วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดังตฤณวิสัชนา On Air ครั้งที่ ๑๑๒ / วันที่ ๘ ต.ค. ๕๕

« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้วันจันทร์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ นี่คือรายการดังตฤณวิสัชนา ผมดังตฤณมาตอบคำถามให้คุณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ทุกคืนวันจันทร์ พุธและศุกร์ เวลาสามทุ่มตรง เพื่อจะทักทายไถ่ถามเข้ามาในรายการนะครับให้เข้าไปที่ http://www.facebook.com/dungtrin สเตตัสล่าสุดของเว็บเพจของดังตฤณในเฟสบุ๊คนะครับ



๑) อยากทราบว่าการได้ญาณต่างๆ เช่น ญาณ ๓ ญาณ ๑๖ รวมไปถึงอริยบุคคลต่างๆจะเป็นโสดาบันก็ดี สกทาคามีก็ดี อนาคามีก็ดีและพระอรหันต์ เราใช้สิ่งใดในการวัดและบ่งชี้? และเราสามารถรู้ได้หรือไม่ว่า พระรูปใดเป็นพระอรหันต์?

การที่เราจะทราบได้ว่าใครเป็นใครนี่ ดูได้จากภายนอกนะครับ เวลาที่เราเห็นพระอยู่ในสมณสารูปดี สงบสำรวมดี แล้วก็มีความผ่องใสอันนั้น ก็เป็นความประทับใจในเบื้องต้น ที่เราสามารถบอกได้คร่าวๆว่า พระรูปนี้น่าจะมีความสงบ พระรูปนี้น่าจะมีความผ่องใส คือความสงบกับความผ่องใสบางทีมันไม่ได้มาด้วยกันนะครับ เพราะถ้าสงบแล้วบางทีอึดอัดก็มี เคร่งเครียดก็มี หรือว่าฝืนทนห้ามใจ แบบเหมือนกับมีความรู้สึกจุกอกอยู่ก็มีนะครับ แต่ถ้าหากว่าสงบด้วยผ่องใสด้วยยิ้มแย้มแจ่มใส และเห็นกี่ทีกี่ทีกี่ปีผ่านไป ก็ยังมีความผ่องใสอยู่อย่างนั้น อันนั้นเราก็คงจะยังไม่ต้องไปรู้หรอกว่า ท่านได้ขั้นไหนแต่ว่า เราบอกได้อย่างหนึ่งว่า ท่านเป็นของจริง เพราะของจริงจะไม่เปลี่ยนแปลงนะครับ ไม่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงตามเวลา

แล้วก็อริยบุคคลในพุทธศาสนาก็จะมีความผ่องใสแบบหนึ่งที่เราจะจำได้ เราจะรู้สึกถึงความโปร่ง เราจะรู้สึกถึงความเบา เราจะรู้สึกถึงความสบายใจเมื่ออยู่ใกล้ แล้วก็จะมีเหตุการณ์จะมีสถานการณ์ยั่วยุแค่ไหน ท่านก็จะไม่แสดงออกถึง ความสูงบ้าง ต่ำบ้าง หน้าหมองบ้าง หน้าใสบ้างอะไรแบบนี้

ในพระคัมภีร์นะครับ ท่านจะระบุไว้ว่า พระอรหันต์เป็นผู้มีขนตกอย่างยิ่งหมายความว่า คือไม่มีอะไรขนลุกขนชันขึ้นมาได้อีก ไม่มีการตื่นตระหนก ไม่มีอาการหวาดกลัว เพราะว่าจิตของท่านเป็นอิสระมีความพ้นไปจากอุปาทานแล้วว่ากายใจนี้เป็นตัวเป็นตน แล้วก็สิ่งที่เนื่องด้วยกายใจนี้ สภาวะแวดล้อมทั้งหลายที่เข้ามากระทบกระทั่งนะครับ ก็ไม่ใช่เป็นอะไรที่เกี่ยวเนื่องด้วยตัวตนเช่นกัน ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเหตุปัจจัย ประชุมรวมกันหลอกเป็นครั้งๆว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นกับตัวตนเลยสักอย่าง ถ้าหากว่าเป็นพระอรหันต์จริง จิตท่านพ้นไป

