไอทีมานะครับ แล้วก็เกิดความสงสัยว่าคนที่ชอบเขียนโปรแกรมนะ เวลาที่มาสนใจธรรมะ แล้วสนใจแบบสุดขั้วกันหลายราย

อันนี้ก็คงเป็นข้อสังเกตส่วนตัวนะ เอ่อจริงๆไม่เสมอไปหรอกมันขึ้นอยู่กับบุคคลนะครับ ทั้งหมอ ทั้งวิศวะ ทั้งคนที่ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับไอทีเลยเนี่ยก็สนใจธรรมะ เพราะว่าธรรมะเป็นของกลางยิ่งอาชีพ ยิ่งการงานเกี่ยวข้องกับความเครียด เกี่ยวข้องกับความวุ่นวายมากขึ้นเท่าไหร่ ใจมันก็ยิ่งแสวงหาที่พึ่ง ใจมันก็ยิ่งแสวงหาความสงบเยือกเย็นมากขึ้นเท่านั้น แล้วถ้าหากว่าธรรมะสามารถให้ความสงบให้ความเยือกเย็น ให้ความปลอดโปร่งได้ ทุกคนชอบทั้งนั้นแหละ ทุกรูปทุกนามแหละนะครับ

การที่จะเป็นคนอาชีพไหน สาขาใด ถ้าหากว่าลงรอยเดียวกัน คือว่าทำงานไปแล้วหรือว่าร่ำเรียนอะไรต่างๆไปแล้วมันเกิดความทุกข์ทางใจโดยธรรมดาของมนุษย์คนนึงก็อยากจะดับทุกข์นั้นกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะนะครับยุคที่มันกำลังต้องเร่งรีบ แล้วก็รีบไปหาอะไรก็ไม่ทราบ ทุกคนจะเกิดความรู้สึกว่า มีหลายๆวันย้อนถามตัวเองว่านี่เราจะรีบไปหาอะไร นี่เราพยายามเหนื่อยยากไปแทบตายเนี่ย มันเพื่ออะไรกันแน่นะหรือบางทีมีความเหงานะ แล้วก็ไม่เจออะไรที่จะทำให้หายเหงาได้สักที ทั้งๆที่เพื่อนในเฟสบุ๊คนะ บางทีมีเป็นร้อยมีเป็นพัน แต่ใจเนี่ยมันก็อ้อยอิ่ง ใจมันก็หาใครสักคนอยู่ดี บางทีนะบางคนนะที่เห็นออนไลน์ทั้งวัน คุยโน่นคุยนี่ แล้วก็ตั้งสเตตัสใหม่ทั้งวัน หรือไม่ก็เข้าไปแช็ตในห้องโน้นห้องนี้ ทั้งในเฟสบุ๊คของตัวเอง ทั้งห้องแช็ตอื่นๆที่เค้าตั้งกันขึ้นมา มันเพื่อกลบเกลื่อนความเหงาเท่านั้นเองนะ เพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่านี่คือวิธีบำบัดความเหงา แต่หารู้ไม่ว่านะ ในขณะที่เขียน บางทีความเหงามันก็แทรกซึมอยู่ เจือจางอยู่ ทันทีที่นะเจอคำพูดอะไรที่บาดหูหรือว่าบาดตา ไม่พออกพอใจ แค่นี้อาการเหงามันก็กำเริบขึ้นมาสุดขั้วทันที ความเหงาแบบนี้ก็พาหลายคนเข้ามาสู่ธรรมะเช่นกัน ไม่ว่าอาชีพสาขาใดนะครับ