ส่วนพระอนาคามีก็จะดูยากขึ้นนิดนึง เพราะบางทีท่านก็ยังมีตัวตนอยู่ คือถึงแม้ว่าจะไม่มีราคะแล้ว จะไม่มีโทสะ คือไม่มีการกระทบกระทั่งทางใจ ไม่มีอาการเป็นฟืนเป็นไฟทางจิตใจขึ้นมา แต่ท่านก็ยังมีความรู้สึกในตัวตน ยังมีทิฐิมานะ ยังมีความรู้สึกนั่นเขานี่เรา เทียบเคียงกัน เปรียบเทียบกันอยู่นะครับ อาจจะมีความห่วงเรื่องของตัวตนได้ ส่วนพระโสดาบันกับพระสกทาคามี จะดูยาก เพราะว่าท่านยังมีราคะโทสะโมหะครบ เหมือนกับคนธรรมดาทั้งหลายนะครับ

ถ้าหากว่าเราจะไปเปรียบเทียบดูว่าพระอริยบุคคลมีความแตกต่างกับปุถุชนอย่างไร มันมีวิธีเดียวที่จะเป็นไปได้ก็คือเราต้องเข้าใจว่าสภาวะจิตแบบพระโสดาบันหรือ พระสกทาคามีเป็นอย่างไรก่อนนะครับ แล้วกระแสแบบเดียวกันกับที่เราเข้าไปถึงนี่ เราถึงจะไปเทียบวัดเทียบเคียงว่าคนโน้นคนนี้น่าจะใช่ได้หรือเปล่า แต่ถ้าหากว่าเราสนใจแค่ภายในของตัวเราอย่างเดียวคือ มีการบรรลุโสดาหรือว่าบรรลุสกทาคาโดยไม่สนใจจิตของคนอื่น หรือว่าสภาวะของคนอื่นเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่ก็ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

ดังนั้นสรุปก็คือ ถ้าจะเอาแค่เป็นบุคคลธรรมดา ต่อให้มีความรู้มีการศึกษาว่าญาณขั้นนั้นขั้นนี้ หมายความว่าอย่างไร เข้าถึงกันท่าไหนอะไรต่างๆไม่มีประโยชน์เลย คือมันไม่มีกระแสให้เกิดความหมายรู้หมายจำได้ว่ากระแสแบบนั้นๆ กระแสแบบหนึ่งๆนี่ เป็นกระแสแบบปุถุชนธรรมดาหรือกระแสของกัลยาณชนที่เริ่มปฏิบัติเจริญสติมา หรือเป็นกระแสของท่านผู้เข้าถึงพระนิพพานได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์แล้ว มันไม่มีทางทราบได้เลยนะครับ

แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ จะญาณ ๓ ญาณ๑๖ อะไรต่างๆนี่นะครับ เป็นเรื่องที่มีการบัญญัติขึ้นในชั้นหลังนะครับ จริงๆแล้วต้นเขามาจากปฏิสัมภิทามรรค อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ ลองไปดูนะครับ ญาณมีเยอะกว่านั้นเยอะนะครับ ท่านลำดับชัดเจนว่าแม้แต่การที่เรามีปัญญาอันเกิดจากการฟัง หรือมีปัญญาอันเกิดจากการใช้จินตนาการ ครุ่นคิดหรือว่านึกถึงสิ่งที่พระท่านสอน อย่างนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นญาณชนิดหนึ่งได้

แล้วญาณที่ท่านบัญญัติไว้ในปฏิสัมภิทามรรคนี่ ไม่มีการเรียงลำดับนะครับ มีแต่ว่าจะบอกว่าญาณประเภทใดที่จะมีนิยามตามที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้แบบไหน หรือว่าญาณแบบไหนที่เป็นญาณเฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้า ก็จะมีการแบ่งแยกไว้ชัดเจนนะครับ คือจะไม่มีการเรียงลำดับกัน

แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ เป็นเหมือนกับลำดับแบบคร่าวๆหลักๆนะครับว่า ถ้าหากว่ามีทุกข์แล้ว ตัวทุกข์นั้นมันจะนำไปสู่การเหมือนกับว่าหาทางออก แล้วที่นี้ถ้าหากว่าพบพระพุทธศาสนา ก็จะเกิดศรัทธามีการเพียรพยายามเพื่อให้พ้นทุกข์ แล้วถ้าหากว่าเกิดศรัทธาแล้วก็นำไปสู่การถือศีล การถือศีลนำไปสู่การที่มีสมาธิคือหมายความว่า ศีลเป็นเหตุให้มีความสามารถในการที่จะทำให้จิตตั้งมั่น แล้วความที่จิตตั้งมั่นนั้นก็จะเป็นความสามารถเห็นอะไรได้ตามจริง เพราะว่าเห็นตามจริงก็เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความแหนงหน่ายคลายความยินดีนะครับ แล้วก็นำไปสู่การเข้าถึงวิมุตคือความหลุดพ้นในที่สุดนะครับ

ลักษณะการบอกตามลำดับอย่างนี้ คือมันชัดเจนและเข้าใจได้จริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้ ถ้ามีสติถ้ามีสัมปชัญญะนะครับ รู้เห็นตามจริงว่ากายนี้ใจนี้มันไม่เที่ยง มันก็เกิดความแหนงหน่ายคลายความยินดีขึ้นมา แหนงหน่ายอะไร? คลายความยินดีจากอะไร? ก็จากกายจากใจนี้แหละ แล้วท่านให้ปฏิบัติมาเรียงตามลำดับเลยจากหยาบถึงไปถึงประณีตนะครับ ก็เริ่มต้นนับตั้งแต่ลมหายใจที่ดูง่ายๆ อิริยาบถ แล้วก็มาถึงความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ อึดอัดสบายหรือว่าจิตมันสงบหรือว่าฟุ้งซ่านอยู่ ท่านบอกมาตามลำดับแล้วปฏิบัติตามได้จริง

อันนี้ถ้าเรามีการย้อนกลับไปศึกษานะครับ แล้วก็ไม่มาครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องญาณขั้นนั้นขั้นนี้ไปถึงขั้นไหนแล้ว เรียงลำดับกันอย่างไรนะครับ บางทีก็มานั่งเถียงกันอยู่นั้นแหละนะครับว่า ญาณชื่อนั้นชื่อนี้นี่จะต้องมีสภาพเป็นอย่างไร ประสบการณ์ตรงจะทำให้รู้สึกกันท่าไหน บางทีก็ถึงขั้นที่ไปโมเมสรุปเลยนะว่า ถ้าได้วิปัสสนาญาณจริงนี่จะต้องระลึกชาติได้ก่อน แค่ญาณขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ อะไรก็สามารถระลึกชาติได้แล้ว

พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสไว้อย่างนั้นเลยนะครับ วิปัสสนาญาณไม่เกี่ยวกับการระลึกชาติ แต่ถ้าหากว่าผู้ที่เจริญวิปัสสนาไปนี่ มีความรู้ความเห็นลึกซึ้งเข้าไปรูป เรื่องของรูปเรื่องของนามจริงๆนะครับ แล้วก็มีสมาธิขั้นสูงสามารถจะต่อยอดเป็นอภิญญาระลึกชาติได้จริง แต่ไม่ใช่ว่าได้ญาณขั้นโน้นขั้นนี้ แล้วหมายความว่าจะระลึกชาติได้ พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้นะครับ ถ้าหากว่าศึกษาย้อนกลับไปศึกษาในพระไตรปิฎกจริงๆจะพบว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้เช่นนั้นเลยนะครับ

ก็อยากจะสรุปว่า ในการศึกษาเรื่องแม้แต่ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธินี่ แต่ก่อนผมก็สนใจมากเลยนะว่าผมถึงขั้นไหนแล้ว แล้วก็ฟุ้งซ่าน วนเวียนอยู่แต่กับว่าเรื่องถึงขั้นไหน ถึงขั้นไหนนั่นแหละ จนกระทั่งจิตไม่เป็นอันจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ควรจะจดจ่อ ไปหมกมุ่นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องของขั้นโน้นขั้นนี้ แล้วก็เดี๋ยววางแผนเลยว่าพรุ่งนี้จะให้ได้ถึงขั้นไหนนะครับ มันกลายเป็นความฟุ้งซ่านไปในการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การที่เราจะมาจูนจิตให้ตรงกับความจริง สามารถยอมรับความจริง สามารถเห็นความจริง และเกิดความแหนงหน่ายคลายความยินดีไปได้ เอาล่ะก็พูดยาวนิดหนึ่ง