ความเหงาเนี่ยนะ วิธีที่จะทำให้มันหายเหงาได้ จิตต้องมีความรู้สึกอิ่มใจ เหงาเนี่ยมันเหมือนหิว เหงาเนี่ยมันเหมือนขาด แล้ววิธีเดียวที่จะอิ่มจริงก็คือจิตต้องเต็ม แล้ววิธีเดียวที่จิตต้องเต็ม จะได้เต็มเนี่ยนะก็คือเราต้องมี ‘ธรรมะ’ คำว่าธรรมะนี่ก็คือว่าทำให้จิตมีสติอยู่กับปัจจุบัน ทำให้จิตมีความพอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ ให้รู้อยู่ในขณะนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าพุ่งออกไป ทะยานออกไปหาอะไรก็ไม่ทราบที่มันไม่มีตัวตน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่าจะแสวงหาไป แล้วส่วนใหญ่คนก็จะเข้าใจว่า สิ่งที่มันล่อหูล่อตาเนี่ยจะเติมเต็มไอ้ความรู้สึกได้ ทั้งๆที่มันเติมได้แค่ครึ่งนึงแล้ว เสร็จแล้วมันก็ดึงต่อ เติมครึ่งนึงแล้วดึงต่อ เติมครึ่งนึงแล้วดึงต่อ เป็นอย่างนี้เสมอนะ ให้ใจเนี่ยมันทะยานออกไปหาอะไรที่มันไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าหากว่ามาเจอธรรมะเข้านะครับ มารู้จักที่จะอยู่กับปัจจุบันของกายใจ รู้จักที่จะหายใจให้เป็น รู้จักที่จะหายใจให้ยาว รู้จักที่จะเห็นนะ ยอมรับว่าเดี๋ยวมันก็สั้นลงนะ ทั้งเข้าทั้งออกเนี่ยมันมีความสดชื่นได้ทั้งนั้นแหละ แต่ความสดชื่นนั้นมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา แค่ยอมรับได้อยู่อย่างนี้นะ แล้วก็จิตเนี่ยมีความสว่างมากพอ ที่จะถอยไปเป็นผู้รู้ ผู้ดูว่า นี่เป็นธรรมดาของลมหายใจ ที่ต้องเข้าบ้างออกบ้าง ยาวบ้างสั้นบ้าง แล้วจากนั้นเราจะเห็นทุกความรู้สึกที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่าน ไม่ว่าจะเป็นอาการทะยานอยากอะไรทั้งหลายเนี่ยนะ ก็ไม่แตกต่างจากลมหายใจเลย ปรากฏขึ้นมาเพื่อที่จะปฏิรูปไปเป็นอื่น ไม่มีความแตกต่างจากลมหายใจแม้แต่นิดเดียว อันนี้แหละที่มันจะเกิดความรู้สึกอิ่มขึ้นมา มันจะเกิดความรู้สึกว่างที่ไม่มีขอบเขตขึ้นมา ว่างจากอาการอยาก ว่างจากอาการทุรนทุราย ว่างจากอาการทะยานไปข้างหน้าไม่มีที่สิ้นสุดนะครับ เอาล่ะตรงนี้แหละที่เรียกว่าธรรมะ



๕) สวัสดีครับรบกวนถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับภัยพิบัติที่ได้ยินกันมาเช่น ๒๐๑๒ นะครับ คือตามพระพุทธศาสนา หรือคำทำนายจากเกจิอาจารย์

ผมเองไม่ใช่ผู้ที่มีเอ่อความสามารถจะเห็นโลกในอนาคตนะครับ แล้วก็เป็นหนึ่งในคนธรรมดาที่ก็เคยฝันเห็นภัยพิบัติอะไรมา แต่ก็ไม่ทราบว่าไอ้ภัยพิบัติที่เกิด ที่เห็นในฝันเนี่ย มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันจริงหรือเปล่า อย่างบางทีก็เห็นน้ำท่วม บางทีก็เห็นแผ่นดินแห้งแตกระแหงนะ แล้วก็ต้องคลานยุบยับนะ คนเนี่ยคลานตามกันไปขึ้นที่สูงอะไรแบบนั้น มันก็เห็นกันเยอะนะ แต่อย่าเอานิยมนิยายเพราะว่าไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วผมยังไม่เคยเห็นใครนะครับ ต่อให้ที่มีความสามารถจะรู้อนาคตจริงๆเนี่ย พูดได้ตรงหมดเนี่ย ไม่มีใครที่นะจะรู้ได้จริงๆหรอก เอ่อถ้ารู้ได้จริงๆเนี่ยท่านไม่พูดหรอก เพราะว่าพูดไปแล้วมันกลายเป็นว่า เดี๋ยวต่อไปใครอยากทราบอะไรก็ไปถามเอานะ แล้วอนาคตที่มันจะเกิดมันก็ไม่มีทางเกิดถ้าถูกพูดดักไว้ก่อน อย่างบอกว่าเอ้าตรงนี้เกิดเหตุแน่ๆนะจะต้องล่มหายตายจากกันไปทั้งเมืองเนี่ย เสร็จแล้วอพยพผู้คนออกไป ก็กลายเป็นว่า ดวงคนถึงฆาตทั้งเมืองเนี่ย มันก็ไม่ได้ถึงกัน แต่ถ้าหากว่าเราในฐานะชาวพุทธอยู่อย่างไม่ประมาท มีสิทธิ์ตายได้ทุกวัน เห็นว่านะวิธีเตรียมตัวตายที่ดีที่สุดก็คือ ทำให้ใจเนี่ยสบายที่สุด ทำให้ใจเป็นกุศลมากที่สุด ทำให้ใจเนี่ยมันพร้อมที่จะจากไปด้วยรอยยิ้ม ไม่ใช่จากไปด้วยสีหน้าแหยๆหรือว่าน้ำตาที่นองหน้านะครับ เอาล่ะ ก็ตรงนี้แหละคือความเป็นพุทธ ตรงนี้แหละที่เป็นการเตรียมตัวรับโลกาวินาศที่ดีที่สุดในโลก


เอาล่ะคืนนี้นะครับก็เข้าใจว่าคงจะต้องล่ำลากันที่นาทีนี้ครับ ราตรีสวัสดิ์ ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น