๒) หากเราสะสมเสบียงบุญ ปรารถนาเพื่อจะได้เกิดเป็นมนุษย์ เพื่อพบพระศรีอริยเมตไตรย เพื่อถวายสังฆทานกับท่าน และฟังธรรมจากท่านโดยตรง เพื่อเป็นพลวปัจจัยให้ได้เข้ากระแสพระนิพพานในภพชาตินั้น เราควรทำบุญมากน้อยแค่ไหนเพียงไร? และตั้งจิตอธิษฐานไว้อย่างไร? จะได้ไม่พลาด

การที่เราจะมีจิตผูกพันกับพระพุทธศาสนานี่นะครับ ก็ทำบุญเกี่ยวข้องกับการทะนุบำรุงพุทธศาสนาทุกประการ แล้วก็มีความเป็นผู้หัวอ่อน เชื่อฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องให้แน่ใจจริงๆว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยนะครับ เพราะบางทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่พระพุทธเจ้าท่านไม่อยู่ชี้ถูกชี้ผิดแล้วนี่ เราก็จำเป็นต้องฟังจากครูบาอาจารย์ร่วมสมัยก่อน แล้วบางทีครูบาอาจารย์ร่วมสมัยท่านไม่ได้พูดตามพระพุทธเจ้า บางท่านก็คือเหมือนกับอาจจะห่างตำรานิดหนึ่ง แล้วก็จะเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตัวท่านเองมากนะครับ ก็ท่านคิดอะไรน่าจะอย่างนั้นน่าจะอย่างนี้ ก็เอามาโมเมบอกว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่มากอะไรอย่างนี้นะครับ

เพราะฉะนั้นทางที่เซฟที่สุดปลอดภัยที่สุด อยากจะให้กลับไปศึกษาว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไรกันแน่ ตอนนี้เรามีอินเตอร์เน็ตกันสะดวกง่ายดายมากเลย หาคำว่าพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ฉบับสำหรับประชาชน อย่างเช่น ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ อย่างนี้ ท่านจะทำคัมภีร์พระไตรปิฎกให้เหลือเป็นเพียงช็อตโน้ตสั้นๆย่อๆนะครับ เอาสรุปใจความได้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไรกันแน่ ถ้าหากว่าเราค่อยๆศึกษาไป ค่อยๆอ่านว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร ก็เท่ากับมีภูมิคุ้มกัน ที่จะปกป้องตัวเองจากความเป็นมิจฉาทิฏฐิได้ แล้วถ้าหากว่าเราผูกพันกับคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆนะครับ ปฏิบัติตามคำสอนของท่าน พูดง่ายๆว่าใช้ชีวิตในแบบของพุทธจริงๆนี่ เส้นทางต่อไปนะครับ มันก็จะสอดคล้องกับความเป็นพุทธนั่นแหละ

คือกรรมถ้าหากว่าเป็นพุทธแล้ว มันก็จะได้ผลคือวิบาก คือไปเกิดใต้ร่มเงาของพุทธอีก ไม่ว่าจะกี่ครั้งที่พระพุทธเจ้าท่านอุบัติ ก็จะมีการดึงดูดเราเข้าไป จะทันพระพุทธเจ้าหรือไม่ทันพระพุทธเจ้าก็แล้วแต่นะครับ

ทีนี้ถ้าอยากจะอธิษฐานไปพบกับพระพุทธเจ้าพระองค์หน้าจริงๆนะครับ ก็อาจจะจำเป็นจะต้องทะนุบำรุงพุทธศาสนาไว้อย่างดีนะครับ คือคำว่าทะนุบำรุงก็อย่างเช่น ตักบาตร ตื่นเช้าขึ้นมาใส่บาตรนะครับ แล้วอาจจะไปทำสังฆทานที่วัด อาจจะไปฟังเทศน์ฟังธรรมนะครับเป็นกิจวัตรประจำ คำว่าฟังเทศน์ฟังธรรมอาจจะหมายถึงอ่านหนังสืออ่านพระไตรปิฎกก็ได้นะครับ หรือมีการสนทนาธรรม หรือเอาชัวร์ๆเลยที่เป็นพุทธแน่ๆก็คือตั้งใจที่จะสละออกนะครับ หัดให้ทานหัดให้อภัย แล้วก็หัดที่จะให้ในสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจเป็นธรรมทานแก่ผู้อื่นนะครับ แล้วก็ตั้งใจที่จะรักษาศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ แล้วก็มีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องของการเจริญสติบ้าง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีความพร้อม ไม่ได้มีกำลังใจที่จะเจริญสติให้ถึงที่สุด แต่อย่างน้อยเท่าที่จะเป็นไปได้ก็คือว่า เรามีความเข้าใจว่า คำว่าเจริญสติหมายถึงให้สติเจริญไปในทิศทางแบบไหนนะครับ ให้ดูกายใจอย่างไรนะครับ

ถ้าหากว่าเราทำพร้อมเราทำครบทั้งในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของการเจริญสติ อันนี้แหละสามารถที่จะใช้เป็นฐานในการอธิษฐาน ขอพบพระศรีอารย์ได้ไม่ใช่เรื่องเกินวิสัย แล้วเราจะรู้ด้วย รู้อยู่กับใจตัวเองเลยว่า คำอธิษฐานของเราไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่มันเป็นคำอธิษฐานของชาวพุทธเต็มใบ ที่มีสิทธิ์มีศักดิ์ที่จะไปพบพระพุทธเจ้าได้ แต่ถ้าไม่ทำตามสอนของพระพุทธเจ้า แต่มีความอยากจะเจอพระศรีอารย์อย่างเดียวนี่ บางทีอันตรายก็มีเกิดขึ้นได้เหมือนกันนะ

อย่างในอดีตนี่มีหลายคนเลยอยากพบพระพุทธเจ้า แต่พอพบพระพุทธเจ้ากลับกลายเป็นคนพาลเสียก่อน จะไปอยากเถียงกับพระพุทธเจ้า หรือบางทีพระพุทธเจ้าท่านตรัสเลยว่าคนนี้มาเพื่ออยากจะได้ชื่อว่า ได้มาโต้วาทีกับพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ก็มีนะครับ คือพวกที่ชอบเถียงชอบเถียง พวกที่ประเภทมีความรู้สึกว่าตัวเองคิดอย่างไรน่าจะถูกต้อง อันนี้มันค่อนข้างจะเสี่ยงค่อนข้างจะอันตราย ถ้าหากว่าเกิดในยุคเดียวกับพระพุทธเจ้าเพราะมีโอกาสที่จะเถียงกับพระพุทธเจ้า มีโอกาสที่จะปรามาสพระพุทธเจ้าโดยตรง ผลของการปรามาสพระพุทธเจ้ามีแค่ไหนก็ลองคิดดูก็แล้วกันนะครับ

แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าของเราเองที่เคยเวียนว่าย แล้วก็อยากจะบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งนี่นะครับ ในระหว่างที่ท่านเกิดเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ มีครั้งหนึ่งท่านเกิดเป็นพราหมณ์นะครับ มีความเชื่อความเลื่อมใสในทางพราหมณ์ พอมีเพื่อนมาชักชวนไปพบพระพุทธเจ้า ท่านก็เดินทางไปพบเสร็จแล้วก็ไปเกิดอกุศลจิต ไปพูดบอกว่ามานั่งอยู่ใต้ต้นไม้แค่นี้ จะบรรลุธรรมชั้นสูงอย่างไรได้ แค่ท่านพูดแค่นี้นะครับ พูดเล็กๆแค่นี้สร้างเมล็ดพันธุ์บาปแห่งกรรมไว้แค่นิดๆหน่อยๆ พอถึงคราวท่านบ้างมาเกิดในชาตินี้ สุดท้ายท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ท่านก็ต้องมาหลงผิดทรมานพระกายอยู่ถึง๖ปี อันนี้ท่านตรัสไว้เองเลยนะ ในบุพจริยาสูตรท่านเล่าไว้ว่าเพราะท่านไปปรามาสพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งไว้ ผลของกรรมนั้นแค่พูดไม่กี่คำมันทำให้ท่านต้องทรมานพระวรกายถึง๖ปี ด้วยความหลงผิดด้วยความเข้าใจผิดอันนั้นก็เป็นเหตุ

แต่ในชาตินั้นท่านก็กลับใจนะครับคือพอฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ท่านก็เชื่อว่านี่คือมหาบุรุษจริง เป็นผู้ที่มีความกระจ่างแจ้ง มีการบรรลุธรรม มีความบริสุทธิ์จากกิเลสแล้วจริงๆ ถึงแม้ว่าท่านรู้ตัวว่าท่านพลาดไปแล้วก็ยังมีผลอยู่ดี กรรมมันน่ากลัวนะครับ

คือการที่เราบางทีนึกว่าเดี๋ยวจะขอไปพบพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นพระองค์นี้ นึกว่าจะเซฟแล้วนะ คือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี่ มันคือลืมหมดเลยทุกชาติ เกิดชาติไหนมันลืมชาตินั้น แล้วก็จะไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรไปบ้าง กับแค่คำพูดแค่ผิดนิดเดียวไปปรามาสพระอรหันต์ และเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสียด้วย มันมีผลถึงขนาดที่ตกค้างมาในชาติสุดท้ายต้องมาเสวยกรรม นี่ก็เป็นเรื่องน่ากลัวของสังสารวัฏ



๓) กรรมของคนเราจะตอบสนองเราในชาตินี้ได้เลยไหม? หรือแต่ละคนไม่เหมือนกัน?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลำดับการให้ผลของกรรมนี่นะครับ มันมีทั้งสิ่งที่เรียกว่า กรรมที่จะให้ผลในชาตินี้ กรรมที่จะให้ผลในชาติหน้า และกรรมที่จะให้ผลในชาติถัดๆไป

คือลำดับของกรรมเป็นอจินไตย เป็นที่ไม่สามารถคาดคะเนหรือว่าคำนวณ หรือว่าด้นเดาเอาด้วยเหตุด้วยผลนะครับ มันมีลำดับที่จะให้ผลอยู่ซึ่งอันนี้ผู้มีอภิญญาจะทราบได้ คือไม่ใช่จะต้องเป็นพระญาณของพระพุทธเจ้าอย่างเดียวนะครับ แต่ว่าผู้ที่มีอนาคตังสญาณ หรือว่ามีความสามารถหยั่งรู้ว่า ด้วยเหตุอย่างนี้ผลจะเป็นอย่างไร กินระยะเวลาแค่ไหนกว่าจะให้ผลนะครับ เหมือนกับผู้ที่มีความสามารถในการหยั่งรู้ว่าเมล็ดพันธุ์พืชแบบไหน เม็ดเล็กๆนี่จะโตขึ้นเป็นพืชรูปร่างหน้าตาอย่างไร กินเวลาเท่าใดเอามาใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง ในสมัยโบราณมีนะครับ ประเภทที่แค่เห็นต้นไม้นี่รู้เลยว่าสามารถรักษาโรคใดได้ ก็แล้วแต่จะฝึกกัน

ที่นี้ในแง่ของว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่ากรรมชนิดไหนให้ผลทันทีในปัจจุบัน ก็เอาแบบที่ง่ายๆก่อน อย่างถ้าหากว่าเป็นมนุษย์มีวาสนาที่จะพบพระพุทธศาสนาได้ แล้วก็สามารถที่จะศึกษาเข้าใจในเรื่องการให้ทาน ในเรื่องของการรักษาศีล ในเรื่องของการเจริญสตินะครับ มันจะมีผลใหญ่ คือเมื่อศึกษาแล้ว เข้าใจแล้ว แล้วปฏิบัติตามจริงจนเกิดผลแล้วนี่นะครับ มันจะบรรเทาเบาบาง ทำให้บาปเก่าๆที่แทนที่จะให้ผลเต็มร้อยมันลดลงมา บางทีห้าสิบ บางทีเต็มร้อยก็มีนะครับ

อย่างเอาง่ายๆบางอย่าง วิบากบางอย่างจะเล่นงานที่สุดก็คือที่ใจ ถ้าหากว่าเราจะเจริญสติจนกระทั่งใจมันไม่ยึด ก็เท่ากับวิบากนั้นเป็นหมัน อย่างเช่นเราเคยไปด่าทอคนอื่นเขามาไว้มาก แล้วถึงเวลาเผล็ดผลที่กรรมมันจะตามมาเล่นงานเราก็ส่งใครสักคนหนึ่ง หรือว่าหลายๆคนมารุมด่าเรา หรือว่ามาด่าเราให้เจ็บใจ ซึ่งถ้าหากว่า เราไม่เคยเจริญสติมาก่อนก็ต้องเกิดความเจ็บใจแน่นอน มีความเจ็บใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากว่าเราเจริญสติมาอย่างดี เจริญสติมาจนกระทั่งได้ผล แล้วใจของเราสามารถแยกออกว่าเสียงกระทบหูสักแต่เป็นเสียงกระทบหู ปฏิกิริยาทางใจเป็นความขัดเคืองก็สักแต่เป็นแต่ปฏิกิริยาทางใจ เหมือนกับไฟที่ลุกโพลงขึ้นมาเมื่อมีไม้สีกัน ถ้าหากว่าแยกไม้ออกจากกัน ไฟก็ดับลงนะครับ

ด้วยความเข้าใจ ด้วยความที่เราสามารถเจริญสติจนกระทั่งเข้าถึงความสามารถที่จะแยกธรรมะ ที่มันเป็นธรรมะฝ่ายดี ธรรมะฝ่ายชั่วออกได้นะครับ แล้วก็เหตุของผล ผลของเหตุ ทั้งหลายทั้งปวงมาประชุมกันที่นี่แหละใจ ที่จิตมันยึดหรือไม่ยึด สามารถที่จะเข้าถึงใจที่ไม่ยึดเหตุและผลได้ เหตุและผลที่มันประชุมกันชั่วคราวได้นี่มันก็ไม่มีความทุกข์ ถึงแม้เสียงด่ามันจะประเคนเข้ามาถึงแม้เสียงด่าจะรุมอัดกันเข้ามาทั่วทุกสารทิศ แต่เราเท่าทันเสียแล้ว นี่เป็นเพียงเสียงกระทบใจ เสียงกระทบแก้วหูแล้วมาถึงใจ มามีปฏิกิริยาที่ใจเหมือนกับไฟที่มันลุกขึ้นมาเพราะไม้เสียดสีกันนะครับ เห็นแบบนั้นมันขัดเคืองมันมีการร้อนขึ้นมาวูบเดียวแล้วหายไป วูบมาแล้ววาบไป นี่อย่างนี้เท่ากับว่าวิบากมันเล่นงานได้แค่ที่ทางกาย แต่มันลงไปไม่ได้ถึงจิต วิบากที่จะต้องทำให้เจ็บใจก็เลยกลายเป็นหมันไป อันนี้เป็นตัวอย่างง่ายๆนะครับ

ถ้าหากว่าเราจะดูว่ากรรมอะไรทำแล้วได้ผลชัดเจนในชาตินี้มากที่สุด ก็ดู ขอให้ดูเถอะ ศึกษาในเรื่องของธรรมะ ถ้าหากว่าเราจะมีความสุขได้จากการฟังธรรมแล้วก็สามารถที่จะเอาไปชนะกรรมเก่าได้นี่ ตรงนี้แหละที่เรียกว่าสิ่งที่ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมที่เผล็ดผลได้ในชาติปัจจุบันแน่ๆนะครับ

ซึ่งจริงๆแล้วมันมีเรื่องลึกลับอะไรมากไปกว่านั้นอีก มันไม่ใช่แค่เรื่องของใจอย่างเดียว มันมีเรื่องของชะตากรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการหันเหมาในทางธรรม ในทางธรรมะ

อาจจะยกตัวอย่างง่ายๆอย่างคนส่วนใหญ่ชอบดูหมอกันนี่นะครับ หมอดูเก่งๆที่เป็นปรมาจารย์ ที่เป็นเซียนจริงนี่ เขาจะบอกกันเลยนะ บอกสืบทอดกันเลยนะว่าอย่าไปดูให้กับคนที่ปฏิบัติธรรมแล้วก็มีความเคร่งครัดในเรื่องของการรักษาศีล เพราะดวงมันจะเปลี่ยน เส้นทางหรือว่าวิบากแบบเดิมๆ มันจะแตกต่างไปในทางที่ดีขึ้น บางทีทายไปหน้าแตกนะ บอกว่าเดี๋ยวจะเกิดนั่นเดี๋ยวจะเกิดนี่ ไม่เกิดอะไรสักอย่างเดียว จะเลือดตกยางออกจะหัวล้างค้างแตกอะไร ไม่มีเลือดออกสักหยดนะครับแบบนี้ ก็เป็นเรื่องของอานิสงส์ หรือว่าความมหัศจรรย์ในการรักษาศีลและก็เจริญสตินะครับ



๔) การที่คนเรามาพบเจอ มารู้จักเป็นมิตร เป็นครอบครัวหรือคนรัก บุคคลที่สำคัญกับชีวิตเรานี่ เป็นเพราะเคยทำบุญร่วมกันมาหรือว่าอย่างไร? และถ้ามีอย่างนั้น ชาติหน้าบุคคลที่ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตเราจะยังได้พบได้เจอกันอีกหรือไม่?

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ในครั้งหนึ่งนะครับว่าบุคคลรอบๆตัว หรือว่าที่มีบทบาทในชีวิตของเรานี่ หรือแม้กระทั่งคนรอบๆ พูดง่ายๆว่าคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนี่ จะผ่านเข้ามาแวบเดียวหรือหลายแวบก็ตาม หายากนะครับที่ไม่เคยเป็นพ่อ ไม่เคยเป็นแม่ ไม่เคยเป็นพี่ ไม่เคยเป็นน้อง คือมันต้องเคยมีความสัมพันธ์แบบใดแบบหนึ่งกันมา มันถึงได้มามีปฏิสัมพันธ์กันอีกนะครับ

บางคนบางคู่นะครับเป็นคู่รักกันอยู่ดีๆก็ไปทะเลาะและก็เกิดความบาดหมาง ถึงขั้นที่สาปแช่งกัน หรือว่าตั้งคำอธิษฐานเลยว่าเกิดชาติหน้าฉันใดอย่าได้พบเจอกันอีกนะครับ ก็หารู้ไม่ว่าไอ้นี่มันไม่ได้จะประสบผลสำเร็จหรอก เพราะว่าไอ้ความผูกพัน สิ่งที่มันเป็นสายใย ที่สร้างร่วมกันมาเป็นหลายๆปีหรือว่าเป็นสิบๆปีนี่ มันหนักแน่นกว่าคำอธิษฐานหรือว่าความตั้งใจที่จะไม่ต้องเจอกันอีกมากมายนักนะครับ อย่างไรมันก็จะต้องโยงใยกันอยู่ดี และเป็นการโยงใยในทางลบทางร้าย พอแช่งกันนี่ หรือว่าอธิษฐานว่าอย่าได้มาเจอกันอีก มันก็ก่อแรงผลัก เพราะฉะนั้นพอมาเจอกันอีกก็อาจจะมีความรู้สึกผูกพันแต่แล้วก็จะมีแฝงๆอยู่ถึงแรงผลัก รู้สึกดึงดูดเมื่ออยู่ห่างแต่พอมาอยู่ใกล้กลับรู้สึกถึงแรงผลัก กลายเป็นอย่างนี้ไปนะครับ

ส่วนเรื่องของพ่อแม่พี่น้องหรือว่าบุคคลใกล้ตัวที่มีความสำคัญกับชีวิตเรานี่ ไม่ต้องห่วงเลย อันนี้มีแน่นอนนะครับ สายใยผูกผันกันมาแต่เก่าก่อน แล้วถ้าหากว่ายังต้องผูกผันกันอีกมันก็ต้องไปเจอกันอีก มันก็ต้องมีสายโยงสายใยไปกันอีกเรื่อยๆจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะดับขันธ์ สามารถที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ อันนี้ก็ถือว่าสายใยก็เป็นอันอโหสิไปนะครับ


แล้วก็คงจะต้องล่ำลากันที่นาทีนี้ ราตรีสวัสดิ์ แล้วก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านนะครับ


« กลับสู่สารบัญเรียงตามครั้งที่ออกอากาศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น